ข้ามไปเนื้อหา

นกกระติ๊ดขี้หมู

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นกกระติ๊ดขี้หมู
L. p. punctulata (อินเดีย)
L. p. topela (จังหวัดสุรินทร์)
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Passeriformes
วงศ์: Estrildidae
สกุล: Lonchura
สปีชีส์: L.  punctulata
ชื่อทวินาม
Lonchura punctulata
(Linnaeus, 1758)
พื้นที่การกระจายพันธุ์ของนกกระติ๊ดขี้หมูในเอเชีย และเอเชียภาคพื้นสมุทร
พื้นที่การกระจายพันธุ์ของนกกระติ๊ดขี้หมูในเอเชีย และเอเชียภาคพื้นสมุทร (ยังไม้ได้ระบุประชากรนกบนเกาะบอร์เนียว)
ชื่อพ้อง
  • Loxia punctulata Linnaeus, 1758
ภาพวาดประกอบ นกกระติ๊ดขี้หมู Lonchura punctulata

นกกระติ๊ดขี้หมู (อังกฤษ: scaly-breasted munia หรือ spotted munia; ชื่อวิทยาศาสตร์: Lonchura punctulata) เป็นนกกระติ๊ดที่มีขนาดเท่านกกระจอก และจัดอยู่ในอันดับนกเกาะคอนที่มีขนาดเล็ก ชอบอยู่เป็นฝูง มีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อน นกกระติ๊ดขี้หมูอยู่ในวงศ์นกกระติ๊ด (Lonchura) ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการและตั้งชื่อโดยคาโรลัส ลินเนียส ในปี ค.ศ. 1758 ชื่อทวินามตั้งจากลักษณะโดดเด่นของลายบนขนที่คล้ายเกล็ดที่หน้าอกและหน้าท้อง ตัวเต็มวัยครึ่งตัวบนมีสีน้ำตาล และจะงอยปากสั้นหนาแหลม รูปกรวยสีเข้ม นกกระติ๊ดขี้หมูมี 11 ชนิดย่อยที่มีขนาดและสีแตกต่างกันเล็กน้อย

นกกระติ๊ดชนิดนี้กินเมล็ดหญ้าและเมล็ดธัญพืชเป็นหลัก นอกเหนือจากนั้นคือผลไม้พุ่มขนาดเล็ก (พวกเบอร์รี่) และแมลงขนาดเล็ก มีการหาอาหารเป็นฝูง และสื่อสารกันด้วยเสียงร้องเบา ๆ และเสียงคล้ายนกหวีด เป็นนกที่มีความเป็นสังคมสูงและบางครั้งอาจจะอยู่ร่วมกับนกกระติ๊ดสายพันธุ์อื่น นกชนิดนี้มักพบในที่ราบและทุ่งหญ้าเขตร้อน นกคู่ผสมพันธุ์จะสร้างรังรูปโดมด้วยใบหญ้า ฟาง หรือใบไผ่

นกกระติ๊ดขี้หมูมีถิ่นกำเนิดในเอเชีย ครอบคลุมจากอินเดียและศรีลังกา ในทางตะวันออกไปจนถึงประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ (ซึ่งเรียกนกชนิดนี้ว่ามายองปะกิง) ยังมีการนำเข้าสู่ภูมิภาคอื่นของโลก นกกระติ๊ดขี้หมูจัดเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นคุกคามในปวยร์โตรีโก และฮิสปันโยลา รวมถึงบางส่วนของออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา และถูกระบุว่ามีความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์ (least concern, LC) โดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature, IUCN) นกกระติ๊ดขี้หมูเป็นนกที่ได้รับการระบุเป็นทั้งศัตรูข้าวโดยหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเป็นสัตว์คุ้มครองบัญชีรายชื่อ ปี 2546 ของประเทศไทย เพื่อคุ้มครองจากผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายในการจับมาเพื่อการซื้อไปปล่อย

อนุกรมวิธาน

[แก้]

นกกระติ๊ดขี้หมูเป็นหนึ่งในนกจำนวนมากหลายชนิดที่คาโรลัส ลินเนียสขึ้นทะเบียนสายพันธุ์ไว้ในหนังสือระบบธรรมชาติ (Systema Naturae) ฉบับที่ 10 ปี พ.ศ. 2301 (ค.ศ. 1758) โดยขณะนั้นได้รับการตั้งชื่อทวินามว่า Loxia punctulata ต่อมาวิลเลียม เฮนรี ไซค์ส (William Henry Sykes) ระบุให้เป็นสกุล Lonchura และเปลี่ยนชื่อทวินามเป็น Lonchura punctulata ในปี พ.ศ. 2366[2]

นกกระติ๊ดขี้หมู เป็นนกกระติ๊ด 1 ใน 8 ชนิดที่พบในประเทศไทย นกกระติ๊ดขี้หมูเป็นนกประจำถิ่นของประเทศไทยที่พบบ่อยมาก และเป็นนกในวงศ์นกกระติ๊ดที่พบบ่อยที่สุดในจำพวกนกกระติ๊ดด้วยกัน[3]

ชนิดย่อย

[แก้]

นกกระติ๊ดขี้หมูเป็นชนิดของนกกระติ๊ดที่มีมากถึง 11 ชนิดย่อยที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ซึ่งในจำนวนนี้ได้รวมถึงการระบุชนิดย่อยที่พบในที่ราบของอนุทวีปอินเดียไว้ด้วย ซึ่งได้แก่ ปากีสถาน อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ และศรีลังกา ชื่อ lineoventer เดิมใช้สำหรับระบุเป็นชนิดเฉพาะของประชากรนกนกกระติ๊ดขี้หมูในอินเดีย (Lonchura lineoventer)

นกกระติ๊ดขี้หมูชนิดย่อยในที่อื่น ๆ ได้แก่ subundulata พบในทางทิศตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย, yunnanensis พบทางตอนใต้ของประเทศจีน, topela พบในประเทศไทย, cabanisi ในฟิลิปปินส์ และ fretensis ในสิงคโปร์และสุมาตรา กลุ่มประชากรนกกระติ๊ดขี้หมูชนิดย่อยบนเกาะ ได้แก่ nisoria ในบาหลี ลอมบอก ซุมบาวา, particeps บนเกาะสุลาเวสี, baweana บนเกาะบาวีน, sumbae บนเกาะซุมบา, blasii ในฟลอเรส ติมอร์ และทานิมบาร์[4] และ holmesi บอร์เนียวตะวันออกเฉียงใต้[5]

