ข้ามไปเนื้อหา

การลงโทษของพระเจ้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อวสานของโลก หรือรู้จักทั่วไปว่า วันมหาพิโรธของพระองค์[1] เป็นภาพเขียนสีน้ำมันบนผ้าใบโดย จอห์น มาร์ติน (ค.ศ. 1851–1853)[2] ฟรานเชส แครีอธิบายว่าภาพนี้แสดง "การทำลายบาบิโลนและโลกแห่งวัตถุด้วยวินาศภัยธรรมชาติ" แครีเสริมว่าเป็นการสะท้อนการเติบโตดั้งเดิมของอารยธรรมบาบิโลนก่อนถูกทำลาย และโยงถึงฉากอุตสาหกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นในลอนดอนช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เทตบริเตนกล่าวว่าเป็นการพรรณนาบางส่วนของวิวรณ์ 16 ในหนังสือวิวรณ์ของพันธสัญญาใหม่

การลงโทษของพระเจ้า เป็นการลงโทษอย่างเหนือธรรมชาติต่อบุคคล กลุ่มคนหรือทุกคนโดยพระเป็นเจ้า หลายวัฒนธรรมมีเรื่องราวเกี่ยวกับการลงโทษผู้อาศัยในดินแดนของพระเป็นเจ้าจนนำไปสู่ความวิบัติของคนกลุ่มนั้น

ตัวอย่างการลงโทษของพระเจ้าที่พบในหลายวัฒนธรรม คือ ตำนานน้ำท่วมโลก ดังปรากฏในมหากาพย์กิลกาเมช พระเวทและหนังสือปฐมกาล (6:9–8:22) ซึ่งพระเป็นเจ้าทรงเลือกผู้รอดชีวิตสำคัญหนึ่งคน ได้แก่ อุตนาปิชทิม พระมนูไววัสวัตและโนอาห์ตามลำดับ ให้สร้างเรือเพื่อบรรทุกครอบครัวของเขา สัตว์และเมล็ดพืชก่อนจะเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่[3] ตัวอย่างอื่นในวรรณกรรมศาสนาภาษาฮีบรู ได้แก่ การกระจายตัวของผู้สร้างหอคอยบาเบล (ปฐมกาล 11:1–9) การทำลายเมืองโสโดมและโกโมราห์ (ปฐมกาล 18:20–21, 19:23–28) (อัลกุรอาน 7:80–84)[4] และภัยพิบัติแห่งอียิปต์ (อพยพ, บทที่ 7–12) คัมภีร์ไบเบิลบรรยายว่าการลงโทษของพระเจ้าส่วนใหญ่ถูกชะลอเพื่อให้เกิดขึ้นในอนาคต[5] การลงโทษของพระเจ้ามักเกิดขึ้นกับผู้ไม่ศรัทธาในพระวจนะของพระเป็นเจ้า[6] วิลเลียม เลน เครก นักปรัชญาคริสต์กล่าวว่า "ในสายตาของเปาโล พระลักษณะ ฤทธานุภาพและเทวสภาพของพระเป็นเจ้านั้นเป็นที่ประจักษ์แล้วในการสร้างสรรพสิ่ง ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลในการไม่เชื่อในพระผู้สร้างผู้ดำรงอยู่ตลอดกาลและทรงพลานุภาพ เปาโลกล่าวว่า แท้จริงแล้วพวกไม่เชื่อในพระเป็นเจ้าต่างรู้ว่าพระองค์มีจริง แต่กดเก็บความรู้นี้ไว้เนื่องจากบาปของพวกเขา"[7]

ในประมวลเรื่องปรัมปรากรีก เทพีฮีรามักพยาบาทต่อชายาองค์อื่น ๆ ของซูส พระสวามี และบันดาลให้บุตรของชายาเหล่านั้นพบกับเภทภัยต่าง ๆ เมดูซาในบางตำนานกลายเป็นสัตว์ประหลาดเนื่องจากความหยิ่งทะนงของนาง ขณะที่บางตำนานบรรยายว่าเธอถูกเทพีมิเนอร์วาสาปหลังถูกเทพโพไซดอนข่มขืนในวิหารของพระนาง[8]

