ปลากระจัง
ปลากระจัง | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้นใหญ่: | Osteichthyes |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับใหญ่: | Acanthopterygii |
อันดับ: | Perciformes |
อันดับย่อย: | Gobioidei |
วงศ์: | Gobiidae |
สกุล: | Periophthalmodon |
สปีชีส์: | P. schlosseri |
ชื่อทวินาม | |
Periophthalmodon schlosseri (Pallas, 1770) | |
ชื่อพ้อง | |
|
ปลากระจัง[1] หรือ ปลาตีนเขี้ยว (อังกฤษ: Giant mudskipper; ชื่อวิทยาศาสตร์: Periophthalmodon schlosseri) เป็นปลาทะเลและน้ำกร่อยชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาบู่ (Gobiidae) วงศ์ย่อยปลาตีน (Oxudercinae)
เป็นปลากระดูกแข็งมีขนาดลำตัวยาวตั้งแต่ 5-30 เซนติเมตร จัดเป็นปลาตีนที่มีขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง มีครีบคู่หน้า ครีบอกที่แข็งแรงใช้ครีบอกที่แข็งแรงใช้ครีบกระโดดเป็นช่วง ๆ ไปมาบนพื้นเลน และคลานขึ้นต้นไม้ หรือยึดเกาะกับต้นโกงกางหรือแสม ตัวผู้มีขนาดลำตัวแบนเล็กน้อย มีเกล็ดปกคลุมทั่วลำตัว มีฟันเขี้ยวซี่เล็ก ๆ ขบซ้อนเหลื่อมกันทั้งริมขากรรไกรบนและล่าง ตำแหน่งของปากอยู่ปลายสุดของหัวขนานกับพื้น ลำตัวมีสีเทาแถบสีน้ำตาลพาดบริเวณหัวและตามตัวมีจุดวาวสีเขียวมรกต ปลายครีบหลังสีขาว, สีน้ำตาล, สีน้ำเงินแวววาวเหมือนมุก ส่วนตัวเมียสีลำตัวค่อนข้างเหลือง เมื่ออยู่บนบก จะหายใจผ่านผิวหนังและช่องเหงือก กินอาหารจำพวกลูกกุ้ง, ลูกปู, ตัวอ่อนของสัตว์น้ำขนาดเล็กต่าง ๆ , สาหร่าย และซากพืชและสัตว์บนผิวเลน ในฤดูผสมพันธุ์ ปลากระจังตัวผู้จะมีสีเข้มขึ้น จะใช้ปากขุดโคลนสร้างหลุม เพื่อไว้เป็นที่ผสมพันธุ์ และมีพฤติกรรมหวงเขตแดนเมื่อมีตัวผู้อื่นเข้ามารุกล้ำจะกางครีบหลังขู่และเคลื่อนที่เข้าหาผู้บุกรุกเพื่อต่อสู้ด้วยการกัดทันที
กระจายพันธุ์ไปในป่าชายเลนที่มีพื้นเป็นเลนหรือโคลน ตั้งแต่อ่าวเบงกอล, ชายฝั่งทะเลอันดามัน, คาบสมุทรมลายู และเกาะบอร์เนียว เป็นปลาที่มักถูกจับกินเป็นอาหารสำหรับชาวพื้นถิ่น และถูกจับขายเป็นปลาสวยงามด้วย [2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ กระจัง ๒ : น. ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
- ↑ บันทึกสิ่งแวดล้อมป่าเขตร้อน โดย กองส่งเสริมและเผยแพร่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม