ข้ามไปเนื้อหา

อำเภอพนัสนิคม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ถ้ำนางสิบสอง)
อำเภอพนัสนิคม
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Phanat Nikhom
คำขวัญ: 
พระพนัสบดีคู่บ้าน จักสานคู่เมือง ลือเลื่องบุญกลางบ้าน ตำนานพระรถ-เมรี ศักดิ์ศรีเมืองสะอาด เก่งกาจการทายโจ๊ก
แผนที่จังหวัดชลบุรี เน้นอำเภอพนัสนิคม
แผนที่จังหวัดชลบุรี เน้นอำเภอพนัสนิคม
พิกัด: 13°27′6″N 101°10′36″E / 13.45167°N 101.17667°E / 13.45167; 101.17667
ประเทศ ไทย
จังหวัดชลบุรี
พื้นที่
 • ทั้งหมด450.9 ตร.กม. (174.1 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2566)
 • ทั้งหมด125,851 คน
 • ความหนาแน่น279.11 คน/ตร.กม. (722.9 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 20140,
20240 (เฉพาะหมู่ที่ 4-5, 8-11, 14-15 ตำบลนาเริก และหมู่ที่ 4-6, 10-11 ตำบลนาวังหิน)
รหัสภูมิศาสตร์2006
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอพนัสนิคม ถนนเมืองเก่า ตำบลพนัสนิคม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี 20140
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

พนัสนิคม เป็นอำเภอของจังหวัดชลบุรี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ประชากรส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา อดีตมีสถานะเป็นเมืองชั้นจัตวา ชื่อเมืองพนัสนิคม สังกัดกรมท่า ต่อมาย้ายไปสังกัดกระทรวงมหาดไทย และมาเป็นอำเภอพนัสนิคมขึ้นกับเมืองชลบุรี มณฑลปราจีน ในปัจจุบันเป็นอำเภอในจังหวัดชลบุรี

ที่ตั้งและอาณาเขต

[แก้]

อำเภอพนัสนิคมตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดชลบุรี ห่างจากตัวจังหวัดไปทางตะวันออกประมาณ 22 กิโลเมตรตามเส้นทางถนนศุขประยูร มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่การปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

ประวัติศาสตร์

[แก้]

อนึ่งเมืองพนัสนิคมเดิมเป็นอำเภอที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดชลบุรี ปัจจุบันมีอาณาเขตเดิมอยู่ในอำเภออื่น ดังนี้

1.บ้านท่าตะกูด เป็นหมู่บ้านขึ้นกับเมืองพนัสนิคม สังกัดกรมท่า ในปี พ.ศ. 2441 มีการปฏิรูปการปกครองจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล ยกฐานะเป็นอำเภอท่าตะกูดและในปี พ.ศ. 2460 เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอพานทอง

2.ตำบลหนองอิรุณและตำบลคลองพลู เป็นตำบลขึ้นกับอำเภอพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2481 ได้โอนย้ายมาขึ้นกับอำเภอบ้านบึง ในปี พ.ศ. 2517 จัดตั้งตำบลหนองใหญ่โดยแบ่งเขตการปกครองจากตำบลหนองอิรุณและตำบลคลองพลู ในปี พ.ศ. 2524 ยกฐานะเป็นอำเภอหนองใหญ่

3.ตำบลบ่อทอง เป็นตำบลขึ้นกับอำเภอพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2528 ยกฐานะเป็นอำเภอบ่อทอง

4.ตำบลท่าบุญมี เป็นตำบลขึ้นกับอำเภอพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2550 ยกฐานะเป็นอำเภอเกาะจันทร์

ยุคก่อนประวัติศาสตร์ช่วงเก่าที่สุดที่พบในพนัสนิคมคือแหล่งโบราณคดีโคกพนมดี สมัยหินใหม่ 3,500-4,000 ปีมาแล้ว บริเวณบ้านโคกพนมดี ตำบลท่าข้าม โดยนักโบราณคดีขุดพบโครงกระดูกเจ้าแม่แห่งโคกพนมดี มีลูกปัดนับแสนเม็ดฝังรวมอยู่ และแหล่งโบราณคดีหนองโน สมัยสำริด 2,700-3,100 ปีมาแล้ว บริเวณตำบลไร่หลักทอง

