งูแบล็กแมมบา
งูแบล็กแมมบา | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ไฟลัมย่อย: | Vertebrata |
ชั้น: | Reptilia |
อันดับ: | Squamata |
อันดับย่อย: | Serpentes |
วงศ์: | Elapidae |
สกุล: | Dendroaspis |
สปีชีส์: | D. polylepis |
ชื่อทวินาม | |
Dendroaspis polylepis (Günther, 1864)[2] | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของงูแบล็กแมมบา (สีแดงหมายถึง ที่ที่มีอยู่แน่นอน, สีเขียวหมายถึง ไม่แน่ชัดว่ามีหรือไม่) |
งูแบล็กแมมบา (อังกฤษ: Black mamba, Common black mamba, Black-mouthed mamba) งูพิษร้ายแรงมากชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dendroaspis polylepis อยู่ในวงศ์งูพิษเขี้ยวหน้า (Elapidae) พบกระจายพันธุ์ในทวีปแอฟริกา ในแถบตอนใต้และตอนกลาง
งูแบล็กแมมบา มีรูปร่างเพรียวยาว มีลำตัวสีน้ำตาลเทา ท้องมีสีเทาขาวจนไปถึงสีเหลืองหรือเขียว เส้นขอบปากมีสีน้ำตาลดำ คอแบน ภายในปากสีดำสนิท มีต่อมพิษขนาดใหญ่ ตากลมโตขนาดใหญ่ มีความยาวโดยเฉลี่ยประมาณ 2 เมตร แต่มีขนาดยาวเต็มที่เกือบ 4 เมตร
งูแบล็กแมมบาเป็นงูที่มักไม่ขึ้นต้นไม้ แต่จะหากินและอาศัยบนพื้นเป็นหลัก เป็นงูที่เลื้อยคลานได้ไวมาก โดยสามารถเลื้อยได้ไวถึง 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง จึงถูกจัดให้เป็นงูที่ไวที่สุดในโลก
นอกจากนี้แล้ว งูแบล็กแมมบายังได้ถูกจัดให้เป็นงูที่อันตรายและเป็นงูพิษที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา ด้วยความเป็นงูที่หากินบนพื้นเป็นหลัก คล่องแคล่วว่องไว อีกทั้งยังเป็นงูที่ไม่กลัวมนุษย์ มีอุปนิสัยดุร้ายก้าวร้าว เมื่อปะทะกับมนุษย์ซึ่ง ๆ หน้า จะไม่หลบหนีเหมือนงูชนิดอื่น ๆ
โดยคำว่า "แมมบา" นั้น หมายถึง "โลงศพ" เนื่องจากมีส่วนหัวแลดูคล้ายโลงศพของชาวตะวันตก ซึ่งชื่อนี้มีนัยถึงถึง "ความตายที่มาเยือน"[3]
งูแบล็กแมมบา ใช้พิษในการหากินโดยใช้กัดเหยื่อให้ตาย แล้วจึงกลืนเข้าไปทั้งตัว ซึ่งได้แก่ กระต่าย, นก, ค้างคาว และสัตว์ฟันแทะ รวมถึงกบหรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำทั่วไป และยังกินงูด้วยกันเป็นอาหารได้อีกด้วย มีพฤติกรรมออกหากินในเวลากลางวัน
พิษของงูแบล็กแมมบานั้นถือว่าร้ายแรงมาก ถูกจัดให้เป็นงูที่มีพิษอันตรายมากที่สุดติด 1 ใน 10 อันดับของโลก[4] ก่อนหน้าที่จะมีการพัฒนาเซรุ่มแก้พิษนั้น ผู้ที่โดนกัดจะถึงแก่ความตายทั้งหมด โดยการกัดครั้งหนึ่งจะปล่อยพิษออกมาประมาณ 100-250 มิลลิกรัม มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ผู้ที่ถูกกัดจะเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวในเวลาเพียง 20 นาที แต่โดยเฉลี่ยคือ 2-4 ชั่วโมง จากความล่าช้าของการรักษา
งูแบล็กแมมบาสามารถที่จะฉกกัดได้อย่างว่องไว และสามารถขู่ แผ่แม่เบี้ย และชูหัวได้เหมือนกับงูเห่า (Naja spp.) หรืองูจงอาง (Ophiophagus hannah) ซึ่งอยู่ร่วมวงศ์กัน แม้จะไม่ใหญ่เท่า แต่ก็สามารถฉกและชูหัวได้สูงถึง 2 เมตร[5][6][7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Spawls, S. (2009). "Dendroaspis polylepis". IUCN Red List of Threatened Species. Version 3.1. สืบค้นเมื่อ 13 December 2013.
- ↑ จาก ITIS.gov (อังกฤษ)
- ↑ Chelonian, วิเคราะห์ประเด็น "กรีนแมมบ้า" หรือ "เกรียนแมมบ้า" อ่านเนื้อหาให้จบ แล้วฟันธง หน้า 144-155 จากนิตยสาร AquariumBiz ฉบับที่ 18 ปีที่ 2: ธันวาคม 2011
- ↑ Zug, George R. (1996). Snakes in Question: The Smithsonian Answer Book. Washington D.C., USA: Smithsonian Institution Scholarly Press. ISBN 1-56098-648-4.
- ↑ "Black Mamba Fact File (อังกฤษ)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-23. สืบค้นเมื่อ 2011-12-28.
- ↑ ["Black Mamba (ไทย)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-06. สืบค้นเมื่อ 2011-12-28. Black Mamba (ไทย)]
- ↑ Marais, Johan (1985). Snake versus man: A guide to dangerous and common harmless snakes of southern Africa. Braamfontein, Johannesburg (South Africa): Macmillan South Africa. ISBN 0-86954-267-2.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์งูแบล็กแมมบา (อังกฤษ) เก็บถาวร 2012-01-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Dendroaspis polylepis ที่วิกิสปีชีส์