ข้ามไปเนื้อหา

พระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระครูโอภาพพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก)

(กอง ภูฆัง , หลวงพ่อกอง วัดโพธาราม)
พระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก)
ส่วนบุคคล
เกิด11 มกราคม พ.ศ.2456 (52 ปี)
มรณภาพ18 ธันวาคม พ.ศ.2508
นิกายมหานิกาย
การศึกษาพระธรรมวินัย, พระปริยัติธรรม (นักธรรม ชั้นเอก), พุทธาคม
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดโพธาราม (บ้านคอยเหนือ) ตำบลบางงาม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
อุปสมบทพ.ศ.2476
พรรษา32 พรรษา
ตำแหน่งเจ้าคณะตำบลบางงาม , เจ้าอาวาสวัดโพธาราม
ลายมือ หลวงพ่อกอง วัดโพธารามลงวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2487

พระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก) หรือนิยมเรียกว่า “หลวงพ่อกอง วัดโพธาราม” หรือ "หลวงพ่อกอง วัดบ้านคอยเหนือ" เป็นพระเถราจารย์ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุพรรณบุรี อดีตเจ้าคณะตำบลบางงาม เจ้าอาวาสวัดโพธาราม (บ้านคอยเหนือ) ตำบลบางงาม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

ชาติภูมิ[แก้]

ชื่อ กอง นามสกุล ภูฆัง ชาตะ วันอาทิตย์ ที่ 11 มกราคม พ.ศ.2456 (แรม 1 ค่ำ เดือนยี่ ปีฉลู) ณ บ้านลำพันบอง[1] ตำบลลำพันบอง อำเภอเดิมบาง เมืองสุพรรณบุรี[2] (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลหนองโพธิ์ อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี)

เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 8 คน ของนายขวัญ นางซิว นามสกุล ภูฆัง ครอบครัวชาวไทย เชื้อสายลาวครั่ง ประกอบอาชีพกสิกรรม[3]

วัยเยาว์ - วัยหนุ่ม[แก้]

วัยเยาว์ถึงวัยหนุ่ม ช่วยครอบครัวประกอบอาชีพด้วยความยากลำบาก ต้องอพยพย้ายที่ทำมาหากินบ่อยครั้ง เนื่องด้วยสาเหตุความแห้งแล้งกันดาร ต้องย้ายจากถิ่นฐานที่เกิดมาอยู่บ้านหนองโสน บ้านดอนยาว บ้านหนองแสลบ บ้านหนองนา สุดท้ายที่บ้านหินแลง ตำบลบ้านคอย อำเภอศรีประจันต์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์) จังหวัดสุพรรณบุรี[1]

อุปสมบท[แก้]

พ.ศ.2476 บรรพชาและอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดราษฎรบำรุง[3] ตำบลบ้านคอย อำเภอศรีประจันต์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์) จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมี

พระครูพิบูลศีลวัตร (ยา คงฺคสุวณฺโณ) เจ้าคณะหมวดโคกคราม เจ้าอาวาสวัดลาดหอย[4] อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี (หลวงพ่อยา วัดลาดหอย) เป็นพระอุปัชฌาย์

พระอธิการอ้วน ธมฺมกถิโก เจ้าอาวาสวัดสามทอง อำเภอท่าพี่เลี้ยง จังหวัดสุพรรณบุรี (หลวงพ่ออ้วน วัดสามทอง) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

เจ้าอธิการปุย ปุญฺญสิริ เจ้าคณะหมวดบางงาม เจ้าอาวาสวัดเกาะ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี (หลวงพ่อปุย วัดเกาะ) เป็นพระอนุสาวนาจารย์[5]

ได้รับฉายาทางพระพุทธศาสนาว่า "โอภาสโก" (อ่านว่า โอ-พา-สะ-โก)

อุปสมบทแล้วอยู่วัดจิกรากข่า จวนใกล้เข้าพรรษาชาวบ้านคอยจึงนิมนต์ให้มาอยู่วัดบ้านคอยเหนือ ตำบลบ้านคอย (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลบางงาม) อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งขณะนั้นมีหลวงตายวงเป็นพระภิกษุชราภาพเฝ้าวัดอยู่เพียงรูปเดียว โดยจำพรรษาอยู่วัดนี้ตั้งแต่ พ.ศ.2476 เป็นต้นมา[1]

การศึกษา[แก้]

