ตำบลทุ่งมน (อำเภอปราสาท)
บทความนี้ต้องการการจัดหน้า จัดหมวดหมู่ ใส่ลิงก์ภายใน หรือเก็บกวาดเนื้อหา ให้มีคุณภาพดีขึ้น คุณสามารถปรับปรุงแก้ไขบทความนี้ได้ และนำป้ายออก พิจารณาใช้ป้ายข้อความอื่นเพื่อชี้ชัดข้อบกพร่อง |
ตำบลทุ่งมน เป็นตำบลที่อยู่ในอำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์
ตำบลทุ่งมนกับร่องรอยชุมชนโบราณ
[แก้]ลักษณะภูมินิเวศน์ตำบลทุ่งมน เป็นพื้นที่มีลำน้ำชีว์น้อยไหลผ่านทางด้านทิศตะวันตก และมีลำห้วยโอก็วลที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาพนมดงรักที่ไหลมารวมกับลำน้ำชีว์น้อยทางด้านทิศตะวันตก ด้วยความยาวที่คดเคี้ยวระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร อีกทั้งภูมินิเวศน์ของบ้านทุ่งมน มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบสูง เนินเขา มีสภาพเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังสลับทุ่งหญ้าและบริเวณที่ราบริมน้ำเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (west land) ภาษาถิ่นเรียกว่า “ปรีระเนียมหรือ ดบกุมพะเนง” หรือป่าทามในภาษาอีสาน ด้วยเป็นลูกเขาเนินเตี้ยที่เกิดจากการดันตัวของเปลือกโลก มีสภาพเป็นดินลูกรังและมีหินโผล่ ประเภทหินอัคนี หินปูนกระจายอยู่ทั่วไป และมีพื้นที่ป่าไม้กระจายครอบคลุมกว้างและมีความอุดมสมบูรณ์จึงกลายเป็นพื้นที่ต้นน้ำขนาดใหญ่ประมาณ 15,600 ไร่ พื้นที่ลาดลงต่ำไปรอบ ๆ พื้นที่กลายเป็นแหล่งน้ำซับ ตาน้ำ ร่องน้ำสั้น ๆ ทางทิศตะวันออกและทิศใต้เป็นต้นน้ำสาขาหนึ่งของลำห้วยโอก็วล ทิศเหนือและทิศตะวันตกเป็นร่องน้ำและไหลรวมกับลำน้ำชีว์น้อยตามลำดับ จึงเป็นพื้นที่เหมาะสมในการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์ชุมชนบ้านทุ่งมนปรากฏร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดี แสดงความเป็นแหล่งอารยธรรมที่เก่าแก่ถือได้ว่าเป็นชุมชนโบราณ จากการสำรวจศึกษาข้อมูลเบื้องต้นโดยคณะทำงานชาวบ้าน โดยกระบวนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นบ้านทุ่งมน พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในชุมชนแต่ไม่ทราบความเป็นมาในการสืบค้น เพียงแต่รู้ว่ามีมานานแล้ว คาดการกันว่าอย่างน้อยบริเวณนี้น่าจะได้รับวัฒนธรรมขอมเพราะคนส่วนใหญ่ที่นี้ก็พูดภาษาถิ่น เขมร เมื่อเทียบเคียงกับงานศึกษาของ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เช่น แอ่งอารยธรรมอีสาน, ทุ่งกุลา “อาณาจักรเกลือ” 2,500 ปี จากยุคแรกเริ่มล้าหลัง ถึงยุคมั่งคั่งข้าวหอม, บรรดาแหล่งโบราณสถานรวมถึงบริเวณการขุดพบ วัตถุโบราณ ฯลฯ เป็นต้น อาจจำแนกได้เป็น 6 ประเภท
เสาหลักหิน
[แก้]จากการสำรวจพบหลักศิลาในเขตตำบลทุ่งมน 2 จุด ที่บริเวณบ้านสะพานหัน ภาษาถิ่นเรียกว่า “สเปียลฮาล” ซึ่งเป็นชื่อหมู่บ้านข้างลำห้วยชีว์น้อย และตรงข้ามบ้านสะพานหัน เขตตำบลไพศาล อำเภอประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ 1 จุด ทั้ง 3 จุดนี้อยู่ห่างระหว่างกันแต่ละจุดประมาณ 2 กิโลเมตร หลักศิลาที่พบบ้านสะพานหัน จุดแรกข้างลำห้วยชีว์น้อยก่อนข้ามสะพานไปตำบลตานี ประมาณ 100 เมตรอยู่ในที่ดินของนายปลิง ว่าหนักแน่น เดิมมีประมาณ 5 หลัก วางตำแหน่งเป็นกลุ่มห่างกันประมาณหลักละ 1 เมตรมีเสาหลักหินกลางตามคำบอกเล่ามี รูปภาพจำหลักตรงเสากลางและเสาทางทิศตะวันออก และมีภาษาขอมจารึกเอาไว้ด้วยที่เสากลาง ส่วนเสาที่ล้อมรอบไม่มีรูปภาพจำหลักอีก 3 เสาหลักหิน สภาพปัจจุบันเสาที่มีภาพจำหลักและภาษาขอมถูกเคลื่อนย้ายไปแล้วขณะนี้ไม่ทราบว่าไปอยู่ที่ใหน 2 หลัก เหลือเพียง 3 หลักเท่านั้น
จุดที่สองพบที่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ข้างลำห้วยชีว์น้อยห่างประมาณ 100 เมตร อยู่ในที่ดินของลุงมี ทวีฉลาด จากคำบอกเล่าเดิมมี 7 หลัก มีรูปภาพจำหลักบนเสาหลักหิน 2 เสาปรากฏอยู่ทางทิศตะวันออก มีภาษขอมจารึก เสาหลักหกลาง มีฐานสี่เหลี่ยม ตรงกลางเป็นแปดเหลี่ยม ยอดบนสุดมีลักษณะกลม ๆ วางตำแหน่งเป็นวงกลมห่างกันประมาณหลักละ 1 เมตรมีเสาหลักหินตรงกลาง 1 หลัก ล้อมรอบ 6 หลัก สภาพปัจจุบัน เสากลางและเสาที่มีภาพจำหลักและภาษาขอมได้ถูกเคลื่อนย้ายไปแล้วเช่นกันขณะนี้ไม่ทราบว่าไปอยู่ที่ใหน เหลืออยู่บริเวณเดิม 3 หลัก อยู่ที่วัดสุทัศน์วนาราม 2 หลัก ลักษณะเสาหลักหินเป็นหินกรวดตัดแท่งสี่เหลี่ยม มีรอยขีดกึ่งกลาง 2 ขั้นรอบวง ขนาดสูงประมาณ 1.50 เมตร กว้าง 50 เซนติเมตรคาดว่าใช้เป็นเสาหลักเขตแดน หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาก็อาจเป็นได้ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวปรากฏว่าหินกรวด หินศิลาแลงและมีการขุดพบเครื่องปั้นดินเผาใช้โบราณ ประเภทไห หม้อโบราณ เครื่องประดับ เครื่องมือเหล็กที่ฝังอยู่ในไห เทวรูปและทองสัมฤทธิ์ รวมอยู่ด้วย
ถนนโบราณ
[แก้]จากการสำรวจศึกษาชุมชนบ้านทุ่งมนมีการปรากฏพบร่องรอยถนนโบราณ คันดินขนาดใหญ่ที่เป็นถนนโบราณที่เชื่อมต่อระหว่างโคกต่าง ๆ มากมาย ที่ยังสามารถมองเห็นร่องรอยชัดเจนมากคือ เส้นทางฝั่ง ต.ไพศาล อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ตรงข้ามบ้านสะพานหัน ปัจจุบันสภาพถนนโบราณดังกล่าวได้มีการทำถนนสร้างทับไปเรียบร้อยแล้ว และปรากฏว่ามีร่องรอยสะพานเก่าแก่เมื่อสมัยก่อนที่เชื่อมกับถนนโบราณนี้ ยาวถึง 200 เมตร บริเวณนั้นยังปรากฏเสาหลักหินบริเวณข้างลำห้วยชีว์น้อย 1 หลัก ขณะนี้ได้เคลื่อนย้ายไปอยู่กลางหมู่บ้านสะพานหันแล้วเมื่อต้นปี 2547 และได้มีการสันนิษฐานว่าร่องรอยสะพานเก่าที่ยังคงปรากฏอยู่น่าจะเป็นเส้นทางเชื่อมลำชีว์น้อยเพื่อเดินทางข้ามชุมชนด้านฝังตะวันออก มีโคกจ๊ะ (โคกเก่า) ที่เป็นชุมชนเก่าแก่ในชุมชนบ้านทุ่งมน/สมุดด้วย และยังพบว่าถนนเก่าที่ปัจจุบันชุมชนไม่ค่อยได้ใช้แล้วคือถนนที่เชื่อมโคกจ๊ะกับบ้านทุ่งมน ทั้งยังมีร่องรอยเสาสะพานขนาดใหญ่เก่าแก่ใช้ข้ามลำห้วยโอก็วลไปบ้านทุ่งมน และยังพบเสาไม้กลางหนองน้ำโคกแกหมอบมีการ สันนิษฐานของชุมชนว่าเป็นเสาโบสถ์หรือศาลากลางน้ำ
พบเส้นทางเกวียนเชื่อมต่อของชุมชนโคกเมืองที่มีคูเมืองล้อมรอบหมู่บ้าน 1 ชั้นผ่านบ้านตาเจียดไปทางทิศใต้ 1 เส้น นอกจากนั้นยังสำรวจพบเส้นทางโบราณที่ใช้สัญจรเดินทางข้ามลำห้วยชีว์น้อยเชื่อมกันระหว่างฝั่งบ้านทุ่งมนกับฝั่งอำเภอพลับพลาชัยอีกหกเส้นทาง จะเป็นร่องทางขึ้นลงห้วยชีว์น้อยที่ ด่าน, ตรำปรง, ละลมกก, กันเตรียง, สมอง และที่บ้านกำไสจานอีกเส้นทางหนึ่งรวมอยู่ด้วย ห่างจากบ้านกำไสจานข้ามลำห้วยชีว์น้อยไปประมาณ 2 กิโลเมตรฝั่งพลับพลาชัยพบปราสาทขนาดเล็กปรากฏอยู่ นอกจากนี้เส้นทางถนนเป็นทางเกวียนเลาะไปตามลำชีว์ตั้งแต่ฝั่งบ้านตาเจียดไปบ้านสะพานหันที่ทะลุไปข้ามสะพานบรรจบกันที่บ้านสะพานหันเชื่อมไปฝั่ง ต.ไพศาล ที่ปรากฏเสาหลักหินอีกด้วย
ร่องรอยคันดินเชื่อมโคก
