พลาสติกกันกระแทก
พลาสติกกันกระแทก หรือ บับเบิ้ลแรป เป็นวัสดุพลาสติกใสยืดหยุ่นได้ซึ่งใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับห่อสิ่งของที่เปราะบางแตกหักง่าย มีคุณสมบัติการดูดซับแรงกระแทกเกิดจากฟองอากาศ (กระเปาะอากาศ) ที่มีขนาดสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับแผ่นโฟมหรือกระดาษลูกฟูกทำ แต่พลาสติกกันกระแทกมีความยืดหยุ่นในการห่อหุ้มมากกว่า และอาจนำไปรีไซเคิลได้ดีกว่า
"Bubble wrap" (บับเบิ้ลแรป) เป็นเครื่องหมายการค้าทั่วไปของ บริษัท ซีลด์แอร์ (Sealed Air Corporation)[1] โดยในปี พ.ศ. 2500 จากความคิดในการสร้างวอลล์เปเปอร์พลาสติกสามมิติ ของนักประดิษฐ์สองคนชื่อ Alfred Fielding และ Marc Chavannes แม้ว่าความคิดนี้ล้มเหลว แต่ได้พบว่าสิ่งที่พวกเขาทำขึ้นสามารถใช้เป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์ได้ หลังจากนั้นบริษัท Sealed Air ได้ถูกก่อตั้งโดย Fielding ในปี พ.ศ. 2503[2]
ซึ่งชือบับเบิ้ลแรปนี้ ได้ถุกนำไปใช้เป็นชื่อสามัญของพลาสติกกันกระแทกหรือสำหรับผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกัน เช่น บับเบิ้ลแพ็ค[note 1][3] แอร์บับเบิ้ลแพ็ค บับเบิ้ลแรปปิ้ง หรือ แอโรพลาสต์ ทั้งที่ในความเป็นจริง บับเบิ้ลแรป (Bubble Wrap และ BubbleWrap) ยังคงเป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของ Sealed Air[4] [5]
การออกแบบ
[แก้]กระเปาะอากาศที่ช่วยกันกระแทกสำหรับวัตถุที่เปราะบางหรือแตกหักง่ายบนแผ่นพลาสติกกันกระแทก โดยทั่วไปมีให้เลือกหลายขนาดขึ้นอยู่กับขนาดและน้ำหนักของวัตถุที่บรรจุ และระดับความจำเป็นในการป้องกันการกระแทก อาจจำเป็นต้องใช้หลายชั้นเพื่อเพิ่มการป้องกันการกระแทก และการสั่นสะเทือน ในขณะที่การใช้ชั้นเดียวอาจใช้เพื่อช่วยป้องกันพื้นผิวของวัตถุที่บรรจุ นอกจากเป็นแผ่นแล้ว พลาสติกกันกระแทกยังออกแบบให้อยู่ในรูปซองหรือถุงในหลายขนาด
พลาสติกกันกระแทกมักขึ้นรูปจากแผ่นฟิล์มโพลีเอทิลีน ( LDPE ) โดยการประกบกันของแผ่นฟิล์มตั้งแต่ 2 แผ่นขี้นไป โดยทั่วไปจะใช้สองแผ่นคือ แผ่นฟิล์มแบบเรียบ และแผ่นฟิล์มที่ขึ้นรูปนูน กดประกบติดกันด้วยความร้อน หลังจากการประกบติดกันอากาศจะถูกขังในส่วนที่นูนพองซึ่งเล็ดลอดออกมาได้ยาก[6] มีลักษณะเป็นกระเปาะอากาศพลาสติกกันกระแทกบางประเภทมีฟิล์มกันการรั่วซึมออกของอากาศ เพื่อให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น โดยเฉพาะการทนทานต่อสภาวะที่มีแรงดันอากาศต่ำมากหรือสภาวะไร้แรงดันอากาศ (vacuum)
ฟองอากาศบนพลาสติกกันกระแทก โดยทั่วไปมีขนาดเล็กถึง 6 มิลลิเมตร (0.24 นิ้ว) และใหญ่ถึง 26 มิลลิเมตร (1.0 นิ้ว) หรือมากกว่า เพื่อเพิ่มระดับการดูดซับแรงกระแทกระหว่างการขนส่ง ขนาดฟองที่พบมากที่สุดหรือขนาดมาตรฐาน คือ 1 เซนติเมตร[ต้องการอ้างอิง]