เนื่องจากบรรพบุรุษมีอาชีพกสิกรรม ชีวิตแต่เยาว์ของท่านส่วนมากคลุกคลีอยู่กับงานกลางไร่ นา ไม่มีโอกาสได้ศึกษาอักษรสมัย ประกอบกับการศึกษาสมัยนั้นส่วนมากต้องเรียนกับพระในวัด ไม่มีระบบการศึกษาภาคบังคับเยี่ยงปัจจุบันนี้ เยาวชนสมัยนั้นจึงสมัครใจอยู่บ้าน ช่วยผู้ปกครองประกอบอาชีพ ต่อเมื่อถึงคราวควรได้บวชตามประเพณีนิยม จึงจะมีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียน ดังนั้นชีวิตของท่านจึงมาเริ่มต้นศึกษาอ่านออกเขียนได้เมื่อบรรพชาอุปสมบทแล้ว[3]

เป็นศิษย์ศึกษาวิชาความรู้จากหลวงพ่ออ้วน วัดสามทอง กับ หลวงพ่อปุย วัดเกาะ และยังศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม สอบได้นักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก ตามลำดับ[5]

เหตุการณ์ - ผลงานสำคัญ[แก้]

  • พ.ศ.2476 ชาวบ้านคอยนิมนต์มาจำพรรษาอยู่วัดบ้านคอยเหนือ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
  • ไม่ทราบปี บูรณะกุฏิเก่า และสร้างกุฏิใหม่
  • พ.ศ.2480 ปรับสภาพภูมิประเทศในวัด ขุดพบเครื่องปั้นดินเผา รูปปั้นช้างม้า อาวุธโลหะ ดาบ โล่ ขอ ง้าว สภาพผุพังจำนวนมาก
  • พ.ศ.2482 เปิดโรงเรียน ชื่อว่า "โรงเรียนประชาบาลตำบลดอนเจดีย์ 2 (วัดโพธาราม)" แรกเริ่มใช้ศาลาการเปรียญหลังเก่าและหลังใหม่เป็นสถานที่เรียน (ตามลำดับ) กระทั่งสร้างอาคารเรียนเสร็จแล้วจึงย้ายนักเรียนไปที่อาคารดังกล่าว
  • พ.ศ.2485 สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ (หลังปัจจุบัน) เสร็จ โดยมีพระครูประภัศร์ธรรมาภรณ์ (แต้ม ปุญฺญสุวณฺโณ) วัดพระลอย เป็นนายช่าง
  • พ.ศ.2487 ซื้อตำราเรียนพระปริยัติธรรม ถวายประจำวัดโพธาราม เพื่อให้พระภิกษุ-สามเณร ได้ใช้ศึกษา
  • พ.ศ.2487 ดำเนินเรื่องขอพระราชทานวิสุงคามสีมา ได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2487 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร[6] แต่เนื่องจากเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนในท้องถิ่นมีจำนวนน้อย สภาพความเป็นอยู่แร้นแค้น จึงดำเนินการปักเขตพัทธสีมา ปลูกสร้างอาคารชั่วคราว โดยขึ้นเสา มุงหลังคา ไม่มีฝาผนัง เป็นที่ประกอบสังฆกรรมเพียงใช้ได้ชั่วคราวก่อน
  • พ.ศ.2493 สร้างหอสวดมนต์เสร็จ โดยมีพระครูประภัศร์ธรรมาภรณ์ (แต้ม ปุญฺญสุวณฺโณ) วัดพระลอย เป็นนายช่าง[7]
  • พ.ศ.2496 สร้างอาคารเรียนเสร็จ แล้วย้ายนักเรียนไปยังอาคารเรียนหลังนี้
  • พ.ศ.2501 - 2508 เป็นผู้อุปถัมภ์สำนักเรียนพระปริยัติธรรม วัดดอนเจดีย์ ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอศรีประจันต์ (ภายหลังแยกเป็นอำเภอดอนเจดีย์) จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเริ่มเปิดใหม่ ยังขาดความพร้อม ความสะดวก ในหลายด้าน จึงได้พระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก) เป็นผู้อุปถัมภ์สำคัญ[5]

ตำแหน่ง - สมณศักดิ์[แก้]

  • พ.ศ.2476 เป็น กรรมการรักษาวัด
  • ไม่ทราบปี เป็น รักษาการแทนเจ้าอาวาส
  • พ.ศ.2486 เป็น เจ้าอาวาสวัดโพธาราม สมณศักดิ์ที่ พระอธิการกอง
  • ไม่ทราบปี เป็น พระกรรมวาจาจารย์
  • ไม่ทราบปี เป็น กรรมการตรวจนักธรรมสนามหลวง
  • ไม่ทราบปี เป็น เจ้าคณะตำบลบางงาม
  • ไม่ทราบปี เป็น พระครูกรรมการศึกษาชั้นประทวน สมณศักดิ์ที่ พระครูกอง
  • พ.ศ.2505 เป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นตรี ในราชทินนามที่ พระครูโอภาสพุทธิคุณ[8]

