ข้ามไปเนื้อหา

พระนิกเก็ง โชนิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระนิคเคน โชนิน)
พระนิคเคน โชนิน
ศาสนา พุทธ
นิกาย นิชิเรนโชชู
นามอื่นๆ ชินโนะ
ข้อมูลสว่นตัว
เกิด 19 ธันวาคม ค.ศ. 1922
ตำแหน่งนักบวชอาวุโส
อาศัยใน ประเทศญี่ปุ่น
ยศ พระสังฆราชแห่งนิชิเรนโชชู
เจ้าอาวาสวัดใหญ่ไทเซขิจิ
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 1978ค.ศ. 2005
ลำดับก่อนหน้า พระนิตทัทสุ โชนิน
ผู้สืบทอด พระนิชิเนียว โชนิน
งานด้านศาสนา
บวชเมื่อ ค.ศ.1928
ตำแหน่งก่อนหน้า สังฆราชแห่ง นิชิเรนโชชู

พระนิคเคนโชนิน (阿部日顕, Abe Nikken หรือ 日顕上人, Nikken Shonin ; 19 ธันวาคม ค.ศ. 1922 - ปัจจุบัน) เป็นพระสังฆราชของพุทธศาสนานิกาย นิชิเรนโชชู องค์ที่ 67 ซึ่งเป็นหนึ่งในนิกายสำคัญของศาสนาพุทธนิกายนิชิเรน และยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสแห่งวัดใหญ่ไทเซขิจิชิซุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น สานุศิษย์นิชิเรนโชชูจะขนานนามท่านว่า พระนิคเคนโชนิน, นิคเคนโชนิน เกอิคะ, โกะอิซน โชนิน, โกอินซนซะมะ หรือ โกอิรเคียวซะมะ แต่มักจะเรียกอย่างเป็นทางการว่า "พระสังฆราชองค์ที่ 67 พระนิคเคนโชนิน"(67th High Priest Nikken Shōnin.)

พระนิคเคนโชนินเป็นผู้ทำการคว่ำบาตรผู้นับถือนับล้านคนทั่วโลกที่เข้ากับ โซกา งัคไค หรือ สมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย ซึ่ง ถูกคว่ำบาตรและขับไถ่ออกจากการเป็นผู้นับถือ นิชิเรนโชชู และยุคของท่านยังเป็นสมัยที่ดุเดือดที่สุดในการพิพาทระหว่างวัดใหญ่ และสมาคมโซกา งัคไค

ก่อนดำรงตำแหน่งสังฆราช

[แก้]

พระนิคเคนโชนิน ประสูติวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1922 ในโตเกียว มีนามในวัยเด็กว่า ชิโบุ อาเบะ เป็นบุตรชายของ โฮอุน อาเบะ ซึ่งได้เป็นเจ้าอาวาสของวัดโจเซ็นจิ ในซุมิดะ, โตเกียว และในภายหลังได้ดำรงตำแหน่งป็น สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 50 พระนิชิไค โชนิน ชิโนบุ ได้บวชเป็นพระสงฆ์ในปี ค.ศ. 1928 และเปลี่ยนชื่อเป็น พระชินโน (信雄) พระชินโนสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยริชโช ในปี ค.ศ. 1943 ภายหลังจากการร่วมรบในฐานะทหารเรือญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสของวัดสำคัญๆ ถึงสามวัดด้วยกันคือ วัดฮนเกียวจิ (โตเกียว ค.ศ. 1947) เฮอันจิ (เกียวโต ค.ศ. 1963) และภายหลังวัดโจเซ็นจิ (โตเกียว) และได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานของ เคียวกะบุคุ (แผนกที่รับผิดชอบการศึกษาธรรมและรักษาความดั้งเดิมของหลักธรรม) ในปี ค.ศ. 1961 ในตำแหน่งนี้ ท่านจึงเป็นหนึงใน พระสงฆ์สองท่านแรกที่ได้เดินทางไปยังต่างประเทศเพื่อทำพิธีรับศีล (Gukujai โกคุไจ) กับสมาชิกผู้นับถือใหม่ต่างประเทศ ขณะเดียวันสมเด็จพระสังฆราชในขณะนั้นได้ตั้งนามใหม่ให้ท่านว่า เอ็ตสุโยะ (越洋: "บุรุษที่ข้ามทะเล") ท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็น นิชิเรนโชชู โซคัน หรือตำแหน่งสูงสุดอันดับที่สองของพระสงฆ์นิกายนิชิเรนโชชูในปี ค.ศ. 1979 และในที่สุดท่านก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็น สมเด็จพระสังฆราช ภายหลังจากการดับขันธ์ของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 66 พระนิททัตสุโชนิน ในวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1979 ในช่วงเวลานั้นท่านได้เปลี่ยนชื่อนิชิโกะ (ชื่อซึ่งเริ่มต้นด้วย นิชิ ซึ่งเป็นชื่อที่พระสงฆ์ทุกๆรูปจะต้องมี แต่จะใช้เฉพาะในโอกาสเป็นทางการหรือใช้กับพระสงฆ์อาวุโสเท่านั้น) ของท่านจาก นิชิจิ (日慈) เป็น นิคเคน (日顕)

