งูแมมบา
งูแมมบา | |
---|---|
ส่วนหัวของงูแบล็คแมมบา (D. polylepis) เป็นชนิดที่ใหญ่ที่สุดในสกุลนี้ | |
งูกรีนแมมบาตะวันตก (D. viridis) ตัวผู้ (บน), ตัวเมีย (ล่าง) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ไฟลัมย่อย: | Vertebrata |
ชั้น: | Reptilia |
อันดับ: | Squamata |
อันดับย่อย: | Serpentes |
วงศ์: | Elapidae |
วงศ์ย่อย: | Elapinae |
สกุล: | Dendroaspis Schlegel, 1848 [1] |
ชนิด | |
| |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของงูแมมบาทั้ง 4 ชนิด |
งูแมมบา (อังกฤษ: Mambas) เป็นงูพิษร้ายแรงมากสกุลหนึ่ง ใช้ชื่อสกุลว่า Dendroaspis จัดอยู่ในวงศ์งูพิษเขี้ยวหน้า (Elapidae) มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา
งูในสกุลงูแมมบานั้น เป็นงูที่มีลำตัวเรียวยาว มีส่วนหัวขนาดเล็ก มีตากลมโต มีขนาดความยาวโดยเฉลี่ยประมาณ 1.5-2 เมตร พบใหญ่ที่สุดได้ถึง 4 เมตร และเป็นงูที่มีความว่องไวมาก สามารถเลื้อยคลานได้เร็วถึง 12-20 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนพื้นดิน จนถูกจัดให้เป็นงูที่เลื้อยไวที่สุดบนโลกมาแล้ว[2]
งูแมมบานั้น จะมีสีเดียวตลอดทั้งลำตัว โดยจะมีทั้งสีน้ำตาล, สีเขียว หรือเหลือบสีต่าง ๆ บนเกล็ด รวมถึงสีขาวอมเทาหรือเทาตุ่น ๆ ด้วย ในบางชนิด มีเกล็ดเรียบลื่น เกล็ดบนหัวมีขนาดใหญ่ มุมปากยาว ดวงตามีขนาดกลมโต มีความแตกต่างกันมากระหว่างเพศ โดยงูตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย เป็นงูที่ขยายพันธุ์ด้วยการวางไข่ ดำรงชีวิตทั้งบนต้นไม้และพื้นดิน กินอาหารได้แก่ สัตว์ขนาดเล็กต่าง ๆ รวมทั้งงูด้วยกันเองด้วย
งูแมมบานั้นได้ถูกอนุกรมวิธานออกเป็นชนิดได้ 4 ชนิด คือ [1]
- งูกรีนแมมบาตะวันออก (Dendroaspis angusticeps) พบในแอฟริกาตอนใต้ทางทิศตะวันออก จัดเป็นงูในสกุลนี้ที่มีขนาดเล็กที่สุด และเป็นชนิดต้นแบบ
- งูแมมบาเจมส์สัน (Dendroaspis jamesoni) พบในแอฟริกาตอนกลาง มี 2 ชนิดย่อย
- งูแบล็คแมมบา (Dendroaspis polylepis) เป็นชนิดที่มีขนาดใหญ่และยาวที่สุด รวมทั้งมีอุปนิสัยก้าวร้าวมากที่สุด พบในแอฟริกากลางและตะวันออก
- งูกรีนแมมบาตะวันตก (Dendroaspis viridis) มีลักษณะคล้ายกับงูกรีนแมมบาตะวันออก แต่มีสีที่แตกต่างออกไป และมีความยาวกว่า พบในแอฟริกาตะวันตก และพบในพื้นที่ ๆ จำกัดกว่า
โดยงูแมมบาทุกชนิดนั้น เป็นงูที่มีพิษร้ายแรงมาก สามารถฆ่ามนุษย์ให้เสียชีวิตได้ ในเวลาเพียงไม่กี่นาที โดยมีผลต่อระบบประสาท ผู้ที่ถูกกัดจะเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย จนได้ชื่อว่า "แมมบา" อันหมายถึง "โลงศพ" เพราะมีส่วนหัวที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก ได้ชื่อว่าเป็นงูที่อันตรายที่สุดในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะในงูแบล็คแมมบาที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และอาศัยหากินบนพื้นดิน ไม่ขึ้นไปบนต้นไม้ ที่สำคัญมีอุปนิสัยดุร้ายก้าวร้าว ไม่เกรงกลัวมนุษย์เหมือนงูชนิดอื่น ๆ อีกทั้งยังสามารถฉกกัดได้ด้วยความรวดเร็วและฉกในมุมที่ไม่มีงูสกุลใดทำได้ด้วย เนื่องจากกระดูกพาลาทีนไม่มีก้านกระดูกโคเอนัล ซ้ำยังสามารถฉกได้ไกลและสูงกว่า 2 เมตรอีกด้วย และสามารถแผ่แม่เบี้ยหรือพังพานได้ แม้จะไม่ใหญ่เท่าของงูเห่า (Naja spp.) และงูจงอาง (Ophiophagus hannah) ที่ถูกวงศ์เดียวกันก็ตาม[3] [4]
นอกจากนี้เล้ว มีการวิจัยพบว่า พิษของงูแมมบานั้น โดยเฉพาะงูแบล็คแมมบา มีสารระงับความเจ็บปวดเหมือนกับมอร์ฟีน แต่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า [5]
โดยที่คำว่า Dendroaspis ที่ใช้เป็นชื่อสกุลนั้น หมายถึง "งูต้นไม้"[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Dendroaspis". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ. สืบค้นเมื่อ 30 October 2012.
- ↑ "BLACK MAMBA SNAKE (อังกฤษ)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-04. สืบค้นเมื่อ 2011-12-29.
- ↑ วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก หน้า 412-413 (พ.ศ. 2552) ISBN 978-616-556-016-0
- ↑ Chelonian, วิเคราะห์ประเด็น "กรีนแมมบ้า" หรือ "เกรียนแมมบ้า" อ่านเนื้อหาให้จบ แล้วฟันธง หน้า 144-155 จากนิตยสาร AquariumBiz ฉบับที่ 18 ปีที่ 2: ธันวาคม 2011
- ↑ [https://web.archive.org/web/20121030153555/http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000122035 เก็บถาวร 2012-10-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน พิษ “งูแมมบ้า” เลิศกว่ามอร์ฟีน ผลข้างเคียงน้อยกว่า จากผู้จัดการออนไลน์]
- ↑ "Black Mamba (Dendroaspis polylepis) (อังกฤษ)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-23. สืบค้นเมื่อ 2011-12-29.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Dendroaspis ที่วิกิสปีชีส์