ทศกัณฐ์
ทศกัณฐ์ | |
---|---|
ตัวละครใน รามเกียรติ์ | |
ผู้ครองกรุงลงกา | |
เผ่าพันธุ์ | รากษส |
เพศ | ผู้ |
ตำแหน่ง | กษัตริย์แห่งกรุงลงกา |
คู่สมรส | นางกาลอัคคี นางมณโฑ นางสนมพันตน นางสนมสิบตน นางปลา นางช้างพัง |
บุตร | บรรลัยกัลป์ อินทรชิต ไพนาสุริยวงศ์ (ทศพิน) สหัสกุมาร สีดา สิบรถ นางสุพรรณมัจฉา ทศคีรีวัน ทศคีรีธร |
ญาติ | ท้าวลัสเตียน (บิดา) นางรัชฎา (มารดา) ท้าวจตุรพักตร์ (ปู่) กุมภกรรณ (น้องชาย) พิเภก (น้องชาย) ขร (น้องชาย) ทูษณ์ (น้องชาย) ตรีเศียร (น้องชาย) นางสำมนักขา (น้องสาว) พระราม (ลูกเขย) หนุมาน (ลูกเขย) มัจฉานุ (หลาน) |
มิตรสหาย | ไมยราพณ์, ฤๅษีโคบุตร, สหัสเดชะ, มูลพลัม, ท้าวจักรวรรดิ, สัตลุง, มหาบาล, อัศกรรณมารา, สัทธาสูร, ไพจิตราสูร |
ศัตรู | พระราม, พระลักษมณ์, หนุมาน, พาลี, สุครีพ, องคต, ชมพูพาน, พิเภก (ขณะที่พิเภกเป็นไส้ศึกแก่พระราม) |
ทศกัณฐ์ (สันสกฤต : दशकण्ठ) (ผู้มีสิบคอ คือ มีสิบหัว) เป็นตัวละครฝ่ายอธรรมตัวหนึ่งในวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ ดัดแปลงมาจากตัวละครราวณะ (สันสกฤต : रावण) ในมหากาพย์ฮินดู รามายณะ
ประวัติ
[แก้]ทศกัณฐ์ เป็นบุตรคนโตของท้าวลัสเตียนกับนางรัชฎา เจ้ากรุงลงกา และเป็นหลานของท้าวมาลีวราช เดิมเป็นยักษ์ชื่อ "นนทก" กลับชาติมาเกิด ซึ่งนนทกมีหน้าที่ล้างเท้าให้กับเทวดาทั้งหลาย เทวดาเหล่านั้นก็มักจะลูบหัวนนทกจนหัวล้าน นนทกจึงเกิดความแค้น เลยไปขอนิ้วเพชรจากพระอิศวร แล้วทำร้ายพวกเทวดาที่มาลูบหัวตน นนทกได้เข่นฆ่าเหล่าเทวดาตายนับไม่ถ้วน ทำให้พระอิศวรสั่งให้พระนารายณ์ให้มาช่วยปราบนนทก พระนารายณ์จัดการกับนนทก โดยการจำแลงองค์เป็นนางเทพอัปสรดักอยู่ตรงทางที่นนทกเดินผ่านเป็นประจำ ฝ่ายยักษ์นนทกเมื่อได้เห็นนางจำแลงจึงเกิดความหลงและเข้าไปเกี้ยวพาราสี นางจำแลงแสร้งทำยินดี โดยยื่นข้อเสนอว่าให้นนทกร่ายรำตามนางทุกท่าแล้วจะยินดีผูกมิตรด้วย และแล้วยักษ์นนทกก็ทำตามนาง ด้วยท่ารำตามกลอนว่า
เทพนมปฐมพรหมสี่หน้า | สอดสร้อยมาลาเฉิดฉิน |
ทั้งกวางเดินดงหงส์บิน | กินรินเรียบถ้ำอำไพ |
อีกช้านางนอนภมรเคล้า | ทั้งแขกเต้าผาลาเพียงไหล่ |
เมขลาโยนแก้วแววไว | มยุเรศฟ้อนในอำพร |
ยอดตองต้องลมพรหมนิมิตร | ทั้งพิศมัยเรียงหมอน |
ย้ายท่ามัจฉาชมสาคร | พระสี่กรขว้างจักรฤทธิรงค์ |
ฝ่ายว่านนทกก็รำตาม | ด้วยความพิศมัยไหลหลง |
ถึงท่านาคาม้วนหางวง | ชี้ตรงถูกเพลาทันใด |
โดยหารู้ไม่ว่านั่นเป็นเล่ห์กล จนกระทั่งถึงท่านาคาม้วนหางนิ้วเพชรของนนทกชี้ไปที่ขาของตัวเอง ขานนทกก็หักลงทันใด นนทกล้มลง ทันใดนั้น นางแปลงกลายเป็นพระนารายณ์เหยียบอกนนทกไว้
ก่อนตาย นนทกอ้างว่าพระนารายณ์มีหลายมือตนสู้ไม่ได้ พระนารายณ์จึงให้คำสัตย์ว่า ให้นนทกไปเกิดใหม่ มีสิบเศียรสิบพักตร์ยี่สิบมือ เหาะเหินเดินอากาศได้ มีอาวุธนานาชนิดครบทุกมือ ส่วนพระนารายณ์จะไปเกิดเป็นมนุษย์มีสองมือและตามไปฆ่านนทกให้ได้ นนทกต่อมานนทกไปเกิดเป็นเปรตอยู่ที่เขาไกรลาสของพระอิศวรมีกระดูกยื่นออกมาจากศีรษะและใช้เส้นเอ็นของตนเล่นศอจนพระอิศวรลงมานนทกจึงขอพรให้ตนไปเกิดเป็นทศกัณฐ์ตามคำของพระนารายณ์พระอิศวรจึงให้พรแล้วให้นนทกไปจุติในครรภ์พระนางรัชดา มเหสีท้าวลัสเตียน เจ้ากรุงลงกา เกิดมาเป็นโอรสนามว่าทศกัณฐ์
