ข้ามไปเนื้อหา

ฌัก ชีรัก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ชีรัก)
ฌัก ชีรัก
Jacques Chirac
portrait photograph of a 64-year-old President Chirac
ชีรักในปีค.ศ. 1997
ประธานาธิบดีฝรั่งเศส
ดำรงตำแหน่ง
17 พฤษภาคม ค.ศ. 1995 – 16 พฤษภาคม ค.ศ. 2007
(11 ปี 364 วัน)
นายกรัฐมนตรี
ก่อนหน้าฟร็องซัว มีแตร็อง
ถัดไปนีกอลา ซาร์กอซี
นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส
ดำรงตำแหน่ง
20 มีนาคม ค.ศ. 1986 – 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1988
(2 ปี 51 วัน)
ประธานาธิบดีฟร็องซัว มีแตร็อง
ก่อนหน้าลอแร็ง ฟาบิยุส
ถัดไปมิแชล โรการ์
ดำรงตำแหน่ง
27 พฤษภาคม ค.ศ. 1974 – 26 สิงหาคม ค.ศ. 1976
(2 ปี 91 วัน)
ประธานาธิบดีวาเลรี ฌิสการ์ แด็สแต็ง
ก่อนหน้าปีแยร์ แม็สแมร์
ถัดไปแรมง บาร์
นายกเทศมนตรีกรุงปารีส
ดำรงตำแหน่ง
20 มีนาคม ค.ศ. 1977 – 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1995
(18 ปี 26 วัน)
รอง
ก่อนหน้าสถาปนาตำแหน่ง
ถัดไปฌ็อง ตีเบอรี
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
ฌัก เรอเน ชีรัก

29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1932(1932-11-29)
ปารีส ฝรั่งเศส
เสียชีวิต26 กันยายน ค.ศ. 2019(2019-09-26) (86 ปี)
ปารีส ฝรั่งเศส
ที่ไว้ศพMontparnasse Cemetery, ปารีส
ลายมือชื่อ
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ฝรั่งเศส
สังกัด กองทัพบกฝรั่งเศส
ประจำการ1954–1957
ยศร้อยตรี

ฌัก เรอเน ชีรัก (ฝรั่งเศส: Jacques René Chirac; 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1932 — 26 กันยายน ค.ศ. 2019) รัฐบุรุษฝรั่งเศส เป็นอดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส อดีตนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส และอดีตนายกเทศมนตรีกรุงปารีส

ประวัติ

[แก้]

ช่วงแรกของชีวิต (พ.ศ. 2475 - พ.ศ. 2510)

[แก้]

ฌัก ชีรัก เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932) ที่คลินิกโชฟรัวแซงตีแยร์ (ในเขตห้าของกรุงปารีส) ฌัก ชีรัก เป็นบุตรชายของนายอาแบล-ฟร็องซัว ชีรัก พนักงานธุรการบริษัท (ชาตะ พ.ศ. 2436 มรณะ พ.ศ. 2511) กับนางมารี-หลุยส์ วาแลต (ชาตะ พ.ศ. 2445 มรณะ พ.ศ. 2516) ภรรยาซึ่งเป็นแม่บ้าน ทั้งคู่มาจากครอบครัวเกษตรกร แม้ว่าปู่และตาของเขาจะเป็นอาจารย์ที่ตำบลแซ็งต์-เฟเรออล จังหวัดกอแรซ ชีรักบอกว่านามสกุลของเขา "มาจากภาษาล็องก์ด็อกของกลุ่มทรูบาดูร์ กวีสมัยยุคกลางในราชสำนักแถบนั้น"

ฌัก ชีรักในวัยเด็กเป็นบุตรชายคนเดียว (พี่สาวของเขาเสียชีวิตตั้งแต่เล็กก่อนที่เขาจะเกิด) ได้เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนมัธยมการ์โน จากนั้นก็ได้ย้ายมาที่โรงเรียนมัธยมศึกษาหลุยส์-เลอ-กร็อง หลังจากสอบผ่านข้อสอบมาตรฐานระดับเตรียมอุดมศึกษาแห่งชาติได้ เขาก็ได้สมัครเป็นลูกเรือ และได้ร่วมออกเดินทางกับเรือบรรทุกถ่านหินเป็นเวลาสามเดือน ในปี พ.ศ. 2494 เขาได้เข้าศึกษาต่อในสถาบันการเมืองศึกษาแห่งกรุงปารีส และจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2497

หลังจากที่ได้เข้าเรียนภาคฤดูร้อนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในปี พ.ศ. 2496 ตลอดช่วงเวลานี้ เขาได้เข้าร่วมมีบทบาทในพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส และได้ทำงานร่วมกับคริสตียง บูร์ชัว ผู้ซึ่งต่อมาเป็นบรรณาธิการชื่อดัง จากคำบอกเล่าของชีรัก เขาเคยขายหนังสือพิมพ์ลูมานีเต (หนังสือพิมพ์ของค่ายสังคมนิยม) ที่ถนนเดอโวชีราร์ และได้เข้าร่วมการประชุมกลุ่มคอมมิวนิสต์หนึ่งครั้ง (จากรายการทางสถานีโทรทัศน์ ฟร็องส์ทรัว เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536) ต่อมาในปี พ.ศ. 2493 เขาได้ลงนามในอนุสัญญาสต็อกโฮล์มเพื่อต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ อันได้รับแรงบันดาลใจจากลัทธิคอมมิวนิสต์ (ซึ่งทำให้เขาต้องถูกซักถามอย่างละเอียดในการขอวีซ่าเข้าสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก)

ชีรักฉลองงานหมั้นกับนางสาวแบร์นาแด็ต ชอดรง เดอ กูร์แซล ที่อาคารพักอาศัยเดโชดร็อง ซึ่งตั้งอยู่บนบูเลอวาร์ด ราสไป เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2496

ในฤดูใบไม้ร่วง ปี พ.ศ. 2497 เขาได้รับการตอบรับให้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนการราชการแห่งชาติ ต่อมาเขาเรียนได้ที่หนึ่งที่โรงเรียนนายร้อยแห่งจังหวัดโซมูร์ แต่เขาถูกปฏิเสธให้เข้ารับราชการเนื่องจากเคยมีประวัติเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ จึงต้องอาศัยเส้นสายจากทางครอบครัวของนางสาวแบร์นาแด็ต (นายพลโคเอนิค) เพื่อให้ได้รับราชการทหาร ชีรักได้ติดยศร้อยตรีเมื่อจบการศึกษา

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2499 เขาได้เข้าพิธีสมรสกับนางสาวแบร์นาแด็ต แม้ว่าทางครอบครัวของฝ่ายสาวจะไม่เห็นด้วยเนื่องจากชีรักมาจากครอบครัวชาวนา บิดามารดาของแบร์นาแด็ตปฏิเสธที่จะจัดงานมงคลสมรสที่วิหารน้อยแซงต์-กอลตีลด์ ที่สงวนไว้เฉพาะครอบครัวจากวงสังคมชั้นสูงในย่านแซงแชร์แมง พิธีสมรสจัดขึ้นที่ชาเปล ลาส คาสเซส ซึ่งเป็นส่วนขยายของโบสถ์ที่สงวนไว้สำหรับการสอนศาสนา และจัดงานพิธีแบบรวดเร็ว ชีรักมีบุตรสาวกับแบร์นาแด็ตสองคน ชื่อโลร็องส์ (เกิดปี พ.ศ. 2501) และโกลด

ชีรักเปลี่ยนสถานะทางสังคมโดยสิ้นเชิงจากการสมรส ระหว่างปี พ.ศ. 2499 - พ.ศ. 2500 หลังจากแต่งงานไม่นาน เขาก็โดนหมายเรียกให้เข้าประจำการในกองทัพ เนื่องด้วยว่าเป็นบัณฑิตจบใหม่ อนาคตไกล เขามีสิทธิ์หลีกเลี่ยงการไปออกรบในสงครามแอลจีเรีย (ที่ดำเนินติดต่อกันเป็นระยะเวลา 18 เดือน) แต่เขาก็ไปร่วมรบด้วยความสมัครใจ โดยได้รับตำแหน่งในกองร้อยที่สองของแอฟริกา (ประจำการอยู่ที่ซูก-เอล-บาบาร์) เขาพ้นประจำการเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) ชีรักอธิบายว่าเขาเพิ่งจะกลายเป็นพวกนิยมโกลเมื่อปี ค.ศ. 1958นี้เอง แม้ว่าเขาจะได้เข้าร่วมพรรคแนวร่วมแอร์เปเอฟของนายพลชาร์ล เดอ โกล มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) "โดยไม่ทราบว่าตัวเองทำอะไรลงไป" ระหว่างวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2502 (ค.ศ. 1959) และเมษายน พ.ศ. 2503 (ค.ศ. 1960) เขาก็ได้รับราชการในกองหนุนส่วนงานธุรการ โดยทำงานให้กับนายฌัก เปลีซีเย ผู้อำนวยการทั่วไป กองเกษตรกรรมในแอลจีเรีย

เมื่อกลับสู่กรุงปารีส ชีรักได้รับการแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการประจำสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และเป็นอาจารย์ประจำสถาบันการเมืองศึกษาแห่งชาติ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) เขาเป็นผู้รับผิดชอบโครงการเกี่ยวกับการโยธาธิการและการขนส่ง ในสำนักงานเลขานุการของนายกรัฐมนตรีฌอร์ฌ ปงปีดู และประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

อีกหนึ่งปีต่อมา เขาได้รับตำแหน่งที่ผู้ตรวจเงินแผ่นดินประจำสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ในปี พ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1965) เขาได้รับเลือกตั้งเป็นที่ปรึกษาประจำตำบลแซ็งต์-เฟเรออล ในจังหวัดกอแรซ ภูมิลำเนาเดิมของตระกูลชีรัก โดยที่เขาไม่ได้เรียกร้องแต่อย่างใด อีกหนึ่งปีต่อมา ฌอร์ฌ ปงปีดูส่งเขาลงสมัคร ส.ส.ในเขตอูซเซล จังหวัดกอแรซ เพื่อแย่งพื้นที่มาจากคู่แข่ง ด้วยการสนับสนุนของนายมาร์เซล ดาซโซลต์ และหนังสือพิมพ์ของเขา ประกอบด้วยการรณรงค์หาเสียงอย่างไม่หยุดหย่อน ชีรักเอาชนะคู่แข่งจากพรรคคอมมิวนิสต์ได้อย่างเฉียดฉิวในพื้นที่ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์เอง

ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี (พ.ศ. 2510 - พ.ศ. 2519)

[แก้]

ในอีกไม่ถึงหนึ่งเดือนต่อมา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967) ชีรักที่ได้รับฉายาจากฌอร์ฌ ปงปีดู ว่า "รถตักดินของกระผม" ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ในรัฐบาลฌอร์ฌ ปงปีดู 3 (และยังคงดำรงตำแหน่งนั้นในอีกหลายรัฐบาลต่อมา ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีโมรีซ กูซเวอ เดอ มูร์วิลล์ ฌัก ชาบ็อง-แดลมัส และปีแยร์ แม็สแมร์ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) ผลงานในยุคแรกๆที่มาจากแนวคิดริเริ่มของชีรักได้แก่ สำนักงานแรงงานแห่งชาติ ตลอดเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2511 (ค.ศ. 1968) เขาได้มีบทบาทสำคัญในข้อตกลงแห่งเกรอเนล และได้กลายเป็นตัวอย่างของคนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง ที่ถูกนำไปล้อเลียนในหนังสือการ์ตูนอัสเตริกซ์ ทันทีที่พ้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2511 (ค.ศ. 1968) ชีรักได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน โดยมีนายวาเลรี ฌิสการ์ แด็สแต็งในวัยหนุ่มรั้งตำแหน่งรัฐมนตรี ทั้งคู่ทำงานร่วมกันด้วยความกินแหนงแคลงใจ ชีรักไม่เห็นด้วยในการลดค่าเงินฟรังก์เมื่อปี พ.ศ. 2512 (ค.ศ. 1969)

ในปี พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971) ชีรักได้กลายเป็นรัฐมนตรีกิจการพิเศษ ดูแลความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับรัฐสภา จากนั้น เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1972) เขาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท ภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีปีแยร์ แม็สแมร์ ซึ่งประชาชนจำเขาได้เนื่องจากเขาได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้น โดยเฉพาะจากเกษตรกร ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) ด้วยการสนับสนุนของประธานาธิบดี เขาได้เป็นผู้ทบทวนการตัดสินใจของประธานาธิบดีวาเลรี ฌิสการ์ แด็สแต็ง ที่อยู่ในระหว่างการเดินทาง

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) อาจจะจากเรื่องอื้อฉาวการดักฟังโทรศัพท์ของหนังสือพิมพ์ เลอ กานาร์ อองเชนเน เขาได้ "แลก" ตำแหน่งกับแรมง มาร์เซลอง ที่ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และภายหลังการเสียชีวิตของประธานาธิบดีฌอร์ฌ ปงปีดูเพียงเล็กน้อย เขาได้เลือกที่จะสนับสนุนนายปีแยร์ แม็สแมร์เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไปอยู่ช่วงหนึ่ง จากนั้นก็หันไปสนับสนุนนายวาเลรี ฌิสการ์ แด็สแต็ง เพื่อต่อสู้กับนายฌัก ชาบ็อง-แดลมัส ผู้สมัครจากลัทธินิยมโกล เขาได้วิ่งเต้นต่อสู้กับผู้แทนราษฎร 43 คนที่สนับสนุนชาบ็อง-แดลมัส และมีส่วนอย่างยิ่งต่อชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของวาเลรี ฌิสการ์ แด็สแต็ง ชีรักยังอาศัยความได้เปรียบในพื้นที่ และการรู้จักผู้ได้รับการเลือกตั้งท้องถิ่น ช่วยให้เขาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรอีกอย่างน้อยสองปี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งในกระทรวงสำคัญๆ ที่ทำให้เขามีอำนาจเหนือศูนย์การปกครองส่วนจังหวัด สำนักงานการศึกษาแห่งชาติ และอื่น ๆ

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) ประธานาธิบดีวาเลอรี ฌิสการ์ แด็สแต็งได้แต่งตั้งให้ชีรักเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องด้วยชีรักเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของเขา เขายังรักษาเสียงสนับสนุนจากพรรคอูเดเอฟไว้ได้ (ซึ่งในขณะนั้นมีรัฐมนตรีเพียงห้าคน) และได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค แม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคมาก่อนก็ตาม ที่ทำเนียบมาตีญง ชีรักได้จัดตั้งทำเนียบรัฐบาลที่มีรูปแบบสบาย ๆ เป็นกันเอง แต่ก็เริ่มการงัดข้อกับประธานาธิบดีด้วยเช่นกัน แม้ว่าทั้งสองต่างก็ต้องการปกครองประเทศ แต่ก็มีบุคลิกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งคู่กลายเป็นคู่แข่งกันมาตั้งแต่เหตุดึงเครียดระหว่างการดำรงตำแหน่งในกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 1976 ประธานาธิบดีวาเลรี ฌิสการ์ แด็สแต็งได้สั่งการปรับคณะรัฐมนตรีโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งปฏิเสธอำนาจการบริหารของเขา และเรียกร้องการดำเนินการทางการเมืองแบบใหม่ทั้งหมด ภายหลังการพบปะที่ป้อมเดอเบรกองซง ฌัก ชีรักได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ประกาศอย่างเป็นทางการเมืองวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2519 (ค.ศ. 1976) เขาได้ประกาศผ่านทางโทรทัศน์ว่า "กระผมไม่มีหนทางที่กระผมคิดว่าจำเป็นต่อการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างมีประสิทธิภาพอีกต่อไป" ฌัก ชีรัก ยังยืนยันกับวาเลอรี ฌิสการ์ แด็สแต็งอีกด้วยว่า "เขาต้องการล้างมือจากชีวิตในแวดวงการเมือง [...] และจะทบทวนเกี่ยวกับชีวิตเสียใหม่ และเขายังได้เอ่ยถึงการตั้งหอศิลป์อีกด้วย"

ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงปารีส ก้าวสู่ทำเนียบเอลีเซ (พ.ศ. 2519 - พ.ศ. 2538)

[แก้]

หลังจากที่ชีรักได้ประกาศตนเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงปารีส (เขาเป็นผู้ที่คัดค้านการเปลี่ยนสถานะของกรุงปารีสมาตั้งแต่แรกเริ่ม) ชีรักก็ได้จัดตั้งพรรคแอร์เปแอร์ขึ้น พรรคลัทธินิยมโกลนี้ ได้เอาฐานเสียงเดิมจากพรรคอูเดแอร์ ซึ่งมีฌัก ชีรักดำรงตำแหน่งประธานพรรค เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2520 (ค.ศ. 1977) แม้ว่าจะถูกคัดค้านจากแรมง บาร์ ผู้ซึ่งสนับสนุนมีแชล ดอร์นาโน ฌัก ชีรักได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงปารีสคนแรก โดยเป็นตำแหน่งใหม่ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น หลังจากที่ถูกยกเลิกไปตั้งแต่สมัยของของชูล เฟอรี ซึ่งนับเป็นตำแหน่งสำคัญ เนื่องจากมีเงินงบประมาณถึงหนึ่งหมื่นห้าพันล้านฟรังก์ ข้าราชการอีกสี่หมื่นตำแหน่ง จึงนับว่าเป็นก้าวกระโดดทางการเมืองอันสำคัญของชีรัก

