นักเป่าปี่แห่งฮาเมิลน์
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/f/fa/Pied_piper.jpg/220px-Pied_piper.jpg)
นักเป่าปี่แห่งฮาเมิลน์ นักเป่าขลุ่ยแห่งฮาเมิลน์ นักจับหนูแห่งฮาเมิลน์ (เยอรมัน: der Rattenfänger von Hameln) เป็นตัวละครในตำนานเมืองฮาเมิลน์ (ฮาเมลิน) รัฐนีเดอร์ซัคเซิน ประเทศเยอรมนี
ตำนานนี้มีที่มาจากสมัยกลาง เป็นเรื่องราวของนักเป่าปี่สวมชุดหลากสีผู้ใช้ปี่วิเศษขับไล่หนูออกจากเมือง[1] แต่เมื่อชาวเมืองปฏิเสธที่จะจ่ายค่าจ้างให้เขา นักเป่าปี่ตอบโต้ด้วยการเป่าปี่ล่อหลอกเด็กออกจากเมืองเหมือนตอนไล่หนู เรื่องราวฉบับนี้แพร่หลายเป็นคติชนและพบในงานเขียนของโยฮัน ว็อล์ฟกัง ฟ็อน เกอเทอ พี่น้องตระกูลกริมม์และรอเบิร์ต บราวนิง วลี "นักเป่าปี่" (pied piper) กลายเป็นอุปลักษณ์ของบุคคลที่ดึงดูดผู้ติดตามด้วยเสน่ห์และสัญญาลวง[2]
มีทฤษฎีที่ขัดแย้งจำนวนมากเกี่ยวกับนักเป่าปี่แห่งฮาเมิลน์ บางส่วนเสนอว่านักเป่าปี่เป็นสัญลักษณ์แทนความหวังของชาวเมืองฮาเมิลน์ซึ่งเผชิญกับกาฬโรค การขับไล่หนูออกจากเมืองจึงเป็นการรักษาชีวิตชาวเมืองจากโรคระบาด[3]
แหล่งข้อมูลแรกสุดของตำนานนี้มาจากเมืองฮาเมิลน์เอง โดยอยู่ในรูปหน้าต่างกระจกสีของโบสถ์เมืองฮาเมิลน์ราวปี ค.ศ. 1300 แม้ว่าโบสถ์ถูกทำลายในปี ค.ศ. 1660 แต่ยังคงหลงเหลือบันทึกเรื่องราวนี้[4]
เรื่องย่อ
[แก้]ในปี ค.ศ. 1284 ขณะที่เมืองฮาเมิลน์กำลังถูกฝูงหนูรังควาน มีนักเป่าปี่สวมชุดหลายสีอ้างตนเป็นนักจับหนูเสนอจะแก้ปัญหาให้กับนายกเทศมนตรี นายกเทศมนตรีจึงสัญญาจะจ่ายค่าจ้างเป็นเงิน 1,000 กิลเดอร์ นักเป่าปี่ตกลงและเริ่มเป่าปี่ของตน ล่อหนูทั้งหมดให้ลงไปจมน้ำตายในแม่น้ำเวเซอร์[5]
แม้นักเป่าปี่จะทำสำเร็จ แต่นายกเทศมนตรีกลับปฏิเสธที่จะจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวน (บางแหล่งระบุว่าค่าจ้างลดเหลือ 50 กิลเดอร์) ยิ่งไปกว่านั้นยังกล่าวหานักเป่าปี่ว่าเขาเองเป็นคนนำหนูเข้ามาเพื่อกรรโชกทรัพย์ นักเป่าปี่โกรธจัดแล้วประกาศจะแก้แค้นก่อนจะออกจากเมืองไป ต่อมาในวันนักบุญยอห์นและเปาโลที่ผู้ใหญ่อยู่ในโบสถ์ นักเป่าปี่กลับมาในชุดสีเขียวแบบนักล่าและเริ่มเป่าปี่อีกครั้ง คราวนี้ล่อให้เด็ก 130 คนออกจากเมืองไปพร้อมกับเขาก่อนจะหายเข้าไปในถ้ำและไม่มีใครพบเห็นทั้งหมดอีกเลย
เรื่องราวหลังจากนี้แตกต่างไปตามแต่ละฉบับ ฉบับหนึ่งบรรยายว่ามีเด็กรอดชีวิต 3 คนคือเด็กขาเสีย เด็กหูหนวกและเด็กตาบอด ซึ่งเด็กเหล่านี้เล่าให้ชาวเมืองฟังถึงเรื่องที่เกิดขึ้น[5] ฉบับหนึ่งระบุว่านักเป่าปี่นำเด็กไปยังเนินเขาคอพเพิลแบร์ก[6] ภูเขาคอพเพิลแบร์ก[7] หรือทรานซิลเวเนีย ฉบับหนึ่งเล่าว่านักเป่าปี่พาเด็กลงไปในแม่น้ำเวเซอร์ก่อนจะจมน้ำตายทั้งหมดเหมือนเช่นฝูงหนู บางฉบับกล่าวว่านักเป่าปี่ส่งตัวเด็กกลับบ้านหลังได้รับค่าจ้างในที่สุด[5][8]
