เกลฟ์และกิเบลลิเน
เกลฟ์ และ กิเบลลิเน (อังกฤษ: Guelphs and Ghibellines) เป็นฝักฝ่ายทางการเมืองทางตอนกลางและตอนเหนือของอิตาลีผู้หนุนหลังฝ่ายพระสันตะปาปาและสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ตามลำดับระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 12 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ความขัดแย้งกันทางอำนาจระหว่างสถาบันพระสันตะปาปาและจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ก่อตัวขึ้นจากปัญหาข้อขัดแย้งในอำนาจการแต่งตั้งสงฆ์ของคริสต์ศตวรรษที่ 11
ประวัติ
[แก้]ที่มา
[แก้]เกลฟ์ (หรือสะกด Guelf; อิตาลี: Guelfo พหูพจน์ Guelfi) เป็นการสะกดชื่อตระกูลเวลฟในภาษาอิตาลี ซึ่งเป็นตระกูลของดยุคแห่งบาวาเรีย กล่าวกันว่าตระกูลเวลฟใช้ชื่อของตระกูลในการเร้าใจในระหว่างการต่อสู้ในยุทธการไวน์สแบร์กในปี ค.ศ. 1140 ในขณะที่ตระกูลคู่อริโฮเฮ็นสเตาเฟ็นแห่งชวาเบีย (นำโดยคอนราดที่ 3 แห่งเยอรมนี) ใช้ไวบ์ลิงเง็นซึ่งเป็นชื่อปราสาทในการปลุกระดมขวัญ ไวบ์ลิงเง็นในสมัยนั้นออกเสียงและสะกดใกล้เคียงกับ "Wibellingen" ที่ต่อมาเพี้ยนเป็น "Ghibellino" หรือ "กิเบลลิโน" ในภาษาอิตาลี ชื่อตระกูลทั้งสองคงจะนำเข้ามาใช้ในอิตาลีระหว่างรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิฟรีดริช บาร์บารอซซา เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิฟรีดริชไปทำการรณรงค์ขยายอำนาจในอิตาลี ผู้สนับสนุนของพระองค์ก็รู้จักกันว่า "กิเบลลิเน" (อิตาลี: Ghibellino พหูพจน์ Ghibellini) ส่วนกลุ่มสหพันธ์ลอมบาร์ดและพันธมิตรที่ต่อสู้ป้องกันสิทธิและเสรีภาพของประชาคมของยุคกลางในการต่อต้านการขยายอำนาจเข้ามาของพระจักรพรรดิรู้จักกันว่า "เกลฟ์" สหพันธ์ลอมบาร์ดได้รับชัยชนะต่อสมเด็จพระจักรพรรดิฟรีดริชในยุทธการเลญาโนในปี ค.ศ. 1176 สมเด็จพระจักรพรรดิฟรีดริชจึงทรงยอมรับอำนาจการปกครองตนเองของนครต่างๆ ของสหพันธ์ลอมบาร์ดภายใต้อำนาจของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อย่างหลวมๆ
ความแตกแยกระหว่างฝ่าย "เกลฟ์" และ "กิเบลลิเน" กลายมาเห็นได้อย่างชัดเจนขึ้นในรัสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิฟรีดริช บาร์บารอซซา กิเบลลิเนสนับสนุนอำนาจของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ขณะที่เกลฟ์หนุนหลังพระสันตะปาปา โดยทั่วไปแล้วฝ่ายเกลฟ์มักจะมาจากตระกูลพ่อค้าผู้มีฐานะดี ขณะที่ความมั่งคั่งของฝ่ายกิเบลลิเนมาจากรายได้ที่มาจากการเกษตรกรรมของทรัพย์สินที่ดินที่มี นครของของฝ่ายเกลฟ์มักจะอยู่ในบริเวณที่ตกอยู่ในอันตรายจากการพยายามขยายอำนาจของสมเด็จพระจักรพรรดิมากกว่าที่จะมาจากพระสันตะปาปา และนครของฝ่ายกิเบลลิเนก็จะอยู่ในบริเวณของการขยายอำนาจของอาณาจักรพระสันตะปาปา ขนาดของนครของฝ่ายกิเบลลิเนมักจะเล็กกว่าถ้านครของฝ่ายเกลฟ์ที่อยู่ใกล้เคียงกันมีขนาดใหญ่กว่า ขณะที่เกลฟ์มีอำนาจอยู่ที่ฟลอเรนซ์ กิเบลลิเนก็มีอำนาจอยู่ที่เซียนาที่มาปะทะกันในยุทธการมอนตาแพร์ตีในปี ค.