ระดับการป้องกันแรงกระแทก นอกจากจะได้จากขนาดของฟองอากาศในพลาสติกกันกระแทกแล้ว คุณสมบัติทางวัสดุของพลาสติกในแบบต่าง ๆ ยังสามารถให้การปกป้องจากปัญหาอื่น ๆ เช่น การป้องกันการสะสมของไฟฟ้าสถิตย์ เมื่อจัดส่งชิ้นส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ที่ละเอียดอ่อนจะมีการใช้พลาสติกกันกระแทกที่ช่วยกระจายประจุไฟฟ้าสถิต จึงช่วยปกป้องจากไฟฟ้าสถิตซึ่งอาจทำให้ชิปอิเล็กทรอนิกส์เกิดความเสียหายได้ หนึ่งในการใช้พลาสติกกันกระแทกที่แพร่หลายครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2503 ในการจัดส่งคอมพิวเตอร์ IBM 1401 ซึ่งขณะนั้นลูกค้าส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นวัสดุบรรจุภัณฑ์นี้มาก่อน[7]
ความบันเทิง
[แก้]เนื่องจากการบีบกระเปาะอากาศบนพลาสติกกันกระแทกให้แตก ทำให้เกิดเสียงที่สร้างความรู้สึกสบายใจ จึงมักใช้เป็นแหล่งระบายอารมณ์ หรือแหล่งบันเทิง จากการรับรู้ถึงการใช้งานลักษณะนี้ ทำให้มีเว็บไซต์บางแห่งตอบสนองความต้องการโดยการสร้างโปรแกรมพลาสติกกันกระแทกเสมือนจริง ซึ่งผู้ใช้คลิกที่รูปกระเปาะอากาศและฟังเสียงฟองอากาศแตก ในขณะที่ Mugen Puchipuchi เป็นของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ขนาดกะทัดรัดที่จำลองเสียงการแตกของฟองอากาศ
Bubble Wrap Appreciation Day มีการเฉลิมฉลองในวันจันทร์สุดท้ายของเดือนมกราคมทุกปี[8][9] โดยสถานีวิทยุแห่งหนึ่งใน บลูมมิงตัน รัฐอินเดียนา ซึ่งได้รับการจัดส่งไมโครโฟนที่ห่อด้วยพลาสติกกันกระแทก ซึ่งหลังจากแกะห่อออกนั้นมีกระเปาะอากาศแตกและเสียงได้ออกอากาศโดยบังเอิญ
ในประเทศไทย แผ่นพลาสติกกันกระแทกมีชื่อเล่นในภาษาไทยว่า แผ่นเป๊าะแป๊ะ จากเสียงแตกนี้
การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการลดต้นทุน
[แก้]ในปี 2558 Sealed Air ได้ตัดสินใจที่จะสร้างพลาสติกกันกระแทกแบบใหม่ เรียกในขณะนั้นว่า iBubble ซึ่งจะไม่สามารถบีบแตกได้ ปัจจุบันมีการใช้งานพลาสติกกันกระแทกแบบใหม่นี้อย่างแพร่หลายที่เรียกว่า ถุงพองลมกันกระแทก (Inflatable air cushion) ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ทำจากแผ่นพลาสติกประกบกันและสูบลมเข้าไปให้ขยายใหญ่ขึ้นเมื่อจะใช้งาน เพื่อประหยัดพื้นที่ในการเก็บ ลดค่าขนส่งและค่าเก็บรักษาที่สูงแบบพลาสติกกันกระแทก (แบบฟอง)[10] และยังอาจสามารถนำกลับมาใช้ได้หลายรอบ ต่างจากพลาสติกกันกระแทกที่เมื่อกระเปาะอากาศเสียหายจะไม่สามารถกันกระแทกได้อย่างเดิม[11] ถุงพองลมกันกระแทกช่วยในการลดปริมาณการใช้พลาสติกในการผลิตบรรจุภัณฑ์กันกระแทกได้มากกว่าแผ่นพลาสติกกันกระแทก เนื่องจากกระเปาะอากาศของถุงพองลมที่มีขนาดที่ใหญ่กว่า ช่วยลดการใช้ซ้ำ ๆ หลายชั้นหรือในการเติมเต็มช่องว่างในกล่องพัสดุ
อย่างไรก็ตาม พลาสติกกันกระแทกนับเป็นส่วนหนึ่งของขยะบรรจุภัณฑ์ (packing waste) ที่รวมถึงขวดพลาสติก ภาชนะอาหารพลาสติก ถุงพลาสติก ซึ่งขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกมีสัดส่วนเป็นอันดับต้นของขยะพลาสติก ที่มีปริมาณมากถึง 146 ล้านตันโดยประมาณในปี ค.ศ. 2015[12] และคาดว่าจะมีปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์จะเพิ่มขึ้นมากจากรูปแบบการค้าปลีกออนไลน์ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ ที่ต้องอาศัยการจัดส่งพัสดุแบบแบ่งย่อยเป็นจำนวนมาก