ในเมืองฮาเมิลน์มีถนนชื่อ Bungelosenstrasse ("ถนนที่ไร้เสียงกลอง") ซึ่งเชื่อว่าเป็นสถานที่สุดท้ายที่พบเห็นเด็ก หลังจากนั้นเป็นต้นมา มีการห้ามเล่นดนตรีและเต้นรำบนถนนสายนี้[9][10]
เบื้องหลัง
[แก้]หลักฐานแรกของตำนานนักเป่าปี่คือกระจกสีของหน้าต่างโบสถ์ฮาเมิลน์ประมาณปี ค.ศ. 1300 มีการกล่าวถึงกระจกสีนี้ในบันทึกหลายแหล่งในคริสต์ศตวรรษที่ 14–17[11] กระจกสีเสียหายเมื่อโบสถ์ฮาเมิลน์ถูกทำลายในปี ค.ศ. 1660 แต่ภายหลังได้รับการบูรณะขึ้นใหม่[4] บันทึกของเมืองฮาเมิลน์เริ่มต้นด้วยตำนานนักเป่าปี่ โดยข้อความในปี ค.ศ. 1384 ระบุว่า "เป็นเวลา 100 ปีแล้วที่เด็ก ๆ ของพวกเราจากไป"[12][13]
อย่างไรก็ตามการศึกษาตลอดหลายศตวรรษยังไม่มีความเห็นพ้องถึงคำอธิบายที่รองรับตำนานนี้ นอกจากนี้เรื่องราวของหนูถูกแต่งเติมเข้าไปในฉบับ ค.ศ. 1559 และไม่ปรากฏในฉบับก่อนหน้านั้น[14]
ทฤษฎี
[แก้]![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/d/d9/Pied_Piper2.jpg/220px-Pied_Piper2.jpg)
สาเหตุตามธรรมชาติ
[แก้]ทฤษฎีจำนวนหนึ่งเสนอว่าเด็กอาจเสียชีวิตจากสาเหตุตามธรรมชาติอย่างโรคภัยหรือความอดอยาก[15] และนักเป่าปี่เป็นสัญลักษณ์ของความตาย ทฤษฎีนี้ยังเกี่ยวข้องกับระบำมรณะซึ่งเป็นอุปมานิทัศน์ทั่วไปของความตายในสมัยกลาง นอกจากนี้มีการตีความว่าเด็กถูกล่อลวงโดยพวกลัทธินอกศาสนาหรือนอกรีตไปยังป่าใกล้เมืองคอพเพินบรึกก่อนทั้งหมดจากถูกดินถล่มหรือหลุมยุบ[16]
การย้ายถิ่น
[แก้]ทฤษฎีการย้ายถิ่นมาจากแนวคิดประชากรล้นในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13 ส่งผลให้บุตรคนโตต้องแยกออกไปตั้งถิ่นฐานใหม่[17] ว็อล์ฟกัง มีเดอร์เสนอในหนังสือ The Pied Piper: A Handbook ว่ามีหลักฐานว่าผู้คนจากฮาเมิลน์มีส่วนช่วยก่อตั้งบางส่วนของทรานซิลเวเนีย[18] เอมิลี เจราร์ดอธิบายคล้ายกันในรายงาน The Land Beyond the Forest ว่า "แนวคิดที่เป็นที่นิยมของชาวเยอรมันในทรานซิลเวเนียนั้น จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากเด็กที่สูญหายแห่งฮาเมิลน์ ผู้เดินทางไกลไปจนถึงทรานซิลเวเนีย"[19]
