ข้ามไปเนื้อหา

ถุงพองลมกันกระแทก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ถุงพองลมกันกระแทก หรือเบาะลมกันกระแทก (อังกฤษ: inflatable air cushion) คือบรรจุภัณฑ์ที่พองตัวได้ ทำจากเส้นใยหรือแผ่นฟิล์มพลาสติก ใช้เพื่อกันกระแทก เมื่อเป่าลมแล้วมีลักษณะช่องเก็บอากาศเป็นลอนซึ่งแตกต่างจากแผ่นพลาสติกกันกระแทกที่เป็นเม็ดฟองอากาศ ถุงพองลมกันกระแทกมีวาล์วทางเดียวเพื่อให้กระเปาะอากาศพองตัวเมื่อต้องการใช้งาน บางครั้งสามารถปล่อยลมออกให้ยวบตัวแบนราบได้และนำกลับมาใช้ได้อีก

ถุงพองลมกันกระแทก ใช้ในการกันกระแทกและการเติมเต็มภายในบรรจุภัณฑ์หลัก
ถุงพองลมกันกระแทกที่ออกแบบใช้ในการบรรจุผลิตภัณฑ์โดยตรง
ถุงพองลมกันกระแทก ทั้งแบบแบน (ยังไม่เป่าลม) เป็นม้วน และแบบพองแล้วใช้ห่อหุ้มสิ่งของที่ต้องการการป้องกัน
อุปกรณ์ลดแรงปะทะ ห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น (JPL) ของนาซ่า
ตู้สุญญากาศ (vacuum chamber) สำหรับทดสอบการรั่วของถุงพองลมกันกระแทก ตามมาตรฐาน ASTM ข้อ D6653 - มาตรฐานวิธีทดสอบสำหรับการตรวจสอบผลกระทบของระดับความสูงที่สูง ต่อระบบบรรจุภัณฑ์โดยวิธีสุญญากาศ
โครงสร้างของถุงพองลมกันกระแทกสามารถประยุกต์ใช้เป็นที่นั่ง กระบองลมเชียร์กีฬา หรือป้ายพองลมต่างๆ
บรรจุภัณฑ์ผงหมึก ซัมซุง (Samsung) ในถุงพองลมกันกระแทก ที่มีลักษณะเป็นลอนจากกระเปาะลมที่มีวาล์วทางเดียวต่อกัน

ประวัติ

[แก้]

โครงสร้างแบบต่าง ๆ ของบรรจุภัณฑ์พองลมได้รับการออกแบบและพัฒนาในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 ต่อมาในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 มีการจดสิทธิบัตรระบบการพองลมเป็นจำนวนมาก ก่อนปีค.ศ. 2000 ถุงพองลมกันกระแทกส่วนใหญ่ใช้วาล์วทางเดียว (check valve) อันเดียว อ้างอิงตามที่อธิบายไว้ใน สิทธิบัตร US 5445274

อย่างไรก็ตามการมีกระเปาะอากาศหรือช่องเก็บลมเพียงช่องเดียวมีความเสี่ยงของการรั่วของอากาศ ซึ่งหากส่วนหนึ่งของถุงพองลมเดี่ยวถูกเจาะ บรรจุภัณฑ์นี้จะยุบตัวลงอย่างสมบูรณ์ ในปีพ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002) มีการประดิษฐ์ ฟิล์มวาล์วอากาศทางเดียวอิสระแบบต่อเนื่อง หลายประเภทมาใช้ (เป็น วาล์วทางเดียวที่มีลิ้นวาล์วเป็นแผ่นฟิล์ม 2 อันประกบกันทำหน้าที่เปิดปิดให้อากาศไหลออกทางเดียว และเป็นวาล์วกั้นระหว่างกระเปาะอากาศแต่ละใบ) เช่น สิทธิบัตร US 6913803 ชื่อ "วาล์วทางเดียวสำหรับบรรจุภัณฑ์พองลม" โดย 3เอ็ม สิทธิบัตรเหล่านี้บรรจุฟิล์มวาล์วอากาศทางเดียวลงในแต่ละกระเปาะอากาศ ซึ่งสามารถผลิตแบบเป็นม้วนได้อย่างต่อเนื่องและเป็นอิสระแยกจากกันได้ตามขนาดการใช้งาน และหากกระเปาะอากาศหนึ่งถูกเจาะกระเปาะอากาศอื่น ๆ จะยังคงพองอยู่

แนวคิด

[แก้]
  • ถุงพองลมสมัยใหม่ทำจากฟิล์มโพลิเอทิลีน (PE) สองแผ่นประกบกัน[ต้องการอ้างอิง] โดยมีฟิล์มวาล์วอากาศอยู่ระหว่างกระเปาะอากาศแต่ละใบ และยึดติดกันด้วยการกดอัดด้วยความร้อนจากแม่พิมพ์ที่มีอุณหภูมิสูงเพื่อหลอมพื้นผิวให้เข้ากัน และสร้างกระเปาะอากาศในรูปทรงต่าง ๆ ถุงพองลมกันกระแทกจึงมีรูปแบบและประเภทที่หลากหลาย
  • ถุงพองลมต้องสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่ายไม่เปลืองพื้นที่ โดยการทำให้แบนเมื่อยังไม่ใช้งานและพองออกได้ง่ายตามต้องการ เมื่อพองตัวเต็มที่แล้ว ฟิล์มวาล์วอากาศทางเดียวแบบต่อเนื่อง จะผนึกตัวปิดช่องวาล์ว ไล่ไปที่ละกระเปาะ
  • ความดันอากาศภายในกระเปาะแต่ละอันของถุงพองลมต้องมีค่ามากกว่าความดันบรรยากาศ ซึ่งให้แรงต้านการกดอัดและมีความยืดหยุ่นต่อแรงกด

ลักษณะ

[แก้]

ถุงพองลมทำจากฟิล์มโพลิเอทิลีน (PE) สองแผ่นประกบกัน ยึดติดกันด้วยการกดอัดด้วยความร้อน ก่อนการใช้งานมีลักษณะเป็นม้วนแบบแผ่นพลาสติกหรือถุงพลาสติกบรรจุภัณฑ์ทั่วไป แต่เมื่อใช้งานโดยการเตรียมวัสดุจากม้วนตามความยาวที่ต้องการลงในเครื่องเป่าพองตัวขึ้นรูป เป็นทั้งแบบแผ่นลมกันกระแทก และถุงกันกระแทก

การประยุกต์ใช้งานอื่น

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]


  • Yam, KL, "สารานุกรมเทคโนโลยีการบรรจุ", John Wiley & Sons, 2009,ISBN 978-0-470-08704-6