พระกรณียกิจที่สำคัญในต่างแดน

[แก้]
  • กรกฎาคม ค.ศ. 2003 เสด็จเยือน นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อทำพิธีอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับในเหตุการณ์ วินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544
  • สิงหาคม ค.ศ. 2003 เสด็จเยือน กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เพื่อทำพิธีประดิษฐานโงะฮนซนไม้และเปิดวัด ชินเกียวจิ
  • พฤศจิกายน ค.ศ. 2004 เสด็จเยือน ไต้หวัน เพื่อประดิษฐานโงะฮนซนไม้ และทำพิธีเปิดวัด เมียวโชอิน และ เมียวเกียวอิน ในไต้หวัน
  • มกราคม ค.ศ. 2005 เสด็จเยือน อินโดนีเซีย เพื่อทำพิธีอุทิศส่วนกุศล ให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ แผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547 และจากคลื่นซึนามิ
  • กรกฎาคม ค.ศ. 2005 เสด็จเยือนบราซิล เพื่อประดิษฐานโงะฮนซนไม้ และพิธีเปิดวัด โชโบจิ
  • กันยายน ค.ศ. 2005 เสด็จเยือน อินโดนีเซีย เพื่อประดิษฐานโงะฮนซนไม้ และพิธีเปิดวัด เมียวกันจิ และ โฮเซอิจิ

ช่วงระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งพระสังฆราช

[แก้]

ในรัชสมัยของพระนิคเคนโชนิน นั้นเป็นสมัยที่เต็มไปด้วยความสำเร็จและการขัดแย้ง พระนิคเคนได้จัดงานเฉลิมฉลองครบรอบการจากไปของพระนิชิเรนครบ 700 ปี ในปี ค.ศ. 1981, 650 ปี ครบรอบการจากไปของผู้ก่อตั้งวัดใหญ่ไทเซขิจิพระนิกโค โชนิน และ พระนิชิโมขุ โชนิน (ค.ศ. 1982), ครบรอบ 700 ปีการก่อตั้งวัดใหญ่ไทเซขิจิ (ค.ศ. 1990) และ 750 ปีของการก่อตั้งนิกายนิชิเรนโชชู (ค.ศ. 2004)

