ข้ามไปเนื้อหา

คลองแสนแสบ

พิกัด: 13°44′57.878″N 100°32′25.035″E / 13.74941056°N 100.54028750°E / 13.74941056; 100.54028750
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก คลองบางขนาก)
เรือด่วนคลองแสนแสบช่วงถัดจากสะพานหัวช้าง
คลองแสบแสบที่ตัดผ่านสวนปทุมวนานุรักษ์และห้างสรรพสินค้าแพลตตินัม ใกล้กับท่าเรือประตูน้ำ
ป้ายชื่อคลองแสนแสบ

คลองแสนแสบ เป็นคลองที่ขุดขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกงเข้าด้วยกัน ซึ่งมีการใช้ส่วนหนึ่งของคลองสำหรับการขนส่งสาธารณะโดยเรือด่วนที่กรุงเทพ คลองนี้มีความยาว 72 กิโลเมตรไหลผ่าน 21 เขต และเชื่อมคลองสายย่อยกว่า 100 แห่ง[1][2]

คลองแสนแสบช่วงที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานครและช่วงที่อยู่นอกเขตกรุงเทพมหานคร อยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน ส่วนกรมเจ้าท่าจะดูแลในส่วนของยานพาหนะที่สัญจรในคลองแสนแสบ[3]

ชื่อ

[แก้]

แสนแสบ

[แก้]

ที่มาของชื่อคลองแสนแสบนั้น มีข้อสันนิษฐานดังนี้[4]

  1. ว่ากันว่าชื่อคลองที่เรียกว่า "แสนแสบ" นั้นเพราะยุงชุม โดยมีหลักฐานจากบันทึกการเดินทางของนักสำรวจชาวอังกฤษชื่อนาย ดี.โอ. คิง ความว่า "...คลองนี้ยาวถึง 55 ไมล์ เชื่อมนครกรุงเทพฯ กับแม่น้ำบางปะกง บริเวณที่ราบชนบท... คนพื้นเมืองเป็นคนเชื้อสายมาเลย์... ไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรอยู่ก็ตาม มือข้างหนึ่งจะต้องใช้ปัดยุงเสมอ ..."
  2. "แสนแสบ" อาจเพี้ยนมาจากคำที่ยืมมาจากภาษาเขมรว่า แสสาบ เพราะในสมัยหนึ่งคนไทยเคยเรียกทะเลว่า เส หรือ แส ส่วนคำว่า สาบ เป็นภาษาเขมรแปลว่า "จืด" คำนี้คนไทยยืมมาใช้เรียกทะเลน้ำจืดว่า "ทะเลสาบ" อย่างที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น แสสาบ หรือที่แปลว่าทะเลน้ำจืด อาจถูกนำมาใช้เรียกคลองน้ำจืดอันกว้างและยาวแห่งนี้ แล้วเพี้ยนเสียงกลายมาเป็น แสนแสบ ตามกาลเวลาที่ผ่านไป ประกอบกับในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ไทยได้กวาดต้อนเชลยศึกชาวเขมรมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ย่านบางกะปิเป็นจำนวนมาก ชาวเขมรจึงอาจเรียกคลองที่ไหลผ่านแหล่งชุมชนของตนด้วยภาษาเขมร แล้วเพี้ยนมาเป็นแสนแสบดังที่กล่าวไปแล้ว
  3. "แสนแสบ" อาจเพี้ยนมาจากคำมลายูว่า เซอญัป ซึ่งเป็นชื่อเรียกขานของชาวมุสลิมที่ถูกกวาดต้อนมาจากหัวเมืองภาคใต้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และมาตั้งบ้านเรือนแถบวัดชนะสงคราม กระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อขุดคลองแล้วเสร็จและเสร็จศึกจึงให้มาอยู่ตามแนวคลองนั้น และเนื่องจากเคยอาศัยอยู่ริมคลองใกล้ทะเล กระแสน้ำแรง เมื่อมาอยู่ริมคลองที่น้ำไหลช้า ค่อนข้างนิ่ง จึงเรียกคลองนี้ว่า ซูไงเซอญัป หรือคลองที่เงียบสงบ โดย ซูไง แปลว่าคลองหรือแม่น้ำ และ เซอญัป แปลว่า "เงียบ" ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนกันไปเป็น แสนแสบ

