การพลัดถิ่น
การพลัดถิ่น (อังกฤษ: diaspora) คำว่า “diaspora” มาจากภาษากรีก “διασπορά” ที่แปลว่า “การหว่าน[เมล็ดพืช]” เป็นคำที่หมายถึงการโยกย้ายของประชากรที่มีชาติพันธุ์เดียวกันเป็นกลุ่มใหญ่ ที่อาจจะเกิดจากการถูกบังคับให้ทำการโยกย้าย หรือ เลือกที่จะโยกย้ายถิ่นฐานโดยความตั้งใจของตนเองจากถิ่นฐานที่อยู่เดิมไปตั้งถิ่นฐานและเป็นพลเมืองในดินแดนใหม่ที่มักจะไกลจากถิ่นฐานที่ตั้งอยู่เดิม “การพลัดถิ่น” แตกต่างจากวัฒนธรรมของผู้เร่ร่อน และใกล้เคียงกับการเป็นผู้ลี้ภัย (refugee) มากกว่า แต่การลี้ภัยอาจจะเป็นการโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรในดินแดนใหม่หรือไม่ก็ได้ คำว่า “การพลัดถิ่น” แตกต่างจากการลี้ภัยที่หมายถึงกลุ่มผู้ที่พลัดจากบ้านเกิดเมืองนอนที่ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนใหม่อย่างเป็นการถาวร คำนี้นิยมใช้กับการอพยพของชนกลุ่มใหญ่ที่อาจจะมีสาเหตุมาจากการบังคับให้โยกย้าย หรือจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่ทำให้มีความจำเป็นต้องไปหาที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ก็ได้
ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม การวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมของผู้พลัดถิ่นที่ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนอื่น ก็อาจจะแตกต่างไปจากการวิวัฒนาการของชนกลุ่มเดียวกันในบ้านเกิดเมืองนอนที่ทิ้งมา การรักษาวัฒนธรรม ประเพณี นอกจากนั้นปัจจัยต่างๆ ของแต่ละกลุ่มก็จะต่างระดับกันไป แต่แนวโน้มโดยทั่วไปแล้วความผูกพันทางวัฒนธรรมของกลุ่มผู้พลัดถิ่นมักจะดำเนินไปในรูปของการต่อต้านความเปลี่ยนแปลงของภาษาและในการรักษาประเพณีการปฏิบัติทางศาสนาเช่นที่เคยทำกันมาในประเทศบ้านเกิดอย่างเหนียวแน่นโดยเฉพาะในชั่วคนรุ่นแรกๆ
ที่มาและการวิวัฒนาการ
[แก้]คำว่า "พลัดถิ่น" ใช้เป็นครั้งแรกเมื่อมีการอพยพที่กล่าวถึงในหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ (Deuteronomy) 28:25 ว่า “เจ้าทั้งหลายจะเป็นผู้ “กระจัดกระจาย” ไปทุกอาณาจักรในโลก” การใช้คำนี้เริ่มใช้กันขึ้นตามความหมายเดิมเมื่อคัมภีร์ฮิบรูได้รับการแปลเป็นภาษากรีก[1] คำว่า “Diaspora” ขณะนั้นหมายถึงประชาชนที่เป็นยิวที่ลี้ภัยมาจากอิสราเอลเมื่อ 607 ปีก่อนคริสต์ศักราชโดยการถูกขับไล่จากบาบิโลเนีย และจากยูเดีย ในปี ค.ศ. 70 โดยโรมัน[2] ต่อมาคำนี้ก็นำมาใช้ในบริบทของการพลัดถิ่นของกลุ่มชนอิสราเอลที่กระจัดกระจายไปยังดินแดนต่างๆ ตลอดมาในประวัติศาสตร์ การวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนผู้พลัดถิ่น หรือ ตัวกลุ่มชนที่พลัดถิ่นเอง[3] ในภาษาอังกฤษถ้าสะกดด้วยตัวใหญ่ตัวแรกโดยไม่มีคุณศัพท์ขยาย -- “the Diaspora” -- ก็จะหมายถึงเฉพาะการพลัดถิ่นของชาวยิว (Jewish diaspora) เท่านั้น[4]
