ข้ามไปเนื้อหา

ไดซากุ อิเกดะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ไดซาขุ อิเคดะ)
ไดซากุ อิเกดะ
นายกสมาคมสร้างคุณค่า
ดำรงตำแหน่ง
3 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 – 24 เมษายน พ.ศ. 2522
ก่อนหน้าโจเซ โทดะ
ถัดไปฮิโรชิ โฮโจ
ประธานสมาคมสร้างคุณค่าสากล
ดำรงตำแหน่ง
26 มกราคม พ.ศ. 2518 – 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด2 มกราคม พ.ศ. 2471
 ญี่ปุ่น
เสียชีวิต15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 (95 ปี)
ศาสนาพุทธศาสนานิชิเร็น-เอสจีไอ (โซคา งัคไก)

ไดซากุ อิเกดะ (ญี่ปุ่น: 池田大作; 2 มกราคม พ.ศ. 2471 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566) เป็นประธานของสมาคมสร้างคุณค่าสากล (Soka Gakkai International: SGI) องค์กรพุทธศาสนาที่มีสมาชิกมากกว่า 12 ล้านครอบครัวในกว่า 192 ประเทศและเขตแคว้นทั่วโลก ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมการศึกษา, วัฒนธรรม และสันติภาพ และยังเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันการวิจัยปรัชญาตะวันออก สถาบันอิเกดะเพื่อสันติภาพ การเรียนรู้ และการสนทนา สถาบันโทะดะเพื่อสันติภาพโลกและวิจัยทางการเมือง สมาคมดนตรีเพื่อประชาชน (มิน-ออน) โรงเรียนอนุบาลโซคา ซัปโปะโระ โรงเรียนประถมโซคา คันไซ โรงเรียนมัธยมโซคา คันไซ โรงเรียนประถมโซคา โตเกียว โรงเรียนมัธยมโซคา โตเกียว วิทยาลัยสตรีโซคา มหาวิทยาลัยโซคา ญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยโซคา อเมริกา พิพิธภัณฑ์ศิลปะฟุจิ และพิพิธภัณฑ์ศิลปะโตเกียวฟุจิ[1]

ประวัติ

[แก้]

ไดซากุ อิเกดะ เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2471 (ค.ศ. 1928) ที่เขตโอตะ เมืองโตเกียวในปัจจุบัน เป็นบุตรชายคนที่ 5 ของครอบครัวที่ทำธุรกิจผลิตสาหร่ายทะเล สมัยที่เรียนอยู่ชั้นประถมคุณพ่อได้ล้มป่วยเป็นรูมาตอยด์ พี่ชายถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ในวัยเด็กต้องช่วยทำงานบ้าน จากนั้นก็ได้เข้าทำงานในโรงงานทำเหล็กรายใหญ่ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2488 ได้เข้าเรียนภาคค่ำที่โรงเรียนเตรียมอุดมพาณิชยการคันดะ[2] สมรสกับ คะเนะโกะ อิเกดะ[3]

ในปี พ.ศ. 2490 ได้ชวนเพื่อน ๆ ที่สนิทสนมมาตั้งกลุ่มอ่านหนังสือ พยายามค้นหาความรู้ เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม ความมั่นคงในชีวิตจึงหายไป ในช่วงนั้นจึงได้มีการค้นหาความมั่นคงและคุณค่าแห่งชีวิตอย่างจริงจัง[4]

วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2490 เพื่อนสมัยเรียนชั้นประถมด้วยกันได้ชักชวนอิเกดะ ไปร่วมสนทนาธรรมของสมาคมสร้างคุณค่าเป็นครั้งแรก ณ ที่นั้นอิเกดะ ได้พบอาจารย์โจเซ โทดะ ซึ่งในขณะนั้นอาจารย์มีอายุ 47 ปี ส่วนอิเกดะมีอายุเพียง 19 ปี ในวันนั้นอิเกดะได้ถามอาจารย์โทดะว่า หนทางที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิตคืออะไร อาจารย์โทดะตอบว่า หนทางที่สูงส่งที่สุดคือการอุทิศตนเพื่อมนุษยชาติ และด้วยความประทับใจในบุคลิกของอาจารย์โทดะ ได้เข้าตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมโซคา ในวันที่ 24 สิงหาคมปีเดียวกันนั้นเอง

ต่อมาเดือนเมษายน พ.ศ. 2491 ได้เข้าเรียนภาคค่ำในวิทยาลัยไทเซ (มหาวิทยาลัยโตเกียว ฟุจิ ในปัจจุบัน) และในเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น อิเกดะได้เข้าร่วมศึกษาสัทธรรมปุณฑรีกสูตรรุ่นที่ 7 ที่อาจารย์โทะดะบรรยาย และพยายามศึกษาพุทธธรรมอย่างลึกซึ้ง

ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2492 อิเกดะก็ได้เข้าทำงานในบริษัทสำนักการพิมพ์นิปปอนโชงักคังของอาจารย์โทะดะ และเริ่มทำการต่อสู้ร่วมกันกับอาจารย์ ระหว่างนั้น อิเกดะได้รับผิดชอบเกี่ยวกับการเรียบเรียงนิตยสารเด็กเล็ก แล้วในเดือนพฤษภาคมก็ได้เป็นบรรณาธิการ ภายหลังในปีเดียวกันนั้น การดำเนินการของบริษัทค่อย ๆ เลวร้ายลง ได้เปลี่ยนชื่อนิตยสารเป็น โชเน็นนิปปอน พร้อมกบพยายามปรับปรุงเนื้อหานิตยสารให้สมบูรณ์ที่สุด แต่ก็จำเป็นต้องหยุดตีพิมพ์ลงชั่วคราว จนถึงเดือนตุลาคมสำนักธุรกิจการพิมพ์ก็ได้ปิดตัวลง จึงไปทำงานในฝ่ายงานสหกรณ์สินเชื่อเป็นหลักแทน

แต่แล้วในปี พ.ศ. 2493 งานสหกรณ์สินเชื่อตกต่ำลงอีก จึงตัดสินใจหยุดกิจการลงในเดือนสิงหาคม ในช่วงเวลานั้น อิเกดะได้พยายามทุ่มเทตัวเองในการจัดงานต่าง ๆ ที่เหลืออยู่ และพยายามค้ำจุนอาจารย์โทดะที่ตกอยู่ในสภาพที่ลำบากทางด้านธุรกิจ ไม่ว่าจะส่วนตัวหรือส่วนรวม ด้วยเหตุนี้อิเกดะจึงต้องลาออกจากวิทยาลัยไทเซที่เรียนอยู่ แต่อาจารย์โทดะก็ได้ทำหน้าที่เป็นครูสอนพิเศษให้กับอิเกดะ เช่น วิชาเกี่ยวกับอักษรจีน วิชากฎหมาย และวิชาดาราศาสตร์ อย่างกว้างขวาง

แม้ว่าจะตกในสภาพที่ลำบาก อาจารย์โทดะก็ได้บอกถึงโครงการในอนาคตให้แก่อิเกดะ ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับท่านตลอดเวลา เช่น เรื่องการจัดพิมพ์หนังสือพิมพ์เพื่อการรณรงค์ในด้านการพูดและการเขียนของกายเผยแผ่ธรรม การก่อตั้งมหาวิทยาลัยโซคา เป็นต้น และในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2494 ก็ได้จัดพิมพ์ หนังสือพิมพ์เซเคียว ออกมาเป็นฉบับปฐมฤกษ์ หลังจากนั้นอีก 20 ปี มหาวิทยาลัยโซคา ก็ได้ก่อตั้งขึ้นด้วยมือของอิเกดะ

นับตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 อาจารย์โทดะเข้ารับตำแหน่งเป็นนายกสมาคมสร้างคุณค่า อย่างเป็นทางการ จากนั้นสมาคมก็ได้เริ่มก้าวหน้าในการเผยแผ่คำสอนพุทธธรรมเพื่อสันติภาพอย่างจริงจัง

ในช่วงดึกของวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 อิเกดะได้จากไปอย่างสงบด้วยโรคชราที่บ้านพักของท่าน [5]

การทำงาน

[แก้]

วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 ในที่ประชุมใหญ่ผู้นำระดับภาคครั้งที่ 22 ณ หอประชุมใหญ่นิชิได (มหาวิทยาลัยญี่ปุ่น) ซึ่งอยู่ในตำบลเรียวโงะขุ กรุงโตเกียว ก็ได้จัดพิธีเข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมสร้างคุณค่า ท่านที่ 3 ขณะนั้นอาจารย์อิเกดะอายุ 32 ปี[6] หลังจากนั้น ในเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน อาจารย์อิเกดะก็ได้เริ่มเดินทางไปเยี่ยมเยียนสมาชิกที่หมู่เกาะโอกินาวาเป็นครั้งแรก ซึ่งตอนนั้นอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของอเมริกา[7] วันที่ 2 ตุลาคม อาจารย์อิเกดะเริ่มออกเดินทางเพื่อสันติภาพ ไปยังอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ นี่คือก้าวแรกแห่งการเผยแผ่ธรรมไพศาลไปทั่วโลก

ในอีกด้านหนึ่ง ด้วยการเสนอของอาจารย์อิเกดะ จึงได้จัดตั้งกลุ่มศึกษาธรรม กลุ่มศิลปิน และกลุ่มวิชาการ ในช่วงเวลาไม่กี่ปี หลังจากนั้นก็ได้ก่อตั้งสถาบันการวิจัยวิชาการภาคตะวันออกขึ้นมา (ปัจจุบันคือสถาบันการวิจัยปรัชญาตะวันออก) ก่อตั้งสมาคมดนตรีเพื่อประชาชน (มิน-ออน) โรงเรียนมัธยมโซคา และ มหาวิทยาลัยโซคา ญี่ปุ่น[8] นอกจากนี้ยังก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะฟุจิ พิพิธภัณฑ์ศิลปะโตเกียวฟุจิ และมีการพัฒนาการเคลื่อนไหวทางด้านวัฒนธรรมและการศึกษาอย่างหลากหลาย ในการประชุมใหญ่ของแผนกอุดมศึกษา ครั้งที่ 11 วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2511 มีการประกาศแถลงการณ์เสนอให้ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีนกลับสู่สภาวะปกติ[9] ในปี พ.ศ. 2513 ครอบครัวสมาชิกของสมาคมก็ได้พัฒนาเป็น 7 ล้าน 5 แสน ครอบครัว ท่านก็ได้ดำเนินการแลกเปลี่ยนด้านสันติภาพ วัฒนธรรม และการศึกษาอย่างกว้างขวาง โดยพบปะสนทนากับผู้ทรงความรู้ระดับโลก เช่น ดร.ทอยน์บี นักประวัติศาสตร์[10]ของประเทศอังกฤษ ในพ.ศ. 2515 เป็นต้น

ผลงาน

[แก้]

เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2497 อาจารย์โทดะ นายกสมาคมสร้างคุณค่า ท่านที่2 กับอาจารย์อิเกดะ ได้เดินทางไปยัง จังหวัดฮกไกโด ซึ่งเป็นบ้านเกิดที่อาจารย์โทะดะเติบโตขึ้นมา ครั้งนั้น อาจารย์โทดะได้กล่าวกับอาจารย์อิเกดะว่า ไดซากุ ทางด้านโน้นของท้องทะเลนี้ มีผืนดินแผ่นดินที่กว้างใหญ่โลกนั้นกว้าง ที่นั่นมีประชาชนที่ทุกข์ยากอยู่ จงถึงเดี๋ยวนี้เด็ก ๆ ที่หวาดกลัวไฟสงครามก็ยังมีอยู่ จะต้องจุดไฟแห่งธรรมมหัศจรรย์ไปยังตะวันออกและตะวันตกทั่วโลก จงทำสิ่งนี้แทนฉัน

