ข้ามไปเนื้อหา

จ่าเฉย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จ่าเฉยตัวหนึ่งที่แยกพญาไท

จ่าเฉย เป็นชื่อเรียกหุ่นตำรวจจราจรในกรุงเทพมหานคร ราชอาณาจักรไทย ในสมัยแรกจะมียศเป็น จ่าสิบตำรวจ

ที่มาของจ่าเฉยนั้น ใน พ.ศ. 2550 โรงพยาบาลวิภาวดีซึ่งเห็นถึงความลำบากตรากตรำของตำรวจจราจร มีความประสงค์แบ่งเบาภารกิจ ได้ร่วมกับภาคเอกชนต่าง ๆ ลงขันกันจัดสร้างหุ่นจำลองตำรวจจราจรขึ้น เพื่อมอบให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลนำไปประจำไว้ยังจุดต่าง ๆ ตามถนนหนทางในเขตอำนาจของตำรวจนครบาล สำหรับป้องปรามผู้ขับขี่รถไม่ให้กระทำผิด และเพื่อลดอุบัติเหตุ โดยการจัดสร้างจ่าเฉยหนึ่งตัวเป็นราคาสองหมื่นบาทเศษ[1]

รูปลักษณ์ของจ่าเฉย มีทั้งที่จัดสร้างขึ้นเพียงครึ่งตัว และเต็มตัวเท่าคนจริง แบบเต็มตัวนั้นมีความสูงหนึ่งร้อยแปดสิบเซนติเมตร ทุกตัวเป็นชายหนุ่มสวมเครื่องแบบตำรวจจราจร โดยมีทั้งที่อยู่ในท่าวันทยหัตถ์อย่างตำรวจ มีใบหน้ายิ้มแย้ม และท่ายืนตรง มีใบหน้าเคร่งขรึม[2]

หลังจากปฏิบัติหน้าที่ได้เพียงสองปี เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552 พลตำรวจโท สัณฐาน ชยนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลคนใหม่ แถลงข่าวว่า จากการประชุมกองตำรวจนครบาลเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า ณ ห้องประชุมกองบัญชาการตำรวจนครบาล 5 ได้สั่งการให้สถานีตำรวจนครบาลทุกแห่งเก็บจ่าเฉยคืนจากจุดที่ตั้งไว้ มิให้ตั้งอีกต่อไป ภายในวันที่ 20 ธันวาคม ปีเดียวกัน โดยให้เหตุผลว่า

"...มีประชาชนเขียนจดหมายมาว่า เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ปฏิบัติหน้าที่ และชอบแอบอยู่หลังเสาไฟฟ้า เพราะมีหุ่นตำรวจยืนอยู่แล้ว ซึ่งเห็นว่าไม่เหมาะสม จึงสั่งการให้นำหุ่นที่มีรูปตำรวจออกให้หมด และอีกอย่างหลังจากมีหุ่นตำรวจมาพักใหญ่ ทำให้ประชาชนเริ่มคุ้นเคยและทำผิดกฎจราจรบ่อย ๆ ทั้งเป็นที่ขบขันกับผู้ที่พบเห็น ซึ่งการจัดเก็บนั้นทราบว่าดำเนินการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยให้เจ้าหน้าที่ยืนปฏิบัติหน้าที่แทน ส่วนป้อมตามแยกนั้นให้ลอกฟิล์มดำออกให้หมดเช่นกัน เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่มักจะแอบหลับและกินเหล้ากันเป็นประจำ[3]

...คงจะไม่ใช่การปลดฟ้าผ่า คงจะเป็นการเอาไปเก็บไว้ชั่วคราวไว้ก่อน จากการที่มีคนเขียนจดหมายเข้ามาว่า จ่าเฉยยืนอยู่ จ่าจริงไม่มา ใหม่ ๆ ก็อาจเป็นไปได้ว่า หุ่นยืนอยู่ คนผ่านไปมาอาจจะตกใจ แต่หลังจากนาน ๆ เข้า คนเริ่มคุ้นว่าจ่าเฉยยืนอยู่ จ่าจริงก็ไม่ค่อยมีเท่าไหร่[4]"