สมัยทวารวดี พบเมืองโบราณอายุราว 1,500 ปี บริเวณตำบลหน้าพระธาตุ ต่อมาเรียกสมัยหลังว่าเมืองพระรถ (ชื่อสมมุติจากรถเสนชาดกในปัญญาสชาดก เป็นที่แพร่หลายในชาวลาว) อายุอยู่ในราวหลัง พ.ศ. 1000 เมืองโบราณยุคทวารวดีที่พนัสนิคมนี้ได้ลดความสำคัญลงและในที่สุดรกร้างไปราวหลัง พ.ศ. 1500 เพราะเส้นทางคมนาคมเปลี่ยนไป แล้วมีบ้านเมืองแห่งใหม่ใกล้ทะเลเติบโตมีความสำคัญแทนที่

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานนามเมืองว่าพนัสนิคม

สมัยเมืองพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2371 กำเนิดเมืองขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้กลุ่มลาวอาสาปากน้ำมาสร้างภูมิลำเนาขึ้นในพื้นที่รกร้างระหว่างเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทรา พระราชทานนามเมืองว่าพนัสนิคม (บางเอกสารเขียน“พนัศนิคม”) มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ขึ้นกับกรมท่า กรุงเทพมหานคร ให้ท้าวอินทิสาร (บางเอกสารเขียน”อินทพิศาล”) หรือ ท้าวทุม ปลัดลาว เมืองสมุทรปราการ บุตรชายคนโตของท้าวไชย (บางเอกสารเขียน”ศรีวิไชย”) อุปราชเมืองนครพนม ให้เป็นเจ้าเมืองพนัสนิคมคนแรกและพระราชทานราชทินนามและบรรดาศักดิ์ที่พระอินทอาษา (บางเอกสารเขียน“อินทรอาษา, อินทอาสา, อินทราษา“) มีข้อความในพระราชพงศาวดารว่า “พวกลาวอาสาปากน้ำ ตั้งขึ้นเมื่อครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ภายหลังเมื่อปีชวดสัมฤทธิศก พวกลาวไม่สบาย ขอไปตั้งอยู่ที่เมืองพระรถ จึงโปรดให้ตัดเอาแขวงเมืองชลบุรี เมืองฉะเชิงเทรา มาตั้งเป็นเมืองขึ้นชื่อเมืองพนัศนิคม เจ้าเมืองชื่อพระอินทอาษา” (พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 2 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2504 หน้า 180) โดยลาวบุกเบิกเมืองพนัสนิคม เป็นลาวเมืองนครพนม อ้างถึงการอพยพมาสยามครั้งแรกนำโดยท้าวไชย อุปราชเมืองนครพนม เป็นโอรสในพระบรมราชา (ท้าวกู่แก้ว) เจ้าเมืองนครพนม (เมืองนครพนมในอดีต เป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ประเทศราชของสยาม) ไม่สมัครใจอยู่ในปกครองของพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมคนใหม่ จึงอพยพพาสมัครพรรคพวก บุตรหลาน ท้าวเพี้ย ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 และโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่คลองมหาวงษ์ เมืองสมุทรปราการ ยุคนั้นจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่าพวกลาวอาสาปากน้ำ แต่ทนสภาพแวดล้อมไม่ไหว เพราะเป็นชาวดอนน้ำจืด ถูกให้ไปอยู่เมืองลุ่มน้ำกร่อยและเค็ม เลยขอเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่น ซึ่งสภาพใกล้เคียงที่ดอน ลาวนครพนมกลุ่มนี้ได้บุกเบิกสร้างเมืองพนัสนิคม

พ.ศ. 2372 ภายหลังเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์ พระอินทอาษา เจ้าเมืองพนัสนิคม ได้ไปเกลี้ยกล่อมครอบครัวลาวเมืองนครพนม ย้ายมาอยู่ที่เมืองพนัสนิคมอีกจำนวนหนึ่ง

พ.ศ. 2391 พระอินทอาษา เจ้าเมืองพนัสนิคม คุมลาวเมืองพนัสนิคมยกไปทางบกปราบกบฏจีนตั้วเหี่ย เมืองฉะเชิงเทรา มีพรรณนาไว้ในพระราชพงศาวดารฯ เรื่องเจ้าพระยาพระคลังกับเจ้าพระยาบดินทรเดชาปราบจีนตั้วเหี่ย เมืองฉะเชิงเทรา

พ.ศ. 2394 พระอินทอาษา เจ้าเมืองพนัสนิคม คุมลาวเมืองพนัสนิคมร่วมเป็นกองกำลังอารักขาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร เสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้มีพรรณนาในพระราชพงศาวดารฯ

