ข้ามไปเนื้อหา

ตระกูลเวล์ฟ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ตระกูลเกลฟ)
ตระกูลเวล์ฟ
พระราชอิสริยยศ
ปกครองเยอรมนี
เชื้อชาติเยอรมัน
สาขาราชวงศ์ฮาโนเวอร์
ประมุขพระองค์แรกเวลฟที่ 1 ดยุคแห่งบาวาเรีย
ผู้นำสกุลองค์ปัจจุบันเอิร์นสท์ ออกัสท์ที่ 5 เจ้าชายแห่งฮาโนเวอร์
ประมุขพระองค์สุดท้ายเอิร์นเนสท์ ออกัสตัส ดยุคแห่งบรันสวิค
สถาปนาคริสต์ศตวรรษที่ 11
สิ้นสุดค.ศ. 1918

ตระกูลเวลฟ หรือ ตระกูลเกลฟ (อังกฤษ: House of Welf หรือ House of Ghelf) เป็นราชตระกูลยุโรปที่มีสมาชิกหลายคนที่ได้เป็นพระมหากษัตริย์เยอรมนีและสหราชอาณาจักรระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 11 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ตระกูลเวลฟเป็นสาขาเก่าของตระกูลเอสเต ผู้ที่มาจากลอมบาร์ดีในคริสต์ศตวรรษที่ 9 ซึ่งทำให้บางครั้งจึงได้ชื่อว่า "ตระกูลเวลฟ-เอสเต" ผู้ก่อตั้งตระกูลคือเวลฟที่ 1 ดยุคแห่งบาวาเรีย ผู้ได้รับอสังหาริมทรัพย์จากเวลฟ ดยุคแห่งคารินเธียลุงทางแม่ของตระกูลเวลฟเก่ามาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1055 ในปี ค.ศ. 1070 ต่อมาเวลฟที่ 4 ก็ได้เป็นดยุคแห่งบาวาเรีย

เวลฟ์ที่ 2 ดยุคแห่งบาวาเรีย (หรือเวลฟที่ 5 แห่งตระกูลเวลฟ) สมรสกับเคานเทสมาทิลดาแห่งทัสเคนีผู้เสียชีวิตโดยไม่มีลูก ซึ่งทำให้เวลฟ์ที่ 2 ได้รับที่ดินทรัพย์สินของภรรยามาเป็นของตนเองที่รวมทั้งทัสเคนี, เฟอร์รารา, โมเดนา, มานตัว และ เรจจิโอ ซึ่งกลายมาเป็นประเด็นสำคัญของข้อขัดแย้งในอำนาจการแต่งตั้งสงฆ์ ในเมื่อตระกูลเวลฟเข้าข้างพระสันตะปาปาในกรณีความขัดแย้ง ผู้ที่เป็นฝ่ายพระสันตะปาปาจึงเป็นที่รู้จักกันว่า "เกลฟ์" (Guelphs) (ดู เกลฟ์และกิเบลลิเน)

เฮนรีเดอะแบล็ค ดยุคแห่งบาวาเรียระหว่าง ค.ศ. 1120 ถึง ค.ศ. 1126 เป็นดยุคสามคนแรกของตระกูลเวลฟที่มีชื่อเดียวกัน ลูกของเฮนรีที่ 9 เฮนรีเดอะเพราด์ ดยุคแห่งบาวาเรีย และ ดยุคแห่งแซกโซนี เป็นผู้หนึ่งในบรรดาคู่แข่งที่เป็นที่นิยมในการเลือกตั้งให้เป็นกษัตริย์แห่งเยอรมนี และ อีกฝ่ายหนึ่งคอนราดที่ 3 แห่งราชวงศ์โฮเฮ็นสเตาเฟ็น เฮนรีแพ้การเลือกตั้ง และ ถูกปลดจากตำแหน่งดยุคของทั้งสองอาณาจักรโดยคอนราด เพราะความที่เจ้าครองนครต่างๆ มีความกลัวอำนาจและอารมณ์ของเฮนรี

