ดาชาแห่งเซวัสโตปอล
ดาชาแห่งเซวัสโตปอล Даша Севастопольская | |
---|---|
ดาเรีย ลัฟเรนเตียฟนา มิไฮโลวา (Дарья Лаврентьевна Михайлова) | |
ดาชาแห่งเซวัสโตปอล ประติมากรรมปั้นครึ่งตัวบนอาคารปริทัศน์ของการป้องกันเซวัสโตปอล (панорамы обороны Севастополя) โดยวลาดีมีร์ วาซิลเยวิช ปิตเรนโก (Петренко, В. В.) | |
เกิด | ค.ศ. 1836 หมู่บ้านครูชิซี, จังหวัดคาซัน |
เสียชีวิต | ค.ศ. 1892 (56 ปี) หมู่บ้านชือลานกึย, จังหวัดคาซัน |
พลเมือง | จักรวรรดิรัสเซีย |
อาชีพ | พยาบาล |
คู่สมรส | มักซิม คโวรอสตอฟ |
ดาเรีย ลัฟเรนเตียฟนา มิไฮโลวา (รัสเซีย: Дарья Лаврентьевна Михайлова)[1] (พฤศจิกายน ค.ศ. 1836–1892) เป็นพยาบาลชาวรัสเซียซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างการล้อมเมืองเซวัสโตปอล ในสงครามไครเมีย ระหว่างปี ค.ศ. 1853–1856 ซึ่งทำให้เธอเป็นที่รู้จักในชื่อ ดาชาแห่งเซวัสโตปอล (รัสเซีย: Даша Севастопольская)[2] เธอกลายเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มการพยาบาลสมัยใหม่ ควบคู่ไปกับงานของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล
ประวัติ
[แก้]มิไฮโลวา เกิดในชุมชนใกล้กับหมู่บ้านครูชิซี (รัสเซีย: Ключищи) ตำบลตาเชฟสกายา (รัสเซีย: Ташевская) ในจังหวัดคาซัน พ่อของเธอเป็นกะลาสีในกองทัพเรือจักรวรรดิรัสเซีย เขาเสียชีวิตลงในยุทธการซิโนปี (ตุรกี: Sinop Baskını) ในปี ค.ศ. 1853 (พ.ศ. 2396)[3] ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นสงครามไครเมีย ขณะนั้นเธอมีอายุ 17 ปี
ก่อนสงคราม เธอทำงานเป็นพนักงานซักผ้าและช่างเย็บปักถักร้อยให้กับบุคลากรของกองทัพเรือจักรวรรดิรัสเซียในเขตโคราบืลนาเย (ยูเครน: Корабельная сторона) ของเมืองเซวัสโตปอล ใกล้อู่ต่อเรือเซวัสโตปอล เธอออกจากบ้านเมื่อเกิดสงครามเพื่อช่วยดูแลทหารรัสเซียที่ได้รับบาดเจ็บในสนามรบระหว่างยุทธการอัลมา (กันยายน ค.ศ. 1854) เธอตั้งสถานพยาบาลโดยใช้น้ำส้มสายชูและแถบผ้าจากเสื้อของเธอเพื่อทำความสะอาดและแต่งบาดแผลของทหาร เธอได้รับยกย่องเป็นภคินีเมตตาธรรม (รัสเซีย: сестра милосердия) ของกองทัพจักรวรรดิรัสเซียคนแรกระหว่างสงครามไครเมีย
จักรพรรดินีโคลัสที่ 1 (สวรรคต ค.ศ. 1855) พระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์นักบุญเจ้าชายวลาดีมีร์ (รัสเซีย: орден Святого Владимира) แก่เธอพร้อมด้วยรางวัลเหรียญทอง "แห่งความขยันหมั่นเพียร" (รัสเซีย: Медаль «За усердие») ซึ่งเธอเป็นหญิงชาวรัสเซียชนชั้นล่างเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลนี้ เธอยังได้รับรางวัลเหรียญเงิน 500 รูเบิล ต่อมาเธอได้สมรสกับพลทหารมักซิม คโวรอสตอฟ (Максим Хворостов) ในปี ค.ศ. 1855 และจักรพรรดิพระราชทานเงินขวัญถุงอีก 1,000 รูเบิลเหรียญเงิน[4]
ทั้งคู่เปิดกิจการโรงแรมขนาดเล็กในหมู่บ้าน แล้วย้ายไปที่เมืองนีโคลาเยฟ (รัสเซีย: Никола́ев) แต่ในที่สุดดาชาก็กลับมาที่เมืองเซวัสโตปอล ซึ่งเธอได้เปิดร้านจำหน่ายสุราพร้อมทั้งทำงานในโรงพยาบาล เมื่อเกษียณเธอได้รับรูปเคารพพระคริสต์ซึ่งผู้เคยเป็นผู้ป่วยของเธอร่วมกันบริจาคเงินซื้อเป็นของขวัญ
เธอเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1892 บันทึกระบุว่าเธอได้รับการฝังในสุสานของเมืองโคราบืลนาเย ขณะที่อีกแหล่งข้อมูลระบุว่าเธอกลับไปที่บ้านเกิดซึ่งไม่มีญาติของเธอเหลืออยู่ หลังจากบริจาครูปเคารพของนักบุญนิโคลัสให้กับโบสถ์ท้องถิ่น เธอออกจากหมู่บ้านชือลานกึย (ตาตาร์: Шылаңгы) ใกล้กับหมู่บ้านที่เป็นบ้านเกิดของเธอ และเสียชีวิตในอีกหกเดือนต่อมา
ในวัฒนธรรม
[แก้]- ดาวเคราะห์น้อย 3321 ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นที่ระลึกถึงเธอ (3321 Dasha 1975 TZ2 Darya Lavrentyevna Mikhailova)
- ดาชาปรากฏในภาพวาดปริทัศน์ "การป้องกันเซวัสโตปอล" ของฟรันซ์ รูโบ (Франц Алексеевич Рубо)
ดูเพิ่ม
[แก้]- ชุมนุมกางเขนศักดิ์สิทธิ์ของภคินีเมตตาธรรม (Крестовоздвиженская община сестёр милосердия ) – องค์กรก่อนหน้ากาชาดซึ่งปฏิบัติงานในช่วงสงครามไครเมีย
- ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Татьяна Обуховец (2017). Сестринское дело и сестринский уход [Nursing and nursing care] (ภาษารัสเซีย). Мoscow: Кнорус. pp. 38–40. ISBN 978-5-406-05333-1.
- ↑ Pirogov, Nikolai Ivanovich. from Cherry February 27, 1876 to E. F. Raden (Letter). About the Exaltation of the Cross Community. (ในภาษารัสเซีย).
- ↑ From the report of Adjutant General A. I. Filosofov, Russian State Military Historical Archive. (ในภาษารัสเซีย).
- ↑ Даша Севастопольская, легенда крымской войны [Dasha Sevastopolskaya, legend of the Crimean War] (ภาษารัสเซีย). Сетевое издание «РИА Новости». 13 พฤษภาคม 2005. สืบค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2014.
บรรณานุกรม
[แก้]- Лукашевич К.В. (2014). Босоногая команда: художественная литература (ภาษารัสเซีย). Moscow: Директ-Медиа. ISBN 978-5-4475-2974-1.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Дарья Севастопольская – Портал Ревматологическая помощь [Rheumatology Care Portal]. (ในภาษารัสเซีย)