พ.ศ. 2437 (ร.ศ.113) รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิรูปการปกครองโดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลแทนระบบกินเมือง (เจ้าเมืองสืบตระกูล) ทรงให้หัวเมืองทั้งหมดอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย เมืองพนัสนิคมจึงโอนย้ายจากกรมท่า มาสังกัดมณฑลปราจีน มีบันทึกว่า “รวมหัวเมืองทางลำน้ำบางปะกง คือ เมืองปราจีนบุรี 1 เมืองนครนายก 1 เมืองพนมสารคาม 1 เมืองฉะเชิงเทรา 1 รวม 4 หัวเมือง เป็นเมืองมณฑล 1 เรียกว่า มณฑลปราจีน ตั้งที่ว่าการมณฑล ณ เมืองปราจีน ต่อเมื่อโอนหัวเมืองในกรมท่ามาขึ้นกระทรวงมหาดไทย จึงย้ายที่ทำการมณฑลลงมาตั้งที่เมืองฉะเชิงเทรา เพราะขยายอาณาเขตมณฑลต่อลงไปทางชายทะเล รวมเมืองพนัสนิคม เมืองชลบุรี และเมืองบางละมุง เพิ่มให้อีก 3 รวมเป็น 7 เมืองด้วยกัน แต่คงเรียกชื่อว่ามณฑลปราจีนอยู่ตามเดิม”

พ.ศ. 2441 ประกาศข้อบังคับลักษณะการปกครองหัวเมือง ร.ศ.117 เมืองพนัสนิคมเปลี่ยนเป็นอำเภอพนัสนิคม ขึ้นกับเมืองชลบุรี (ในปี พ.ศ. 2460 เปลี่ยนจากเมืองเป็นจังหวัดชลบุรี) มณฑลปราจีน โดยเมืองพนัสนิคมมีเจ้าเมืองสืบทอดตำแหน่ง รวม 3 คน คือ 1.พระอินทอาษา (ท้าวอินทิสาร หรือ ท้าวทุม ทุมมานนท์) 2.หลวงภักดีสงคราม (ท้าวนิล ทุมมานนท์) 3.หลวงภักดีสงคราม (ท้าวบุญจันทร์ ทุมมานนท์) และมีนายอำเภอพนัสนิคมคนแรกคือ หลวงสัจจพันธ์คีรี ศรีรัตนไพรวัน เจฏิยาสัน คามวาสี นพ-คูหาพนมโขลน (บัว ไม่ทราบนามสกุล)

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค

[แก้]

อำเภอพนัสนิคมแบ่งการปกครองท้องที่เป็น 20 ตำบล 185 หมู่บ้าน ได้แก่

1. พนัสนิคม (Phanat Nikhom) - 11. ท่าข้าม (Tha Kham) 07 หมู่บ้าน
2. หน้าพระธาตุ (Na Phra That) 11 หมู่บ้าน 12. หนองปรือ (Nong Prue) 10 หมู่บ้าน
3. วัดหลวง (Wat Luang) 07 หมู่บ้าน 13. หนองขยาด (Nong Khayat) 08 หมู่บ้าน
4. บ้านเซิด (Ban Soet) 08 หมู่บ้าน 14. ทุ่งขวาง (Thung Khwang) 10 หมู่บ้าน
5. นาเริก (Na Roek) 15 หมู่บ้าน 15. หนองเหียง (Nong Hiang) 16 หมู่บ้าน
6. หมอนนาง (Mon Nang) 12 หมู่บ้าน 16. นาวังหิน (Na Wang Hin) 11 หมู่บ้าน
7. สระสี่เหลี่ยม (Sa Si Liam) 11 หมู่บ้าน 17. บ้านช้าง (Ban Chang) 07 หมู่บ้าน
8. วัดโบสถ์ (Wat Bot) 11 หมู่บ้าน 18. โคกเพลาะ (Khok Phlo) 08 หมู่บ้าน
9. กุฎโง้ง (Kut Ngong) 06 หมู่บ้าน 19. ไร่หลักทอง (Rai Lak Thong) 11 หมู่บ้าน
10. หัวถนน (Hua Thanon) 09 หมู่บ้าน 20. นามะตูม (Na Matum) 07 หมู่บ้าน

การปกครองส่วนท้องถิ่น

[แก้]

ท้องที่อำเภอพนัสนิคมประกอบด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น 20 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลเมืองพนัสนิคม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลพนัสนิคมทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลหมอนนาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหมอนนางทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลกุฎโง้ง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลกุฎโง้งทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลหัวถนน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหัวถนนทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหน้าพระธาตุ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหน้าพระธาตุทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลวัดหลวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวัดหลวงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเซิด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านเซิดทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลนาเริก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาเริกทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลสระสี่เหลี่ยม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสระสี่เหลี่ยมทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลวัดโบสถ์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวัดโบสถ์ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าข้ามทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหนองปรือ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองปรือทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหนองขยาด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองขยาดทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งขวาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทุ่งขวางทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหนองเหียง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองเหียงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลนาวังหิน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาวังหินทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านช้าง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านช้างทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลโคกเพลาะ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโคกเพลาะทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลไร่หลักทอง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลไร่หลักทองทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลนามะตูม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนามะตูมทั้งตำบล

