ประวัติศาสตร์เภสัชกรรม
ประวัติศาสตร์เภสัชกรรม มีวิวัฒนาการไปพร้อมกับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เนื่องจากยาเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ และเภสัชกรรมเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการทางการแพทย์ ทั้งแผนตะวันตกและตะวันออกมาช้านาน โดย "การแพทย์" สามารถแบ่งออกเป็นหลายสาขา ได้แก่ เวชกรรม เภสัชกรรม พยาบาล ทันตกรรม เป็นต้น โดยในระยะเริ่มแรก การแพทย์ของทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกจะอยู่ในรูปองค์รวม โดยมี "แพทย์" เป็นผู้รับผิดชอบทั้งการรักษา การปรุงยา การดูแล จนกระทั่งเมื่อวิทยาการทางการแพทย์มีความก้าวหน้า ได้มีการจำแนกวิชาชีพออกตามความชำนาญมากขึ้น เพื่อฝึกหัดให้เกิดความชำนาญเฉพาะด้านแต่ละสาขา
ระบบการแพทย์ในสมัยโบราณมักผูกพันกับอำนาจลี้ลับ เทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผสมผสานกับการสังเกต ทดลอง วิเคราะห์ และหาความเชื่อมโยง รวมถึงการสังเกตพฤติกรรมสัตว์ในการบริบาลตนเองเมื่อเจ็บป่วย และได้นำมาดัดแปลงตามความเหมาะสม เกิดแนวคิดและถ่ายทอดสู่รุ่นลูกหลาน และพัฒนาขึ้นเป็นระบบ และเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในแต่ละภูมิภาค
ในสมัยโบราณ การจัดทำเภสัชตำรับขึ้นครั้งแรกเกิดขึ้นในดินแดนเมโสโปเตเมีย ซึ่งมีการบันทึกโดยใช้อักษรคูนิฟอร์ม นับเป็นเภสัชตำรับฉบับแรกของโลก[1] และเริ่มมีการแบ่งสายวิชาชีพเภสัชกรรมออกจากวิชาชีพเวชกรรมในสมัยพระเจ้าฮัมมูราบี ส่วนในจีน การแพทย์มักมีความผูกพันกับธรรมชาติ และใช้ปรัชญาของจีนร่วมในการรักษา ในอียิปต์เริ่มมีการจดบันทึกเภสัชตำรับเมื่อประมาณ 1500 ปีก่อนคริสต์ศักราช หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า "ปาปิรุสอีเบอร์" ตลอดจนบูชาเทพเจ้าในการบำบัดโรคกว่า 10 องค์
ในสมัยกรีกโบราณ ชาวกรีกได้บูชาเทพแอสคลีปิอุส ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเทพแห่งการแพทย์ เช่นเดียวกับพระธิดา คือ เทพีไฮเจีย เทพีแห่งสุขอนามัย โดยพระองค์จะถือถ้วยยาและงูไว้ งูเป็นสัญลักษณ์ในการดูดพิษของชาวกรีกโบราณ จนกระทั่งเป็นสัญลักษณ์ของวิชาชีพเภสัชกรรมในปัจจุบัน กรีกมีนักปราชญ์มากมาย จึงใช้ปรัชญาและทฤษฎีในการบำบัดรักษาโรคทั่วไป ส่วนในยุคโรมัน ซึ่งได้รับวิทยาการถ่ายทอดจากกรีก ได้ใช้ปรัชญาจากนักปราชญ์ในการบริบาลผู้ป่วยสืบต่อมา สมัยจักรวรรดิโรมัน กาเลนนับเป็นบุคคลสำคัญในการบริบาลผู้ป่วย โดยกาเลนจะปรุงยาด้วยตนเองเสมอจนถือว่ากาเลนเป็น "บิดาแห่งเภสัชกรรม"[2]
ในสมัยกลาง เมื่อโรมันเสื่อมอำนาจลง วิทยาการด้านการแพทย์เสื่อมถอยลง แต่วิทยาการทางการแพทย์ตะวันตกยังคงได้รับการถ่ายทอดจากชาวอาหรับที่มาค้าขายด้วย ในสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิฟรีดริชที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ทรงประกาศกฎหมายเกี่ยวกับวิชาชีพเภสัชกรรม (Magna Charta of the Profession of Pharmacy) เมื่อ ค.ศ. 1240 ห้ามมิให้ดำเนินการตั้งร้านยาหรือธุรกิจเกี่ยวกับการขายยา ยกเว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐ และให้แยกวิชาชีพเภสัชกรรมออกจากวิชาชีพเวชกรรมอย่างเด็ดขาดเป็นครั้งแรก[3]
เมื่อโคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกา วิทยาการทางการแพทย์ได้เกิดขึ้นอย่างมากมายในดินแดนทวีปแห่งนี้ ประกอบกับเป็นช่วงที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้มีการค้นพบตัวยาใหม่ ๆ และการนำยาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม เกิดการเปลี่ยนแปลงบทบาทและหน้าที่ของเภสัชกร จากเดิมคือผู้ปรุงยา แต่ปัจจุบันเป็นผู้บริหารและควบคุมระบบยา พร้อมกันนั้นยังมีหน้าที่ให้ความรู้แก่ประชาชนในการใช้ยา ตลอดจนคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย
สำหรับประเทศไทย เภสัชกรรมเป็นส่วนหนึ่งของระบบการแพทย์แผนไทยมาโดยตลอด อาทิ การใช้สมุนไพรและเภสัชวัตถุต่าง ๆ เข้าร่วมการรักษา การศึกษาทางด้านเภสัชศาสตร์ได้สถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ในฐานะโรงเรียนแพทย์ปรุงยา (ปัจจุบันคือ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังการก่อตั้งกองโอสถศาลาขึ้น ต่อมาได้มีการจัดตั้งโรงงานเภสัชกรรมโดย เภสัชกร ดร. ตั้ว ลพานุกรม ซึ่งภายหลังได้รวมกับกองโอสถศาลาจัดตั้งเป็นองค์การเภสัชกรรม
นิรุกติศาสตร์และความหมายของคำ
[แก้]คำว่า เภสัชกรรม ในภาษาไทย มาจากการประสมระหว่างคำว่า "เภสัช" (เภสชฺช) ซึ่งแปลว่า "ยา"[4] และ "กรรม" ซึ่งแปลว่า การงาน, การกระทำ[5] จึงหมายรวมว่า การกระทำเกี่ยวกับยา หรือตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานคือวิทยาศาสตร์แขนงที่ว่าด้วยการเตรียมเครื่องยา ตัวยาจากธรรมชาติหรือการสังเคราะห์ให้เป็นยาสำเร็จรูป[6] เดิมในสยามประเทศได้ใช้คำว่า "ปรุงยา" หรือ "ผสมยา" จนกระทั่งใน พ.ศ. 2475 ปทานุกรมไทยได้บัญญัติให้ใช้คำว่า "เภสัชกรรม" แทน[7] ส่วนในภาษาอังกฤษ Pharmacy มีที่มาจากภาษากรีกคือ φάρμακον /'pharmakon'/ โดยมีรากศัพท์ภาษาตั้งแต่สมัยบาบิโลน pharmakon หมายถึง พืชที่มีอำนาจวิเศษ โดยในกรีกมีความหมายว่า "ยา" ทั้งนี้ มีความหมายรวมถึง ยาที่ใช้ในการรักษาโรคและยาพิษ ซึ่งมีความหมายกว้างกว่าเภสัชกรรมในปัจจุบัน ซึ่งหมายถึงยาในการบำบัดรักษาโรคเพียงอย่างเดียว[8]
ยุคโบราณ
[แก้]สมัยก่อนประวัติศาสตร์
[แก้]จุดเริ่มต้นขององค์ความรู้ด้านเภสัชกรรมนั้น เกิดคู่ขนานกับมนุษยชาติมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มนุษย์ในสมัยนั้นอาศัยสัญชาตญาณ เรียนรู้ และสังเกตจากธรรมชาติและสัตว์ป่า รู้จักการประยุกต์นำน้ำเย็น ใบไม้ หรือโคลนมาช่วยในการบริบาลตนเองในเบื้องต้น[9] หลังจากนั้นทำให้พวกเขาได้สั่งสมองค์ความรู้จากการลองผิดลองถูกแล้วถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวสู่ลูกหลานจากรุ่นสู่รุ่น ความรู้ในการบำบัดรักษาโรคในสมัยในยังอยู่ในวงจำกัด ขึ้นอยู่กับธรรมชาติและอำนาจลี้ลับเหนือธรรมชาติ การบริบาลรักษาเป็นไปโดยใช้เวทมนตร์คาถาและไสยศาสตร์ควบคู่กับการใช้ยาและสุมนไพร[10]
ภูมิภาคเมโสโปเตเมีย
[แก้]การบำบัดรักษาในสมัยเมโสโปเตเมียมีพื้นฐานเกี่ยวกับความเชื่อของศาสนาและไสยศาสตร์ควบคู่กับการบำบัดโรคและให้ยาในรูปแบบต่าง ๆ ในสมัยนี้ยังมีการค้นพบตัวยาใหม่ ๆ หลายชนิด อาทิ ตัวยาที่สกัดจากพืช เช่น องุ่น ฝิ่น กัญชา มหาหิงคุ์ เป็นต้น ตัวยาที่ได้จากสัตว์ เช่น ไขผึ้ง น้ำนมและไขมันสัตว์ และตัวยาที่ได้จากแร่ธาตุ เช่น สารหนูและกำมะถัน นอกจากนี้ในสมัยของชาวสุเมเรียนยังมีการประดิษฐ์ตัวอักษรคูนิฟอร์มขึ้น และได้มีการจารึกเภสัชตำรับไว้ลงบนก้อนดินเหนียว ซึ่งถือเป็นเภสัชตำรับฉบับแรกของโลก (Earliest Pharmacopoeia) ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา[1]
รูปแบบการบำบัดรักษาผู้ป่วยในสมัยบาบิโลน ได้แยกผู้ให้บริการทางการแพทย์เป็น 2 ประเภท[11] คือ
- อสิปู (Asipu Magical Healer) อาศัยประสบการณ์ เวทมนตร์คาถา และสมุนไพร ตลอดจนมีการพัฒนารูปแบบยา เช่น ยาเหน็บ ยาเม็ดลูกกลอน ยาสวน และขี้ผึ้ง เป็นต้น ผู้ให้การรักษาคือพระซึ่งขึ้นตรงต่อพระเจ้า
