งานกระจกสี
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
งานกระจกสี (อังกฤษ: Stained glass) คำว่า งานกระจกสี หมายถึงงานที่ใช้กระจกสีตกแต่งหรืองานการทำกระจกสี ซึ่งไม่แต่เฉพาะแต่หน้าต่างเท่านั้น ยังรวมถึงศิลปะอื่น ๆ ที่ใช้กระจกสีตกแต่งด้วยเช่น บานกระจกที่ทำเพื่อการตกแต่งโดยเฉพาะ หรือโคมตะเกียงเป็นต้น ตลอดระยะพันปีการตกแต่งด้วยกระจกสีจะหมายถึงหน้าต่างประดับกระจกสีของวัด หรือ มหาวิหารทางคริสต์ศาสนา หรือสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ การตกแต่งด้วยกระจกสีสมัยเดิมจะแต่งบนแผงแบนสำหรับใช้ทำหน้าต่าง แต่วิธีการตกแต่งด้วยกระจกสีสมัยปัจจุบันจะรวมไปถึงโครงสร้างกระจกสีแบบสามมิติและงานแกะสลักกระจกสีด้วย และจะรวมไปถึงบานกระจกสีสำหรับที่อยู่อาศัยที่เรียกกันว่า “leadlight” ด้วย หรืองานศิลปะที่ทำจากกระจกสีและเชื่อมต่อกันด้วยตะกั่วอย่างเช่น โคมกระจกสีที่มีชื่อเสียงที่ทำโดย หลุยส์ คอมฟอร์ท ทิฟฟานี (Louis Comfort Tiffany)
เมื่อพูดถึงวัสดุคำว่า “กระจกสี” โดยทั่วไปจะหมายถึงแก้วที่ทำให้เป็นสีโดยการเติม Metallic salts ระหว่างการผลิต ช่างจะใช้กระจกสีในการสร้าง “หน้าต่างประดับกระจกสี” โดยการเอากระจกสีชิ้นเล็กๆ มาจัดให้เป็นลวดลายหรือภาพภายในกรอบโดยเชื่อมชิ้นกระจกด้วยกันด้วยเส้นตะกั่ว เมื่อเสร็จแล้วก็อาจจะทาสีและย้อมสีเหลืองตกแต่งอีกเล็กน้อยเพื่อให้ลวดลายเด่นขึ้น นอกจากนั้นคำว่า “กระจกย้อมสี” (Stained glass) จะหมายถึงหน้าต่างกระจกที่วาดทาสีเสร็จแล้วเผาในเตาหลอมก่อนที่จะทิ้งไว้ให้เย็น
“งานกระจกสี” เป็นงานฝีมือที่ศิลปินต้องมีพรสวรรค์ทางศิลปะเพื่อที่จะออกแบบได้ และต้องมีความรู้ทางวิศวกรรมเพี่อที่สามารถประกอบบานกระจกที่ทำใว้ให้แน่นหนาภายในกรอบสิ่งก่อสร้าง โดยเฉพาะกระจกบานใหญ่ ๆ ที่จะต้องรับน้ำหนักของตัวบานกระจกเองและสามารถทนทานต่อสภาวะอากาศภายนอกได้ หน้าต่างบานใหญ่เหล่านี้ยังอยู่รอดมาให้เราชมบ้างตั้งแต่สมัยยุคกลางโดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ในยุโรปตะวันตกหน้าต่างประดับกระจกสีเป็นจักษุศิลป์ชนิดเดียวที่เหลือมาตั้งแต่ยุคกลาง จุดประสงค์ของหน้าต่างประดับกระจกสีมิใช่ให้ผู้ดูมองออกไปดูโลกภายนอกหรือให้แสงส่องเข้ามาในสิ่งก่อสร้างแต่จะควบคุมผู้อยู่ภายใน จากเหตุผลนี้หน้าต่างประดับกระจกสีจึงอาจจะเรียกได่ว่าเป็น “การตกแต่งผนังส่องแสง” (“illuminated wall decorations”) มากกว่าจะเป็นหน้าต่างอย่างตามความหมายทั่วไปของหน้าต่างที่ใช้มองออกสู่ภายนอก
การออกแบบหน้าต่างวัดอาจจะเป็นได้ทั้งอุปมาอุปไมยหรือไม่ก็ได้ หน้าต่างอาจจะเป็นตำนานจากคัมภีร์ไบเบิล ประวัติศาสตร์ หรือ วรรณคดี หรือ ชีวิตของนักบุญ หรือผู้อุปการะวัด หรืออาจจะเป็นลวดลายสัญลักษณ์ เช่นตราประจำตระกูล การตกแต่งภายในสิ่งก่อสร้างหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องราวในหัวข้อเดียวกันเช่นถ้าเป็นวัดก็อาจจะเป็นเรื่องราวชีวประวัติของพระเยซู หรือนักบุญ หรือผู้สร้างวัด ถ้าเป็นภายในวิทยาลัยกระจกอาจจะมีสัญลักษณ์สำหรับศิลปะหรือวิทยาศาสตร์ หรือภายในบ้านอาจจะเป็นลวดลายแบบใดแบบหนึ่งที่เจ้าของเลือก
การสร้างและการประกอบ
[แก้]การทำสีกระจก
[แก้]จากคริสต์ศตวรรษที่ 10 หรือ 11 เมื่อศิลปะการประดับกระจกสีเริ่มรุ่งเรืองก็เริ่มมีโรงงานผลิตกระจกขึ้นตามแหล่งที่มีทรายแก้ว (Silica) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำกระจก แก้วทำเป็นสีโดยการเติม metallic oxide ในขณะที่แก้วในเบ้าที่ทำด้วยดินเหนียวยังเหลวอยู่ แก้วสีที่ทำโดยวิธีนี้จึงเรียกว่า “แก้วเบ้าโลหะ” (pot metal) ถ้าจะให้แก้วออกสีเขียวก็เติมออกไซด์ทองแดง ให้ได้สีน้ำเงินก็เติมโคบอลต์ และให้ได้สีแดงก็เติมทอง ในปัจจุบันสีเขียวและน้ำเงินใช้วิธีทำคล้ายกัน สีแดงก็ทำจากส่วนผสมสมัยใหม่ ทองจะใช้ทำเฉพาะสีแดงออกไปทางชมภูกว่าสมัยโบราณ