พระพุทธรูปประจำเมือง

[แก้]
หอพระพนัสบดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
พระพนัสบดี

ประเพณีท้องถิ่น

[แก้]

สถานที่สำคัญ โบราณสถาน โบราณวัตถุ และแหล่งโบราณคดี

[แก้]

สถานศึกษา

[แก้]

นามสกุลพระราชทานที่เกี่ยวข้องกับเมืองพนัสนิคม

[แก้]
  • ตระกูลทุมมานนท์ เป็นนามสกุลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นนามสกุลพระราชทานที่ ๑๔๐๕ "ทุมมานนท์" (เขียนแบบโรมันว่า Dummananda) อันสืบเชื้อสายมาจากพระอินทอาษา (ท้าวอินทิสาร ทุมมานนท์) เจ้าเมืองพนัสนิคมคนแรก พระราชทานแก่หลวงประพิธวยาการ (ภิรมย์ ทุมมานนท์) เลฃานุการกรมไปรษณีย์โทรเลข, นายร้อยโทพินิจ ทุมมานนท์ ผู้บังคับกองร้อยที่ ๑ กรมทหารม้าที่ ๕ (น้องชาย) และนายวัณณี ทุมมานนท์ (บิดา) ปู่นายวัณณีชื่อพระอินทราสา (ทุม)

อนึ่งตระกูลทุมมานนท์ เป็นตระกูลเจ้าเมืองพนัสนิคมและเป็นสายเครือญาติกลุ่มตระกูลเจ้านายเมืองนครพนม ในอดีตเมืองนครพนมเป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ประเทศราชของสยาม โดยท้าวไชย (ศรีวิไชย) อุปราชเมืองนครพนม บิดาของพระอินทอาษา (ท้าวอินทิสาร ทุมมานนท์) เจ้าเมืองพนัสนิคมนั้น สืบเชื้อสายมาจากบิดานามว่าพระบรมราชา (ท้าวกู่แก้ว) เจ้าเมืองมรุกขนคร (ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองนครพนม), พี่ชายนามว่าพระบรมราชา (ท้าวพรหมา) เจ้าเมืองนครพนม ซึ่งทายาทได้เป็นเจ้าเมืองมหาไชยกองแก้วและเจ้าเมืองสกลนคร ต้นตระกูล "พรหมสาขา ณ สกลนคร", พี่เขยนามว่าพระบรมราชา (สุดตา) เจ้าเมืองนครพนม กลุ่มตระกูลสาย "ณ นครพนม" และหลานนามว่าพระบรมราชา(มัง) เจ้าเมืองนครพนม

โดยตระกูลทุมมานนท์ เชื้อสายเจ้าเมืองพนัสนิคม มีการสืบตำแหน่งเจ้าเมืองพนัสนิคม 3 ชั่วอายุคน ได้แก่

1.พระอินทอาษา (ท้าวอินทิสาร หรือ ท้าวทุม ทุมมานนท์)

2.หลวงภักดีสงคราม (ท้าวนิล ทุมมานนท์)

3.หลวงภักดีสงคราม (ท้าวบุญจันทร์ ทุมมานนท์)

โดยหลวงภักดีสงคราม (ท้าวบุญจันทร์ ทุมมานนท์) เจ้าเมืองพนัสนิคมคนสุดท้าย บุตรชายของหลวงภักดีสงคราม (ท้าวนิล ทุมมานนท์) ได้สละบรรดาศักดิ์ให้อานามว่าหลวงภักดีสงคราม (ท้าวเปลี่ยน ทุมมานนท์)

ดูเพิ่ม

[แก้]
  • โรงพยาบาลพนัสนิคม กระทรวงสาธารณสุข
  • ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 19 อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
  • สนามกีฬาและศูนย์เยาวชนเทศบาลเมืองพนัสนิคม
  • ศาลเจ้าแปะกง
  • มูลนิธิสว่างกุศลธรรมสถานเม่งเต็กเซียงตั๊ว(พนัสนิคม) ชลบุรี
  • โรงเจเว่งฮกตั๊ว (เป็นโรงเจเก่าแก่ที่มีอายุยาวนานกว่าร้อยปี)
  • ศาลเจ้าเล่งฉือปุ้ยเสี่ยว(ศาลเจ้าพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ปางนั่งขัดสมาธิเพชร)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]