  • L. p. punctulata (Linnaeus, 1758)[6] นกกระติ๊ดขี้หมูลายตาข่าย (Lonchura punctulata punctulata) – กระจายพันธุ์ในบริเวณประเทศปากีสถานตอนเหนือ, อินเดีย (ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), เขตที่ราบต่ำเตไร (Terai Region) ของประเทศเนปาล และศรีลังกา[7] ชนิดย่อย L. p. punctulata นี้ได้ถูกนำเข้าไปเป็นนกกรงในหลายประเทศ เช่น อัฟกานิสถาน คาบสมุทรอาหรับ ปวยร์โตรีโก ฮิสปันโยลา และบางส่วนของสหรัฐอเมริกา[7]
  • L. p. subundulata (Godwin-Austen, 1874) – กระจายพันธุ์ในบริเวณประเทศภูฏาน, บังกลาเทศ, อินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ (อัสสัม) และพม่าตะวันตก[8]
  • L. p. yunnanensis (Parkes, 1958) – พบในบริเวณประเทศจีนทางตะวันตกเฉียงใต้ (ทิเบตตะวันออกเฉียงใต้ เสฉวนใต้ ยูนนาน) และพม่าตอนเหนือ - ตะวันออกเฉียงเหนือ[9]
  • L. p. topela (Swinhoe, 1863) – กระจายพันธุ์ในบริเวณทางตอนใต้ของประเทศพม่า, ไทย, ประเทศจีนทางตะวันออกเฉียงใต้ (หมู่เกาะไหหลำ กวางตุ้ง เจ้อเจียง และเกาะไต้หวัน), ประเทศลาว, กัมพูชา และเวียดนาม[10]
  • L. p. fretensis (Kloss, 1931) – ในบริเวณคาบสมุทรมาเลย์ตอนใต้ สิงคโปร์ เกาะสุมาตรา และหมู่เกาะนียัซ ยังพบทางภาคใต้ตอนล่างของไทย เช่น จังหวัดสงขลา ซึ่งชนิดย่อยนี้ลายเกล็ดจะเข้มและออกดำมากกว่า ลำตัวด้านบนสีจะอ่อนกว่า มีเส้นขนสีขาวแซมเล็กน้อยที่หัว[11]
  • L. p. cabanisi (Sharpe, 1890) – อาศัยอยู่ในในบริเวณประเทศฟิลิปปินส์ (เกาะลูซอน, มินโดโร, คาเลาอิต, ปาลาวัน, ปาเนย์, เนโกรส, เซบู, มินดาเนา) และตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว (ชายฝั่งตะวันตกของรัฐซาบาห์ของมาเลเซีย และประเทศบรูไน)[12]
  • L. p. nisoria (Temminck, 1830) – กระจายพันธุ์หมู่เกาะซุนดาน้อยฝั่งตะวันตก (รวมเกาะลมบก และเกาะซุมบาวา) และเกาะบาหลีของอินโดนีเซีย แต่อาจพบได้ในบริเวณเกาะบอร์เนียวตอนใต้ (กาลีมันตันตะวันตก และกาลีมันตันใต้) เกาะชวา
  • L. p. holmesi (Restall, 1992) – พบบนบริเวณเกาะบอร์เนียวตะวันออกเฉียงใต้ ของอินโดนีเซีย[13]
  • L. p. particeps (Riley, 1920) – ในบริเวณเกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซีย[14]
  • L. p. baweana (Hoogerwerf, 1963) – คาดว่ามีประชากรน้อยมากและกระจายพันธุ์ในบริเวณประเทศหมู่เกาะ Bawean ซึ่งอยู่ใกล้กับเกาะชวาไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ของอินโดนีเซีย[15]
  • L. p. sumbae (Mayr, 1944) – พบเห็นได้บนเกาะซุมบา และหมู่เกาะอื่นในจังหวัดนูซาเติงการาตะวันออก (หมู่เกาะซุนดาน้อยฝั่งตะวันออกต่อกับเกาะติมอร์ด้านตะวันตก) ของอินโดนีเซีย[16]
  • L. p. blasii (Stresemann, 1912) – กระจายพันธุ์ในบริเวณจังหวัดนูซาเติงการาตะวันออก และจังหวัดมาลูกูของอินโดนีเซีย ครอบคลุมหมู่เกาะโมลุกกะตอนใต้ หมู่เกาะทานิมบาร์ และเกาะอัมบน ในทะเลบันดา เกาะโฟลเร็ซทางตะวันออก ต่อไปยังหมู่เกาะติมอร์ ของอินโดนีเซีย และติมอร์เลสเต[17]

ชื่ออื่น

[แก้]

นกกระติ๊ดขี้หมู มีชื่อสามัญอื่นเรียกในภาษาต่าง ๆ ได้แก่

ชื่อภาษาอังกฤษในทางการค้าที่นักเลี้ยงนกรู้จักดี เช่น nutmeg mannikin, spice finch และ nutmeg finch

ชื่อภาษาจีน: 斑文鸟 (Bān wén niǎo)

ชื่อภาษาอินโดนีเซีย: bondol peking หรือ pipit peking (ชื่อในภาษาชวา emprit peking หรือ prit peking; ภาษาซุนดา piit peking หรือ manuk peking)

ชื่อภาษามลายู: pipit pinang

ชื่อภาษาตากาล็อก: mayang paking

ชื่อภาษาเวียดนาม: di đá

ชื่อภาษาอัสสัม: ফুটুকী টুনি (phuṭuka ṭuni)

ชื่อภาษาทมิฬ: புள்ளிச் சில்லை (puḷḷic cillai)

ชื่อภาษาพม่า: စာဝတီပြောက်ငှက် (hcar wate pyawwat nghaat)

ลักษณะทางชีววิทยา

[แก้]
นกที่ยังไม่โตเต็มวัยมีสีน้ำตาลด้านล่าง (ภาพจาก โกลกาตา อินเดีย)

ลักษณะทั่วไป นกกระติ๊ดขี้หมูมีลำตัวยาว 11–12 เซนติเมตร (4.3–4.7 นิ้ว) และหนัก 12–16 กรัม (0.026–0.035 ปอนด์) ตัวเต็มวัยมีจะงอยปากสีเข้มหรือดำคล้ำปลายแหลม ซึ่งเป็นลักษณะโดยทั่วไปของนกกินเมล็ดธัญพืช

ลำตัวส่วนบนมีขนสีน้ำตาล ตะโพก ขนคลุมโคนขนหางด้านบน และหางเป็นสีน้ำตาลมักมีสีเหลืองแซม และขนหัวสีน้ำตาลเข้มโดยเฉพาะที่คางและรอบตา ลำตัวส่วนล่างขนสีขาวแกมเทามีลายเกล็ดหรือจุดหรือลายตาข่ายสีน้ำตาลเข้ม ขนกลางท้องและก้นสีขาว หางน้ำตาลแกมเหลือง นกต่างเพศมีความคล้ายคลึงกัน โดยตัวผู้จะมีแถบสีคล้ำที่ลำตัวช่วงล่างและที่ลำคอ ที่มีสีเข้มกว่าตัวเมีย[18][19]

นกที่ยังไม่โตเต็มวัยจะมีส่วนบนสีน้ำตาลซีด ส่วนหัวไม่มีสีเข้มอย่างที่พบในนกที่โตเต็มวัย ปากล่างสีอ่อนกว่าปากบน มีขนอ่อน ๆ ไม่มีลายเกล็ดที่อก ที่ทำให้ดูเหมือนกันกับนกกระติ๊ดสายพันธุ์อื่น ๆ เช่น นกกระติ๊ดสามสี (Lonchura malacca) มีกระจายพันธุ์ในเอเชียภาคพื้นทวีปและหมู่เกาะโดยรอบ และนกกระติ๊ดคอดำ (Lonchura kelaarti) ที่กระจายพันธุ์ในประเทศอินเดียหรือศรีลังกา[18] [20]

พื้นที่การกระจายพันธุ์ของนกกระติ๊ดขี้หมูกินบริเวณกว้าง ทำให้ความเข้มของสีและขนาดของลายขนนกในประชากรนกกระติ๊ดขี้หมูมีรูปแบบแตกต่างกัน ในอนุทวีปอินเดียมีโอกาสถูกแยกชนิดโดยใช้ชื่อว่า นกกระติ๊ดขี้หมูลายตาข่าย (Chequered Munia – L. p. punctulata) ที่ต่างจากชนิดย่อยอื่นตรงที่มีลำตัวสีออกน้ำตาลแดง หางสีเหลืองสดกว่า และมีลายเกล็ดกลม ๆ กว้างออกทางด้านข้าง แทนที่จะเป็นลายเกล็ดทรงยาวและถี่แน่น แล้วมีเส้นขีดกลางคล้ายหัวลูกศรตรงกลางแบบนกกระติ๊ดขี้หมูในประเทศไทย (L. p. topela)[19]

ในความหลากหลายของวงศ์นกกระติ๊ด นกกระติ๊ดขี้หมูมีต้นกำเนิดในเอเชีย[21] แต่ได้ถูกนำเข้าไปสู่ส่วนอื่น ๆ ของโลก จากความนิยมในฐานะนกกรง ซึ่งจำนวนหนึ่งได้หลุดรอดออกไปสร้างอาณานิคมใหม่และเพิ่มจำนวนประชากรในธรรมชาติ[22] [23]

พฤติกรรมและนิเวศวิทยา

[แก้]

สังคม

[แก้]

นกกระติ๊ดขี้หมู เป็นนกสังคม สามารถรวมฝูงได้มากถึง 100 ตัว นกแต่ละตัวสื่อสารกันด้วยการร้องในหลายรูปแบบ ได้แก่ เสียงหวีดสั้น ๆ เสียงหลายแบบในทำนอง จิ๊ตตี้ - จิ๊ตตี้ - จิ๊ตตี้ และเสียงจิ๊บที่สูงแหลม[24][20] [23] บางครั้งพวกมันสะบัดหางและปีกในแนวตั้งหรือแนวนอนในขณะที่กระโดด การเคลื่อนไหวสะบัดหางอาจพัฒนามาจากการเคลื่อนไหวโดยเจตนา การเคลื่อนไหวสะบัดหางในเวอร์ชันที่เกินจริงอาจผ่านการทำ พิธี แล้ว ในฐานะสัญญาณทางสังคมการสะบัดหางในสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกหลายชนิดทำหน้าที่เป็นสัญญาณบ่งชี้เจตนาที่จะบินและช่วยให้ฝูงอยู่ด้วยกัน [25]

