นกกรีดน้ำ
นกกรีดน้ำ | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Aves |
อันดับ: | Passeriformes |
วงศ์: | Nectariniidae |
สกุล: | Rynchops |
สปีชีส์: | R. albicollis |
ชื่อทวินาม | |
Rynchops albicollis (Swainson, 1838) | |
ชื่อพ้อง | |
|
นกกรีดน้ำ หรือ นกกรีดน้ำอินเดีย[a] (อังกฤษ: Indian skimmer หรือ Indian scissors-bill; ชื่อวิทยาศาสตร์: Rynchops albicollis) เป็นนกหนึ่งในสามชนิดสกุลนกกรีดน้ำ (Rynchops) ของวงศ์นกนางนวล (Laridae) มีลักษณะทั่วไปคล้ายนกนางนวลแกลบ แต่ต่างที่นกกรีดน้ำและนกอื่นในสกุลนี้มีขากรรไกรล่างที่ยาวกว่าขากรรไกรบนมาก ซึ่งใช้ไถลากไปตามผิวน้ำในขณะที่นกบินร่อนอยู่เหนือน้ำเพื่อหาอาหาร คล้ายกับการ "กรีดน้ำ" นกชนิดนี้พบได้ในเอเชียใต้ แต่ประชากรอาศัยกระจัดกระจายเป็นหย่อม ๆ และมีแนวโน้มจำนวนประชากรที่ลดลง โดยมากพบตามแม่น้ำหรือปากแม่น้ำ นกกรีดน้ำเป็นที่สังเกตเห็นได้ง่ายจากสีดำตัดขาว จะงอยปากและตีนสีส้มสด ในประเทศไทยเป็นนกย้ายถิ่นที่พบเห็นได้ยากมาก[3]
ลักษณะทางกายวิภาค
[แก้]ลักษณะเด่นของนกกรีดน้ำคือ ลำตัวด้านบนสีดำตัดกับด้านล่างสีขาว ขนกระหม่อมดำคล้ายหมวก คลุมรอบตา คอขาว และจะงอยปากสีส้มสดออกแดง
ปีกยาวมีความยาวประมาณ 40–43 เซนติเมตร และความกว้างปีก 108 เซนติเมตร ดูคล้ายปีกนกนางนวลแกลบตรงปีกที่ยาวและปลายแหลม ขอบปลายขนปีกสีขาว หางสั้นเป็นง่ามสีขาว มีขนสีดำแซมตรงกลาง
จะงอยปากยาว โคนหนาสีส้ม ปลายบางมากสีอ่อนลงจากความบางจนเกือบเป็นสีเหลือง มีความโดดเด่นที่ขากรรไกรล่างซึ่งยาวกว่าขากรรไกรบน ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่พบได้ในนกกรีดน้ำชนิดอื่นด้วย จะงอยปากล่างนี้มีรูปทรงคล้ายมีดปลายกุด (โค้งมนที่ปลาย) ปลายจะงอยปากที่บางนี้มีความยืดหยุ่นสูง ในนกวัยอ่อนจะงอยปากมีรูปทรงปกติเช่นนกทั่วไป โดยจะงอยปากล่างค่อย ๆ ยาวขึ้นตามวัยที่เพิ่มขึ้น[4] ขากรรไกรบนสามารถอ้าได้กว้างมาก[5]
ขาและตีนเป็นสีแดง[6]
นกกรีดน้ำที่โตเต็มวัยมีสีขนในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ที่มีสีออกทึมหรือสีน้ำตาลกว่าสีขนในช่วงฤดูผสมพันธุ์ นกวัยอ่อนสีขนตัวด้านบนและหัวเป็นสีน้ำตาลเทาและสีอ่อนลงที่หลังและปีก จะงอยปากสีส้มทึมออกน้ำตาลและปลายสีเข้ม[6]
นกกรีดน้ำชนิดอื่น
[แก้]ในสกุลนกกรีดน้ำชนิดอื่น ๆ ได้แก่ นกกรีดน้ำดำที่มีถิ่นอาศัยในทวีปอเมริกามีขนาดใหญ่กว่าและปลายจะงอยปากสีดำ นกกรีดน้ำแอฟริกามีขนาดเล็กกว่าและสีดำตลอดส่วนบน ตั้งแต่กระหม่อม ท้ายทอย จนกลางหลังและหาง[7] นกกรีดน้ำ (อินเดีย) ยังมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Indian scissors-bill (นกปากกรรไกรอินเดีย)[8]
-
นกกรีดน้ำอินเดีย ท้ายทอยสีขาว จะงอยปากสีส้มล้วน
-
นกกรีดน้ำดำจากทวีปอเมริกา ปลายจะงอยปากสีดำ
-
นกกรีดน้ำแอฟริกา สีดำตลอดส่วนบนตั้งแต่หัวจรดหาง
พฤติกรรม
[แก้]การหาอาหาร
[แก้]นกกรีดน้ำชอบอาศัยในบริเวณแม่น้ำที่ไหลเอื่อย ซึ่งมีสันดอนทราย โดยปกติมักไม่ส่งเสียงร้อง[6] แต่เมื่ออยู่รวมเป็นฝูงเล็ก ๆ และส่งเสียงร้องแหลมดังคล้าย "กิ๊บ กิ๊บ"[6] นกนี้มักพบรวมกลุ่มกับนกนางนวล