เมื่ออาจารย์อิเกดะได้รับตำแหน่งนายกสมาคมสร้างคุณค่า ท่านที่ 3 เพียง 5 เดือนหลังจากนั้น คือในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2503 ท่านก็ได้เดินทางไปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ อันเป็นการเริ่มเดินทางก้าวแรกแห่งการเผยแผ่ธรรมไพศาลทั่วโลก ในเดือนมกราคมปีถัดมา พ.ศ. 2504 อาจารย์อิเกดะก็ได้เริ่มเดินทางเยี่ยมเยียนถิ่นต่าง ๆ ในภาคพื้นเอเชียครั้งแรกเช่น ศรีลังกา อินเดีย และฮ่องกง เป็นต้น โดยสลักคำสั่งเสียของพระนิชิเรนไดโชนินที่ว่า พุทธธรรมจะหวนกลับสู่ตะวันตก ไว้ในจิตใจ

ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำพิธีฝังศิลาจารึกคำว่า การเผยแผ่ธรรมสู่เอเชีย ไว้ที่พุทธคยา อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้น อาจารย์อิเกดะก็ได้ไปเยือนประเทศต่าง ๆ ทางยุโรป เช่น เดนมาร์ก ฮอลันดา ฝรั่งเศส อังกฤษ เป็นต้น เพื่อที่จะตอกเสาหลักการเผยแผ่ธรรมไพศาลทั่วโลก[11]

การก่อตั้งสมาคมสร้างคุณค่าสากล

[แก้]

ตัวแทนสมาชิกของสมาคมในท้องถิ่นต่าง ๆ 51 ประเทศทั่วโลก ได้รวมตัวกันเปิดประชุมสันติภาพทั่วโลกครั้งที่ 1 ขึ้นที่เกาะกวม เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 การประชุมครั้งนี้ ได้มีการก่อตั้งสมาคมสร้างคุณค่าสากล (SGI) ขึ้นมา[12] โดยมีอาจารย์อิเกดะเป็นผู้รับตำแหน่งประธานสมาคม

ในปี พ.ศ. 2538 ได้มีการกำหนด กฎบัตรเอสจีไอ[13] ที่ชูแนวทางมนุษยนิยมของเอสจีไออย่างชัดเจนขึ้นมา และได้ขยายการเคลื่อนไหว เพื่อสร้างสันติภาพ วัฒนธรรม และการศึกษา ที่มีแนวคิดของพุทธธรรมเป็นพื้นฐานไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2526 เป็นต้นมา ในวันที่ 26 มกราคม ซึ่งเป็น วันเอสจีไอ ของทุกปี อาจารย์อิเกดะก็จะแถลง ข้อเสนอที่ระลึกวันเอสจีไอ เพื่อที่จะสร้างสันติภาพขึ้นมาในโลก กระแสเคลื่อนแห่งลัทธิมนุษยนิยมและลัทธิสันติภาพจึงได้แผ่ขยายไปทั่วโลก

จากการที่ได้ทุ่มเทพลังทั้งหมดในการเคลื่อนไหว ทำให้กระแสคลื่นแห่งมนุษยนิยมที่มีหลักพุทธธรรมเป็นรากฐานได้แผ่ขยายออกไปในระดับโลก และเส้นทางการเผยแผ่ธรรมไพศาลทั่วโลกของพุทธธรรมก็ได้ถูกเปิดออกไปและงานที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาก็ได้ปรากฏเป็นจริงขึ้นมา ปัจจุบันได้เข้าสู่ยุคสมัยที่สมาชิกเอสจีไอได้ทำการเคลื่อนไหว ในการปฏิบัติพุทธธรรมของพระนิชิเรนไดโชนินในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วโลก 192 ประเทศเขตแคว้น (ข้อมูล ณ ปี พ.ศ. 2552)

