ข้ามไปเนื้อหา

ปรมัตถธรรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นอภิธรรม (อภิธรรม คือ ธรรมที่ยิ่งใหญ่) เป็นสภาพธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่ประสูติและตรัสรู้ สภาพธรรมทั้งหลายก็ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยอยู่แล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระบรมศาสดา เพราะพระองค์ทรงตรัสรู้ธรรมทั้งปวงด้วยพระองค์เองว่า ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และธรรมทั้งปวงไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใดทั้งสิ้น ปรมัตถธรรมหรืออภิธรรมนั้น มิใช่ธรรมที่เหลือวิสัยที่จะเข้าใจได้ เพราะปรมัตถธรรมเป็นธรรมที่มีจริง ฉะนั้น ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก จึงเป็นการรู้ความจริงของปรมัตถธรรม ตามลักษณะของปรมัตถธรรมนั้น ๆ

ความหมายของปรมัตถธรรม[1]

[แก้]

ปรมัตถธรรม คือ ธรรมชาติที่เป็นความจริงแท้แน่นอนที่ดำรงลักษณะเฉพาะของตนไว้โดยไม่ผันแปรเปลี่ยนแปลง เป็นธรรมที่ปฏิเสธความเป็นสัตว์ ความเป็นบุคคล ความเป็นตัวตนโดยสิ้นเชิง มี 4 ประการคือ

  • จิต
  • เจตสิก
  • รูป
  • นิพพาน

จิต

[แก้]

จิต คือธรรมชาติที่ทำหน้าที่เห็น, ได้ยิน, รับกลิ่น, รับรส, รู้สัมผัส ถูกต้อง ตลอดจนธรรมชาติที่ทำให้เกิดการคิด นึก สภาวะของจิตมีทั้งหมด 89 หรือ 121 อย่าง (โดยพิสดาร) แต่เมื่อกล่าวโดยลักษณะแล้วมีเพียง 1 เท่านั้น คือ รู้อารมณ์ (อารมณ์ในที่นี้หมายถึง รูป, เสียง, กลิ่น, รส, สิ่งต่าง ๆ และเรื่องราวต่าง ๆ ที่จิตไปรับรู้)

จิตเป็นนามธรรม และมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น วิญญาณ, มโน, มนัส, มนินทรีย์, มโนธาตุ, มโนวิญญาณธาตุ และ มนายตนะ เป็นต้น

เจตสิก

[แก้]

เจตสิก คือธรรมชาติที่ประกอบกับจิต ปรุงแต่งจิต ทำให้เกิดความรู้สึก นึก คิด ที่แตกต่างกัน ทั้งทางที่ดีและไม่ดี มีทั้งหมด 52 ลักษณะ เจตสิกเป็นนามธรรมที่เกิดร่วมกับจิต คือเกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และอาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต สภาพของจิต เป็นเพียงประธานในการรู้อารมณ์ แต่การที่จิตโกรธ หรือจิตโลภ เป็นเพราะ มีเจตสิกเข้าประกอบปรุงแต่งให้เกิดความโกรธหรือความโลภนั่นเอง จิต เปรียบเสมือนเม็ดยา เจตสิกเปรียบเสมือนตัวยาที่อยู่ในเม็ดยา จิตเกิดโดย ไม่มีเจตสิกไม่ได้ และเจตสิกเกิดโดยไม่มีจิตก็ไม่ได้เช่นกัน

รูป

[แก้]

รูป คือ ธรรมชาติที่แตกดับ ย่อยยับ สลายไปด้วยความเย็นและความร้อน ในร่างกายของคนเราและสัตว์ทั้งหลายนั้นมีรูปประชุมกันอยู่ทั้งหมด 28 ชนิด และรูปที่ประชุมกันอยู่นี้แต่ละรูปต่างก็แตกดับย่อยยับสลายไปตลอดเวลา หาความเที่ยงแท้ถาวรไม่ได้เลย

นิพพาน

[แก้]

นิพพาน เป็นธรรมชาติที่พ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัด พ้นจากการ เวียนว่ายตายเกิด นิพพานโดยปริยายมี 2 ลักษณะคือ

  • สอุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานที่ยังเป็นไปกับขันธ์ 5 หมายถึง การที่ประหารกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว (กิเลสนิพพาน) แต่ขันธ์ 5 ยังมีการเกิดดับสืบต่ออยู่ (ยังมีชีวิตอยู่)
  • อนุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานที่ปราศจากขันธ์ 5 ได้แก่ นิพพานของพระอรหันต์ (ผู้หมดจดจากกิเลส) และสิ้นชีวิตไปแล้ว (คือ กิเลสก็ไม่เหลือ ขันธ์ 5 ก็ไม่เหลือ) หรือที่เรียกว่า ปรินิพพาน (ปริ = ทั้งหมด) เมื่อปรินิพพานแล้ว จิต เจตสิกและรูปจะหยุดการสืบต่อและดับลงโดยสิ้นเชิง (คือเมื่อปรินิพพานไปแล้วก็จะไม่มีการเกิดอีกหรือไม่มีภพชาติต่อไปอีก)

นิพพาน เป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาที่พุทธศาสนิกชน ทั้งหลายจะต้องพยายามเข้าถึงให้จงได้จึงจะได้ชื่อว่าเป็นพุทธสาวก เป็น อริยบุคคล และเป็นทายาทผู้รับมรดกธรรมในพุทธศาสนานี้