เพื่อเตรียมการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2524 (ค.ศ. 1981) ฌัก ชีรัก ได้ทำให้พรรคแอร์เปแอร์กลายเป็นเครื่องจักรกลทางการเมืองที่มีกำลังแรง ด้วยการเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมากตลอด รวมจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 150 ที่นั่ง ซึ่งมากกว่าจำนวนส.ส.ของพรรคอูเดเอฟ (พรรคที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2521 เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองของประธานาธิบดี) ซึ่งแม้กระนั้น สถานการณ์ในพรรครัฐบาลของชีรักก็เข้าขั้นวิกฤติ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 (ค.ศ. 1978) ฌัก ชีรัก ได้ประสบอุบัติเหตุบนถนนในจังหวัดกอแรซ และได้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลโกชัง ในกรุงปารีส ซึ่งที่นั่น เขาได้ประกาศ "แถลงการณ์เรียกร้องแห่งโกชัง" เพื่อแฉพรรค "การเมืองของชาวต่างชาติ" ซึ่งเขาหมายถึงพรรคอูเดเอฟนั่นเอง ในปี พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) ชีรักพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรป บัญชีรายชื่อผู้สมัครของเขาได้รับคะแนนเสียงเพียง 16.3% ตามหลังพรรคอูเดเอฟ ที่มีนายซีโมน เวย อยู่อันดับแรกในบัญชีรายชื่อ อยู่มาก (27.6%)

ระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีหลายครั้ง ชีรักได้ชูประเด็นเกี่ยวกับการลดภาษีมาใช้ในการหาเสียง โดยเขาได้นำแนวความคิดนี้มาจากประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐ และได้รับคะแนนเสียง 18% จากการเลือกตั้งรอบแรก ซึ่งทำให้เขาถูกนายวาเลรี ชีสการ์ด เดสแตง ทิ้งห่างเป็นอย่างมาก (28%) อีกทั้งยังมีคะแนนตามหลังนายฟร็องซัว มีแตร็อง (26%) ผู้ซึ่งมีชัยในการเลือกตั้งรอบที่สอง สาเหตุอาจเนื่องมาจากเขาได้ประกาศว่า "โดยส่วนตัวแล้ว" เขาได้ลงคะแนนให้กับฟร็องซัว มีแตร็อง หัวหน้าพรรคอูเดเอฟ จึงทำให้ผู้ที่สนับสนุนเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนหนุ่มสาว ยึดเอาคำพูดนี้มาขบคิด และลงคะแนนให้กับคู่แข่งในที่สุด

พรรคแอร์เปแอร์อ่อนแอลงหลังพ่ายการเลือกตั้งประธานาธิบดี และได้ที่นั่งเพียง 83 ที่นั่งในรัฐสภา จากการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่อย่างไรก็ดี ฌัก ชีรัก ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากจากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงที่นิยมพรรคฝ่ายขวา (อนุรักษนิยม) จากการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงปารีส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากผลงานที่เขาได้พัฒนานโยบายเกี่ยวกับระบบขนส่งมวลชน การช่วยเหลือผู้สูงอายุ คนพิการ และมารดาที่เลี้ยงบุตรตามลำพัง โดยใช้มาตรการกระตุ้นให้บริษัทตั้งสำนักงานอยู่ในเมือง แต่ก็จัดการสลายตัวย่านที่ผู้คนอาศัยหนาแน่น ในปี ค.ศ. 1983 เขาได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง และครองตำแหน่ง "แกรนด์สแลม" ด้วยการได้รับเลือกตั้งจากทั้งหมด 20 เขตของกรุงปารีส ชีรักกลายเป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้านนับแต่นั้น ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2529 (ค.ศ. 1986) ระหว่างการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในระบบสัดส่วน จำนวนที่นั่งในรัฐสภาระหว่างพรรคแอร์เปแอร์ กับอูเดเอฟ รวมกันได้เสียงข้างมากพอดี จึงตามมาด้วยปรากฏการณ์ที่นายแรมง บาร์ เรียกว่า "การจัดตั้งรัฐบาลผสม" ฌัก ชีรัก ในฐานะหัวหน้าของพรรคร่วมรัฐบาลเสียงข้างมาก ได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีในที่สุด

การจัดตั้งรัฐบาลผสมเปิดโอกาสให้เกิดการงัดข้อทางอำนาจระหว่างนายกรัฐมนตรีกับประธานาธิบดี ฟร็องซัว มีแตร็อง ที่ตำหนิติเตียนการดำเนินการของนายกรัฐมนตรีอย่างเปิดเผย เขาใช้อำนาจประธานาธิบดีอย่างเต็มที่ ด้วยการไม่ยอมลงนามในกฎหมาย ทำให้ชีรักต้องหันมาพึ่งมาตราที่ 49 ทวิ 3 (รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐที่ 5 ของฝรั่งเศส) ยุทธวิธีของประธานาธิบดีทำให้สาธารณชนเหนื่อยหน่ายต่อวิธีการและนโยบายปฏิรูปของรัฐบาล ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องแก้ไขปัญหาเอาเองหลายต่อหลายครั้ง และต้องยอมล้มเลิกแผนการหลายอย่าง ชีรักยับยั้งอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นสำเร็จ แต่ก็ไม่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างเด็ดขาด เขาต้องชดใช้การที่กลุ่มคนหนุ่มสาวไม่ไว้วางใจเขาด้วยเช่นกัน ส่งผลให้นายอาแล็ง เดวาเก รัฐมนตรีของเขาถูกโจมตีในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2529 และภาพลักษณ์ของนายชาร์ล ปัสกา รัฐมนตรีอีกคนต้องเสียหายด้วยการได้รับคะแนนนิยมจากพรรคฝ่ายขวา แต่ถูกเกลียดชังโดยพรรคฝ่ายซ้าย ชาร์ล ปัสกา เป็นผู้ไปเจรจาลับให้ปล่อยตัวประกันในกรณีจับตัวประกันชาวฝรั่งเศสในเลบานอน แต่จากการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ กลับระบุว่าไม่มีการจ่ายเงินเรียกค่าไถ่แต่อย่างใด จากนั้นนายกรัฐมนตรีชีรัก ก็ถูกกล่าวหาว่าได้ขายเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของฝรั่งเศส ให้กับอิหร่าน และต้องการสร้างกระแสในหมู่สาธารณชน

ในการเผชิญหน้ากับคะแนนนิยมของนายฟร็องซัว มีแตร็อง ที่สูงขึ้นเป็นอย่างมาก ในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ฌัก ชีรัก ได้ออกเดินสายหาเสียงทั่วประเทศฝรั่งเศส เพื่ออธิบายแนวนโยบายของเขา ในการเลือกตั้งทั่วไปรอบแรก เขาได้คะแนนเสียงเพียง 19.9% โดยมีนายแรมง บาร์ จี้มาติด ๆ ด้วยคะแนน 16.5% ซึ่งก็ยังห่างไกลจาก มิตแตร์รองด์ ที่ได้ 34.1% ชีรักเผชิญหน้ากับอดีตประธานาธิบดีมิตแตร์รองด์ ที่เพิ่งพ้นจากวาระ ในการโต้วาทีที่เผ็ดร้อนทางโทรทัศน์ ซึ่งมิตแตร์รองด์ยืนยันอย่างแจ่มชัดว่า ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการเจรจาวิ่งเต้นปล่อยตัวประกันในเลบานอนเลย ชีรักพ่ายในการเลือกตั้งรอบที่ 2 โดยได้คะแนนเสียงเพียง 45.98%

ผู้สนับสนุนชีรักต่างเสียกำลังใจ และภรรยาของเขาถึงกลับออกมายืนยันว่า "ชาวฝรั่งเศสไม่ชอบสามีของดิฉัน" ชีรักเป็นฝ่ายค้านอีกครั้ง และยังคงดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงปารีส ในปี พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) เขาได้รับเลือกเข้ามาใหม่ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น และทำงานหนักเพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ในปี พ.ศ. 2534 (ค.ศ. 1991) เขาประกาศว่า "ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับแผนการของนายฌัก เดลอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ที่พยายามผลักดันให้มีสกุลเงินยูโร"

ในการรับมือกับรัฐบาลฝ่ายซ้ายอย่างยากลำบาก ชีรักได้เข้าร่วมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2536 (ค.ศ. 1993) ซึ่งผลปรากฏว่า มาคราวนี้พรรคการเมืองฝ่ายขวาได้รับชนะอย่างถล่มทลาย แต่เนื่องจากบทเรียนที่เขาได้รับในการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งก่อน ชีรักจึงสละสิทธิ์ให้เอดัวร์ บาลาดูร์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมเป็นหนที่สอง ข้อตกลงส่วนตัวของบุคคลทั้งสองนั้นเรียบง่ายมาก เอดัวร์ บาลาดูร์คุมทำเนียบมาตีญง แล้วหนุนให้ชีรักครองทำเนียบเอลีเซ ในปี พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995)