- อาสิ (Asu Empirical Healer) มีหน้าที่ทำการรักษาทุกอย่าง ได้แก่ การผ่าตัดและการถอนฟัน โดยรับผิดชอบงานตามประมวลกฎหมายพระเจ้าฮัมมูราบี โดยใช้หลักตาต่อตา ฟันต่อฟัน ดังนั้นหมอที่รักษาคนไข้ตายต้องถูกลงโทษด้วย นอกจากนี้ยังมีการแบ่งสายวิชาชีพแพทย์ออกเป็นเวชกรรมและเภสัชกรรม และแยกสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมออกจากกัน
จีนโบราณ
[แก้]เภสัชกรรมในจีนมีหลักฐานบันทึกในตำนานของของกษัตริย์เสินหนง (ช่วง 2000 ปีก่อนคริสต์ศักราช) พระองค์ทรงตรวจสอบหาคุณสมบัติของสมุนไพรในจีน และทดลองคุณสมบัติของสมุนไพรเหล่านั้นโดยพระองค์เอง มีการบันทึกตัวยาประมาณ 365 ขนาน ซึ่งพระองค์ยังเป็นที่สักการะของชาวจีนพื้นเมืองจวบจนปัจจุบัน[12]
ในช่วง 770–476 ก่อนคริสต์ศักราช พระเจ้าหวังตี้เน่ยจิง (Yellow Emperor) มีพระราชดำริที่จะเรียบเรียงตำราเกี่ยวกับการบำบัดโรคในจีน ซึ่งจัดทำเป็นตำราถาม-ตอบ โดยผู้ถามคือกษัตริย์และผู้ตอบคืออำมาตย์ฉีเปาะ ทั้งนี้จีนมีความผูกพันกับปรัชญาและลัทธิปรัชญาเกี่ยวกับธรรมชาติเป็นอันมาก จึงได้มีทฤษฎีต่าง ๆ ที่เข้ามามาอิทธิพลต่อกระบวนการรักษาในจีน ได้แก่ ทฤษฎีหยินหยาง ทฤษฎีปัญจธาตุ และทฤษฎีอวัยวะภายใน การแพทย์ของจีนมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบและมีเอกลักษณ์ โดยใช้วิธีการฝังเข็มและยาจีนมาใช้ในการรักษาในฐานะวิถีเอเชียที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก และมีการแยกการแพทย์ออกเป็นเวชกรรมและเภสัชกรรมในสมัยราชวงศ์สุย[10]
อียิปต์โบราณ
[แก้]พบหลักฐานเกี่ยวกับวิทยาการทางการแพทย์ของอียิปต์มาตั้งแต่ช่วงประมาณ 2900 ปีก่อนคริสต์ศักราชแล้ว[13] ชาวอียิปต์มักนิยมบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ของตนไว้โดยอักษรฮีโรกลิฟฟิก ในสุสานของมั่มมี่นั้น มีหลักฐานเกี่ยวกับล่มยา อันประกอบไปด้วยช้อนตักยา ภาชนะใส่ยา และยาแห้ง อีกทั้งยังมีหลักฐานการรักษาโรคแสดงเหตุการณ์ต่าง ๆ อาทิ การคลอดบุตร และการผ่าตัด ในช่วง 1700 ปีก่อนคริสต์ศักราช และมีการตรวจรักษาโรคอย่างเป็นระบบแยกผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุแพทย์ ทันตแพทย์ ศัลยแพทย์เป็นต้น[10] หลักฐานชิ้นสำคัญและมีชื่อเสียงทางด้านเภสัชกรรมของอียิปต์คือ "ปาปิรุสอีเบอร์" (Papyrus Ebers) ซึ่งบันทึกไว้ในช่วง 1500 ปีก่อนคริสต์ศักราช เป็นเอกสารรวบรวมตำรับยากว่า 800 ตำรับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับยากว่า 700 ขนาน เภสัชกรรมในอียิปต์โบราณถูกจัดระดับไว้ตั้งแต่ 2 ระดับขึ้นไป ตั้งแต่การจัดหาเภสัชวัตถุและการเตรียมยา และหัวหน้าฝ่ายคิดค้นหรือหัวหน้าเภสัชกร สถานที่ทำงานของพวกเขาเรียกว่า "บ้านแห่งชีวิต" (House of Life) [13] ระหว่างการบำบัดรักษากระทำควบคู่กับการอ้อนวอนพระเจ้าและคาถาสำหรับคนไข้ นอกจากนี้อียิปต์โบราณยังมีวิวัฒนาการทางการแพทย์อย่างมาก อาทิ การรักษาด้วยการเข้าเฝือก การนำสมุนไพรเป็นยาและมีหน่วยวัด "โร" (Bushel) เป็นหน่วยวัดมาตรฐาน และมีการใช้เครื่องสำอางตามหลักฐานภาพบันทึกในช่วง 1200 ปีก่อนคริสต์ศักราช ทำให้ชาวอียิปต์นับได้ว่าเป็นตำรับแห่งวิทยาการเครื่องสำอาง[10]
อินเดียโบราณ
[แก้]ในดินแดนเอเชียใต้ ชาวอารยันได้บุกยึกครองดินแดนตอนเหนือได้ เมื่อประมาณพันปีก่อนพุทธศักราช วัฒนธรรมชาวอารยันได้นำมาถ่ายทอดสู่ภูมิภาคนี้ ซึ่งหนึ่งในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและอนามัยคืออายุรเวท โดยพราหมณ์จะเป็นผู้ถ่ายทอดคัมภีร์เหล่านี้จากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้วิชาการการแพทย์ได้บรรจุลงในคัมภีร์ฤคเวทเกี่ยวกับการบำบัดโรคและสมุนไพรที่ใช้เป็นยาอีกด้วย ต่อมาในสมัยสูตรยุคเมื่อ 300 ปีก่อนพุทธศักราช มีอาจารย์ปานิมีขัตยาญาณและอาจารย์ปตัญชลีเป็นผู้ตรวจสอบและรวบรวมวิชาการแพทย์หรือวิชาอายุรเวทให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน[10]