[แก้]จากการสำรวจพบที่ปรากฏชัดเจนประมาณสองจุดหลัก คือ ทางทิศใต้ฟากตะวันตกหมู่บ้านตาเจียดยาวประมาณ 1 กิโลเมตรเชื่อมกับโคกหมอสุด (โคกหมุดช้าง) หรือที่เลี้ยงช้าง ผูกช้าง มีร่องรอยแอ่งกะทะอยู่หลายบริเวณทางทิศตะวันออกและทางทิศใต้ของโคกหมอสุด ปัจจุบันกลายเป็นไร่และนาชาวบ้านไปแล้ว และที่โคกหมอสุดพบว่ามีก้อนหินที่เป็นหินกรวด หินศิลาแลงกระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณ เคยมีการพบโครงกระดูกโดยบังเอิญในระหว่างการขุดตอไม้เตรียมดินปลูกพืชในเขตป่าชุมชนหลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ เมื่อปี 2540 โดยนายสายรัตน์ หวังทางมี ที่มีขนาด 7 ศอก อยู่ในโลงศิลามีสภาพเป็นรูปโครงกระดูกแต่กลายเป็นผงที่ย่อยสลายแล้ว ยังพบเครื่องใช้โบราณประเภทเครื่องมือการเกษตร เคียวเกี่ยวข้าวขนาดใหญ่ยาวประมาณเกือบเมตร ตะไบเหล็กขนาดใหญ่ 1 ชิ้น รวมเป็น 2 ชิ้น สภาพอิฐหินทรายที่ใช้ในทำที่บรรจุศพคนตายมีขนาดใหญ่ กะเทาะก้อนอิฐดูปรากฏว่าข้างในมีเศษแกลบข้าวที่มีขนาดเม็ดใหญ่สภาพสดใหม่ ใหญ่อ้วนยาวกว่าพันธุ์ข้าวปัจจุบัน คาดกันว่าบริเวณโคกหมอสุดน่าจะเป็นสถานที่มีการก่อสร้างถาวรวัตถุ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนโบราณมาก่อน เพราะเคยมีนักขุดหาของเก่า และชาวบ้านขุดพบ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือเหล็กใช้ในการล่าสัตว์ ทำการเกษตร ขวานหินโบราณ เทวรูปและเครื่องทองสัมฤทธิ์ บางครั้งชาวบ้านไปทำไร่ ทำนา เลี้ยงสัตว์ก็พบเห็นโดยบังเอิญสม่ำเสมอ และถนนคันดินเดิมยังเชื่อมต่อไปยังหนองกกปัจจุบันเริ่มหายไปบ้างแล้วแต่ยังพอสามารถเห็นร่องรอยได้อยู่ สันนิษฐานว่านอกจากจะเป็นคันดินเชื่อมเป็นทางคมนาคมแล้ว คาดว่าน่าจะเป็นระบบชลประทานแบบเก่า หรือทำนบกักน้ำอีกด้วย สาเหตุเพราะว่ามีคันดินขนาดใหญ่และสูงทอดตัวในแนวตะวันออกกับตะวันตกเชื่อมระหว่างโคกทั้งสอง ตรงระหว่างกลางก็เป็นลำห้วยร่องน้ำขนาดเล็กมีสภาพเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ”ดบกุมพะเนง” หรือป่าทาม พื้นที่มีสภาพเป็นแอ่งอยู่ระหว่างกลางด้วย
จุดที่สองพบที่บริเวณบ้านทุ่งมนตะวันออกเป็นถนนคันดินที่ปรากฏร่องรอยที่พอสังเกตได้และบางส่วนก็ได้มีการพัฒนาทำถนนสร้างทับถนนคันดินเดิม คือที่เชื่อมระหว่างทุ่งมนตะวันออกไปยังโคกตาครึกประมาณ 500 เมตรและจากโคกตาครึกไปโคกยายเรืองประมาณ 500 เมตร และจากโคกตาครึกไปโคกอัจแดก อีกประมาณ 800 เมตร
ปราสาทหินศิลาแลง / บาราย
[แก้]ปราสาทหินศิลาแลงบ้านทุ่งมน จากการสัมภาษณ์ ผู้เฒ่า ผู้รู้ในชุมชนพบว่าที่โคกตาครึกเคยเป็นปราสาทหินศิลาแลง สภาพปัจจุบันได้ถูกนักลักลอบขุดหาของเก่าทำลายไปหมดแล้ว โดยการใช้ช้างฉุดลากทำลายรื้อหาของเก่า และขุดเจาะของโบราณพร้อมทั้งขนย้ายก้อนหินปราสาทออกไปหมดราวประมาณ พ.ศ 2512 – 2518 บริเวณนี้มีการขุดพบเครื่องใช้สอย หม้อ ไห ครกศิลาโบราณที่สูงประมาณ 50 ซม. เส้นรอบวงปากครกลึก กว้างประมาณ 1 ศอก สากยาวประมาณ 1 ช่วงแขน เงิน เครื่องประดับโบราณลักษณะปราสาทตามคำบอกเล่าพบว่าปราสาทแบ่งเป็นสองชั้น สูงประมาณ 3 เมตร ฐานยาวประมาณ 12 เมตร ฐานกว้างประมาณ 6 เมตร มีประตูทางเข้าทางทิศตะวันออก และมีทางตรงกันในทิศตรงข้ามคือทิศตะวันตก และภายในปราสาทด้านในทางด้านทิศใต้เคยมีการขุดลงไปประมาณ 1 เมตรพบว่ามีบันไดลึกลงไปตรงหลุมประมาณห้าขั้น พบโครงกระดูก เครื่องใช้สอยประเภท หม้อ ไห เงินโบราณ ฯลฯ เป็นต้นบริเวณดังกล่าวเยื้องไปทางทิศใต้ประมาณ 50 เมตร พบสระโบราณ หรือคาดว่าน่าจะเป็นบาราย อดีตลึกประมาณ 3 เมตรจากคำบอกเล่าของชาวบ้าน ปัจจุบันกลายสภาพเป็นที่นาลึกประมาณ 1 เมตรยังปรากฏร่องรอยของสระคันดินเดิมอยู่ และพบอีกหนึ่งสระห่างจากสระลูกใหญ่ประมาณ 30 เมตร มีขนาดเล็กกว่าห่างจากเนินปราสาทหินศิลาแลงด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ระยะห่างประมาณ 50 เมตร ห่างจากฐานที่ตั้งปราสาททางทิศตะวันตกประมาณ50-100 เมตรพบลำห้วยตาแบนหรือตาปุดปรากฏอยู่ทราบมาว่าอดีตกว้างถึง 2 วา ลึก 1-2 วา ในยามหน้าแล้งก็จะเป็นบ่อน้ำที่ใส ปัจจุบันเป็นร่องน้ำขนาดเล็กเนื่องจากการบุกรุกพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน
แหล่งถลุงแร่-เหล็ก
[แก้]ชุมชนโบราณบ้านทุ่งมน ในการศึกษาและสำรวจของทีมคณะทำงานศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนยังค้นพบหลักฐานแหล่งถลุงเหล็กโบราณตามเนินโคกต่าง ๆ มากมาย แสดงให้เห็นว่าชุมชนบ้านทุ่งมนมีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณกาล แหล่งที่พบการถลุงเหล็ก ตามลักษณะทั่วไปชัดเจนปรากฏการทับถมของขี้แร่ (Slag) เป็นกอง ๆ ในเขตบริเวณที่โคกใกล้ริมน้ำลำห้วยชีว์น้อย และลำห้วยสาขาขนาดเล็กครอบคลุมบริเวณป่ากำไสจาน และที่ดินทำกินของชาวบ้าน เช่น 1.ที่หนองขุนแก้ว ปรากฏขี้แร่ (Slag) อยู่ห่างลำห้วยชีว์น้อยประมาณ 20-50 เมตร และ2.บริเวณฝายยางบ้านสะพานหันที่มีบางส่วนได้ถูกทำลายหลักฐานการถลุงเหล็ก จากการก่อสร้างฝายยางและยังมีบางส่วนปรากฏหลงเหลืออยู่บ้าง ซึ่งอยู่ห่างจากกลุ่มเสาหลักศิลาบริเวณโคกวัดบ้านสะพานหันประมาณ 1 กิโลเมตร
นอกจากนี้ยังพบได้ที่ 3.ริมหนองกกที่เป็นรอยต่อของลำห้วยโอก็วลที่ไหลไปบรรจบลำชีว์น้อยซึ่งเป็นที่มีถนนโบราณเชื่อมไปบ้านสะพานหัน และมีคันดินโบราณเชื่อมกับโคกหมอสุด จากคำบอกเล่าของแม่อวด ได้ทุกทาง 4.พบว่าตรงบริเวณที่นาหรือป่าหัวแรด ตาแยะ ยายาไร เถาะพูนซึ่งเป็นตายายของแม่อวดเล่าให้ฟังพบว่ามีอุปกรณ์ถลุงเหล็กเช่น เตาสูบ ท่อนเหล็ก ปัจจุบันพบเพียงขี้เหล็ก (Slag) ปรากฏในที่นา และที่หนองน้ำสวายซอ ป่าจลีก 5.บริเวณเนินโคกอัจแดก (“ภาษาถิ่นแปลว่าขี้เหล็ก”) ที่มีถนนคันดินโบราณเชื่อมโคกตาครึกประมาณ 800 เมตร ก็ปรากฏพบเนินขี้เหล็ก (Slag) สูงห่างจากลำห้วยตาปุดประมาณ 20 เมตร ซึ่งอดีตประมาณ 40 ปีที่แล้วกว้างประมาณ 2 วา ลึกประมาณ 1-2 วา ปัจจุบันเป็นร่องน้ำขนาดเล็กและเป็นลำห้วยสาขาของลำห้วยโอก็วล บริเวณนี้ยังเป็นถนนคันดินเชื่อมไปบ้านตาปาง ตำบลสมุด บริเวณนี้เคยมีการขุดพบเครื่องใช้ เครื่องประดับ แหวนทอง ทองเหลือง พระ เศษอิฐ หินกรวดกระจายไปทั่ว
แหล่งค้นพบหลักฐานทางวัตถุโบราณ เครื่องใช้สอยโบราณ
[แก้]มีการขุดพบหลักฐานทางวัตถุโบราณกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณป่ากำไสจาน ริมลำน้ำชีว์น้อย ลำห้วยสาขารอบ ๆ ป่ากำไสจาน โดยเฉพาะโคกต่าง ๆ เช่น โคกหมอสุด โคกวัด โคกตาครึก โคกอัจแดก โคกตาอินทร์ ฯลฯ ส่วนใหญ่ที่ขุดพบโดยบังเอิญ หรือการถูกลักลอบขุดจากนักล่าของเก่าวัตถุโบราณ มักจะพบเงินตราแลกเปลี่ยน เทวรูป พระ เครื่องทองสัมฤทธิ์ เครื่องใช้ ถ้วย โถ ชาม เครื่องมือการเกษตรทั้งที่เป็น เครื่องมือหิน เครื่องมือเหล็กที่เกิดจากการถลุงและตีซ้ำกันหลาย ๆ ครั้ง ที่จะมีสภาพลอกล่อนเป็นชั้น ๆ ส่วนใหญ่จะถูกนำไปขายให้กับนายทุน และชาวบ้านที่มีความกลัว อาถรรพ์ ก็นำไปไว้ที่วัด และขายให้กับหลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ นำเก็บไปไว้ที่วัดป่าช้าและที่วัดเพชรบุรี และวัดอุทุมพรในสมัยหลวงปู่ริม รัตนมุนี เป็นต้น
บางส่วนที่ชาวบ้านขุดพบก็เก็บไว้เป็นความลับที่สำรวจพบที่ถ่ายรูปไว้ได้ ที่ขุดพบโดยบังเอิญเมื่อปี 2532 บริเวณขึ้นไปทางทิศเหนือของโรงเรียนทุ่งมนประมาณ 1-2 กิโลเมตร พบเครื่องเคลือบสีน้ำตาลแก่ สีเหลืองอ่อน 5 ชิ้น มีขนาดและชนิดต่าง ๆ กันตั้งแต่ไหขนาดใหญ่ คนโท มีฝาปิดด้วยหินทรายแต่งเป็นฝาปิดเอาไว้ มีไหใบหนึ่งขนาดเล็กกว่าสภาพสมบูรณ์ เจ้าของเล่าว่าเมื่อเปิดออก พบเครื่องมือ เครื่องใช้ทางการเกษตร เครื่องมือล่าสัตว์ เครื่องใช้ประจำตัว ตอนเปิดออกมีสภาพใหม่ก็ไม่ได้สนใจอะไรมาก พอผ่านไปไม่นานก็กลายสภาพเป็นสนิมเกาะกินเนื้อเหล็กและมีสภาพล่อนออกเป็นชั้น ๆ แต่ก็เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี
ชุมชนช่วงบุกเบิกและการพึ่งตนเอง