ตามรามเกียรติ์ อาวุธของทศกัณฐ์มีดังกลอนต่อไปนี้
กระทืบบาทผาดโผนโจนร้อง | กึกก้องฟากฟ้าอึงอุด |
มือหนึ่งจับศรฤทธิรุทร | มือสองนั้นยุดพระขรรค์ชัย |
มือสามจับจักรกวัดแกว่ง | มือสี่จับพระแสงหอกใหญ่ |
มือห้าจับตรีแกว่งไกว | มือหกฉวยได้คทาธร |
มือเจ็ดนั้นจับง้าวง่า | มือแปดคว้าได้พะเนินขอน |
มือเก้ากุมเอาโตมร | กรสิบนั้นหยิบเกาทัณฑ์ |
ทศกัณฐ์ยังมีความสามารถพิเศษคือการได้ถอดดวงใจใส่กล่อง ฝากไว้กับอาจารย์คือพระฤๅษีโคบุตร ซึ่งในบางตำราก็กล่าวไว้ว่า ทศกัณฐ์ได้สวดมนต์สหัสนาม หรือพระนามทั้ง ๑,๐๐๐ ของพระนารายณ์ เพื่อให้สามารถรอดพ้นจากความตายได้ ๑ ครั้ง และก็อาศัยช่วงนั้น ทำการควักดวงใจของตน ออกมาใส่ไว้ในกล่องแก้ว ซึ่งลงอาคมกำกับไว้ แต่มีข้อเสีย คือ หัวใจนั้น ย่อมปรารถนาจะเข้าหาที่อยู่เดิมของมัน จึงต้องเก็บรักษาไว้ให้ห่างตัวของทศกัณฐ์ ทศกัณฐ์จึงฝากให้พระฤๅษีโคบุตร เป็นผู้ดูแลกล่องดวงใจ ทำให้ไม่มีใครฆ่าได้ ด้วยความที่มีนิสัยเจ้าชู้ ได้ลักพาตัวนางสีดาผู้มีรูปโฉมที่งดงาม ไปจากพระรามที่เป็นพระสวามี เป็นเหตุให้เกิดศึกสงครามระหว่าง ฝ่ายพระราม กับ ฝ่ายทศกัณฐ์ จนญาติมิตรของฝ่ายทศกัณฐ์ล้มตายไปเป็นจำนวนมาก สุดท้ายทศกัณฐ์ก็ถูกล่อลวงเอากล่องดวงใจไป ด้วยเล่ห์เพทุบายของหนุมาน ทำให้ทศกัณฐ์เองก็ต้องตายเพราะนิสัยเจ้าชู้และความไม่ยอมแพ้ของตน ซึ่งก่อนตาย ทศกัณฐ์ได้รู้ตัวแล้วว่าต้องตายแน่ แต่ด้วยขัตติยมานะจึงต้องต่อสู้กับพระราม จึงแต่งองค์อย่างงดงาม และถูกศรพรหมมาศของพระรามฆ่าตาย ก่อนตาย ทศกัณฐ์ได้เห็นภาพว่า แท้ที่จริงแล้วพระรามคือ พระนารายณ์อวตาร และได้สั่งเสียกับน้องชายตัวเองคือพิเภก ซึ่งเรียกว่า "ทศกัณฐ์สอนน้อง" และภายหลังพิเภกก็ได้ทีครองกรุงลงกาสืบต่อแทน
ทศกัณฐ์ เป็นหนึ่งในยักษ์ทวารบาลสองตน ที่ยืนเฝ้าประตูทางเข้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามคู่กับสหัสเดชะ เพราะถือว่าเป็น ยักษ์ที่มีฤทธิ์มากเท่าเทียมกัน
มีการวิเคราะห์กันว่า ตัวละครอย่าง ทศกัณฐ์ หรือบรรดายักษ์ในเรื่อง เป็นตัวแทนของชาวทราวิฑหรือทัสยุ ซึ่งเป็นชนชาวผิวดำที่อยู่ทางตอนใต้ของอินเดียในสมัยโบราณ และพระรามและพลพรรคลิงเป็นตัวแทนของชาวอารยัน หรือชาวผิวขาวที่อยู่ทางตอนเหนือ และชาวอารยันก็ได้ทำสงครามชนะชาวทัสยุ ซึ่งต่อมาก็ได้มีการแต่งวรรณกรรมเรื่อง รามายณะขึ้นมาเพื่อยกย่องพวกตนเอง
วงศ์ของทศกัณฐ์
[แก้]ท้าวลัสเตียน | นางรัชฎา | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
นางมณโฑ | ทศกัณฐ์ | กุมภกรรณ | พิเภก | ขร | ทูษณ์ | ตรีเศียร | นางสำมนักขา | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
นางเบญกาย | มังกรกัณฐ์ | วิรุณจำบัง | กุมภกาศ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