เมื่ออยู่รวมเป็นฝูง นกกระติ๊ดขี้หมูจะนั่งเกาะข้างกันอย่างใกล้ชิดกัน นกตัวนอกสุดมักจะเอนตัว (พิง) เข้าหาศูนย์กลาง บางครั้งนกในฝูงจะแต่งขน (ไซ้ขน) ให้กันและกัน โดยนกตัวที่ชี้ชวนจะแสดงตัวโดยการเชิดคางออกไป การไซ้ขนแก่กันนี้มักจะจำกัดบริเวณเฉพาะใบหน้าและลำคอ[23] นกกระติ๊ดขี้หมูมักไม่ค่อยเป็นศัตรูกัน แต่ในบางครั้งก็จะทะเลาะกันโดยปราศจากการแสดงท่าใด ๆ

นกกระติ๊ดขี้หมูจะเปล่งเสียงเพื่อสื่อสารกับฝูงของมัน
เสียงของนกกระติ๊ดขี้หมู

การผสมพันธุ์

[แก้]

ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงฤดูฝน (ส่วนใหญ่เป็นเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมในอินเดียและเอเชียอาคเนย์) แต่อาจแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ การศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่าการส่องสว่างในวันที่ยาวนานและความชื้นสูงกระตุ้นการเจริญเติบโตของอวัยวะสืบพันธุ์[26] เสียงร้องของนกตัวผู้มีความนุ่มนวลแต่ซับซ้อนและหลากหลาย ซึ่งได้ยินเฉพาะในระยะใกล้ เสียงร้องสามารถระบุว่าเป็นเพลงที่มักเริ่มด้วย ชุดเสียงโทนสูง ตามด้วยเสียงกังวานแบบโทนเดียวซ้ำ ๆ และจบลงด้วยการทอดเสียงอย่างคลุมเครือ ขณะเปล่งเสียงร้องนกตัวผู้จะนั่งในท่าที่เรียกว่าท่าโน้มตัว (slope) และขนที่หัวพองออก[23]

ท่าโน้มตัวมี 2 ประเภทคือ แบบก่อนการผสมพันธุ์ และแบบธรรมดา พฤติกรรมก่อนการมีเพศสัมพันธ์ของนกกระติ๊ดขี้หมู ยังรวมถึงลำดับของท่าทาง คือ ท่าแรกตัวผู้หรือตัวเมียจะร่วมกันเล่นวัสดุทำรัง ทันทีที่นกจัดเรียงวัสดุทำรังในจะงอยปากเรียบร้อยนกก็จะเริ่มบินไปรอบ ๆ ในเส้นทางแบบสลับฟันปลา (ซิกแซก) เมื่อนกเข้าหากันตัวผู้จะโค้งเข้าหาตัวเมียและไซ้จะงอยปากของมัน จากนั้นตัวผู้จะส่งเสียงร้องประกอบกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ตัวเมียจะชวนให้ผสมพันธุ์โดยแสดงการสั่นหาง[20] [23]

ไข่ของนกกระติ๊ดขี้หมู (Lonchura punctulata) MHNT

โครงสร้างรังของนกกระติ๊ดขี้หมูเป็นรูปโดมทรงกลมขนาดใหญ่ที่ถักสานกันอย่างหลวม ๆ จากใบหญ้า ฟาง ดอกหญ้า[27] ไม้ไผ่ หรือใบไม้แห้งที่มีใบยาวเรียวอื่น ๆ มีทางเข้าด้านข้าง และภายในรังบุด้วยวัสดุอ่อนนุ่มเช่น ดอกหญ้า ปุยของต้นธูปฤๅษี ขนนก เป็นต้น[3] และมักสร้างรังไว้บนง่ามกิ่งไม้ โดยมีพุ่มไม้เป็นที่กำบังฝนหรือใต้ชายคาบ้าน ช่องทางเข้ารังจะหันหน้าไปในทิศทางที่ลมพัดบ่อยที่สุด[28] ทำรังสูงจากพื้นราว 1.5 - 9 เมตร[3]

การศึกษาทางตอนใต้ของอินเดียพบว่าต้นไม้ที่นกกระติ๊ดขี้หมูชอบทำรังคือ เครืองูเห่า (Toddalia asiatica), กระทงลาย (Gymnosporia montana) และ สีเสียด (Acacia chundra) โดยเฉพาะต้นที่เตี้ยเป็นพุ่ม ทรงพุ่มปกคลุมถึงระดับต่ำ ในทางตอนเหนือของอินเดียนกกระติ๊ดขี้หมูชอบทำรังบนต้นอาเคเชียไนล์ (Acacia nilotica) ที่มักขึ้นโดด ๆ ในพื้นที่นอกเมือง และยังชอบทำรังบนต้นสนหางสิงห์ (Thuja orientalis) และอโศกอินเดีย ในสวนที่อยู้ในเมือง[29]

นกกระติ๊ดขี้หมูนกคู่ผัวเมียช่วยกันสร้างรัง หากแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์สามารถทำรังวางไข่ได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงที่พบว่ามีการทำรังวางไข่สูงอยู่ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม[30] (ฤดูร้อนและฤดูฝน) แม่นกวางไข่ครั้งละ 1-8 ฟองต่อรัง จำนวนไข่ที่พบบ่อยที่สุดคือ 4 ถึง 6 ฟอง อาจมากที่สุดถึง 10 ฟอง เปลือกไข่สีขาว ขนาด 16.4 - 11.6 มม. พ่อแม่นกช่วยกันกกไข่ 10 ถึง 16 วัน[31][32] ลูกนกจึงฟัก เป็นตัวลูกนกแรกเกิดซึ่งยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ (altricial) และพ่อแม่นกช่วยกันเลี้ยงลูกนกอีก 13-15 วัน ลูกนกจึงบินออกจากรัง[30]

อาหารและการหาอาหาร

[แก้]
การให้อาหารลูกนก
การกินอาหารของนกเต็มวัย

นกกระติ๊ดขี้หมูกินเมล็ดหญ้าและเมล็ดธัญพืชเป็นหลัก นอกจากนั้นคือ ผลไม้พุ่มขนาดเล็ก เช่น ผลของผกากรอง และแมลง [33] แม้ว่าจะงอยปากที่หนาของนกกระติ๊ดขี้หมูจะเหมาะสำหรับการขบเมล็ดธัญพืชขนาดเล็ก แต่ไม่ได้แสดงให้เห็นการเคลื่อนไหวของขากรรไกรล่างในแนวข้าง ซึ่งเป็นการขบกระเทาะเปลือกแบบที่นกฟิ้นช์เขียวยุโรปทำ[34]

การลงกินข้าว ระยะของข้าวที่นกกระติ๊ดขี้หมูและนกอื่นในวงศ์เดียวกัน เช่น นกกระติ๊ดตะโพกขาว จะเริ่มกินข้าว คือตั้งแต่ข้าวเริ่มเป็นน้ำนมใหม่ ๆ จนไปถึงระยะก่อนเก็บเกี่ยว ถ้าข้าวอยู่ในระยะน้ำนมและมีส่วนเป็นไตแข็งเพียงเล็กน้อย นกจะจิกที่รวงแล้วขบเมล็ดข้าวกินเฉพาะเนื้อแข็งและน้ำนม รวงข้าวจะยังคงมีเมล็ดติดอยู่กับรวง แต่จะพบรอยแตกของเปลือกที่ชัดเจน รวงข้าวที่ถูกนกกิน รวงจะตั้งชี้ขึ้น (เนื่องจากน้ำหนักที่หายไปจากการถูกกินเป็นบางส่วน) ถ้าข้าวเลยระยะน้ำนมจนแข็งหมดทั้งเมล็ดแล้ว นกจะใช้ปากรูดเมล็ดออกจากรวง แล้วคาบเมล็ดมาขบกินแต่เนื้อภายใน ส่วนเปลือกปล่อยทิ้งไว้ใต้ต้นข้าวนั้นเอง[35]