อย่างไรก็ดี เอดัวร์ บาลาดูร์ ได้ตัดสินใจเข้าสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย เนื่องจากเขาได้รับความนิยมอย่างสูง ผู้แวดล้อมประธานพรรคแอร์เปแอร์ถึงกับประณามเขาว่าเป็นคนทรยศ เนื่องจากในฐานะนายกรัฐมนตรีแล้ว เขายังมี นายนีกอลา ซาร์กอซี และนายชาร์ลส์ ปัสกา สมาชิกพรรคอีกสองคนหนุนหลังอยู่ด้วย ทางด้านของนายฟีลิปป์ เซกัง หลังจากที่ลังเลอยู่ระยะหนึ่ง ก็ได้ตัดสินใจสนับสนุนผู้สมัคร "โดยชอบธรรม" และได้ร่วมกับนายอาแล็ง ฌูว์เป และนายอาแล็ง มาเดอาแล็ง เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสนับสนุนชีรักเป็นประธานาธิบดี ซึ่งชีรักก็ได้ออกหาเสียงอย่างกระตือรือร้น และชูประเด็นว่าด้วยเรื่อง "ความแตกร้าวทางสังคม" ชีรักเอาชนะเอดัวร์ บาลาดูร์ ในการเลือกตั้งรอบแรกไปได้ และมาเอาชนะนายลียอแนล ฌ็อสแป็ง ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส ได้ในการเลือกตั้งรอบที่สอง ด้วยคะแนนเสียง 52.64% เขาจึงได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสสมัยแรก (พ.ศ. 2538 - พ.ศ. 2545)

[แก้]

ในการเข้ามาประจำที่ทำเนียบเอลีเซเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ประธานาธิบดีชีรัก ได้แต่งตั้งนายอาแล็ง ฌูว์เป เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งฌูว์เปก็ได้ให้ความสำคัญต่อการต่อสู้กับปัญหาการขาดดุลภาครัฐ ในอันที่จะรักษาข้อตกลงเพื่อเสถียรภาพ ของสหภาพยุโรป และเพื่อเตรียมพร้อมการประกาศใช้สกุลเงินยูโร

ฌัก ชีรัก กับจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2001

นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา การตัดสินใจเรื่องแรก ๆ ของชีรักเห็นจะเป็นประเด็น การรณรงค์ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งสุดท้ายของฝรั่งเศส ก่อนที่จะลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิง โดยมีวัตถุประสงค์ให้คณะกรรมาธิการพลังงานนิวเคลียร์ของฝรั่งเศส สามารถสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์จำลองการระเบิดของนิวเคลียร์สำเร็จ การตัดสินใจครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดกระแสคัดค้านอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และในหมู่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การคัดค้านไม่เป็นผล การทดสอบดังกล่าวได้มีขึ้นในที่สุด

ฝรั่งเศสได้เปลี่ยนแนวนโยบายระหว่างประเทศโดยสิ้นเชิง ในยูโกสลาเวีย ประธานาธิบดีชีรักได้สั่งให้กดดันยูโกสลาเวีย อันเนื่องมาจากเหตุสังหารทหารฝรั่งเศส ที่ปฏิบัติงานร่วมกับทหารในกลุ่มประเทศสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ในอันที่จะหยุดยั้งสงครามกลางเมือง ในขณะเดียวกัน ชีรักยังได้ดำเนินนโยบายที่ทำให้เขาใกล้ชิดกับกลุ่มประเทศอาหรับยิ่งขึ้น โดยที่ยังคงปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ ในกรณีพิพาทอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ฝรั่งเศสได้เข้าร่วมคณะบัญฌัการที่เป็นส่วนหนึ่งของนาโต้

คณะรัฐบาลของนายอาแล็ง ฌูว์เป ที่สูญเสียคะแนนนิยมอย่างมาก ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ผละงานประท้วงครั้งใหญ่ ตลอดช่วงฤดูหนาวระหว่างปี พ.ศ. 2538-2539 อันเนื่องมาจากการปฏิรูประบบเกษียณอายุในภาคเอกชน และการแช่แข็งเงินเดือนข้าราชการ ก่อนที่รัฐบาลเสียข้างมากของเขาจะหมดแรงต้านทาน ชีรักได้ตัดสินใจเสี่ยงยุบสภาไม่กี่เดือนก่อนวันหมดวาระ ทั้งนี้ อาจจะเนื่องมาจากคำแนะนำของนายดอมีนิก เดอ วีลแป็งก็เป็นได้ อย่างไรก็ดี ไม่มีผู้ใดเข้าใจเหตุผลที่แท้จริงของชีรักต่อการตัดสินใจดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นพรรคของเขาและผู้ลงคะแนนสนับสนุน ในขณะที่ฝ่ายค้านต่างโอดครวญ การเลือกตั้งที่ตามมา ชัยชนะตกเป็นของพรรคฝ่ายซ้ายหลายพรรค นำโดยนายลียอแนล ฌ็อสแป็ง ชีรักจึงได้แต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

การร่วมรัฐบาลผสมครั้งที่สาม กินเวลายาวนานกว่าครั้งก่อน ๆ มาก รวมเวลาทั้งสิ้นห้าปีด้วยกัน ทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีต่างมีมติเป็นเสียงเดียวในเรื่องที่เกี่ยวกับสหภาพยุโรป หรือที่เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ ได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดยุโรปร่วมกัน (เช่นเดียวกับเมื่อครั้งร่วมรัฐบาลผสมสองครั้งแรก) แม้ว่าบุคคลทั้งสองจะมีการกล่าววาจะกระทบกระทั่งกันบ้างก็ตาม

ในสมัยนี้เองที่เกิดเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับเงินทุนสนับสนุนทางการเมือง ให้แก่พรรคแอร์เปแอร์ และสำนักงานผู้ว่าราชการกรุงปารีส พรรคแอร์เปแอร์ (เช่นเดียวกับพรรคอูเดเอฟ เปเอส และพรรคเปเซ) ถูกกล่าวหาว่าได้รับเงินทุนสนับสนุนพรรคจากบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ที่ทางกรุงปารีสและเขตปริมณฑลได้ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างงานโยธามูลค่าสูง ฌัก ชีรักดำรงตำแหน่งประธานพรรคแอร์เปแอร์ในขณะนั้น ซึ่งก่อนหน้านี้ เขาดำรงตำแหน่งผู้ราชการกรุงปารีสด้วย เมื่อเกิดเหตุการณ์ผู้ลงคะแนนเสียงปลอมในเขต 5 กรุงปารีส จึงมีการตั้งข้อหาอดีตผู้ว่าราชการกรุงปารีสว่าด้วยการใช้งบประมาณแผ่นดินผิดปกติ โดยข้อหาแรกเกี่ยวกับการใช้เงินหลวงเพื่อการเดินทางส่วนตัวโดยเครื่องบิน ซึ่งนายแบร์ทร็อง เดอลานอเอ ผู้ว่าราชการกรุงปารีสคนใหม่ ได้มองข้ามข้อกล่าวหาแรกนี้ และได้ขอให้เปิดการสืบสวนคดี เกี่ยวกับการที่ฌัก ชีรัก และนางแบร์นาแด็ต ภริยา ได้ใช้เงินจำนวนกว่าสองล้านยูโร ไปในหมวดของ "ค่าเลี้ยงรับรอง" ในขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงปารีส ระหว่างปี พ.ศ. 2530 (ค.ศ. 1987) และ พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995)

โดยการริเริ่มของนายอาร์โน มงต์บูร์ก ส.ส.พรรคสังคมนิยม ส.ส.อีกสามสิบคน (จากพรรคเปเอส 19 คน พรรคสีเขียว 4 คน พรรคซ้ายจัด 4 คน พรรคเปเซเอฟ 2 คน และพรรคเอ็มเอเซ 1 คน) ได้ยื่นรายชื่อขอให้ชีรักขึ้นให้การต่อศาลสูง ชีรักปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว

ซึ่งตามมาตราหนึ่งของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส คณะที่ปรึกษารัฐธรรมนูญ ที่มีนายโรล็อง ดูว์มา เป๋นประธานในขณะนั้น ได้ออกมายืนยันว่าประธานาธิบดีได้รับการคุ้มกันทางกฎหมาย ทำให้เขาไม่ต้องถูกดำเนินคดีขณะดำรงตำแหน่ง ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีลียอแนล ฌ็อสแป็ง ได้รับคะแนนนิยมอย่างมาก จากนโยบายลดชั่วโมงทำงานให้เหลือ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จากอัตราการว่างงานที่ลดลง และจากเศรษฐกิจโลกที่กระเตื้องขึ้นโดยรวม จึงถือโอกาสได้เปรียบนี้กำหนดปฏิทินการเลือกตั้งเบื้องต้นขึ้น (ให้เลือกตั้งประธานาธิบดี ก่อนเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) และได้รับความเห็นชอบจากประธานาธิบดีชีรัก (ที่ตอนแรกคัดค้านอย่างหนัก) ให้เขาเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนวาระดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจากเจ็ดปี เป็นห้าปี ประธานาธิบดีชีรักต้องเผชิญกับแรงกดดันจากกลุ่มสนับสนุนนายฌ็อสแป็ง และคะแนนนิยมของเขาก็ไม่ค่อยดีนัก จึงได้ตัดสินใจประกาศตัวเองเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002) อีกสมัย ซึ่งการประกาศดังกล่าวได้สร้างความผิดหวังเป็นอย่างมากให้แก่นายกรัฐมนตรีฌ็อสแป็ง ที่ต้องการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเช่นกัน