ชื่อต่าง ๆ

[แก้]

ในช่วงคลองแสนแสบใต้มีชื่อค่อนข้างสับสนดังนี้ ในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ (สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) เรียกคลองช่วงนี้ว่า "คลองนางหงส์" ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งสร้างพระราชวังประทุมวันที่ริมคลองในที่นาหลวง เรียกชื่อคลองว่า "คลองบางกะปิ" ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏในแผนที่มณฑลกรุงเทพ สยาม ร.ศ. 120 เรียกว่า "คลองแสนแสบ" แต่ในแผนที่บริเวณกรุงเทพฯ ร.ศ. 126 เรียกว่า "คลองมหานาค" ครั้นในแผนที่บริเวณกรุงเทพฯ ร.ศ. 129 กลับเรียกว่า "คลองบางกะปิ" ในจดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2525 เรียกคลองว่า "คลองแสนแสบใต้" บางแห่งได้ระบุช่วงตั้งแต่แยกคลองมหานาคถึงวัดใหม่ช่องลมว่า "คลองบางกะปิ" จากนั้นถัดไปจึงเรียก "คลองแสนแสบ"[5]

ส่วนที่เรียกว่า "คลองบางขนาก" นั้น เอนก นาวิกมูล ระบุว่า "ทางปลายข้างซ้ายของคลองบางขนากต่อกับคลองแสนแสบตรงแยกนครเนื่องเขต ปลายข้างขวาตกแม่น้ำบางปะกง"[6]

ประวัติ

[แก้]

ขุดคลอง

[แก้]
ภาพถ่ายสะพานเฉลิมโลก 55 เมื่อ พ.ศ. 2489 เห็นคลองแสนแสบ

คลองแสนแสบเริ่มต้นที่คลองมหานาคตรงบริเวณป้อมมหากาฬในกรุงเทพ แล้วสิ้นสุดลงที่แม่น้ำบางปะกง ส่วนตั้งแต่ช่วงคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงหัวหมากนั้น (เรียก คลองแสนแสบเหนือ) ยังไม่พบหลักฐานว่าขุดขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าหลังจากขุดคลองมหานาคในสมัยรัชกาลที่ 1[7]

คลองแสนแสบใต้ได้ขุดขึ้นตามพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว[8] ในช่วงที่มีความขัดแย้งระหว่างสยามกับอันนัมเหนือกัมพูชา เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและการขนส่งเสบียงอาหารและยุทธภัณฑ์ที่ยาวนานถึง 14 ปี[9][10] การก่อสร้างเริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ. 2380 ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 3 ระบุว่า "คลองแสนแสบขุดขึ้นเมื่อเดือน 2 ขึ้น 4 ค่ำ ปีระกา จุลศักราช 1199 ตรงกับวันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2380"[11] และใช้ค่าใช้จ่ายไป 96,000 บาท[12] ต่อมาจึงแล้วเสร็จในเวลา 3 ปี[13]

วิธีการขุดคลองคือใช้กระบือเหยียบย่ำลงไปในโคลนเลนที่ขุดไว้ เพื่อให้ลำคลองมีความลึก แม้จุดประสงค์หลักในการขุดคลองเพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ แต่ก็ได้ผลประโยชน์ทางด้านการค้าด้วยเช่นกัน คือเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางการเกษตร อย่างน้ำตาล และข้าว รวมถึงสินค้าต่าง ๆ รัฐมีการตั้งด่านภาษีขึ้นบริเวณที่ปัจจุบันคือ วัดภาษี[14]

ผู้ดูแลในการขุดคลองคือ พระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) ภายหลังเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้เข้ามาดูแลการขุดคลองแสนแสบ แทนพระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) เนื่องจากพระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษาต้องคุมทัพไปช่วยราชการเมืองไทรบุรี[15] ระยะแรกหลังจากขุดคลอง คงมีชุมชนไม่มากนัก ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2382 หลังจากที่พระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) ได้ยกทัพไปจัดการหัวเมืองมลายูแล้วยกทัพกลับมา ได้กวาดต้อนชาวมลายูเมืองกลันตันและไทรบุรีมาตั้งชุมชนอยู่ริมคลองแสนแสบ