นกกระติ๊ดขี้หมูส่งเสียงร้องตลอดเวลาทั้งขณะหากินและบิน การบินจะบินชิดกันไปทั้งฝูง ไม่มีผู้นำฝูง บินในระดับไม่สูงนัก อาจเกาะพักบนต้นไม้ตามกิ่งขนาดใหญ่บ้าง ก่อนที่จะลงกินเมล็ดพืชในแปลงหญ้า โดยจะไม่ซอกซอนค้นหาหนอนตามกิ่งไม้ใบไม้ เพราะไม่ใช่นกกินแมลงเป็นอาหารหลัก อาจลงกินเมล็ดพืชที่ร่วงหล่นตามพื้นในดงหญ้า หรือแมลงตามพื้นดินใต้กอหญ้า โดยเฉพาะในช่วงเลี้ยงลูกซึ่งต้องป้อนด้วยอาหารโปรตีนจำพวกแมลงเป็นส่วนใหญ่[3]

ในลักษณะเดียวกับนกกระติ๊ดอื่น ๆ ยังพบว่านกกระติ๊ดขี้หมูอาจกินสาหร่ายซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่อุดมสมบูรณ์ก่อนฤดูผสมพันธุ์[36][37]

นกกระติ๊ดขี้หมูเป็นนกที่เลี้ยงและดูแลง่ายในกรงขัง ทำให้ได้รับความนิยมใช้ในการศึกษาพฤติกรรมและสรีรวิทยา พฤติกรรมการหาอาหารของนกกระติ๊ดขี้หมูยังสามารถพยากรณ์ได้จากทฤษฎีการหาอาหารที่เหมาะสม โดยมีหลักคือ สัตว์จะใช้เวลาและพลังงานน้อยที่สุดเพื่อให้ได้ปริมาณอาหารที่หาได้มากที่สุด ซึ่งนกกระติ๊ดขี้หมูเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการพิสูจน์ทฤษฎีนี้ โดยเฉพาะการศึกษาการใช้กลยุทธ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการหาอาหาร [38]

ขนาดฝูง

[แก้]

การศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการหาอาหาร ซึ่งศึกษาความสัมพันธ์ของขนาดฝูงที่มีผลต่อการลดการใช้เวลาในการเฝ้าระวังจากสัตว์นักล่า ซึ่งยังสัมพันธ์กับการเพิ่มประสิทธิภาพในการหาอาหาร โดยมีสมมติฐานของการใช้ "หลายตา"[39] การใช้เวลาในการเฝ้าระวังภัยจากสัตว์นักล่าของนกแต่ละตัวที่ลดลงสัมพันธ์กับฝูงที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และยังทำให้มีเวลาใช้ในการค้นหาอาหารและหาอาหารมากขึ้น

ความแวดระวังภัยนี้จะมีระดับสูงสุดหากนกแต่ละตัวหาอาหารแบบโดดเดี่ยว และความแวดระวังของนกแต่ละตัวจะลดลงเมื่อขนาดฝูงเพิ่มขึ้นจากประมาณสี่ตัวขึ้นไป นกหาอาหารเป็นฝูงขนาดใหญ่จะรวบรวมเมล็ดพืชแต่ละเม็ดได้เร็วกว่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการลดระดับความแวดระวังของนกแต่ละตัว ซึ่งหมายถึงการลดเวลาในการจัดการ ซึ่งนำไปเพิ่มความเร็วในการค้นหาและมุ่งตรงไปที่การหาอาหาร[40]

ฝูงหาอาหาร

นกแต่ละตัวอาจใช้ประโยชน์จากการหาอาหารเป็นฝูงโดยการ "เข้าฝูง" ที่มีสมาชิกที่พบอาหารแล้ว ซึ่งทางเลือกในการแสวงหาอาหาร มี 2 ทางคือ หาอาหารเอง หรือ เข้าร่วมกับนกตัวอื่นที่ค้นพบอาหารแล้ว (ซึ่งเป็นการเกี่ยวข้องกับการแบ่งปันข้อมูลการแสวงหาอาหาร)

พฤติกรรมการเลือกของเข้าร่วมกับนกตัวอื่นนี้ได้รับการศึกษาและตั้งเป็นแบบจำลองที่เรียกว่า "แบบจำลองผู้ผลิต–ผู้ขโมย"[41] ซึ่งอธิบายข้อเสียของการหาอาหารแบบฝูง คือ เป็นการเพิ่มการแก่งแย่งทรัพยากรอาหาร ซึ่งระดับความรุนแรงของการแข่งขันในการแย่งอาหารที่เพิ่มอาจส่งผลให้นกลดระดับการแวดระวังภัยจากการถูกล่า[42] งานวิจัยบางชิ้นยังแสดงให้เห็นว่าการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้อัตราการหาอาหารลดลงด้วย[43]

รูปแบบการหาอาหาร

[แก้]

เมื่อออกหาอาหาร นกกระติ๊ดขี้หมูสามารถค้นหาอาหารในแบบตัวเดียว หรือ ค้นหานกตัวอื่นที่พบอาหารแล้วเพื่อเข้าร่วมฝูง ในเชิงเศรษฐศาสตร์ผลลัพธ์ของการตัดสินใจเข้าร่วมกับนกตัวอื่น นำไปสร้างแบบจำลองแบ่งเป็น 2 รูปแบบ[44] คือ

  • แบบจำลองของผู้ผลิต–ผู้ขโมย (รูปแบบของผู้หาอาหาร-ผู้ขอแบ่งอาหาร หรือ ผู้แย่งอาหาร – producer-scrounger model)[44]
  • แบบจำลองการแบ่งปันข้อมูลของแหล่งอาหาร

แบบจำลองทั้งสองนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานของระดับความแตกต่างของส่วนผสมระหว่าง โหมดการค้นหาอาหาร และ โหมดการเข้าร่วมค้นหาโอกาส (สู่แหล่งอาหาร)[44] ที่สัมพันธ์กัน

กล่าวคือ แบบจำลองการแบ่งปันข้อมูล จะถือว่านกแต่ละตัวเริ่มออกค้นหาพร้อม ๆ กัน ทั้งการหาอาหาร และการเข้าร่วมโอกาส ในขณะที่ในแบบจำลองผู้ผลิต - ผู้ขโมย จะถือว่าโหมดการค้นหาเป็นเอกสิทธิ์ที่นกแต่ละตัวต้องทำและร่วมกัน ไม่มีเจ้าของอาหารที่แท้จริง[45] แบบจำลองทั้งสองเกิดขึ้นและแปรตามปัจจัยเช่น จำนวนนกในฝูงหาอาหาร ปริมาณอาหาร และลักษณะการกระจายตัวของอาหาร

จากการสังเกตพฤติกรรม “การกระโดดและผงกหัวขึ้นลง” มีความสัมพันธ์ทางสถิติกับความถี่ในการเข้าร่วมและการค้นหาของนกตามลำดับ กล่าวคือ ความถี่คงที่ของการกระโดดผงกหัวและกลวิธีผู้ขโมยจะเปลี่ยนไป เมื่อปริมาณเมล็ดพืชที่หามาได้เปลี่ยนแปลง ความถี่สัมพัทธ์ของการกระโดด-ผงกหัวก็เปลี่ยนไปตามนั้น เมื่อส่วนแบ่งเมล็ดพืชไม่ให้ประโยชน์เพียงพอแก่นกที่ใช้กลยุทธผู้ขโมย (scrounger) ความถี่ของการผงกหัวก็ลดลงด้วย ซึ่งพฤติกรรมการกระโดดและผงกหัวนี้ดูเหมือนเป็นส่วนช่วยในการศึกษาและการพยากรณ์ของแบบจำลองของผู้ผลิต - ผู้ขโมย [46]

การศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า นกกระติ๊ดขี้หมูมีแนวโน้มที่จะใช้กลยุทธ์ผู้ขโมย เมื่ออาหารจับตัวเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น (ไม่กระจายตัว) และเมื่อขนาดประชากรของฝูงหาอาหารเพิ่มขึ้น นกส่วนใหญ่จะเปลี่ยนมาใช้กลยุทธผู้ขโมย ซึ่งทำให้การใช้เวลาในการค้นพบแหล่งอาหารใหม่ ๆ ก็จะนานมากขึ้น[47] (คือ สัดส่วนจำนวนของผู้ขโมยมากขึ้น ในขณะที่ผู้ค้นหาแหล่งอาหารใหม่ลดลง)

การแวดระวังภัย

[แก้]

นกในฝูงหาอาหารส่วนใหญ่ต้องช่วยกันค้นหาอาหาร ในขณะเดียวกันก็ต้องหลบหลีกเลี่ยงสัตว์ผู้ล่าด้วย เป็นไปได้ว่าแม้แต่นกตัวที่เล่นบทผู้ขโมย ก็ยังสามารถระวังภัยจากนักล่าได้ด้วยอานิสงส์ของการผงกหัว ที่เป็นการส่งสารไปสัตว์ผู้ล่า และยังมีส่วนช่วยในการเฝ้าระวัง