การใช้คำว่า “พลัดถิ่น” ที่กว้างกว่าความหมายเดิมวิวัฒนาการมาจากนโยบายการขับไล่ประชากรขนานใหญ่ของอัสซีเรียในดินแดนที่พิชิตได้ เพื่อเป็นการไม่ให้ผู้ถูกไล่กลับมาอ้างสิทธิในดินแดนของตน[5] ในสมัยกรีซโบราณ คำว่า “διασπορά” แปลว่า “การหว่าน” และใช้เป็นคำที่หมายถึงประชากรของนครรัฐที่มีอิทธิพลผู้อพยพไปตั้งหลักแหล่งยังดินแดนที่พิชิตได้โดยมีจุดประสงค์ในการยึดเป็นอาณานิคมเพื่อรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนของจักรวรรดิ[6]
บางครั้งคำว่า “การพลัดถิ่น” ก็ใช้กับการลี้ภัยของชนชาติอื่นที่ไม่ใช่ชาวยิว แต่คำสองคำนี้ไม่ใช่คำพ้อง[7][8]
คำว่า “การพลัดถิ่น” เป็นคำที่นำมาใช้อย่างแพร่หลายในภาษาอังกฤษในกลางคริสต์ทศวรรษ 1950 ในการใช้ในการเรียกกลุ่มผู้ถูกโยกย้ายถิ่นฐาน (expatriate) จากประเทศใดประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศใดประเทศหนึ่งหรือจากบริเวณใดบริเวณหนึ่งไปยังอีกบริเวณใดบริเวณหนึ่ง[9][8][10][11]
การศึกษาการพลัดถิ่นวิทยา (diaspora studies) เป็นสาขาการศึกษาที่เป็นหลักฐานที่เกี่ยวกับการศึกษาการพลัดถิ่นตามความหมายโดยทั่วไปโดยไม่เจาะจงถึงชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่ง
โดยทั่วไปแล้วคำว่า “การพลัดถิ่น” มีนัยยะถึง 'ความผิดที่' ของประชากรที่กล่าวถึงที่ต้องไปตั้งหลักแหล่งในดินแดนที่ไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอนไม่ด้วยเหตุผลใดก็เหตุผลหนึ่ง และโดยทั่วไปแล้วผู้คนกลุ่มนี้ก็จะมีความหวังหรืออย่างน้อยก็ความต้องการที่จะเดินทางกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนในเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต ถ้า “บ้านเกิดเมืองนอน” ยังคงมีเหลือให้กลับไป นักเขียนบางท่านตั้งข้อสังเกตว่าการพลัดถิ่นของผู้ที่พลัดถิ่นหลายครั้งอาจจะมีผลให้สูญเสียความรู้สึกคิดถึง “บ้านเกิดเมืองนอน” แห่งใดแห่งหนึ่งโดยเฉพาะ ในกรณีนี้ผู้พลัดถิ่นอาจจะมีความรู้สึกผูกพันกับ “บ้านเกิดเมืองนอน” แต่ละแห่งที่ได้ไปตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่โยกย้ายออกมาจาก “บ้านเกิดเมืองนอน” เมืองนอนดั้งเดิม
การพลัดถิ่นในยุโรป
[แก้]ประวัติศาสตร์ยุโรปประสบกับเหตุการณ์ทำนองเดียวกับการพลัดถิ่นหลายครั้ง ในสมัยโบราณการค้าและการล่าดินแดนของกลุ่มชนกรีกกลุ่มต่างๆ จากคาบสมุทรบอลข่าน และ เอเชียไมเนอร์เป็นการโยกย้ายของชนที่มีวัฒนธรรมและใช้ภาษากรีกไปทั่วบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และทะเลดำ และไปทำการก่อตั้งนครรัฐกรีกในซิซิลี, อิตาลีใต้, ตอนเหนือของลิเบีย, ทางตะวันออกของสเปน, ทางฝรั่งเศสใต้ และฝั่งทะเลดำ ชาวกรีกไปก่อตั้งอาณานิคมในภูมิภาคต่างๆ ถึงกว่า 400 บริเวณ[12] การพิชิตดินแดนต่างๆ ของอเล็กซานเดอร์มหาราชในจักรวรรดิอคีเมนียะห์เป็นการเริ่มต้นของสมัยประวัติศาสตร์ที่เรียกว่าสมัยเฮเลนนิสติคซึ่งเป็นการเริ่มสมัยการตั้งอาณานิคมกรีกในเอเชียและแอฟริกาโดยชนชั้นปกครองกรีก ที่รวมทั้งการตั้งถิ่นฐานในอียิปต์โดยราชวงศ์ทอเลมี, ในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ และ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย[13] การโยกย้ายที่เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ หลายครั้งระหว่างสมัยการโยกย้ายถิ่นฐานในยุโรปก็เป็นเพียงตัวเดียวของการพลัดที่เกิดขึ้นหลายครั้งในประวัติศาสตร์ ช่วงการโยกย้ายครั้งแรกเกิดขึ้นราวระหว่าง ค.