ปัญหาสองจักรพรรดิ
ปัญหาสองจักรพรรดิ (เยอรมัน: Zweikaiserproblem[1]) เป็นศัพท์ประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่บรรยายถึงข้อขัดแย้งเชิงประวัติศาสตร์ระหว่างแนวคิดจักรวรรดิสากลที่มีจักรพรรดิแท้จริงเพียงองค์เดียว กับความเป็นจริงที่มักมีจักรพรรดิ 2 องค์ (หรือบางครั้งมีมากกว่า 2 องค์) อ้างสิทธิ์ในตำแหน่งเดียวกัน ปัญหาสองจักรพรรดิเป็นศัพท์ที่นิยมใช้ในสมัยกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อพิพาทระหว่างจักรพรรดิไบแซนไทน์แห่งคอนสแตนติโนเปิล กับจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในดินแดนประเทศเยอรมนีและออสเตรียปัจจุบัน ที่ถกเถียงว่าฝ่ายใดเป็นตัวแทนที่ชอบธรรมของจักรพรรดิโรมัน[2]
ในมุมมองคริสตชนสมัยกลาง จักรวรรดิโรมันแบ่งแยกไม่ได้และจักรพรรดิอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจครอบคลุมไปถึงคริสตชนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในจักรวรรดิ เมื่อจักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสลายปลายสมัยโบราณ จักรวรรดิไบแซนไทน์ที่เป็นดินแดนทางตะวันออกที่ยังหลงเหลือของจักรวรรดิโรมันได้รับการยอมรับเป็นจักรวรรดิโรมันที่แท้จริงจากตนเอง พระสันตะปาปา และอาณาจักรคริสตชนที่เกิดขึ้นใหม่หลายแห่งทั่วยุโรป ปี ค.ศ. 797 สถานการณ์เปลี่ยนไปเมื่อจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 6 ถูกขับออกจากตำแหน่งและถูกทำให้พระเนตรบอด ก่อนจักรพรรดินีไอรีน พระราชมารดาขึ้นครองราชย์แทน ซึ่งการครองราชย์นี้ไม่ได้รับการยอมรับในยุโรปตะวันตกด้วยเหตุผลหลักคือพระองค์เป็นสตรี[3] เช่นเดียวกับสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 3 ซึ่งเห็นว่าตำแหน่งจักรพรรดิโรมันว่างลงเนื่องจากสตรีไม่สามารถเป็นจักรพรรดิด้วยพระองค์เอง ในปี ค.ศ. 800 สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 3 จึงประกอบพิธีราชาภิเษกให้ชาร์เลอมาญ กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรแฟรงก์ที่กำลังเรืองอำนาจเป็นจักรพรรดิแห่งชาวโรมัน[4] ภายใต้แนวคิดการถ่ายโอนอำนาจ (translatio imperii) จากชาวกรีกในตะวันออกสู่ชาวแฟรงก์ในตะวันตก[5]
แม้จักรวรรดิไบแซนไทน์กับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จะมีไมตรีต่อกันและยอมรับอีกฝ่ายเป็นจักรพรรดิ แต่ทั้งสองจักรวรรดิไม่เคยยอมรับอีกฝ่ายเป็น "โรมัน" อย่างชัดเจน พระอิสริยยศที่จักรวรรดิไบแซนไทน์ใช้เรียกจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์คือ "จักรพรรดิ (หรือกษัตริย์) แห่งชาวแฟรงก์" และต่อมา "กษัตริย์แห่งเยอรมนี"[6] ขณะที่หลักฐานทางตะวันตกมักกล่าวถึงจักรพรรดิไบแซนไทน์ว่า "จักรพรรดิแห่งชาวกรีก" หรือ "จักรพรรดิแห่งคอนสแตนติโนเปิล"[7] ตลอดระยะเวลาหลายศตวรรษหลังพิธีราชาภิเษกของชาร์เลอมาญ ปัญหาสองจักรพรรดิเป็นปัญหาหนึ่งที่มีการโต้แย้งไปมาระหว่างสองจักรวรรดิมากที่สุด แม้จักรวรรดิไบแซนไทน์กับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้เผชิญหน้าทางการทหารด้วยปัญหานี้เนื่องจากที่ตั้งอยู่ไกลกัน แต่ปัญหานี้บั่นทอนความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้งสองอย่างมาก อนึ่ง ตำแหน่งจักรพรรดิโรมันถูกอ้างสิทธิ์โดยดินแดนเพื่อนบ้านจักรวรรดิไบแซนไทน์เป็นบางคราว เช่น จักรวรรดิบัลแกเรียที่หนึ่งและจักรวรรดิเซอร์เบีย