[แก้]ชุมชนบ้านทุ่งมนถือได้ว่าเป็นชุมชนโบราณ ที่มีการตั้งถิ่นฐาน หลักแหล่งที่อยู่อาศัยอยู่บริเวณนี้แต่ดั้งเดิม ส่วนใหญ่เป็นคนมีเชื้อสายเขมร มีวัฒนธรรมทางภาษา ความเชื่อ ประเพณีเป็นของตนเองที่เข้มแข็ง การตั้งถิ่นฐานบ้านทุ่งมนคาดว่าเป็นคนพื้นถิ่นแถบนี้ มีการลงหลักปักฐานอาศัยบนที่โคก พื้นที่เนินใกล้แหล่งน้ำ ตามคำบอกเล่าของคนในชุมชน ๆ ที่เก่าแก่ที่สุด น่าจะเป็นบ้านโคกจ๊ะ และบ้านทุ่งมนตะวันตก สะพานหัน ตามลำดับ การปรากฏหลักฐานที่พอสืบทราบการตั้งอายุของชุมชน คือ วัดศรีลำยอง สร้างราวปีพุทธศักราช 2303 ร่วมยุคสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ก่อนการตั้งเมืองสุรินทร์ ชุมชนนี้มีคนพื้นที่มีการตั้งถิ่นฐานเดิมอยู่แล้ว มีความผูกพันติดต่อกันกับชุมชนที่อยู่ทางใต้เทือกเขาพนมดงรัก และการโยกย้ายผู้คนอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาพบว่าส่วนใหญ่ย้ายมาจากทางทิศเหนือ แถวทุ่งกุลาร้องไห้ อำเภอท่าตูม อำเภอชุมพลบุรี คนที่ย้ายเข้ามาในชุมชนบริเวณนี้ส่วนมากจะมาจากทางทิศเหนือและทิศตะวันออกตามลำดับ และไม่ปรากฏนักว่ามีการย้ายมาจากทางทิศใต้และทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทางกลับกันคนท้องถิ่นเช่นบ้านทุ่งมน บ้านโคกจ๊ะ จะมีการย้ายถิ่นออกไปทางทิศใต้และตะวันตกมากที่สุด (สุริโย บุติมาลย์)
ประวัติหลวงพ่อตุม
[แก้]หลวงตาตุม เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกวัดอุทุมพร เป็นชาวยะวึก ชาวไพรขลา ทุ่งกุลา-ท่าตูม ท่านมักเดินทางจาริกแสวงบุญ ขึ้น ๆ ลง ๆ ระหว่างเขมรสูง(สุรินทร์)กับเขมรต่ำ(กัมพูชา) บ่อย ทุ่งมน คือ เส้นทางผ่านไปสู่ช่องธรรมชาติ(แนงมุด , บักได) และแวะเยี่ยมเยียนญาติโยมที่รู้จัก เช่น ตาย็วง (ตาย็วง ช่างตีทอง ที่รอนแรมเดินทางแวะทุ่งมนบ่อย ๆ ) ชาวบ้านทุ่งมนมีความศรัทธาอยากมีพระไว้ทำบุญทำทานอย่างต่อเนื่อง จึงนิมนต์ท่านอยู่จำ “นิมนก๊วงโน๊ว” ( ก๊วง แปลว่า นั่ง หมายถึง อยู่จำ อยู่กับที่ อยู่ประจำ ) เป็นที่พักสงฆ์เล็ก ๆ ข้างตะวันออกหมู่บ้านทุ่งมน ริมลำห้วย ร่องน้ำไหลระหว่างเนินโคก ๒ พื้นที่ (ระหว่างทุ่งมนกับทุ่งมนตะวันออก) หลวงตาตุม ได้ต่อรองกับชาวบ้านว่า ถ้าจะอยู่จำได้ “ก๊วงบาน” ต้องขอให้ลูกหลานท่านที่อยู่ทางยะวึก ไพลขลา มาอยู่ใกล้ ๆ ด้วย โดยมี หลานจรูก เป็นสำคัญ ขอว่า “ต้องเอา “โกนกะมุย” มาอยู่ด้วยจึงจะอยู่จำได้ “โมก๊วงบาน” เมื่อหลวงตาตุม ตกลงอยู่จำ จึงได้ไปนำหลานจรูก อายุยังเด็ก และญาติมา ให้อยู่ติดกับวัดด้านทิศเหนือ คือ วัดอุทุมพร ( สาย หรือยายแปะ ทรัพย์พูน ม.๑๐ บ้านแสรโอ)
ประวัติยายจรูก
[แก้]ประมาณช่วงเวลา พ.ศ. ๒๓๕๑ (ร.๑) ประมาณว่า ในระยะกาลที่ ด.ญ.จรูก หรือยายจรูก ได้ถือกำเนิดลืมตามาดูโลก(ยายจรูกมีเชื้อสายลาว,ลาวอพยพมาอยู่ท่าตูม บริเวณทุ่งกุลา ไพลขลา ท่าตูม) ในครอบครัวช่างตีทอง ชื่อว่า “ย็วง” ตาย็วง มีความรู้ชำนาญด้านการตีทอง และเครื่องเงิน มีการเดินทางไปขายทองตามชุมชนต่าง ๆ เสมอ ๆ มีฐานะดีและใกล้ชิดกับผู้นำชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ตาย็วงได้เดินทางมาที่ชุมชนบ้านทุ่งมนเช่นชุมชนอื่น ๆ การเดินทาง กับการพบปะผู้คนทำให้ตาย็วงห่างเมียและลูก จนต่อมาได้แต่งงานอยู่กินกับหญิงคนใหม่อีกคน ณ บ้านทุ่งมนตะวันออก ต.ทุ่งมนเรานี้เอง ทราบว่ามีลูกหลานตาย็วงในบ้านทุ่งมนตะวันออกอยู่ ( สาย หรือยายแปะ ทรัพย์พูน)
ครอบครัวยายจรูกมาสร้างบ้านอยู่ติดกับวัด หรือ ที่ดินวัด (ที่ดินที่ชุมชนกำหนดเป็นพื้นดินทางจิตวิญญาณ) ซึ่งเป็นที่ดินกลางของชุมชน ตามคำขอร้องต่อชุมชนของหลวงตาตุม เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดอุทุมพร
ยายจรูก เมื่ออยู่บ้านทุ่งมน เป็นคนที่พูดภาษาเขมรสำเนียงลาว ตำนานกล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๐ (ร. ๓) ทุ่งมนเป็นเส้นทางผ่านของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพล และเกณฑ์กำลังพลเป็นทหารของกองกำลังเขมรป่าดง กองทัพช้างนำโดย พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ ( สุน ) จัดกำลังเป็นทัพหน้าเต็มอัตราศึก ไปปราบกบถอนุราชแห่งเมืองเวียงจันทร์ (พื้นที่บริเวณบ้านตาเจียด(ปรีแซะ)กับโคกมะสุด (โคกหมอสุด) เป็นค่ายทหารฝึกกองทัพช้าง ฝึกกองทัพม้า ช่วงประมาณ พ.ศ. ๒๓๐๐ – ๒๓๘๐)
ในชุมชนทุ่งมน คือ สงคราม “อันเต” “อันเตอ” สงครามล้างเผ่าพันธุ์คนลาว มีป่าช้าสถานที่ทิ้งศพอยู่ด้านทิศใต้บ้านทุ่งมน ๕๐๐ เมตร ทิ้งศพ ด้วยการขุดหลุมลึกแบบบ่อน้ำใหญ่ ฆ่าแล้วทิ้งลง
ยายจรูก เป็นครอบครัวหัวก้าวหน้า ครอบครัวคหบดี ครอบครัวอุปถัมภ์วัด ราว พ.ศ. ๒๓๗๖ (ร. ๓ ) ประมาณว่า ยายจรูก มีอายุราว ๒๕ ปี เป็นคนสวย ผิวขาว สูง ร่างใหญ่ สวมแหวนวงใหญ่ ( แหวน เป็นหลักฐานอยู่ในปัจจุบัน) ใส่ตุ้มหูเม็ดโต สวมกำไลทั้งข้อมือ และ ข้อเท้า นุ่งผ้าจูงกระเบน ก็ได้แต่งงานกับตาสู่ หนุ่มผู้ดีบ้านทุ่งมน ซึ่งมีตำแหน่งเป็นทหารหรือตำรวจบ้าน และผู้นำของหมู่บ้าน แล้วออกเรือนทำมาหากินสร้างฐานะครอบครัว อาศัยอยู่ที่บ้านทุ่งมนติดกับวัดอุทุมพร
ยายจรูก มีการบริหารจัดการการงานด้วยตนเองได้อย่างดี มีอำนาจทางสังคมมาก ฐานะร่ำรวยมีทรัพย์มาก ใต้ถุนบ้านมีแต่สิ่งของ ครุ กระเชอ เกรียง กระด้ง ของเก่า ของเสียแล้วอยู่เต็มไปหมด ตกเย็นก็จะหย่อนเงินทองจำนวนมากลงหลุมใต้ถุนบ้าน มีฝูงวัวใหญ่ ๓๐๐ – ๕๐๐ ตัวพร้อมกระพรวน กระดิ่งผูกคอวัวเกือบทุกตัว เสียงดังกังวานไกล ตาโฮ ลูกชายสุดท้องยายจรูก เมื่อซื้อทองแทนที่จะให้พี่สาวใส่นำไปใส่ให้วัวแทนบ่อยครั้ง หน้าคอกก็มีแต่สิ่งของเสีย ของเก่าเต็มหน้าคอกวัว เลี้ยงวัวแบบปล่อยป่า ถ้าวัวของใครหลงเข้าไปในฝูง ๕ – ๑๐ ตัวแล้วจะหาไม่เจอเลย เวลาพาบริวารซึ่งมีจำนวนมากไปเลี้ยงวัวในป่าก็จะชวนกันยกก้อนหินก่อเป็นกองเรื่อย ๆ จนเป็นกองใหญ่ มีการครอบครองที่ดินจำนวนมากกว่าเขา มีกองคาราวานขนเกลือ มีการค้าขายระหว่างชุมชน มีการปลูกข้าวพอเลี้ยงครอบครัวและบริวาร เป็นนายเงิน เป็นคหบดี มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นผู้สื่อสารกับเจ้าเมือง เป็นผู้เก็บส่วย เป็นผู้นำที่กล้าหาญ มีข้าทาสบริวารรับใช้จำนวนมาก ยายเดินทางด้วยการขี่ม้าถือไม้แส้ “ปัดต็าย” ลำโต ไส้ยาว ตาแยม ลูกเขยเมื่อเมามาจะกลัวยายจรูกมาก ยายจรูกจะดุว่ากล่าวอย่างแรง
ที่ตั้งบ้าน ๒ หลังนี้อยู่ติดกันข้างวัดอุทุมพร คือ แผ่นดินผืนที่ยายจรูกเข้ามาอยู่บ้านทุ่งมนครั้งแรก อยู่ด้านทิศเหนือติดวัด ลูก ๆ หลาน ๆ หลายคนอาศัยอยู่รวมกันตรงนี้ บัดนี้บ้านที่เห็นเป็นบ้านรุ่นเหลน ลื่อปลูกสร้างอยู่อาศัย
ยายจรูก ครอบครัวนายบ้านมีหน้าที่เก็บส่วย จึงมีที่ดินจำนวนมาก มีบทบาทในการจับจองที่ดิน ที่ดินตั้งแต่ด้านเหนือวัดอุทุมพร บริเวณที่ตั้งโรงเรียนบ้านทุ่งมน (ริมราษฎร์นุสรณ์) ถึงบ้านกำไสจาน มีประวัติว่าเป็นมรดกยายจรูกทั้งนั้น
ประวัติวัดอุทุมพร
[แก้]ที่ตั้งวัดอุทุมพรรวมถึงที่ดินด้านทิศเหนือวัดในปัจจุบัน (แปลงที่เป็นส.ค.๑ เลขที่ ๖๑๕ ) ในอดีตชุมชนบ้านทุ่งมนกำหนดให้เป็นพื้นที่กลางของชุมชนด้านจิตวิญญาณ คือ เป็นที่เผาศพ เป็นที่ฝังศพ เป็นฝังกระดูกบรรพบุรุษ เป็นที่พักของนักบวชที่เดินทางผ่านและแวะชุมชน ต่อมาจึงกำหนดลงรากปักฐานให้เป็นพื้นที่ศาสนาแบบถาวร คือวัดอุทุมพร
พ.ศ. ๒๓๖๐ ( ร.๒) ตั้งวัดอุทุมพร ตำบลทุ่งมน อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีความจริงว่าเป็นวัดที่เกิดขึ้นก่อน พ.ศ.๒๓๖๐ แน่นอน ซึ่งวัดอุทุมพรตั้งขึ้นก่อนวัดเพชรบุรี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๔๒
วัดอุทุมพรปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ ๑๑๙ หมู่ที่ ๙ ตำบลทุ่งมน อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีเนื้อที่ ๙ ไร่ ๒ งาน ๓๘ ตารางวา
มีเจ้าอาวาสมาแล้ว ๑๒ รูป ลำดับเจ้าอาวาสตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนี้
ลำดับที่ ๑ พระตุ้ม อิสิทตฺโต ตั้งแต่ พ.ศ...............ถึง พ.ศ...........