เฮนรีเดอะไลออน[1] ได้ดัชชีแห่งแซกโซนีที่สูญเสียไปคืนมาในปี ค.ศ. 1142 และดัชชีแห่งบาวาเรียในปี ค.ศ. 1156 ในปี ค.ศ. 1158 เฮนรีสมรสกับมาทิลดา (ค.ศ. 1156–ค.ศ. 1189) พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษ และ อาลีเยนอร์แห่งอากีแตน พระขนิษฐาของสมเด็จพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ หลังจากยุทธการเลยาโนในปี ค.ศ. 1176 เฮนรีก็เสียดินแดนแก่สมเด็จพระจักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และเจ้าเยอรมันองค์อื่นๆ ที่จ้องที่จะยึดดินแดนของพระองค์ เฮนรีเดอะไลออนต้องลี้ภัยไปยังราชสำนักของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ในนอร์ม็องดีในปี ค.ศ. 1180 แต่ก็ได้กลับมายังเยอรมนีสามปีต่อมา เฮนรีเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1195

ออตโตแห่งบรันสวิคลูกชายของเฮนรีได้รับเลือกให้เป็นกษัตริย์และได้รับการสวมมงกุฎเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิออตโตที่ 4 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พระราชนัดดาออตโตเดอะไชล์ดได้เป็นดยุคในบางส่วนของแซกโซนีในปี ค.ศ. 1235 ในดัชชีใหม่ที่เรียกว่าบรันสวิค-ลืนเนอบวร์ก ออตโตเดอะไชล์ดเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1252 ตระกูลเวลฟแห่งบรันสวิค-ลืนเนอบวร์กปกครองฮาโนเวอร์ต่อมาจนเมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของเยอรมนีมายุบตัวลงในปี ค.ศ. 1918

ในปี ค.ศ. 1692 ประมุขของตระกูลสาขาคาเลนแบร์กได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพรินซ์อีเล็คเตอร์ที่มาเรียกกันว่าอีเล็คเตอร์แห่งฮาโนเวอร์ ต่อมาหลังจากการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์แห่งบริเตนใหญ่ จอร์จ ลุดวิกแห่งฮาโนเวอร์ก็ได้รับราชบัลลังก์บริเตนใหญ่ในปี ค.ศ. 1714 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ค.ศ. 1701 จากนั้นสมาชิกของตระกูลเวลฟแห่งฮาโนเวอร์ก็ครองราชบัลลังก์ของบริเตนใหญ่มาจนกระทั่งสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1901 ตระกูลเวลฟแห่งฮาโนเวอร์ในบริเตนเรียกว่าราชวงศ์ฮาโนเวอร์

ฮาโนเวอร์เองได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นราชอาณาจักรในปี ค.ศ. 1814 แต่มาถูกผนวกโดยปรัสเซียหลังจากสงครามออสเตรีย-ปรัสเซียในปี ค.ศ. 1866 เมื่อฮาโนเวอร์เข้าข้างออสเตรีย สายอาวุโสจึงปกครองดัชชีบรันสวิค-วูลเฟนบืตเตลที่เล็กกว่าเดิมมาก สายนี้มาสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1884 แม้ว่าดัชชีควรจะตกไปเป็นของเอิร์นสท์ ออกัสท์แห่งฮาโนเวอร์ ดยุคแห่งคัมเบอร์แลนด์ที่ 3 (Ernst August of Hanover, 3rd Duke of Cumberland) พระราชโอรสในอดีตพระมหากษัตริย์แห่งฮาโนเวอร์องค์สุดท้าย ความสงสัยในความภักดีต่ออาณาจักรของเอิร์นสท์ทำให้ตำแหน่งประมุขของดัชชีว่างลงมาจนถึงปี ค.ศ. 1913 เมื่อพระราชโอรสเอิร์นเนสท์ ออกัสตัสที่ 3 ดยุคแห่งบรันสวิคเสกสมรสกับพระธิดาของสมเด็จพระจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี เอิร์นเนสท์จึงได้รับดัชชีคืน แต่ก็เป็นเพียงระยะเวลาอันสั้น เมื่อระบอบพระมหากษัตริย์มาถูกยุบเลิกลงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในปี ค.ศ. 1918

ตระกูลเวลฟยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน ประมุขคนปัจจุบันคือเอิร์นสท์ ออกัสท์ที่ 5 เจ้าชายแห่งฮาโนเวอร์ผู้เป็นพระสวามีองค์ปัจจุบันของเจ้าหญิงคาโรไลน์แห่งโมนาโค

ตระกูลเวลฟในคริสต์ศตวรรษที่ 12

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Benjamin Arnold, "Henry the Lion and His Time", Journal of Medieval History, vol. 22, pp. 379-393 (1996)

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ตระกูลเวลฟ