ด้วยนโยบายสนับสนุนกลุ่มส.ส.หนุ่มของพรรคแอร์เปแอร์ ชีรักให้ความสำคัญต่อการจัดตั้งพรรคอูเอ็มเป พรรคการเมืองใหม่อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งพรรคนี้ก็มีแนวโน้มว่าจะรวมเข้ากับพรรคแอร์เปแอร์ พรรคอูเดเอฟ และพรรคเดโมคราซี ลีเบราลในที่สุด แนวนโยบายของพรรคอูเอ็มเป (ที่พรรคอูเดเอฟ นำโดยนายฟรองซัวส์ เบรู ปฏิเสธที่จะรวมพรรคด้วย) พัฒนาอยู่บนแนวคิดเรื่องความมั่นคง และการลดภาษี ชีรักซึ่งบัดนี้มีประสบการช่ำชองในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ได้รณรงค์หาเสียงอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชูประเด็นความไม่มั่นคง ทำให้นายฌ็อสแป็ง คู่แข่งแทบหืดขึ้นคอ เมื่อวันที่ 21 เมษายน ได้มีเรื่องน่าประหลาดใจเกิดขึ้น "ราวกับสายฟ้าฟาด" เมื่อนายลียอแนล ฌ็อสแป็งพ่ายการเลือกตั้งตั้งแต่รอบแรก ฌัก ชีรัก ที่มีคะแนนนำอยู่ที่ 19.88 % ต้องชิงตำแหน่งกับนายชอง-มารี เลอ เป็น นักการเมืองอนุรักษนิยมหัวรุนแรง ที่มักจะถูกมองว่า มีความรังเกียจเดียดฉันชาวต่างชาติอยู่ในสายเลือด ชีรักที่แน่ใจว่าต้องได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน ได้ปฏิเสธการโต้วาทีกับคู่แข่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า "เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการขาดความอดทนอดกลั้นทางสังคม และความเกลียดชัง ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการถ่ายโอนแนวความคิด เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการประนีประนอม เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการโต้วาที" บุคคลทั้งสองเกลียดกันและกันมาก ชีรักปล่อยให้กลุ่มคนที่นิยมพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายและคนหนุ่มสาวออกมาประท้วง และเรียกร้องให้เขาเหล่านั้นลงคะแนนให้ตน (สโลแกนของกลุ่มต่อต้านชีรักที่มีข้อความรุนแรงสุดเห็นจะเป็น "จงลงคะแนนให้คนขี้โกง แต่อย่าลงให้เผด็จการฟาสซิสต์") และในที่สุด ฌัก ชีรักก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสอีกสมัย ด้วยคะแนน 82.21% อย่างที่ไม่มีผู้ใดเคยทำได้มาก่อน

ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสสมัยที่สอง (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545)

[แก้]

นายลียอแนล ฌ็อสแป็งที่พ่ายการเลือกตั้งประธานาธิบดี ได้ยื่นใบลาออกเองแต่เนิ่น ๆ ประธานาธิบดีชีรัก จึงได้แต่งตั้งนายฌ็อง-ปีแยร์ ราฟาแร็ง สมาชิกพรรคอูเอ็มเป เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งราฟาแร็งก็ได้บริหารประเทศตามบัญชาของประธานาธิบดีอยู่เป็นเวลาหลายสัปดาห์ พรรคอูเอ็มเปที่ถูกสถาปนาขึ้น ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตามมา ฌัก ชีรักกุมเสียงข้างมากในสภาไว้ได้อีกครั้ง

นายกรัฐมนตรีฌ็อง-ปีแยร์ ราฟาแร็งได้เริ่มดำเนินนโยบายตามที่ได้หาเสียงเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีเงินได้ และการจัดการกับกลุ่มอันธพาลอย่างตรงจุด ที่ดำเนินการโดยนายนีกอลา ซาร์กอซี รัฐมนตรีมหาดไทยผู้ได้รับความนิยมอย่างสูงและมีสื่ออยู่ในมือ และการจัดการปัญหาความไม่ปลอดภัยบนท้องถนน ที่ดำเนินการโดยนายชีล เดอ โรเบียง รัฐมนตรีว่าการคมนาคมและขนส่ง ตามมาด้วยการปรับนโยบายการทำงานไม่เกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ให้ยืดหยุ่นยิ่งขึ้น และการปฏิรูปการเกษียณอายุและประกันสังคม รวมทั้งการกระจายอำนาจบริหารสู่ท้องถิ่น

ฌัก ชีรัก ระหว่างพิธีสวนสนามในวันชาติฝรั่งเศส เมื่อ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 2003

หลังการก่อวินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 สถานการณ์ระหว่างประเทศ เริ่มมีความตึงเครียดจากนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ของสหรัฐ ผู้มีความเห็นไม่ลงรอยกับชีรัก แม้ว่าเขาจะสนับสนุนให้สหรัฐเข้าแทรกแซงในอาฟกานิสถาน แต่ขีรักกลับเลือกจะอยู่ฝ่าย แกร์ฮาร์ด ชเรอเดอร์ วลาดีมีร์ ปูติน และสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเป็นแนวร่วมสำคัญในการคัดค้านการบุกอิรักในปี พ.ศ. 2546 ของสหรัฐ แนวคิดของชีรัก ที่มีนายดอมีนิก เดอ วีลแป็ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเคียงบ่าเคียงไหล่ ได้รับการตอบสนอง เมื่อสหรัฐจะต้องผ่านมติเห็นชอบของสหประชาชาติก่อนที่จะทำการแทรกแซงใด ๆ ก็ตาม เขาอาศัยมติเห็นชอบของคนในชาติเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว และเผยแพร่แนวคิดเรื่อง "โลกหลายขั้วอำนาจ" หลังจากที่ชีรักได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป และผู้นำบางประเทศ ยกเว้นจากนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร อิตาลี และสเปน เขาจึงประกาศคัดค้านสหรัฐและปล่อยให้นานาชาติเข้าใจว่า เขาจะใช้สิทธิ์การออกเสียงยับยั้ง (วีโต) ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ การประกาศครั้งนี้ให้เกิดกระแสต่อต้านไปทั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสื่ออังกฤษบางส่วน (หนังสือพิมพ์เดอะ ซัน พาดหัวข่าวว่า "ชีรักเป็นหนอนบ่อนไส้") ความสัมพันธ์กับสหรัฐเลวร้ายลงมาก และเพิ่งจะเริ่มดีขึ้นหลังพิธีรำลึกการยกพลขึ้นบกที่นอร์มงดีของทหารพันธมิตร ในอีกสิบห้าเดือนต่อมา

วันรุ่งขึ้นหลังการพ่ายแพ้การเลือกตั้งระดับอำเภอ และระดับจังหวัดครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004) (เขตปกครอง 20 แห่ง จากทั้งหมด 22 แห่งของกรุงปารีสและปริมณฑลกลายเป็นฝ่ายซ้าย) ประธานาธิบดีชีรักก็ได้แต่งตั้งให้นายนีกอลา ซาร์กอซีเป็นรัฐมนตรีกิจการของรัฐ รัฐมนตรีว่ากระทรวงเศรษฐกิจ การเงิน และอุตสาหกรรม สื่อสิ่งพิมพ์ทางการเมือง (ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ เลอ กานาร์ อองเชนเน นูแวล ออบแซร์วาเตอร์ หรือ เล็กซ์เพรส) ต่างก็มองว่าเป็นวิธีการตัดคะแนนนิยมของตัวเองอย่างรุนแรง (ตรงข้ามกับนายกรัฐมนตรีที่มีคะแนนต่ำสุดในการหยั่งคะแนนนิยม) เมื่อต้องเผชิญหน้ากับนายนีกอลา ซาร์กอซีที่ทะเยอทะยานประกาศตนว่าต้องการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีชีรักที่ประกาศระหว่างการปราศรัยในวันชาติฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004) ต้องการเบรกความร้อนแรงของซาร์กอซีเอาไว้ โดยให้เขาเลือกระหว่างเก้าอี้รัฐมนตรีที่มีอยู่ หรือไม่ก็ลาออกไปรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคอูเอ็มเป ในเดือนพฤศจิกายน นีกอลา ซาร์กอซี ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานพรรคอูเอ็มเป และลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ที่ได้ส่งต่อให้นายแอร์เว เกย์มาร์ ซึ่งต่อมา ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 (ค.ศ. 2005) นายแกร์มาร์ถูกสถานการณ์บีบให้ลาออกจากเรื่องอื้อฉาวที่สื่อมวลชนโหมกระพือข่าว โดยมีนายเทียรี เบรอตง ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน

ในการที่จะนำพาชาวฝรั่งเศสให้เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญยุโรป ฌัก ชีรักได้ตัดสินใจจัดการลงประชามติขึ้นเพื่อรับรองแนวคิดดังกล่าว ชีรักที่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการผลักดันให้ตุรกีเข้าร่วมสหภาพยุโรป ("ความฝันอันสูงสุด"ของเขา) มองว่า ส.ส. ของเขาบางส่วนจะคัดค้านแนวคิดนี้ และจะทำให้การลงประชามติไม่เป็นไปอย่างเรียบร้อย เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม คณะกรรมาธิการยุโรป 25 คนได้เปิดการเจรจากับตุรกี โครงการแนวนโยบายโบลเคอสไตน์สามารถลดความกังวลทางสังคมที่แผ่ขยายไปทั่วสหภาพยุโรปลงได้ แม้ว่าประธานาธิบดีชีรักจะมีความพยายามลดแรงเสียดทาน ผลการหยั่งเสียงพลิกผันถึงสามครั้ง และการโต้วาทีกระตุ้นความสนใจของชาวฝรั่งเศสได้มาก และสร้างความสนใจแก่สื่อมวลชน จนกระทั่งวันลงประชามติ

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ภายหลังการรณรงค์ที่ประธานาธิบดีออกโรงด้วยตนเอง ผลปรากฏว่าชาวฝรั่งเศสมีมติไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญยุโรปถึง 54.87% จากผู้มาลงประชามติทั้งหมด 69.74% ในวันรุ่งขึ้น นายกรัฐมนตรีฌ็อง-ปีแยร์ ราฟาแร็งก็ประกาศลาออก ฌัก ชีรักประกาศผู้มาดำรงตำแหน่งใหม่เป็นคู่ของนายดอมีนิก เดอ วีลแป็ง และนายนีกอลา ซาร์กอซี โดยที่เดอ วีลแป็งครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และนายซาร์กอซีนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกิจการของรัฐ พ่วงด้วยตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไท สื่อมวลชนยกประเด็นว่าบุคคลในคณะรัฐบาลมักจะเป็นหน้าเดิม ๆ แต่ก็ประหลาดใจกับการร่วมรัฐบาลกันของบุคคลทั้งสอง (โดยเปรียบนิโคลา ซาร์กอซีว่าเป็น "รองนายกรัฐมนตรี" เลยทีเดียว)

ฌัก ชีรัก เริ่มการงัดข้อกับนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ของสหราชอาณาจักร (ผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานสหภาพยุโรปในขณะนั้น) เกี่ยวกับงบประมาณของสหภาพยุโรป การเผชิญหน้ากันครั้งนี้ขยายผลไปถึงการแข่งกันเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2012 ระหว่างกรุงปารีส และกรุงลอนดอน ที่ทั้งคู่ต่างออกโรงด้วยตนเอง ชาวฝรั่งเศสต่างค่อนข้างมั่นใจว่าได้เปรียบ และต้องการทำลายบรรยากาศอึมครึมที่ปกคลุมประเทศ แต่เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม คณะกรรมการโอลิมปิกสากลกลับเลือกกรุงลอนดอนเป็นเจ้าภาพในที่สุด

นับแต่นั้นเป็นต้นมา คะแนนนิยมของชีรักก็ตกต่ำลงมาก และเพิ่มขึ้นอย่างเชื่องช้า เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2548 เขาต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลทหารเมืองวาล-เดอ-กรัส อันเนื่องจากโรคหลอดเลือดเส้นประสาท (หลอดเลือดเส้นประสาทล้มเหลว) ทำให้การมองเห็นพร่ามัว โชคดีที่อาการดังกล่าวก็หายเป็นปกติในไม่กี่วัน เขาออกจากโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2548 แต่ก็ถูกห้ามขึ้นเครื่องบินไปอีกหลายสัปดาห์ นายกรัฐมนตรีดอมีนิก เดอ วีลแป็ง จึงเป็นตัวแทนฝรั่งเศสเข้าร่วมการประชุมสุดยอดองค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2548 สื่อมวลชนตอบรับการปฏิบัติภารกิจแทนประธานาธิบดี "หนึ่งร้อยวัน" ของนายกรัฐมนตรีดอมีนิก เดอ วีลแป็ง เป็นอย่างดี แต่เขาก็ต้องเหนื่อยหน่ายที่ต้องแข่งกับนายนีกอลา ซาร์กอซี ที่ทำตัวโดดเด่นนับตั้งแต่อุบัติเหตุของประธานาธิบดี นักข่าวหลายสำนักต่างยืนยันว่าฌัก ชีรัก จะไม่สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) อีก และปล่อยให้ผู้อื่นเข้าสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดี

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ระหว่างการประชุมสุดยอดฝรั่งเศส-อิตาลี ฌัก ชีรัก ได้ตำหนิคณะกรรมาธิการยุโรปที่ไม่ได้ต่อสู้กับการปลดคนงานของฮิวเลตต์-แพคการ์ด ทำให้ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปออกมาตอบโต้ว่าการกล่าวหาดังกล่าว เป็นการ "ตีปี๊บหาเสียง" เนื่องด้วยเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเพียงปัญหาระดับชาติ

นับตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 จากเหตุการณ์วัยรุ่นสองคนถูกไฟฟ้าช็อตเสียชีวิต หลังถูกตำรวจไล่กวด แล้วหลบเข้าไปในสถานีไฟฟ้าย่อยของการไฟฟ้าฝรั่งเศส ที่เมืองคลิชี-ซูร์-บัว และจากคำแถลงการณ์ของนายนีกอลา ซาร์กอซี รัฐมนตรีมหาดไทย ที่มีการใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม ทำให้เกิดเหตุจลาจลขึ้นในคืนถัดมา สื่อมวลชนขนานนามเหตุการณ์นี้ว่าเป็น การลุกฮือของประชาชนในแถบชานเมืองของฝรั่งเศส และได้แผ่ขยายไปทั่วประเทศฝรั่งเศสภายในเวลาไม่กี่วัน (รถยนต์หลายพันคันถูกเผา อาคารสำนักงานและอาคารราชการถูกทำลาย ฯลฯ) วันที่ 8 พฤศจิกายน ประธานาธิบดีชีรักได้บัญชาให้คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีประกาศภาวะฉุกเฉิน ส่วนปกครองท้องถิ่นสามารถประกาศเคอร์ฟิวได้ทั่วพื้นที่ หรือบางส่วน ฌัก ชีรักได้ออกมาแถลงต่อชาวฝรั่งเศสครั้งแรกเกี่ยวกับการลุกฮือครั้งนี้ ผ่านทางโทรทัศน์และวิทยุ เมื่อวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน เมื่อเวลา 20 นาฬิกา ชาวฝรั่งเศสคาดหวังกับการแก้ไขปัญหานี้สูงมาก มีผู้ติดตามสุนทรพจน์ของชีรักกว่า 20 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นสถิติสูงสุดในการกล่าวสุนทรพจน์ทางการเมือง ชีรักใช้เวลา 14 นาที เพื่อย้ำเตือนถึงอุดมการณ์และค่านิยมของสาธารณรัฐ อีกทั้งเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา

เส้นทางทางการเมือง

[แก้]