ต่อมาในสมัยพุทธกาล วิชาการแพทย์ได้เจริญเต็มที่ เป็นที่สนใจของชาวอินเดียและบุคคลต่างประเทศ บุคคลสำคัญได้แก่ อาจารย์ชีวกโกมารภัจจ์ ได้ศึกษาสำเร็จเป็นผู้เชี่ยวชาญทางเวชปฏิบัติและเภสัชวัตถุ จนได้รับสมัญญานามว่า "เภสัชราชา"[14] เป็นแพทย์ประจำพระเจ้าพิมพิสารและพระพุทธเจ้า พร้อมกันนั้น ก็ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้มายังสุวรรณภูมิผ่านทางพระพุทธศาสนา ท่านจึงได้รับการนับถือเป็นครูหมอแผนไทยในประเทศไทยจวบจนปัจจุบัน
กรีกโบราณ
[แก้]ชาวกรีกมีความเชื่อเรื่องความสมบูรณ์ในร่างกายมนุษย์เป็นอย่างมาก ทำให้ชาวกรีกบูชาเทพเจ้าที่เกี่ยวข้องกับการรักษาอันพบได้ในบทกวีของโฮเมอร์ (Homer) สรรเสริญบทบาทเทพเจ้าแห่งการบำบัดสุขภาพ อาทิ เปออน (Paeon) อะพอลโล (Apollo) และแอสคลีปิอุส (Asclepios) โดยนิยมบูชาเทพเจ้าแอสคลีปิอุสมาก ในเรื่องการบำบัดรักษาโรค นิยมสร้างวิหารผู้ป่วยและมีรูปแกะสลักภายในวิหารคือเทพเจ้าแอสคลีปิอุส มีหนึ่งถือไม้เท้า อีกมือหนึ่งจับหางงูไว้ และมีสุนัขหมอบอยู่ใกล้ ๆ ร่วมกับเทพธิดาไฮเจีย บุตรสาวซึ่งจะถือถ้วยยาและงูไว้ ภาพสลักดังกล่าวถือเป็นสัญลักษณ์ของการบำบัดรักษาโรค
ในสมัยกรีกยังมีนักปราชญ์สำคัญ ๆ อีกมาก บุคคลที่สำคัญทางการรักษาและบำบัดโรคได้แก่ ฮิปโปเครตีส (Hippocrates) ซึ่งถือเป็นบิดาการแพทย์ยุโรป[15] และเป็นต้นแบบของแพทย์ในการจัดระเบียบการรักษาผู้ป่วยในลักษณะวิทยาศาสตร์ โดยใช้ยาสมุนไพรร่วมในการบำบัดรักษา และเขียนตำราทางการแพทย์ร่วมกับแพทย์ชาวกรีกกว่าอีก 60 เรื่อง โดยฮิปโปเครตีสเชื่อว่าร่างกายประกอบไปด้วยธาตุ 4 อย่าง คือโลหิต เสมหะ น้ำดีสีเหลือง และน้ำดีสีดำ และการเจ็บป่วยเก็บจากของเหลวทั้งสี่ไม่สมดุล[10]
โรมันโบราณ
[แก้]ภายหลังกรีกเสื่อมอำนาจลง โรมันได้รับการถ่ายทอดศิลปะวิทยาการจากกรีก รวมทั้งองค์ความรู้ทางการแพทย์และเภสัชกรรมด้วย ทำให้การบำบัดรักษามีความคล้ายคลึงและอาศัยรากฐานจากกรีก มีนักปราชญ์คนสำคัญทางการแพทย์ได้แก่ ไดออสเครติส (Dioscorides) แต่งตำราทางการแพทย์เป็น 5 เล่ม ตำราของไดออสเครดิสถือเป็นตำราเภสัชวัตถุมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร สรรพคุณและการจัดหมวดหมู่ และกาเลน แพทย์ชาวกรีก เกิดที่เมืองเปอกามอน (Pergamon) เขาได้เข้าทำงานกรุงโรมและประสบความสำเร็จเป็นแพทย์ประจำราชสำนัก ผลงานสำคัญคือการตั้งระบบพื้นฐาน (Fundamental System) ซึ่งถือเป็นเกณฑ์ในการแพทย์ตะวันตกอีกต่อมาถึง 1,500 ปี[16] โดยกาเลนจะใช้ตัวยาและสรรพคุณจากตำราของไดออสเครติส เขาแบ่งตำรับยาตามคุณสมบัติทั้ง 4 ประการคือ ความอบอุ่น (warm) ความเย็น (Cold) ความชุ่มชื้น (moist) และความแห้ง (dry) [17] ซึ่งเขามักเตรียมยาด้วยตนเองสเมอจนได้ชื่อว่าเป็น "บิดาแห่งเภสัชกรรม"[2] นอกจากนี้เข้ายังศึกษากายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาโดยอาศัยโครงกระดูกและผ่าตัดสัตว์ จนภายหลังมีผู้ตีพิมพ์ผลงานความรู้ของเขากว่า 22 เล่ม ครอบคลุมศาสตร์ทางศัลยกรรม พยาธิสภาพศาสตร์ และเภสัชกรรม
สมัยอาหรับและยุโรปสมัยกลาง
[แก้]การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก ทำให้องค์ความรู้ที่ได้สั่งสมมาบางส่วนสูญหายไป[18] หากแต่ในจักรวรรดิโรมันตะวันตกนั้นปกครองโดยอนารยชนเผ่าเยอรมัน ทำให้ความรู้ได้ส่งทอดไปยังชาวอาหรับ และได้กลับมาถ่ายทอดยังยุโรปตะวันตกอีกครั้งในปลายสมัยกลาง
ชาวอาหรับนิยมการแปลบทความของอารยธรรมกรีก-โรมันทำให้ความรู้ทางการแพทย์และเภสัชกรรมได้ส่งต่อแก่ชาวอาหรับ และเป็นสิ่งกระตุ้นให้ชาวอาหรับค้นคว้าความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติม อาทิ อวิเซนนา นักปราชญ์ชาวเปอร์เซียซึ่งได้ทำการทดลองทางคลินิกและเภสัชวิทยาคลินิกในหนังสือ เดอะแคนอนออฟเมดิซีน (The Canon of Medicine)[19] ซึ่งถือเป็นหนังสือที่ใช้ในการอ้างอิงด้านการศึกษาทางแพทย์จนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 17[20][21], Ibn Masawaih แพทย์ชาวอาหรับได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพืชสมุนไพรอะโรมาติก กล่าวถึงสมุนไพรสำคัญ 5 ชนิดได้แก่สารที่มีกลิ่นฉุน (musk), ไขลำไส้ปลาวาฬ (ambergis), ยาดำหรือว่านหางจระเข้ (aloe), การบูร (camphor) และหญ้าฝรั่น (saffron) ความนิยมในการเขียนและแปลบทความของชาวอาหรับทำให้เกิดองค์ความรู้จำนวนมาก Sami K. Hamarneh จึงได้นำมาจัดแบ่งเป็น 4 ประเภทคือ สูตรตำรับ, สมุนไพรและวัตถุทางการแพทย์, พิษวิทยา และการบำบัดด้วยความสัมพันธ์อาหารและยากับนิเวศวิทยาของมนุษย์ นอกจากนี้ในสมัยอาหรับยังได้มีการตั้งโรงพยาบาลขึ้นและเริ่มมีการเปิดร้านยาทั่วไปในนครแบกแดด แต่ผู้ปฏิบัติงานในร้านยาทั่วไปขาดการฝึกปฏิบัติจึงทำให้เกิดการฝึกปฏิบัติเภสัชกรรมของบุคคลในสังคมชั้นสูง และมีการตรวจมาตรฐานร้านยาโดยบุคคลที่รัฐแต่งตั้งอีกด้วย
ในยุโรปสมัยกลางช่วงแรกเป็นลักษณะการแพทย์และเภสัชกรรมโดยนักบวช ทั้งนี้นักบวชต้องมีความรู้ตามกฎที่คาสสิโอโดรัสบัญญัติไว้ โดยส่วนใหญ่เป็นความรู้ดั้งเดิมในสมัยโรมัน ทำให้ไม่เกิดการค้นคว้าหาความรู้ใหม่ ๆ จนกระทั่งในคริสต์ศตวรรษที่ 11 คอนสแตนตินแห่งแอฟริกาได้เข้ามายังยุโรปตะวันตก และมีการแปลบทความอาหรับเป็นภาษาละตินหลายบทความ
สมัยใหม่
[แก้]เมื่อโคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกาแล้วนั้น ประชาชนส่วนหนึ่งและผู้แสวงบุญชาวตะวันตก ได้ย้ายเข้ามาพำนักอาศัย ณ ทวีปอเมริกา และได้นำวิทยาการทางการแพทย์และเภสัชกรรมเข้ามาพร้อม ๆ กัน ในระยะเริ่มแรกสหรัฐอเมริกาเป็นเพียงอาณานิคมของประเทศในตะวันตกเท่านั้น ในปี ค.ศ. 1751 ได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลเพนซิลวาเนีย โรงพยาบาลแห่งแรกในสหรัฐอเมริกา[22] โดยเบนจามิน แฟรงคลิน และ ดร.โทมัส บอนด์ ในส่วนงานเภสัชกรรมได้เริ่มดำเนินการในปี ค.ศ. 1752 โดยใช้สถานที่คินซีย์เฮาส์เป็นที่ทำการในระยะเริ่มแรก โดยมีเภสัชกรโรงพยาบาลคนแรกคือโจนาธาน โรเบิร์ตส แต่เภสัชกรผู้มีบทบาทในการพัฒนาเภสัชกรรมในสหรัฐอเมริกาคือจอห์น มอร์แกน ศิษย์ของโจนาธาน เขามีบทบาทในการพัฒนาเภสัชกรรมและเวชกรรมในสหรัฐอเมริกาให้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ภายหลังที่เขาจบการศึกษาทางเภสัชศาสตร์แล้วนั้น เขาได้ศึกษาในสาขาเวชกรรมในเวลาต่อมา ในส่วนกองทัพของสหรัฐอเมริกาก็ได้มีการเพิ่มเติมเภสัชกรเป็นหนึ่งในกำลังพลของกองทัพอีกด้วย โดย แอนดรูว์ เครก เป็นเภสัชกรคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการร้านยาแห่งแมตซาซูเซตเข้าร่วมในสงคราม ณ บังเกอร์ฮิลล์ ในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1775 เขาทำหน้าที่บริบาลและรักษาทหารที่ได้รับบาดเจ็บ ต่อมาเมื่อสภาคองเกรสเห็นชอบในการบรรจุบุคลากรทางสาธารณสุขในกองทัพในแผนกการแพทย์ด้วยนั้น แอนดรูว์เป็นเภสัชกรคนแรกที่ได้รับการบรรจุในกองทัพ โดยมีหน้าที่ในการปฐมพยาบาล เก็บรักษา ผลิต และกระจายยาในกองทัพ นอกจากนี้เขายังพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมยาในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย[23]
ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1600 เภสัชอุตสาหกรรมหรืออุตสาหกรรมการผลิตยาไม่ได้รวมกับเภสัชกรรม ต่อมาในช่วงกลางคริตส์ทศวรรษที่ 1700 ได้มีการพัฒนาการผลิตยาในฐานะเป็นธุรกิจเชิงอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น เริ่มต้นในประเทศเยอรมนี สหราชอาณาจักร และประเทศฝรั่งเศสตามลำดับ ในสหรัฐอเมริกา การปรับปรุงเรื่องเภสัชอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในสมัยสงครามกลางเมือง โดยนำเทคนิตวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในการผลิตยาและเภสัชภัณฑ์ให้ได้จำนวนมากและระยะเวลาอันสั้น การศึกษาเภสัชศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาในเรื่องของการฝึกปฏิบัติวิชาชีพเภสัชกรรมที่ด้อยคุณภาพ และการแยกเภสัชศาสตร์ออกจากคณะแพทยศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย จึงทำให้มีการจัดประชุมเภสัชกรในฟิลาเดเฟีย ณ หอคาร์เพนเตอร์ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1821 และการประชุมครั้งที่ 2 ในวันที่ 13 มีนาคม ปีเดียวกัน เภสัชกรมีมติลงคะแนนให้ตั้งวิทยาลัยเภสัชศาสตร์แห่งฟิลาเดเฟีย (The Philadelphia College of Pharmacy) โดยมีการบริหารงานอิสระด้วยตนเอง โดยเภสัชกร 68 คนลงนามในการจัดตั้งสมาคมทางเภสัชกรรมอเมริกันขึ้น ซึ่งถือเป็นการจัดการศึกษาทางเภสัชศาสตร์ครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา[24]
เภสัชกรรมสมัยใหม่ในแต่ละประเทศมีการควบคุมการประกอบโรคศิลปะโดยรัฐบาล ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่แต่ละประเทศกำหนดควบคู่ไปกับจริยธรรมหรือจรรยาบรรณในวิชาชีพ อาทิ คำปฏิญญาณเภสัชกรของอเมริกัน, คำสาบานของอิปโปเครติส และจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรมของไทย การควบคุมมาตรฐานดังกล่าวเป็นไปเพื่อป้องกันความขาดความรับผิดชอบ หรือความไม่รู้ของประชาชนจากสื่อโฆษณาที่โฆษณาเกินจริงภายหลังการจัดทำเภสัชตำรับมาตรฐานของอิตาลีในเมืองฟลอนเรนส์แล้วนั้น ประเทศอื่น ๆ ก็ได้ริเริ่มการจัดทำเภสัชตำรับเช่นกัน อาทิ ประเทศเยอรมัน ในปี ค.ศ. 1546, สหราชอาณาจักรในปี ค.ศ. 1618[10] และสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1820 โดยโจเซฟ เรมิงตัน
เภสัชกรรมในประเทศไทย
[แก้]เภสัชกรรมในปัจจุบันและอนาคต
[แก้]ปัจจุบันเภสัชกรรมได้ขยายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกกว่า 50 ประเทศ[25] บทบาทของวิชาชีพมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตกล่าวคือจากการจ่ายยาตามใบสั่งยาได้มีการวิวัฒน์ขึ้นสู่การบริบาลทางเภสัชกรรม[26] เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประสิทธิผลจากวิชาชีพเภสัชกรรมสูงสุด โดยเป็นการพัฒนาวิเคราะห์และแก้ปัญหาการใช้ยาอย่างเป็นระบบ ซึ่งการบริบาลทางเภสัชกรรมในร้านยาหรือหออภิบาลผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงข้อกฎหมายวิชาชีพเภสัชกรรมในอนาคต[26] ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการริเริ่มการคิดค่าธรรมเนียมวิชาชีพเภสัชกรรม[27] การฝึกปฏิบัติทางเภสัชกรรมในปัจจุบันเป็นการเรียนการสอนในโรงเรียนเภสัชกรรมทั่วโลก ซึ่งรวมไปถึงการบริการทางคลินิกที่เภสัชกรจะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ อาทิ การวิเคราะห์การใช้ยา เช่น ใช้หรือไม่ใช้ หรือใช้สมุนไพร เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันในสหรัฐอเมริกามีการแยกอำนาจการจ่ายยาให้แก่เภสัชกรอย่างเด็ดขาด ซึ่งผลจากการปฏิบัติดังกล่าวจะช่วยให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้นและค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพจะลดลง[28] การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้เริ่มต้นในบางประเทศ เช่น เภสัชกรในออสเตรเลียซึ่งได้รับค่าตอบแทนจากรัฐบาลในการจัดการด้านยาครอบคลุมการตรวจสอบยาประจำบ้าน ในแคนาดา เภสัชกรในบางรัฐมีสิทธิการจ่ายยาที่จำกัดหรือได้รับการจ่ายค่าทดแทนเพิ่มเติมจากรัฐบาลท้องถิ่นสำหรับการขยายบริการทางสาธารณสุข ในสหราชอาณาจักรที่เภสัชกรมีสิทธิในการจ่ายยาก็ได้รับค่าตอบแทนจากรัฐบาลเช่นกัน ส่วนในสหรัฐอเมริกาในด้านการบริการทางเภสัชกรรมหรือเภสัชกรรมคลินิกมีวิวัฒนาการครอบคลุมในการฝึกปฏิบัติทางเภสัชกรรม[29] ยิ่งไปกว่านั้นผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชกรรม (Doctor of Pharmacy) เป็นสิ่งที่สำคัญก่อนการปฏิบัติและเภสัชกรบางส่วนในปัจจุบันได้รับการศึกษาเทียบเท่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชกรรม นอกจากนี้เภสัชกรผู้ให้คำปรึกษา (consultant pharmacist) ซึ่งแต่เดิมจะดูแลในด้านปฐมภูมิก็ได้ขยายสู่การให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยภายใต้คำว่า "senior care pharmacy"[30]
ในประเทศไทยปัจจุบันได้มีการประกาศใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งทำให้เกิดความแออัดของประชากรขึ้นในโรงพยาบาล ส่งผลต่องานของเภสัชกรโรงพยาบาลรวมถึงบุคลากรทางสาธารณสุขอื่น ๆ เสียงต่อการถูกฟ้องร้องค่าเสียหายทางการรักษา ร้านยาจึงเป็นอีกหนึ่งทางออกในการบริบาลผู้ป่วยเบื้องต้น[26] นอกจากนี้ยังมีการออกพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551[31] และพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551[32] ส่งผลให้ผู้บริโภคสามารถฟ้องร้องจากการบริการหรือการได้รับผลิตภัณฑ์มาตรฐานได้ ร้านยาจึงควรเพิ่มการพิจารณาด้านการใช้ยาแก่ผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิผลมากกว่าการแข่งขันด้านการบริการ[26] ในสถาบันทางเภสัชศาสตร์ของไทยก็ได้มีการขยายหลักสูตรการศึกษาของเภสัชศาสตร์ออกเป็นสองหลักสูตรโดยแยกสายงานบริบาลทางเภสัชกรรมออกจำเพาะเพื่อเพิ่มบทบาทด้านการบริบาลทางเภสัชกรรมของเภสัชกร[33] และมีการผลักดันการใช้พระราชบัญญัติยาฉบับใหม่ที่ให้สิทธิขาดแก่เภสัชกรในการจ่ายยา[34]
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม
[แก้]- โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย (กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขไทย, 2545).
- ชาติชาย มุกสง, "การแพทย์ในประวัติศาสตร์: พัฒนาการของการศึกษาประวัติศาสตร์การแพทย์ในสังคมตะวันตกโดยสังเขป", วารสารประวัติศาสตร์ (2555), หน้า 1-14.
- ทวีศักดิ์ เผือกสม, เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม: ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550)
- ทวีศักดิ์ เผือกสม, "รัฐเวชกรรม (Medicalized State) : จากโรงพยาบาลสู่โครงการสาธารณสุขมูลฐาน", รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 24 ฉบับที่ 1 (2546), หน้า 204-245.
- สุกิจ ด่านยุทธศิลป์, "การสาธารณสุขแบบสมัยใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2543-2468) " (ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต วิชาเอกประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, 2534).
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Sonnedecker, G.. Kremers and Urdang's History of Phaymacy. [ม.ป.ท.] : Lippincott Company, 1976.
