ดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพโลก
ดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพโลก (อังกฤษ: Global Health Security Index ตัวย่อ GHSI) เป็นการประเมินความมั่นคงทางสุขภาพ/อนามัยของประเทศ 195 ประเทศ ที่ศูนย์ความมั่นคงสุขภาพจอนส์ฮอปกินส์ (มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์), Nuclear Threat Initiative (NTI) และ Economist Intelligence Unit (ซึ่งเป็นส่วนของบริษัทอังกฤษคือ The Economist Group) เป็นผู้จัดทำ[1]
ประวัติ
[แก้]ดัชนี้นี้ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี 2019 และได้กล่าวไว้อย่างหนึ่งว่า "ไม่มีประเทศใดที่เตรียมพร้อมอย่างสมบูรณ์เพื่อรับโรคระบาดหรือโรคระบาดทั่ว และประเทศทุกประเทศมีจุดอ่อนที่จะต้องแก้ไข"[2] ประเทศที่อยู่ในหมู่ "เตรียมพร้อมสุด" ตามลำดับคือ สหรัฐ สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา ไทย สวีเดน เดนมาร์ก เกาหลีใต้ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส สโลวีเนีย และสวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอยู่ในอันดับแรกโดยมีค่าดัชนี 83.5 จาก 100 และไทยอยู่ในอันดับที่ 6 โดยมีค่าดัชนี 73.2 ประเทศที่อยู่ในหมู่ "เตรียมพร้อมน้อยสุด" โดยมากเป็นประเทศในแอฟริกาตะวันตกและกลาง[3]
ดัชนีนี้กลายเป็นเรื่องดังในช่วงการระบาดทั่วของไวรัสโคโรนา พ.ศ. 2562-2563 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ประธานาธิบดีสหรัฐดอนัลด์ ทรัมป์ได้ใช้แผนที่ดัชนีนี้เป็นข้ออ้างว่า สหรัฐเป็นประเทศซึ่งเตรียมพร้อมที่สุดในโลกเพื่อรับมือกับโรคระบาดทั่ว แต่ที่ปรึกษาของโปรเจ็กต์นี้ได้ให้สัมภาษณ์ตอบว่า จริงอยู่ว่า สหรัฐจัดอยู่ในลำดับสูงสุดในดัชนี แต่ก็ยังมีข้อที่ควรปรับปรุงแก้ไข[4] วันที่ 26 มีนาคม 2020 บทความในวารสารแพทย์เดอะแลนซิตชื่อเรื่องว่า "โควิด-19 บ่งความเชี่ยวชาญทางสุขภาพโลกว่าเป็นเรื่องเท็จ (COVID-19 gives the lie to global health expertise)" ได้โจมตีรายงานนี้ว่า ในเหตุการณ์โรคระบาดทั่ว ประเทศที่จัดลำดับว่าเตรียมพร้อมสุด เช่นสหรัฐและสหราชอาณาจักร กลับแย่กว่าประเทศในเอเชียและแอฟริกาซึ่งจัดลำดับว่าต่ำกว่า[5] วันที่ 27 เมษายน 2020 กลุ่มดัชนีจึงได้ตอบว่า ลำดับของสหรัฐในดัชนีไม่สะท้อนถึงความพร้อมของประเทศเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโรคติดต่อซึ่งอาจก่อความหายนะ[6] คือ
...คะแนนและลำดับของประเทศไม่ได้แสดงว่า ประเทศมีความพร้อมเพียงพอเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโรคติดต่อที่อาจก่อความหายนะ จุดอ่อนของความเตรียมพร้อมที่สำคัญก็ยังมี และจุดอ่อนเหล่านั้นบางอย่างก็กำลังแฉปรากฏในวิกฤติการณ์นี้ การตอบสนองของสหรัฐต่อการระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบันแสดงว่า สมรรถภาพเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอถ้าไม่งัดสมรรถภาพนั้นออกมาใช้อย่างเต็มที่ ระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งจำเป็นต้องมีเพื่อรับใช้ประชากรทุกหมู่เหล่า และความเป็นผู้นำทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพและที่สร้างความเชื่อมั่นในการตอบสนองของรัฐก็สำคัญมาก
— The U.S. and COVID-19: Leading the World by GHS Index Score, not by Response (2020-04-27)[6]
ในวันที่ 28 เมษายนต่อมา แพทย์สำนักงานของกระทรวงบริการทางสุขภาพและสังคมแห่งสหราชอาณาจักรจึงตีพิมพ์คำตอบสนองในเดอะบีเอ็มเจวิจารณ์ความสมเหตุสมผลของตัวชี้บอกต่าง ๆ ที่มีผลต่อค่าดัชนี แล้วตั้งความสงสัยว่า ดัชนีมีประโยชน์อะไรต่อการประเมินสุขภาพโลก และแนะนำให้ไม่ใช้ดัชนี[7]
วิธีการ
[แก้]รายงานอาศัยแบบสอบถามมีคำถาม 140 คำถาม จัดเป็น 6 หมู่ มีตัวบ่งชี้ 34 ตัว และตัวบ่งชี้ย่อย 85 ตัว หมวดหมู่ทั้ง 6 หมู่รวม
- การป้องกัน - การป้องกันการเกิดหรือการหลุดออกของจุลชีพก่อโรค
- การตรวจจับและรายงาน - การตรวจจับโรคระบาดที่อาจเป็นปัญหาต่อนานาชาติแล้วรายงานตั้งแต่เนิ่น ๆ
- การตอบสนองอย่างรวดเร็ว คือตอบสนองและบรรเทาการระบาดของโรคได้อย่างเร็ว
- ระบบสาธารณสุข คือมีระบบสาธารณสุขที่เพียงพอและแข็งแกร่งเพื่อรักษาคนไข้และป้องกันแพทย์พยาบาล
- การปฏิบัติตามมาตรฐานสากล คือมุ่งมั่นในการปรับปรุงสมรรถภาพของชาติ การวางแผนงบประมาณเพื่อแก้จุดอ่อน และการปฏิบัติตามมาตรฐานโลก
- ความเสี่ยง คือความเสี่ยงและความอ่อนแอของประเทศต่ออันตรายทางชีวภาพ
ดัชนี้นี้อาศัยข้อมูลแบบเปิดล้วน ๆ นักวิจัยทำงานร่วมกับคณะปรึกษาของผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ 21 คนจากประเทศ 13 ประเทศ[1]