วัตรปฏิบัติ - ปฏิปทา[1][3][แก้]

พระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก) เป็นผู้มีใจกว้างขวาง โอบอ้อมอารี มีคุณธรรม มีเมตตา มีศีลาจารวัตรงดงาม ให้ความอบอุ่นร่มเย็นแก่ชาวบ้าน ให้การเยี่ยมเยียนทุกครอบครัวโดยทั่วถึงเป็นประจำสม่ำเสมอ ประชาชนทั้งใกล้และไกลมีความศรัทธาเลื่อมใสท่านเป็นอย่างมาก

วัดโพธาราม (บ้านคอยเหนือ) สมัยท่านมาอยู่ใหม่ๆ มีสภาพเสมือนวัดร้าง พื้นที่กว้างขวาง เป็นป่าดง ลุ่ม ดอน มีแมกไม้นานาพันธุ์ เช่น มะซาง มะกัก มะกอก ประดู่ แดง มะค่า ปรู ตะเคียน มะขามใหญ่ มะขามป้อม จันทร์โอ จันทร์อิน แจง พิกุล สารภี ฯลฯ ส่วนสิ่งก่อสร้างมีเพียงวิหารร้างเก่าแก่ จำนวน 1 หลัง กุฏิทรงไทยเก่าๆ จำนวน 2 หลัง และศาลาการเปรียญ ขนาดเล็ก ยกพื้นสูง 2 ศอก สภาพผุพัง จำนวน 1 หลัง นอกนั้นไม่มีอะไรเลย

สมัยนั้นโรงเรียนประชาบาลมีจำนวนน้อย ทั้งค่านิยมในสังคมชนบทที่ไม่นิยมส่งเสริมเรื่องการศึกษา ด้วยเกรงว่าจะไม่มีแรงงานช่วยภาคเกษตรกรรม เด็กส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับการศึกษา และด้วยท่านเคยเป็นผู้ไม่ได้รับการศึกษามาก่อน จึงเห็นความสำคัญของการศึกษา เมื่อพบเห็นเด็กตามบ้านป่า ท้องถิ่นทุรกันดารในสมัยนั้น เช่น บ้านลำพันบอง บ้านหนองโสน บ้านดอนยาว บ้านหนองแสลบ ตลอดจนแถบเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ท่านจึงไปเยี่ยมเยียนบ้านต่างๆ พูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษา และขออนุญาตนำลูกหลานมาอุปการะเลี้ยงดู ส่งเสริมให้ได้รับการศึกษา อบรมสั่งสอนเต็มความรู้ความสามารถของท่าน

ท่านดำเนินเรื่องขออนุญาตทางราชการเปิดโรงเรียนประชาบาลที่วัดโพธาราม (บ้านคอยเหนือ) แต่ว่าไม่ได้รับอนุญาต จึงต้องอาศัยศาลาวัดเป็นสถาบันขั้นต้นไปก่อน แต่ท่านก็ยังไม่ลดละความพยายาม ตั้งใจจะเปิดโรงเรียนประชาบาลให้ได้ เพื่อเด็กจะได้มีสถานที่เรียนรู้ ไม่อยากให้มีความรู้น้อยเหมือนท่านในอดีต จึงจัดการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะในวัดเพื่อรองรับเด็กนักเรียน เริ่มจากปรับปรุงสภาพภูมิประเทศภายในวัด แผ้วถางป่ารก เมื่อชาวบ้านว่างจากการทำนา กลางคืนจะตีกลองเป็นสัญญาณ จุดตะเกียงเจ้าพายุ ชักชวนมาช่วยขุดดิน ถมบ่อ ส่วนกลางวันท่านจะขึ้นป่าหาไม้มาสร้างและปฏิสังขรณ์วัด กระทั่งทางราชการเห็นถึงความพยายามและความตั้งใจจริง จึงอนุญาตให้เปิดโรงเรียนประชาบาลประเภทนายอำเภอจัดตั้งได้สำเร็จ

ส่วนที่บวชเป็นพระภิกษุ - สามเณร ท่านส่งเสริมให้ศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม โดยท่านเป็นครูสอนเอง หากผู้ใดประสงค์จะศึกษาให้ก้าวหน้ากว่านักธรรม ท่านก็สนับสนุนส่งไปเรียนในแหล่งที่เจริญด้วยการศึกษา มีผู้สำเร็จการศึกษาแล้วกลับมาช่วยท่านอบรมสั่งสอนที่สำนักเดิมหลายราย จวบจนสามารถจัดตั้งการศึกษาแผนกบาลีขึ้นในสำนักเรียนวัดโพธารามได้อีกแผนกหนึ่ง