ลำดับที่ ๒ พระคง อินฺทปญฺโญ ตั้งแต่ พ.ศ............. ถึง พ.ศ............
ลำดับที่ ๓ พระชื่น ตั้งแต่ พ.ศ. ............ ถึง พ.ศ. ...........
ลำดับที่ ๔ พระผึ้ง โอภาโส ตั้งแต่ พ.ศ.............. ถึง พ.ศ............
ลำดับที่ ๕ พระเถาะ กิตฺติทินฺโน ตั้งแต่ พ.ศ.............. ถึง พ.ศ.๒๔๙๕
ลำดับที่ ๖ พระอธิการริม รตนมุณี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๕ ถึง พ.ศ.๒๕๒๘
ลำดับที่ ๗ พระครุฑ ขนฺติโก ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๘ ถึง พ.ศ.๒๕๒๙
ลำดับที่ ๘ พระเนือย ธีรปญฺโญ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๙ ถึง พ.ศ.๒๕๓๐
ลำดับที่ ๙ พระหาญ ธมฺมวโร ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๐ ถึง พ.ศ.๒๕๓๖
ลำดับที่ ๑๐ พระสุวรรณ สนฺตจิตฺโต ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๖ ถึง พ.ศ.๒๕๓๙
ลำดับที่ ๑๑. พระครูวิสุทธิกิตติญาณ เจ้าตำบลทุ่งมน (รักษาการแทนเจ้าอาวาส) ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๙-๒๕๔๘
ลำดับที่ ๑๒. พระมหาชาญ อชิโต ป.ธ.๗ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๘ ถึง ปัจจุบัน
สายตระกูลต่าง ๆ
[แก้]นอกจากนี้ในการสืบค้นทางสายตระกูลใหญ่ ๆ ในชุมชนบ้านทุ่งมนพบว่ามีการครอบครองที่ดินเป็นจำนวนมาก ได้เป็นผู้นำหมู่บ้านหลังการแยกตั้งหมู่บ้านแยกออกจากหมู่บ้านหลัก คือทุ่งมนตะวันตก กระจายออกไปทางทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือรวมอยู่ด้วย เช่นสายตระกูลเรืองชาญ ทองกระจาย แผลงดี เงินเก่า ดังถวิล อินัง อย่านอนใจ ฯลฯ และอีกสายตระกูลหนึ่งที่พบว่ามีสมาชิกเยอะ คือสายตระกูลล้อมนาค สมนึกตน สายสู่ ทรงสีสด บุญสวัสดิ์ แก้วกมล เหมาะเป็นดี ฯลฯ เป็นต้น
นอกจากนามสกุลข้างตนเป็นคนพื้นเพบ้านทุ่งมนแล้วยังมีนามสกุลที่มีพื้นเพอยู่บ้านทุ่งมนอีก คือ ได้ทุกทาง ดีตลอด สมใจเรา หวังทางมี หวังสำราญ หวังให้สุข เถาะพูน พรหมนุช ครองชื่น แน่นหนา ดังประสงค์ คงทันดี ชาวเมืองดี ยังดี ประกายแก้ว ทรงแสงจันทร์ พูนลัน ฯลฯ ที่มีการกระจายตัวไปตั้งหมู่บ้านใหม่ ๆ ทางทิศตะวันตก แถวจังหวัดบุรีรัมย์ในปัจจุบันจำนวนมาก การกระจายไปทางทิศตะวันออก หรือทุ่งมนตะวันออก บ้านตาตวนมีการอพยพโยกย้ายจากหมู่บ้านอื่น เช่นโคกจ๊ะ ตาปาง สวายเข้ามาและได้มาสมรสกับตระกูลทางทุ่งมนตะวันตกที่สำรวจพบ คือ สายตระกูลประชุมรักษ์ ศรีราม ปลุกใจหาญ จะมัวดี ไม้สูงดี เก่านาน สมใจหวัง ลับแล ฯลฯ เป็นต้น ทุ่งมนตะวันออกมีการเกิดขึ้นของตระกูลใหม่ ๆ มีบุคคลหัวก้าวหน้านำให้ช่วงที่มีการจัดตั้งตำบล โรงเรียนประชาบาล ก็มีผู้เป็นกำนัน เป็นครูหลายคน
จากการศึกษาข้อมูลสัมภาษณ์พบว่าสายตระกูลที่สำรวจพบ สามารถสืบสายตระกูลไปได้ประมาณ 6-7 ชั่วอายุคนเป็นอย่างน้อยและมีความสัมพันธ์กับชื่อที่โคกต่าง ๆ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์บ้านทุ่งมน การกระจายแยกตัวของการตั้งหมู่บ้านใหม่ ตามความเชื่อของตนบ้านทุ่งมนตะวันตกบางส่วนเชื่อกันว่าต้นตระกูลของตัวเองสืบเชื้อสายมาจากยายจรูก ตาสู่ โดยเฉพาะสาย ตระกูล เรืองชาญ เงินเก่า แผลงดี ทองกระจาย ฯลฯ มีเรื่องเล่าสืบทอดกันมาตามสายบรรพบุรุษมาว่า ยายจรูกเป็นเศรษฐี เป็นผู้ที่ร่ำรวยที่สุด เมื่อตอนเด็ก ๆ อพยพมากับจากเวียงจันทร์เดินทางมากับพ่อและตัวเองก็อาศัยอยู่กับคนหมู่บ้านทุ่งมนตะวันตกซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว
เมื่อสมัยเป็นเด็กยายจรูกหลังจากได้อาศัยคนบ้านทุ่งมน มีเหตุการณ์ล้างเผ่าพันธ์กันขึ้นคือ มีการใช้คำถามว่า “อันเต” คือถามว่าเป็นใครถ้าพูดไม่ชัดเป็นภาษาเขมรก็จะฆ่าทิ้ง จะต้องพูดคำว่า “อันเตอ” เหตุการณ์นี้เจ้าของบ้านที่ยายจรูกอาศัยอยู่ด้วยเอาไปซ่อนในตะกร้าใบหม่อนคว่ำไว้จึงรอดพ้นจากวิกฤติครั้งนั้นมาได้ พอโตขึ้นมาก็ได้แต่งงานกับตาสู่ ซึ่งเป็นคนบ้านทุ่งมนตะวันตกนั่นเอง ด้วยความที่เป็นน่านับหน้าถือตาของชุมชนด้วยเป็นเศรษฐี สมัยหนึ่งมีการเก็บภาษี (ส่วย) [1]จากรัฐแก่ทางการชาวบ้านที่ไม่มีเงินส่งแก่รัฐก็จะมายืมยายจรูก ถ้าไม่มีเงินคืนให้ชาวบ้านก็จะส่งตัวแทนคนในบ้าน 1 คนมาเป็นแรงงานชดใช้ บางครั้งก็ยกมาทั้งครอบครัว ในรายที่มาอยู่ด้วยทั้งครอบครัวต่อมายายจรูกก็ยกที่ดินให้เป็นที่ทำกิน ไม่ปรากฏว่ามีการทรมาน กดขี่ แต่อย่างใดแก่คนที่มาใช้แรงงานใช้หนี้
สิ่งที่แสดงฐานะว่ายายจรูกเป็นเศรษฐีของชุมชน คือการเลี้ยงวัว ควาย จำนวนมาก เชื่อกันว่ายายจรูกมีวัวประมาณ 300-500 ตัว มีวิธีการเลี้ยงย้ายคอกบ่อย ๆ และมีการบุกเบิกที่ดินทำกินไปด้วยจึงทำให้แกมีที่ดินในการครอบครองมาก จนตกมาถึงทายาทรุ่นต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน จากการย้ายคอกวัว ควายบ่อย ๆ นี้เองก็เกิดเป็นองค์ความรู้ที่ตกมาจนถึงสมัยปัจจุบัน คือเวลาเคลื่อนย้ายวัวไปที่แห่งใหม่ คอกวัว ควายที่ล้อมรั้วไว้ก็จะทำการเพาะปลูกพืช ประเภท เผือก มันเทศ ข้าวโพด ฝ้ายที่ใช้ในการทำเครื่องนุ่งห่ม ทำไร่ยาสูบ ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเอาไว้ด้วย
ครั้งหนึ่งเกิดโรคระบาด วัว ควายล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงเป็นสาเหตุให้ยายจรูกต้องต้อนวัวไปเลี้ยงแบบปล่อยไว้ในป่าตามธรรมชาติ ในทุ่งหญ้ากลางป่า มีหนองน้ำธรรมชาติกลางป่าซ่อนเอาไว้เวลาใครที่แปลกหน้าเข้าไปวัวควายจะหายเข้าป่าไปหมด เวลายายจรูกเข้าไปในป่าหาวัวจะมีสัญญาณเคาะไม้เป็นจังหวะวัวควายก็จะปรากฏตัวออกมา ปัจจุบันก็คือ “ทำเลเลี้ยงสัตว์สาธารณประโยชน์ทุ่งโครอย”มีภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “กู่รวย” แปลว่า “โครอย” หรือโคร้อย และนอกจากอาชีพทำการเลี้ยงปศุสัตว์แล้ว มีอาชีพที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือการ ค้าเกลือ โดยที่ว่ายายจรูกมีเกวียนในการใช้บรรทุกเกลือประมาณ 20 เล่ม จากคำบอกเล่าของทายาทยายจรูกรุ่นที่ 5 โดยการเดินทางเป็นคาราวาน โจร ผู้ร้ายไม่กล้ามาตอแย แต่เมื่อพบก็จะมาขอเพียงข้าวปลาอาหาร เท่านั้น การเดินทางไปกลับประมาณครึ่งเดือน แต่ทายาทไม่รู้ว่ายายจรูกไปเอาเกลือมาจากบริเวณใด ทราบเพียงว่าเดินทางทวนน้ำไปตามลำน้ำชีว์น้อยเท่านั้น
จากการสัมภาษณ์พบว่าทายาทยายจรูกก็ได้กระจายไปตั้งหลักแหล่งหมู่บ้านใหม่ ๆ เนื่องจากหมู่บ้านทุ่งมนเริ่มแออัด และทำเลภูมิประเทศน่าจะดีกว่าเดิม เช่นสายเรืองชาญบางส่วนไปอยู่ที่บ้านแสรโอ สายบ้านกำไสจานคือตระกูลทองกระจาย ที่อยู่บ้านทุ่งมนตะวันตกเหมือนเดิมคือตระกูลแผลงดี เงินเก่า เรืองชาญ ทองกระจายบางส่วนไปทางบ้านทุ่งมนตะวันออก โดยการแต่งงานกับคนท้องถิ่นและอพยพมาจากถิ่นอื่นแต่ว่าเป็นที่นับหน้าถือตาของชุมชนนั้น ๆ เป็นต้น
ต่อมาที่มีการบันทึกปรากฏหลักฐานการอพยพโยกย้ายประมาณปี พุทธศักราช 2321 มีนายมาก นางมูล ด้นตระกูล “ประชุมรักษ์” นายตอนต้นตระกูล “สมใจหวัง” เป็นผู้นำกลุ่มแรก ๆ อพยพมาตั้งบ้านเรือนที่บ้านทุ่งมนตะวันออก สันนิษฐานว่ากลุ่มคนเหล่านี้ย้ายมาจากบ้านโคกจ๊ะ และบ้านทุ่งมนตะวันตก สาเหตุที่ย้ายมาเกิดจากที่ตั้งชุมชนเดิมคับแคบจึงพากันย้ายมาทุ่งมนตะวันออกปัจจุบัน (บ้านทุ่งมนหมู่ที่ 2)
ที่มาของคำว่า "ทุ่งมน"