ศ. 1260 ปิซาดำรงความเป็นกิเบลลิเนอย่างแข็งขันในการเป็นปฏิปักษ์ต่อเจนัว และ ฟลอเรนซ์ของเกลฟ์ ฉะนั้นการเข้าสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจึงมักจะมีสาเหตุมาจากผลประโยชน์ที่จะได้รับทางการเมืองในระดับท้องถิ่น ภายในนครเองก็มีการแบ่งเป็นฝ่ายย่อยออกไปอีกด้วยระบบสมาคมพ่อค้า หรือ โดยเขตต่างๆ ในตัวนคร (Rione) หรือนครอาจจะเปลี่ยนข้างได้หลังจากการเกิดความขัดแย้งภายใน นอกจากนั้นนครที่ตามปกติแล้วเป็นฝ่ายกิเบลลิเนกลับมาสนับสนุนพระสันตะปาปา ขณะที่นครฝ่ายเกลฟ์เองอาจจะตกอยู่ภายใต้ภาวะการประกาศโทษ (Interdict) ของพระสันตะปาปา
สิ่งที่ควรสังเกตคือคำว่า "เกลฟ์" และ "กิเบลลิเน" มิได้ใช้กันมาจนกระทั่งราวปี ค.ศ. 1250 และเพียงแต่ในทัสเคนีเท่านั้น และคำว่า "ฝ่ายสถาบันศาสนา" (church party) และ "ฝ่ายพระจักรพรรดิ" (imperial party) จะเป็นคำที่นิยมใช้กันในบริเวณอื่น
คริสต์ศตวรรษที่ 13 – คริสต์ศตวรรษที่ 14
[แก้]เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 ฟิลิปแห่งชวาเบียแห่งตระกูลโฮเฮ็นสเตาเฟ็น และ ออตโตแห่งบรันสวิคแห่งตระกูลเวลฟ กลายมาเป็นคู่แข่งในราชบัลลังก์ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ฟิลิปได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายกิเบลลิเนในฐานะที่มีความเกี่ยวดองกับสมเด็จพระจักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 ส่วนออตโตได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายเกลฟ์ ทายาทของฟิลิปสมเด็จพระจักรพรรดิฟรีดริชที่ 2 ทรงเป็นศัตรูของทั้งออตโตและสถาบันพระสันตะปาปา และระหว่างรัชสมัยของพระองค์เกลฟ์ก็กลายเป็นฝ่ายที่สนับสนุนพระสันตะปาปาเท่านั้น ขณะที่กิเบลลิเนสนับสนุนจักรวรรดิโดยเฉพาะตัวสมเด็จพระจักรพรรดิฟรีดริชที่ 2 เอง นอกจากนั้นแล้วพระองค์ก็ยังทรงสร้างความแตกแยกระหว่างอาณาจักรครูเสดในซีเรียระหว่างสงครามครูเสดครั้งที่ 6
หลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิฟรีดริชที่ 2 เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1250 กิเบลลิเนก็ได้รับการสนับสนุนจากคอนราดที่ 4 แห่งเยอรมนี และ ต่อมามันเฟรดแห่งซิซิลี ขณะที่เกลฟ์ได้รับการสนับสนุนจากชาร์ลส์แห่งอองชู ในปี ค.ศ. 1260 กิเบลลิเนแห่งเซียนาก็ได้รับชนะอย่างเด็ดขาดต่อฝ่ายเกลฟ์แห่งฟลอเรนซ์ในยุทธการมอนตาแพร์ตี หลังจากที่ราชวงศ์โฮเฮ็นสเตาเฟ็นสูญเสียจักรวรรดิเมื่อชาร์ลส์แห่งอองชูสังหารคอนราดินในปี ค.ศ. 1268 คำว่า "เกลฟ์" และ "กิเบลลิเน" ก็กลายมาเป็นคำที่ใช้กับตระกูลใดตระกูลหนึ่ง หรือ นครใดนครหนึ่ง แทนที่จะเป็นคำที่ใช้สำหรับความขัดแย้งระหว่างสถาบันพระสันตะปาปาและจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ในช่วงนั้นที่มั่นสำคัญของกิเบลลิเนในอิตาลีอยู่ที่นครฟอร์ลี, in โรมานยา การภักดีของฟอร์ลีกับฝ่ายกิเบลลิเนส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเพื่อดำรงความเป็นอิสระ แทนที่จะเพราะความภักดีต่ออำนาจ เพราะฟอร์ลีมีความเกี่ยวพันกับอาณาจักรพระสันตะปาปาอยู่บ้าง พระสันตะปาปาพยายามหลายครั้งในช่วงหลายร้อยปีที่จะยึดฟอร์ลีคืน บางครั้งก็โดยการใช้อำนาจ และบางครั้งก็โดยการหว่านล้อม
