ข้ามไปเนื้อหา

ประธานาธิบดีเยอรมนี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประธานาธิบดี
แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
ตราประจำตำแหน่ง
ธงประจำตำแหน่ง
ผู้ดำรงตำแหน่งคนปัจจุบัน
ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์
ตั้งแต่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2560
จวนพระราชวังเบ็ลวือ
ผู้แต่งตั้งสมัชชาสหพันธ์
วาระ5 ปี (สูงสุด 2 วาระ)
สถาปนา13 กันยายน พ.ศ. 2492
คนแรกเทโอดอร์ ฮ็อยส์
เว็บไซต์bundesprasident.de

ประธานาธิบดีเยอรมนี หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมัน: Bundespräsident der Bundesrepublik Deutschland) เป็นประมุขแห่งรัฐของประเทศเยอรมนี ตั้งแต่การสละราชสมบัติของจักรพรรดิเยอรมันเมื่อปี 2461 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และมีการประกาศใช้กฎหมายพื้นฐานสำหรับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประธานาธิบดีก็เป็นประมุขแห่งรัฐของเยอรมนี แต่มิใช่ประมุขฝ่ายบริหาร

ประวัติ

[แก้]

ประธานาธิบดีมาจากลงคะแนนลับโดยคณะที่เรียกว่า สมัชชาสหพันธ์ (Bundesversammlung) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมดของสภาสหพันธ์ (หรือก็คือผู้แทนราษฎรทุกคน) กับคณะผู้แทนรัฐในจำนวนเท่ากัน ซึ่งได้รับการสรรหาจากสภามลรัฐทั้งสิบหกแห่ง (ซึ่งในอดีตตั้งแต่การรวมประเทศ สมัชชาสหพันธ์มีจำนวนสมาชิกเกินกว่า 1200 คนในทุกวาระ) ในการนี้ ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นประธานาธิบดีจะต้องได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ของสมัชชาสหพันธ์ แต่หากลงคะแนนสองครั้งแล้วยังไม่มีผู้ใดได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ในการลงคะแนนครั้งที่สามให้ถือว่าผู้ได้รับคะแนนเสียงมากสุดได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีโดยปริยาย ประธานาธิบดีมีวาระห้าปี ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องได้สูงสุดสองวาระ

ว่าที่ประธานาธิบดีต้องกล่าวคำสาบานตนต่อที่ประชุมร่วมสภาสหพันธ์กับคณะมนตรีสหพันธ์ดังถ้อยคำว่า "ข้าพเจ้าให้สัตย์ว่า ข้าพเจ้าจะทุ่มเทความอุตสาหะของข้าพเจ้า เพื่อประโยชน์สุขแห่งปวงชนชาวเยอรมัน จะส่งเสริมสวัสดิการปวงชน จะปัดป้องภยันตรายจากปวงชน จะธำรงและปกป้องกฎหมายพื้นฐานและบรรดากฎหมายแห่งสหพันธ์ ตลอดจนจะปฏิบัติหน้าที่ของข้าพเจ้าอย่างมีสติรู้ชอบ และมีความเป็นธรรมต่อทุกผู้ชน (ฉะนั้นขอพระเจ้าทรงช่วยข้า)"[1]

บทบาทและอำนาจ

[แก้]

ประธานาธิบดีสหพันธ์เป็นตำแหน่งพิธีการและถูกจำกัดบทบาทด้วยองค์ประกอบกฎหมายและจารีต มาตรา 59 แห่งกฎหมายพื้นฐาน กำหนดให้ประธานาธิบดีเป็นตัวแทนของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในกิจการเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการลงนามในสนธิสัญญากับต่างประเทศ ตลอดจนเป็นผู้ลงนามอักษรสาส์นตราตั้งเจ้าหน้าที่การทูต นอกจากนี้ ร่างกฎหมายระดับประเทศทุกฉบับจะต้องได้รับการลงนามจากประธานาธิบดีจึงจะมีผล

ประธานาธิบดีเป็นผู้เสนอชื่อผู้มีความเหมาะสมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อสภาสหพันธ์ และเป็นผู้ลงนามแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีของสหพันธ์ นอกจากนี้ยังได้รับอำนาจยุบสภาสหพันธ์ภายใต้สถานการณ์บางอย่าง มีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีอำนาจแต่งตั้งและปลดผู้พิพากษาของฝ่ายตุลาการสหพันธ์ มีอำนาจอภัยโทษต่อบุคคลในนามของสหพันธ์ และมีอำนาจยับยั้งร่างกฎหมายหากเชื่อว่าร่างกฎหมายดังกล่าวละเมิดกฎหมายพื้นฐาน

ประเทศเยอรมนีไม่มีตำแหน่งรองประธานาธิบดี ในกรณีที่ประธานาธิบดีลาออก ถึงแก่กรรม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ด้วยเหตุใดก็ตาม มาตรา 57 แห่งกฎหมายพื้นฐานกำหนดให้ประธานคณะมนตรีสหพันธ์ (Bundesrat) เป็นรักษาการประธานาธิบดีจนกว่าจะมีการเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ภายในสามสิบวัน ซึ่งในช่วงเวลานี้ รักษาการประธานาธิบดีจะทำหน้าที่ในฐานะประธานคณะมนตรีสหพันธ์มิได้ ทั้งนี้ ในกรณีที่ประธานาธิบดีเดินทางเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ (ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง) ประธานาธิบดีจะใช้ดุลยพินิจมอบอำนาจทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่ประธานคณะมนตรีสหพันธ์ ซึ่งที่ผ่านมา รักษาการประธานาธิบดีแต่ละคนยังไม่เคยใช้อำนาจในระดับสำคัญ อย่างเช่นยับยั้งกฎหมายหรือยุบสภา

รายชื่อ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. มาตรา 56 แห่งกฎหมายพื้นฐานแห่งสหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี. ข้อความต้นฉบับ: "Ich schwöre, dass ich meine Kraft dem Wohle des deutschen Volkes widmen, seinen Nutzen mehren, Schaden von ihm wenden, das Grundgesetz und die Gesetze des Bundes wahren und verteidigen, meine Pflichten gewissenhaft erfüllen und Gerechtigkeit gegen jedermann üben werde. (So wahr mir Gott helfe.)"

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]