[แก้]การต่อตั้งถิ่นของบ้านทุ่งมน บ้านทุ่งมนตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือบ้านโคกจ๊ะ คาดกันว่ามีการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของชาวเขมรป่าดงที่มีความต่อเนื่องอยู่จนถึงปัจจุบันก่อนปีพุทธศักราช ๒๓๐๓ ซึ่งมีครัวเรือนตั้งอยู่ไม่มาก ต่อมาราวปีพุทธศักราช ๒๓๒๐ - ๒๓๔๐ ประชาชนในหมู่บ้านเพิ่มจำนวนมากขึ้น ประมาณ ๒๐ – ๓๐ หลังคาเรือน มีทั้งคนย้ายเข้ามาแต่งงานกับคนบ้านทุ่งมนและคนบ้านทุ่งมนย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ประชาชนในหมู่บ้านร่วมกันสร้างวัดขึ้น (วัดอุทุมพร) แล้วอาราธนานิมนต์หลวงพ่อตุม ชาวท่าตูมที่จาริก (เดินทาง) ไป-กลับระหว่างท่าตูมกับกัมพูชา ขณะนั้นหลวงพ่อตุมจำอยู่ที่วัดโคกจ๊ะ (วัดศรีลำยอง) ชาวบ้านชุมชนจึงพร้อมใจกันนิมนต์ท่านให้จำอยู่วัดที่สร้างใหม่เพื่อเป็นศูนย์รวมใจ ครั้งนั้นท่านได้นำพาญาติธรรมย้ายจากท่าตูมมาอยู่ข้างวัดอุทุมพร คุณครูสุริโย บุติมาลย์เล่าไว้ว่า “หลวงพ่อตุมย้ายจากเสราะตุมมวน (บ้านทุ่งมนไพรขลา) เมื่อรับนิมนต์เป็นเจ้าอาวาสแล้ว ท่านได้ศึกษาทำเลที่ตั้งหมู่บ้านเห็นว่ามีลักษณะภูมิประเทศคล้ายคลึงกันกับทำเลที่ตั้งของบ้านทุ่งมนไพรขลาเดิมที่เรียกว่า “เสราะตุมมวนปรีขลา” เช่นมีลักษณะแหล่งน้ำ ลักษณะของพันธุ์ไม้ ลักษณะดินคล้ายกันมากจึงเรียกขานชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “เสราะตุมมวน” หรืออาจสอดคล้องกับคำว่า “เสราะลูกโอ๊วตุมนิมวนโม” อันเป็นสำเนียงเรียกขานที่นำมาสู่การตั้งชื่อหมู่บ้าน และอีกความหมายหนึ่ง ป้าเย็น สมใจเราเล่าว่า “มีคนเฒ่าคนแก่ผู้รู้ท่านหนึ่งเขียนหนังสือขอมเป็นคำกลอนเล่าตำนานกล่าวถึงสถานที่ต่าง ๆ ไว้ เช่น สถานที่บ้านทุ่งมน คือ“ซงต็วงมุน” แปลเป็นไทยว่า “ปักธงก่อน” หมายความว่า “ปักธงไว้เป็นสถานที่แรก” สถานที่บ้านสมุด คือ “สาบน” แปลว่า “สาบาน” สถานที่วัดสะเดารัตนาราม คือ “อังกอร์ตาลวก” แปลว่า “เมืองต้นพอก” สถานที่ขุนแก้ว คือ เกาะแก้ว” อาจสรุปได้ว่า “เสราะตุมมวน” “เสราะลูกโอ๊วตุมนิมวนโม” หรือ “เสราะซ็วงต็วงมุน” ซึ่งแปลว่า “ปักธงก่อน” เป็นสำนวนที่มาของ คำว่า “บ้านทุ่งมน” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ลักษณะพื้นที่
[แก้]ลักษณะทางด้านสภาพแวดล้อมของชุมชนบ้านทุ่งมน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าที่มีภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “ปรีระเบาะ” แปลว่าป่าโคก พื้นดินมีหินและกรวดจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วไป ดินแห้งแล้งน้ำในหน้าร้อน หรือป่าเต็งรังในภาษากลางนั่นเอง ในอดีตที่นี่มีป่าที่อุดมสมบูรณ์เข้าลักษณะเป็นป่าโคกหรือป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ สลับทุ่งหญ้าธรรมชาติ และเป็นป่าดิบแล้งริมลำน้ำห้วยโอก็วล และลำน้ำชีว์น้อย ที่ปรากฏว่าเคยมีไม้ประเภทต้นยาง ไม้ตะเคียนหิน ตะเคียนทอง กระบาก ตะแบก เหียงขนาดใหญ่มากมาย และป่าริมน้ำหรือพื้นที่ชุ่มน้ำ (West land) “ปรีระเนียม หรือ ดบกุมพะเนง”หรือป่าทาม นอกจากนี้พื้นที่ป่า”ปรีระเบาะ”ยังมีสภาพเป็นดินลูกรัง และมีหินโผล่ ประเภทหินอัคนี หินปูน ที่เกิดจากการดันตัวของเปลือกโลก ด้านทิศใต้ลาดเอียงติดลำห้วยก็วล ทิศตะวันออกลาดเอียงไปมีลำห้วยตาแบน ตาปุด ทางด้านทิศเหนือมีร่องน้ำห้วยโคกเมืองไหลไปบรรจบที่บ้านตาอี ทิศตะวันตกมีลำห้วยลำน้ำชีว์น้อย เป็นแหล่งเกษตรน้ำฝน มีแหล่งน้ำไหลผ่านชุมชนทั้งสี่ด้านตลอดช่วงหน้าฝน และด้วยความเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ตามลักษณะภูมิประเทศนี้เอง การปรากฏของชื่อแหล่งน้ำ คือ ร่องน้ำ ลำห้วย เก่า ปัจจุบันพอเหลือร่องรอยพอสังเกตได้บ้าง เช่น อันโนงโฮ หรือ อันโนงจู๊บ ที่เป็นชื่อเรียกภาษาถิ่นแปลว่า บ่อน้ำไหล หรือบ่อน้ำซับ อยู่ทางทิศเหนือบ้านตาเจียด ปัจจุบันได้มีการสร้างถนนกั้นทางน้ำ และบริเวณที่เป็นแหล่งน้ำซับธรรมชาติได้ถูกขุดเป็นสระน้ำและยังมี ลำห้วย โอจรอก แปลว่า ลำธารไหล ตาน้ำ ที่เรียกอย่างนี้เพราะมีน้ำไหลเสียงจรอก ๆ ตลอดทั้งหน้าฝน อยู่ทางทิศตะวันตกบ้านตาเจียด กั้นกลางบ้านตาเจียดกับโคกหมอสุด ก่อนไหลลงลำห้วยโอก็วลและลำห้วยโอก็วลไหลไปบรรจบกับลำน้ำชีว์น้อยที่ป่าหนองกก ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของชุมชนบ้านทุ่งมน มีพืชสมุนไพรทุกประเภทอยู่เต็มผืนป่าโดยสมุนไพรแต่ละอย่างจะขึ้นอยู่ตามแต่สภาพลักษณะของแต่ละป่า ในพื้นป่าช่วงแรกจริง ๆ ยังมี แรด เสือ สิงโต กูปรี หมูป่า เก้ง กระต่าย แม่น ชะมด ลิง ค่าง ชะนี หมาจิ้งจอก นางอาย กระรอก กระแต งู เต่า ตะกวด หนู ฯลฯ นกทุกชนิดอาศัยอยู่มาก ช่วงปลาย ๆ สัตว์ใหญ่จะเริ่มอยู่ห่างชุมชนไปเรื่อย ๆ บางครั้งสัตว์ใหญ่บางตัวยังหลงเข้ามาเดินในหมู่บ้าน ในน้ำมีสัตว์น้ำหลากหลายพันธุ์ ปลาตัวโต ๆ ลำห้วยโอก็วลน้ำจะไหลแรงมากในช่วงมีฝนตก ห้วยจะลึก สองข้างฝั่งห้วยเป็นป่ากุมพะเนงรกทึบ ปลาชุกหน้าฝน หน้าแล้งน้ำจะขังอยู่ตรง”ละลวง”ตื้น ๆ น้ำขุ่นปลาจะหายากนิดหนึ่ง ส่วนห้วยชีว์น้อย”ละลวง” จะลึก น้ำใส ซึ่งอยู่เป็นช่วง ๆ ติดต่อกันตลอดของลำห้วย เป็นที่รวมของปลาต่าง ๆ เป็นแหล่งอาหารยามหน้าแล้ง ที่โล่งเป็นที่นาหรือไร่ปลูกข้าว บริเวณที่ตั้งชุมชนมีลักษณะเป็นเนินโคก พืชผลไม้ขึ้นอยู่กระจายเต็มหมู่บ้าน รอบ ๆ ชุมชนมีสภาพเป็นป่าเบญจพรรณเขตร้อน ป่าเต็งรังและมีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ บริเวณริมน้ำก็เป็นป่าบุ่ง ป่าทาม น้ำท่วมถึงในช่วงน้ำมากและมีป่าไผ่ (ป่าระไซร้) เป็นที่อาศัยของสัตว์ป่า นก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์น้ำมากมาย แหล่งอาหารอยู่รอบชุมชน ในหน้าแล้งมีน้ำกิน น้ำใช้หาบเอาที่บ่อน้ำที่ขุดไว้ใกล้ลำห้วย
ลักษณะภูมิประเทศที่กระทบต่อเศรษฐกิจชุมชน
[แก้]ตำบลทุ่งมนเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลายและซับซ้อน ด้านตะวันตกของตำบลมีลำน้ำชีน้อยไหลผ่าน ทำให้บริเวณนี้เป็นจุดรวมน้ำสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม มักเกิดน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ส่วนด้านทิศเหนือของตำบลมีพื้นที่เนินสูงซึ่งเต็มไปด้วยป่าเต็งรังและดินลูกรังที่ประกอบด้วยหินภูเขาไฟและหินอัคนี เนื่องจากตำบลทุ่งมนเป็นพื้นที่ภูมิอากาศแห้งแล้งซ้ำซาก บางปีหลังจากภัยแล้งรุนแรง เมื่อมีฝนตกหนักในวงกว้างตามพื้นที่อื่น ๆ ที่ลุ่มกลับเกิดน้ำท่วมได้ พื้นที่ทางกายภาพของตำบลทุ่งมนสามารถแบ่งออกเป็น ๓ ลักษณะหลัก ได้แก่ พื้นที่เนินสูงป่าเขา ซึ่งดินเป็นดินลูกรัง เมื่อขาดแคลนน้ำที่ดินร้อนข้าวนาจะแห้งเฉาเร็ว พื้นที่ราบทุ่งนา ซึ่งดินเป็นดินปนทราย และพื้นที่ราบลุ่มริมน้ำ ซึ่งดินเป็นดินเหนียวและมักประสบปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน และจากที่ตำบลทุ่งมนจะเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีการตั้งถิ่นฐานมายาวนาน แต่พื้นที่ส่วนใหญ่กลับไม่เหมาะสมต่อการทำเกษตรกรรม มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความยากลำบากในการดำรงชีวิตที่เกิดจากปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ทำให้คนในชุมชนต้องเผชิญกับภาวะความเครียดและความกดดันทางสภาพแวดล้อม ส่งผลให้ผู้คนเกิดความรู้สึกจำยอม อ่อนแอ และขาดความกระตือรือร้น การดำรงชีวิตในพื้นที่ที่มีภูมิประเทศหลากหลายเช่นนี้ ทำให้ชาวบ้านต้องปรับตัวกับธรรมชาติที่ไม่แน่นอน ซึ่งทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ลักษณะทางเศรษฐกิจของชุมชนทุ่งมน
[แก้]เนื่องจากการอิงอาศัยฐานทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ แหล่งน้ำ ที่มีความเป็นธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มากที่สุดและยังเป็นป่าทึบ ประชากรยังน้อย การเพาะปลูกมีแต่การปลูกข้าวเป็นหลัก ถึงจะมีพืชอื่นอยู่บ้างแต่ก็เล็กน้อยและจะปลูกไว้ใกล้บ้านเท่านั้น มีการจับจองพื้นที่ทำนาพอเหมาะแก่แต่ละครัวเรือน การเลือกพื้นที่ทำนาก็เลือกเอาที่ที่มีความเหมาะสมตามธรรมชาติ ที่นาส่วนมากจะเป็นแอ่ง เป็นหนองน้ำตื้น ๆ ที่ดอนหรือที่แปลงนาใหม่ในป่าทำนาไม่ค่อยได้ผล การทำนาข้าว ไร่ข้าว จะประสบปัญหาทางธรรมชาติและสัตว์ป่า นกลงกัดกินทำลายข้าวสูง ได้ข้าวไว้กินน้อยต้องนำเนื้อปลา พืชผลหมากรากไม้อื่นเป็นอาหารผสมให้มาก ของใช้สอยในครอบครัวทำขึ้นเองจากธรรมชาติ ชีวิตไม่จำเป็นต้องสะสมอาหารอื่นนอกจากข้าว ไม่ต้องรีบเร่งร้อนร้น หากินใกล้บ้าน ออกไปไกลบ้านจะกลัวสัตว์ป่าต่าง ๆ หรือหลงป่า ส่วนมากผู้ชายจะเป็นพรานเข้าหาอาหาร สมุนไพรและเครื่องเทศหาได้จากป่า พืชผลไม้ขึ้นอยู่กระจายเต็มหมู่บ้าน บางครอบครัวร่ำรวย มีข้าบริวาร เลี้ยงสัตว์ใช้งานทำนา เทียมเกวียน พักผ่อนหย่อนใจแสดงฐานะทางเศรษฐกิจ บางครอบครัวอยู่พิงพึงอาศัยระบบอุปถัมภ์ไม่ได้วางแผนไม่เห็นความสำคัญในการสร้างฐานะมีทรัพย์ส่วนตัวเพราะรวยโจรจะปล้น บางครอบครัวหาเลี้ยงชีวิตแบบเพียงมีของกิน มีเวลานอน มีที่พักผ่อน ทำงานเบา ทำกินเลี้ยงชีวิตวันต่อวัน ผ้านุ่งชุดเดียว อยู่บ้านเสาไม้ไผ่หลังคาหญ้าคาฝาใบไม้ หุงข้างหม้อดิน เชิงกรานเผาฟืน กะลาใส่แกง ฝาหอยกาบเป็นช้อน แสงไฟจากไต้จุดไว้เป็นแสงสว่างยามค่ำคืน ของกินของใช้แลกเปลี่ยนแจกจ่ายแบ่งกันในหมู่บ้านง่าย ๆ เกือบทุกคนที่ไม่เตะต้องเหล้าของมึนเมา อยู่ร่วมกันพบปะพูดคุยพึ่งพาอาศัยกันในชุมชนได้อย่างจริงใจ
การบุกเบิกในช่วงแรกเป็นการจับจองที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและการเพาะปลูกเพื่อการบริโภคใกล้ ๆ บริเวณที่ดินของครัวเรือนประมาณ 1-5 ไร่ ครอบครัวใหญ่ ขยัน หัวก้าวหน้าหรือฐานะดีจะมีประมาณ 10 – 20 ไร่ การบุกเบิกการตั้งถิ่นฐานชุมชน โดยวิธีการหักร้างถางพงการแสดงความเป็นเจ้าของด้วยการชวนเพื่อนบ้านไปด้วย แล้วเดินชี้เขตบริเวณที่ต้องการแล้วให้เพื่อนบ้านเป็นพยานและยังมีวิธีการแลกเปลี่ยนด้วยเครื่องมือการเกษตรอีกด้วย
การถ่ายโอนกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดินและกรรมสิทธิ์เหนือที่ดิน มีวิธีการแบ่งที่ดินให้กับทายาท ลูกหลาน ด้วยการแบ่งให้เท่า ๆ กันทุกคนและจะจัดที่ดินบางส่วนเก็บไว้ให้แก่ตนเอง เผื่อไว้สำหรับยกให้ลูกหลานที่ดูแลตนเอง กรณีที่ไม่ได้ที่ดินก็จะได้รับเป็นเงินทดแทนหรือขายให้กับพี่น้องก็ได้
ลักษณะการใช้ประโยชน์บนที่ดินของชุมชน
[แก้]ในอดีตบริเวณที่ตั้งชุมชนมีลักษณะเป็นเนินโคก มีสภาพเป็นป่าเบญจพรรณเขตร้อน และป่าเต็งรัง สลับทุ่งหญ้า บริเวณริมน้ำก็เป็นป่าบุ่งทาม ภาษาถิ่น (กุมพะเนง) และมีป่าไผ่ (ระไซร้) การบุกเบิกในช่วงแรกเป็นการจับจองที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย และทำการทำมา หากินเลี้ยงชีพ เพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารใกล้ ๆ บนที่ดินของครัวเรือนประมาณ 1 – 5 ไร่ เป็นอย่างมากไม่เกิน 10 – 20 ไร่แบบค่อยเป็นค่อยไป ตามเงื่อนไขเครื่องมือพลังการผลิตในยุคนั้น ๆ ที่สอดคล้องสัมพันธ์พลังการผลิต โดยใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นส่วนใหญ่และยังมีการเลี้ยงสัตว์ประเภทวัว ควายใช้เป็นแรงงานไถนา วัวใช้ลากเกวียนบรรทุก ทั้งใช้แรงงานและขายและหมูไว้สำหรับบริโภคและแลกเปลี่ยน ฯลฯ ในช่วงแรกเป็นการทำการผลิตสำหรับการบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก
วิธีการเพาะปลูกข้าวไร่สมัยต้น ๆ ในการตั้งชุมชน
[แก้]การทำข้าวไร่ มีกระบวนการผลิตข้าวไร่หรือที่เรียกว่าข้าวหยอดหลุม ที่เน้นผลิตไว้บริโภคในครัวเรือน โดยใช้พันธุ์ข้าวที่มีลักษณะเมล็ดแดง ยาวเหมือนข้าวขาวดอกมะลิแต่อ้วนกว่ากลิ่นหอมเหมือนใบเตย ปัจจุบันเลิกปลูกดินไม่มีปุ๋ย ดินไม่ดี สภาพปัญหาในอดีตสู้วัชพืชไม่ได้ พบกับปัญหาหนู สัตว์ปีกประเภทนกแก้ว วัว ควาย ฯลฯ เป็นต้น
ข้าวไร่เป็นพันธุ์ข้าวอายุประมาณ 3 เดือน ได้เก็บเกี่ยว จะเริ่มปลูกประมาณเดือน พ.ค – สิงหาคม ใช้วิธีการเผาป่า เผาไร่ ให้ดินสุก ไม่ไถ ใช้คราดลากเกลี่ยดิน ใช้แรงงานประมาณ 2 คน โดยคนหนึ่งเดินนำหน้าใช้ไม้ไผ่จิ้มเสียบขุดรู คนที่สองเดินตามหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวและกลบหลุมด้วย ใช้วิธีการปลูกรวมกับพืชผักสวนครัวในไร่นาข้าวผสมด้วย เช่นมันเทศ แตงไทย งา ถั่ว มะเขือ พริก ข้าวโพด ฯลฯ เป็นต้นปลูกแซมระหว่างหลุมข้าว และบริเวณรอบ ๆ แปลงข้าวไร่ ตามจอมปลวกบ้าง ผลผลิตข้าวไร่หนึ่งได้ประมาณ 30 ถัง
ด้านการดำรงชีพ
[แก้]ด้านอาหารอาศัยฐานทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ทั้งแหล่งน้ำและผืนป่าที่สมบูรณ์มากไปด้วย ทั้งพืชผักอาหารป่า ทั้งสัตว์น้ำ สัตว์ป่า โดยการจับปลาใช้วิธีง่าย ๆ คือการใช้เบ็ด แห ฉมวก ยอ สุ่ม สวิง ฯลฯ การเป็นพรานป่าดักสัตว์ ด้วยการล่าเป็นอาหารเป็นหลัก ด้วยในอดีตบริเวณนี้มากไปด้วยสัตว์ป่า เช่น เก้ง หมูป่า ไก่ป่า ฯลฯ การจับสัตว์ป่าใช้ปืนแก๊ป ใช้แร้วดักสัตว์ เป็นต้น นอกจากนั้นก็เก็บหาของป่าเช่น เห็ดต่าง ๆ ดอกกระเจียว และสมุนไพร หน่อไม้ตามป่าริมน้ำ ผักต่าง ๆ จากในป่า ซึ่งมีอยู่อย่างมากมายหากินได้ตลอดทั้งปี จนถึงขนาดที่เรียกว่าชั่วหม้อน้ำเดือด หมายถึงว่า เมื่อชาวบ้านอยากกินอาหารป่าต้มเห็ด ต้มปลา พ่อบอกลูกชาย ลูกสาว ให้ตั้งหม้อต้มน้ำ เตรียมเครื่องปรุงรอ สักครู่พ่อออกไปที่ป่า หาเห็ด หรือปลา ก็กลับมาพร้อมกับของป่า ขณะที่หม้อน้ำที่ตั้งไฟเตรียมทำอาหารยังไม่ทันเดือด จนเป็นความภาคภูมิใจของคนที่ร่วมสมัยที่มีชีวิตอยู่เล่าเป็นตำนานบอกกับลูกหลานตนเอง ด้วยความภูมิใจและโหยหาอดีต ที่บ่งบอกสภาพความอุดมสมบูรณ์ของฐานทรัพยากรธรรมชาติท้องถิ่น
นอกจากนั้น จะมีการทอผ้าไว้ใช้เองยามว่างจากนา ไร่ ในช่วงหน้าแล้งสำหรับไว้ใช้ในครัวเรือน โดยจะมีการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย และการผลิตก็ใช้เครื่องมือทอผ้าแบบพื้นบ้านด้วยกี่มือหรือกี่ธรรมดา ส่วนใหญ่จะทอเป็นผ้าโสร่ง ผ้าซิ่น และเก็บไว้สำหรับเป็นเครื่องนุ่งห่ม และสำหรับเก็บไว้ใช้ในพิธีงานบุญ งานมงคลใช้เป็นสินสอด โดยเฉพาะผ้าไหม และใช้ในงานตามพิธีกรรม ความเชื่อ ความศรัทธาของท้องถิ่นเป็นสำคัญ
และยังสำรวจพบว่าชุมชนทุ่งมน/สมุดยังมีกระบวนการผลิตเครื่องปั้นดินเผาหมอ ไห สำหรับใช้ในการหุงต้ม โดยใช้ดินจากลำห้วยโอก็วลเป็นวัตถุดิบในการผลิต บริเวณบ้านสมุดและยังมีการอนุรักษ์และปั้นหม้อเป็นอาชีพอยู่ แม้ว่าปัจจุบันแหล่งวัตถุดิบในการปั้นหม้อจะถูกทำลายจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของการพัฒนาแหล่งน้ำของชุมชนแล้วก็ตาม