พระนิคเคน โชนิน ยังได้ทรงทำพระราชกรณียกิจที่จะฟื้นฟูความศรัทธาของนิกายนิชิเรนโชชู ซึ่งได้สูญลายไปในระหว่างที่นิกายนิชิเรนโชชูได้ติดต่อกับองค์กร โซกางัคไค และ เอสจีไอ ซึ่งเคยเป็นองค์กรฆราวาสของนิกายนิชิเรนโชชู และทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมในฐานะฆราวาส หลังจากที่นิกายนิชิเรนโชชูได้ทำการขับไล่สมาคมสร้างคุณค่าออกจากนิกายแล้วนั้น พระนิคเคนโชนิน ยังได้ทำลายสิ่งปลูกสร้างคอนกรีตซึ่งได้ถูกสร้างถวายโดยสมาชิกของโซกางัคไค และแทนที่ด้วยวิหารที่เหมาะกับบรรยากาศ และความปลอดภัยที่สูงขึ้น โดยยึดหลักความดั้งเดิมของศาสนาพุทธญี่ปุ่น

หลังจากการคว่ำบาตรสมาคมสร้างคุณค่า พระนิคเคนโชนิน ได้ทำการเปิดวัดนิกายนิชิเรนโชชูในต่างประเทศจำนวนมาก (วัดล่าสุดคือที่สิงคโปร ในธันวาคม 2005 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ดำรงตำแหน่งสังฆราช) และเปิดศูนย์เผยแผ่ธรรมใน แอฟริกา, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอเมริกาใต้ รวมไปถึง ยุโรป และ อเมริกาเหนือ และแต่งตั้งพระสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิรุ่นใหม่เป็นผู้ดูแล อีกทั้งยังมีหลายครั้งที่พระนิคเคน โชนิน ได้เดินทางไปเยี่ยมผู้นับถือในต่างประเทศด้วยพระองค์เอง ด้วยพระชนมายุที่มากขึ้น

พระนิคเคนโชนิน เป็นพระสังฆราชองค์แรกและองค์เดียวของนิกายนิชิเรนโชชู ที่อยู่ในตำแหน่งสังฆราชจนถึงอายุ 80 พรรษา และได้ทำการสละตำแหน่งสังฆราชหลังจากดำรงตำแหน่งมาเป็นเวลานานถึง 27 ปี พระองค์เป็นผู้ฟื้นฟูวัดใหญ่ไทเซขิจิ ในด้านพิธีกรรมและประเพณีแบบดั้งเดิมทั้งหมดซึ่งมีหลายสิ่งที่ได้ถูกยกเลิกไปในสมัยของโซกางัคไค ในแง่มุมของผู้นับถือนิกายนิชิเรนโชชู พระนิคเคนโชนินได้ยึดมั่นว่า หลักธรรมของนิชิเรนโชชูน้นไม่อาจสามารถตีความเองโดยผู้นับถือได้ตามอำเภอใจ แต่ต้องยึดแบบดั้งเดิมตามแบบฉบับของพระนิชิเรนไดชนิน พระนิคเคนโชนิน ยังมีพระชนม์ชีพยืนยาวและได้คว่ำบาตรกลุ่มผู้นับถือที่ได้ตัดสินใจเลือกตีความหลักธรรมของนิชิเรนโชชูตามความคิดของตนถึง 3 กลุ่ม

ข้อพิพาทกับโซกา งัคไค

[แก้]

เมื่อพระนิคเคนโชนินขึ้นดำรงตำแหน่งสังฆราชแห่งนิชิเรนโชชู ในขณะนั้น สมาคมโซกา งัคไค ก็อยู่ภายใต้การนำของ ไดซาขุ อิเคดะ โดยในระหว่างนั้นนั่นเอง สมาคมโซกา งัคไค จะเป็นผู้ประสานงานระหว่างผู้นับถือทั่วโลกกับวัดใหญ่ไทเซขิจิ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชนิคเคนโชนิน ได้พบเห็นพฤติกรรมอันไม่ชอบมาพากลของ ประธานอิเคดะ และคณะผู้บริหาร ทั้งในเรื่องเงินบริจาคจากสมาชิกทั่วโลกที่มหาศาล และในเรื่องการบิดเบือนคำสอน และวิถีการปฏิบัติ รวมทั้งการปลอมแปลงโงะฮนซน(สิ่งสักการบูชาสูงสุด) ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมากที่สุด โดยในเรื่องการปลอมแปลงโงะฮนซนนี้ว่ากันว่าถูกจับได้ครั้งแรกโดยสมเด็จพระสังฆราชนิตทัทสุ โชนิน มาก่อนแล้ว แต่สมเด็จพระสังฆราชได้อภัยโทษให้ แต่อย่างไรก็ตามพระนิคเคน โชนิน ได้ตัดสินใจคว่ำบาตร ไดซาขุ อิเคดะ ประธานสมาคมโซกา งัคไคในปี ค.ศ. 1991 และต่อมาในปี ค.ศ. 1997 สมาชิกของสมาคมโซกา งัคไค ทุกๆคนจำนวน กว่า 10 ล้านคนทั่วโลก ได้ถูกคว่ำบาตรออกจากการเป็นนิชิเรนโชชูอย่างเป็นทางการ