การพัฒนาวัด ท่านวางแผนว่าสร้างกุฏิ ศาลาการเปรียญหลังใหม่ หอสวดมนต์ อาคารเรียน แล้วจะทำการสร้างอุโบสถต่อไปตามลำดับ เนื่องจากขณะนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนในท้องถิ่นมีจำนวนน้อย สภาพความเป็นอยู่แร้นแค้น ท่านไม่อยากเบียดเบียนรบกวนชาวบ้าน จึงดำเนินการปักเขตพัทธสีมา ปลูกสร้างอาคารชั่วคราว โดยขึ้นเสา มุงหลังคา ไม่มีฝาผนัง เป็นที่ประกอบสังฆกรรมเพียงใช้ได้ชั่วคราวก่อน

การดำเนินการก่อสร้างในวัดทั้งกุฏิ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ อาคารเรียน ท่านใช้วิธีขึ้นป่าหาไม้ "ทอดผ้าป่าไม้" นำไม้มาเลื่อย ถาก สร้างกันเอง โดยมีหลวงพ่อแต้ม วัดพระลอย หลวงพ่อเจริญ วัดธัญญวารี ฯลฯ ชาวบ้านและศิษย์วัดช่วยกันทำ

อาพาธ - มรณภาพ[แก้]

ท่านเริ่มอาพาธตั้งแต่เมื่อไรไม่มีใครทราบ เพราะปกติท่านเป็นผู้มีขันติ เยือกเย็น อดทน ดังนั้นจึงดูเหมือนว่าท่านได้เจ็บลงอย่างกระทันหัน โดยไม่มีผู้ใดทราบว่าท่านป่วยเป็นโรคอะไร กว่าจะเป็นที่ทราบถึงคณะศิษยานุศิษย์และญาติโยมก็ต่อเมื่ออาการหนักเสียแล้ว แม้กระนั้นก็ไม่ละความพยายาม ได้นำท่านไปตรวจรักษายังโรงพยาบาล จึงเป็นที่ทราบกันว่าท่านป่วยเป็นโรคมะเร็ง น่าใจหาย เพราะโรคร้ายนี้กว่าจะรู้ก็ต่อเมื่อสายเสียแล้ว จึงนำท่านกลับวัด อาการทรุดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2508 ด้วยอาการอันสงบ[3] สิริอายุ 52 ปี 32 พรรษา

การจัดการศพ[แก้]

หลังพระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก) มรณภาพ ทางคณะสงฆ์จึงแต่งตั้ง พระมหาคำพร เมธงฺกุโร (ลูกศิษย์หลวงพ่อกอง) เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส และมี พระครูสุวรรณวิสุทธิ์ (เจริญ ปภาโส) วัดธัญญวารี พระครูวรนาถรังษี (ปุย ปุญฺญสิริ) วัดเกาะ พระครูสุนทรวิริยานุวัตร (เทพ ถาวโร) วัดกุฎีทอง และพระมหาคำพร เมธงฺกุโร วัดโพธาราม เป็นคณะจัดการงานศพ

มีพิธีสรงน้ำศพ พิธีบำเพ็ญกุศล-สวดพระอภิธรรม ครบ 7 วัน (สัตตมวาร) ครบ 50 วัน (ปัญญาสมวาร) ครบ 100 วัน (ศตมวาร) ต่อเนื่องมา กระทั่งบรรจุศพเพื่อรอพิธีพระราชทานเพลิงศพ , วันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2509 มีพิธีบำเพ็ญกุศล สวดพระอภิธรรม , วันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2509 มีพิธีอัญเชิญหีบศพยังฌาปนสถานชั่วคราว (เมรุลอย) พระสงฆ์สวดมาติกา บังสุกุล ศราทธพรตคาถา และพิธีพระราชทานเพลิงศพ โดยมี สมเด็จพระวันรัต (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ กรุงเทพมหานคร เป็นประธาน , วันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2509 มีพิธีสามหาบ เก็บอัฐิ เป็นอันเสร็จพิธี

ภาพพิธีพระราชทานเพลิงศพ[แก้]

ภาพพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก) วันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2509 โดย ห้องภาพศรีวิจิตร ตลาดดอนเจดีย์ เป็นผู้ถ่ายภาพถวาย

โกศอัฐิ และรูปเหมือนพระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก)
โรงเรียนวัดโพธาราม (โอภาสราษฎร์ประสิทธิ์) ปัจจุบันเลิกล้มแล้ว