การทำแก้วชนิดต่าง ๆ
[แก้]“แก้วหลอด” (Cylinder glass) แก้วหลอดทำจากแก้วเหลวที่ทำเป็นลูกกลม ๆ แล้วเป่าจนกระทั่งเป็นหลอดกลวงเหมือนขวด เรียบและหนาเท่ากัน พอได้ที่ก็ตัดออกจากท่อเป่า แผ่ออกไปให้แบน แล้วรอให้เย็นลงเพื่อความทนทาน แก้วชนิดนี้เป็นแก้วชนิดที่ใช้ประดับหน้าต่างกระจกสีที่เราเห็นกันทุกวันนี้
“แก้วมงกุฏ” (Crown glass) แก้วชนิดนี้จะเป่าเป็นทรงถ้วยแล้ววางบนโต๊ะหมุนที่สามารถหมุนได้เร็ว แรงเหวี่ยงของการหมุนทำให้แก้วแผ่ยืดออกไป จากนั้นก็เอาตัดเป็นแผ่นเล็ก ๆ ได้ แก้วชนิดนี้ใช้ในการประดับหน้าต่างกระจกสี แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้แต่งกรอบเล็ก ๆ ภายในหน้าต่างของที่อยู่อาศัยในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17 ลักษณะของกระจกแบบนี้จะเป็นระลอกจากศูนย์กลาง เพราะตรงกลางกระจกจะได้แรงเหวี่ยงน้อยที่สุดทำให้หนากว่าส่วนอื่น ชิ้นกลางนี้จะใช้สำหรับสเปชเชียลเอฟเฟกต์เพราะความขรุขระของพื้นผิวทำให้สะท้อนแสงได้มากกว่าชิ้นอื่น กระจกชิ้นนี้เรียกว่า “กระจกตาวัว” [1] (bull's eye) มักจะใช้กันสำหรับที่อยู่อาศัยในศตวรรษที่ 19 และบางครั้งก็จะใช้ในวัดด้วย
“แก้วโต๊ะ” (Table glass) ผลิตโดยการเทแก้วเหลวลงบนโต๊ะโลหะแล้วกลึงด้วยท่อนโลหะที่เป็นลวดลาย ลายจากท่อนโลหะก็จะฝังบนผิวกระจก แก้วแบบนี้จึงมีแบบมีผิว (texture) หนักเพราะการที่แก้วมีปฏิกิริยาต่อโลหะเย็น แก้วชนิดนี้เป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบันภายในสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้างทางศาสนาในชื่อที่เรียกกันว่า “cathedral glass” ถึงแม้จะไม่ใช่แก้วที่ใช้ในการสร้างมหาวิหารในสมัยโบราณแต่มาใช้กันมากในการสร้างวัดในศตวรรษที่ 20
“แก้วเคลือบ” (Flashed glass) แก้วสีแดงที่ทำจากเบ้าโลหะที่กล่าวข้างต้นสีแดงมักจะออกมาไม่ได้อย่างที่ต้องการจะออกไปทางดำ และราคาการผลิตก็สูงมาก วิธีใหม่ที่ใช้ทำสีแดงเรียกว่า “flashing” ทำโดยเอา “แก้วหลอด” ใสที่ไม่มีสีที่กึ่งเหลวจุ่มลงไปใหนเบ้าแก้วแดงแล้วยกขึ้น แก้วแดงก็จะเกาะบนผิวแก้วใสที่ไม่มีสีบาง ๆ พอเสร็จก็ตัดออกจากที่เป่า แล้วแผ่ให้แบนและปล่อยไว้ให้เย็น
วิธีการเคลือบนี้มีประโยชน์หลายอย่างเพราะทำให้สามารถทำสีแดงได้หลายโทนตั้งแต่แดงคล้ำจนเกือบใส แต่ส่วนใหญ่จะใช้สีแดงทับทิมจนถึงสีแดงจางหรือแดงเป็นริ้วในการทำขอบบาง ๆ ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งคือเมื่อแก้วสีแดงเป็นสองชั้นก็สามารถสกัดผิวสีแดงออกเพื่อให้แสงส่องผ่านส่วนที่ใสที่อยู่ภายใต้ได้ เมื่อปลายสมัยปลายยุคกลางวิธีนี้ใช้ในการตกแต่งลวดลายที่วิจิตรของเสื้อคลุมของนักบุญ ประโยชน์อย่างที่สามซึ่งใช้กันมากในบรรดาศิลปินเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 โดยแผ่นกระจกจะสะท้อนออกมาเป็นสีที่ไม่เสมอกันจึงเหมาะแก่การการตกแต่งเสื้อคลุมหรือม่าน
การผลิตกระจกสีในสมัยปัจจุบัน
[แก้]ปัจจุบันยังมีโรงงานที่ผลิตกระจกสีโดยเฉพาะที่ ประเทศเยอรมนี, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ประเทศฝรั่งเศส และ ประเทศโปแลนด์ ที่ยังผลิตกระจกสีลักษณะแบบดั้งเดิมโดยใช้วิธีการทำแบบสมัยโบราณ กระจกสีที่ผลิตโดยวิธีนี้ส่วนใหญ่จะใช้ในงานปฏิสังขรณ์หน้าต่างกระจกสีที่สร้างก่อนปี ค.ศ. 1920 หน้าต่างกระจกสีสมัยใหม่ และงานหัตถกรรม หลังจากนั้นมักจะใช้แก้วหลายแบบโดยเฉพาะสมัยวิคตอเรีย