นกกรีดน้ำหาอาหารโดยการบินต่ำเหนือน้ำและโฉบร่อนได้อย่างรวดเร็วโดยอาศัยปีกที่ยาวและหักมุม นกจะเปิดอ้าจะงอยปากแล้วใช้ขากรรไกรล่างที่ยื่นยาวไถลาก (แฉลบ) ไปตามผิวน้ำ การลากขากรรไกรล่างที่บางยาวเหมือนใบมีดของกรรไกรนี้ดูเหมือนนกกำลัง "กรีดน้ำ" เมื่อพบปลามันจะขยับขากรรไกรล่างให้มีมุมเสยปลาไปข้างหน้าเล็กน้อยและอ้าขากรรไกรบนกว้างขึ้น แล้วงับปลาด้วยการผงกหัวลงอย่างรวดเร็ว[5] นกกรีดน้ำนอกจากกินปลาเป็นหลักแล้ว ยังกินสัตว์พวกกุ้งกั้งปูขนาดเล็กและตัวอ่อนของแมลงในน้ำด้วย มักหากินเวลาพลบค่ำและบางครั้งอาจออกหากินเวลากลางคืน[6]
การผสมพันธุ์
[แก้]ฤดูผสมพันธุ์ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเดือนมีนาคมและพฤษภาคม โดยอยู่รวมเป็นฝูงอาณานิคมเพื่อการจับคู่ซึ่งอาจมีมากถึง 40 คู่ นกกรีดน้ำทำรังแบบง่าย ๆ บนพื้นโดยส่วนใหญ่อยู่บนตลิ่งทรายที่เปิดโล่งซึ่งทำให้มองเห็นสัตว์ที่เข้าหาได้โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง[6] ไข่มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีขาวมีจุดและริ้วสีน้ำตาล[9] แต่ละครอกมีไข่สามถึงห้าฟอง นกกรีดน้ำอาจมีพฤติกรรมออกไข่ในรังนกอื่น (เป็นนกปรสิตของการฟักไข่ในนกอื่นเฉพาะชนิด) แต่มีในระดับต่ำ โดยวางไข่ในรังของนกนางนวลแกลบแม่น้ำ (Sterna aurantia)[10] นกกรีดน้ำมักจะกกไข่ในช่วงเวลาที่อากาศเย็นของวัน และมักอยู่ห่างจากรังในช่วงที่อากาศร้อนของวัน[11] กล่าวกันว่าพ่อแม่นกที่ฟักไข่มักมีพฤติกรรมแช่ตัวในน้ำให้ขนท้องเปียกก่อนแล้วกกไข่เพื่อทำให้ไข่เย็นลง[12] มีการบันทึกหนึ่งพบว่านกกรีดน้ำที่กำลังกกไข่มีพฤติกรรมใช้ตีนจับลูกนกนางนวลแกลบแม่น้ำที่บุกรุกเข้ามา โยนลงในน้ำ[5]
ถิ่นที่อยู่อาศัยและการกระจายพันธุ์
[แก้]มักพบนกกรีดน้ำในแม่น้ำสายใหญ่ บึงและทะเลสาบขนาดใหญ่ ที่ลุ่มน้ำขัง พื้นที่ชุ่มชายฝั่งเช่น ชะวากทะเล โดยทั่วไปในฤดูผสมพันธุ์จะอาศัยในแหล่งน้ำจืด การรวมเป็นฝูงเพื่อผสมพันธุ์มักจับกลุ่มกันบนสันดอนทราย หรือเกาะแก่งที่โผล่ขึ้นกลางแม่น้ำ ช่วงการกระจายพันธุ์ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาถูกแยกกระจัดกระจาย กลายเป็นหย่อมประชากรที่เล็กลงเรื่อย ๆ ยังคงพบประชากรในบางส่วนของปากีสถาน ในระบบแม่น้ำสินธุของกัศมีร์และอินเดียตอนเหนือ และตอนกลางของอินเดียตามแนวแม่น้ำคงคา[13] ในบังคลาเทศและพม่า และเคยมีรายงานการพบในประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม ยังพบเป็นนกย้ายถิ่นนอกฤดูผสมพันธุ์ที่หายากในเนปาล และเป็นนกพลัดหลงในโอมานและภาคกลางของประเทศไทย[14] รวมทั้งในอิหร่านและจีน
ปัจจุบันถิ่นที่อยู่อาศัยที่เหลือของนกกรีดน้ำชนิดนี้ มีเพียงในอินเดียและบังคลาเทศ[15] พวกมันอาจแพร่กระจายฝูงออกไปในฤดูหนาวและพบได้ในปากแม่น้ำชายฝั่งของอินเดียตะวันตกและตะวันออกไกลถึงใต้สุดถึงเมืองการ์วาร์ บนชายฝั่งตะวันตก และเจนไนและปอนดิเชอรีบนชายฝั่งตะวันออก[16][17][18][19][20]