ศ. 300 ถึง ค.ศ. 500 รวมการโยกย้ายของชาวกอธ (ออสโตรกอธ และ ชาววิซิกอธ), แวนดัล, แฟรงค์, กลุ่มชนเจอร์มานิคต่างๆ (ชาวเบอร์กันดี, ลอมบาร์ด, แองเกิลส์, แซ็กซอน, จูท, ซูบิ, อลามานนิ, วารันเจียน และ นอร์มัน), อลัน และชนสลาฟกลุ่มต่างๆ การโยกย้ายครั้งแรกเกิดขึ้นราวระหว่าง ค.ศ. 500 ถึง ค.ศ. 900 เป็นการโยกย้ายของสลาฟ, เตอร์กิค และชนเผ่าต่างๆ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในยุโรปตะวันออกและทำให้บริเวณนี้กลายเป็นบริเวณที่ตั้งถิ่นฐานหลักของชนสลาฟ ที่มีผลต่ออนาโตเลียและคอเคซัสเมื่อชนเตอร์กิคกลุ่มแรก (อวาร์, บัลการ์, ฮั่น, คาร์ซาร์, เพเชเน็ก และอาจจะรวมทั้ง มาจยาร์) มาถึง การโยกย้ายครั้งสุดท้ายของสมัยการโยกย้ายถิ่นฐานในยุโรปเป็นสมัยที่ชาวมาจยาร์และไวกิงขยายตัวออกจากบริเวณสแกนดิเนเวียเข้ามาในยุโรปและหมู่เกาะบริติช ที่รวมทั้งการตั้งถิ่นฐานในกรีนแลนด์และไอซ์แลนด์
การไปยึดครองดินแดนและตั้งถิ่นฐานอาจจะไม่ถือว่าเป็นการพลัดถิ่นได้เสมอไป หลังจากการตั้งถิ่นฐานแล้วในที่สุดผู้ที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานก็กลืนตัวเข้ากับผู้ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่แต่เดิม และถิ่นฐานที่ไปตั้งอยู่ใหม่ก็กลายเป็นบ้านเกิดเมืองนอนใหม่ เช่นในกรณีของประชาชนฮังการีสมัยใหม่ผู้ที่ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นผู้มีความสัมพันธ์แต่อย่างใดกับไซบีเรียตะวันตกซึ่งเป็นดินแดนบ้านเกิดเดิมของชนมาจยาร์ที่ทิ้งมาพันสองร้อยปีก่อนหน้านั้น เช่นเดียวกับชาวอังกฤษผู้สืบเชื้อสายมาจากแองเกิลส์, แซ็กซอน และ จูทที่ไม่มีความประสงค์ที่จะกลับไปตั้งถิ่นฐานบนที่ราบทางตอนเหนือของเยอรมนี
ในปี ค.ศ. 1492 กลุ่มนักสำรวจสเปนที่นำโดยคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสเดินทางไปถึงทวีปอเมริกา ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการล่าอาณานิคมของยุโรปที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ชาวยุโรปอาจจะราวถึง 240,000 ก็เดินทางไปยังทวีปอเมริกา[14] การเดินทางไปตั้งถิ่นฐานทั้งในทวีปอเมริกาเหนือและใต้ก็ยังคงดำเนินต่อมาเป็นเวลานาน เพียงในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวยุโรปกว่า 50 ล้านคนก็เดินทางจากยุโรปไปตั้งถิ่นฐานในทวีปอเมริกา[15]
ตัวอย่างของการพลัดถิ่นที่ชัดเจนที่เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 คือการพลัดถิ่นของชาวไอริชที่เริ่มขึ้นเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่มีสาเหตุมาจากนโยบายอันทารุณของบริติชและเหตุการณ์ที่เรียกว่า “An Gorta Mór” หรือ ความอดอยากครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ (Great Famine) ประมาณกันว่าในช่วงนั้นประชากรไอร์แลนด์ประมาณระหว่าง 45% ถึง 85% อพยพออกจากประเทศไปตั้งถิ่นฐานในประเทศต่างๆ ที่รวมทั้งบริเตนใหญ่, สหรัฐอเมริกา แคนาดา อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ จำนวนผู้พลัดถิ่นอันมหาศาลของไอร์แลนด์เห็นได้จากจำนวนประชากรทั่วโลกที่อ้างว่ามีเชื้อสายไอริชในบางแหล่งข้อมูลว่ามีถึง 80 ถึง 100 ล้านคน