ขั้นตอนในการทำหน้าต่างประดับกระจกสี
[แก้]-
หน้าต่างจากคริสต์ศตวรรษที่ 12 ที่ มหาวิหารแคนเตอร์บรี ที่เพิ่งซ่อมด้วยกระจกจากต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 แสดงรายละเอียดของกรอบโลหะที่พยุงกรอบหน้าต่าง
-
รายละเอียดหน้าต่างเดียวกันจากคริสต์ศตวรรษที่ 13 แสดงให้เห็นทอมัส เบ็คเค็ท (Thomas Becket)
-
หน้าต่างจากมหาวิหารแคนเตอร์บรีแสดงให้เห็น เบ้าโลหะ แก้วสี ชิ้นตะกั่วรูป H ท่อนเหล็กกล้าสมัยใหม่ และ ลวดทองแดงที่ใช้ผูก
-
หน้าต่างกระจกจาก ค.ศ. 1564 แสดงให้เห็นรายละเอียดการวาดรูปโดยใช้วิธีย้อมสีเงิน ย้อมแบบ “Cousin's rose” บนใบหน้า และการใช้สกัดสีแดงให้เห็นสีใสภายใต้
-
การวางหน้าต่างเป็นเรื่องเป็นราว เช่น บานกระจก ที่วัดเซนต์แมรีที่หมู่บ้านแฟร์ฟอร์ด
- ขั้นแรกผู้สร้างจะต้องมีแม่แบบหน้าต่างที่ออกแบบโดยสถาปนิก แม่แบบจะต้องพอเหมาะพอดีกับหน้าต่างที่เมื่อประกอบกระจกเสร็จจะกลับไปประกอบบนตัวหน้าต่างได้สนิท
- หัวเรื่องที่จะทำก็ต้องให้เหมาะกับที่ตั้งหรือตำแหน่งของหน้าต่างภายในสิ่งก่อสร้าง เช่น หน้าต่างทางด้านตะวันตกจะเป็นหน้าต่างที่สำคัญที่สุดเพราะอยู่หน้าวัด หรือหน้าต่างอาจจะเพิ่มความสำคัญจากด้านตะวันตกไปตะวันออกซึ่งเป็นที่ตั้งแท่นบูชาเอกเป็นต้น หรือความสัมพันธ์กับหน้าต่างอื่น ๆ ภายในสถานที่ก่อสร้างเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นทางเนื้อหาหรือรูปทรง ช่างจะวาดแบบคร่าว ๆ ที่เรียกว่า “Vidimus” ให้ผู้ประสงค์จะสร้างดูเป็นตัวอย่างก่อนที่จะลงมือทำจริง ๆ
- แต่เดิมหน้าต่างที่เป็นเรื่องราวเป็นราวจะแบ่งเป็นบานหรือแผ่นเล็ก ๆ ที่เป็นเรื่องราวต่อเนื่องกัน หน้าต่างที่เป็นรูปคนก็จะเป็นรูปนักบุญหรือคนสำคัญยืนเป็นแถวมีสัญลักษณ์ประจำตัวประกอบเช่นกระจกรูปนักบุญแม็ทธิวอีแวนเจลลิสก็จะมีรูปเทวดาซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของนักบุญแม็ทธิวอยู่ข้าง ๆ บางครั้งบานกระจกก็จะมีคำบรรยายใต้ภาพ หรือชื่อขององค์การหรือผู้ที่อุทิศให้ หรือชื่อของผู้อุทิศทรัพย์ให้สร้าง ในการทำหน้าต่างแบบโบราณ การตกแต่งเนื้อที่นอกจากบริเวณที่กล่าวแล้ว เช่นกรอบรอบเรื่องราวหรือหุ่น หรือซุ้มเหนือหุ่น หรือรายละเอียดอื่น ๆ ก็จะขึ้นอยู่กับศิลปิน
- จากนั้นช่างก็จะร่างภาพขนาดเท่าของจริงของทุกส่วนของหน้าต่าง ความซับซ้อนของภาพร่างก็จะขึ้นอยู่กับลวดลายของหน้าต่าง ถ้าเป็นหน้าต่างวัดเล็ก ๆ หน้าต่างหนึ่งก็อาจจะมีเพียงสองสามช่องแต่ถ้าเป็นหน้าต่างมหาวิหารก็อาจจะมีถึงเจ็ดช่องและซ้อนกันสามชั้นหรือมากกว่า และลวดลายหน้าต่างก็จะมีมากกว่าวัดเล็ก ในสมัยยุคกลางภาพร่างนี้จะวาดโดยตรงลงบนโต๊ะที่ฉาบปูนบาง ๆ เอาไว้ ซึ่งใช้ในการตัด ทาสี และประกอบ
- เวลาออกแบบช่างออกแบบต้องคำนึงถึงโครงสร้างของหน้าต่าง ลักษณะและขนาดของกระจก และวิธีทำของตนเอง ภาพร่างแบ่งเป็นส่วน ๆ สำหรับกระจกแต่ละชิ้น ช่างออกแบบจะวางตำแหน่งชิ้นตะกั่วที่ใช้เชื่อมแก้วแต่ละชิ้นเข้าด้วยกันเพื่อให้ผลออกมาดีที่สุด
- ตัดแก้วตามขนาดที่บ่งไว้ในร่าง ช่างก็จะเลือกสีที่ต้องการ การตัดให้ได้ขนาดที่ต้องการหรือใกล้เคียงแล้วเจียรขอบทีละนิดด้วยเครื่องมือจนได้ขนาดที่ต้องการ
- รายละเอียดหน้า ผม และมือจะใช้วิธีวาดและทาสีใต้ผิวกระจกโดยใช้สีที่มีส่วนผสมพิเศษเช่นผงตะกั่วหรือผงทองแดง ผงแก้วละเอียด gum arabic กับส่วนผสมอื่นที่อาจจะเป็น เหล้าองุ่น น้ำส้มสายชู หรือปัสสาวะ ศิลปะการวาดและทาสีเพิ่มความสลับซับซ้อนขึ้นมากเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20