อาณานิคมผสมพันธุ์ของนกกรีดน้ำที่เป็นที่รู้จักคือ ฝั่งแม่น้ำจัมพัล ซึ่งยังเป็นเขตอนุรักษ์ตะโขงอินเดีย[21] ซึ่งมีสันดอนทรายจำนวนมากและเป็นส่วนสำคัญของการทำรังของตะโขง[22] ยังมีการศึกษาแหล่งผสมพันธุ์ของนกกรีดน้ำในที่อื่น ๆ อีกเช่น ฝั่งแม่น้ำมหานที ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจันฑกา ที่กัตตัก[23]
นิเวศวิทยาและการอนุรักษ์
[แก้]ในอดีตนกกรีดน้ำเคยกระจายพันธุ์และพบเห็นได้ทั่วไปตามแม่น้ำสายต่าง ๆ ในอนุทวีปอินเดีย[24][25] ตลอดจนระบบแม่น้ำในประเทศพม่ารวมถึงแม่น้ำโขงและสาขา มีรายงานพบในธรรมชาติในประเทศลาว[26], กัมพูชา และเวียดนาม แต่ส่วนมากเป็นข้อมูลในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งปัจจุบันพบเห็นได้ยากมาก[27]
ประชากรส่วนใหญ่ของนกกรีดน้ำปัจจุบันอยู่ในอินเดียและปากีสถาน ซึ่งประมาณว่ามีอยู่ที่ 6,000-10,000 ตัว จำนวนประชากรที่มีไม่มากและแนวโน้มที่ลดลงจากปัจจัยคุกคามได้แก่ การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยหรือเสื่อมโทรม มลพิษ และการรบกวนของมนุษย์ ทำให้ถูกจัดสถานะเป็นชนิดใกล้สูญพันธุ์ (EN) โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)[1] ภายใต้สภาพการถูกคุกคามจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยและเสื่อมโทรม อาณานิคมผสมพันธุ์ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการคุ้มครอง มีบางส่วนเท่านั้นที่อยู่ภายใต้หน่วยงานอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าแห่งชาติ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติจัมพัลของอินเดีย[21]
ในประเทศไทย
[แก้]ในช่วงรอบ 127 ปี[28] มีบันทึกการพบเห็นนกกรีดน้ำ เพียง 4 ครั้ง โดยรายงานแรกเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 28–30 เมษายน พ.ศ. 2420 ที่จังหวัดมุกดาหาร โดยเอฟ ซี ฮาร์มานด์ (F.C. Harmand) ซึ่งยังเรียกชื่อเดิมของนกชนิดนี้ในภาษาอังกฤษว่า scissorbill (นกปากกรรไกร) จากนั้นอีก 77 ปีต่อมารายงานพบนกกรีดน้ำเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 ที่บางปู จังหวัดสมุทรปราการ โดยวิลเลียม โทมัส (William W. Thomas) รายงานพบนกตัวที่ 3 ช่วงวันที่ 18 ถึง 28 มกราคม พ.ศ. 2545 ที่โคกขาม อำเภอเมืองจังหวัดสมุทรสาคร โดยวิม ฟาน สปรันเดอร์ (Wim van Splunder) และพิพัฒน์พงษ์ ระพีพรรณ และครั้งล่าสุดที่แหลมผักเบี้ยเมื่อปี 2547[28]
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ ชื่อภาษาอื่น:
- ภาษาเบงกอล দেশি গাঙচষা (เดชี กานจาชา)
- ภาษาเปอร์เซีย آبشکاف هندی
- ภาษามลยาฬัม മീൻകോരി (มินเคอารี)
- ภาษาพม่า နှုတ်တိုရှည်ငှက် (น่าว-โต-ชี-งัท)[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 BirdLife International (2020). "Rynchops albicollis". IUCN Red List of Threatened Species. 2020: e.T22694268A178970109. doi:10.2305/IUCN.UK.2020-3.RLTS.T22694268A178970109.en. สืบค้นเมื่อ 19 November 2021.
- ↑ "Rynchops albicollis (Indian Skimmer) - Avibase". avibase.bsc-eoc.org.