หากกลยุทธ์ผู้ขโมย สามารถเข้ากันได้กับการแวดระวังภัย การเพิ่มระดับการแวดระวังภัยควรนำไปสู่การรับรู้โอกาสในการร่วมโอกาสขออาหารมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีการเข้าร่วมฝูงมากขึ้น

แต่เดิมเคยคิดว่า เมื่ออยู่นิ่ง (ไม่หาอาหาร) การผงกหัวช่วยในการการแวดระวังภัย อย่างไรก็ตามจากศึกษาพบว่า การสอดส่องในขณะที่กระโดดผงกหัวไม่ได้ช่วยในการแวดระวังภัย ซึ่งเป็นไปได้ว่า กลยุทธ์ผู้ขโมยไม่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังในการแวดระวังภัยของนกกระติ๊ดขี้หมู [48]

การหาอาหารเฉพาะทาง

[แก้]

นกกระติ๊ดขี้หมูมีพฤติกรรมการแข่งขันที่หลากหลายซึ่งทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่จำกัดได้ ทางเลือกในการหาอาหารมีสองทางคือ เป็นผู้ผลิตที่หาแหล่งให้ตัวเองและตัวอื่น กับ เป็นผู้ขโมยอาหารที่พบโดยผู้ผลิต การศึกษาแสดงให้เห็นว่าทางเลือกทั้งสองนี้นำไปสู่ดุลยภาพที่มั่นคงภายในกลุ่ม (คือ ดุลยภาพทางพฤติกรรม หรือ ดุลยภาพของการเลือกกลยุทธ์) เมื่อนกแต่ละตัวมีอิสระที่จะเลือกระหว่างเป็นผู้ผลิตและผู้ขโมย การเลือกที่เป็นไปตามความถี่จะส่งผลให้พฤติกรรมทั้งสองมีความมั่นคง (สมดุล) ซึ่งแต่ละพฤติกรรมได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยที่ใกล้เคียงกัน (กล่าวคือ นกแต่ละตัวในฝูงเรียนรู้ที่จะเลือกเป็นผู้ผลิต - ผู้ขโมย และปรับเปลี่ยนการเลือกตามความถี่ของทางเลือกก่อนหน้า) การศึกษาระบุว่า หากประชากรส่วนใหญ่ของนกในฝูงเลือกเป็นผู้ผลิต พฤติกรรมการขโมยจะเป็นที่นิยม เป็นไปตามขบวนการของ การคัดเลือกโดยธรรมชาติ เนื่องจากมีอาหารมากมายให้ขโมย ในทางกลับกันถ้านกส่วนใหญ่เลือกเป็นผู้ขโมย การแข่งขันเพื่อขโมยที่สูงก็จะชี้ชวนให้เลือกเป็นผู้ผลิต[49][50]

คู่นกกระติ๊ดขี้หมูกินธัญพืช

สมมติฐาน 3 ข้อ ที่อาจอธิบายถึงความเชี่ยวชาญในการหาอาหารที่สอดคล้องกันในนกแต่ละตัว ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของแหล่งอาหาร ความแตกต่างของ ฟีโนไทป์ และการเลือกที่ขึ้นอยู่กับความถี่

  • สมมติฐานการเปลี่ยนแปลงของแหล่งอาหารคาดการณ์ว่า นกแต่ละตัวจะมีความเชี่ยวชาญทักษะอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อการใช้ทักษะสองอย่าง (การหาและการขโมย) มีต้นทุนสูงกว่าการหาอาหารที่เชี่ยวชาญทักษะเดี่ยว
  • สมมติฐานความแตกต่างทางฟีโนไทป์เสนอว่า นกแต่ละตัวมีความสามารถในการใช้ทักษะการหาอาหารแต่ละอย่างแตกต่างกัน และมีความมั่นคงในสิ่งที่ได้ประโยชน์มากที่สุด รูปแบบของความเชี่ยวชาญ (ความเฉพาะทาง) คาดว่าจะคงที่แม้ว่าจำนวนนกแต่ละตัวที่ใช้ทักษะที่กำหนดจะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางฟีโนไทป์ของฝูง
  • สมมติฐานการเลือกขึ้นอยู่กับความถี่ยังเสนอว่านกแต่ละตัวมีความเชี่ยวชาญในทักษะที่ได้ประโยชน์มากที่สุด แต่ความสามารถในการได้ประโยชน์ของแต่ละทางเลือกจะลดลง เนื่องจากจำนวนผู้หาอาหารที่เหมือนกันตามธรรมชาติจะค่อยๆเชี่ยวชาญในแต่ละทักษะ ที่จะค่อย ๆ ไปสู่จุดสมดุลของผลตอบแทนในแต่ละตัว นกจะเรียนรู้ที่จะเป็นอิสระจากรูปแบบของความเชี่ยวชาญ นกแต่ละตัวในฝูงปรับการใช้ทักษะทั้งสอง และนกสองตัวในแต่ละฝูงซึ่งเชี่ยวชาญในทักษะที่แตกต่างกันทำให้เกิดความแตกต่างของสมมติฐานการแปรผันของแหล่งอาหารและสมมติฐานการเลือกขึ้นอยู่กับความถี่ [51]

การทดลองกับฝูงนกกระติ๊ดขี้หมูในกรง ได้ผลทดสอบว่านกกระติ๊ดขี้หมูจะลองเลือกกลยุทธ์ทั้งผู้ผลิตและผู้ขโมย และจะค่อย ๆ ปรับไปสู่จุดสมดุล (ดู กลยุทธ์ที่มีเสถียรภาพตามวิวัฒนาการ) ทั้งนี้เมื่อนกแต่ละตัวมีอิสระที่จะเลือกพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง จำนวนนกที่เลือกทั้งกลยุทธ์ผู้ผลิตและผู้ขโมยจะมาบรรจบกันในความถี่ที่คงที่ ในขณะเดียวกันผลทดสอบแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงของการเลือกกลยุทธ์ที่เกิดขึ้นมาจากผลลัพธ์ของการเลือกกลยุทธ์การหาอาหารที่แตกต่างกัน (ที่ปรากฏก่อนหน้า)[52]

นอกจากนี้ นกหาอาหารอาจกินอาหารอย่างแข็งขันบนพื้นผิว หรือเลือกเมล็ดพืชที่หล่นลงบนพื้น และอาจปรับเลือกกลยุทธ์เหล่านี้ตามแต่ละสถานการณ์ การออกบิน (จากรัง หรือที่รวมฝูง - roosting) ก่อนเวลาเกิดบ่อยขึ้นเมื่อเวลาในการค้นหาที่คาดไว้ลดลง และเมื่อความเข้มข้นของการแข่งขันเพิ่มขึ้น (นกจะเรียนรู้เรื่องเวลา และปรับเวลาให้ก่อนหน้าคู่แข่งได้) ความเข้มข้นของการแข่งขันคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีผู้ขโมยมากขึ้น หรือเมื่อการรวมฝูงมีขนาดเล็กลง [53]

การพรางอาหาร

[แก้]

จากรูปแบบการหาอาหารที่ผู้ผลิตค้นหาอาหารและผู้ขโมยรอโอกาสที่จะเข้าแย่งอาหาร จึงบังคับให้ผู้ผลิตพรางอาหาร (prey crypsis) ซึ่งจะเปลี่ยนจุดสมดุลของผู้ผลิตผู้ขโมยไปสู่การขโมยมากขึ้น การพรางอาหารส่งผลให้เวลาแฝงในการกินเมล็ดพืชเพิ่มขึ้นและเพิ่มจำนวนข้อผิดพลาดในการตรวจจับ[54] ยิ่งไปกว่านั้นการปรากฏตัวของคู่แข่งส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการหาอาหารภายใต้พฤติกรรมการพรางอาหารนี้

ประสิทธิภาพการหาอาหารของนกแต่ละตัวหลังจากที่เคยกับหาร่วมกับคู่แข่งที่พรางเมล็ดพืชยังคงต่ำแม้ว่าคู่แข่งจะออกไปแล้วก็ตาม ดังนั้นต้นทุนในการหาอาหารที่ถูกพรางไว้จะสูงกว่าโดยเฉพาะกับฝูงหาอาหารมากกว่าการหาอาหารแบบตัวเดียว [55]

