ข้ามไปเนื้อหา

ตัวรับรู้สารเคมี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ในระบบประสาท ตัวรับรู้สารเคมี (อังกฤษ: chemoreceptor, chemosensor) เป็นปลายประสาทรับความรู้สึกที่ถ่ายโอนข้อมูลทางเคมีไปเป็นศักยะงานเพื่อส่งไปยังระบบประสาทกลาง โดยทั่ว ๆ ไปก็คือ เป็นตัวรับรู้สิ่งเร้าคือสารเคมีในสิ่งแวดล้อม

เมื่อสิ่งเร้าในสิ่งแวดล้อมสำคัญต่อการรอดชีวิต สิ่งมีชีวิตจะต้องตรวจจับสิ่งเร้านั้นได้ และเพราะกระบวนการของชีวิตทั้งหมดมีกระบวนการทางเคมีเป็นมูลฐาน จึงเป็นเรื่องธรรมดาว่า การตรวจจับและการรับรู้สิ่งเร้าภายนอกจะเป็นปรากฏการณ์ทางเคมี แน่นอนว่า สารเคมีในสิ่งแวดล้อมสำคัญต่อการรอดชีวิต และการตรวจจับสิ่งเร้าเคมีจากภายนอก อาจเชื่อมกับการทำงานทางเคมีของเซลล์โดยตรง

การรับรู้สารเคมีสำคัญในการตรวจหาสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งอาหาร ที่อยู่ สัตว์ชนิดเดียวกันรวมทั้งคู่ และสัตว์ล่าเหยื่อ ยกตัวอย่างเช่น สำหรับสัตว์ล่าเหยื่อ เหยื่ออาจจะได้ทิ้งกลิ่นหรือฟีโรโมนไว้ในอากาศหรือบนพื้นผิวที่เคยอยู่ เซลล์ที่ศีรษะ ปกติในทางเดินอากาศหรือปาก จะมีตัวรับสารเคมีบนผิวที่จะเกิดปฏิกิริยาเมื่อสัมผัสกับสารที่เป็นเป้าหมาย แล้วก็จะส่งข้อมูลทางเคมีหรือทางเคมีไฟฟ้าไปยังศูนย์ คือสมองหรือไขสันหลัง ระบบประสาทกลางก็จะตอบสนองด้วยปฏิกิริยาทางกายเพื่อล่า/หาอาหารซึ่งช่วยให้รอดชีวิต

หมวด

[แก้]

มีหมวดหลัก ๆ ของตัวรับรู้สารเคมี 2 อย่างคือ ที่รู้ได้จากไกล ๆ และที่รู้แบบประชิดตัว[ต้องการอ้างอิง]

ที่รู้ได้จากไกล ๆ

[แก้]

ตัวอย่างของตัวรับรู้สารเคมีที่รู้ได้จากไกล ๆ ก็คือ เซลล์รับกลิ่น (olfactory receptor neuron) ในระบบการได้กลิ่น (olfactory system) การได้กลิ่นเป็นสมรรถภาพในการตรวจจับสารเคมีที่อยู่ในสภาวะแก๊ส ในสัตว์มีกระดูกสันหลัง ระบบจะตรวจจับกลิ่นและฟีโรโมนได้ในช่องจมูก โดยมีอวัยวะ 2 อย่างที่ต่างกันทางกายวิภาค คือ เยื่อการได้กลิ่น (olfactory epithelium, MOE) และ vomeronasal organ (VNO) ตัว MOE โดยหลักมีหน้าที่ตรวจจับกลิ่น และ VNO โดยหลักจะตรวจจับฟีโรโมน ส่วนการได้กลิ่นของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจะต่างจากของสัตว์มีกระดูกสันหลัง ยกตัวอย่างเช่น ในแมลง อวัยวะการได้กลิ่นจะอยู่ที่หนวด[1]

ที่รู้แบบประชิดตัว

[แก้]