การพลัดถิ่นของชาวแอฟริกัน
[แก้]การพลัดถิ่นครั้งใหญ่ที่สุดก่อนยุคใหม่คือการพลัดถิ่นแอฟริกาที่เริ่มขึ้นเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในระหว่างสมัยการค้าทาสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติค (Atlantic Slave Trade) ชาวแอฟริกันยี่สิบล้านคนจากแอฟริกาตะวันตก ตะวันตกกลาง และตะวันออกเฉียงใต้ถูกขนย้ายไปเป็นทาสยังซีกโลกตะวันตก ซึ่งทำให้ประชากรและผู้สืบเชื้อสายมาจากผู้ที่ถูกขนย้ายมีบทบาทสำคัญต่อวัฒนธรรมของอาณานิคมของอังกฤษ ฝรั่งเศส โปรตุเกส และสเปนในโลกใหม่
การค้าทาสของอาหรับ (Arab slave trade) ก็ขนย้ายชาวแอฟริกันจากทวีปแอฟริกาเช่นกันแต่ผลของการพลัดถิ่นไปยังตะวันออกเป็นเพียงจำนวนน้อย
การพลัดถิ่นของชาวเอเชีย
[แก้]การย้ายถิ่นฐานของชาวจีน (Chinese emigration หรือที่เรียกว่าการพลัดถิ่นของชาวจีน[ต้องการอ้างอิง]) เกิดขึ้นครั้งแรกเป็นเวลาหลายพันปีมาแล้ว การย้ายถิ่นฐานที่เกิดขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 จนถึง ค.ศ. 1949 มีสาเหตุหลักมาจากสงคราม และ ความอดอยากบนแผ่นดินใหญ่จีน และรวมทั้งการฉ้อโกงทางการเมือง ผู้อพยพส่วนใหญ่เป็นผู้ขาดการศึกษาหรือเกษตรกรผู้มีการศึกษาขั้นต่ำ และชนชั้นแรงงาน (苦力) ผู้อพยพไปยังประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีความต้องการแรงงานสูงเช่นในทวีปอเมริกา, ออสเตรเลีย, แอฟริกาใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, คาบสมุทรมลายู และอื่นๆ
การพลัดถิ่นของชาวเอเชียที่ใหญ่ที่สุดคือการพลัดถิ่นของชาวอินเดีย เชื่อกันว่าชาวอินเดียโพ้นทะเลมมีด้วยกันทั้งสิ้นกว่า 25 ล้านคนที่ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณต่างๆ ทุกทวีปทั่วโลก ชาวอินเดียโพ้นทะเลเป็นกลุ่มมีมาจากบริเวณต่างๆ ของอินเดีย พูดภาษา และมีวัฒนธรรมและความเชื่อทางศาสนาต่างๆ กัน สิ่งที่เป็นสายผสานร่วมกันของชนกลุ่มนี้คือปรัชญาของความเป็นอินเดียและคุณค่าอันแท้จริงของความเป็นชาวอินเดีย[ต้องการอ้างอิง]
ชาวโรมานีเป็นกลุ่มชนที่พลัดถิ่นไปในบริเวณที่กว้างใหญ่ที่สุดที่ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป ภาษาพูดและหลักฐานทางพันธุศาสตร์บ่งว่าเป็นชาติพันธุ์ที่เดิมมาจากอนุทวีปอินเดียที่อพยพออกจากอินเดียไปทางตะวันตกเฉียงเหนือไม่เกินก่อนหน้าคริสต์ศตวรรษที่ 11[16]