นางสีดา | อินทรชิต | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
บรรลัยกัลป์ | ทศคีรีวัน | ทศคีรีธร | สุพรรณมัจฉา | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ลักษณะและสี
[แก้]ทศกัณฐ์เป็นยักษ์รูปงาม มี 10 หน้า 20 กร ปากแสยะ ตาโพลง มีกายเป็นสีเขียว (กายเป็นสีทองตอนลงสวนเกี้ยวนางสีดา)
โคลงภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ที่พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
[แก้]ภาพจิตรกรรมฝาผนังชุดรามเกียรติ์นี้เริ่มเขียนตั้งแต่ภาพพระนารายณ์อวตารในปางต่างๆ ก่อนที่จะอวตารมาเป็น พระราม ในเรื่องรามเกียรติ์
ภาพเขียนนี้มีทั้งหมด ๑๗๘ ห้อง มีทั้งคำบรรยายใต้ภาพและคำบรรยายเป็นโคลงสลักบนแผ่นหินอ่อนติดอยู่ที่ เสารอบพระระเบียง
และมีภาพตัวละครสำคัญอีก ๘๐ ภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝ่ายอสูรและฝ่ายวานร เขียนอยู่ตามซุ้มประตูและมุขพระระเบียง โคลงประจำภาพว่า
ทศกรรฐสิบภักตรชั้น | เศียรตรี | |
ทรงมกุฎไชยเขียวสี | อาตมไท้ | |
กรยี่สิบพรศุลี | ประสาศฤทธิ ยิ่งนา | |
ถอดจิตรจากตนได้ | ปิ่นด้าวลงกา ฯ | |
— พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ (ตัวสะกดตามต้นฉบับเดิม) |
อ้างอิง
[แก้]- สี ลักษณะหัวโขน และประวัติสังเขปของตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ นาย ประพันธ์ สุคนธชาติ รวบรวม
- ทศกัณฐ์ จิตรกรรมฝาผนังวัดหัวลำโพง wathualampong.com เก็บถาวร 2009-07-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ลิลิตนารายณ์สิบปาง
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ทศกัณฐ์ (ผู้มีสิบคอคือมีสิบศีรษะ) เก็บถาวร 2021-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เยี่ยมยักษ์อยู่ยามกลางกรุงรัตนโกสินทร์[ลิงก์เสีย]
- หัวโขน-สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ www.culture.go.th เก็บถาวร 2009-08-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- สีที่ใช้กับหัวโขน เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- จารีตนาฏศิลป์ไทย โดย นาย ประเมษฐ์ บุณยะชัย นิตยสารศิลปากร ปีที่ ๕๐ ฉบับที่ ๑ มกราคม-กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ หน้า ๕ - ๑๙ เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องรามเกียรติ์ วัดหัวลำโพง wathualampong.com เก็บถาวร 2009-09-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- โคลงรามเกียรติ์ รอบพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม www.bloggang.com-praingpayear
- บทความเรื่อง "ทศกัณฐ์ พระเอกตัวจริงของหลายๆ คน" เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
ก่อนหน้า | ทศกัณฐ์ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
ท้าวลัสเตียน | กษัตริย์กรุงลงกาในเรื่องรามเกียรติ์ |
ท้าวทศคิริวงษ์ (พิเภก) |