- เมื่อได้ชิ้นกระจกตามขนาดที่ต้องการและส่วนที่ต้องวาดแล้วก็ถึงเวลาประกอบเข้าด้วยกันโดยใส่ลงในช่องระหว่างชิ้นตะกั่วรูป “H” แล้วจึงเชื่อมเข้าด้วยกัน จากนั้นก็อัดด้วยซีเมนต์ที่นิ่มเป็นน้ำมัน หรือ “กาว” ระหว่างตะกั่วกับชิ้นแก้วเพื่อให้ยึดชิ้นแก้วให้แน่นไม่ให้เคลื่อนไหวได้
- เมื่อประดับแต่ละส่วนเสร็จก็นำเข้ากรอบ ตามปกติแล้วเวลาประกอบหน้าต่างในกรอบ ช่างก็จะใส่ท่อนเหล็กเป็นระยะ ๆ แล้วผูกบานกระจกกับท่อนเหล็กที่วางไว้ด้วยลวดทองแดง เพื่อจะรับน้ำหนักหน้าต่างได้ หน้าต่างแบบกอธิคจะแบ่งเป็นช่อง ๆ ด้วยกรอบโลหะที่เรียกว่า “ferramenta” วิธีเดียวกันนี้นำมาใช้ในการประกอบหน้าต่างประดับกระจกสีขนาดใหญ่ในสมัยบาโรกด้วย
- ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1300 เป็นต้นมาก็เริ่มมีการใช้การย้อมสีเงิน (silver stain) ซึ่งทำจาก ซิลเวอร์ไนเตรท ทำให้ได้ตั้งแต่สีเหลืองมะนาวอ่อนไปจนถึงสีส้มแก่ การย้อมก็ทำโดยการทาบนผิวกระจกและเผาเพื่อให้ติดเนื้อกระจกและไม่ให้หลุด สีเหลืองนี้มีประโยชน์ในการทำขอบรูป ซุ้มในรูปหรือรัศมีหรือเปลี่ยนกระจกสีน้ำเงินให้เป็นเขียวเพื่อใช้ในการทำส่วนที่เป็นสนามหญ้าในรูป
- ประมาณปี ค.ศ. 1450 ก็มีเริ่มมีการเย้อมแบบที่เรียกว่า “Cousin's rose” ซึ่งทำให้สีผิวหนังสดขึ้น
- ราวปี ค.ศ. 1501 มีการย้อมแบบใหม่หลายวิธี ส่วนใหญ่ใช้ผงแก้วสีป่นเป็น enamel ตอนแรกวิธีนี้จะใช้ในการทำตราประจำตระกูลหรือตราประจำตัว หรือรายละเอียดเล็ก ๆ แต่พอมาถึงราวปี ค.ศ. 1600 การตัดกระจกเป็นชิ้น ๆ ก็วิวัฒนาการขึ้นมาก แทนที่จะตัดกระจกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ช่างก็จะวาดรูปลงบนแผ่นกระจกคล้ายแผ่นกระเบื้องแล้วเผาให้สีติดกระจกแล้วจึงเอาไปประกอบในกรอบโลหะ
- การทำหน้าต่างประดับกระจกสีสมัยใหม่จะใช้ทองแดงแทนตะกั่ว
ประวัติงานกระจกสี
[แก้]งานกระจกสีก่อนยุคกลาง
[แก้]-
แก้วน้ำหอมจากประมาณ 100 ก่อนคริสตกาลถึง ค.ศ. 200
-
แจกันพอร์ตแลนด์ที่มีขลิบขาว
-
หน้าต่างประดับกระจกสีจากสุเหร่า Nasir al-Mulk ที่ชิราส (Shiraz) ประเทศอิหร่าน
การทำกระจกสีทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณทั้งที่ ประเทศอียิปต์ และ โรมันซึ่งผลิตสิ่งของทำด้วยแก้วที่ชิ้นไม่ใหญ่นัก บริติชมิวเซียม มีกระจกสำคัญจากสมัยโรมันสองชิ้น ชิ้นหนึ่งเรียกว่าถ้วย “Lycurgus” ซึ่งเป็นสีเหลืองมัสตาร์ดขุ่น ๆ แต่จะออกสีม่วงแดงเมื่อถูกแสง และ แจกันพอร์ตแลนด์ (Portland vase) ซึ่งเป็นสีน้ำเงินดำและมีสลักขาวบนผิวแก้ว
ในวัดคริสต์ศาสนาสมัยแรก ๆ จากคริสต์ศตวรรษที่ 4 และ 5 มีหน้าต่างที่ใช้ตกแต่งด้วยแผ่นหินปูนอาลาบาสเตอร์ (alabaster) บาง ๆ บนกรอบไม้ ลักษณะจะคล้ายกระจกที่มีแบบหน้าต่างประดับกระจกสี แต่ที่คล้ายคลึงกับการทำหน้าต่างประดับกระจกสีมากกว่าคือหน้าต่างที่ทำจากหินและใช้แก้วสีของศิลปะอิสลาม จาก เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 นักเคมีชาวอาหรับชื่อ Jabir ibn Hayyan หรือ เจเบอร์ (Geber) บรรยายสูตรการทำกระจกสีไว้ 46 สูตรในหนังสือชื่อ “หนังสือเกี่ยวกับมุกมีค่า” (“Kitab al-Durra al-Maknuna” หรือ “The Book of the Hidden Pearl”) หนังสือฉบับต่อมาเพิ่มอีก 12 สูตรโดย al-Marrakishi จาเบียร์บรรยายถึงวิธีผลิตกระจกสีคุณภาพดีพอที่จะตัดเป็นอัญมณีได้[1]
งานกระจกสียุคกลาง
[แก้]-
“แดเนียล” ที่มหาวิหารออกสเบิร์ก (Augsburg Cathedral) ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12
-
หน้าต่างคริสต์ศตวรรษที่ 13 ที่มหาวิหารชาร์ทร
-
หน้าต่าง “พระคัมภีร์คนยาก” ที่ มหาวิหารแคนเตอร์บรี, 13th c.