กรณีกล่าวหาการกระทำของพระนิคเคน โชนิน

[แก้]

แม้พระนิคเคนโชนิน จะดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชแห่งนิชิเรนโชชู ก็ตามแต่ผู้นับถือจากโซกางัคไค ได้ออกมาแสดงตนและกล่าวหาว่าพระนิคเคนโชนินนั้น มีพฤติกรรมที่เบี่ยนเบน และไม่เหมาะสมกับตำแหน่งพระสังฆราช ทำให้ศาสนจักรเสื่อมเสีย สมาชิกจากโซกางัคไคจะเรียกนิกายนิชิเร็นโชชู ในปัจจุบันว่า นิกายนิคเคน และกล่าวหาพระนิคเคน โชนิน ว่าเป็นสงฆ์ที่ชั่วร้าย ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทำให้พระนิคเคน โชนิน เสียหายและถูกประณามจากผู้นับถือจากโซกา งัคไคด้วย

โซกางัคไค กล่าวว่า : พระนิคเคนโชนินได้กระทำการดู่หมิ่นธรรมขั้นร้ายแรงโดยการสร้างและทำพิธีเปิดหลุมศพของบิดามารดาของท่าน ในวัดนิกายเซน ณ วัดฮะคุซันจิ ใน ฟุคุชิมะ ซึ่งถือเป็นนิกายนอกรีตสำหรับนิชิเรนโชชู พลังของปิศาจมารจากนิกายนอกรีตจะทำลายความศรัทธาของผู้นับถือนิชิเรนโชชู จึงทำให้พระนิคเคนนั้น สูญเสียความศรัทธาที่ถูกต้องแท้จริงไป

นิชิเรนโชชูกล่าวว่า : โซกางัคไค ได้เข้าใจผิดมหันต์เกี่ยวกับหลุมฝังศพดังกล่าว สุสานของบิดามารดาของพระนิคเคนโชนินนั้นอยู่ที่ วัดใหญ่ไทเซขิจิ ไม่ใช่วัดฮะคุซันจิ หลุมศพของครอบครัวอะเบะที่อยู่ในวัดฮะคุซันจินั้นเป็นหลุมศพของญาติของพระนิคเคนโชนิน มิใช่ของบิดามารดาของพระสังฆราชแต่อย่างใด แต่ในจังหวัดฟุคุชิวะนั้นเป็นบ้านเกิดของท่าน ครอบครัวอะเบะที่ได้อาศัยอยู่ในขณะนี้คือ นายเค็นโซ อะเบะ เป็นสมาชิกนิชิเรนโชชู ซึ่งเป็นญาติของท่าน และได้ยกคำกล่าวของนายโจเซอิ โทดะ ประธานคนที่สองของโซกางัคไค ว่าด้วยเรื่องการตั้งหลุมฝังศพในวัดนิกายอื่นว่า

