ข้ามไปเนื้อหา

การเลิกทาสและไพร่ในประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ทาสในประเทศไทย มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถูกยกเลิกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผ่านการปฏิรูปมาหลายครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2417 ถึง 2448 ทุกวันนี้ การค้าทาสสมัยใหม่กลายเป็นประเด็นปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมงในประเทศไทย

ประวัติศาสตร์ทาสในประเทศไทย[แก้]

ทาสเป็นคำปกติสำหรับสถานะส่วนบุคคลตามกฎหมายในอดีต พวกเขาจัดอยู่ในลำดับชั้นต่ำที่สุดในระบบลำดับชั้นทางสังคมที่เรียกว่า ศักดินา ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และผูกพันกับเจ้านายซึ่งตามกฎหมาย "มีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือทาสของตน นอกจากโทษประหารชีวิต"[1] ผู้คนสามารถเป็นทาสได้หลายวิธี ทั้งถูกจับไปเป็นเชลยศึก เป็นหนี้ และเกิดมาจากพ่อแม่ที่เป็นทาส การจ้างทาสของเจ้านายมีหลากหลาย ดังบันทึกของซีมง เดอ ลาลูแบร์ ซึ่งเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในปี 2230 ที่ระบุว่า[1]

พวกเขาจ้างทาสในการเพาะปลูกในที่ดินและสวนของพวกเขาและงานรับใช้ในบ้าน เพื่อแลกกับเงินค่าตัวที่ได้รับปีละ 4 ถึง 8 บาท

หุ่นขี้ผึ้งเกี่ยวกับการเลิกทาส จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย

การเลิกทาส[แก้]

ราคาทาส (พระราชบัญญัติทาส ร.ศ. 124)
อายุทาส (ปี) ชาย หญิง
แรกเกิด 5 บาท 4 บาท
7–8 8 ตำลึง 7 ตำลึง
≈100 4 บาท 3 บาท

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ประมาณว่าไทยมีทาสเป็นจำนวนกว่าหนึ่งในสามของพลเมืองของประเทศ[2] เพราะเหตุว่าพ่อแม่เป็นทาสแล้ว ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาสก็ตกเป็นทาสอีกต่อ ๆ กันเรื่อยไป ทาสนั้นจะต้องหาเงินมาไถ่ตัวเอง มิฉะนั้นแล้วก็จะต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต เพราะตามกฎหมายถือว่ายังมีค่าตัวอยู่

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศ "พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย" เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417 แก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ โดยให้ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัวเมื่ออายุได้ 20 ปี เมื่ออายุได้ 21 ปี ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ มีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 เป็นต้นมา และห้ามมิให้มีการซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปีเป็นทาสอีก

เมื่อถึง พ.ศ. 2448 ก็ทรงออก "พระราชบัญญัติทาษ รัตนโกสินทรศก 124" ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไทเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 ส่วนทาสประเภทอื่นที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ 4 บาท นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2448 เป็นต้นไป[3] นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติป้องกันมิให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสอีก และเมื่อทาสจะเปลี่ยนเจ้าเงินใหม่ ห้ามมิให้ขึ้นค่าตัว

การเลิกไพร่[แก้]

หมอสมิธ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไซแอมรีโพซิตอรี เขียนบทความตำหนิรัฐบาลสยามอย่างรุนแรง ด้วยเห็นว่า "ในบรรดาประเทศเจริญทั้งหลาย พระเจ้าแผ่นดินก็ดี พวกขุนนางก็ดี ไม่มีสิทธิ์เกณฑ์แรงราษฎรผู้เสียภาษีอากรโดยไม่ให้อะไรตอบแทน"[4] เพราะไพร่รับราชการโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ซ้ำยังต้องออกค่าใช้จ่ายทุกอย่างในระหว่างการรับราชการนั้นเองอีกด้วยต่างหาก เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร เป็นต้น[4] นอกจากนี้ยังมีพวก "คนไทยหนุ่ม" ที่อยากให้เลิกขนบไพร่ บางส่วนแสดงความคัดค้านที่รัฐบาลสักเลกในฤดูเก็บเกี่ยวข้าว เพราะทำให้การทำนาได้รับความเสียหาย[5]

ขนบไพร่นี้บังคับให้ราษฎรอายุตั้งแต่ 15-16 ปี จนถึง 70 ปี ต้องทำงานรับใช้หรือส่งส่วยให้แก่ชนชั้นปกครอง แบ่งออกเป็นไพร่หลวง ไพร่สมและไพร่ส่วย ไพร่มีกำหนดรับราชการเดือนเว้นเดือน ในสมัยอยุธยา ปีละ 6 เดือน ลดลงมาเหลือปีละ 4 เดือนในสมัยรัชกาลที่ 1 และเหลือ 3 เดือนในรัชกาลที่ 2[6] หากไม่อยากรับราชการก็ต้องจ่าย "ค่าราชการ" เดือนละ 6 บาท[7]