-
หน้าต่างกุหลาบคริสต์ศตวรรษที่ 15 ที่แซนท์ชาเปล
-
หน้าต่างที่แบ่งเป็นช่อง ๆ ด้วยลวดลายซึ่งช่วยทำให้การทำหน้าประดับกระจกสีง่ายขึ้น ที่มหาวิหารคอนแสตนซ์ (Cathedral of Konstanz)
งานกระจกสีกลายมาเป็นศิลปะเต็มตัวและรุ่งเรืองที่สุดในยุคกลางเมื่อมาใช้เป็นทัศนศิลป์เพื่อเล่าเรื่องจากพระคัมภีร์ไบเบิลสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ที่อ่านหนังสือไม่ออก
ตั้งแต่ประมาณ 950 ก่อนคริสต์ศตวรรษ จนถึงสมัยโรมาเนสก์และสมัยกอธิคยุคแรก ประมาณปี ค.ศ. 1240 หน้าต่างยังมิได้แบ่งเป็นช่อง ๆ เมื่อสร้างกระจกก็ต้องสร้างทั้งบานในกรอบเหล็กจึงทำให้ต้องประกอบไม่มีส่วนใดของหน้าต่างที่ช่วยแบ่งแรงกดดัน เช่น ที่มหาวิหารชาร์ทร (Chartres Cathedral) หรือทางตะวันออกของมหาวิหารแคนเตอร์บรี เมื่อสถาปัตยกรรมกอธิควิวัฒนาการขึ้นหน้าต่างก็กว้างมาขึ้นทำให้มีแสงส่องเข้ามาในสิ่งก่อสร้างมากขึ้น เมื่อหน้าต่างกว้างขึ้นก็มีการแบ่งเป็นช่อง ๆ ด้วยแกนหิน [2] (Stone tracery) เมื่อมีแกนหินแบ่งทำให้ช่องตกแต่งภายในหน้าต่างหนึ่ง ๆ เล็กลงทำให้การทำหน้าต่างมีความซับซ้อนได้มากขึ้นตามลำดับ และขนาดของบานหน้าต่างทั้งบานก็ใหญ่ขึ้นไปอีกจนมาเจริญเต็มที่ในสมัยที่เรียกว่ากอธิควิจิตร (Flamboyant gothic) ซึ่งมีอิทธิพลมาจากสมัยกอธิคเพอร์เพนดิคิวลาร์ (Perpendicular) ของอังกฤษ ที่เน้นเส้นดิ่ง ซึ่งจะเห็นได้จากงานหน้าต่างกระจกรอบมหาวิหารกลอสเตอร์
เมื่อการใช้ความสูงในสมัยกอธิคทำได้ดีขึ้นในวัดและมหาวิหารก็มีการพยายามทำให้ดีกว่าเดิม จากหน้าต่างสี่เหลี่ยมมียอดโค้งแหลมมาเป็นหน้าต่างกลมที่เรียกว่า “หน้าต่างกุหลาบ” (rose window) ซึ่งเริ่มทำกันที่ประเทศฝรั่งเศส จากทรงง่าย ๆ ที่เจาะผนังหินบาง ๆ มาจนเป็นหน้าต่างล้อที่มีแกนซึ่งจะเห็นได้จากหน้าต่างกุหลาบที่มหาวิหารชาร์ทร และที่เพิ่มความสลับซับซ้อนขึ้นอีกมากที่แซนท์ชาเปล (Sainte-Chapelle) ที่ปารีส หรือหน้าต่าง “ตาบาทหลวง” (Bishop's Eye) ที่มหาวิหารลิงคอล์น
การทำลายและการสร้างใหม่
[แก้]ระหว่าง การปฏิรูปศาสนาที่ประเทศอังกฤษในระหว่างที่มีการการยุบอารามภายใต้การนำของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 และในสมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6พระราชโอรส เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 16 หน้าต่างประดับกระจกสีถูกทุบทำลายไปมากและสร้างแทนที่ด้วยกระจกใสเกลี้ยงธรรมดา และต่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ระหว่างสงครามกลางเมืองอังกฤษ ที่นำโดยโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ครอมเวลล์ต่อต้านลัทธิประติมานิยมหรือศิลปะนิยม (การใช้รูปปั้นหรือเครื่องตกแต่งเป็นสิ่งสักการะ) และสนับสนุนลัทธิการเข้าถึงศาสตาโดยจิตนิยมแทนที่ ผู้เชื่อถือในปรัชญานี้จึงทำลายรูปสัญลักษณ์และสิ่งของอื่น ๆ ที่ถือว่าไม่ควรจะมีอยู่ในวัดรวมทั้งหน้าต่างกระจกไปเป็นอันมาก ที่เหลืออยู่ที่ฝีมือดี ๆ ก็ไม่มากเช่นที่คฤหาสน์เฮ็นเกรฟฮอลในซัฟโฟล์ค การทำลายครั้งหลังนี้ทำให้ศิลปะการตกแต่งด้วยกระจกสีเสื่อมลงจนกระทั่งมาฟื้นฟูกันใหม่เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19
แต่ในขณะเดียวกันในผืนแผ่นดินใหญ่ยุโรปถึงแม้ว่านิกายโปรเตสแตนต์จะเริ่มเป็นที่นิยมและมีการทำลายศิลปะทางศาสนาเช่นเดียวกับอังกฤษ แต่การตกแต่งกระจกสียังคงทำกันอยู่ในลักษณะแบบคลาสสิก ซึ่งจะเห็นได้จากงานที่ ประเทศเยอรมนี, ประเทศเบลเยียม และ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในสมัยนี้การผลิตกระจกสีที่ประเทศฝรั่งเศสทำมาจากโรงงานที่เมืองลีมอชส์ และ เมืองมูราโน (Murano) ที่ประเทศอิตาลี แต่ในที่สุดการตกแต่งกระจกสีก็มาสิ้นสุดลงเอาระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศสทั้งจากการบ่อนทำลายและการละเลย
-
หน้าต่างหลังการการปฏิรูปศาสนา ที่มหาวิหารสเปเยอร์ ที่ประเทศเยอรมนี
-
หน้าต่างที่เลซองเดอลีส์ คริสต์ศตวรรษที่ 16 ประเทศฝรั่งเศส นักบุญปีเตอร์ถูกตรึงกางเขน
-
หน้าต่างเซ็นต์นิโคลัสที่เมืองเก้นท์ คริสต์ศตวรรษที่ 16 ประเทศเบลเยียม