- ↑ "นกกรีดน้ำมาเยือนเมืองไทย". สารคดี (ภาษาอังกฤษ). 2004-06-17.
- ↑ Whistler, Hugh (1949). Popular Handbook Of Indian Birds. Osmania University, Digital Library Of India. Gurney And Jackson.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 Ali, S; SD Ripley (1981). Handbook of the birds of India and Pakistan. Volume 3 (2nd ed.). Oxford University Press. pp. 74–76.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 Rasmussen PC; JC Anderton (2005). Birds of South Asia: The Ripley Guide. Volume 2. Smithsonian Institution & Lynx Edicions. p. 201.
- ↑ Le Messurier, A (1904). Game, shore, and water birds of India. W. Thacker & Co. p. 230.
- ↑ Barnes, HE (1885). Handbook to the birds of the Bombay Presidency. Calcutta Central Press. p. 434.
- ↑ Oates, EW (1901). Catalogue of the collection of birds' eggs in the British Museum. Volume 1. British Museum. p. 202.
- ↑ Debata, Subrat; Kar, Tuhinansu; Palei, Himanshu Shekhar (2018). "Occurrence of Indian Skimmer Rynchops albicollis eggs in River Tern Sterna aurantia nests". Bird Study. 65: 140–142. doi:10.1080/00063657.2018.1443056. S2CID 90306844.
- ↑ Hume, AO. Nests and eggs of Indian birds. Volume 1. R H Porter, London. p. 378.
- ↑ Maclean GL (1974). "Belly-soaking in the Charadriiformes". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 72: 74–82.
- ↑ Jha, S. (2006). "Records of some rare birds from Farakka Barrage (West Bengal, India)" (PDF). Indian Birds. 2 (4): 106. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-02-23. สืบค้นเมื่อ 2010-01-09.
- ↑ "นกกรีดน้ำ - eBird". ebird.org.
- ↑ Das,D.K. (2015). "Breeding status of Indian Skimmer Rynchops albicollis in the National Chambal Sanctuary, India" (PDF). Indian Birds. 10 (2): 53.
- ↑ Madhav, Vikas; D. Nagarajan (2010). "Indian Skimmer Rynchops albicollis: a recent record from Tamil Nadu" (PDF). BirdingASIA. 13: 98.
- ↑ Stairmand, DS (1970). "Occurrence of the Indian Skimmer or Scissorbill (Rhynchops albicollis Swainson) in Salsette Island". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 67 (3): 571.
- ↑ Sivasubramanian, C (1992). "Indian Skimmer Rynchops albicollis Swainson and Black Stork Ciconia nigra (Linn.) - new additions to the avifauna of Keoladeo National Park, Bharatpur". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 89 (2): 252–253.
- ↑ Gopi, GV; B Pandav (2007). "Avifauna of Bhitarkanika mangroves, India" (PDF). Zoos' Print Journal. 22 (10): 2839–2847. doi:10.11609/jott.zpj.1716.2839-47. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-06-02. สืบค้นเมื่อ 2022-07-23.
- ↑ Majumdar, N; Roy, CS (1993). "Extension of range of the Indian Skimmer, Rynchops albicollis Swainson (Aves: Laridae)". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 90 (3): 511.
- ↑ 21.0 21.1 Sundar, K S Gopi (2004). "Observations on breeding Indian Skimmers Rynchops albicollis in the National Chambal Sanctuary, Uttar Pradesh, India" (PDF). Forktail. 20: 89–90. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-10-11. สืบค้นเมื่อ 2010-01-09.
- ↑ Hornaday, WT (1904). Two years in the Jungle. Charles Scribners' Sons, New York. p. 34.
- ↑ "Birds In The Sand". Sanctuary Asia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-01-02. สืบค้นเมื่อ 2022-07-23.
- ↑ Jerdon, TC (1864). Birds of India. Volume 3. George Wyman & Co. p. 847.
- ↑ Zusi, R. L.; Kirwan, Guy M.; Garcia, Ernest (2020). "Indian Skimmer (Rynchops albicollis), version 1.0". Birds of the World (ภาษาอังกฤษ). doi:10.2173/bow.indski1.01.
- ↑ Harmand, F. J. (1878-1879) Les Laos et les populations sauvages de l'Indochine. Tour de Monde 38(965-967): 1-48, 39(1006-1010): 214-370 (1997 translation Laos and the hill tribes of Indochina. Bangkok: White Lotus.)
- ↑ Evans, TD (2001). "Ornithological records from Savannakhet Province, Lao PDR, January–July 1997" (PDF). Forktail. 17: 21–28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-10-11. สืบค้นเมื่อ 2010-01-09.
- ↑ 28.0 28.1 "นกกรีดน้ำมาเยือนเมืองไทย". สารคดี (ภาษาอังกฤษ). 2004-06-17.