รางวัล

[แก้]
ไดซะกุ อิเกะดะ กับรางวัลเกียรติยศ

ดร.ไดซากุ อิเกดะได้รับรางวัลทางการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกกว่า 334 รางวัล[14] ได้รับ มากกว่า 22 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั่วโลกรวมทั้งเครื่องราชย์อิสรยาภรณ์ ปถมาภรณ์มงกุฎไทย และยังได้รับการยกย่องเป็นกวีโลก[15] อีกด้วย

การถูกคว่ำบาตรจากพระสงฆ์

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1991 พระนิคเค่น โชนิน พระสังฆราชแห่งพุทธศาสนานิชิเรนโชชู ได้ประกาศการคว่ำบาตรต่อ ประธานสมาคมสร้างคุณค่า ไดซะกุ อิเกะดะ ซึ่งเป็นสมาคมผู้นับถือที่ใหญ่ที่สุด ด้วยความอิจฉาริษยา โดยได้ให้เหตุผลว่า การปฏิบัติ คำสอน ของผู้นับถือจากสมาคมนี้นั้นถูกเบี่ยนเบนไปโดยผู้นำ หรือประธานสมาคม เพราะการที่จะสวดมนต์และได้รับบุญกุศล จะต้องได้รับการอวยพรอธิษฐานโดยพระสงฆ์ และประธานสมาคมยังมีข้อพิพาทกับพระสงฆ์ ซึ่งผู้นำฝ่ายสงฆ์ในสมัยนั้นมีปัญหาเรื่องการใช้เงินบริจาคของสมาชิกอย่างไม่เหมาะสม รวมทั้งเที่ยวสถานบันเทิง อีกทั้งทางพระนิคเค่นได้กล่าวหาว่าได้มีการประดิษฐ์ "โงะฮนซนปลอม" โงะฮนซนเป็นสิ่งสักการบูชาของผู้นับถือนิชิเรนโชชู ซึ่งนิกายนิคเค่นโงะฮนซนจะต้องถูกคัดลอกโดยสมเด็จพระสังฆราชจากวัดใหญ่ไทเซขิจิเท่านั้น และจะต้องมีการทำพิธีเปิดเนตรที่กระทำโดยสมเด็จพระสังฆราชที่วัดใหญ่เท่านั้น นอกเหนือจากนั้นจะถือเป็น "โงะฮนซนปลอม" ดังนั้น สมาชิกของสมาคมจึงไม่สามารถได้รับบุญกุศล แต่ต้องขึ้นกับพระสงฆ์เท่านั้น

ในปี ค.ศ. 1997 ผู้นับถือทั้งหมดที่ตัดสินใจยังคงเข้ากับสมาคมสร้างคุณค่าทั้งหมดทั่วโลก ก็ได้ถูกคว่ำบาตรออกจากการเป็นผู้นับถือพุทธศาสนานิชิเรนโชชูด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ผู้นับถือทั้งหมดไม่สามารถเดินทางไปยังวัดไทเซขิจิ เพื่อนมัสการไดโงะฮนซนได้ นอกเสียจากจะถอนตัวจากสมาคมสร้างคุณค่า และกลับมาเข้ากับนิกายนิชิเรนโชชู ดังเดิม ซึ่งจะต้องผ่านพิธีสำนึกผิด หรือการล้างบาป โดยพระสงฆ์ (เหมือนเชื่อว่าพระเป็นบ­ุรุษไปรษณีย์ นำจ่ายบุญและรับฝากของไปให้คนตา­ย)