การแบ่งแยกระหว่าง "เกลฟ์" และ "กิเบลลิเน" มีความสำคัญโดยเฉพาะในฟลอเรนซ์ แม้ว่าทั้งสองฝ่ายมักจะขัดแย้งกันเองและยึดอำนาจของนครอื่นๆ ทางตอนเหนือของอิตาลีด้วย อันที่จริงแล้วทั้งสองฝ่ายยุติการต่อต้านทั้งต่ออิทธิพลของเยอรมนี และ อำนาจของสถาบันพระสันตะปาปา ในฟลอเรนซ์หรือที่อื่นเกลฟ์มักจะเป็นพ่อค้าหรือชาวเมืองผู้มีฐานะดี ขณะที่กิเบลลิเนมักจะเป็นขุนนาง
ทั้งฝ่าย "เกลฟ์" และ "กิเบลลิเน" ต่างก็สร้างธรรมเนียมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองขึ้นเช่นการสวมขนนกไปทางข้างใดข้างหนึ่งของหมวก หรือตัดผลไม้ด้วยตามธรรมเนียมของกลุ่มของตนเป็นต้น
หลังจากที่ฝ่ายเกลฟ์ได้รับชัยชนะต่อฝ่ายกิเบลลิเนในปี ค.ศ. 1289 ในยุทธการคัมพาลดิโน และคาโพรนาฝ่ายเกลฟ์ก็เริ่มบาดหมางกันเอง เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1300 ฟลอเรนซ์ก็แบ่งออกเป็นฝ่ายเกลฟ์ดำและฝ่ายเกลฟ์ขาว ฝ่ายดำดำเนินการสนับสนุนสถาบันพระสันตะปาปา ขณะที่ฝ่ายขาวเป็นปฏิปักษ์ต่ออิทธิพลของพระสันตะปาปาโดยเฉพาะอิทธิพลของสมเด็จพระสันตะปาปาโบนิเฟสที่ 8 ดานเตผู้เป็นหนึ่งในบรรดาผู้สนับสนุนฝ่ายเกลฟ์ขาว ถูกเนรเทศออกจากฟลอเรนซ์ในปี ค.ศ. 1302 เมื่อฝ่ายเกลฟ์ดำมีอำนาจขึ้นในฟลอเรนซ์ ผู้ที่ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถือว่าไม่มีฝ่ายใดที่ควรค่าแก่การสนับสนุน แต่ก็ยังได้รับความกระทบกระเทือนจากการเปลี่ยนแปลงของอำนาจในเมืองที่ตนพำนักอาศัยอยู่ สมเด็จพระจักรพรรดิไฮนริคที่ 7 ทรงเดียดฉันท์ผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่ายเมื่อเสด็จประพาสอิตาลีในปี ค.ศ. 1310 และในปี ค.ศ. 1334 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 12 ถึงกับทรงขู่ว่าจะทรงประกาศบรรพาชนียกรรมผู้ใดที่ใช้ชื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
บั้นปลาย
[แก้]ในมิลานฝ่ายเกลฟ์และกิเบลลิเนร่วมมือกันสร้างสาธารณรัฐอัมโบรเซียในปี ค.ศ. 1447 แต่ในช่วงสองสามปีต่อมาทั้งสองฝ่ายก็มีเรื่องบาดหมางกันอย่างรุนแรงอีก หลังจากการครองอำนาจของกิเบลลิเนในระยะแรก ฝ่ายเกลฟ์ก็ยึดอำนาจในการเลือกตั้งกัปตันและผู้พิทักษ์เสรีภาพของมิลาน รัฐบาลเกลฟ์ที่เพิ่มความเป็นอัตตาธิปไตยยิ่งขึ้นทุกวัน จนกระทั่งฝ่ายกิเบลลิเนจอร์โจ ลัมพูญิโน และทีโอโดโร บอซซิก่อความไม่สงบขึ้น แต่ไม่สำเร็จและฝ่ายกิเบลลิเนหลายคนถูกสังหารหมู่ ขณะที่ผู้อื่นหลบหนีไปได้ รวมทั้งวิทาลิอาโน โบร์โรเมโอกิเบลลิเนคนสำคัญ ผู้ได้รับการพิทักษ์ในอาณาจักรเคานท์อาโรนาของตนเอง ทัศนคติของสาธารณชนต่อฝ่ายเกลฟ์เริ่มลดลง และในการเลือกตั้งครั้งต่อมากิเบลลิเนก็ได้รับชัยชนะอยู่ชั่วระยะหนึ่ง แต่ถูกปลดหลังจากไปจำขังผู้นำเกลฟ์จิโอวานนี อัพพิอานี และ จิโอวานนี โอซโซนา[1] หลังจาก ฟรานเชสโคที่ 1 สฟอร์ซายึดมิลานได้ในปี ค.ศ. 1450 กิเบลลิเนหลายคนที่ได้หลบหนีเช่นฟิลิปโป โบร์โรเมโอ และลุยซิโน บอซซิก็ได้รับตำแหน่งสำคัญในมิลานคืน[2]
ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ฝ่ายเกลฟ์สนับสนุนพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 แห่งฝรั่งเศสระหว่างการรุกรานอิตาลีของพระองค์ในตอนต้นของสงครามอิตาลี ขณะที่ฝ่ายกิเบลลิเนสนับสนุนสมเด็จพระจักรพรรดิแม็กซิมิเลียนที่ 1 เมืองและตระกูลต่างก็เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มาจนกระทั่งรัชสมัยของ สมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 เมื่อพระองค์ทรงวางรากฐานของอำนาจของจักวรรดิอย่างมั่นคงในอิตาลีในปี ค.ศ. 1529
เมืองในอิตาลีและฝ่ายที่มีความสัมพันธ์
[แก้]นครหลักของฝ่ายกิเบลลิเน | นครหลักของฝ่ายเกลฟ์ | นครที่เปลี่ยนข้าง |
---|---|---|
อเรซโซ เครโมนา ฟอร์ลี โมเดนา โอซิโม ปิซา พิสโตเอีย เซียนา สโปเล็ตโต โทดี |
โบโลญญา เบรสเชีย เครมา เจโนวา โลดิ มานตัว ออร์เวียตโต เปรูเจีย |
เบร์เก็ม เฟอร์รารา ฟลอเรนซ์ ลูคคา มิลาน ปาดัว พาร์มา ปิเอนซา เทรวิโซ เวโรนา วิเชนซา |
ในมุทราศาสตร์
[แก้]ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 12 และ 13 กองทัพของคอมมูนกิเบลลิเนมักจะใช้แถบสัญลักษณ์ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์—กางเขนขาวบนพื้นแดง—เป็นสัญลักษณ์ กองทัพฝ่ายเกลฟ์มักจะกลับสีสัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นกางเขนแดงบนพื้นขาว สัญลักษณ์ทั้งสองแบบจึงพบบ่อยในตราประจำเมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอิตาลี ซึ่งทำให้ทราบถึงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของเมืองขาว บุคคลบางคนหรือตระกูลก็อาจจะระบุความเป็นฝักฝ่ายของตนบนตราอาร์ม
อ้างอิง
[แก้]- ↑ A History of Milan under the Sforza. Cecilia M. Ady, Edward Armstrong; Methuen & Co., 1907.
- ↑ Tolfo, Maria Grazia; Colussi, Paolo (January 23, 2009). "Storia di Milano ::: dal 1426 al 1450" [History of Milan ::: from 1426 to 1450]. Storia di Milano (ภาษาอิตาลี). Milano: Storiadimilano. สืบค้นเมื่อ May 6, 2010.
- บทความนี้ ประกอบด้วยข้อความจากสิ่งพิมพ์ซึ่งปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติ: Chisholm, Hugh, บ.ก. (1911). สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์.
{{cite encyclopedia}}
:|title=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help) - บทความนี้เรียบเรียงจากสิ่งพิมพ์ที่เป็นสาธารณสมบัติ: Herbermann, Charles, บ.ก. (1913). สารานุกรมคาทอลิก. New York: Robert Appleton Company.
{{cite encyclopedia}}
:|title=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Guelphs and Ghibellines
- Machiavelli, Niccolò. History Of Florence And Of The Affairs Of Italy From The Earliest Times To The Death Of Lorenzo The Magnificent. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-13. สืบค้นเมื่อ May 6, 2010.
- World of Dante Multimedia website that offers Italian text of Divine Comedy, Allen Mandelbaum's translation, gallery, interactive maps, timeline, musical recordings, and searchable database for students and teachers. Database allows search for Guelfs and Ghibellines in the poem.