"นี่ไม่ใช่การดู่หมิ่นธรรม ผมเชื่อเช่นนั้น สมมุติว่าคุณมีหลุมศพอยู่ในที่ของวัดนิกายนอกรีตเหล่านี้ คุณอาจจะคิดว่าเป็นสิ่งที่ผิดที่จะนำเงินไปมอบให้กับพระนิกายนอกรีต อย่างไรก็ตามผมเห็นว่าเป็นการกระทำที่ดี ผมได้ทำการเช่าพื้นที่ส่วนหนึ่งของวัด ซุยโชจิ และได้จ่ายค่าเช่าสำหรับพื้นที่นั้น เช่นเดียวกัน จะมีสิ่งใดผิดสำหรับการจ่ายเงินสำหรับสุสานที่คุณเช่ากันล่ะ ? หากผู้นับถือนิชิเรนโชชูมอบเงินให้กับพระนิกายนอกรีต เป็นที่แน่นอนว่าพวกเขาย่อมจะต้องรับ และหากมีหลุมฝังศพของนิชิเรนโชชูในวัดนิกายเหล่านี้มากขึ้น ก็จะทำให้การแทรกแซงของพระเหล่านี้น้อยลง

ซึ่งนิชิเรนโชชูได้อ้างว่าไม่ใช่สิ่งที่ผิดที่จะจ่ายเงินค่าเช่าให้กับที่ดินที่คุณทำการเช่า

  • กรณีรูปภาพพระนิคเคนโชนิน ร่วมกับหญิงเกอิชา

โซกางัคไค กล่าวว่า : พระนิคเคนโชนิน นั้นได้กระทำผิดอย่างมหันต์ด้วยการคบชู้สู่สาวกับหญิงเกอิชา ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมอย่างร้ายแรงสำหรับพระสงฆ์ และเป็นความผิดอย่างร้ายแรงสำหรับพระสังฆราช โดยได้อ้างรูปภาพที่พระนิคเคนโชนินถ่ายรูปร่วมกับเหล่าหญิงเกอิชา

นิชิเรนโชชู กล่าวว่า : ภาพดังกล่าวนั้นเกิดจากการตัดต่อทางคอมพิวเตอร์โดยสมาชิกของโซกางัคไคที่ไม่หวังดีต่อพระนิคเคนโชนิน มิใช่ภาพถ่ายจริงแต่อย่างใด

  • กรณีการทำลาย โชฮนโดะ สิ่งก่อสร้างที่ประดิษฐานไดโงะฮนซน

โซกางัคไค กล่าวว่า : พระนิคเคนโชนิน นั้นได้อิจฉานายไดซาขุ อิเคดะ ที่สามารถรวบรวมเงินบริจาคจากสมาชิกจำนวนมหาศาลเพื่อนำมาสร้างสิ่งปลูกสร้างอันยิ่งใหญ่นี้ จึงได้จัดการทำลายเสีย แล้วแสดงให้เห็นว่าตนเองก็สามารถจะสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน โดยไม่พึ่งโซกางัคไค

นิชิเรนโชชู กล่าวว่า : สิ่งปลูกสร้างของโซกางัคไคนั้น มีความสวยงามและยิ่งใหญ่ก็จริง แต่ทว่ากลับไม่ปลอดภัยอย่างยิ่งที่จะตั้งอยู่บริเวณตีนเขาฟูจิ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว หากเกิดแผ่นดินไหวโชฮนโดะ จะต้องพังทลายลงมาอย่างแน่นอน เนืองด้วยหลังคาที่หนักเพราะทำจากปีกเครื่องบิน ซึ่งจะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากมายและมีความเสียหายอย่างหนักหากพังทลายลงมา ในขณะเดียวกันคงจะเป็นเรื่องดีกว่าที่จะสร้างวิหารที่มีหลังคาที่เบาเพื่อความปลอดภัยและมั่นคงกว่า

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
ก่อนหน้า พระนิกเก็ง โชนิง ถัดไป
พระนิตทัทสุ พระสังฆราชแห่งนิชิเรนโชชู
(ค.ศ. 1979 - ค.ศ. 2005)
พระนิชิเนียว โชนิน