ตัวอย่างของตัวรับรู้สารเคมีที่ต้องมาประชิดกันรวมทั้ง

  • ตุ่มรับรสในระบบการลิ้มรส คือสารประกอบเคมีที่ประกอบด้วยน้ำจะมาถูกตัวรับรู้ในปาก เช่น ตุ่มรับรสบนลิ้น แล้วก่อปฏิกิริยา สารเคมีเช่นนี้สามารถจุดชนวนให้หิวอาหาร หรือให้มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อพิษ โดยขึ้นอยู่กับว่าตัวรับรู้ชนิดไหนเป็นตัวส่งสัญญาณ ปลาและสัตว์พวกกุ้งกั้งปูซึ่งอยู่ในน้ำตลอดเวลา จะใช้ระบบการรับรสเพื่อทั้งระบุตำแหน่งอาหารและการกินอาหาร
  • แมลงใช้การรับรู้สารเคมีที่มาถูกต้องเพื่อระบุสารเคมีบางอย่าง เช่น ไฮโดรคาร์บอนและสารเคมีที่เป็นผิวเคลือบของพืชที่เป็นอาหาร การรับรู้สารเคมีที่มาถูกต้องเพื่อหาคู่จะมีมากกว่าในแมลง แต่ก็พบในสัตว์มีกระดูกสันหลังบางอย่างด้วย ตัวรับรู้สารเคมีที่มาถูกต้องแต่ละตัว จะเฉพาะเจาะจงกับสารเคมีชนิดหนึ่ง ๆ[1]

อวัยวะรับความรู้สึก

[แก้]

การได้กลิ่น

[แก้]

ในสัตว์มีกระดูกสันหลัง การได้กลิ่นจะเกิดที่จมูก สิ่งเร้าซึ่งเป็นสารเคมีที่ระเหยได้จะเข้าจมูกไปถึงร่องรับกลิ่น (olfactory cleft) ที่บุด้วยเยื่อรับกลิ่น (olfactory epithelium) ซึ่งมีเซลล์อยู่ 3 ชนิด คือ เซลล์สนับสนุน (supporting) เซลล์ฐาน (basal) และเซลล์รับกลิ่น (olfactory sensory neuron) แม้ทั้งหมดจะสำคัญในการได้กลิ่น แต่เซลล์รับกลิ่นเท่านั้นจะสัมผัสกับสิ่งเร้า หลังจากที่ขนเซลล์ (cilia) ซึ่งยื่นออกจากเซลล์ได้รับสิ่งเร้าคือสารเคมีแล้ว เซลล์ก็จะส่งศักยะงานผ่านแผ่นกระดูกพรุน (cribiform plate) ไปยังโกลเมอรูลัสภายในป่องรับกลิ่น (olfactory bulb) แม้ร่องรับกลิ่นจะอยู่ใกล้สมอง แต่มันก็ตอบสนองช้า และบ่อยครั้งต้องได้โมเลกุลจำนวนมากเพื่อจะจุดชนวนการยิงศักยะงาน

ส่วนในแมลง หนวดของมันจะทำหน้าที่เป็นตัวรับเคมีแบบรู้ระยะไกล ยกตัวอย่างเช่นผีเสื้อราตรีกลุ่ม Heterocera (moth) มีหนวดที่ทำจากขนนุ่มเบายาว ๆ ซึ่งเพิ่มพื้นผิวในการจับกลิ่น และขนยาวแต่ละขนที่งอกจากหนวดจะมี sensilla ซึ่งเล็กกว่าและใช้จับกลิ่นระเหยได้[2] เนื่องจากเป็นสัตว์กลางคืนโดยหลัก การพัฒนาการได้กลิ่นที่ดีกว่าจึงช่วยหาทิศทางในเวลากลางคืน

การลิ้มรส

[แก้]

ในสัตว์มีกระดูกสันหลังหลายอย่าง ลิ้นเป็นอวัยวะลิ้มรสหลัก โดยเป็นกล้ามเนื้อในปาก มันจึงสามารถบริหารจัดการแยกแยะองค์ประกอบของอาหารในระยะแรกของการย่อยอาหาร ลิ้นนั้นสมบูรณ์ไปด้วยหลอดเลือด ซึ่งช่วยตัวรับเคมีที่ผิวด้านบนให้ส่งสัญญาณการรู้รสไปสู่สมอง ต่อมน้ำลายในปากยังช่วยโมเลกุลให้ไปถึงตัวรับเคมีในรูปแบบสารละลาย