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) กราบทูลเสนอความคิดเห็นว่า ควรให้ราษฎรเสียค่าราชการปีละ 6 บาทโดยเท่ากัน และให้งดการเกณฑ์แรงชั่วคราว ใช้วิธีเกณฑ์จ้างแทน[4]

ลำดับเหตุการณ์การเลิกไพร่[8]
ปี (พ.ศ.) เหตุการณ์
2420 ทรงจ่ายเงินเดือนแก่ข้าราชการและเจ้านายแทนพระราชทานไพร่
2420
  • ทรงออกประกาศพระบรมราชโองการให้ไพร่สมรับราชการเช่นเดียวกับไพร่หลวง หรือต้องเสียเงินค่าราชการปีละ 6 บาทแทนการถูกเกณฑ์แรงงาน
  • ทรงปรับปรุงให้การแจ้งไพร่สมตาย ชรา พิการ เป็นไปได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น
2439 ทรงปรับปรุงค่าราชการ โดยให้ข้าราชการชั้นขุนหมื่นเสียค่าราชการปีละเท่ากับไพร่หลวงและไพร่สม
2442 ทรงออก "ประกาศกำหนดอายุบุคคลที่เปนฉกรรจ์ แลปลดชะรา รัตนโกสินทร์ศก 118" มีเนื้อหาสำคัญ คือ
  • พิจารณาให้ผู้ที่อายุครบ 18 ปีถือว่าอยู่ในวัยฉกรรจ์ แทนการพิจารณาจากความสูง
  • พิจารณาให้ปลดชราไพร่เมื่ออายุได้ 60 ปี (เดิม 70 ปี)
2443 ทรงออก "พระราชบัญญัติเกณฑ์จ้าง ร.ศ. 119" ให้ข้าราชการที่จะเกณฑ์เอาสัตว์หรือพาหนะจากราษฎรต้องเสียภาษีตามสมควร หรือให้ลดเงินส่งส่วยแทนค่าจ้างนั้นก็ได้
2448 ทรงออก "พระราชบัญญัติลักษณเกณฑ์ทหาร รัตนโกสินทรศก 124" บัญญัติให้ชายฉกรรจ์รับราชการทหารกองเกิน 2 ปี แล้วเข้ารับราชการทหารกองประจำการอีก 2 ปี แล้วปลดจากกองประจำการเป็นกองหนุนขั้นที่ 1 อายุ 5 ปี แล้วปลดไปอยู่ในกองหนุนขั้นที่ 2 อายุ 10 ปี แล้วให้ถือว่าหมดหน้าที่รับราชการทหาร

พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารนี้ ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการยกเลิกขนบไพร่ ประกาศใช้ในมณฑลนครศรีธรรมราช ปัตตานี สุราษฎร์ ภูเก็ตและเพชรบูรณ์ พ.ศ. 2458 (สมัยรัชกาลที่ 6)[9] ด้วยความที่ว่าการยกเลิกขนบไพร่เป็นการปลดทุกข์ของราษฎรทุกตำบลทั่วราชอาณาจักร จึงมีความเห็นว่าการยกเลิกขนบไพร่สำคัญยิ่งกว่าการยกเลิกขนบทาสเสียอีก[9] เพราะราษฎรได้รับการส่งเสริมฐานะทางเศรษฐกิจ มีเวลาทำมาหากินได้เต็มที่ และไม่มีใครรังเกียจเหมือนแต่ก่อน

อย่างไรก็ตาม การเสียเงินรัชชูปการ (ภาษีรายหัว) ซึ่งใช้แทนการเกณฑ์แรงงานนั้นมาสิ้นสุดลงในปี 2482[10]: 7 

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Baker, Chris; Phasuk Phongpaichit (2017). A History of Ayutthaya: Siam in the Early Modern World. Cambridge University Press. pp. 192–193. ISBN 978-1-316-64113-2.
  2. ดนัย ไชยโยธา. (2546). ประวัติศาสตร์ไทย: ยุคกรุงธนบุรีถึงกรุงรัตนโกสินทร์. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. หน้า 106. ISBN 974-276-111-6.
  3. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 287.
  4. 4.0 4.1 4.2 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 289.
  5. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 290.
  6. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 287–288.
  7. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 288.
  8. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 290–292.
  9. 9.0 9.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 293.
  10. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (สิงหาคม 2548). ธำรงค์ศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (บ.ก.). อยุธยา: ประวัติศาสตร์และการเมือง (PDF). ปทุมธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ISBN 974-91572-7-3.

บรรณานุกรม[แก้]