ข้ามไปเนื้อหา

ปลาตีน

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Periophthalmodon)

ปลาตีน
ปลาจุมพรวด หรือ ปลาตีนจุดฟ้า (Boleophthalmus boddarti) ที่แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้นใหญ่: Osteichthyes
ชั้น: Actinopterygii
อันดับใหญ่: Acanthopterygii
อันดับ: Perciformes
อันดับย่อย: Gobioidei
วงศ์: Gobiidae
วงศ์ย่อย: Oxudercinae
สกุล

Apocryptes
Apocryptodon
Boleophthalmus
Oxuderces
Parapocryptes
Periophthalmodon
Periophthalmus
Pseudapocryptes
Scartelaos
Zappa

ชื่อพ้อง
  • Periophthalminae
  • Periophthalmidae

ปลาตีน คือปลาที่อยู่ในวงศ์ย่อย Oxudercinae ในวงศ์ปลาบู่ กระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปตามชายทะเลโคลนและป่าชายเลนในเขตร้อนตั้งแต่เขตมหาสมุทรแอตแลนติก ชายฝั่งแอฟริกาจนถึงเอเชียแปซิฟิก มีความยาวลำตัวแตกต่างออกไปตั้งแต่เพียงไม่กี่เซนติเมตร ในชนิด Zappa confluentus จนถึงเกือบหนึ่งฟุต ในชนิด Periophthalmodon schlosseri

ลักษณะพิเศษและพฤติกรรม

หัวมีขนาดโต มีตาหนึ่งคู่ตั้งอยู่ส่วนบนสุดของหัวโปนออกมาเห็นได้ชัด ดวงตาสามารถกรอกไปมาได้ จึงใช้มองเห็นได้ดีเมื่อพ้นน้ำ สามารถเคลื่อนที่บนบกได้ โดยใช้ครีบอกที่แข็งแรงไถลตัวไปตามพื้นเลนและสามารถกระโดดได้ด้วย และสามารถใช้ชีวิตอยู่บนบกได้เป็นเวลานานเนื่องจากมีอวัยวะพิเศษอยู่ข้างเหงือกที่สามารถเก็บความชุ่มชื้นจากน้ำได้ และจะสูดอากาศบนบกเข้าปาก เพื่อนำออกซิเจนเข้าไปผสมกับน้ำเพื่อหายใจผ่านเหงือกเหมือนปลาทั่วไป ดังนั้น ปลาตีนจึงต้องทำตัวให้คงความชื้นอยู่ตลอด[1] ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย ตำแหน่งของปากอยู่ปลายสุดของหัวขนานกับพื้น หากินในเวลาน้ำลด โดยใช้ปากดูดกินอาหารจำพวกสัตว์น้ำขนาดเล็กในพื้นเลน ทำให้แลดูผิวเผินเหมือนสัตว์เลื้อยคลานหรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมากกว่าปลา

ปกติปลาตีนจะอาศัยอยู่รวมกันหลายตัวไม่มีออกนอกเขตของตัวเอง เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ปลาตีนตัวผู้จะมีสีเข้มขึ้นและมีอาณาเขตของการสืบพันธุ์ โดยจะมีการสร้างหลุมซึ่งมันจะใช้ปากขุดโคลนมากอง บนปากหลุม เรียกว่า หลุมปลาตีน และมีพฤติกรรมหวงเขตแดนเมื่อมีปลาตีนตัวอื่นรุกล้ำ โดยจะแสดงการกางครีบหลังขู่ และเคลื่อนที่เข้าหาผู้รุกล้ำทันที ปลาตีนตัวผู้และตัวเมียจะผสมพันธุ์ในหลุมที่ตัวผู้ขุดไว้

แหล่งที่อยู่ในประเทศไทย

อาศัยในป่าชายเลนในประเทศไทยมีกระจายเป็นตอน ๆ ริมฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยตั้งแต่จังหวัดชลบุรี, จังหวัดตราด เรื่อยลงไปถึงจังหวัดปัตตานี ส่วนทางฝั่งทะเลอันดามันพบตั้งแต่จังหวัดระนองลงไปสุด ชายแดนไทยที่จังหวัดสตูล

สำหรับปลาตีนชนิดที่พบได้ในประเทศไทย ได้แก่ Periophthalmus barbarus, Periophthalmodon schlosseri และ Boleophthalmus boddarti โดยมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันออกไป เช่น จุมพรวด, ตุมพรวด, กำพุด, กระจัง หรือ ไอ้จัง เป็นต้น

อ้างอิง

  1. "ท่องโลกกว้าง: สัตว์ป่าหน้าแปลก". ไทยพีบีเอส. 9 February 2015. สืบค้นเมื่อ 10 February 2015.[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น