การจำแนกปรมัตถธรรม

[แก้]

ปรมัตถธรรม มี 2 ประเภท คือ รูปธรรม และ นามธรรม (หรือ รูป และ นาม หรือ รูปธาตุ และ นามธาตุ)

  • รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์
  • นามธรรม เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ (อารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏ และรู้ได้ เป็นได้ทั้ง รูปธรรม และนามธรรม เมื่อจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งใด สิ่งที่จิตรู้นั้น ภาษาบาลีเรียกว่า อารมฺมณ หรือ อาลมฺพน)

ปรมัตถธรรม มี 4 ประเภท คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน

  • จิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่ปรากฏ เช่น เห็น ได้ยิน เป็นต้น จิต (วิญญาณ) เป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม มีลักษณะไตรลักษณ์ (อนิจจัง - ไม่เที่ยง ทุกขัง - ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วต้องดับไป อนัตตา - บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน)
  • เจตสิก เป็นสภาพธรรมอีกประเภทหนึ่งที่เกิดร่วมกับจิต รู้สิ่งเดียวกับจิต ดับพร้อมกับจิต และเกิดที่เดียวกับจิต เจตสิกแต่ละเจตสิกมีลักษณะและกิจต่างกันตามประเภทของเจตสิกนั้น ๆ เจตสิกเป็นสภาพรู้อื่น ๆ ที่ไม่ใช่จิต ได้แก่
    • เวทนา คือ ความรู้สึกสุข ทุกข์หรือเฉย ๆ ที่เกิดทางกายหรือใจ
    • สัญญา คือความจำได้ รู้ชื่อ รู้จัก
    • สังขาร คือ ความนึกคิดปรุงแต่งอื่น ๆ เช่น รัก โกรธ เมตตา ปัญญา เป็นต้น

ปรมัตถธรรมเป็นนามธรรม มีลักษณะไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)

  • รูป รูปเป็นสภาพไม่รู้ เช่น สี เสียง กลิ่น รส เป็นต้น เป็นรูปธรรม มีลักษณะไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)
  • นิพพาน เป็นธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์ นิพพานไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น นิพพานจึงไม่เกิดดับ นิพพานเป็นขันธวิมุตติ คือ พ้นจากขันธ์ นิพพานเป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม เป็นอนัตตา

แยกประเภท (บางทีเรียกว่า ดวง) ได้ดังนี้

โดยจัดเป็นรูป 28 นับเป็นรูปธรรม จัดจิต 89 หรือ 121 โดยพิเศษ เจตสิก 52 นิพพาน 1 เป็นนามธรรม

  • สังขารธรรม คือ ธรรมที่เกิดขึ้น มีปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่ ธรรมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่นิพพาน
  • วิสังขารธรรม คือ ธรรมที่ไม่เกิดขึ้น ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่ นิพพาน (ปัจจัย คือ ธรรมซึ่งอุปการะอุดหนุนให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นหรือดำรงอยู่)
  • สังขตธรรม คือ ธรรมที่เกิดดับ ได้แก่ ธรรมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่นิพพาน
  • อสังขตธรรม คือ ธรรมที่ไม่เกิดดับ ได้แก่ นิพพาน

จิต จำแนกโดยการเกิด คือ โดยชาติ มี 4 ชาติ คือ กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต

  • กุศลจิต เป็นจิตที่ดี ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดผล คือ กุศลวิบาก
  • อกุศลจิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นโทษ เป็นสภาพธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดผลที่เป็นทุกข์ ไม่น่าพอใจ คือ อกุศลวิบาก
  • กิริยาจิต ซึ่งไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบาก จึงไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต และไม่ใช่วิบากจิต
  • วิบากจิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นผลจากกุศลจิต หรืออกุศลจิต และปรากฏในชีวิตประจำวันของสัตว์ทั้งหลายที่มีขันธ์ห้า เมื่อจิตรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ถ้าพอใจ ก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าไม่พอใจ ก็เป็นอกุศลวิบาก

จิต จำแนกโดยภูมิ มี 4 ภูมิ คือ กามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต โลกุตตรจิต ในภูมิที่เป็นกามาวจรจิต จิตมีทั้ง 4 ชาติ รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต จิตมี 3 ชาติ คือยกเว้นอกุศลจิตและโลกุตตรจิต จิตมี 2 ชาติ คือโลกุตตรกุศล และโลกุตตรวิบาก

ปรมัตถธรรม 3 ประเภทแรกเป็นขันธ์ 5 คือ

  • จิตปรมัตถ์ 89 หรือ 121 ประเภท ทุกประเภท เป็น วิญญาณขันธ์
  • เจตสิกปรมัตถ์ 52 ประเภท - เวทนาเจตสิก 1 เป็น เวทนาขันธ์ - สัญญาเจตสิก 1 เป็น สัญญาขันธ์ - เจตสิก (ที่เหลือ) 50 เป็น สังขารขันธ์
  • รูปปรมัตถ์ 28 ประเภท ทุกประเภท เป็น รูปขันธ์

ส่วนนิพพานเป็นขันธวิมุต

อ้างอิง

[แก้]
  • สุจินต์ บริหารวนเขตต์, ปรมัตถธรรมสังเขป จิตตสังเขป และภาคผนวก, มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา, 2536 (หรือ เว็บไซด์ บ้านธัมมะ)
  1. ศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาทางไกลของอภิธรรมโชติกะวิทยาลัย