นักสิทธิ์
นักสิทธิ์ หมายถึง ผู้สำเร็จด้านจิตวิญญาณ เพราะมีศรัทธาแรงกล้าและคุณธรรมสูง[1] มาจากคำว่า สิทฺธ ในภาษาสันสกฤต[1] ซึ่งแปลว่าผู้สำเร็จ
ศาสนาฮินดู
[แก้]ความเชื่อเรื่อง นักสิทธิ์ หรือ สิทธะ ในศาสนาฮินดู ปรากฏที่รัฐทมิฬนาฑูมาตั้งแต่สมัยสังฆัม ถือว่าเป็นผู้วิเศษ อาศัยบนยอดเขาหรือบนท้องฟ้าระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์[1] ในคัมภีร์ยังปรากฏคำอธิบายแตกต่างกันไป ดังนี้[2]
- เศวตาศวตโรปนิษัท ว่านักสิทธิ์เป็นผู้ที่มีพลังเหนือมนุษย์มาตั้งแต่เกิด มีความรู้และปล่อยวางโลกได้
- ในคัมภีร์ปุราณะ เช่น วายุปุราณะกล่าวถึงนักสิทธิ์ว่าเป็นเทวฤๅษี ในปุราณะอื่น ๆ กล่าวถึงนักสิทธิ์ร่วมกับเทวดา ปันนาค ยักษ์ คนธรรพ์ ที่มีฤทธิ์มาก กินนร ฯลฯ อาศัยในชมพูทวีป
- บ้างว่านักสิทธิ์คือนิรมาณกายของเหล่ามุนีในภูมิชั้นสูง ลงมาเกิดบนโลกมนุษย์เพื่อช่วยสั่งสอนมวลมนุษย์ พวกนี้จึงมีญาณและฤทธิ์มาแต่กำเนิด
ศาสนาเชน
[แก้]ในศาสนาเชน สิทธะ หมายถึง ผู้บรรลุโมกษะ มีวิญญาณที่บริสุทธิ์ปราศจากบาปบุญ จึงหลุดพ้นจากสังสารวัฏ พ้นจากกรรมทั้งปวง ไม่มีรูป ไม่มีทุกข์
วรรณคดีไทย
[แก้]ในวรรณกรรมไทยคำว่า นักสิทธิ์ มักใช้เป็นไวพจน์ของคำว่า ฤๅษี[1] จึงถือว่าทั้งสองมีลักษณะเหมือนกัน ในรามเกียรติ์กล่าวถึงนักสิทธิ์ว่าได้นั่งในชั้นในสุดในสมาคมคราวอภิเษกพระรามกับนางสีดา ดังนี้
...ให้นั่งเหนือบัลลังก์เศวตฉัตร แสงจำรัสโอภาสดั่งแขไข
อันคณะนักสิทธิ์อยู่ชั้นใน สุราลัยชั้นกลางกับนางฟ้า
ชั้นนอกคนธรรพ์วิชาธร ครุฑนาคกินนรพร้อมหน้า...— รามเกียรติ์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมไทย, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 236-7
- ↑ "The Origin and Development of Siddhas and Siddha Tradition". Hinduwebsite. สืบค้นเมื่อ 11 March 2013.