ทฤษฎีคล้ายกันนี้ยังปรากฏบนเว็บไซต์ของเมืองฮาเมิลน์ ซึ่งบรรยายว่าเด็ก ๆ แห่งฮาเมิลน์อาจเป็นประชาชนที่ต้องการย้ายถิ่นไปยังโมราเวีย ปรัสเซียตะวันออก พอเมอเรเนียและรัฐอัศวินทิวทัน และสันนิษฐานว่าคำว่า "เด็ก" ในที่นี้มีความหมายเดียวกับ "บุตรแห่งเมืองนั้น" หรือ "ผู้มาจากเมืองนั้น"[20] เออร์ซุลา ซอตเตอร์สนับสนุนทฤษฎีการย้ายถิ่นเช่นกัน โดยอ้างอิงงานของเยือร์เกิน อูดอล์ฟที่เสนอว่าหลังเดนมาร์กพ่ายแพ้ในยุทธการที่บอร์นฮือเวดในปี ค.ศ. 1227 เดนมาร์กได้ถอนตัวจากตอนใต้ของทะเลบอลติก บรรดามุขนายกและขุนนางแห่งพอเมอเรเนีย บรานเดนบวร์ก อุกเคอร์มาร์กและพริกนิตซ์จึงเสนอให้ชาวเยอรมันย้ายเข้ามาอยู่ ซึ่งมีผู้คนจากนีเดอร์ซัคเซินและเวสต์ฟาเลียหลายพันคนเข้ามาอาศัย ทั้งนี้ยังพบชื่อสถานที่แบบเวสต์ฟาเลียปรากฎในพื้นที่นั้น[21]
ความขัดแย้งศาสนาคริสต์–ลัทธินอกศาสนา
[แก้]มีข้อสังเกตถึงรายงานท้องถิ่นทั้งหมดที่ระบุวันเกิดเหตุเป็นวันที่ 26 มิถุนายน ซึ่งตรงกับการฉลองวันกลางฤดูร้อนของลัทธินอกศาสนา การที่เด็กถูกพาตัวไปยังคอพเพินหรือเนิน ซึ่งธรรมเนียมท้องถิ่นบางแห่งในเยอรมนีมีการฉลองวันกลางฤดูร้อนด้วยการก่อกองไฟบนเนินเขา นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่าเชมันลัทธินอกศาสนาอาจลวงเด็กไปทำพิธีฉลองวันกลางฤดูร้อนก่อนจะเกิดเรื่องร้าย[22]
อื่น ๆ
[แก้]บางทฤษฎีเชื่อมโยงการหายตัวไปของเด็กเข้ากับอุปาทานหมู่อย่างโรคชอบเต้น ทั้งนี้มีการระบาดของโรคชอบเต้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1237 เมื่อกลุ่มเด็กขนาดใหญ่เดินทางจากเมืองแอร์ฟวร์ทไปยังอาร์นชตัทโดยกระโดดโลดเต้นไปตลอดทาง[23] เหตุการณ์นี้มีความคล้ายคลึงกับตำนานนักเป่าปี่ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน[24]
บางส่วนเสนอว่าเด็กอาจเดินทางออกจากเมืองฮาเมิลน์เพื่อจาริกแสวงบุญ ทำสงครามหรือแม้แต่เป็นสงครามครูเสดเด็กครั้งใหม่แต่ไม่ได้กลับมาอีกเลย ชาวเมืองจึงอาจสร้างตำนานนักเป่าปี่ขึ้นเพื่อปกปิดความจริงจากศาสนจักรหรือผู้ปกครอง[25]
วิลเลียม แมนเชสเตอร์เสนอในหนังสือ A World Lit Only by Fire ว่าตำนานนี้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1484 และตั้งข้อสังเกตว่านักเป่าปี่อาจเป็นโรคใคร่เด็ก[26]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Hanif, Anees (3 January 2015). "Was the Pied Piper of Hamelin real?". ARY News. สืบค้นเมื่อ 6 June 2015.
- ↑ "Pied piper – Definition and More from the Free Merriam-Webster Dictionary". Merriam-webster.com. สืบค้นเมื่อ 7 December 2011.
- ↑ "Deutungsansätze zur Sage: Ein Funken Wahrheit mit einer Prise Phantasie". Stadt Hameln (ภาษาเยอรมัน). สืบค้นเมื่อ 29 December 2017.