การเรียกเก็บจ่าเฉยในครั้งนี้ถือเป็นการปลดระวางจ่าเฉย ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เช่น ในชุมชนออนไลน์พันทิป มีการตั้งกระทู้พูดคุยเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและไว้อาลัยให้แก่การถูกปลดของจ่าเฉย[5] และมีผู้เขียนบทความในเว็บบล็อกโอเคเนชั่น ความตอนหนึ่งว่า "งานนี้ 'จ่าเฉย' เลยต้องตกเป็น 'แพะ' ไปโดยปริยาย เพราะตำรวจจริง ๆ ไม่ยอมทำงาน มัวแต่นั่งตากแอร์ อยู่ในตู้ยาม 'จ่าเฉย' ไม่มีแม้แต่จะแก้ตัวอธิบายให้ผู้บังคับบัญชาทราบ แม้ถูกหามเข้ากรุก็ยังนิ่งเฉยเหมือนเดิม"[6]

การพัฒนาและการเลื่อนยศ

[แก้]

ในแต่ละพื้นที่นั้นจะมีการเรียกแตกต่างกันไป ทั้งนี้ในบางจังหวัดได้มีการเลื่อนยศจากยศจ่าสิบตำรวจ ให้เป็นยศร้อยตำรวจ ซึ่งจะมีในจังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดระยอง ซึ่งมีขึ้นในปี พ.ศ. 2562 ต่อมาได้มีการพัฒนาให้เป็นยศพันตำรวจตรี และได้พัฒนาโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์มากขึ้น จึงเป็นที่มาของสารวัตรเฉย หรือในชื่อ "พันตำรวจตรี เฉย ปัญญาประดิษฐ์" ในปี พ.ศ. 2567

หมวดเฉย

[แก้]

จังหวัดอุตรดิตถ์

[แก้]

เพจ "ปราการ-มุมมืด" เผยภาพผกก.สภ.เมืองอุตรดิตถ์ เลื่อนยศ "จ่าเฉย ทนได้" ขึ้นเป็น "ร.ต.ต.เฉย ทนได้" พร้อม ติดตั้งไฟกระพริบ เพื่อเป็นสัญญาณแจ้งเตือนในการลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่

วันนี้ (27 ธ.ค.) เพจ "ปราการ-มุมมืด" โพสต์เรื่องราวพร้อมรูปภาพหุ่นรูปปั้นตำรวจ "จ่าเฉย" และเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ที่ผ่านมา ทาง พ.ต.อ.นนทวร สีอินทร์ ผกก.สภ.เมืองอุตรดิตถ์ นำข้าราชการตำรวจในสังกัด สภ.เมืองอุตรดิตถ์ นำหุ่นรูปจ่าเฉย ติดตั้งไฟกระพริบ เพื่อเป็นสัญญาณแจ้งเตือนในการลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563

ล่าสุด สภ.เมืองอุตรดิตถ์ ได้ติดไฟกะพริบไว้ที่ตัวหมวดเฉยนำไปวางไว้ตามจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เชื่อว่าประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนคงต้องคุ้นหน้าคุ้นตาหุ่นตำรวจตัวนี้กันเป็นอย่างดีเพราะจ่าเฉยถูกตั้งอยู่ในหลายแยกทั่วประเทศไทย ประชาชนโดยส่วนใหญ่เห็นว่าการมีหุ่นจ่าเฉย หรือ หมวดเฉย เป็นประโยชน์ และการทำผิดกฎจราจรก็น้อยลง และสำหรับ หุ่นตำรวจชื่อ "จ่าเฉย ทนได้"เคยสร้างคุณงามความดีที่ทำมาตลอดเวลา กลายเป็นที่รู้จักของผู้คน จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วได้รับความดีความชอบปฏิบัติการดีเยี่ยม ทนแดด ทนฝน ไม่เคยปริปากบ่นจึงได้ทำการประดับยศนายร้อย และเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา เลื่อนชั้นเป็น "ร.ต.ต.เฉย ทนได้"[7]