การป้องกันทรัพยากร

[แก้]

แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ล่าสุดของการป้องกันทรัพยากรในบริบทการหาอาหารเป็นฝูง คาดการณ์ว่าความถี่ของการโต้ตอบเชิงรุกควรลดลงเมื่อความหนาแน่นของทรัพยากรเพิ่มขึ้น[56][57][58] การศึกษาเกี่ยวในนกกระติ๊ดขี้หมูแสดงให้เห็นว่า ความรุนแรงของการเผชิญหน้ากันนั้นสูงที่สุดเมื่อมีเกิดการปรากฏของตำแหน่งรวมฝูง (patch position) และการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นของทรัพยากรขึ้นอยู่กับว่ามีการส่งสัญญาณตำแหน่งรวมฝูงหรือไม่

การส่งสัญญาณตำแหน่งรวมฝูง เทียบเท่ากับการทำให้แหล่งทรัพยากร(แหล่งอาหาร)เป็นที่คาดเดาเชิงพื้นที่ได้มากขึ้น การเปลี่ยนความหนาแน่นของการรวมฝูงไม่มีผลต่อระดับความรุนแรงของการเผชิญหน้ากัน เมื่อไม่มีสัญญาณระบุตำแหน่งของอาหาร เมื่อตำแหน่งอาหารถูกส่งสัญญาณความหนาแน่นของการรวมฝูงที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ระดับความรุนแรงของการเผชิญหน้ากันลดลง[59]

ถิ่นที่อยู่อาศัยและการกระจายพันธุ์

[แก้]
นกกระติ๊ดขี้หมู (ชนิดย่อย topela [60] ) ได้ตั้งอาณานิคมใหม่ในพื้นที่ทางตะวันออกของออสเตรเลียเช่น ควีนส์แลนด์

นกกระติ๊ดขี้หมูพบได้ในแหล่งที่อยู่อาศัยหลายประเภท โดยปกติจะอาศัยอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำและทุ่งหญ้า ในอินเดียพบได้ทั่วไปในพื้นที่นาซึ่งจัดเป็นศัตรูพืชรายย่อยเนื่องจากการกินเมล็ดพืชปริมาณไม่มาก ส่วนใหญ่พบในที่ราบ แต่สามารถพบได้ในบริเวณเชิงเขาของเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งอาจมีอยู่ในระดับความสูงเกือบ 2,500 เมตร (1.6 ไมล์) และในแถบนิลคีรี (Nilgiris) ซึ่งพบได้ที่ระดับความสูงถึง 2,100 เมตร (6,900 ฟุต) ในช่วงฤดูร้อน ในปากีสถานนกกระติ๊ดขี้หมูพบได้ในบริเวณที่จำกัด ในช่วงเมืองสวาท (Swat) ทางตะวันตกของปากีสถาน ไปจนถึงเมืองลาฮอร์ ยกเว้นในเขตพื้นที่ทะเลทราย และตลอดไปจนถึงในอินเดียทางตะวันออกในพื้นที่ระหว่างลุธิอาณา (Ludhiana) และภูเขาอบู (Mount Abu)[61] นกกระติ๊ดขี้หมูยังพบเห็นได้ในกัศมีร์ (แคชเมียร์) แม้ว่าจะหายาก[62][63]

นกกระติ๊ดขี้หมูที่พลัดหลงอยู่นอกถิ่นกำเนิด มักอาศัยในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศเหมาะสม และมีประชากรมากพอที่จะสามารถตั้งอาณานิคมใหม่ในบริเวณใกล้เคียงได้ นกกระติ๊ดขี้หมูที่หลบหนีจากกรงสู่ธรรมชาติ ได้รับการบันทึกการพบเห็นได้ในหมู่เกาะเวสต์อินดีส (เปอร์โตริโกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514) [64] ฮาวาย (ตั้งแต่ พ.ศ. 2426[65]) [66] ออสเตรเลีย[67] ญี่ปุ่น[68] และ ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาวซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในฟลอริดาและแคลิฟอร์เนีย[69][70] ในโออาฮูฮาวาย นกกระติ๊ดขี้หมูต้องแข่งขันเพื่อแย่งแหล่งที่อยู่อาศัยกับนกกระติ๊ดสามสีและมีแนวโน้มที่จะหาได้ยากเมื่อมีนกกระติ๊ดสามสี

ในประเทศไทย นกกระติ๊ดขี้หมูเป็นนกประจำถิ่น[71] มีแหล่งที่อยู่อาศัยในภาคเหนือตอนล่างจนถึงภาคกลาง ในทุ่งนา ทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ และพื้นที่เปิดโล่งใกล้ชุมชนเมือง ในที่ราบจนถึงระดับความสูง 1,500 เมตร ในประเทศไทย นกกระติ๊ดขี้หมูเป็นนกประจำถิ่น[72] ถิ่นอาศัยของนกกระติ๊ดขี้หมูพบได้ทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย อาศัยในที่อากาศค่อนข้างร้อน และ เป็นที่โล่ง ตามทุ่งหญ้า ป่าโปร่ง พื้นที่เกษตรกรรม และชุมชน จากที่ราบจนถึงความสูง 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ชนิดย่อย L. p. topela มีแหล่งที่อยู่อาศัยในภาคเหนือตอนล่างจนถึงภาคกลาง แต่พบน้อยทางภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปเนื่องจากเป็นที่ทึบชื้นหรือเป็นป่าดิบชื้น[3] ในภาคใต้ตอนล่างของไทยเป็นชนิดย่อย L. p. fretensis[11]

นิเวศวิทยาและการอนุรักษ์

[แก้]

นกกระติ๊ดขี้หมู (Lonchura punctulata) เป็นสายพันธุ์ที่มีประชากรอยู่มากมายและจัดอยู่ในประเภท "มีความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์" (LC) โดย สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) นกกระติ๊ดขี้หมูมีช่วงการกระจายพันธุ์ที่กว้างมาก มีประชากรที่มากที่ยังไม่ได้ถูกนับจำนวนและมีแนวโน้มที่เสถียร โดยภาพรวมทั่วโลกแล้วประชากรนกกระติ๊ดขี้หมูไม่ได้ถูกคุกคาม และยังสามารถพบได้บ่อยถึงบ่อยมากในเกือบทุกช่วงการกระจายพันธุ์ อย่างไรก็ตามประชากรบางส่วนที่อยู่ในหมู่เกาะซุนดาน้อย นั้นจะพบเห็นได้ค่อยข้างยาก[ต้องการอ้างอิง]

ในหลายพื้นที่ นกกระติ๊ดขี้หมูถูกจัดเป็นศัตรูพืชทางการเกษตร จากพฤติกรรมการหาอาหารเป็นฝูงขนาดใหญ่โดยเฉพาะในไร่ธัญพืช เช่น ข้าว[73] ข้าวฟ่าง ข้าวป่า[27]

ในประเทศไทย นกกระติ๊ดขี้หมูเป็นศัตรูข้าว โดยลงกินข้าวพร้อมกันเป็นฝูงตั้งแต่ระยะข้าวเป็นน้ำนม ไปจนถึงเก็บเกี่ยว โดยเจาะขบเปลือกกินเฉพาะข้าวน้ำนมหรือเมล็ดข้าวอ่อน ขณะเดียวกันการเกาะของนกทำให้คอรวงข้าวหักง่าย ซึ่งหน่วยงานบางหน่วยแนะนำให้ป้องกันและกำจัด เช่น กรมการข้าว[35] โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น ทำลายรังนกและไข่ กำจัดแหล่งอาศัยของนกกระติ๊ด ใช้ตาข่ายคลุมนาทั้งแปลง