อาจสรุปได้ว่าลักษณะทาง สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ฯลฯ บ้านทุ่งมน / สมุดในอดีตเป็นมิติของการผลิตแบบพอเพียงหรือเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเองซึ่งมีศักยภาพสูงมาก ทั้งด้านการผลิตข้าวที่พอเพียงในครัวเรือน การผลิตเครื่องนุ่งห่มไว้ใช้ในระดับครัวเรือน เครื่องใช้ในครัวเรือนและแรงงานช่วยเหลือกันในครอบครัว แหล่งอาหารจากธรรมชาติทั้งสัตว์ พืชพันธุ์ธัญญาหาร ได้อย่างเพียงพอต่อการตอบสนองทางปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต โดยมีเงื่อนไขปัจจัยที่สำคัญ คือความอุดมสมบูรณ์ของฐานทรัพยากรธรรมชาติและจำนวนประชากร ที่มีระบบความสัมพันธ์ ทางวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ที่มีความแนบแน่นในระบบเชิงเครือญาติสูง
การขยายตัวของชุมชนทุ่งมน
[แก้]ประวัติการตั้งวัดที่สัมพันธ์กับการขยายตัวของชุมชนตำบลทุ่งมน
[แก้]เช่น วัดศรีลำยอง ที่ตั้งอยู่ ณ บ้านโคกจ๊ะ เป็นวัดแรกในพื้นที่ตำบลทุ่งมน บริเวณวัดศรีลำยองเดิมมีร่องรอยหลักฐานบ่งชี้ว่าเป็นโบราณสถาน มีหลักฐานระบุว่ามีการตั้งวัดขึ้น เมื่อ พ.ศ.๒๓๐๓ ส่วนวัดอุทุมพรมีการะบุในเอกสารว่าเป็นการการตั้งวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๐ เอกสารราชการระบุว่าวัดเพชรบุรีตั้งวัดขึ้น เมื่อพ.ศ. ๒๓๔๒ สำหรับการสืบค้นจากเรื่องเล่าของชุมชนพบว่า วัดเพชรบุรีเดิมชื่อ “วัดทุ่งมนตะวันออก” ตรงกับชื่อหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดอุทุมพร ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “บ้านทุ่งมนตะวันออก, เสราะตุมมวนอีเกิด” เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดเพชรบุรี ชื่อหลวงพ่อเพชร นิมนต์จากวัดอุทุมพร ด้วยเหตุนี้สรุปข้อเท็จจริงได้ว่าวัดอุทุมพรเป็นวัดที่สร้างขึ้นก่อนวัดเพชรบุรี ด้านวัดประทุมทอง ที่ตั้งอยู่ ณ บ้านพลับ มีการระบุการตั้งวัดขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๔๐๒ เจ้าอาวาสรูปแรกที่สร้างวัดประทุมทองชื่อ หลวงพ่อคง ก็เป็นพระภิกษุสงฆ์จากวัดอุทุมพร ส่วนวัดสะเดารัตนารามหลวงพ่อริม รตนมุณี สร้างขึ้น พ.ศ. ๒๕๑๐
หลักฐานทางราชการที่เกี่ยวข้องกับตำบลทุ่งมน
[แก้]เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๕ ประเทศไทยมีการแบ่งเขตการปกครองจังหวัด เป็นอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน บ้านทุ่งมนเมื่อถูกประกาศให้เป็นชื่อของตำบลทุ่งมน อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ อาณาเขตตำบลทุ่งมนมีเขตพื้นที่ปกครองกว้างขวางด้านทางทิศใต้คือพื้นที่จังหวัดอุดรมีชัย ประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน หลังมีการแบ่งปักปันเขตประเทศกับฝรั่งเศสและก่อนที่จะมีการตั้งตำบลปรือ พื้นที่ตำบลทุ่งมนยังจรดเขตแดนกับประเทศกัมพูชา
เมื่อวันที่ ๑๔ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ตำบลทุ่งมนเป็นตำบลหลักของการประกาศจัดตั้งอำเภอปราสาท ชาวทุ่งมนเป็นชาวไทยเชื้อสายเขมร ในอดีตชุมชนทุ่งมนไปมาหาสู่กัน เป็นเครือญาติกันกับชุมชนเขมรในจังหวัดอุดรมีชัยปัจจุบัน
การแบ่งพื้นที่ตำบลล่าสุดนั้นคณะกรรมการสภาตำบลทุ่งมน ดำเนินการแยกตำบลทุ่งมนเป็น ๒ ตำบล ตั้งชื่อตำบลใหม่ เป็น “ตำบลสมุด” มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เมื่อ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๖ ลงในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๖ ตั้งตำบลสมุดมีเขตปกครอง รวม ๘ หมู่บ้าน ให้ตำบลทุ่งมนมีเขตปกครอง รวม ๑๑ หมู่บ้าน
กำนันที่ปกครองตำบลทุ่งมนตั้งแต่อดีต
[แก้]พื้นที่ของตำบลทุ่งมนมีกำนันปกครองพื้นที่มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๕ และตลอดสมัยการประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ในพระพุทธศักราช ๒๔๔๐ ส่วนที่มีการบันทึกรายชื่อเป็นทำเนียบกำนันตำบลทุ่งมนเป็นหลักฐาน เริ่มนับจากพุทธศักราช ๒๔๕๘ เป็นความชัดเจนตามกฎหมายพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวกำนันผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. ๒๔๕๘ ที่บังคับให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗
ทำเนียบกำนันตำบลทุ่งมน
[แก้]ต่อมาราวปี พุทธศักราช 2458 ได้มีการจัดตั้งเป็นตำบลตามทางรัฐที่ได้มีการจัดตั้งเขตการปกครองส่วนภูมิภาค ระดับตำบลขึ้นมีอาณาเขตเดิมจากบ้านทุ่งมนจรดเขตชายแดนประเทศกัมพูชา ทำเนียบผู้ปกครองตำบลทุ่งมน จากอดีตถึงปัจจุบัน
- นายปริด (สำริด) ศรีราม พ.ศ. 2458 – 2469 ( เป็น ครู ผู้ใหญ่บ้าน และเป็น กำนัน /บิดาของกำนันสบู่)
- นายสบู่ ศรีราม พ.ศ. 2469 – 2480
- นายกอย สมใจเรา พ.ศ. 2480 – 2494
- นายเพลิน ลับแล พ.ศ. 2494 – 2501
- นายสนอง หงษ์สูง พ.ศ. 2501 – 2505
- นายเพลิน ลับแล พ.ศ. 2505 – 2507
- นายพร ทองหาว พ.ศ. 2507 – 2519
- นายเล้ง เรืองประดับ พ.ศ. 2519 – 2523
- นายบรัน บานบัว พ.ศ. 2523 – 2537
- นายเปือง สันทัยพร พ.ศ. 2538 – 2550
- นายอุดม หวังทางมี พ.ศ. 2550 - 2562
- นายประมวล ยงยิ่งยืน พ.ศ. 2563 - ธันวาคม 2565
- นายเฮีย หวังทางมี พ.ศ. 2566 -ปัจจุบัน
ต่อมาราวปี พุทธศักราช 2533 ชุมชนบ้านทุ่งมนมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คือคณะกรรมการหมู่บ้านและกรรมการสภาตำบลทุ่งมน ได้กำหนดให้มีการแยกหมู่บ้านเพราะเนื่องจากตำบลทุ่งมนมีหมู่บ้านในการปกครองจำนวนมาก และในปีพุทธศักราช 2535 คณะกรรมการสภาตำบลจึงทำการขอแยกตำบลทุ่งมนส่วนหนึ่งออกเป็นตำบลสมุด ซึ่งจากเดิมตำบลทุ่งมนมีจำนวนหมู่บ้าน 19 หมู่บ้าน แบ่งเป็นตำบลทุ่งมน 11 หมู่บ้าน ตำบลสมุด 8 หมู่บ้าน ตามลำดับ
อาณาเขตตำบลทุ่งมน
[แก้]ระยะทางการคมนาคมทางรถยนต์ตำบลทุ่งมนห่างจากอำเภอปราสาทประมาณ 13 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 30.182 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 18,863 ไร่ โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลสวาย อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์
- ทิศใต้ต ติดต่อกับตำบลตานี และตำบลปรือ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลสมุด อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลป่าชัน อำเภอพลับพลาชัย จังหวัดบุรีรัมย์
สภาพทั่วไป
[แก้]- ที่ตั้ง ตำบลทุ่งมน เป็น 1 ใน 18 ตำบลของอำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของที่ว่าการอำเภอปราสาท ห่างจากตัวอำเภอปราสาทระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร
- เนื้อที่ ตำบลทุ่งมน มีเนื้อที่ประมาณ 30.182 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 18,863 ไร่
ภูมิประเทศ
[แก้]- พื้นที่มี 3 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นที่เนินสูงป่าเขา ที่ราบทุ่งนา และที่ราบลุ่มริมห้วย ที่เนินสูงป่าเขามีลักษณะดินเป็นดินลูกรัง ที่ราบทุ่งนาเป็นดินปนทราย ส่วนที่ราบลุ่มห้วยเป็นดินเหนียว ที่ราบลุ่มริมห้วยเป็นที่ทำนามักจะมีน้ำท่วมบ่อย ๆ และที่สูงมักขาดน้ำบ่อย ๆ
ชุมชนที่มีการขับเคลื่อนพัฒนา
[แก้]1.จำนวนหมู่บ้าน ตำบลทุ่งมน และผู้ใหญ่บ้าน
[แก้]แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 11 หมู่บ้าน โดยมีรายชื่อหมู่บ้าน และผู้นำ ดังนี้
- ทุ่งมน นายเฮีย หวังทางมี (กำนัน)
- ทุ่งมน นายอมรธัช ทองโยง
- ตาเจียด นายโสม ทนงใจ
- กำไสจาน นายปัญญา วาจาดี
- ตาอี นายวีรวัฒน์ จันทร์ครบ
- ตันเหลือบ นางประจวบ จุฬา
- สะพานหัน นายคำนูญ ชื่นชมยิ่ง
- หนองหรี่ นายประนอม สิทธิสังข์
- ทุ่งมน นายชัยยุทธ ลิ้มรัตนานุกุล
- แสรโอ นางณัฐกานต์ หวังทางมี
- ลำพุก นายปัญชา ลับแล
เพศ / พ.ศ.