ต่อมาวันที่ 2 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.นนทวร สีอินทร์ ผกก.สภ.เมืองอุตรดิตถ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ , ฝ่ายจราจร นำหมวดเฉยอุตรดิตถ์ ซึ่งประจำอยู่ในสังกัด สภ.เมืองอุตรดิตถ์ ออกไปบริการ ป้องกันเหตุ และ พบปะกับพี่น้องประชาชน พร้อมติดป้ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุบนท้องถนนช่วงเทศกาลปี 2563 ตามนโยบายของรัฐบาล , พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ , พล.ต.ท.อภิชาติ ศิริสิทธิ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 ที่ให้ความสำคัญ ในการอำนวยความสะดวกการจราจรให้แก่ประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวในต่างจังหวัดให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด และ มุ่งเน้นการลดการเกิดอุบัติเหตุการบาดเจ็บ การสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ในช่วง 7 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค.2563 ถึงวันที่ 4 ธ.ค.2564 อำนวยการสั่งการโดย พล.ต.ต.ไชยา สุนทรกิจ ผบก.ภ.จว.อุตรดิตถ์ เน้นในเรื่องของความปลอดภัยกับประชาชนเป็นหลักและในการป้องกันอาชญากรรม พร้อมสั่งกำชับเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) และ มาตรการด้านความปลอดภัยทางถนนอย่างเคร่งครัด ซึ่ง พ.ต.อ.นนทวร สีอินทร์ ผกก.สภ.เมืองอุตรดิตถ์ กล่าวว่า เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจร ตำรวจ สภ.เมืองอุตรดิตถ์ จึงได้นำ “ร.ต.ต.เฉย อุตรดิตถ์ ” สวมแมสไปติดตั้งตามจุดเสี่ยงจุดแรกบริเวณสี่แยกโรงเรียนอุตรดิตถ์(เขตเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์) ส่วนจุดที่สอง ที่บริเวณสี่แยกบ้านเกาะก่อนทางข้ามรถไฟเมืองอุตรดิตถ์ เพื่อเป็นการเตือนผู้ที่ใช้รถใช้ถนนช่วยลดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสียบนท้องถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 พร้อมทำป้ายเตือนทุกแยกในถนนสายหลักและ สายรอง โดย ร.ต.ต.เฉย อุตรดิตถ์ จะยืนเด่นตระหง่านอยู่ทั่วไปตามถนนหนทาง สำหรับ ร.ต.ต.เฉย อุตรดิตถ์ สร้างคุณงามความดีมาตลอดเวลา กลายเป็นที่รู้จักของผู้คน จนชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว ได้รับความดีความชอบ ปฏิบัติการดีเยี่ยม ทนแดด ทนฝน ไม่เคยปริปากบ่น จนได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งจาก “จ่าเฉย” เป็น “ร.ต.ต.เฉย ” และ จะเลื่อนชั้นยศเป็น ร.ต.ท.เฉยอุตรดิตถ์ ในเดือนเมษายน 2564 นอกจากนี้ สภ.เมืองอุตรดิตถ์ ได้ติดไฟกะพริบไว้ที่ตัวหมวดเฉย นำไปวางไว้ในจุดเสี่ยงอีกด้วย เชื่อว่าประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนคงต้องคุ้นหน้าคุ้นตาหุ่นตำรวจนี้เป็นอย่างดี เพราะจ่าเฉยถูกตั้งอยู่ในหลายแยกทั่วประเทศไทย ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าการมีหุ่นจ่าเฉย หรือ หมวดเฉย เป็นประโยชน์ และ การทำผิดกฎจราจรก็น้อยลง อย่างไรก็ตาม หากพบอุบัติเหตุ สามารถโทรแจ้งได้ที่ สภ.เมืองอุตรดิตถ์ โทร.0-5541-1038 หรือโทรที่ 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ” พ.ต.อ.นนทวร กล่าว[8]

จังหวัดอ่างทอง

[แก้]

จังหวัดอ่างทอง จะใช้ในรูปนวัตกรรม หมวดเฉย ออนิว หรือหมวดไม่เฉย

ผบก.อ่างทอง พัฒนา "จ่าเฉย V.2" กลายเป็น "หมวดไม่เฉย" เพิ่มศักยภาพตรวจจับเหตุอาชญากรรม พร้อมส่งสัญญาณไปที่ศูนย์ 191 ออกไล่ล่า หลังจากสร้างความฮือฮาด้วยการพัฒนา "จ่าเฉย" ให้สามารถขยับแขนโบกเมื่อมีรถหรือบุคคลเข้ามาในระยะของเซ็นเซอร์ ก่อนนำไปติดตั้งบริเวณจุดเสี่ยงจนสามารถลดปัญหาอุบัติเหตุลงได้ แต่ พล.ต.ต.ไพศาล พฤกษจำรูญ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอ่างทอง ยังคงไม่หยุดแนวคิดในการสร้างระบบความปลอดภัย ทั้งในเรื่องของอาชญากรรมและอุบัติเหตุบนท้องถนน ด้วยการต่อยอดพัฒนาจาก จ่าเฉย V.2 ด้วยการติดกล้อง AI และเชื่อมโยงระบบเข้ากับศูนย์ 191 อ่างทอง

ซึ่งนำมาทดลองติดตั้งบริเวณทางข้ามถนนด้านหน้าวิทยาลัยนาฎศิลปอ่างทอง เป็นจุดที่มีรถสัญจรไปมาพลุกพล่านและเป็นจุดเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และยังเป็นถนนที่เป็นเส้นทางสำคัญของจังหวัดอ่างทองที่มีศูนย์ราชการอยู่เป็นจำนวนมากอีกด้วย

น.ส.อนัญญา เสริมศรี อาจารย์ในวิทยาลัยนาฎศิลปอ่างทอง อายุ 39 ปี เปิดเผยว่า ดีใจที่มีการนำมาติดตั้งที่บริเวณด้านหน้าโรงเรียน เพราะทั้งในช่วงเช้า-เย็น มีเด็กนักเรียนและประช่าชนทั่วไปใช้ทางข้ามจุดนี้เป็นจำนวนมาก จ่าเฉยที่ขยับได้จะทำให้สะดุดตาผู้ที่ใช้รถผ่านไปมาทำชะลอกความเร็วมากขึ้น สร้างความปลอดภัยให้กับผู้ทางข้ามมากขึ้น

ด้าน พล.ต.ต.ไพศาล เปิดเผยว่า การพัฒนาจาก จ่าเฉย V.2 ที่ขยับแขนได้ เป็น "หมวดไม่เฉย" คือ นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ด้วยการติดกล้อง AI ไว้ที่ตัวหุ่น ซึ่งนอกจากเมื่อมีรถผ่านเข้ามาในระยะ หุ่นจะโบกสัญญาณไฟให้รถชะลอความเร็ว เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ทางข้ามถนนแล้ว กล้อง AI ตัวนี้ยังเชื่อมระบบกับศูนย์ 191 อ่างทองและระบบแอพพิเคชั่นตรวจสอบบุคคลตามหมายจับ รถยนต์ที่ต้องสงสัยหรือแจ้งหาย เมื่อจับภาพได้ก็จะส่งสัญญานไปที่ศูนย์ 191 ก่อนที่จะกระจายไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ ทำให้สามารถดำเนินการจับกุมหรือตรวจสอบได้ทันที

นอกจากนี้อนาคตยังจะพัฒนาระบบสารตรวจโดรน คือ เมื่อกล้องตรวจสอบได้ก็จะสั่งการไปที่โดรนให้บินติดตามรถต้องสงสัยทันที ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ การติดตั้งในช่วงนี้ นอกจากจะเป็นการทดสอบระบบแล้วยังจะช่วยในเรื่องของการดูแลความปลอดภัยผู้ใช้รถใช้ถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะมาถึงอีกด้วย ซึ่งในอนาคตข้างหน้าหากมีการพัฒนาจนเต็มระบบก็จะสามารถป้องกันอาชญากรรมและแก้ปัญหาเรื่องการจราจรได้อย่างเต็มที่[9]


ผู้กองเฉย

[แก้]

เปิดประวัติจากกรณีโลกสังคมออนไลน์ได้มีการพูดถึงเรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ของ "จ่าเฉย" หรือ ร้อยตำรวจเอกบุญยืน พิทักษ์บ้านค่าย รูปปั้นหุ่นเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่ง สภ.บ้านค่าย จ.ระยอง ได้นำมาตั้งไว้ที่บริเวณด้านหน้าสถานีตำรวจ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในขนาดนั้นได้มีชาวบ้านในพื้นที่พากันเลื่อนยศจาก ส.ต.ท. ให้เป็นถึง ร.ต.อ.หลังให้โชคลาภแก่ชาวบ้านในพื้นที่และประชาชนที่มาติดต่อราชการอย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในระดับชั้นผู้น้อย จนถึงนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ของ สภ.ดังกล่าวมาแล้วถ้วนหน้า

ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 ผู้สื่อข่าวได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อสอบถามถึงเรื่องราวดังกล่าว และพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และชาวบ้านที่เดินทางมาติดต่อราชการ ซึ่งพบว่าบรรยากาศบริเวณด้านหน้า สภ.บ้านค่าย คึกคักเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะที่บริเวณรูปปั้น ร.ต.อ.บุญยืน พิทักษ์บ้านค่าย (จ่าเฉย) มีพนักงานสาวบริษัทประกันแห่งหนึ่ง ประกอบด้วย น.ส.สุวรรณฤดี กลีบกลาง น.ส.สุนิสา ทองตอนปรวน และ น.ส.สุดารัตน์ กิ่งสกุล ที่พากันเดินทางมาบนบานกับผู้กองเฉย เพื่อขอให้พวกตนประสบความสำเร็จกับการสร้างยอดประกัน ซึ่งหากเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็จะนำสุรายี่ห้อหนึ่งมาแก้บน จำนวน 1 ลัง

น.ส.สุวรรณฤดี กลีบกลาง บอกว่า หลังทราบข่าวว่ามีคนมาบนบานเพื่อขอโชคลาภและความสำเร็จต่างๆ กับรูปปั้นผู้กองเฉย จนสมใจกันไปหลายราย ตนเองจึงอยากที่จะเข้ามาขอความสำเร็จจากผู้กองเฉยบ้าง โดยเป้าหมายที่ตั้งไว้คือการหายอดประกันชีวิตให้ได้คนละ 5 หมื่นบาท เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่บริษัทได้กำหนดไว้

ขณะที่ ร.ต.ท.สมศักดิ์ ปรารมภ์ รองสารวัตรปราบปราม สภ.บ้านค่าย เปิดเผยว่าตนเองก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้โชคลาภจากผู้กองเฉย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ตนเองได้เข้าเวรที่ สภ.และเห็นว่ารูปปั้นจ่าเฉย (ในขณะนั้น) มีสภาพทรุดโทรม และผุกร่อน จึงบอกกับจ่าเฉย ว่า หากถูกลอตเตอรี่จะทาสีรูปปั้นให้สวยงาม จากนั้นตนเองได้ซื้อลอตเตอรี่เลขท้าย 603 ซึ่งเป็นเลขทะเบียนรถจักรยานยนต์ของหลวงที่ใช้ขี่ปฏิบัติหน้าที่ และเมื่อผลการออกรางวัลเสร็จสิ้น ปรากฏว่า ถูกรางวัลเลขท้าย 3 ตัวถึง 11 ใบ จึงทำให้มีเงินในการปรับปรุงรูปปั้นจ่าเฉย

“หลังจากนั้นผมได้ตั้งชื่อใหม่ให้จ่าเฉย เป็น บุญยืน พิทักษ์บ้านค่าย และจากเดิมที่จ่าเฉยมียศแค่ ส.ต.ท. ผมก็เพิ่มยศให้เป็น ส.ต.อ. ซึ่งเป็นการตั้งชื่อและเพิ่มยศให้โดยส่วนตัวเองไม่เกี่ยวกับหน่วยงานราชการ จากนั้นก็ถูกลอตเตอรี่อีกหลายหมื่นบาท ก็เลยเลื่อนยศให้เป็น จ.ส.ต. ไม่เพียงเท่านั้น ผกก.สภ.บ้านค่ายในสมัยนั้น ก็ถูกลอตเตอรี่อีกก็เลยเลื่อนยศให้เป็นนายดาบตำรวจ และเลื่อนยศกันเองเรื่อยมาจนถึง ร.ต.อ.ในปัจจุบัน”

ร.ต.ท.สมศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านค่าย อีกหลายรายที่ถูกลอตเตอรี่และได้โชคลาภจาก ร.ต.อ.เฉย อย่างต่อเนื่อง เพียงแค่ทุกคนเข้ามาจับขา ร.ต.อ.เฉย ก่อนกล่าวคำบนบานก็ประสบผลสำเร็จได้ และเมื่อเรื่องรู้ถึงหูชาวบ้านก็พากันเข้ามาบนบานกันเป็นจำนวนมาก ทั้งเรื่องการขอโชคลาภ และบนบานให้คดีความต่างๆ ประสบผลสำเร็จ

“ก่อนหน้านี้ก็มีอดีตนายตำรวจระดับผู้กองของ สภ.บ้านค่าย ที่ถูกย้ายไปอยู่ จ.ชลบุรี ก็มาบนบาน ร.ต.อ.เฉย เพื่อขอให้ย้ายกลับมาที่ จ.ระยอง สุดท้ายก็ได้ย้ายกลับมาจริงๆ ก็เลยทำให้ยศของจ่าเฉย ขยับมาถึง ร.ต.อ.ในปัจจุบัน และนายตำรวจท่านนี้ยังได้นำเสาวิทยุสื่อสาร (เสายาง) มาเปลี่ยนให้ ร.ต.อ.เฉย เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการสื่อสารอีกด้วย" ร.ต.ท.สมศักดิ์ กล่าว [10]

สารวัตรเฉย

[แก้]

บก.จร. เลื่อนยศจ่าเฉย อัปเกรดเป็นสารวัตรเฉย AI โดยใช้กล้องวงจรปิด AI ยืนตรวจจับการกระทำผิดบนถนนแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนส่งข้อมูลไปศูนย์ปฏิบัติการเพื่อออกใบสั่งได้ทันที

โดย “สารวัตรเฉย” หรือ “พ.ต.ต.เฉย ปัญญาประดิษฐ์” ที่ออกปฏิบัติหน้าที่ตรวจจับรถที่กระทำความผิดตามท้องถนน โดยสารวัตรเฉยเริ่มออกปฏิบัติการครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.อยู่ที่บริเวณตรงถนนราชดำริ สร้างความตื่นเต้นให้กับประชาชนที่สัญจรไปมา เพราะภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไปของสารวัตรเฉย

พ.ต.ท.ทศพร กลีบแก้ว รอง ผกก.2 บก.จร. ระบุว่า หลังจากที่จ่าเฉย ยืนเฉยมานาน ล่าสุดได้พัฒนาใช้ระบบเอไอ และเลื่อนยศขึ้นมาเป็นสารวัตรเฉย โดยมีโมเดลจากตนเอง มีความสูง 180 เซนติเมตร ถ้ารวมฐานจะมีความสูงประมาณ 200 เซนติเมตร ทำหน้าที่หลักในการตรวจจับ 4 กรณี คือ จอดในที่ห้ามจอด, กีดขวางการจราจร, ไม่สวมหมอกกันน็อก, ขับรถย้อนศร และตรวจสอบอุบัติเหตุหรืออาชญากรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามท้องถนนได้

โดยจุดเริ่มต้นมาจากกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เพียงพอ และการจะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปยืนปฎิบัติงานทั้งวัน ก็ไม่สามารถที่จะทำได้ จึงได้นำโมเดลเดิมที่เป็นจ่าเฉยยืนนิ่งมาพัฒนา ใช้เวลาประมาณ 1 ปี จนปรับให้เป็นสารวัตรเฉยที่ใช้งานด้วยระบบเอไอ ในตัวสารวัตรเฉย จะประกอบไปด้วยกล้องวงจรปิดเอไอ แบตเตอรีขนาดใหญ่ ตัวส่งสัญญาณมือถือ ส่งข้อมูลทั้งหมดไปที่ศูนย์ควบคุมที่กองบังคับการตำรวจจราจร (บก. จร.)

โดยสารวัตรเฉย ทำได้เพียงยืนมองตรงไปข้างหน้า ไม่สามารถหันซ้ายหรือขวาได้ จึงสามารถเก็บภาพที่มุมประมาณ 45 องศา เป็นกล้องความละเอียดสูง สามารถจับภาพใบหน้าคน รวมถึงทะเบียนรถต่างๆ ได้อย่างชัดเจน / ใช้งานได้ต่อครั้งประมาณ 3-4 ชั่วโมง การเก็บภาพหรือข้อมูลจะส่งไปที่กองบังคับการตำรวจจราจร ดังนั้นสารวัตรเฉยจะสามารถเก็บภาพไว้ได้เรื่อยๆ นอกจากนี้ สารวัตรเฉยไม่ได้ยืนอยู่นิ่งๆ จุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น แต่ยังจะขึ้นไปอยู่บนรถตำรวจ และขับตระเวนเพื่อคอยตรวจจับผู้ที่กระทำความผิดตามท้องถนน

เมื่อสารวัตรเฉยสามารถตรวจจับได้ว่ารถคันไหนกระทำความผิด ก็จะส่งข้อมูลไปยังศูนย์เก็บข้อมูลที่กองบังคับการตำรวจจราจร จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเช็คความถูกต้องอีกครั้ง เช่น ในเรื่องของทะเบียนรถ ว่าถูกต้องหรือไม่ ก่อนที่จะส่งใบสั่งอัตโนมัติไปบ้านของผู้กระทำความผิด ซึ่งหลังจากนี้จะทดลองใช้ไปในระยะหนึ่ง หากใช้งานได้ดีก็จะขยายโมเดลสารวัตรเฉยให้มากขึ้นและตรวจตราตามจุดต่างๆ มากยิ่งขึ้น[11]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. "ปลด! 'จ่าเฉย' - ลอกฟิล์มดำ แก้ตร.จริงขี้เกียจ"; 2552, 18 ธันวาคม : ออนไลน์.
  2. "ตร.เข้มปีใหม่เด้ง 'จ่าเฉย' กรุไม่ช่วยการจราจร ตั้งเป้าตายลด 5%"
  3. "บชน.สั่งเก็บ 'จ่าเฉย'"; 2552, 17 ธันวาคม : ออนไลน์.
  4. "ปลด! 'จ่าเฉย' - ลอกฟิล์มดำ แก้ตร.จริงขี้เกียจ"; 2552, 18 ธันวาคม : ออนไลน์.
  5. "ขอเรียกร้องความเป็นธรรมให้ 'จ่าเฉย'"; 2552, 17 ธันวาคม : ออนไลน์.
  6. "นายใหม่!! สั่งอุ้ม 'จ่าเฉย' เข้ากรุ เสียแล้ว"; 2552, 18 ธันวาคม : ออนไลน์.
  7. "ผกก.สภ.เมืองอุตรดิตถ์ เลื่อนยศ "จ่าเฉย ทนได้" ขึ้นเป็น "หมวดเฉย" รับปีใหม่". mgronline.com. 2019-12-27.
  8. "ไอเดียสุดเจ๋ง ! นำ "หมวดเฉยอุตรดิตถ์" ติดไฟกะพริบตั้งตามจุดเสี่ยงรอบเมืองช่วยลดอุบัติเหตุช่วงปีใหม่ 2564". สยามรัฐ. 2021-01-02.
  9. thanada_cha@nationgroup.com (2024-12-18). "สุดเจ๋ง จาก "จ่าเฉย" เป็น "หมวดไม่เฉย" ด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ ติดกล้อง AI". www.komchadluek.net.
  10. เปิดประวัติไม่ธรรมดาหุ่นปั้น "จ่าเฉย" หน้าโรงพักบ้านค่าย สู่ ร.ต.อ.บุญยืน พิทักษ์บ้านค่าย เผยแพร่: 29 พ.ค. 2562 โดย: ผู้จัดการออนไลน์
  11. เรื่องเล่าเช้านี้ (2024-12-26), จาก 'จ่าเฉย' วันนั้น สู่ 'สารวัตรเฉย' วันนี้! 'สรยุทธ' แนะเพิ่มออปชั่น ส่ายหัวได้แบบ 'โกโกวา', สืบค้นเมื่อ 2024-12-27

อ้างอิง

[แก้]
  • "จ่าเฉยคืนชีพแล้ว ได้ย้ายสังกัดใหม่". (2553, 2 ตุลาคม). ไทยรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < ลิงก์>.(เข้าถึงเมื่อ: 2 ตุลาคม 2553)
  • "เก็บจ่าเฉย". (2552, 18 ธันวาคม). ไทยรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 19 ธันวาคม 2552).
  • "ขอเรียกร้องความเป็นธรรมให้ 'จ่าเฉย'". (2552, 17 ธันวาคม). พันทิป. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 19 ธันวาคม 2552).
  • "'จ่าเฉย' หุ่นจราจร ถูกเด้งออกจากถนนแล้ว". (2552, 18 ธันวาคม). เดลินิวส์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 19 ธันวาคม 2552).
  • "เด้งเข้ากรุ-จ่าเฉย หุ่นตร. คนไม่กลัว-แค่ขำ! ใช้ตร.จริงยืนแทน". (2552, 18 ธันวาคม). ข่าวสด. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < ลิงก์ เก็บถาวร 2009-12-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 19 ธันวาคม 2552).
  • "ตร.เข้มปีใหม่เด้ง 'จ่าเฉย' กรุไม่ช่วยการจราจร ตั้งเป้าตายลด 5%". (2552, 18 ธันวาคม). หนังสือพิมพ์บ้านเมือง. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 19 ธันวาคม 2552).
  • "'นครบาล' เด้ง 'จ่าเฉย' เข้ากรุ ไม่ช่วยแก้รถติด." (2552, 18 ธันวาคม). เอเชียนไทยนิวส์เน็ตเวิร์ก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 19 ธันวาคม 2552).
  • "นายใหม่!! สั่งอุ้ม 'จ่าเฉย' เข้ากรุ เสียแล้ว". (2552, 18 ธันวาคม). ครูบ้านนอก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 19 ธันวาคม 2552).
  • "บชน.สั่งเก็บ 'จ่าเฉย'". (2552, 17 ธันวาคม). โพสต์ทูเดย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 19 ธันวาคม 2552).
  • "ปลด! 'จ่าเฉย' - ลอกฟิล์มดำ แก้ตร.จริงขี้เกียจ". (2552, 18 ธันวาคม). เนชั่นชาแนล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 19 ธันวาคม 2552).
  • "'สัณฐานสั่งเด้ง 'จ่าเฉย' เก็บเข้ากรุ". (2552, 18 ธันวาคม). เดลินิวส์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 19 ธันวาคม 2552).