-
หน้าต่างมหาวิหารโคโลญประเทศเยอรมนี ใช้วิธีระบายสี
-
หน้าต่างมหาวิหารโคโลญ (รายละเอียด)
ยุคศิลปะฟื้นฟู
[แก้]การหันมาสนใจในนิกายโรมันคาทอลิกในประเทศอังกฤษมาริเริ่มอีกครั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งความสนใจส่วนใหญ่จะเป็นความสนใจในวัดแบบยุคกลางโดยเฉพาะวัดแบบกอธิค จึงทำให้มีการสิ่งก่อสร้างที่เลียนแบบที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิค ซึ่งจอห์น รัสคิน ประกาศว่าเป็น “ลักษณะโรมันคาทอลิกแท้” ขบวนการสร้างสถาปัตยกรรมลักษณะนี้นำโดยสถาปนิกออกัสตัส พิวจิน ซึ่งก็ได้มีการสร้างวัดใหม่ขึ้นมากในเมืองใหญ่อันเป็นผลจากการขยายตัวของประชากรอันเป็นสาเหตุมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม และการซ่อมแซมวัดเก่า ๆ ที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม จึงทำให้มีการหันมาสนใจศิลปะการตกแต่งประดับกระจกสีกันขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็มีการก่อตั้งบริษัทสำคัญ ๆ ที่มีชื่อในการทำศิลปะกระจกสีเช่น
บริษัทฮาร์ดแมนแห่งเบอร์มิงแฮม
การทำกระจกสีมีเป็นวิธีการที่ซับซ้อนฉะนั้นจึงเหมาะแก่การทำในระดับการผลิตจึงจะคุ้มทุน บริษัทเช่นฮาร์ดแมน (Hardman & Co.) ที่ เบอร์มิงแฮม และ บริษัทเคลตันและเบล (Clayton and Bell) ที่ ลอนดอน ซึ่งจ้างช่างผู้ชำนาญในงานกระจกสีโดยเฉพาะ งานระยะต้นของฮาร์ดแมนออกแบบโดย ออกัสตัส พิวจิน ใช้ติดตั้งในสิ่งก่อสร้างที่พิวจินสร้าง แต่เมื่อพิวจินเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1852 จอห์น ฮาร์ดแมน พาวเวลผู้เป็นหลานก็ทำกิจการต่อ งานของพาวเวลเป็นที่สนใจของ Cambridge Camden Society ซึ่งเป็นขบวนการที่มีจุดประสงค์ในการศึกษาสถาปัตยกรรมแบบกอธิคและสิ่งของโบราณที่มีค่าทางศาสนา นอกจากนั้นพาวเวลยังมีหัวทางการค้าจึงได้นำผลงานไปแสดงที่ “งานมหกรรมที่ฟิลาเดลเฟีย ค.ศ. 1873” หลังจากออกงานที่ฟิลาเดลเฟียพาวเวลก็ได้รับงานหลายชิ้นในสหรัฐอเมริกา
-
เซ็นต์แอนดรู ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย กระจกสีจากบริษัทฮาร์ดแมน ค.ศ. 1861-ค.ศ. 1867 ลักษณะหรูและแสดงความชำนาญในการวางองค์ประกอบที่บอกเรื่องราว
-
มหาวิหารปีเตอร์เบรอ, บริษัทมอริส ลักษณะออกแบบแบบไม่สมดุลและการใช้สีรองและการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์เป็นลักษณะของวิลเลียม มอร์ริส
-
เซ็นต์แมรีชิลแลม (St Mary's Chilham) โดยวิลเลียม เวลส์ (William Wailes) หน้าต่างนี้เป็นสีอ่อนสดและมีการตกแต่งที่เป็นเอกลักษณ์ของบริษัท
-
มหาวิหารปีเตอร์เบรอ โดยบริษัทเคลตันและเบลเป็นหน้าต่างที่สวยสง่าโครงสร้างและสีที่ทั้งสดใสแต่ไม่ฉูดฉาด
-
หน้าต่างที่วัดเซนต์ปีเตอร์ เบิร์นแนม โดยบริษัทเคลตันและเบล
วิลเลียม มอริส
นักออกแบบกระจกสีในกลุ่ม Pre-Raphaelites ที่มีชื่อเสียงที่สุดเห็นจะเป็น วิลเลียม มอร์ริส และ เอ็ดเวิร์ด เบิร์น-โจนส์ (Edward Burne-Jones) ขณะที่โจนส์มีชื่อเสียงเป็นจิตรกร สติวดิโอของวิลเลียม มอริสมีชื่อในการออกแบบหน้าต่างสำหรับสิ่งก่อสร้างและการตกแต่งภายในรวมทั้งภาพเขียน เฟอร์นิเจอร์ และผ้าตกแต่งภายใน ส่วนหนึ่งของธุรกิจของมอริสคือการตั้งโรงงานผลิตกระจกสีสำหรับงานของตนเองและงานที่เอ็ดเวิร์ด เบิร์น โจนส์ออกแบบ
เคลตันและเบล
เคลตันและเบล (Clayton and Bell) เป็นผู้ผลิตกระจกสีรายใหญ่ ว่ากันว่าวัดในอังกฤษเกือบทุกวัดมีกระจกจากเคลตันและเบลหรือบางวัดจะเป็นของเคลตันและเบลทั้งวัดด้วยซ้ำ ในบรรดาช่างออกแบบของเคลตันและเบล ชาร์ล อีเมอร์ เค็มพ์ เป็นช่างที่มีชื่อเสียงที่สุดที่แยกตัวไปมีโรงงานของตนเองเมื่อปี ค.ศ. 1869 งานออกแบบของเค็มพ์จะมีลักษณะเบากว่างานของเคลตันและเบล เค็มพ์เป็นผู้ออกแบบชาเปลของวิทยาลัยเซลวิน (Selwyn College) ที่เคมบริดจ์ และออกแบบหน้าต่างด้วยกันทั้งหมด 3,000 บาน วอลเตอร์ ทาวเวอร์ผู้เป็นหลานของเค็มพ์ดำเนินกิจการต่อ และเติมหอที่รวงข้าวสาลีที่เป็นสัญลักษณ์ของเค็มพ์และดำเนินกิจการต่อมาจน ค.ศ. 1934