สิ่งเกี่ยวเนื่อง - อนุสรณ์[แก้]

  • โรงเรียนวัดโพธาราม (โอภาสราษฎร์ประสิทธิ์) เป็นโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่วัดโพธาราม โดยพระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก) เป็นผู้นำสร้าง เดิมชื่อว่า "โรงเรียนประชาบาลตำบลดอนเจดีย์ 2 (วัดโพธาราม)" เปิดดำเนินการวันแรกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2482 สมัยนายดาบจันทร์ รูปสูง เป็นธรรมการอำเภอ มีนายเตือน บุญแย้ม เป็นครูสอนคนแรก แรกเริ่มใช้ศาลาการเปรียญหลังเก่าและหลังใหม่ของวัดเป็นสถานที่เรียน (ตามลำดับ) กระทั่งสร้างอาคารเรียนเสร็จเมื่อ พ.ศ.2496 จึงย้ายนักเรียนไปที่อาคารดังกล่าว ต่อมาเมื่อโอนย้ายอยู่ในเขตปกครองตำบลบางงาม จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนวัดโพธาราม (โอภาสราษฎร์ประสิทธิ์)" โดยคำว่า "โอภาส" นั้นมาจากชื่อสมศักดิ์ของพระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก) เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงท่าน เปิดดำเนินการต่อเนื่องมา จวบจนระยะหลังมีจำนวนนักเรียนน้อย เหลือเพียง 9 คน ทางราชการจึงมีคำสั่งให้เลิกล้มโรงเรียนนี้ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2535[1]
  • รูปเหมือนหลวงพ่อกอง สร้างภายหลังพระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก) มรณภาพแล้ว ปัจจุบันประดิษฐานบนศาลาการเปรียญ
  • วันบูรพาจารย์วัดโพธาราม เป็นวันคล้ายวันมรณภาพพระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก) มีพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน และถวายภัตตาหารเพล วันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปี
  • คำขวัญประจำหมู่บ้าน เป็นคำขวัญประจำหมู่บ้าน หมู่ที่ 4 ตำบลบางงาม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยนำสมณศักดิ์ของพระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก) มาเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำหมู่บ้าน คือ "หมู่บ้านประวัติศาสตร์ พระครูโอภาสศักดิ์สิทธิ์ ศูนย์สาธิตเป็นที่พึ่ง ความเป็นหนึ่งคือสามัคคี"

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 ประนันท์ ศรีหมากสุก. (2536). ที่ระลึกเนื่องในงานปิดทองฝังลูกนิมิต ผูกพัทธสีมา และฉลองสิ่งปลูกสร้าง วัดโพธาราม ตำบลบางงาม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี 9-17 มกราคม 2536. สุพรรณบุรี: เซ็นทรัลมีเดีย แอนด์ แอดเวอร์ไทซิ่ง.
  2. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย ประกาศตั้งอำเภอเดิมบางและเปลี่ยนชื่ออำเภอเดิมบางเก่าเป็นอำเภอบ้านเชียน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 28 (0 ง): 299–300. May 21, 1911.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 ประนันท์ ศรีหมากสุก. (2509). ไม่วุ่นจะว่าง โดย พุทธทาสภิกขุ บริษัทกรุงเทพสัมพันธ์ จำกัด พิมพ์เป็นธรรมบรรณาการเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พระครูโอภาสพุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดโพธาราม. พระนคร: จำลองศิลป์.
  4. กรมธรรมการ. (2473). ทำเนียบสมณศักดิ์ กับ ทำเนียบเปรียญ พ.ศ.2473. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.
  5. 5.0 5.1 5.2 พีระศักดิ์ สุนทรวิภาต. (2563). ที่ระลึก 125 ปีชาตกาล 40 ปีมรณภาพ พระครูวรนาถรังษี (ปุย ปุญฺญสิริ). พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: กุศลบุญการพิมพ์.
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ พระราชทานวิสุงคามสีมา (ให้วัดที่มีชื่อในบัญชีท้ายประกาศ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตามเขตที่กำหนดไว้ในบัญชีนั้น)ประกาศ ณ วันที่ 7 กันยายน พุทธศักราช 2487), เล่ม 61, ตอน 58 ก, 19 กันยายน 2487, หน้า 837
  7. พระครูประภัศร์ธรรมาภรณ์. (2510). อนุสสรณ์งานทำบุญอายุครบ 76 ปี พระครูประภัศร์ธรรมาภรณ์ (แต้ม ปุญฺญสุวณฺโณ). กรุงเทพฯ: บูรณะการพิมพ์
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 80, ตอน 3 ง, 4 มกราคม 2506, หน้า 13