การพลัดถิ่นของชาวเนปาลเกิดขึ้นอย่างน้อยก็สามครั้งๆ แรกที่สุดเกิดขึ้นหลายร้อยปีมาแล้ว ที่มีสาเหตมาจากการแต่งงานกันตั้งแต่อายุยังน้อยที่ทำให้อัตราการเกิดสูง และเป็นผลให้เกิดแรงผลักดันให้มีการอพยพไปตั้งถิ่นฐานทางตะวันออกของเนปาลต่อมาในรัฐสิกขิมและภูฏาน จำนวนประชากรเชื้อชาติภูฐานเพิ่มมากขึ้นทุกขณะจนในที่สุดในคริสต์ทศวรรษ 1980 ภูฏานก็ดำเนินนโยบายกดดันที่เป็นผลให้ชาวเนปาลกว่า 107,000 คนถูกขับออกจากภูฏานกลับเข้าไปในเนปาลสหรัฐอเมริกาสหรัฐอเมริกาจึงพยายามดำเนินการหาที่ตั้งหลักแหล่งให้แก่ชาวเนปาลจากภูฏานในสหรัฐอเมริกาในฐานะโครงการประเทศที่สาม[17]
การพลัดถิ่นครั้งที่สองของชาวเนปาลเกิดขึ้นเมื่ออังกฤษเริ่มรวมพลเป็นกองทหารรับจ้างที่เริ่มราวปี ค.ศ. 1815 และย้ายให้ไปตั้งหลักแหล่งในเกาะอังกฤษและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังจากปลดระวาง การพลัดถิ่นครั้งที่เริ่มราวคริสต์ทศวรรษ 1970 เมื่อเกิดปัญหาขาดแคลนที่ดินทำมาหากินและผู้มีการศึกษามีจำนวนมากกว่าตำแหน่งงานที่มี การโยกย้ายเพื่อไปหางานใหม่ก็มักจะไปตั้งหลักแหล่งกันในอินเดียทำให้เกิดเป็นชุมชนชาวเนปาลขึ้นที่นั่น และในประเทศที่มั่งคั่งในตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกาเหนือ ประมาณกันว่าจำนวนผู้พลัดถิ่นของเนปาลมีจำนวนเป็นหลักล้าน
คริสต์ศตวรรษที่ 20 และอนาคต
[แก้]คริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นศตวรรษของการพลัดถิ่นครั้งใหญ่หลายครั้ง ในบางกรณีเกิดจากการที่รัฐบาลตัดสินใจโยกย้ายกลุ่มผู้คนด้วยเหตุผลต่างๆ เช่นเมื่อสตาลินดำเนินการขนย้ายประชากรเป็นจำนวนหลายล้านคนไปยังทางตะวันออกของรัสเซีย, เอเชียกลาง และ ไซบีเรีย ทั้งเพื่อเป็นการลงโทษและเพื่อเป็นการกระตุ้นความเจริญในบริเวณชายแดน การโยกย้ายถิ่นฐานบางครั้งก็เกิดขึ้นเพื่อเลี่ยงความขัดแย้งในการสงคราม หรือมีสาเหตุมาจากนโยบายการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเช่นหลังจากการยุติการเป็นอาณานิคมเป็นต้น
สงครามโลกครั้งที่สองและการสิ้นสุดของการเป็นอาณานิคม
[แก้]เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มขึ้นนาซีเยอรมนีก็เนรเทศและฆ่าชาวยิวและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เป็นจำนวนเป็นล้านคน ชาวยิวบางคนก็สามารถหนีการไล่ทำร้ายและสังหารไปยังยุโรปตะวันตกและทวีปอเมริกาก่อนที่พรมแดนจะปิดลงได้ ในเวลาต่อมาชายยุโรปตะวันออกก็เดินทางหนีไปยังยุโรปตะวันตกเพื่อเลี่ยงจากการถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต[18] และรัฐบาลม่านเหล็กในประเทศต่างๆ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสหภาพโซเวียตและประเทศภายใต้ระบบพรรคคอมมิวนิสต์ที่รวมทั้งโปแลนด์ ฮังการี และ ยูโกสลาเวียก็เนรเทศผู้มีเชื้อสายเยอรมันผู้ที่ไปตั้งหลักแหล่งในประเทศเหล่านั้นมาเป็นเวลาเกือบสองร้อยปีออกจากประเทศเพื่อเป็นการแก้แค้นในการที่นาซีเยอรมนีเข้ารุกรานและพยายามผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนี ผู้คนส่วนใหญ่ที่ถูกเนรเทศก็โยกย้ายกันไปทางตะวันตกแต่ก็มีจำนวนเป็นหมื่นที่โยกย้ายไปตั้งหลักแหล่งอยู่ในสหรัฐอเมริกา