ปี 2547 หญิง 3,416 ชาย 3,474 รวม 6,890
ปี 2548 หญิง 3,483 ชาย 3,440 รวม 6,923
ปี 2549 หญิง 3,469 ชาย 3,485 รวม 6,954
ปี 2550 หญิง 3,436 ชาย 3,405 รวม 6,841
ที่มา กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (ธ.ค. 47, ธ.ค. 48, ธ.ค. 49, ธ.ค. 50)
2.สภาพทางเศรษฐกิจ
[แก้]2.1 อาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และรับจ้างทั่วไป โดยคิดเป็นร้อยละ ได้ดังนี้
- เกษตรกรรม ทำนา รวมทั้งปศุสัตว์ 85 เปอร์เซ็นต์
- ทำไร่ 5 เปอร์เซ็นต์
- อื่น ๆ เช่น รับจ้าง ค้าขาย รับราชการ 10 เปอร์เซ็นต์
สถิติรายได้เฉลี่ยของคนในครัวเรือน
ปี 2548 บาท
ปี 2549 บาท
ปี 2550 บาท
ที่มา ข้อมูล จปฐ. ปี 2550 อบต. ทุ่งมน
3.สภาพสังคม
[แก้]3.1 การศึกษา
- โรงเรียนประถมศึกษา 3 แห่ง
• โรงเรียนบ้านทุ่งมน (ริมราษฎร์นุสรณ์) ตั้งอยู่ ม.9
• โรงเรียนบ้านสะพานหัน ตั้งอยู่ ม.7
• โรงเรียนบ้านกำไสจาน ตั้งอยู่ ม. 4
- โรงเรียนประถมศึกษา (ขยายโอกาส) 1 แห่ง
• โรงเรียนบ้านหนองหรี่ ตั้งอยู่ ม.8
- โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย 1 แห่ง
• โรงเรียนทุ่งมนวิทยาคาร ตั้งอยู่ ม.2 ต.สมุด
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวันเรียน 2 แห่ง
• ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองโบสถ์ ตั้งอยู่ ม.9
• ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดป่าหินกอง ตั้งอยู่ ม. 4
- ศูนย์เรียนรู้ชุมชนตำบลทุ่งมน 1 แห่ง
• ศูนย์เรียนรู้ชุมชนตำบล ณ วัดสะเดารัตนาราม ตั้งอยู่ ม.10
3.2 สถาบันและองค์กรทางศาสนา
- วัด 4 แห่ง
• วัดอุทุมพร ตั้งอยู่ ม. 9
• วัดประทุมทอง ตั้งอยู่ ม. 6
• วัดสะเดารัตนาราม ตั้งอยู่ ม.10
• วัดสุวรรณหงษ์ ตั้งอยู่ ม.7
- ที่พักสงฆ์ 6 แห่ง
• พรหมคุณสามัคคีธรรม ตั้งอยู่ ม.1
• วัดป่าหินกอง ตั้งอยู่ ม. 4
• บ้านหนองหรี่ ม. 8
• บ้านสะพานหัน (ธรรมยุต) ม.7
• หนองกก ม.3
• บ้านกำไสจาน(ศิริภูมิ) ม.4
3.3 ปราชญ์ชาวบ้าน/ภูมิปัญญาชาวบ้าน
- หมอนวดแผนโบราณ 3 คน
- หมอสมุนไพร 2 คน
- หมอเป่า 1 คน
- หมอสะเดาะห์เคราะห์ 3 คน
- หมอโหร/ทำนาย 2 คน
- พิธีกรรม 8 คน
- จักสาน 10 คน
- ดนตรีพื้นบ้าน/การแสดง 20 คน
- การเกษตร 2 คน
3.4 หน่วยงานราชการ 2 แห่ง
- องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งมน ตั้งอยู่ ม. 1
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุ่งมน ตั้งอยู่ ม. 2
4.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
[แก้]4.1 แหล่งน้ำ
- สระน้ำ, หนองน้ำ
• ม.1 หนองเปรย, สระน้ำหลวงตา, ฝายตาเวด
• ม.2 หนองโชค
• ม.3 หนองกก, สระตาเจียด
• ม.4 สระน้ำ
• ม.5 สระน้ำ
• ม.6 สระน้ำ 3 แห่ง
• ม.7 สระน้ำ
• ม.8 สระน้ำ
• ม.9 สระน้ำ 4 แห่ง
• ม.10 หนองตาเตน
• ม. 11 หนองลำพุก
- ลำห้วยตาก็วล ผ่าน ม. 9, 1, 8, 6, 10, 3
- ลำห้วยชี ผ่าน ม. 7, 3, 4, 5
4.2 ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่
- ป่าสงวนแห่งชาติกำไสจาน 8,000 ไร่
- ป่าทำเลปรือเกือน
- ป่าชุมชนหนองกก
- ป่าชุมชนโคกหมอสุด
- ป่าชุมชนบ้านพลับ
- ลำชี
- ห้วยก็วล
5. ศักยภาพพื้นที่ตำบล
[แก้]ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น และ การปกครองส่วนท้องที่
6. ศักยภาพพื้นที่ตำบล ด้านภาคประชาชน
[แก้]• มีกลุ่มป่าชุมชนกำไสจาน เริ่ม ปี 2544
• มีกลุ่มวิทยุชุมชน เริ่ม ปี 2546 (ยกเลิกกิจการ ปี 2557) ส่วนสถานีวิทยุที่วัดสะเดารัตนาราม เริ่มดำเนินการปี 2555 ยังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
• มีสมาคมบ้านวัดโรงเรียนน่าอยู่ ตั้ง 2548
• มีกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล ซึ่งจัดตั้งเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2549
• มีสภาเด็กและเยาวชนตำบล จัดตั้ง กันยายน 2550
• มีพระสงฆ์เป็นแกนนำในชุมชน
สถานการณ์ตำบลทุ่งมน
[แก้]1. ภัยแล้ง/ฝนทิ้งช่วง
2. ชุมชนมีการเรียนรู้ร่วมกันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2544
3. แนวคิดแบบกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล เป็นหลักคิดในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน
4. เคยมีการรณรงค์โครงการวัดปลอดสุราและงานศพปลอดเหล้า
5. มีสภาเด็กและเยาวชนช่วยทำงานในพื้นที่
6. เคยมีการดำเนินโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ลำน้ำห้วยชี (ตอนกลาง) ในพื้นที่ เมื่อปี 2552 จึงมีผลต่อความพยายามการดำเนินการจัดการน้ำในตำบลอย่างต่อเนื่อง
7. มีโครงการท้องถิ่นบวร สร้างความสะอาด สร้างความสุข สร้างรอยยิ้ม สร้างความสามัคคี ตำบลทุ่งมน เริ่มดำเนินงานเมื่อเดือนมีนาคม 2565 พร้อมกับมีการจัดตั้งกองทุนกิจกรรมทำความสะอาดตำบลทุ่งมน
8. การเมืองนิ่ง ลดความขัดแย้งได้มากกว่าเดิม
9. นายกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นแกนนำภาคประชาชนได้
องค์กรเครือข่ายในตำบลทุ่งมน ที่จดจัดตั้งชุมชน กับกำนัน เมื่อวันที่ ๒๑ เดือน กรกฎาคม ๒๕๕๑
[แก้]องค์เครือข่ายตำบล ๑๒
(๑) กองทุนคุณธรรมสวัสดิการชุมชนพึ่งตนเองตำบลทุ่งมน
(๒) กลุ่มวิสาหกิจเลี้ยงโคกระบือบ้านหนองโบสถ์-ทุ่งมน
(๓) สมาคมบ้านวัดโรงเรียนตำบลทุ่งมน-สมุดน่าอยู่,
(๔) กลุ่มป่าชุมชนกำไสจาน
(๕) กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตำบลทุ่งมน-สมุด
(๖) สภาเด็กและเยาวชนตำบลทุ่งมน
(๗) กลุ่มอนุรักษ์กบาลแสรตำบลทุ่งมน (ป่าหัวไร่ปลายนา)
(๘) ชมรมผู้สูงอายุ “ศิลาผกาลำดวน” ตำบลทุ่งมน
(๙) กลุ่มศิลปดนตรีพื้นบ้านตำบลทุ่งมน
(๑๐) ศูนย์เรียนรู้วิทยุชุมชนทุ่งมน-สมุด
(๑๑) กลุ่มสตรีวัฒนธรรมทุ่งมน
(๑๒) กลุ่มภูมิปัญญาท้องถิ่นทุ่งมน
องค์กรชุมชนแต่ละหมู่บ้าน ที่จดจัดตั้งชุมชน กับผู้ใหญ่บ้าน ก่อนวันที่ ๒๒ เดือน กรกฎาคม ๒๕๕๑
[แก้]บ้านทุ่งมน ม.๑ จำนวน ๓ องค์กร
(๑) กลุ่มสตรีเพื่อการพัฒนาบ้านทุ่งมน ม.๑ ๒๐ ก.ค. ๒๕๕๑
(๒) กลุ่ม อสม. บ้านทุ่งมน ม.๑ ๒๐ ก.ค. ๒๕๕๑
(๓) กองทุนหมู่บ้านทุ่งมน ๒๐ ก.ค. ๒๕๕๑
บ้านทุ่งมน ม.๒ ๔
(๑) กองทุนหมู่บ้านทุ่งมน
(๒) ร้านค้าชุมชน
(๓) กลุ่มเกษตรอินทรีย์
(๔) กลุ่ม อสม. บ้านทุ่งมน ม.๒ ๑๘ ก.ค. ๒๕๕๑ ๑๘ ก.ค. ๒๕๕๑ ๑๘ ก.ค. ๒๕๕๑ ๑๘ ก.ค. ๒๕๕๑
บ้านตาจียด ๓
(๑) กลุ่มอสม. บ้านตาเจียด
(๒) กลุ่มสตรีเพื่อการพัฒนาบ้านตาเจียด
(๓) กลุ่มครอบครัวคุณธรรมบ้านตาเจียด ๒๐ ก.ค. ๒๕๕๑ ๒๐ ก.ค. ๒๕๕๑ ๒๐ ก.ค. ๒๕๕๑
บ้านกำไสจาน ๒
(๑) กองทุนหมู่บ้านกำไสจาน
(๒) กลุ่ม อสม. บ้านกำไสจาน ๒๑ ก.ค. ๒๕๕๑ ๒๑ ก.ค. ๒๕๕๑
บ้านตาอี ๒
(๑) กองทุนหมู่บ้านตาอี
(๒) กลุ่มอสม. บ้านตาอี ๒๑ ก.ค. ๒๕๕๑ ๒๑ ก.ค. ๒๕๕๑
บ้านตันเหลือบ ๓
(๑) กองทุนหมู่บ้านตันเหลือบ
(๒) กลุ่ม อสม. บ้านตันเหลือบ
(๓) ส่งเสริมผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านตันเหลือบ ๑๗ ก.ค. ๒๕๕๑ ๑๗ ก.ค. ๒๕๕๑ ๑๗ ก.ค. ๒๕๕๑
สะพานหัน ๒
(๑) กองทุนหมู่บ้านสะพานหัน
๒) กลุ่ม อสม. บ้านสะพานหัน ๒๑ ก.ค. ๒๕๕๑ ๒๑ ก.ค. ๒๕๕๑
บ้านหนองหรี่ ๒
(๑) กองทุนหมู่บ้านหนองหรี่
(๒) กลุ่ม อสม. บ้านหนองหรี่
(๓) กลุ่มเย็บผ้าบ้านหนองหรี่
(๔) กลุ่มออมทรัพย์สตรีบ้านหนองหรี่ ๒๑ ก.ค. ๒๕๕๑
บ้านหนองโบสถ์ ๓
(๑) กลุ่มสตรีเพื่อการพัฒนาบ้านหนองโบสถ์
(๒) กลุ่ม อสม. บ้านหนองโบสถ์
(๓) กลุ่มเยาวชนบ้านหนองโบสถ์ ๒๐ ก.ค. ๒๕๕๑ ๒๐ ก.ค. ๒๕๕๑ ๒๐ ก.ค. ๒๕๕๑
บ้านแสรโอ ๔
(๑) กองทุนหมู่บ้าน แสรโอ
(๒) กลุ่มอสม. บ้านแสรโอ
(๓) กลุ่มทำน้ำปลา บ้านแสรโอ
(๔) กลุ่มสตรีแม่บ้านแสรโอ ๑๗ ก.ค. ๒๕๕๑ ๑๗ ก.ค. ๒๕๕๑ ๑๗ ก.ค. ๒๕๕๑ ๑๗ ก.ค. ๒๕๕๑
บ้านลำพุก ๓
(๑) กลุ่มออมทรัพย์บ้านลำพุก
(๒) กลุ่มอสม. บ้านลำพุก
(๓) กลุ่มสตรีแม่บ้าน บ้านลำพุก ๑๗ ก.ค. ๒๕๕๑ ๑๗ ก.ค. ๒๕๕๑ ๑๗ ก.ค. ๒๕๕๑
รวมทั้งตำบล ๔๕ องค์กร
อ้างอิง
[แก้]- ↑ อาจจะเป็นราวหลังการเซ็นสนธิสัญญาเบาริงระหว่างอังกฤษกับสยามใน พ.ศ. ๒๓๙๘ ที่มีผลให้การผลิตข้าวของไทยจากระบบเศรษฐกิจเพื่อยังชีพมาเป็นผลิตเพื่อขาย – ส่งออกไปต่างประเทศและ มีการเก็บภาษีรัชชูปการ หรือการ “เสียค่าหัว” คนละ ๔ บาทต่อปี และเงินศึกษาพลี คนละ ๒ บาทต่อปี นับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๘ ในสังคมประเพณีที่ไม่ต้องใช้เงินตรา เงินจำนวนนี้ที่เรียกเก็บจากชาวบ้านจน ๆ เพียงเท่านี้ก็เป็นภาระอันใหญ่หลวง ถ้าหาเงินมาเสียค่าหัวไม่ได้ก็จะถูกเกณฑ์มาใช้แรงงานในลักษณะ “อนาถา” และให้ความรู้สึกต่ำต้อยเสียศักดิ์ศรีมาก แล้วยังมีเงินศึกษาพลีที่เรียกเก็บเพิ่มอีก ทำให้เกิดความเดือดร้อนกันทั่วไปเป็นเวลานานจนถูกยกเลิกไปใน พ.ศ. ๒๔๗๕ : เพิ่มเติมข้อมูล วิถีไท ; ภูมิปัญญาสู่ชุมชนบูรณาการ : ๒๕๔๔, ๕๖