คลองที่ขุดตั้งแต่ช่วงหัวหมากไปถึงบางขนาก ได้จ้างจีนขุดคลอง เป็นทาง 1,337 เส้น 19 วา 2 ศอก (ระยะทาง 53.52 กม. ค่าจ้างขุด 93,660 บาท) แต่ยังขาดระยะทางอีก 247 เส้น หรือ 9.88 กม จึงออกแม่น้ำบางปะกงได้ สันนิษฐานว่าหากไม่เพิ่มค่าจ้างจีนเพิ่ม ก็คงเกณฑ์ชาวเขมร ชาวมลายูปัตตานีที่กวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1–3 เป็นผู้ขุด[16]

จับจองพื้นที่

[แก้]
เรือเมล์ขาวนายเลิศ ราว พ.ศ. 2451
คลองแสนแสบช่วงวัดแสนสุข

ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีนโยบายจัดสรรที่ดินที่อยู่อาศัยให้กับกลุ่มคนต่าง ๆ เมื่อ พ.ศ. 2313 ตามนโยบายการปกครอง เช่น กลุ่มมุสลิม ดังแนวพระราชกระแสของสมเด็จพระเจ้าตากสินว่า "...สำหรับมุสลิมนั่น ข้าขอให้อยู่ทางฝั่งตะวันออกแถวมักกะสันไปจนถึงทุ่งแสนแสบ คอยช่วยข้าดูแลฝั่งโน้น..."[17]

ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชาวมุสลิมได้อพยพมาจังจองพื้นที่ริมคลองแสนแสบ ในช่วงแรกเป็นที่ดินที่ไม่มีราคาและเป็นท้องที่ห่างไกล มีช้างป่าอาศัยอยู่ชุกชุม

นายมาน มูฮำหมัด ได้เล่าว่า "บรรพบุรุษเป็นชาวมลายูปัตตานีถูกกวาดต้อนเข้ามาอาศัยที่ทุ่งพญาไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ต่อมาเมื่อเกิดสงครามกับญวนและเขมร ได้เกณฑ์ชาวมลายูเหล่านี้ไปขุดคลองแสนแสบที่ปลายคลองมหานาคซึ่งแต่เดิมเป็นลำประโดงเล็ก ๆ คดโค้งไปตามธรรมชาติ การขุดจึงเป็นเพียงแค่ขุดร่องน้ำให้กว้างขึ้นเป็นคลอง ผ่านคลองตัน คลองสามเสน มีนบุรี หนองจอกถึงบางขนาก ภายหลังการขุดคลองเสร็จได้โยกย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในทุ่งแสนแสบ หักร้างถางพงจนเป็นที่นา เหตุนี้ทำให้ตลอดลำคลองแสนแสบเป็นชุมชนมุสลิมตั้งแต่มหานาค บ้านครัว บ้านดอน คลองตัน บางกะปิ บึงกุ่ม หลอแหล มีนบุรี แสนแสบ คู้ เจียระดับ หนอกจอก กระทุ่มราย บางน้ำเปรี้ยวและบางขนาก"[18]

วัดและมัสยิดริมคลองแสนแสบ มีการสร้างวัดในพระพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยธนบุรีเมื่อ พ.ศ. 2315 คือ วัดแสนแสบหรือวัดแสนสุขในปัจจุบัน มีการสร้างสุเหร่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คือ สุเหร่ากองอาสาจามหรือมัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ (บ้านครัว) ในปัจจุบัน กลุ่มผู้สร้างสุเหร่าเป็นกลุ่มมุสลิมจามหรือเขมรรุ่นแรกคือ พระยาบังสัน (แม้น) ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการสร้างวัดเพิ่มจำนวน 8 แห่ง ซึ่งเป็นสมัยที่ขุดคลองแสนแสบ[19]