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศไทย นกกระติ๊ดขี้หมูจำนวนมากถูกจับกักขังเพื่อรอใช้ในพิธีความเชื่อทางพุทธศาสนาเรียกว่า การสะเดาะเคราะห์ด้วยการปล่อยนกปล่อยปลา นกเหล่านี้ส่วนใหญ่จะถูกปล่อยในภายหลังโดยการซื้อไปปล่อย แต่มีจำนวนไม่น้อยที่อ่อนเพลียและตายก่อนจะถูกปล่อย[4] ในประเทศไทย หลังจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2535[74] นกกระติ๊ดขี้หมูได้รับการบรรจุเป็นสัตว์คุ้มครองบัญชีรายชื่อ ปี 2546 ในลำดับที่ 62 โดยจากสถิติเฉพาะปี 2559 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ได้จับกุมผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายตามวัดและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ พบของกลางเป็นนกกระติ๊ดขี้หมู  4,354 ตัว ส่วนใหญ่มาจาก จ.สระบุรี และ จ.ราชบุรี โดยการหว่านแหจับนกกระติ๊ดขี้หมูที่บินลงไปกินข้าวกลางทุ่งนา ใส่กรงนำมาขายให้พ่อค้าแม่ค้าในเมืองใหญ่โดยเฉพาะที่กรุงเทพ ปัจจุบันคาดว่าการลักลอบซึ้อขายนกกระติ๊ดขี้หมูเพื่อการปล่อยนกสะเดาะเคราห์มีจำนวนลดลง และส่วนหนึ่งของการรณรงค์อนุรักษ์นกโดยการผลิตภาพยนคร์สั้นเพื่อปรับแนวคิดในการทำบุญปล่อยนก เรื่อง ปล่อยนก บุญหรือบาป ผลิตโดย สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย[19][75]


ระเบียงภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. BirdLife International (2016). Lonchura punctulata. The IUCN Red List of Threatened Species 2016. doi:10.2305/IUCN.UK.2016-3.RLTS.T22719821A94646304.en
  2. Linnaeus, Carl (1758). Systema Naturae per Regna Tria Naturae, Secundum Classes, Ordines, Genera, Species, cum Characteribus, Differentiis, Synonymis, Locis. Tomus I. Editio decima, reformata (ภาษาละติน). Holmiae (Stockholm, Sweden): Laurentius Salvius. p. 145.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 นกกระติ๊ดขี้หมู 30 ธันวาคม 2551. อ้างอิงจาก Craig Robson, "A Field Guide to the birds of Thailand and South - east Asia"
  4. 4.0 4.1 Collar, N; Ian Newton; Peter Clement; Vladimir Arkhipov (2010). del Hoyo, Josep; Andrew Elliott; David Christie (บ.ก.). Handbook of the birds of the world. Volume 15. Finches. Barcelona: Lynx Edicions. ISBN 978-84-96553-68-2.
  5. Clements, J. F.; T. S. Schulenberg; M. J. Iliff; B.L. Sullivan; C. L. Wood; D. Roberson (2013). The eBird/Clements checklist of birds of the world: Version 6.8. The Cornell Lab of Ornithology.
  6. eBird นกกระติ๊ดขี้หมู (ลายตาข่าย) สืบค้นเมื่อ 15 ธันวาคม 2563.
  7. 7.0 7.1 Avibase. Scaly-breasted Munia (nominate). สืบค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2563.
  8. Avibase. Scaly-breasted Munia (subundulata). สืบค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2563.
  9. Avibase. Scaly-breasted Munia (yunnanensis). สืบค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2563.
  10. Avibase. Scaly-breasted Munia (topela). สืบค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2563.
  11. 11.0 11.1 Avibase. Scaly-breasted Munia (fretensis). สืบค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2563.
  12. Avibase. Scaly-breasted Munia (cabanisi). สืบค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2563.
  13. Avibase. Scaly-breasted Munia (holmesi). สืบค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2563.
  14. Avibase. Scaly-breasted Munia (particeps). สืบค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2563.
  15. Avibase. Scaly-breasted Munia (baweana). สืบค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2563.
  16. Avibase. Scaly-breasted Munia (sumbae). สืบค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2563.
  17. Avibase. Scaly-breasted Munia (blasii). สืบค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2563.
  18. 18.0 18.1 Rasmussen PC; JC Anderton (2005). Birds of South Asia. The Ripley Guide. Volume 2. Smithsonian Institution and Lynx Edicions. p. 673. ISBN 978-84-87334-66-5.
  19. 19.0 19.1 19.2 OKnation นกกระติ๊ดขี้หมู (Scaly-breasted Munia; Lonchura punctulata) เก็บถาวร 2020-02-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน มิถุนายน 2560
  20. 20.0 20.1 20.2 Restall, Robin (1997). Munias and Mannikins. Yale University Press. pp. 97–105. ISBN 978-0-300-07109-2.
  21. Arnaiz-Villena, A; Ruiz-del-Valle V; Gomez-Prieto P; Reguera R; Parga-Lozano C; Serrano-Vela I (2009). "Estrildinae Finches (Aves, Passeriformes) from Africa, South Asia and Australia: a Molecular Phylogeographic Study" (PDF). The Open Ornithology Journal. 2: 29–36. doi:10.2174/1874453200902010029. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-03-21. สืบค้นเมื่อ 2020-12-15.
  22. Burton, M., R. Burton (2002). International Wildlife Encyclopedia. New York, NY: Marshal Cavendish.
  23. 23.0 23.1 23.2 23.3 23.4 Moynihan, M; M F Hall (1954). "Hostile, Sexual, and Other Social Behaviour Patterns of the Spice Finch (Lonchura punctulata) in Captivity". Behaviour. 7 (1): 33–76. doi:10.1163/156853955X00021.
  24. สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม นกกระติ๊ดขี้หมู (Scaly-breasted Munia) สืบค้นเมื่อ 15 ธันวาคม 2563.
  25. Luis F. Baptista; Robin Lawson; Eleanor Visser; Douglas A. Bell (April 1999). "Relationships of some mannikins and waxbills in the estrildidae". Journal für Ornithologie. 140 (2): 179–192. doi:10.1007/BF01653597.
  26. Sikdar M; A Kar; P Prakash (1992). "Role of humidity in the seasonal reproduction of male spotted munia, Lonchura punctulata". Journal of Experimental Zoology. 264 (1): 82–84. doi:10.1002/jez.1402640112.
  27. 27.0 27.1 นกกระติ๊ดขี้หมู 30 ธันวาคม 2551. อ้างอิงจาก Craig Robson "A Field Guide to the birds of Thailand and South - east Asia".
  28. Gokula V (2001). "Nesting ecology of the Spotted Munia Lonchura punctulata in Mudumalai Wildlife Sanctuary (South India)". Acta Ornithologica. 36 (1): 1–5. doi:10.3161/068.036.0107.
  29. Sharma RC; Bhatt D; Sharma RK (2004). "Breeding success of the tropical Spotted Munia Lonchura punctulata in urbanized and forest habitats". Ornithological Science. 3 (2): 113–117. doi:10.2326/osj.3.113.
  30. 30.0 30.1 ทับทิม มั่นมาก. นกกระติ๊ดขี้หมู (Scaly-breasted Munia)[ลิงก์เสีย] เชียงใหม่นิวส์ 7 มกราคม 62.
  31. Ali, S; Ripley, SD (1999). Handbook of the Birds of India and Pakistan. Volume 10 (2nd ed.). New Delhi: Oxford University Press. pp. 119–121. ISBN 978-0-19-563708-3.
  32. Lamba, BS (1974). "Nest construction technique of the Spotted Munia, Lonchura punctulata". Journal of the Bombay Natural History Society. 71 (3): 613–616.
  33. Mehta, P (1997). "Spotted Munia Lonchura punctulata feeding on scat?". Newsletter for Birdwatchers. 37 (1): 16.
  34. Nuijens, FW; GA Zweers (1997). "Characters discriminating two seed husking mechanisms in finches (Fringillidae: Carduelinae) and estrildids (Passeridae: Estrildinae)". Journal of Morphology. 232 (1): 1–33. doi:10.1002/(SICI)1097-4687(199704)232:1<1::AID-JMOR1>3.0.CO;2-G. PMID 29852621.
  35. 35.0 35.1 องค์ความรู้เรื่องข้าว สัตว์ศัตรูข้าว และการป้องกันกำจัด เก็บถาวร 2020-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เวอร์ชัน 3.0 (ปี 2559) กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว. 2559.
  36. "Scaly-breasted Munia feeding on green alga". Bird Ecology Study Group. 2009-10-21.
  37. Avery, M. L. (1980). "Diet and breeding seasonality among a population of sharp-tailed munias, Lonchura striata, in Malaysia" (PDF). The Auk. 97: 160–166.
  38. Stephens, DW (2007). A comprehensive guide to optimal foraging theory. Foraging: The University of Chicago Press.
  39. Pulliam, R. H. (1973). "On the advantages of flocking". Journal of Theoretical Biology. 38 (2): 419–422. doi:10.1016/0022-5193(73)90184-7. PMID 4734745.
  40. Beauchamp, G; Barbara Livoreil (1997). "The effect of group size on vigilance and feeding rate in spice finches (Lonchura punctulata)". Canadian Journal of Zoology. 75 (9): 1526–1531. doi:10.1139/z97-776.
  41. Giraldeau, L.A.; G. Beauchamp (1 March 1999). "Food exploitation: searching for the optimal joining policy". Trends in Ecology and Evolution. 14 (3): 102–106. doi:10.1016/S0169-5347(98)01542-0. PMID 10322509.
  42. Rieucau, G.; Giraldeau, L.-A. (March–April 2009). "Group size effect caused by food competition in nutmeg mannikins (Lonchura punctulata)". Behavioral Ecology. 20 (2): 421–425. doi:10.1093/beheco/arn144.
  43. Gauvin, Shawn; Giraldeau, Luc-Alain (2004). "Nutmeg mannikins (Lonchura punctulata) reduce their feeding rates in response to simulated competition". Oecologia. 139 (1): 150–156. doi:10.1007/s00442-003-1482-2. PMID 14722748.
  44. 44.0 44.1 44.2 Giraldeau, L-A.; Beauchamp, G. (1999). "Food exploitation: searching for the optimal joining policy". Trends in Ecology & Evolution. 14 (3): 102–106. doi:10.1016/S0169-5347(98)01542-0. PMID 10322509.
  45. Giraldeau, L-A.; Beauchamp, G. (1999). "Food exploitation: searching for the optimal joining policy". Trends in Ecology & Evolution. 14 (3): 102–106. doi:10.1016/S0169-5347(98)01542-0. PMID 10322509.
  46. Coolen, Isabelle; Giraldeau, Luc-Alain; Lavoie, Myriam (May 2001). "Head position as an indication of producer and scrounger tactics in a ground-feeding bird". Animal Behaviour. 61 (5): 895–903. doi:10.1006/anbe.2000.1678.
  47. Coolen, Isabelle (2002). "Increasing foraging group size increases scrounger use and reduces searching efficiency in nutmeg mannikins (Lonchura punctulata)". Behavioral Ecology and Sociobiology. 52 (3): 232–238. doi:10.1007/s00265-002-0500-4.
  48. Coolen, Isabelle; Giraldeau, Luc-Alain (1 October 2003). "Incompatibility between antipredatory vigilance and scrounger tactic in nutmeg mannikins, Lonchura punctulata". Animal Behaviour. 66 (4): 657–664. doi:10.1006/anbe.2003.2236.
  49. Davies, Nicholas (2012). An Introduction to Behavioural Ecology. Competing for Resources: Wiley-Blackwell. pp. 130–131. ISBN 978-1-4051-1416-5.
  50. Barnard, C.J.; R.M. Sibly (May 1981). "Producers and scroungers: A general model and its application to captive flocks of house sparrows". Animal Behaviour. 29 (2): 543–550. doi:10.1016/S0003-3472(81)80117-0.
  51. Beauchamp, G.; Giraldeau, L.-A.; Ennis, N. (1 April 1997). "Experimental evidence for the maintenance of foraging specializations by frequency-dependent choice in flocks of spice finches". Ethology Ecology & Evolution. 9 (2): 105–117. doi:10.1080/08927014.1997.9522890.
  52. Mottley, Kieron; Giraldeau, Luc-Alain (September 2000). "Experimental evidence that group foragers can converge on predicted producer–scrounger equilibria" (PDF). Animal Behaviour. 60 (3): 341–350. doi:10.1006/anbe.2000.1474. PMID 11007643.
  53. Beauchamp G; Giraldeau, Luc-Alain (1997). "Patch exploitation in a producer-scrounger system: test of a hypothesis using flocks of spice finches (Lonchura punctulata)". Behavioral Ecology. 8 (1): 54–59. doi:10.1093/beheco/8.1.54.
  54. Barrette, Maryse; Giraldeau, Luc-Alain (2006). "Prey crypticity reduces the proportion of group members searching for food". Animal Behaviour. 71 (5): 1183–1189. doi:10.1016/j.anbehav.2005.10.008.
  55. Courant, Sabrina; Giraldeau, Luc-Alain (2008). "Conspecific presence makes exploiting cryptic prey more difficult in wild-caught nutmeg mannikins". Animal Behaviour. 75 (3): 1101–1108. doi:10.1016/j.anbehav.2007.08.023.
  56. Broom, Mark; Ruxton, Graeme D. (1 January 1998). "Evolutionarily stable stealing: game theory applied to kleptoparasitism". Behavioral Ecology. 9 (4): 397–403. doi:10.1093/beheco/9.4.397.
  57. Sirot, E. (1999). "An evolutionarily stable strategy for aggressiveness in feeding groups". Behavioral Ecology. 11 (4): 351–356. doi:10.1093/beheco/11.4.351.
  58. Dubois, F. (2002). "Resource defense in a group-foraging context". Behavioral Ecology. 14 (1): 2–9. doi:10.1093/beheco/14.1.2.
  59. Dubois, Frédérique; Giraldeau, Luc-Alain (July 2004). "Reduced resource defence in an uncertain world: an experimental test using captive nutmeg mannikins". Animal Behaviour. 68 (1): 21–25. doi:10.1016/j.anbehav.2003.06.025.
  60. Forshaw J; Mark Shephard; Anthony Pridham. Grassfinches in Australia. Csiro Publishing. pp. 267–268.
  61. Abbass, D.; Rais, M.; Ghalib, S.A.; Khan, M.Z. (2010). "First Record of Spotted Munia (Lonchura punctulata) from Karachi". Pakistan Journal of Zoology. 42 (4): 503–505.
  62. Ali, S; Ripley, SD (1999). Handbook of the Birds of India and Pakistan. Volume 10 (2nd ed.). New Delhi: Oxford University Press. pp. 119–121. ISBN 978-0-19-563708-3.
  63. Akhtar, SA; Rao, Prakash; Tiwari, JK; Javed, Salim (1992). "Spotted Munia Lonchura punctulata (Linn.) from Dachigam National Park, Jammu and Kashmir". Journal of the Bombay Natural History Society. 89 (1): 129.
  64. Moreno, JA (1997). "Review of the Subspecific Status and Origin of Introduced Finches in Puerto Rico". Caribbean Journal of Science. 33 (3–4): 233–238.
  65. Moulton, MP (1993). "The All-or-None Pattern in Introduced Hawaiian Passeriforms: The Role of Competition Sustained". The American Naturalist. 141 (1): 105–119. doi:10.1086/285463. JSTOR 2462765.
  66. Moulton, M. P.; Allen, L. J. S.; Ferris, D. K. (1992). "Competition, resource use and habitat selection in two introduced Hawaiian Mannikins". Biotropica. 24 (1): 77–85. doi:10.2307/2388475. JSTOR 2388475.
  67. Arnaiz-Villena, A; Ruiz-del-Valle V; Gomez-Prieto P; Reguera R; Parga-Lozano C; Serrano-Vela I (2009). "Estrildinae Finches (Aves, Passeriformes) from Africa, South Asia and Australia: a Molecular Phylogeographic Study" (PDF). The Open Ornithology Journal. 2: 29–36. doi:10.2174/1874453200902010029. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-03-21. สืบค้นเมื่อ 2020-12-15.
  68. Eguchi K; Amano; H E (2004). "Invasive Birds in Japan" (PDF). Global Environmental Research. 8 (1): 29–39.
  69. Duncan RA (2009). "The status of the nutmeg mannikin (Lonchura punctulata) in the extreme western panhandle of Florida" (PDF). Florida Field Naturalist. 37 (3): 96–97.
  70. Garrett, KL (2000). "The juvenile nutmeg mannikin: identification of a little brown bird" (PDF). Western Birds. 31 (2): 130–131.
  71. https://www.birdsofthailand.org/bird/scaly-breasted-munia
  72. https://www.birdsofthailand.org/bird/scaly-breasted-munia
  73. Bomford, Mary; Ron Sinclair (2002). "Australian research on bird pests: impact, management and future directions". Emu. 102: 29–45. doi:10.1071/MU01028.
  74. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 109 ตอนที่ 15.
  75. สรารัตน์ ชินอาน รู้หรือยัง! ทำบุญ สะเดาะเคราะห์ ปล่อยนกกระติ๊ด ระวังติดคุก -พรากลูกแม่ ก่อบาปไม่รู้ตัว? สำนักข่าวอิศรา. 8 กรกฎาคม 2560.