ลำดับเหตุการณ์

[แก้]
  • พ.ศ. 2493 (ค.ศ. 1950) เข้าร่วมกองกำลังเพื่อสันติภาพ ในขบวนการที่ใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส
  • พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) เป็นผู้ประสานงานกับฌอร์ฌ ปงปีดู นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2505 เป็นค้นมา
  • พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967) ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดกอแรซ บ้านเกิด และเริ่มอาชีพรัฐมนตรี
  • พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยประธานาธิบดีวาเลรี ฌิสการ์ แด็สแต็ง
  • พ.ศ. 2519 (ค.ศ. 1976) ประกาศลาออกจากตำแหน่งด้วยการสละเก้าอี้ให้นายแรมง บาร์ แล้วออกไปตั้งพรรคแอร์เปแอร์
  • พ.ศ. 2520 (ค.ศ. 1977) ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าราชการกรุงปารีส และครองตำแหน่งนี้ยาวนานกว่า 18 ปี (ได้รับเลือกเข้ามาใหม่ในปี พ.ศ. 2526 และ พ.ศ. 2532)
  • พ.ศ. 2521 (ค.ศ. 1978) เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ได้ประกาศแถลงการณ์เรียกร้องแห่งโกชัง (เมืองซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลที่เขาเข้าพักรักษาตัวหลังประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์) และประกาศว่า "เรากำลังเตรียมตัวรับระบอบปกครองแบบยุคกลางของฝรั่งเศส และเตรียมจะทำให้ประเทศตกต่ำลง" เขายังออกมาแฉว่าพรรคอูเดเอฟ เป็น "พรรคการเมืองของชาวต่างชาติ"
  • พ.ศ. 2524 (ค.ศ. 1981) สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก ปะทะกับอดีตประธานาธิบดีวาเลรี ฌิสการ์ แด็สแต็ง ชีรักได้รับคะแนนเสียงเพียง 18 %
  • พ.ศ. 2529 (ค.ศ. 1986) พรรคแอร์เปแอร์ และพรรคอูเดเอฟ ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เขาได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีในการร่วมรัฐบาลผสมครั้งแรกกับฟร็องซัว มีแตร็อง
  • พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988) พ่ายแพ้ต่อฟร็องซัว มีแตร็อง ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี รอบที่สอง
  • นับตั้งแต่ปีคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ชื่อของฌัก ชีรักได้เข้าไปพัวพันบ่อยครั้ง ในการพิจารณาคดีแปดคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่เกี่ยวกับผู้ว่าราชการกรุงปารีส สมัยตำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสามารถคุ้มกันเขาจากการถูกดำเนินคดีไว้ได้
  • พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995) ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสสมัยแรก ด้วยคะแนนเสียง 52.6 % ในการชิงชัยกับนายลียอแนล ฌ็อสแป็ง และแต่งตั้งให้นายอาแล็ง ฌูว์เป ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
  • พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) ประกาศยุบสภา พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำให้ชีรักต้องยอมจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคฝ่ายซ้ายอีกครั้ง (พ.ศ. 2540-2545) และแต่งตั้งนายลียอแนล ฌ็อสแป็ง จากพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส (เปเอส) เป็นนายกรัฐมนตรี
  • พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002) ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสสมัยที่สอง ด้วยคะแนนเสียง 19.88 % ในการเลือกตั้งรอบแรก (คะแนนต่ำสุดในประวัติศาสตร์ เท่าที่ประธานาธิบดีผู้เพิ่งพ้นวาระเคยได้รับ) และได้รับคะแนนเสียง 82.21 % ในการเลือกตั้งรอบที่สอง อันเป็นคะแนนที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐที่ห้า อันเนื่องมาจากความเห็นพ้องต้องกันของชาวฝรั่งเศส ที่ไม่ต้องการให้นายชอง-มารี เลอ เปน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคฟรองซ์ นาซองนาล (พรรคอนุรักษนิยมสุดขั้ว) ได้รับเลือก ตามคำเรียกร้องของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ การหยั่งเสียงหน้าคูหาของสำนักโพล IPSOS ระบุว่า ผู้ไปเลือกตั้งส่วนใหญ่ลงคะแนนให้พรรคฝ่ายซ้าย และพรรคขั้วเป็นกลางในรอบแรก แต่หันมาลงคะแนนให้ชีรักในรอบที่สอง

สมัยที่ได้รับเลือกตั้ง

[แก้]
  • ที่ปรึกษาท้องถิ่น และผู้ว่าราชการจังหวัด :
    • พ.ศ. 2508 - 2514 : สมาชิกคณะที่ปรึกษาท้องถิ่นแห่งแซ็งต์-เฟเรออล จังหวัดกอแรซ
    • พ.ศ. 2514 - 2520 : สมาชิกคณะที่ปรึกษาท้องถิ่นแห่งแซ็งต์-เฟเรออล จังหวัดกอแรซ
    • พ.ศ. 2520 - 2526 : สมาชิกคณะที่ปรึกษาท้องถิ่นแห่งกรุงปารีสและผู้ว่าราชการกรุงปารีส
    • พ.ศ. 2526 - 2532 : สมาชิกคณะที่ปรึกษาท้องถิ่นแห่งกรุงปารีสและผู้ว่าราชการกรุงปารีส
    • พ.ศ. 2532 - 2538 : ผู้ว่าราชการกรุงปารีส สิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่งหลังได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2538 และจะหมดสมัยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาท้องถิ่นประจำกรุงปารีส ในการเลือกตั้งท้องถิ่นเดือนถัดมา คือเดือนมิถุนายน 2538
  • ที่ปรึกษาทั่วไป:
    • พ.ศ. 2511 - 2513 : สมาชิกคณะที่ปรึกษาทั่วไปแห่งจังหวัดกอแรซ
    • พ.ศ. 2513 - 2519 : สมาชิกและประธานคณะที่ปรึกษาทั่วไปแห่งจังหวัดกอแรซ
    • พ.ศ. 2519 - 2522 : สมาชิกและประธานคณะที่ปรึกษาทั่วไปแห่งจังหวัดกอแรซ
    • พ.ศ. 2522 - 2525 : สมาชิกคณะที่ปรึกษาทั่วไปแห่งจังหวัดกอแรซ
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศส:
    • พ.ศ. 2510 - 2510 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกอแรซ (1)
    • พ.ศ. 2511 - 2511 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกอแรซ (1)
    • พ.ศ. 2516 - 2516 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกอแรซ (1)
    • พ.ศ. 2519 - 2521 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกอแรซ (2)
    • พ.ศ. 2521 - 2524 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกอแรซ (3)
    • พ.ศ. 2524 - 2529 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกอแรซ
    • พ.ศ. 2529 - 2529 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกอแรซ (1)
    • พ.ศ. 2531 - 2536 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกอแรซ
    • พ.ศ. 2536 - 2538 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกอแรซ (4)

(1) หมดวาระหลังจากได้รับการเสนอชื่อเข้าร่วมรัฐบาล
(2) ได้รับเลือกตั้งจากการเลือกตั้งซ่อมเพื่อหาผู้ดำรงตำแหน่งแทนส.ส.คนก่อนที่ลาออกจากตำแหน่ง
(3) หมดวาระหลังจากการประกาศยุบสภา
(4) หมดวาระหลังจากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส

หน้าที่ในคณะรัฐบาล

[แก้]
  • พ.ศ. 2510 - พ.ศ. 2511 : รัฐมนตรีกิจการพิเศษประจำกระทรวงกิจการสังคม รับผิดชอบปัญหาว่างงาน (ในรัฐบาลฌอร์ฌ ปงปีดู 4)
  • พ.ศ. 2511 - พ.ศ. 2511 : รัฐมนตรีกิจการพิเศษประจำกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน (ในรัฐบาลฌอร์ฌ ปงปีดู 5)
  • พ.ศ. 2511 - พ.ศ. 2512 : รัฐมนตรีกิจการพิเศษประจำกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน (ในรัฐบาลโมริส กูฟ เดอ มูร์วิลล์)
  • พ.ศ. 2512 - พ.ศ. 2515 : รัฐมนตรีกิจการพิเศษประจำกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน (ในรัฐบาลฌัก ชาบ็อง-แดลมัส)
  • พ.ศ. 2515 - พ.ศ. 2516 : รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (ในรัฐบาลปีแยร์ แม็สแมร์ 1)
  • พ.ศ. 2516 - พ.ศ. 2517 : รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (ในรัฐบาลปีแยร์ แม็สแมร์ 2)
  • พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2517 : รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย (ในรัฐบาลปีแยร์ แม็สแมร์ 2)
  • พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2519 : นายกรัฐมนตรี (ในรัฐบาลฌัก ชีรัก 1)
  • พ.ศ. 2529 - พ.ศ. 2531 : นายกรัฐมนตรี (ในรัฐบาลฌัก ชีรัก 2)

เกียรติประวัติ

[แก้]

ความตาย

[แก้]

ฌัก ชีรัก เสียชีวิตวันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2562 อายุ 86 ปี[1][2][3][4][5][6][7][8]

อื่น ๆ

[แก้]

รายการตลกล้อเลียน

[แก้]
  • รายงานข่าวของเล กินโยล (คล้ายกับรายการ "รัฐบานหุ่น" ของไทย) นำฌัก ชีรักมาล้อเลียนประจำ โดยนำเสนอในแบบของชายชาวฝรั่งเศสผู้มีอันจะกินทั่วไป และดูน่ารักดีในแบบของเขา จนทำให้เราอาจกล่าวได้ว่า รายการเล กินโยลมีส่วนช่วยให้ชีรักได้รับชัยชนะเหนือนายเอดัวร์ บาลาดูร์ ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2538 (แต่ไม่ใช่ในปี พ.ศ. 2545 ที่รายการเดียวกันนี้นำเสนอชีรักในแบบของ 'คนขี้โกหก' อันไม่น่านิยมชมชอบ)
  • ในรายการเบเบ็ตโชว์ หรือ "หุ่นหรรษา" (พ.ศ. 2525-2536) ของชอง รูกา และ สเตฟาโน โคลลาโร ฌัก ชีรัก เป็นอีกาขนสีน้ำเงิน ที่มีชื่อว่า "แบล็ค ฌัก" (ออกเสียงคล้ายกับคำว่า เกมไพ่ "แบล็ค แจ็ค")