- ↑ 2.0 2.1 "สมาคมกาเลน" เก็บถาวร 19 สิงหาคม 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โรงเรียนเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียคอมมอนเวลต์ เรียกข้อมูลวันที 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552
- ↑ "การจำแนกเภสัชกรรมออกจากเวชกรรม" เก็บถาวร 2 มิถุนายน 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วิทยาลัยเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตจ เรียกข้อมูลวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552
- ↑ "บทบาทหน้าที่ของเภสัชกรในสายงานต่าง ๆ มีอะไรบ้าง" เก็บถาวร 3 มิถุนายน 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน guru.google.co.th เรียกข้อมูลวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553
- ↑ "พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 มีนาคม 2009. สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2010.
- ↑ "พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 มีนาคม 2009. สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2010.
- ↑ สมาคมนิสิตเก่าคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2553). การคัดเลือกนิสิตเก่าดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2552 คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- ↑ ประนอม โพธิยานนท์. วิวัฒนาการวิชาชีพเภสัชกรรม. กรุงเทพมหานคร : ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531.
- ↑ "ประวัติเภสัชกรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์" เก็บถาวร 16 เมษายน 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วิทยาลัยเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตจ เรียกข้อมูลวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552
- ↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 10.5 10.6 สำลี ใจดี. เภสัชศาสตร์สัมพันธ์. กรุงเทพมหานคร : คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545. ISBN 974-13-2124-4
- ↑ Gennaro, A.R.. Remington's Pharmaceutical Sciences. [ม.ป.ท.] : Mack Publishing Company, 1990.
- ↑ "ประวัติเภสัชกรรมในจีนโบราณ" เก็บถาวร 13 มิถุนายน 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วิทยาลัยเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตจ เรียกข้อมูลวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2552
- ↑ 13.0 13.1 "ประวัติเภสัชกรรมอียิปต์โบราณ" เก็บถาวร 19 สิงหาคม 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วิทยาลัยเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตจ เรียกข้อมูลวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2552
- ↑ "หมอชีวกฯ ปรมาจารย์แห่งแพทย์โลก" เก็บถาวร 23 กุมภาพันธ์ 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ตลาดพระ เรียกข้อมูลวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552
- ↑ Ann Ellis. Hippocrates: The "Greek Miracle" in Medicine. [ม.ป.ท.] : Lee T. Pearcy, The Episcopal Academy, Merion, PA 19066, USA, 2006.
- ↑ "กาเลน ผู้เชี่ยวชาญด้านส่วนประกอบของยา" เก็บถาวร 19 สิงหาคม 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วิทยาลัยเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตจ เรียกข้อมูลวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552
- ↑ Four humours เก็บถาวร 29 มิถุนายน 2013 ที่ archive.today EconomicExpert.com เรียกข้อมูลวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552
- ↑ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. อารยธรรม. กรุงเทพมหานคร : คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544.
- ↑ D. Craig Brater and Walter J. Daly (2000), "Clinical pharmacology in the Middle Ages: Principles that presage the 21st century", Clinical Pharmacology & Therapeutics 67 (5), pp. 447–450 [449].
- ↑ The Canon of Medicine (work by Avicenna), Encyclopædia Britannica
- ↑ Amber Haque (2004), "Psychology from Islamic Perspective: Contributions of Early Muslim Scholars and Challenges to Contemporary Muslim Psychologists", Journal of Religion and Health 43 (4), pp. 357–377 [375].
- ↑ ประวัติโรงพยาบาลเพนซิลวาเนีย เรียกข้อมูลวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552
- ↑ "แอนดรูว์ เครก" เก็บถาวร 19 สิงหาคม 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วิทยาลัยเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตจ เรียกข้อมูลวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2552
- ↑ "เภสัชกรรมสร้างอค์กรของตนเอง" เก็บถาวร 19 สิงหาคม 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วิทยาลัยเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตจ เรียกข้อมูลวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2552
- ↑ "ปัจจุบันและอนาคต" เก็บถาวร 2 มิถุนายน 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วิทยาลัยเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตจ เรียกข้อมูลวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553
- ↑ 26.0 26.1 26.2 26.3 ภก.ธีรวุฒิ พงศ์เศรษฐไพศาล. โครงการ 100 ปี เภสัชกรรม สภาเภสัชกรรม; 2552.
- ↑ American College of Clinical Pharmacy, Evidence of the Economic Benefit of Clinical Pharmacy Services: 1996–2000
- ↑ American Pharmacy Student Alliance (APSA)
- ↑ American College of Clinical Pharmacy, Clinical Pharmacy Defined เก็บถาวร 4 กรกฎาคม 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ What is a Senior Care Pharmacist? American Society of Consultant Pharmacists
- ↑ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ ราชกิจจานุเบกษา
- ↑ พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๑ ราชกิจจานุเบกษา
- ↑ "หลักสูตรการศึกษา" เก็บถาวร 27 พฤษภาคม 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เรียกข้อมูลวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553
- ↑ "ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. …. (ฉบับใหม่) ปัญหา หรือทางออก ที่รอการแก้ไข". Wongkarnpat.com.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์เภสัชกรรม