พลาสติกกันกระแทกสามารถนำกลับไปใช้เป็นวัสดุพลาสติกได้ (รีไซเคิล) เช่นเดียวกับขวดพลาสติก และภาชนะพลาสติก ซึ่งต้องการการจัดการเก็บรวบรวมกลับสู่ขบวนการรีไซเคิลตามปกติ ในลักษณะเดียวกับการเก็บรวบรวมกระดาษ แต่พลาสติกกันกระแทกบางประเภทยังไม่สามารถรีไซเคิลตามปกติโดยตรง คือ ซองกันกระแทก ซึ่งเป็นส่วนผสมของกระดาษและแผ่นพลาสติกกันกระแทกซึ่งต้องใช้แรงงานในการแยกส่วน และมีบางส่วนที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้เลย อย่างไรก็ตามพลาสติกกันกระแทกมีข้อดีกว่าแผ่นโฟมห่อพัสดุ เนื่องจากโฟมมีความหนาแน่นต่ำซึ่งทำให้รีไซเคิลได้ยาก และคุณสมบัติน้ำหนักเบาที่ต้องใช้พื้นที่มากกว่าในกระบวนการจัดเก็บก่อนการรีไซเคิล[6]
ในการตัดวงจรขยะพลาสติก มีการคิดค้นกระดาษรังผึ้งสำหรับกันกระแทก (Honeycomb Cushioning Wrap Perforated-Packing) ซึ่งเป็นกระดาษกันกระแทกที่ถูกออกแบบโครงสร้างมาให้ใช้งานได้ง่าย โดยเป็นกระดาษห่อ จัดเก็บได้ในพื้นที่จำกัด เมื่อใช้งานโดยดึงขยายแผ่นกระดาษออกและที่ปรุไว้จะเปลี่ยนโครงสร้างเป็นสามมิติมีรูปทรงคล้ายรังผึ้ง (ซึ่งต่างจากกระดาษลูกฟูกที่ตายตัวจากโรงงานและมีลักษณะเป็นลอน)[13][14] สามารถรองรับการใช้งานในลักษณะของการห่อได้ในแบบเดียวกับแผ่นพลาสติกกันกระแทก
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ The term "bubble pack" can also refer to a blister pack
- ↑ Petch, Michael (December 2, 2019). "The hype and rise of 3D printing and Avi Reichental". 3DPrintingIndustry.com. สืบค้นเมื่อ December 17, 2019.
- ↑ "Bubble Film and Bags". Packaging Knowledge. สืบค้นเมื่อ September 28, 2010.
- ↑ "Bubble pack". Your Dictionary. สืบค้นเมื่อ July 19, 2014.
- ↑ "BUBBLE WRAP - Trademark Details". Justia Trademarks. สืบค้นเมื่อ June 20, 2017.
- ↑ "BUBBLEWRAP - Trademark Details". Justia Trademarks. สืบค้นเมื่อ June 20, 2017.
- ↑ 6.0 6.1 Rajapack. How is bubble wrap made? สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2563.
- ↑ Time-Life Books (Aug 2016). American Inventions: Big Ideas That Changed Modern Life. Liberty Street. ISBN 9781683306313.
- ↑ River, Nate (January 26, 2009). "For Stress Release: Bubblewrap Appreciation Day". Regular Folks United. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 20, 2012. สืบค้นเมื่อ September 23, 2009.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Bubble Wrap Appreciation Day". Sealed Air North America. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 24, 2011. สืบค้นเมื่อ February 27, 2011.
- ↑ Techhub บอกลา”แผ่นกันกระแทก”แบบเก่าได้ เมื่อผู้ผลิตเตรียมทำแบบใหม่ให้บีบเล่นไม่ได้แล้ว 5 กรกฎาคม 2558.
- ↑ Catdumb ผู้ผลิต Bubble Wrap เตรียมทำรุ่นใหม่แบบ ‘บีบเล่นไม่ได้’ งานนี้แทบร้องไห้!! เก็บถาวร 2020-11-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 3 กรกฎาคม 2558.
- ↑ Ritchie, Hannah; Roser, Max (September 1, 2018). "Plastic Pollution". Our World in Data. สืบค้นเมื่อ 21 ธันวาคม 2563.
- ↑ กระดาษห่อพัสดุรังผึ้ง สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม 2563.
- ↑ SolidSprout แผ่นกันกระแทกที่ไม่ใช่พลาสติก 14 ธันวาคม 2562.