ทั่วไป

[แก้]
  • การสะสมดวงตราไปรษณียากร : การไปรษณีย์ของทางการปาเลสไตน์ได้ออกดวงตราไปรษณียากรแผงละสี่ดวง เพื่อเป็นเกียรติแก่ฌัก ชีรัก ในปีค.ศ. 2004 (ดูภาพ เก็บถาวร 2005-04-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน)
  • ฌัก และแบร์นาแด็ต ชีรัก ได้อุปการะเด็กหญิงอา เดา ฝาม ชาวเวียดนามเป็นบุตรบุญธรรม ในการเดินทางมาถึงประเทศฝรั่งเศสของเธอในปีค.ศ. 1979
  • ชีรักชื่นชอบชาวอินเดียน ไทโน ซึ่งเป็นอินเดียนแดงจากอเมริกากลาง และชนเผ่าพื้นเมืองมาก เขาได้ร่วมเล่าถึงความชอบส่วนตัวในรายการ "แซร์เคลอ เดอ มีนุย" (ชมรมเที่ยงคืน) ของ มีเชล ฟีล ในปีพ.ศ. 2537
  • ชีรักเคยแปลบทกวีภาษาจีนบทหนึ่ง ตั้งแต่สมัยที่เขาเป็นนักเรียน ชีรักพูดภาษาจีนกลางได้อย่างฉะฉาน และยังเคยสนทนาเป็นภาษาจีนกับกง ลี่อีกด้วย
  • การตัดสินใจดำเนินการทดลองนิวเคลียร์ต่อไป ทันทีที่เขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศส เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดอัลบั้มรวมเพลงภาษาเยอรมันที่ชื่อว่า "หยุดชีรัก" จากแนวคิดของวงดี อาซเตอ และดี ฟานตาสทิสเชน เวียร์ ดี โทเทน โฮเซน รวมถึง เฟตเตส บรอต ภาพปกของอัลบั้มนี้เปรียบเทียบระเบิดนิวเคลียร์ กับองคชาติที่กำลังตื่นตัวอย่างชัดเจน

หนังสือเกี่ยวกับชีรัก

[แก้]

งานเขียนเชิงวิจารณ์

[แก้]
  • วิทยานิพนธ์ของสถาบันการเมืองศึกษา เรื่อง การพัฒนาท่าเรือเมืองนิวออร์ลีน พ.ศ. 2497
  • คำปราศรัยสำหรับฝรั่งเศสในยามที่ต้องตัดสินใจ พ.ศ. 2521
  • แสงทองแห่งความหวัง: การครุ่นคิดจากกลางคืนจนถึงรุ่งเช้า พ.ศ. 2521
  • ฝรั่งเศสใหม่ แนวคิดหมายเลข 1 พ.ศ. 2537
  • ฝรั่งเศสสำหรับทุกคน พ.ศ. 2538

หนังสือหรือบทความ

[แก้]

อ่านเพิ่ม

[แก้]
  • Allport, Alan. Jacques Chirac (Infobase Publishing, 2007), short biography excerpt
  • Bell, David et al. eds. Biographical Dictionary of French Political Leaders Since 1870 (1990) pp 82–86.
  • Bell, David. Presidential Power in Fifth Republic France (2000) pp 211–40.
  • Bell, David S., Erwin C. Hargrove, and Kevin Theakston. "Skill in context: A comparison of politicians." Presidential Studies Quarterly 29.3 (1999): 528–548; comparison of George Bush (US), John Major (UK), and Jacques Chirac.
  • Chafer, Tony. "Chirac and ‘la Francafrique’: No longer a family affair." Modern & Contemporary France 13.1 (2005): 7-23. online
  • Drake, Helen. "Jacques chirac's balancing acts: The French right and Europe." South European Society & Politics 10.2 (2005): 297–313.
  • Elgie, Robert. "La cohabitation de longue durée: studying the 1997-2002 experience." Modern & Contemporary France (2002) 10#3 pp 297–31, in English.
  • Gaffney, John. "The Mainstream Right: Chirac and Balladur." in French Presidentialism and the Election of 1995 (Routledge, 2018) pp. 99-115.
  • Gaffney, John. "Protocol, Image, and Discourse in Political leadership Competition: the case of prime minister Lionel Jospin, 1997-2002." Modern & Contemporary France 10.3 (2002): 313–323.
  • Gaffney, John, ed. The French presidential and legislative elections of 2002 (Routledge, 2018).
  • Knapp, Andrew. "Jacques Chirac: Surviving without Leading?." in David Bell and John Gaffney, eds. The presidents of the French Fifth Republic (Palgrave Macmillan UK, 2013). pp 159–180.
  • Levy, Jonah, Alistair Cole, and Patrick Le Galès. "From Chirac to Sarkozy. A New France." Developments in French politics 4 (2008): 1-21.
  • Maclean, Mairi. Economic Management and French Business: From de Gaulle to Chirac (Springer, 2002).
  • Milzow, Katrin. National interests and European integration: Discourse and politics of Blair, Chirac and Schroeder (Palgrave Macmillan, 2012).
  • Nester, William R. "President Chirac." in Nester, De Gaulle’s Legacy (Palgrave Macmillan 2014) pp. 151–172.
  • Wilsford, David, ed. Political leaders of contemporary Western Europe: a biographical dictionary (Greenwood, 1995) pp 63–70.

ข้อมูลปฐมภูมิ

[แก้]
  • Chirac, Jacques. My Life in Politics (2012).

ในภาษาฝรั่งเศส

[แก้]
  • Emmanuel Hecht, Thierry Vey, Chirac de A à Z, dictionnaire critique et impertinent, Éditions Albin Michel, ISBN 2-226-07664-6
  • Valéry Giscard d'Estaing, Le pouvoir et la vie, tome 3
  • Frederic Lepage, A Table avec Chirac
  • Jacques Chirac, La Nouvelle-Orléans et son port en 1954, Presses Universitaires du Nouveau Monde, ISBN 1-931948-68-2

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า ฌัก ชีรัก ถัดไป
ฟร็องซัว มีแตร็อง
ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส
(พ.ศ. 2538 - พ.ศ. 2550)
นีกอลา ซาร์กอซี
ฟร็องซัว มีแตร็อง
เจ้าผู้ร่วมครองอันดอร์รา
ร่วมกับ ชูอัน มาร์ตี อี อาลานิส และ
ฌูอัน อันริก บิบัส ซิซิลิอา

(พ.ศ. 2538 - พ.ศ. 2550)
นีกอลา ซาร์กอซี
เอดัวร์ บาลาดูร์
ประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป
(17 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2538)
เฟลีเป กอนซาเลซ
โลร็อง ฟาบียุส นายกรัฐมนตรี
ประธานาธิบดีฟร็องซัว มีแตร็อง

(20 มีนาคม พ.ศ. 2529 - 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2531)
มีแชล รอการ์
ตำแหน่งถูกยกเลิก
ก่อนหน้านั้น ฌูล เฟรี
นายกเทศมนตรีกรุงปารีส
(พ.ศ. 2520 - พ.ศ. 2538)
ฌ็อง ตีเบอรี
ประธานพรรคแอร์เปแอร์ (RPR)
(พ.ศ. 2519 - พ.ศ. 2537)
อาแล็ง ฌูว์เป
ปีแยร์ แม็สแมร์ นายกรัฐมนตรี
ประธานาธิบดีวาเลรี ฌิสการ์ แด็สแต็ง

(28 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 - 25 สิงหาคม พ.ศ. 2519)
แรมง บาร์
แรมง มาร์แซแล็ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
รัฐบาลปีแยร์ แม็สแมร์ 3

(พ.ศ. 2517)
มีแชล ปอนียาตอฟสกี
มีแชล กวงตา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร
รัฐบาลปีแยร์ แม็สแมร์ 1 และ 2

(พ.ศ. 2515 - พ.ศ. 2517)
แรมง มาร์แซแล็ง
  1. Tmososgshsjskslltai, Ukfof (26 September 2019). "Jacques Chirac, former French president, is dead at 86". CNN (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 26 September 2019.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. "Jacques Chirac: Former French president dies aged 86". BBC News (ภาษาอังกฤษ). 26 September 2019. สืบค้นเมื่อ 26 September 2019.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. "Jacques Chirac, former French president, dies aged 86". The Guardian (ภาษาอังกฤษ). 26 September 2019. สืบค้นเมื่อ 26 September 2019.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. "Ex-French President Chirac, who stood up to US, dies at 86". AP News (ภาษาอังกฤษ). 26 September 2019. สืบค้นเมื่อ 26 September 2019.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. "Jacques Chirac death: France's former president dies, aged 86". The lndependent (ภาษาอังกฤษ). 26 September 2019. สืบค้นเมื่อ 26 September 2019.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. "Ex-French President Jacques Chirac dead". DW (ภาษาอังกฤษ). 26 September 2019. สืบค้นเมื่อ 26 September 2019.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. "Jacques Chirac, flamboyant French president who opposed U.S. invasion of lraq, dies at 86". Washington Post (ภาษาอังกฤษ). 26 September 2019. สืบค้นเมื่อ 26 September 2019.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. "Jacques Chirac, Who Led France Envisioning European Unity, ls Dead at 86". The New York Times (ภาษาอังกฤษ). 26 September 2019. สืบค้นเมื่อ 26 September 2019.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)