หลังจักรวรรดิไบแซนไทน์ถูกทำลายลงชั่วคราวโดยนักรบครูเสดที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิกในสงครามครูเสดครั้งที่สี่เมื่อ ค.ศ. 1204 และแทนที่ด้วยจักรวรรดิละติน ปัญหานี้ดำเนินต่อไปแม้จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์กับจักรพรรดิละตินจะนับถือนิกายโรมันคาทอลิกเหมือนกัน จักรพรรดิละตินนั้นยอมรับจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เป็นจักรพรรดิโรมันที่ถูกต้อง แต่ขณะเดียวกันก็อ้างสิทธิ์ในตำแหน่งนี้เช่นกัน[8] ในทางตรงข้ามจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ไม่ยอมรับการอ้างสิทธิ์ดังกล่าวของจักรพรรดิละติน ที่สุดแล้วสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 ยอมรับแนวคิดการแยกจักรวรรดิ (divisio imperii) ทำให้อำนาจจักรพรรดิแบ่งเป็นตะวันตก (จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์) กับตะวันออก (จักรวรรดิละติน)[9] ต่อมาจักรวรรดิละตินล่มสลายหลังราชวงศ์พาลาโอโลกอสยึดคอนสแตนติโนเปิลและสถาปนาจักรวรรดิไบแซนไทน์ขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1261 จักรพรรดิไบแซนไทน์เพิกเฉยต่อปัญหานี้เพราะต้องการสานสัมพันธ์กับตะวันตกเพื่อความช่วยเหลือด้านการทหาร
ปัญหาสองจักรพรรดิปรากฏขึ้นอีกครั้งหลังการเสียกรุงคอนสแตนติโนเปิลในปี ค.ศ. 1453 สุลต่านเมห์เหม็ดผู้พิชิตอ้างสิทธิ์ในตำแหน่ง Kayser-i Rûm (ซีซาร์แห่งจักรวรรดิโรมัน) ด้วยมองว่าจักรวรรดิออตโตมันของพระองค์เป็น "ผู้สืบทอด" จักรวรรดิไบแซนไทน์[10] จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ยอมรับสุลต่านออตโตมันเป็นจักรพรรดิตามสนธิสัญญาคอนสแตนติโนเปิลในปี ค.ศ. 1533[11] แต่ในทางกลับกันออตโตมันไม่ยอมรับตำแหน่งจักรพรรดิของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ โดยใช้พระอิสริยยศเพียง "กษัตริย์" กระทั่งในปี ค.ศ. 1606 สุลต่านอาห์เหม็ดที่ 1 ยอมรับจักรพรรดิรูด็อล์ฟที่ 2 เป็นจักรพรรดิตามสนธิสัญญาสันติภาพซิตวาตอร็อก[12] เป็นการยอมรับแนวคิดการแยกจักรวรรดิและยุติข้อพิพาทอันยาวนานระหว่างคอนสแตนติโนเปิลกับยุโรปตะวันตก นอกจากออตโตมัน อาณาจักรซาร์รัสเซียและต่อมาจักรวรรดิรัสเซียอ้างตนเป็นผู้สืบสิทธิ์ของจักรวรรดิไบแซนไทน์และเรียกผู้ปกครองว่า "ซาร์" ด้านจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ปฏิเสธการอ้างสิทธิ์นี้จนถึงปี ค.ศ. 1726 เมื่อจักรพรรดิคาร์ลที่ 6 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ยอมรับการอ้างสิทธิ์ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพันธมิตรกับรัสเซีย แต่พระองค์ยังยืนกรานไม่ยอมรับว่าจักรพรรดิทั้งสององค์มีสถานะเท่าเทียมกัน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ The term was introduced in the first major treatise on the issue, by W. Ohnsorge, cf. Ohnsorge 1947 .
- ↑ Wilson, Peter H. (2016). The Holy Roman Empire: A Thousand Years of Europe's History. London, England: Penguin UK. ISBN 9780141956916.
- ↑ Frassetto 2003, p. 212.
- ↑ Lewis, Jone Johnson (January 27, 2019). "Irene of Athens: Controversial Byzantine Empress". ThoughtCo. สืบค้นเมื่อ May 11, 2021.
- ↑ Lamers 2015, p. 65.
- ↑ Muldoon 1999, p. 51.
- ↑ Loud 2010, p. 79.
- ↑ Van Tricht 2011, p. 76.
- ↑ Van Tricht, Filip (2011). The Latin Renovatio of Byzantium: The Empire of Constantinople (1204-1228). Leiden, Netherlands: BRILL. p. 77. ISBN 9789004203235.
- ↑ Michalis N. Michael; Matthias Kappler; Eftihios Gavriel (2009). Archivum Ottomanicum. Mouton. p. 10.
- ↑ "Treaty of Constantinople (1533)". Project Gutenberg Self-Publishing. สืบค้นเมื่อ May 11, 2021.
- ↑ "Peace of Zsitva-Torok". Project Gutenberg Self-Publishing. สืบค้นเมื่อ May 11, 2021.