ข้ามไปเนื้อหา

พยัคฆ์ระห่ำ มังกรผยองโลก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไฟล์:พยัคฆ์ระห่ำ.jpg
โปสเตอร์ภาพยนตร์
ไฟล์:7222.jpg
โปสเตอร์โปรโมทภาพยนตร์ก่อนเข้าฉาย

พยัคฆ์ระห่ำ มังกรผยองโลก (จีน: 臥虎藏龍; พินอิน: Wòhǔ Cánglóng; อังกฤษ: Crouching Tiger, Hidden Dragon) นำแสดงโดย โจว เหวินฟะ, มิเชล โหย่ว, จาง จื่ออี๋, จาง เจิ้น และ เจิ้ง เพ่ยเพ่ย กำกับโดย อั้งลี่ ออกฉายในปี ค.ศ. 2000 ได้รับรางวัลออสการ์ 4 รางวัล ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม, กำกับภาพยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม

เนื้อเรื่องย่อ

[แก้]

เรื่องราวเกิดขึ้นในยุคราชวงศ์ชิง รัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง หลี่ มู๋ไป๋ (โจว เหวินฟะ) จอมยุทธผู้ทรงคุณธรรมแห่งยุทธจักรตั้งใจจะวางกระบี่ และกลับไปใช้ชีวิตกับ ซู เหลียน (มิเชลล์ โหยว) จอมยุทธหญิงเจ้าของสำนักคุ้มภัยคู่หมั้น หลี่ มู๋ไป๋มอบกระบี่ชะตาฟ้า กระบี่วิเศษคู่กายแก่ขุนนางผู้ใหญ่ผู้หนึ่ง แต่แล้วคืนหนึ่ง กระบี่ก็ถูกขโมยไปจากจวนขุนนาง

อีกด้านหนึ่ง อวี้ เจียวหลง (จาง จื่ออี๋) บุตรสาวที่ใกล้พิธีวิวาห์ของขุนนางชั้นผู้ใหญ่อีกผู้หนึ่ง นางเป็นหญิงสาวที่ดูภายนอกเหมือนกุลสตรีในตระกูลสูงทั่วไป แต่แท้ที่จริงแล้วนางเป็นผู้ที่ชื่นชอบการฝึกฝนวรยุทธ มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องการอยู่ใต้อาณัติใคร และต้องการเป็นอิสระ อวี้ เจียวหลง เป็นลูกศิษย์ของนางจิ้งจอกหยก (เจิ้ง เพ่ยเพ่ย) ที่แฝงเป็นข้ารับใช้ของนางมาตลอด และอวี้ เจียวหลงเป็นผู้ขโมยกระบี่ชะตาฟ้าเองโดยที่นางจิ้งจอกหยกไม่ได้สั่ง ในวันวิวาห์ ขณะที่กำลังส่งตัวเจ้าสาว นางจิ้งจอกหยกก็มาลักพาตัวอวี้เจียวหลงไป หลี่ มู๋ไป๋ที่ประสงค์จะวางมือจากยุทธจักรแล้วต้องลุกขึ้นมาหวนสู่วงการอีกครั้ง

ปรากฏการณ์

[แก้]