- ↑ 4.0 4.1 "Kirchenfenster". Marktkirche St. Nicolai Hameln (ภาษาเยอรมัน). สืบค้นเมื่อ 29 December 2017.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 Ashliman, D. L. (บ.ก.). "The Pied Piper of Hameln and related legends from other towns". University of Pittsburgh. สืบค้นเมื่อ 29 December 2017.
- ↑
Chisholm, Hugh, บ.ก. (1911). . สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 12 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. p. 876.
- ↑ Wallechinsky, David; Wallace, Irving (1975–1981). "True Story The Pied Piper of Hamelin Never Piped". The People's Almanac. Trivia-Library.Com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-05. สืบค้นเมื่อ 4 September 2008.
- ↑ "Die wohl weltweit bekannteste Version". Stadt Hameln (ภาษาเยอรมัน). สืบค้นเมื่อ 29 December 2017.
- ↑ Cuervo, Maria J. Pérez (19 February 2019). "The Lost Children of Hamelin". The Daily Grail. สืบค้นเมื่อ 1 April 2019.
- ↑ Pearson, Lizz (18 February 2005). "On the trail of the real Pied Piper". BBC. สืบค้นเมื่อ 1 April 2019.
- ↑ Reader's Digest (2003). Reader's Digest the Truth about History: How New Evidence is Transforming the Story of the Past. Reader's Digest Association. p. 294. ISBN 978-0-7621-0523-6.
- ↑ Kadushin, Raphael. "The grim truth behind the Pied Piper". www.bbc.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-09-03.
- ↑ Asher, Jay; Freeburg, Jessica (2017). Piper. New York: Razorbill. ISBN 978-0448493688.
Researching earliest mentions of the Piper, we found sources quoting the first words in Hameln's town records, written in the Chronica ecclesiae Hamelensis of AD 1384: 'It is 100 years since our children left.'
- ↑ "Der Rattenfänger von Hameln". Museum Hameln (ภาษาเยอรมัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-07. สืบค้นเมื่อ 29 December 2017.
- ↑ Wolfers, D. (April 1965). "A Plaguey Piper". The Lancet. 285 (7388): 756–757. doi:10.1016/S0140-6736(65)92112-4. PMID 14255255.
- ↑ Hüsam, Gernot (1990). Der Koppen-Berg der Rattenfängersage von Hameln [The Koppen hill of Pied Piper of Hamelin legend]. Coppenbrügge Museum Society.
- ↑ Borsch, Stuart J (2005). The Black Death in Egypt and England: A Comparative Study. University of Texas Press. p. 57. ISBN 0-292-70617-0..
- ↑ Mieder, Wolfgang (2007). The Pied Piper: A Handbook. Greenwood Press. p. 67. ISBN 978-0-313-33464-1.
- ↑ Gerard, Emily (1888). The Land Beyond the Forest: Facts, Figures, and Fancies from Transylvania. Harper & Brothers. p. 30.
- ↑ "The Legend of the Pied Piper". Rattenfängerstadt Hameln. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 July 2011. สืบค้นเมื่อ 3 September 2008.
- ↑ Sautter, Ursula (27 April 1998). "Fairy Tale Ending". Time International. p. 58.
- ↑ Kadushin, Raphael (3 September 2020). "The grim truth behind the Pied Piper". www.bbc.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-02-16.
- ↑ Marks, Robert W. (2005). The Story of Hypnotism. Kessinger Publishing. ISBN 978-1-4191-5424-9.
- ↑ Schullian, D. M. (1977). "The Dancing Pilgrims at Muelebeek". Journal of the History of Medicine and Allied Sciences. Oxford University Press. 32 (3): 315–9. doi:10.1093/jhmas/xxxii.3.315. PMID 326865.
- ↑ Bučková, Tamara. "Wie liest man ein Buch, ein Theaterstück oder einen Film?! Rattenfäger von Hameln 'Nur' eine Sage aus der Vergangenheit?" (PDF) (ภาษาเยอรมัน). สืบค้นเมื่อ 29 December 2017.
- ↑ Manchester, William (2009). A World Lit Only by Fire: The Medieval Mind and the Renaissance – Portrait of an Age. Little, Brown. p. 63. ISBN 978-0-316-08279-2.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ นักเป่าปี่แห่งฮาเมิลน์
วิกิซอร์ซมีงานที่เกี่ยวข้องกับ นักเป่าปี่แห่งฮาเมิลน์
- McGrath, Jane. "Was there really a pied piper of Hamelin? - History". HowStuffWorks.