ถีนมิทธะ
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
ถีนมิทธะ (อ่านว่า ถี-นะ-มิด-ทะ; บาลี: ถีนมิทฺธ) แปลว่า ความหดหู่และเคลิบเคลิ้ม (ถีนะ ความหดหู่ มิทธะ ความเคลิบเคลิ้ม) หมายถึง อาการที่จิตเกิดความห่อเหี่ยว ท้อแท้ หมดหวัง และเศร้าซึม ง่วงเหงา หาวนอน เป็นเหตุให้เกิดความหมดอาลัย ความเกียจคร้าน ไม่กระตือรือร้น ปล่อยปละละเลยไปตามยถากรรม จัดเป็น นิวรณ์ คือเครื่องปิดกั้นขัดขวางมิให้บรรลุถึงสมาธิและปิดกั้นสมาธิมิให้เข้าถึงจิต
ถีนมิทธะ เกิดจาก อรติ คือ ความไม่ยินดี ความเกียจคร้าน และความเมาอาหาร คืออิ่มเกินไป แก้ได้ด้วยอนุสติ คือระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย เป็นต้น
ถีนมิทธะ เป็นหนึ่งในนิวรณ์ 5 อันเป็นสิ่งกั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม ทำให้จิตเศร้าหมอง และทำปัญญาให้อ่อนกำลัง ซึ่งมีห้าอย่าง คือ กามฉันทะ, พยาบาท, ถีนมิทธะ, อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา
เหตุให้ละความง่วงได้
[แก้]ในพระไตรปิฏกโมคคัลลานสูตร บรรยายเหตุให้ละความง่วงได้ ไว้มีดังนี้
- เมื่อเธอมีสัญญาอย่างไรอยู่ความง่วงนั้นย่อมครอบงำได้ เธอพึงทำไว้ในใจซึ่งสัญญานั้นให้มาก (ในพระไตรปิฎก อักษรโรมัน เพิ่มคำว่า มา ซึ่งแปลว่า อย่า ในประโยคหลัง)
- ถ้าเธอยังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงตรึกตรองพิจารณา ถึงธรรมตามที่ตนได้สดับแล้ว ได้เรียนมาแล้วด้วยใจ
- ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงสาธยายธรรมตามที่ตนได้สดับมาแล้ว ได้เรียนมาแล้วโดยพิสดาร
- ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงยอนช่องหูทั้งสองข้าง เอามือลูบตัว
- ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงลุกขึ้นยืน เอาน้ำล้างตา เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตรฤกษ์
- ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงทำในใจถึงอาโลกสัญญา (ทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิด นึกถึงแสงสว่าง)
- ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีใจไม่คิดไปในภายนอก
- ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงสำเร็จสีหไสยา คือ นอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้น พอตื่นแล้วพึงรีบลุกขึ้นด้วยตั้งใจว่า เราจักไม่ประกอบ ความสุขในการนอน ความสุขในการเอนข้าง ความสุขในการเคลิ้มหลับ
ถีนเจตสิกและมิทธเจตสิก
[แก้]ในพระอภิธรรมได้บรรยาย ถีนมิทธะ ในลักษณะของเจตสิก (คือ ธรรมชาติที่อาศัยจิตเกิด) โดยแบ่งเป็น ถีนเจตสิก และ มิทธเจตสิก
ถีนเจตสิก
[แก้]ถีนเจตสิก คือ ธรรมชาติที่ทำให้จิตหดหู่ ท้อถอยจากอารมณ์ ได้แก่สภาพที่ จิตคลายลงจากอำนาจ ความขะมักเขม้นต่ออารมณ์ มีลักษณะดังนี้
- มีการไม่อุตสาหะ เป็นลักษณะ
- มีการทำลายความเพียร เป็นกิจ
- มีความท้อถอย เป็นผล
- มีการกระทำใจต่ออารมณ์อย่างไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ) เป็นเหตุใกล้
มิทธเจตสิก
[แก้]มิทธเจตสิก คือ ความโงกง่วง ได้แก่ สภาพที่ทำให้จิตเซื่องซึม ท้อถอยจากอารมณ์ มีลักษณะ
- มีความไม่ควรแก่การงาน เป็นลักษณะ
- มีการกั้น กำบังสัมปยุตตธรรม เป็นกิจ
- มีความท้อถอย หรือ การโงกง่วง เป็นผล
- มีการกระทำใจต่ออารมณ์อย่างไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ) เป็นเหตุใกล้
ถีนเจตสิก มีหน้าที่ ทำให้จิตที่เกิดพร้อมกับตน ท้อถอยจากอารมณ์ ส่วน มิทธเจตสิก มีหน้าที่ ทำให้เจตสิกที่เกิดพร้อมกับตน ท้อถอยจากอารมณ์
สำหรับ วิตก (วิตกเจตสิก) อันเป็นหนึ่งในองค์ฌาน เป็นปรปักษ์กับ ถีนมิทธะ (ถีนเจตสิก และ มิทธเจตสิก)
อาหารของถีนมิทธะ
[แก้]ร่างกายนี้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด ถีนมิทธะ ก็มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน
อาหารของถีนมิทธะในที่นี้ หมายถึง ปัจจัยอันนำมาซึ่งผลคือ จิตเกิดความห่อเหี่ยว และเศร้าซึม ง่วงเหงา
สิ่งที่เป็นอาหารให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือถีนมิทธะที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น ได้แก่ การมีอยู่ของสิ่งเหล่านี้ หรือ การกระทำในใจโดยไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ) ในสิ่งเหล่านี้ คือ
- ความไม่ยินดี ในที่อันสงัด หรือในธรรมทั้งหลายอันเป็นกุศล
- ความเกียจคร้าน (อ้างว่า ร้อนนัก หนาวนัก หิวกระหายนัก เป็นต้น)
- ความบิดกายด้วยอำนาจกิเลส (บิดร่างกาย เอียงไปมา รู้สึกไม่สบาย ด้วยอำนาจกิเลส)
- ความเมาอาหาร เช่น รับประทานมากไป อาหารย่อยยาก หรือร่างกายอ้วนเนื่องจากรับประทานมาก
- ความที่ใจหดหู่ ความไม่ควรแก่การงานของจิตเนื่องจากใจหดหู่ ท้อแท้
อ้างอิง
[แก้]- พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
- พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์".
- พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม".
- โมคคัลลานสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓
- กายสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙
- "พระอภิธัมมัตถสังคหะ".และ"อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา".
- ระวี ภาวิไล "อภิธรรม สำหรับคนรุ่นใหม่".
- พร รัตนสุวรรณ "คู่มือการฝึก อานาปานสติสมาธิ".