ประเทศไทย
[แก้]ในดัชนีนี้[8] ประเทศไทยจัดในอยู่กลุ่มประเทศ "เตรียมพร้อมสุด" เป็นอันดับที่ 6 มีค่าดัชนี 73.2 ได้รับยกย่องเป็นตัวอย่างว่า เป็นประเทศเดียวที่ไม่มีรายได้สูงแต่อยู่ในกลุ่มเตรียมพร้อมสุด ดัชนียกการระงับการระบาดของโรคเมอร์สปี 2015 ของประเทศว่าเป็นตัวชี้การสร้างสมรรถภาพความมั่นคงทางสุขภาพและการมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ดัชนียกเหตุผลต่อไปนี้ที่ทำให้ไทยได้ค่าสูงในดัชนี รวมทั้ง
- มีสมรรถภาพทางสาธารณสุขที่ดี คือประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้โดยจัดเป็นอันดับสองในบรรดาประเทศทั้งหมดที่สำรวจ
- มีระบบเฝ้าสังเกตและติดตามโรคติดเชื้อเช่นเมอร์สได้ดี
- เป็นประเทศหนึ่งในเพียง 5 ประเทศที่รัฐให้ความสำคัญแก่การรักษาพยาบาลเจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุขผู้เกิดป่วยเมื่อทำหน้าที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข
- มีการฝึกการศึกษาเกี่ยวกับวิทยาการระบาดที่ดี
- มีระบบห้องปฏิบัติการประจำชาติที่ดี
- มีระบบสอดส่องรายงานโรคระบาดทางอิเล็กทรอนิกที่ดี
- มีการป้องกันโรคติดต่อและการตอบสนองต่อโรคติดต่อที่ดี
ดัชนีสรุปในหน้าที่ยกประเทศไทยเป็นตัวอย่างว่า "ดัชนี GHS แสดงว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำนานาชาติในเรื่องความมั่นคงทางสุขภาพอย่างไม่ต้องสงสัย"[8]
ทุน
[แก้]ดัชนีพัฒนาอาศัยทุนจากแหล่งต่าง ๆ รวมทั้ง Open Philanthropy Project, มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ และมูลนิธิรอเบอร์ตสัน[1]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 "GHS Index: About". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-03. สืบค้นเมื่อ 2020-02-29.
- ↑ "GHS Index: Findings and Recommendations". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-03. สืบค้นเมื่อ 2020-02-29.
no country is fully prepared for epidemics or pandemics, and every country has important gaps to address
- ↑ "GHS Index: Findings and Recommendations". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-03. สืบค้นเมื่อ 2020-02-29.
- ↑ Brueck, Hilary (2020-02-28). "Trump held up a map showing the US is the best prepared country in the world for a pandemic, but only for the rich, influential, and fully insured". Business Insider. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-04-10. สืบค้นเมื่อ 2020-02-29.
- ↑ Dalglish, Sarah (2020-03-26). "COVID-19 gives the lie to global health expertise". The Lancet. 395 (10231): 1189. doi:10.1016/S0140-6736(20)30739-X. PMC 7194526. PMID 32222159. สืบค้นเมื่อ 2020-04-03.
- ↑ 6.0 6.1 "The U.S. and COVID-19: Leading the World by GHS Index Score, not by Response". GHSI. 2020-04-27. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-04.
Given that overall finding, it is important to dispel misconceptions regarding the score of 83.5 (out of a possible 100) received by the United States. Although the United States received the top score of 195 countries assessed and was ranked number one, its score and rank do not indicate that the country is adequately prepared to respond to potentially catastrophic infectious disease outbreaks. Significant preparedness gaps remain, and some of those are playing out in the current crisis. The United States’ response to the COVID-19 outbreak to date shows that capacity alone is insufficient if that capacity isn’t fully leveraged. Strong health systems must be in place to serve all populations, and effective political leadership that instills confidence in the government’s response is crucial.
- ↑ Razavi, Ahmed; Erondu, Ngozi; Okereke, Ebere (2020-04-28). "The Global Health Security Index: what value does it add?". The BMJ. 5 (4). doi:10.1136/bmjgh-2020-002477. PMC 7213809. PMID 32349994. สืบค้นเมื่อ 2020-07-24.
- ↑ 8.0 8.1 "GHS Index - Global Health Security Index - Building Collective Action and Accountability" (PDF). GHS Index. October 2019. Thailand: An Exemplar, p. 55. สืบค้นเมื่อ 2020-07-28.