ตัวรับเคมีของลิ้นอยู่ในซูเปอร์สกุลสองอย่างของ G protein-coupled receptor (GPCR) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ผิวเซลล์ซึ่งสามารถยึดกับลิแกนด์อันหนึ่งนอกเซลล์ ซึ่งในกรณีนี้ก็คือสารเคมีจากอาหาร แล้วเริ่มกระบวนการส่งสัญญาณตามลำดับ (signaling cascade) หลายหลาก ที่อาจมีผลส่งศักยะงานไปยังสมองของสิ่งมีชีวิต ตัวรับเคมีเป็นจำนวนมากที่ลิ้นซึ่งจะยึดกับลิแกนด์โดยเฉพาะ ๆ สามารถรับรสได้ 5 อย่างหลัก ๆ คือ เปรี้ยว หวาน ขม เค็ม และอุมะมิ รสเค็มและเปรี้ยวจะทำปฏิกิริยากับช่องไอออนของเซลล์ได้โดยตรง ในขณะที่รสหวานและขมจะมีปฏิสัมพันธ์กับ GPCR ของเซลล์ ส่วนรสอุมะมิโดยผ่านกลูตาเมตก็จะมีปฏิสัมพันธ์กับ GPCR ด้วย

การรับรู้สารเคมีโดยสัมผัส

[แก้]

การรับสารเคมีโดยสัมผัสต้องอาศัยการสัมผัสกันโดยตรงระหว่างตัวรับความรู้สึกกับสิ่งเร้า ตัวรับความรู้สึกเช่นนี้มีขนหรือรูปกรวยสั้น ๆ ที่มีรูเดียวใกล้หรือที่ยอด ดังนั้น จึงเรียกว่า ตัวรับความรู้สึกรูเดียว (uniporous receptor) ตัวรับความรู้สึกบางอย่างอ่อน บางอย่างแข็งและจะไม่งอเมื่อสัมผัส ตัวรับความรู้สึกโดยมากจะพบที่ส่วนปาก แต่ก็พบที่หนวดและขาของแมลงบางชนิดด้วย จะมีกลุ่มเดนไดรต์ใกล้ ๆ กับรูของตัวรับความรู้สึก แต่จะกระจายตัวต่าง ๆ กันขึ้นอยู่กับสัตว์ และการส่งสัญญาณประสาทจากเดนไดรต์ก็ต่างกันขึ้นอยู่กับสัตว์และสารเคมีที่เป็นสิ่งเร้า

หนวดของเซลล์ (Cellular antennae)

[แก้]

งานศึกษาทางชีววิทยาและทางการแพทย์ปี 2551 แสดงว่า ขนเซลล์ (cilia) หลักของเซลล์ต่าง ๆ ในยูแคริโอต ทำหน้าที่เป็นหนวดรับความรู้สึก คือมีบทบาทสำคัญในการรับรู้สารเคมี มุมมองปัจจุบันทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับขนเช่นนี้อันเป็นออร์แกเนลล์ของเซลล์ก็คือ เป็น "หนวดรับความรู้สึกของเซลล์ ที่อำนวยกระบวนการส่งสัญญาณของเซลล์ (signaling pathway) เป็นจำนวนมาก บางครั้งโดยจับคู่กับการเคลื่อนไหวของขน (ciliary motility) หรือกับการแบ่งเซลล์และการพัฒนาให้แตกต่างของเซลล์"[3]

สรีรวิทยา

[แก้]
  • ต่อมแครอทิด (carotid body) และ Aortic body สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของออกซิเจนได้เป็นหลัก และยังตรวจจับระดับที่สูงขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์และการเพิ่มความเป็นกรดในเลือดได้ด้วย แม้จะในระดับที่ต่ำกว่าออกซิเจน
  • chemoreceptor trigger zone เป็นบริเวณของก้านสมองส่วนท้าย (medulla) ที่ได้ข้อมูลเกี่ยวกับยาและฮอร์โมนจากเลือด และสื่อสารกับศูนย์ควบคุมการอาเจียน เพื่อให้อาเจียนในสถานการณ์บางอย่าง

อัตราการหายใจ

[แก้]

ตัวรับเคมีสามารถตรวจจับระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด โดยเฝ้าตรวจความเข้มข้นของไอออนไฮโดรเจนซึ่งเพิ่มความเป็นกรด อันเป็นผลโดยตรงของคาร์บอนไดออกไซด์ที่เข้มข้นขึ้น เพราะมันมีปฏิกิริยากับเอนไซม์คาร์โบนิกแอนไฮเดรส (carbonic anhydrase) แล้วสร้างโปรตอนและไอออนไบคาร์บอเนต ต่อจากนั้น ศูนย์การหายใจในก้านสมองส่วนท้าย (medulla) ก็จะส่งอิมพัลส์ประสาทไปยังกล้ามเนื้อซี่โครง (intercostal muscles) และกล้ามเนื้อกะบังลม ผ่านเส้นประสาท intercostal nerve และ phrenic nerve ตามลำดับ เพื่อเพิ่มอัตราการหายใจและปริมาตรของปอดเมื่อหายใจเข้า

ตัวรับเคมีที่มีอิทธิพลต่ออัตราการหายใจแบ่งหมวดได้เป็น 2 หมู่[ต้องการอ้างอิง]

  • ตัวรับเคมีในระบบประสาทกลาง (central chemoreceptor) อยู่บนผิวข้างด้านล่าง (ventrolateral) ของก้านสมองส่วนท้าย ตรวจจับความเป็นกรดของน้ำหล่อสมองไขสันหลัง และยังพบโดยการทดลองว่า ตอบสนองต่อภาวะ hypercapnic hypoxia (คาร์บอนไดออกไซด์สูง ออกซิเจนต่ำ) แม้ในที่สุดจะตอบสนองน้อยลง (desensitized) ดังนั้นจึงไวต่อทั้งคาร์บอนไดออกไซด์และความเป็นกรด
  • ตัวรับเคมีนอกระบบประสาทกลาง (peripheral chemoreceptor) ประกอบด้วย aortic bodies และต่อมแครอทิด aortic bodies จะตรวจจับความเปลี่ยนแปลงของออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด แต่ไม่ตรวจความเป็นกรด แต่ต่อมแครอทิดจะตรวจจับทั้ง 3 อย่าง และทั้งสองจะไม่ตอบสนองน้อยลง แม้ผลของพวกมันต่ออัตราการหายใจจะน้อยกว่าตัวรับเคมีในระบบประสาทกลาง

อัตราหัวใจเต้น

[แก้]

ผลของการเร้าตัวรับเคมีต่ออัตราการเต้นหัวใจค่อนข้างจะซับซ้อน การกระตุ้นตัวรับเคมีนอกประสาทกลางทำให้ส่วน medullary vagal center ในก้านสมองส่วนท้ายทำงานแล้วลดอัตราการเต้นหัวใจ แต่ก็มีปัจจัยอื่น ๆ ที่เปลี่ยนการตอบสนองทำให้ไม่ชัดเจน รวมทั้งการทำงานของตัวรับความยืด (stretch receptor) เนื่องจากการหายใจเพิ่มขึ้น และการปล่อยโมโนอะมีน คือ catecholamine ในเลือด ดังนั้น แม้การกระตุ้นตัวรับสารเคมีนอกประสาทกลางอย่างเดียวจะมีผลเป็นหัวใจเต้นช้า (bradycardia) แต่ผลโดยรวมอาจไม่เป็นเช่นนี้[4]

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Chapman, R. F. (1998). "Chemoreception". The Insects: Structure and Function. Cambridge University Press. pp. 636–654. ISBN 978-0-521-57890-5.
  2. Haupt, S. Shuichi; Sakurai, Takeshi; Namiki, Shigehiro; Kazawa, Tomoki; Kanzaki, Ryohei (2010). "Olfactory information processing in moths". The Neurobiology of Olfaction. CRC Press/Taylor & Francis. ISBN 9781420071979. PMID 21882429.
  3. Satir, Peter; Christensen, Søren T. (2008). "Structure and function of mammalian cilia". Histochemistry and Cell Biology. 129 (6): 687–93. doi:10.1007/s00418-008-0416-9. PMC 2386530. PMID 18365235.
  4. Berk, James L.; Levy, Matthew N. (1977). "Profound Reflex Bradycardia Produced by Transient Hypoxia or Hypercapnia in Man". European Surgical Research. 9 (2): 75–84. doi:10.1159/000127928. PMID 852474.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]