Crouching Tiger, Hidden Dragon เป็นภาพยนตร์จีนกำลังภายในเรื่องแรกที่ฮอลลีวูดสร้างโดยร่วมกับทางไต้หวัน สร้างจากบทประพันธ์ดั้งเดิมของหวัง ตู้ลู่ [1]โดยทีมงานใช้ชาวเอเชียล้วน ๆ เมื่อเข้าฉายในสหรัฐอเมริกาก็ได้สร้างปรากฏการณ์อย่างมาก เมื่อภาพยนตร์ได้รับความนิยมอย่างสูงสุด โดยทำรายได้ไปถึง 213 ล้านเหรียญทั่วโลก เฉพาะในสหรัฐอเมริกานั้น ทำรายได้ไปถึง 128 ล้านเหรียญ นับเป็นภาพยนตร์ต่างประเทศที่ทำรายได้สูงสุดจนถึงปัจจุบันนี้[2] ด้วยเป็นเพราะชาวตะวันตกไม่เคยได้ดูภาพยนตร์ในแนวนี้มาก่อน อีกทั้งฉากบู๊และคิวการต่อสู้ก็ทำได้ดี เป็นธรรมชาติ จนได้รับรางวัลออสการ์ถึง 4 รางวัลด้วยกัน ได้แก่ ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม, กำกับภาพยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม และเมื่อฉายในอีกหลายประเทศก็ได้รับรางวัลมากมายเช่นกัน Crouching Tiger, Hidden Dragon ถือได้ว่าเป็นภาพยนตร์ที่สร้างชื่อเสียงอย่างมากให้แก่ อั้งลี่ ผู้กำกับ ในระดับโลกอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นการแจ้งเกิดของ จาง จื่ออี๋ นักแสดงหญิงตัวเอกในเรื่องด้วย[3] และเป็นการเปิดศักราชให้แก่ภาพยนตร์กำลังภายในอีกครั้ง หลังจากเงียบหายไปนับ 10 ปี เพราะหลังจากนี้ก็ได้มีภาพยนตร์กำลังภายในอีกหลายเรื่องทะยอยสร้างตามมาและเข้าฉายในต่างประเทศทั่วโลก แต่สำหรับในประเทศไทยแล้ว เมื่อภาพยนตร์เข้าฉายกลับไม่ประสบความสำเร็จมากนักเหมือนในหลายประเทศ อีกทั้งคำวิจารณ์ก็ยังมีทั้งในแง่บวกและแง่ลบด้วย อาจเป็นเพราะสำหรับคนไทยแล้วภาพยนตร์ในแนวนี้เป็นที่คุ้นเคยดีและภาพยนตร์ก็ยังไม่อาจทำได้ถึงระดับเหมือนภาพยนตร์กำลังภายในเรื่องก่อน ๆ[4][5][6]

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2017 ในวาระครอบรอบ 100 ปี ภาพยนตร์จีน ได้มีการจัดอันดับ 100 อันดับภาพยนตร์จีนที่ดีที่สุด Crouching Tiger, Hidden Dragon ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 10 [7]

ซีรีส์

[แก้]

ในปี ค.ศ. 2004 ทางไต้หวันได้มีการสร้างซีรีส์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ในชื่อ New Crouching Tiger, Hidden Dragon โดยมี ชิว ซินฉื่อ, หวง อี้, เหอ ยุ่นตง, สุ่ย หลิง นำแสดง [8]

ภาคต่อ

[แก้]

จากความสำเร็จในภาคแรก ทำให้มีการสร้างภาพยนตร์ภาคต่อในชื่อ Crouching Tiger, Hidden Dragon: The Green Legend หรือ Crouching Tiger, Hidden Dragon: Sword of Destiny กำหนดฉายในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2015[2] โดยเนื้อหาเป็นส่วนที่ต่อจากภาคเดิม โดยมีนักแสดงชั้นนำร่วมแสดง คือ มิเชล โหย่ว, เจิ้น จื่อตัน กำกับโดย หยวน หวูปิง[9]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Crouching Tiger, Hidden Dragon: Crane Iron Pentalogy, Novels by Wang Du Lu
  2. 2.0 2.1 "ชมตัวอย่าง Crouching Tiger, Hidden Dragon ภาค 2". ผู้จัดการออนไลน์. 8 December 2015. สืบค้นเมื่อ 10 December 2015.[ลิงก์เสีย]
  3. Corliss, Richard (3 December 2000). "Year of the Tiger". TIME. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-07. สืบค้นเมื่อ June 29, 2011. a top-flight all-Asian cast featuring Chow Yun Fat (Hong Kong), Michelle Yeoh (Malaysia), Zhang Ziyi (Beijing) and Chang Chen (Taiwan). Only one of the stars--Zhang, then a 19-year-old ingenue--spoke anything like the classical mainland Mandarin that Lee demanded.
  4. Crouching Tiger, Hidden Dragon. Box Office Mojo. Accessed December 30, 2006.
  5. "Interview: Zhang Yimou". MonkeyPeaches.com. สืบค้นเมื่อ June 29, 2011.
  6. "นนทรีย์ นิมิบุตร". พันทิปดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 7 October 2014.
  7. ฟ้าธานี (2017-04-18). "10 หนังจีนยอดเยี่ยมตลอดกาล". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-24. สืบค้นเมื่อ 2017-04-18.
  8. "IGN review of New Crouching Tiger, Hidden Dragon". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-14. สืบค้นเมื่อ 2014-10-07.
  9. "หนังภาคต่อ Crouching Tiger, Hidden Dragon เปิดฉายโรงพร้อมขายให้ชมผ่านเน็ท เครือข่ายโรงหนังจ่อไม่เอาเข้าโรง". sadaos.com. 2 October 2014. สืบค้นเมื่อ 7 October 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]