หน้าต่างกระจกประดับสีคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษ 20th
-
งานของอเล็กซานเดอร์ กิบส (Alexander Gibbs) ที่มหาวิหารปีเตอร์เบรอ รูปหน้าจะอ่อนหวานสีเสื้อผ้าจะสดใสเช่นเดียวกับรายละเอียดการตกแต่งอื่น ๆ
-
หน้าต่างโดยบริษัทฮีทัน บัตเลอร์ และ เบนย์ (Heaton, Butler and Bayne) ที่มหาวิหารปีเตอร์เบรอ จะนิยมใช้แก้วเคลือบ และแบบจะเป็นธรรมชาติ
-
หน้าต่างโดยบริษัทเบอร์ลิสันและกริลส์ (Burlison and Grylls) ที่มหาวิหารปีเตอร์เบรอ ใช้ซุ้มทรงวิจิตรสีอ่อน รายละเอียดมาก เสื้อคลุมสีมืด
-
งานชิ้นนี้ (ค.ศ. 1918) เป็นลักษณะที่แท้จริงของงานสมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดซึ่งเน้นรายละเอียดใช้แก้วเคลือบสีแดงและม่วง เครื่องตกแต่งหรูและแสดงให้เห็นฝีมือของช่าง
วอร์ดและฮิวส์ และ วิลเลียม เวลส์
อีกบริษัทหนึ่งที่สำคัญคือวอร์ดและฮิวส์ (Ward and Hughes) แม้จะเริ่มด้วยลักษณะกอธิคแต่เมื่อมาถึงราว ค.ศ. 1870 ก็เริ่มเปลี่ยนโดยได้รับอิทธิพลจากลัทธิสุนทรียนิยม บริษัทนี้ทำกิจการอยู่จนถึงปลายปี ค.ศ. 1920 และอีกคนหนึ่งวิลเลียม เวลส์ (William Wailes) ผู้สร้างหน้าต่างทางตะวันตกของมหาวิหารกลอสเตอร์ วิลเลียม เวลส์เองเป็นนักธุรกิจไม่ใช่นักออกแบบแต่จะใช้ช่างออกแบบเช่นโจเซฟ เบกลีย์ (Joseph Baguley) ผู้ที่ต่อมาออกมาตั้งบริษัทของตนเอง
ทิฟฟานีและลาฟารจ
ช่างกระจกชาวอเมริกันสองคน จอห์น ลาฟารจ (John La Farge) ผู้ประดิษฐ์ “แก้วรุ้ง” (Opalescent glass) ซึ่งเป็นแก้วที่หลายสีซึ่งเกิดจากผสมระหว่างการผลิต ลาฟารจได้รับลิขสิทธิ์ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1880 และหลุยส์ คอมฟอร์ท ทิฟฟานี ผู้ได้รับบลิขสิทธิ์หลายใบจากการใช้ “แก้วรุ้ง” หลาย ๆ วิธี เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน และเชื่อกันว่าเป็นผู้เริ่มใช้ทองแดงแทนตะกั่วในการเชื่อมชิ้นกระจกสี ที่ทิฟฟานีใช้ในการทำหน้าต่าง ตะเกียง และสิ่งตกแต่งอื่น ๆ
-
หน้าต่างโดยหลุยส์ คอมฟอร์ท ค.ศ. 1890
-
“ดอกลเบอร์นัม” ทิฟฟานีใช้การตกแต่งกระจกสีในการทำโคม
คริสต์ศตวรรษที่ 20
[แก้]บริษัทที่ก่อตั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็มาล้มละลายไปมากเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพราะความนิยมในศิลปะแบบกอธิคเสื่อมลง แต่ความนิยมการทำหน้าต่างประดับกระจกสีมารุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากต้องมีการซ่อมแซมหน้าต่างกระจกอย่างมากมายที่ได้รับความเสียหายจากสงคราม ช่างชาวเยอรมันเป็นผู้นำในการฟื้นฟูครั้งหลังนี้ ศิลปินคนสำคัญ ๆ ได้แก่ เออร์วิน บอสซันยี (Ervin Bossanyi), ลุดวิก ชาฟฟราธ (Ludwig Schaffrath), โยฮันส์ ชไรทเตอร์ (Johannes Shreiter), ดักกลาส ชตราคัน (Douglas Strachan), จูดิธ เช็คเตอร์ (Judith Schaechter) และคนอื่น ๆ ที่แปลงศิลปะโบราณให้มาเป็นศิลปะร่วมสมัย ฉะนั้นแม้ว่างานส่วนใหญ่ที่สร้างกันในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จะไม่มีลักษณะที่พิเศษและเป็นผลงานจากการผลิตทางอุตสาหกรรมไม่ใช่งานสร้างสรรค์โดยศิลปิน แต่ก็ยังมีผลงานบางชิ้นที่มีคุณค่าควรแก่การพิจารณาเช่นงานหน้าต่างด้านตะวันตกของมหาวิหารแมนเชสเตอร์ที่อังกฤษโดยโทนี ฮอลลาเวย์ (Hollaway) ซึ่งเป็นงานที่มีฝีมือดีที่สุดชิ้นหนึ่ง
ในประเทศฝรั่งเศสก็มีศิลปินสำคัญ ๆ เช่น ฌอง เรเน บาเซน (Jean René Bazaine) ที่วัดซังเซเวแรง (Saint-Séverin) และเกเบรียล ลัวร์ (Gabriel Loire) ที่ชาร์ทรส์ (Chartres) แก้ว “Gemmail” ซึ่งเริ่มประดิษฐ์โดยฌอง เป็นการวางแก้วสีเหลื่อมกันเพื่อให้ได้สีที่นุ่มนวลขึ้น[2]
-
กระจกที่บัคฟาสทแอบบี (Buckfast Abbey) แคว้นเดวอน อังกฤษกว้าง 8 เมตรออกแบบโดยพระเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 20
-
หน้าต่างที่สถานีมอนทรีออล (Montreal metro) ประเทศแคนาดา โดยมาร์เซล แฟรอง (Marcelle Ferron)
-
Tree of life ที่วัดคริสตีเน (Christinae church) ที่ Alingsås ประเทศสวีเดน
-
ภายในชาเปล Thanks-Giving Square ที่ดัลลัส, เท็กซัส, สหรัฐอเมริกา
