ข้ามไปเนื้อหา

กุศลกรรมบถ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กุศลกรรมบถ หมายถึง ทางแห่งกรรมดี, ทางทำดี, ทางแห่งกรรมที่เป็นกุศล, กรรมดีอันเป็นทางนำไปสู่ความสุขความเจริญหรือสุคติ เป็นธรรมส่วนสุจริต 10 ประการ จึงเรียกชื่อว่า กุศลกรรมบถ 10

คำว่า กรรมบถ (อ่านว่า กำ-มะ-บด) แปลว่า ทางแห่งกรรม คือ การกระทำที่เข้าทางเป็นกรรมหรือที่นับว่าเป็นกรรม หมายถึง ทางแห่งกุศลกรรม คือการกระทำที่นับว่าเป็นความดีได้แก่

  • ที่เป็นกายกรรม มี 3 อย่าง คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม
  • ที่เป็นวจีกรรม มี 4 คือ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ
  • ที่เป็นมโนกรรม มี 3 คือ ไม่โลภอยากได้ของเขา ไม่พยาบาทปองร้าย เห็นชอบตามคลองธรรม (สัมมาทิฐิ)

กุศลกรรมบถ ก็คือสุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจนั่นเอง

กุศลกรรมบถหมวดนี้ ในบาลีเรียกชื่อหลายอย่าง เช่นว่า ธรรมจริยา (ความประพฤติธรรม - righteous conduct), โสไจย (ความสะอาดหรือเครื่องชำระตัว—cleansing), อริยธรรม (อารยธรรม, ธรรมของผู้เจริญ - virtues of a noble or civilized man), อริยมรรค (มรรคาอันประเสริฐ - the noble path), สัทธรรม (ธรรมดี, ธรรมแท้ - good law; true law), สัปปุริสธรรม (ธรรมของสัตบุรุษ - qualities of a good man)

ประวัติ

[แก้]

กุศลกรรมบถมาจากพุทธสุภาษิต สุจริตธรรมดังนี้

ธมฺมญจเร สุจริตํ น ตํ ทุจฺจริตํ จเร ธมฺมจารี สุขํ เสติ อสฺมึ โลเก ปรมฺหิ จาติ

สุภาษิตนี้มีเนื้อความว่า ธมฺมญจเร สุจริตํ บุคคลพึงประพฤติธรรมส่วนสุจริตอยู่ทุกเมื่อเถิด น ตํ ทุจฺจริตํ จเร ไม่พึงประพฤติธรรมส่วนทุจริตเลย ธมฺมจารี สุขํ เสติ ผู้ประพฤติธรรมส่วนสุจริต ย่อมนอนเป็นสุข หรือเป็นสุขทุกอิริยาบถ อสฺมึ โลเก ปรมฺ หิ จ ทั้งในโลกนี้ด้วย โลกเบื้องหน้าด้วย ดังนี้ฯ

กุศลกรรมบถ 10

[แก้]

ประพฤติดีด้วยกาย 3 ประเภท

[แก้]

ประพฤติดีด้วยกาย นั้นชื่อว่า กายกรรม คือ ทำกิจการงานด้วยกายอย่าให้ทุกข์เกิดขึ้นแก่ผู้อื่น กายกรรมที่ให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นนั้น มี 3 ประการ

  1. คือ อย่าเบียดเบียนร่างกายของท่าน คือ อย่าฆ่า อย่าฟัน อย่าทุบ อย่าตี ร่างกายของท่านผู้อื่นโดยที่สุด เว้นถึงสัตว์ติรัจฉานได้ยิ่งเป็นการดี ตรงกับภาษาบาลีที่ว่า ปาณาติปาตาเวรมณีฯ
  2. คือ อย่าเบียดเบียนทรัพย์สมบัติข้าวของของท่านผู้อื่น คือ อย่าลักขโมย อย่าฉ้อโกง อย่าเบียดบังเอาข้าวของของท่านผู้อื่น ตรงกับภาษาบาลีที่ว่า อทินฺนาทานาเวรมณีฯ
  3. คือ อย่าแย่งชิงลักลอบด้วยอำนาจของกายในหญิงที่ท่านหวงห้าม ตรงกับภาษาบาลีที่ว่า กาเมสุมิจฉาจาราเวรมณีฯ

ประพฤติดีด้วยวาจา 4 ประเภท

[แก้]

ประพฤติดีด้วยวาจา 4 ประเภท (วจีกรรม 4 ประเภท) นั้น ได้แก่

  1. คือ ให้กล่าวแต่วาจาถ้อยคำที่สัตย์ที่จริง ให้เว้นจากวาจาที่เท็จไม่จริงเสีย ตรงกับภาษาบาลีที่ว่า มุสาวาทา เวรมณีฯ
  2. คือ ให้กล่าวแต่วาจาถ้อยคำอันสมานประสานสามัคคีให้ท่านดีต่อกัน ให้เว้นวาจาส่อเสียดยุยงเสีย ตรงกับภาษาบาลีที่ว่า ปิสุณายาวาจา เวรมณีฯ
  3. คือ ให้กล่าวแต่วาจาถ้อยคำอันอ่อนโยน ให้เกิดความยินดีแก่ผู้ฟัง ให้งดเว้นวาจาที่หยาบคาย บริภาษตัดพ้อหยาบคาย ให้ผู้ฟังได้รับความเดือดร้อนต่าง ๆ เสีย ตรงกับภาษาบาลีที่ว่า ผรุสฺสาย วาจาย เวรมณีฯ
  4. คือ ให้กล่าวแต่วาจาถ้อยคำที่เป็นไปกับด้วยประโยชน์ ให้เว้นวาจาที่เหลวไหล คือพูดเล่นหาประโยชน์มิได้เสีย ตรงกับภาษาบาลีที่ว่า สมฺผปฺปลาปาวาจายเวรมณีฯ

ประพฤติดีด้วยใจ 3 ประเภท

[แก้]

ประพฤติดีด้วยใจ 3 ประเภท (มโนกรรม 3 ประเภท) นั้นคือ

  1. คือ ให้ระวังเจตนากรรม ให้สัมประยุตต์ด้วยเมตตาอยู่เสมอ คือ ความดำริของใจ อย่าให้ลุอำนาจแห่งโลภะ คืออย่าเพ่งเอากิเลสกามและวัตถุกามของท่านผู้อื่น ตรงกับภาษาบาลีที่ว่า อนภิชฺฌา โหติฯ
  2. คือ ให้ระวังเจตนากรรมให้สัมประยุตต์ด้วยกรุณาอยู่ทุกเมื่อ อย่าให้โทสะ พยาบาท เข้าครอบงำได้ ตรงกับภาษาบาลีที่ว่า อพฺพยาปาโท โหติฯ
  3. คือ ให้ระวังเจตนากรรมให้สัมประยุตต์ด้วย มุทิตา อุเบกขา อยู่ทุกเมื่อ อย่าให้ไหลไปในทางผิด ให้เห็นตรงตามคลองธรรมทั้ง 10 นี้อยู่ทุกเมื่อ ตรงกับภาษาบาลีที่ว่า สมฺมทิฎฺฐิโก โหติฯ

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช), พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
  2. พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ 12 พ.ศ. 2546
  3. พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท), อัตตโนประวัติ ธรรมบรรยาย และ คิริมานนทสูตร, ชมรมพุทธศาสน์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต 2531 ผู้พิมพ์ หจก. ป. สัมพันธ์พาณิชย์