ราษฎรเริ่มมาจับจองพื้นที่บริเวณริมคลองแสนแสบมากขึ้นภายหลังจากโครงการขุดคลองรังสิต ปรากฏรายชื่อผู้จับจองที่ดินทุ่งแสนแสบ พ.ศ. 2433 มีทั้งหมด 51 รายชื่อ เป็นที่นา 53,900 ไร่ แบ่งเป็นเจ้านาย 13 ราย จำนวน 21,000 ไร่ หม่อมเจ้า 7 พระองค์ หม่อมราชวงศ์และหม่อมหลวงอีก 19 ราย ผู้มีบรรดาศักดิ์ของจองที่นา 20,000 ไร่ ที่เหลือเป็นราษฎรอีก 19 ไร่ ขอจองที่นา 12,900 ไร่[20]

พ.ศ. 2449 มีการขุดแต่งและขยายคลองแสนแสบ ระยะทาง 75 กิโลเมตร[21] และยังสร้างประตูน้ำ 3 ประตู คือ ประตูน้ำวังสระปทุม ประตูน้ำบางขนาก และประตูน้ำท่าไข่

ช่วงปี พ.ศ. 2451 นายเลิศริเริ่มเดินเรือเมล์ในคลองแสนแสบ ชาวบ้านจะเรียกว่า เรือเมล์ขาว ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้เกิดชุมชนการค้าขึ้นตามริมคลองแสนแสบหลายแห่ง เช่น ตลาดประตูน้ำเฉลิมโลก ตลาดคลองตัน ตลาดวัดตึก ตลาดบางกะปิ ตลาดบางเตย ตลาดหลอแหล ตลาดบางชัน ตลาดมีนบุรี ตลาดคู้ ตลาดเจียรดับ และตลาดหนองจอก[22] อีกทั้งนายเลิศชอบแล่นเรือเที่ยวตามคลองแสนแสบจึงได้รู้จักคนแถวนั้น ชาวบ้านมักเอาลูกหลานมาฝากให้อยู่กับท่านเพื่อเรียนหนังสือ ภายหลังจึงได้สร้างโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญบริเวณริมคลองแสนแสบ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2453 ภายหลังมีการแยกโรงเรียนเป็นหญิงและชาย ได้ย้ายโรงเรียนชายอยู่บนถนนรามอินทรา ส่วนที่ตั้งเก่าเป็นโรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ[23] นอกจากนั้นนายเลิศยังมาบุกเบิกพื้นที่ด้วยการก่อสร้างอาคารพาณิชย์และบ้านเรือนให้เช่าบริเวณคลองแสนแสบแถบมีนบุรี ภายหลังชาวจีนจึงอพยพเข้ามาตั้งรกรากที่นี่ ปัจจุบันคือ ชุมชนมีนบุรีอุปถัมภ์ ชุมชนแห่งนี้ยังคงไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมของชุมชนชาวจีนอพยพที่มีลักษณะเฉพาะตัว อาคารยุคแรกสร้างขึ้นในช่วงราว พ.ศ. 2448[24]

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชวังปทุมวันในย่านสยาม ชื่อวังและเขตปทุมวันในปัจจุบันมาจากที่นี่[25] พระตำหนักเขียวซึ่งเป็นพระตำหนักแรกในวังสระปทุมสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2459 ตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบ[26]

พ.ศ. 2479 เมื่อมีการตัดถนนสุขุมวิทขนานไปกับคลองแสนแสบจึงเกิดบ้านเดี่ยว ตึกแถวริมถนน มีการจัดสรรที่ดินเป็นแปลงย่อย พัฒนาพื้นที่เข้าไปจากแนวถนนจนติดคลอง ในช่วง พ.ศ. 2505–2508 มีการตัดถนนเพชรบุรีตัดใหม่ขนานไปกับคลองแสนแสบ รวมถึงมีการก่อสร้างสะพานข้ามคลองแสนแสบในช่วงนานา อโศก และเอกมัย เพื่อเชื่อมถนนสุขุมวิทกับถนนเพชรบุรี ในช่วง พ.ศ. 2536–2538 มีการก่อสร้างสะพานข้ามคลองแสนแสบในซอยทองหล่อ[27]

ปัจจุบัน

[แก้]
คลองแสนแสบช่วงวัดเทพลีลา
คลองแสนแสบช่วงวัดบำเพ็ญเหนือและวัดบางเพ็งใต้

ประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ตามแนวคลองแสนแสบในปัจจุบัน เป็นผู้ที่เพิ่งโยกย้ายถิ่นฐานไม่นาน อยู่รวมกันเป็นชุมชน เช่น ชุมชนบ้านครัว ชุมชนหลังวัดปทุมวนาราม ชุมชนบ้านดอน ชุมชนเทพลีลา ชุมชนวัดไผ่ดำ เป็นต้น ชุมชนเหล่านี้มีราษฎรที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินถึงร้อยละ 50 เป็นครัวเรือนที่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยร้อยละ 27.1 เป็นครัวเรือนที่มีกรรมสิทธิ์เฉพาะที่พักอาศัยแต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ เป็นครัวเรือนที่มีกรรมสิทธิ์เฉพาะที่พักอาศัยแต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินร้อยละ 22.924[28]

นับแต่ พ.ศ. 2520–2537 คลองแสนแสบเริ่มมีสภาพเน่าเสีย อันเนื่องมาจากแผนพัฒนาการอุตสาหกรรมของรัฐบาลและการสร้างถนน ผู้คนที่พักตามริมคลองในลักษณะหอพักหรือ ห้องเช่าสำหรับผู้ใช้แรงงานที่โยกย้ายถิ่นฐานจากต่างจังหวัดมาหางานทำในโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในเมือง ผู้พักอาศัยเหล่านี้มักทิ้งของเสียลงในคลอง ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมก็ปล่อยน้ำเสียลงในคลองเช่นกัน จากข้อมูล พ.ศ. 2563 น้ำเสียส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เกิดจากกิจกรรมชุมชนบริเวณริมคลอง รองลงมาเกิดจากโรงงานและสถานประกอบการ ปริมาณน้ำเสียเมื่อ พ.ศ. 2563 มีปริมาณน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดถูกปล่อยลงคลองแสนแสบและคลองสาขารวม 807,672 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีค่าเฉลี่ยความสกปรกหรือบีโอดี (BOD) อยู่ระหว่าง 6.9–12.2 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งแหล่งน้ำที่มีค่าบีโอดีมากกว่า 8 มิลลิกรัมต่อลิตร ถือเป็นแหล่งน้ำที่มีมลพิษอย่างรุนแรง[29]

หลัง พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา รัฐบาลในแต่ละสมัยได้ตระหนักถึงความสำคัญของคลองแสนแสบ จึงพยายามแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองแสนแสบอย่างต่อเนื่อง[14] ในปี 2558 รัฐบาลประยุทธ์เตรียมงบประมาณ 7 พันล้านบ้านเพื่อต้องการให้คลองแสนแสบใสภายใน 2 ปี[30]

คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนหลักการพัฒนา ฟื้นฟู สภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2564 โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2564) ระยะกลาง (พ.ศ. 2565-2570) และระยะยาว (พ.ศ. 2571-2574) มีโครงการที่จะดำเนินการจำนวน 84 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 82,563 ล้านบาท วงเงินส่วนใหญ่ร้อยละ 88 เป็นของกรุงเทพมหานคร[31] มีโครงการเช่น โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสีย โครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย โครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย โครงการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลองแสนแสบ โครงการเดินเรือคลองแสนแสบส่วนต่อขยายระยะทาง 10 กิโลเมตร โครงการต่อเรือไฟฟ้า 12 ลำ และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางน้ำ เป็นต้น[32]

ความยาวและเส้นทาง

[แก้]

คลองแสนแสบเป็นคลองสำคัญที่เชื่อมต่อจากปลายคลองมหานาค ผ่านย่านสำคัญของกรุงเทพฯ ได้แก่ ย่านมหานาค ประตูน้ำ ในพื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตดุสิต เขตปทุมวัน เขตราชเทวี เขตวัฒนา เขตห้วยขวาง เขตสวนหลวง เขตบางกะปิ เขตวังทองหลาง เขตบึงกุ่ม เขตคันนายาว เขตสะพานสูง เขตมีนบุรี เขตคลองสามวา และเขตหนองจอก ไปออกแม่น้ำบางปะกงที่เขตอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา มีความยาวประมาณ 73.8 กิโลเมตร โดยแรงงานสำคัญของการขุดในช่วงต้น คือ ชาวจีนขุดคลองตั้งแต่ปลายคลองมหานาคไปจนถึงช่วงหัวหมาก และขุดจากคลองบางกะปิไปเชื่อมกับคลองบางขนาก จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นแรงงานจ้างชาวจีน[33]

คลองสาขา

[แก้]

เนื่องจากคลองแสนแสบเป็นคลองหลัก ในการคมนาคมระหว่างลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำบางปะกง จึงมีการขุดคลองซอยขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนี้

ผลกระทบ

[แก้]

ตั้งเมือง

[แก้]

จุดประสงค์การขุดคลองแสนแสบเพื่อลำเลียงเสบียงอาหารและเครื่องยุโธปกรณ์ส่งกองทัพที่ตั้งกัมพูชา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงโปรดให้ตั้งเมืองขึ้นเป็นระยะเป็นสถานีประชุมพล ได้แก่ ตั้งบ้านกบแจะเป็นเมืองประจันตคาม (ขึ้นเมืองปราจีนบุรี เมือง 1) ตั้งด่านหนุมานเป็นเมืองกบินทร์บุรี (ขึ้นเมืองปราจีนบุรี เมือง 1) ตั้งบ้านทุ่งแขยกเป็นเมืองวัฒนานคร (ขึ้นเมืองปราจีนบุรี เมือง 1) ตั้งบ้านหินแร่เป็นเมืองอรัญประเทศ (ขึ้นเมืองปราจีนบุรี เมือง 1) ตั้งบ้านท่าสวายเป็นเมืองศรีโสภณ (ขึ้นเมืองพระตะบอง เมือง 1) และโปรดให้ปันเขตเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทรารวมเป็นเมืองพนัสนิคมอีกเมือง 1[34]

วัฒนธรรมประชานิยม

[แก้]

คลองแสนแสบเป็นฉากหลังของนิยายเรื่อง แผลเก่า ของไม้ เมืองเดิม ออกสู่สาธารณะเมื่อ พ.ศ. 2478 นิยายเรื่องนี้ได้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครหลายครั้ง[35] โดยมีเพลงประกอบ "ขวัญของเรียม" และ "แสนแสบ"[36] และยังทำให้เกิดสถานท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมคือ ตลาดน้ำขวัญ-เรียมในย่านมีนบุรี แม้สถานที่ตั้งไม่ตรงกับสถานที่ในนิยายแต่ก็อยู่ในแนวคลองแสนแสบเดียวกัน[37]

พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องเสด็จประพาสคลองแสนแสบ ซึ่งเจ้าจอมมารดาอ่อนในรัชกาลที่ 5 พิมพ์ในงานทำบุญหน้าพระศพพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพครบ 50 วัน ณ วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 รูปแบบงานเขียนนี้เป็นบันทึกการเดินทางแบบจดหมายเหตุรายวันระยะทาง เมื่อ ร.ศ. 126 (พ.ศ. 2450)[38]

เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2537 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จประพาสคลองแสนแสบทางเรือจากท่าน้ำผ่านฟ้าลีลาศไปจนถึงประตูท่าไข่[39] ทรงมีพระราชดำรัสในการเสด็จครั้งนี้ว่า "คลองแสนแสบเป็นคลองสำคัญในประวัติศาสตร์ ที่สมควรได้รับการดูแลรักษาต่อไป" หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2538 ให้วันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็น "วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ" ได้มีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อเป็นองค์กรหลักในการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อม คู คลอง[40]

ภาพลักษณ์

[แก้]

คลองแสนแสบเป็นที่จดจำว่าเป็นคลองสกปรกส่งกลิ่นเหม็นเน่า ทางเดินไม่มีแสงไฟส่องสว่างและดูอันตราย ในปี 2564 มีการเผยแพร่ภาพทางสื่อสังคมระบุว่าคลองได้รับการปรับปรุงแล้ว น้ำสะอาด และมีทางเดินที่ดูสวยงาม แต่คนในพื้นที่ยืนยันว่าเป็นแค่การจัดฉาก[41]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Wipatayotin, Apinya (26 January 2017). "Pollution fee high on canal clean-up list". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 26 January 2017.
  2. Wipatayotin, Apinya (20 December 2017). "49 fined over canal discharges". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 20 December 2017.
  3. "ความเป็นมา". สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์.[ลิงก์เสีย]
  4. พัชรเวช สุขทอง. "คลอง "แสนแสบ" ชื่อนี้มาจากไหน หรือจะมาจากยุง?". ศิลปวัฒนธรรม.
  5. "คลองเก่าเล่าประวัติเมือง". สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. p. 129.
  6. เอนก นาวิกมูล. "ต้นคลองปลายคลองของ มหานาค-บางกะปิ-แสนแสบ อยู่ที่ไหน". ศิลปวัฒนธรรม.
  7. "เขตบางกะปิ ฯลฯ". มติชน.
  8. Gerald W. Fry; Gayla S. Nieminen; Harold E. Smith (8 August 2013). Historical Dictionary of Thailand. Scarecrow Press. pp. 206–. ISBN 978-0-8108-7525-8.
  9. Maryvelma Smith O'Neil (2008). Bangkok: A Cultural History. Oxford University Press. pp. 108–. ISBN 978-0-19-534251-2.
  10. The Journal of the Siam Society. 1977.
  11. ชลธิรา สัตยาวัฒนา และ เรืองศักดิ์ ดำริห์เลิศ (2545). สิทธิชุมชนบ้านครัว กรุงเทพมหานคร ผลงานวิจัยเล่มที่ 3 ประวัติศาสตร์บ้านครัว และการต่อต้านทางด่วนซีดีโร้ดของชาวชุมชน: รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
  12. Porphant Ouyyanont (14 February 2018). Regional Economic History of Thailand. Flipside Digital Content Company Inc. pp. 19–. ISBN 978-981-4786-14-0.
  13. Tanabe, Shigeharu (1977). "Historical Geography of the Canal System in the Chao Phraya Delta". Journal of the Siam Society. 65 (2).
  14. 14.0 14.1 วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์. "คลองแสนแสบ : ความเป็นมาและการเปลี่ยนแปลง" (PDF). ไทยศึกษา.
  15. ศานติ ภักดีคำ. "วัดเทพลีลา วัดของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่สร้างคราวขุดคลอง "แสนแสบ"". ศิลปวัฒนธรรม.
  16. "คลองแสนแสบและบรรพชนมุสลิมเชื้อสายต่างๆ". อาลี เสือสมิง.
  17. วินัย สะมะอุน, มุสลิมนอกพื้นที่ภาคใต้, เอเชียปริทัศน์ 23, 2 (กรกฎาคม–ธันวาคม 2545): 81.
  18. ดำริห์เลิศ, เรืองศักดิ์ (2545). ประวัติศาสตร์บ้านครัวและการต่อต้านทางด่วนซีดีโรดของชาวชุมชน. อรุณการพิมพ์. p. 30.
  19. รุ่งอรุณ กุลธำรง. "วัดกับมัสยิดริมคลองแสนแสบ : ความเป็นมาและการดำรงอยู่" (PDF). p. 77.
  20. พิมพ์อุมา โตสินธพ. "คลองเชื่อมกับพัฒนาการของชุมชนในลุ่มแม่น้ำบางปะกง ระหว่าง พ.ศ. 2420-2500" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  21. สุวิชัย โกศัยยะวัฒน์. "ปกิณกะ การพัฒนาด้านการซลประทานในภาคตะวันออก : การพัฒนาคุณภาพชีวิตในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411–2453)".
  22. โรม บุนนาค. "เปิดตำนาน "เลิดสะมันเตา" คนแรกที่ปั้นน้ำเป็นตัว ทำเรือเมล์-รถเมล์ ทายาทเพิ่งขายอู่รถเมล์ไปหมื่นกว่าล้าน!". ผู้จัดการออนไลน์.
  23. ""ท่านเลิด" ผู้ก่อตั้งโรงเรียน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-20. สืบค้นเมื่อ 2022-07-16.
  24. "ชมห้องแถวโบราณของชาวจีนอพยพแห่งย่านการค้าในอดีต ที่ชุมชนชานกรุงฯ "มีนบุรีอุปถัมภ์"".
  25. "Bangkok's Crucible of Construction". 2Bangkok.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 November 2005. สืบค้นเมื่อ 26 January 2017.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  26. "วังสระปทุม บ้านแห่งรักและผูกพันของในหลวงรัชกาลที่ 9". สุดสัปดาห์.
  27. เจนการ เจนการกิจ. "ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพื่อการพาณิชยกรรม ในย่านสุขุมวิท" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.
  28. วาสินี พงศ์ชินฤทธ์, คุณภาพชีวิตของประชาชนสองฝั่งคลองแสนแสบ, (วิทยานิพนธ์ปริญญาพัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม) คณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2540), หน้า 5.
  29. "วิจารณ์สนั่น เท 8 หมื่นล้าน ฟื้น 'คลองแสนแสบ' ป้อมเมินตอบ เร่งฝีเท้าขึ้นทำเนียบ". ข่าวสด.
  30. "ครม.ทุ่มงบ 7 พันล้านฟื้นฟูคลองแสนแสบใสสะอาดใน 2 ปี". ผู้จัดการออนไลน์. 10 November 2015. สืบค้นเมื่อ 5 June 2022.
  31. "สทนช.ชี้แผนหลักพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ". รัฐบาลไทย.
  32. "ครม. ผ่านแผนพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ ระยะ 11 ปี 84 โครงการ รวมกว่า 8.25 หมื่นลบ". กรมประชาสัมพันธ์.
  33. เจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) (1938-03-17). "117. ขุดคลองบางขนากและแก้คลองพระโขนง". พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3.
  34. ศานติ ภักดีคำ. "คลองแสนแสบ: ความสำคัญในฐานะเส้นทางเดินทัพไทย-กัมพูชส" (PDF). หน้าจั่ว. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-07-16. สืบค้นเมื่อ 2022-07-16.
  35. โรม บุนนาค. "ความเปลี่ยนแปลงของคลองแสนแสบ! เมื่อ ร.๓ ขุด ร.๕ ประทับแรม ๒ คืน ร.๙-สมเด็จพระเทพฯสำรวจ!!". ผู้จัดการออนไลน์.
  36. พรรณราย เรือนอินทร์. "จากบางปะกงถึงกรุงเทพฯ ล่องประวัติศาสตร์'แสนแสบ' (ก่อน) 2380-2563". มติชน.
  37. "ตลาดน้ำ "ขวัญ–เรียม" แหล่งเที่ยวใหม่ชานเมือง". ไทยรัฐ.
  38. พรรณราย ชาญหิรัญ. "พระราชนิพนธ์ร้อยแก้วบันทึกการเสด็จประพาสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2419-2452): วรรณคดีกับโลกสันนิวาส" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  39. "วันอนุรักษ์คูคลองแห่งชาติ". สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-03. สืบค้นเมื่อ 2022-07-03.
  40. "วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ (In Thai)". Thailand Environment Institute Foundation (TEI).[ลิงก์เสีย]
  41. "ชาวเน็ตจวกแรง! แสนแสบโฉมใหม่ สวยแต่รูป-ดีแค่บางจุด ของจริงยังเหม็นจัด". ข่าวสด. 8 June 2021. สืบค้นเมื่อ 5 June 2022.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°44′57.878″N 100°32′25.035″E / 13.74941056°N 100.54028750°E / 13.74941056; 100.54028750