สิ่งก่อสร้างที่ประกอบด้วยหน้าต่างประดับกระจกสี
[แก้]มหาวิหารและวัด
หน้าต่างประดับกระจกสีเป็นศิลปะตกแต่งที่นิยมกันในการตกแต่งวัดเพื่อใช้เป็นการทัศนศิลป์ในการสื่อสารเรื่องราวในคริสต์ศาสนา บางหน้าต่างจะอุทิศโดยผู้เป็นสมาชิกของวัดเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้สมาชิกในครอบครัวที่เสียชีวิต ตัวอย่างที่สำคัญ ๆ ก็ได้แก่
- มหาวิหารที่ชาร์ทรส์ (Cathedral of Chartres) ประเทศฝรั่งเศส - คริสต์ศตวรรษที่ 11-13
- มหาวิหารแคนเตอร์บรี อังกฤษ - คริสต์ศตวรรษที่ 12-15 และ คริสต์ศตวรรษที่ 19-20
- มหาวิหารยอร์ค อังกฤษ - คริสต์ศตวรรษที่ 11-15
- แซนท์ชาเปล (Sainte-Chapelle) ปารีส ประเทศฝรั่งเศส - คริสต์ศตวรรษที่ 11-14
- มหาวิหารฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี - คริสต์ศตวรรษที่ 15 ออกแบบโดยอูเชลโล เพาโล อูเซลโล (Paolo Uccello) โดนาเทลโล และลอเร็นโซ กิเบอร์ตึ (Lorenzo Ghiberti)
- มหาวิหารเซ็นต์แอนดรูว์ (St. Andrew's Cathedral) ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย - คริสต์ศตวรรษที่ 19 (บริษัทฮาร์ดแมนแห่งเบอร์มิงแฮม)
- มหาวิหารโคเวนทรี อังกฤษ - กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยช่างออกแบบหลายคน
- วัด Brown Memorial Presbyterian Church - งานส่วนใหญ่ของหลุยส์ คอมฟอร์ท ทิฟฟานี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Ahmad Y Hassan, The Manufacture of Coloured Glass เก็บถาวร 2010-11-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (การผลิตกระจกสี) และ Assessment of Kitab al-Durra al-Maknuna (การวิเคราะห์ “Kitab al-Durra al-Maknuna”) เก็บถาวร 2010-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, History of Science and Technology in Islam (ประวัติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศอิสลาม).
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-02. สืบค้นเมื่อ 2008-02-29.
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ งานกระจกสี วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ หน้าต่างประดับกระจกสีในประเทศฝรั่งเศส วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ หน้าต่างประดับกระจกสีในอังกฤษ วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ หน้าต่างประดับกระจกสีในประเทศสเปน
สมุดภาพงานประดับกระจกสี
[แก้]-
หน้าต่างเรื่องการชื่นชมพระเยซูที่มหาวิหารแคนเตอร์บรี คริสต์ศตวรรษที่ 13
-
หน้าต่างประดับกระจกสีที่มหาวิหารฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี
-
หน้าต่างประดับกระจกสีที่วัดเซ็นต์ปิแอร์ (Saint Pierre) เมืองแคน (Caen) ประเทศฝรั่งเศส
-
หน้าต่างประดับกระจกสีสมัยเรอเนซองส์ที่อเร็ทโซ (Arezzo) ประเทศอิตาลี ที่เป็นทรงกลมที่ไม่มีการแบ่งช่องอย่าที่นิยมกันที่อิตาลี
-
หน้าต่างกุหลาบที่มหาวิหารสตราสเบิร์ก (Strasbourg Cathedral) คริสต์ศตวรรษที่ 13
-
หน้าต่างที่วัดแดรมเบิร์ก (Dramburg) แสดงให้เห็นการตกแต่งตราประจำตระกูล
-
หน้าต่างประดับกระจกสีสมัยเรอเนซองส์ที่วัดเซ็นต์เจอร์เมนเดสเพรส (St Germain des Pres) ที่ปารีส
-
มหาวิหารอาลท์เท็นเบิร์กเกอร์ (Altenberger Dom) ประเทศเยอรมนี ใช้การตกแต่งแบบไม่ใช้สีที่เรียกว่า “Grisaille”
-
หน้าต่างคริสต์ศตวรรษ 19th ของมหาวิหารคอร์ค (Calke Abbey) อังกฤษ
-
หน้าต่างการศึกษาโดยหลุยส์ คอมฟอร์ต ทิฟฟานี (Louis Comfort Tiffany) ที่มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา
-
Art Nouveau โดยยาค กรืแบร์ (Jacques Grüber) ค. ศ. 1904 ที่พิพิธภัณฑ์ที่นองซี (Musée de l'École de Nancy) ประเทศฝรั่งเศส
-
โดมที่ร้านน้ำชา Printemps ที่ปารีส
-
กระจกสีสมัยใหม่ที่ อินส์ (Ins) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
-
หน้าต่างแอ็ปแสตร็ค โดยเดวิด แอสคาลอน (David Ascalon) ที่วัดเบ็ธเอลคองเกรเกชัน (Beth El Congregation) ใกล้กรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา