งูกรีนแมมบาตะวันออก
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
งูกรีนแมมบาตะวันออก | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ไฟลัมย่อย: | Vertebrata |
ชั้น: | Reptilia |
อันดับ: | Squamata |
อันดับย่อย: | Serpentes |
วงศ์: | Elapidae |
วงศ์ย่อย: | Elapinae |
สกุล: | Dendroaspis |
สปีชีส์: | D. angusticeps |
ชื่อทวินาม | |
Dendroaspis angusticeps (A. Smith, 1849)[1] | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ |
งูกรีนแมมบาตะวันออก (อังกฤษ: Eastern green mamba, ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendroaspis angusticeps) เป็นงูขนาดกลางถึงใหญ่ในวงศ์งูพิษเขี้ยวหน้า (Elapidae) มีพิษร้ายแรง มีถิ่นกำเนิดในชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกาใต้ไปจนถึงแทบทุกพื้นที่ของแอฟริกาตะวันออก
ลักษณะและพฤติกรรม
[แก้]งูกรีนแมมบาตะวันออกมีสีเขียวเป็นมันวาวในทุกส่วนของร่างกาย ท้องมีสีเขียวอ่อนแกมเหลือง งูชนิดนี้จัดเป็นงูในสกุลงูแมมบา (Dendroaspis spp.) ที่มีขนาดเล็กที่สุด มีความยาวโดยเฉลี่ย 1.4 เมตร[2][3] สามารถยาวได้สูงสุด 2.4 เมตร[4][5] ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย[6] งูกรีนแมมบาตะวันออกมีเขี้ยวพิษคู่หน้าขนาดใหญ่ ฟันแข็ง เกล็ดมีขนาดเล็ก เรียบลื่น แต่เกล็ดมีหัวมีขนาดใหญ่เห็นได้ชัดเจน หัวยาวเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก หางผอมยาว ตามีขนาดกลาง รูม่านตากลม [2]
งูกรีนแมมบาตะวันออก เป็นงูที่อาศัยและหากินบนต้นไม้เป็นหลัก บางครั้งจะลงมาสู่พื้นเพื่ออาบแดดหรือหาอาหารบ้าง เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ งูตัวเมียจะปล่อยฟีโรโมนออกมาเพื่อดึงดูดงูตัวผู้ งูตัวผู้จะต่อสู้แย่งชิงตัวเมียกันบนพื้นดิน ซึ่งบางครั้งอาจใช้เวลาหลายชั่วโมง ตัวที่ชนะจะได้ผสมพันธุ์กับตัวเมียบนต้นไม้ ตัวเมียจะวางไข่ ประมาณ 10-15 ฟอง วางไข่ในโพรงไม้หรือซากพืชที่เน่าเปื่อย หลังจากนั้น 3 เดือน ไข่จะฟัก โดยลูกงูจะมีขนาด 35-45 เซนติเมตร งูกรีนแมมบาตะวันออกเมื่อฟักออกจากไข่มีสีเหลืองแกมเขียว มีอายุยืนยาวถึง 15-25 ปี [7]
งูกรีนแมมบาตะวันออก เมื่อเทียบกับงูแบล็คแมมบา (D. polylepis) ซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกันแล้ว นับว่ามีอันตรายน้อยกว่ามาก ด้วยว่าเป็นงูที่ไม่ดุร้ายก้าวร้าวเท่า และอาศัยอยู่บนต้นไม้เป็นหลัก จึงมักไม่ค่อยได้มีโอกาสปะทะกับมนุษย์มากเท่า อีกทั้งยังเป็นงูที่มีนิสัยขี้ตื่น ขี้ตกใจ และเมื่อตกใจจะเลื้อยหนีขึ้นต้นไม้ที่อยู่ใกล้ที่สุดก่อน ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ผิดกับงูแบล็คแมมบาโดยสิ้นเชิง[8]
ได้มีการศึกษาผลของพิษจากงูชนิดนี้ในหนูที่ถูกทำให้สลบ โดยมีการวัดค่าความดันโลหิต อัตราการหายใจและ ECG (คลื่นไฟฟ้าหัวใจ) ก่อนทำการทดลอง หลังจากนั้นฉีดพิษในปริมาณ 1 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักหนู 1 กิโลกรัม พบว่าภายในไม่กี่นาทีอัตราการหายใจลดลงอย่างเห็นได้ชัด และหยุดหายใจภายใน 15 นาที นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราการเต้นและแรงบีบตัวของหัวใจลดลง และยังพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงสับไปมาของความดันโลหิตอีกด้วย ทั้งนี้การใช้เครื่องช่วยหายใจสามารถช่วยลดการเปลี่ยนแปลงของระบบหมุนเวียนโลหิตได้
การใช้ยา Atropine ปริมาณสูงสามารถป้องกันระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้ และสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญ [10]
ในประเทศไทย
[แก้]งูกรีนแมมบาตะวันออก (รวมทั้งงูกรีนแมมบาตะวันตก (D. viridis)) เคยตกเป็นข่าวครึกโคมอยู่ช่วงหนึ่งในประเทศไทย ในเหตุการณ์มหาอุทกภัยปลายปี พ.ศ. 2554 เมื่อมีข่าวลือทางอินเทอร์เน็ตว่าได้มีผู้นำเข้างูทั้ง 2 ชนิดนี้มาเลี้ยงในประเทศไทย และหลุดรอดออกไปเมื่อเกิดน้ำท่วม โดยข่าวว่าหลุดออกจากย่านบางบัวทอง[11]
ซึ่งในบทความในนิตยสารสัตว์เลี้ยงฉบับหนึ่ง ได้มีผู้เชี่ยวชาญและนิยมการเลี้ยงงูเป็นสัตว์เลี้ยงได้เขียนถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงูทั้ง 2 ชนิดนี้ในประเทศไทยว่า ครั้งหนึ่งเคยมีการนำเข้ามาจริง แต่ทว่างูชุดนั้นได้ตายหมดเพราะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยได้ อีกทั้งอุปสงค์ของงูกรีนแมมบ้าทั้ง 2 ชนิด ในประเทศไทยก็ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากยังมีงูชนิดอื่นที่มีสีสันและลักษณะคล้ายกัน แต่ว่ามีอันตรายน้อยกว่า ซึ่งได้มีการเลี้ยงกันมาอย่างยาวนานแล้ว ประกอบกับเมื่อเหตุการณ์ผ่านมาแล้วระยะหนึ่ง ก็ยังไม่มีผู้ใดจับงูกรีนแมมบาได้จริง ดังนั้น จึงเชื่อว่าข่าวเรื่องงูกรีนแมมบาที่หลุดออกมานั้น เป็นเพียงการปล่อยข่าวเท่านั้น[8]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Reptile Database. www.reptile-database.org.
- ↑ 2.0 2.1 Zug, George R. (1996). Snakes in Question: The Smithsonian Answer Book. Washington D.C., USA: Smithsonian Institution Scholarly Press. ISBN 1560986484.
- ↑ WhoZoo.org - Eastern green mamba
- ↑ http://www.toxinology.com/fusebox.cfm fuseaction=main.snakes.display&id=SN0168 WCH Clinical Toxinology Resources (Dendroaspis angusticeps)
- ↑ WHO - Guidelines for the Prevention and Clinical Management of Snakebite in Africa
- ↑ Eastern green mamba (Dendroaspis angusticeps) Info
- ↑ งูกรีนแมมบ้า หรือ งูเขียวแมมบ้า หลุด เตือนอันตรายถึงชีวิต อย่าเข้าใกล้ต้นไม้ ย่านปากเกร็ด
- ↑ 8.0 8.1 Chelonian, วิเคราะห์ประเด็น "กรีนแมมบ้า" หรือ "เกรียนแมมบ้า" อ่านเนื้อหาให้จบ แล้วฟันธง หน้า 144-155 จากนิตยสาร AquariumBiz ฉบับที่ 18 ปีที่ 2: ธันวาคม 2011
- ↑ Lee, CY.; Chen, YM; Joubert, FJ (1986). "A study on the cause of death produced by angusticeps-type toxin F7 isolated from eastern green mamba venom". Toxicon. 24 (1): 665–7. PMID 3952763.
- ↑ Lee, CY.; Chen, YM; Joubert, FJ (1982). "Protection by atropine against synergistic lethal effects of the Angusticeps-type toxin F7 from eastern green mamba venom and toxin I from black mamba venom". Toxicon. 20 (3): 33–40. PMID 6985564.
- ↑ [https://web.archive.org/web/20111221101929/http://news.mthai.com/general-news/138831.html เก็บถาวร 2011-12-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน งูกรีนแมมบ้า (Green mamba) จากเอ็มไทย]
- Smith, A. 1849. Illustrations of the zoology of South Africa. Reptilia. Smith, Elder & Co. London.