เมื่อมีการก่อตั้งอิสราเอลขึ้นเป็นรัฐหลังสงครามโลกครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1948 ชาวยิวก็กลับไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผลให้เกิดชาวปาเลสไตน์จำนวน 750,000 คนกลายเป็นผู้พลัดถิ่น ปัญหานี้ยิ่งขยายตัวใหญ่ขึ้นหลังจากสงครามหกวันที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1967 ในปัจจุบันผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์เป็นกลุ่มผู้ลี้ภัยที่ยังคงอยู่ในสภาพที่พลัดบ้านพลัดเมืองนานที่สุดในโลก
ในสมัยรัฐบาลเผด็จการของฟรันซิสโก ฟรังโก ระหว่าง ค.ศ. 1936 จนกระทั่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1975 พลเมืองในแคว้นกาลิเซียที่ได้รับความกดดันทางตอนเหนือของสเปนก็โยกย้ายถิ่นฐานออกจากสเปนกันไปเป็นจำนวนมาก
การแบ่งแยกอินเดีย ในเดือนสิงหาคมปี ค.ศ. 1947 ที่ทำให้ปากีสถานแยกออกเป็นประเทศใหม่ เป็นผลให้เกิดการโยกย้ายของประชากรระหว่างอินเดียและปากีสถานที่มีผลกระทบกระเทือนต่อประชากรทั้งสิน 12.5 คน ที่รวมทั้งการเสียชีวิตจากความขัดแย้งที่ประมาณกันว่าอาจจะเป็นจำนวนแสนถึงหนึ่งล้านคน ประชากรที่เดิมเป็นข้าแผ่นดินของบริติชราชก็โยกย้ายไปตั้งหลักแหล่งอยู่ในสหราชอาณาจักร
ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เกาหลีกลายเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น ชาวจีนจำนวนเป็นล้านก็หนีไปยังจังหวัดทางตะวันตกที่ไม่ได้ถูกยึดครองโดยญี่ปุ่น (โดยเฉพาะในมณฑลเสฉวนและมณฑลยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้ และมณฑลส่านซีและมณฑลกานซูทางตะวันตกเฉียงเหนือ) และไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวเกาหลีกว่า 100,000 อพยพข้ามแม่น้ำอาเมอร์เข้าไปยังรัสเซียตะวันออกเพื่อหนีจากการปกครองของญี่ปุ่น[ต้องการอ้างอิง]
หลังจากปี ค.ศ. 1959 กองทัพปลดปล่อยของสาธารณรัฐประชาชนจีนก็เข้ารุกรานและยึดครองทิเบตที่เป็นผลให้ทะไลลามะ องค์ที่สิบสี่และรัฐบาลต้องลี้ภัยไปตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย หลังจากนั้นก็เกิดการอพยพของชาวทิเบตครั้งใหญ่ลงไปทางใต้โดยไม่มีเอกสารติดตัวข้ามเทือกเขาหิมาลัยจนกระทั่งถึงกลางคริสต์ทศวรรษ 1960 และยังคงมีอยู่บ้างอย่างประปรายจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ประมาณกันว่าผู้พลัดถิ่นทิเบตที่ไปพำนักในประเทศต่างๆ มีด้วยกันราว 200,000 คนในจำนวนนั้นครึ่งหนึ่งพำนักอยู่ในอินเดีย, เนปาล และ ภูฏาน
สงครามเย็นและการก่อตั้งรัฐอิสระหลังการเป็นประเทศบริวาร
[แก้]ระหว่างและหลังสมัยสงครามเย็นประชากรเป็นจำนวนมากอพยพออกจากบริเวณที่มีความขัดแย้งโดยเฉพาะจากประเทศที่กำลังพัฒนาไปยังประเทศต่างๆ
ความระส่ำระสายในตะวันออกกลางและในเอเชียกลางที่มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งของสองมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา และ สหภาพโซเวียตก่อให้เกิดกลุ่มผู้ลี้ภัยขึ้นเป็นจำนวนมากที่กลายมาเป็นการพลัดถิ่นระดับโลก ในปี ค.ศ. 1979 เมื่อสหภาพโซเวียตเข้ารุกรานอาฟกานิสถานที่ทำให้ผู้คนกว่า 6 ล้านคนกลายเป็นผู้พลัดถิ่นที่ทำให้จำนวนประชากรที่เป็นผู้ลี้ภัยทั่วโลกทวีคูณขึ้นเป็นจำนวนมาก หรือในปี ค.ศ. 1979 เมื่อชาห์มุฮัมมัด เรซา ปาเลวีล่มก็มีผู้ที่เป็นฝ่ายเดียวกับพระเจ้าชาห์หนีออกจากอิหร่านกันเป็นจำนวนมาก
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1970 เมื่อรัฐบาลเวียดนาม กัมพูชา และลาวล่ม ก็ก่อให้เกิดกลุ่มผู้ลี้ภัยจากประเทศเหล่านั้นเป็นจำนวนมากที่บางส่วนก็หนีข้ามพรมแดนเข้ามายังประเทศไทย หรือ ล่องเรือเข้ามาที่เรียกกันว่า “ชนเรือ” (Boat people) ก่อนที่จะถูกส่งต่อไปยังประเทศอื่นๆ ในทวีปอเมริกาและยุโรป
ในแอฟริกาก็มีระลอกการอพยพลี้ภัยเกิดขึ้นหลายครั้งหลังจากสมัยอาณานิคมสิ้นสุดลง เช่นเมื่อยูกันดาขับไล่ชาวอินเดีย 80,000 คนออกจากประเทศในปี ค.ศ. 1972 หรือเมื่อมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่รวันดา (Rwandan Genocide) ในปี ค.ศ. 1994 ก็ทำให้ผู้คนต้องหลบหนีเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก หรือเมื่อสถานะการณ์ในZimbabweเริ่มเสื่อมทรามลงซิมบับเวก็ทำให้มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากหนีเข้าไปในประเทศแอฟริกาใต้
ในอเมริกาใต้ผู้ลี้ภัยจากชิลีและอุรุกวัยก็พากันหลบนี้ไปตั้งหลักแหล่งในยุโรปกันเป็นจำนวนมากระหว่างสมัยการปกครองของรัฐบาลเผด็จการระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1970 จนถึง 1980 ผู้ลี้ภัยโคลอมเบียหนีออกจากประเทศมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1965 เพื่อหลบหนีความรุนแรงของเหตุการณ์ภายในประเทศและสงครามการเมืองที่เกิดขึ้นอันไม่หยุดยั้ง ในอเมริกากลางผู้ที่กลายเป็นผู้พลัดถิ่นก็มาจากนิการากัว, เอลซัลวาดอร์, กัวเตมาลา, ฮอนดูรัส, คอสตาริกาns and ปานามาผู้หลบหนีเพราะสภาวะทางเศรษฐกิจอันยากไร้
การพลัดถิ่นที่เกิดจากการโยกย้าย: ปัญหาโต้เถียง
[แก้]นักวิชาการบางท่านกล่าวว่าการอพยพเพราะเศรษฐกิจ (Immigration) ที่เป็นกลุ่มใหญ่นอกประเทศของตนเองเป็นกลุ่ม “ผู้พลัดถิ่น” ที่มีประสิทธิภาพ[ต้องการอ้างอิง] เช่นกลุ่มชาวตุรกีในเยอรมนีที่เรียกว่า “แรงงานรับเชิญ” (Gastarbeiter), ชาวเอเชียใต้ในอ่าวเปอร์เชีย, ชาวฟิลิปปินส์ ทั่วโลก หรือชาวจีนในญี่ปุ่น ชาวฮิสปานิค (Hispanic) หรือ ชาวลาติโน (Latino) ในสหรัฐอเมริกาบางครั้งก็เรียกว่ากลุ่ม “ผู้พลัดถิ่น” ใหม่ กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ก็ยังคงพยายามรักษาขนบประเพณีของตนเองไว้เช่นกลุ่มเม็กซิกัน-อเมริกัน, เปอร์โตริโก หรือ ชาวคิบัน-อเมริกันเป็นต้น ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 ผู้อพยพชาวเม็กซิโกส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพเพราะปัญหาทางเศรษฐกิจ เพื่อเข้ามาหางานที่ดีกว่าทำในสหรัฐอเมริกา บ้างก็ข้ามเขตแดนอย่างผิดกฎหมาย การอพยพครั้งใหญ่ของสหรัฐก็ได้แก่การอพยพครั้งใหญ่ของชาวแอฟริกันอเมริกันจำนวน 6.5 ล้านคนจากทางใต้ขึ้นไปทางเหนือระหว่าง ค.ศ. 1910 ถึง ค.ศ. 1970 เพื่อไปสนองความต้องการทางแรงงานของเมืองต่างๆ ที่ขยายตัวขึ้น และเพื่อหลบหนีจากบริเวณของประเทศที่ยังถือผิว ยังมีโอกาสที่จะถูกทำร้าย และ จากความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจของรัฐทางภาคใต้
นักประวัติศาสตร์ระบุกลุ่มผู้พลัดถิ่นอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นผลมาจากเหตุการณ์พายุฝุ่น (Dust Bowl) ระหว่าง ค.ศ. 1930 ถึง ค.ศ. 1936 ที่เป็นผลทำให้เกิดความแห้งแล้งอย่างรุนแรงและสร้างความหายนะให้แก่เกษตรกรเป็นจำนวนมาก ผู้อพยพเหล่านี้ส่วนใหญ่ไปตั้งหลักแหล่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย[ต้องการอ้างอิง]
องค์การผู้โยกย้ายถิ่นฐานนานาชาติ (International Organization for Migration) กล่าวว่าในปัจจุบันมีผู้โยกย้ายถิ่นฐานด้วยกันกว่า 200 คนทั่วโลก ยุโรปเป็นจุดหมายใหญ่ที่สุดสำหรับผู้อพยพโดยรับผู้อพยพทั้งสิ้น 70.6 ล้านคนใน ค.ศ. 2005 โดยมีอเมริกาเหนือเป็นอันดับสองรับผู้อพยพทั้งสิ้นกว่า 45.1 ล้านคน ตามด้วยเอเชียเป็นจำนวนเกือบ 25.3 ล้านคน แรงงานนอกถิ่นฐาน (migrant workers) ในปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากเอเชีย[19]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ p.81, Kantor
- ↑ pp.53, 105-106, Kantor
- ↑ p.1, Barclay
- ↑ Diaspora, Merriam-Webster
- ↑ pp.96-97, Galil & Weinfeld
- ↑ pp.1-2, Tetlow
- ↑ Katrina scatters a grim diaspora BBC
- ↑ 8.0 8.1 "Out of the Hadhramaut". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-18. สืบค้นเมื่อ 2009-10-03.
- ↑ Katrina scatters a grim Diaspora BBC
- ↑ "The world's successful diasporas - Research - World Business". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-01. สืบค้นเมื่อ 2009-10-03.
- ↑ Diasporas of Highly Skilled and Migration of Talent
- ↑ "Early development of Greek society". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-06. สืบค้นเมื่อ 2009-10-03.
- ↑ "Hellenistic Civilization". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-05. สืบค้นเมื่อ 2009-10-03.
- ↑ "James Axtell, The Columbian Mosaic in Colonial America". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-17. สืบค้นเมื่อ 2009-10-03.
- ↑ David Eltis Economic Growth and the Ending of the Transatlantic slave trade
- ↑ Kalaydjieva, Luba (2001). "Genetic studies of the Roma (Gypsies): A review". BMC Medical Genetics. 2: 5. doi:10.1186/1471-2350-2-5. สืบค้นเมื่อ 2008-06-16.
- ↑ Bhaumik, Subir (November 7, 2007). "Bhutan refugees are 'intimidated'". BBC News. สืบค้นเมื่อ 2008-04-25.
- ↑ "An International Conference on the Baltic Archives Abroad". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-13. สืบค้นเมื่อ 2009-10-03.
- ↑ Rich world needs more foreign workers: report, FOXNews.com, December 02, 2008