ทั้งนี้ สมาชิกของสมาคมสร้างคุณค่ากลับมองว่าเป็นการมีอิสรภาพในเรื่องการปฏิบัติศรัทธา โดยเป็นศาสนาของประชาชนอย่างแท้จริงที่ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน อันเป็นหลักสาระสำคัญในสัทธรรมปุณฑริกสูตรและเป็นเจตนารมณ์ของพระนิชิเร็นไดโชนินที่ต้องการให้ประชาชนสามารถพ้นทุกข์และมีสันติภาพ ดังนั้น ประชาชนสามัญชนธรรมดาก็สามารถได้รับบุญกุศลด้วยการปฏิบัติศรัทธาของตนเอง ด้วยข้อพิสูจน์ดังกล่าว พุทธธรรมของพระนิชิเร็นไดโชนินจึงได้แผ่ขยายไปทั่วโลกกว่า 192 ประเทศเขตแคว้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนด้วยความเคลื่อนไหวของสามัญชนธรรมดาที่สามารถเปลี่ยนแปลงชะตากรรมให้กลายเป็นบุญกุศลและชักชวนให้ผู้อื่นที่มีความทุกข์และความยากลำบากได้พบกับหนทางในการเข้าถึงความสุขสัมบูรณ์

ดังนั้น การถูกคว่ำบาตร (หรือการถูกเนรเทศ) จากพระสงฆ์ที่แสวงหาประโยชน์จากความศรัทธาโดยบริสุทธิ์ของสมาชิก จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของสมาคมสร้างคุณค่าทางจิตวิญญาณ (18 พฤศจิกายน คือวัน Spiritual Independence Day ของสมาคม) และรางวัลเกียรติยศจากสถาบันชั้นนำของโลกที่มอบให้กับสมาคมและอาจารย์อิเกดะก็ยังคงเพิ่มจำนวนมากขึ้น

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

บรรณานุกรม

[แก้]
  1. เพื่อเพื่อนผู้ศรัทธา, วารสารสร้างคุณค่า พฤศจิกายน พ.ศ. 2548[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
  2. http://www.daisakuikeda.org/main/profile/bio/bio-01.html
  3. ท่วงทำนองชีวิต คาเนโกะ อิเกดะ หน้า12
  4. http://www.daisakuikeda.org/main/profile/bio/bio-02.html สืบค้นวันที่18-7-53
  5. "Daisaku Ikeda, head of global Japanese Buddhist organization Soka Gakkai, dies at 95". abcnews.go.com. YURI KAGEYAMA. 2023-11-18. สืบค้นเมื่อ 2023-11-18.
  6. Ikeda, Daisaku. 2004. The Human Revolution, Book 2, p.1971. CA: World Tribune Press.
  7. http://www.daisakuikeda.org/main/profile/bio/bio-08.html
  8. Ikeda, Daisaku. 2007. Peace Proposal--Restoring the Human Connection: The First Step to Global Peace, p.43. Tokyo: SGI.
  9. Ikeda, Daisaku. 2003. The New Human Revolution, vol. 9, pp.315-316. CA: World Tribune Press.
  10. Ikeda, Daisaku. 2007. Peace Proposal--Restoring the Human Connection: The First Step to Global Peace, pp.42-43. Tokyo: SGI.
  11. Ikeda, Daisaku. 1998. "Zuihitsu Shin-ningenkakumei, Hi ni hi ni aratani [Thoughts on The New Human Revolution: Daily Self-Renewal]." Seikyo Shimbun, January 4, p. 3.
  12. Ikeda, Daisaku. 2005. "Zuihitsu 'Shin-ningenkakumei,' 69 To'o Roshia ni mebuku myoho no tane [Thoughts on The New Human Revolution: 69, The Seeds of the Mystic Law Sprouting in Russia and Eastern Europe]. Seikyo Shimbun, February 18, pp.2-3.
  13. http://www.sgt.or.th/%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B9%84%E0%B8%AD/
  14. http://www.sgt.or.th/%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B8%8B%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%B8-%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B0/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2/
  15. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-05. สืบค้นเมื่อ 2013-08-23.

อ้างอิง

[แก้]
ก่อนหน้า ไดซากุ อิเกดะ ถัดไป
โจะเซ โทะดะ นายกสมาคมสร้างคุณค่า
(พ.ศ. 2503 - พ.ศ. 2522)
ฮิโรชิ โฮโจ
เริ่มตำแหน่ง ประธานสมาคมสร้างคุณค่าสากล
(พ.ศ. 2518 - พ.ศ. 2553)
อยู่ในตำแหน่ง