จุดยืนทางศาสนาและปรัชญาบางกลุ่มไม่มีแนวคิดการลงโทษของพระเจ้า หรือเชื่อว่าพระเป็นเจ้าจะสำแดงอารมณ์อิจฉา คิดแค้นหรือโกรธเกรี้ยวอย่างมนุษย์ อาทิ เทวัสนิยมและสรรพเทวัสนิยมมีความเห็นว่าพระผู้สร้างจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับจักรวาลของมนุษย์ไม่ว่าจะในทางที่ดีหรือร้าย ดังนั้นพระองค์จึงไม่มีพฤติกรรมนี้ ขณะที่สรรพเทวนิยมถือว่าพระเป็นเจ้ากับจักรวาลเป็นสิ่งเดียวกัน จึงไม่จำเป็นต้องมีการลงโทษ เพราะสิ่งที่ขัดกับพระประสงค์ก็คือพระองค์อยู่แล้ว

ศาสนาพุทธ

[แก้]

ศาสนาพุทธปฏิเสธแนวคิดการลงโทษของพระเจ้าอย่างแข็งขัน พระโคตมพุทธเจ้าทรงไม่สนับสนุนความเชื่อเรื่องพระผู้สร้าง[9][10] การสรรค์สร้าง[11] และเตือนให้ไม่พึงตั้งคำถามถึงกำเนิดของโลก[12][13] (อจินไตย) หลายคนมองว่าการไม่ยึดติดกับแนวคิดพระผู้สร้างและผู้เคลื่อนสิ่งที่ไม่เคลื่อนไหว (primum movens) นี้เป็นสิ่งสำคัญที่แยกศาสนาพุทธจากศาสนาอื่น

พุทธศาสนิกชนยอมรับการมีอยู่ของสรรพสิ่งในภพภูมิที่สูงกว่ามนุษย์ที่เรียกว่า เทวดา ซึ่งเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ[14] และไม่จำเป็นต้องมีปัญญาเหนือกว่ามนุษย์ เทวดาเหล่านี้มีทั้งที่บรรลุธรรมแล้วตามคำสอนของพระพุทธเจ้า[15] และเทวดาที่ยังไม่บรรลุธรรมซึ่งอาจหลงผิดบันดาลสิ่งร้าย ๆ ให้แก่มนุษย์

ศาสนาพุทธยอมรับแนวคิดเรื่องกรรมซึ่งส่งผลคล้ายการลงโทษ เช่น เกิดใหม่ในนรกภูมิอันเป็นผลจากอกุศลกรรม อย่างไรก็ตามผลกรรมนี้ไม่ได้ส่งผลตลอดกาลเหมือนเช่นศาสนาอับราฮัม แม้จะกินเวลายาวนานและไม่ใช่การลงโทษจากเบื้องบน

ศาสนายูดาห์และศาสนาคริสต์

[แก้]
การทำลายโสโดมและโกโมราห์ โดย จอห์น มาร์ติน (ค.ศ. 1852)

"ความพิโรธของพระเจ้า" หรือความโกรธของพระเป็นเจ้าต่อบาปในเชิงมานุษยรูปนิยมปรากฏอยู่หลายครั้งในคัมภีร์ไบเบิล

คัมภีร์ฮีบรู

[แก้]

การลงโทษของพระเจ้าในทานัคหรือพันธสัญญาเดิม เช่น

  • ปฐมกาล 3:14–24 – พระเป็นเจ้าสาปอาดัมและเอวาและขับออกจากสวนเอเดน
  • ปฐมกาล 4:9–15 – พระเป็นเจ้าสาปคาอินหลังเขาฆ่าน้องชายชื่ออาเบล
  • ปฐมกาล 6–7 – น้ำท่วมใหญ่และเนฟิล
  • ปฐมกาล 11:1–9 – ความสับสนทางภาษา ณ หอคอยบาเบลและการกระจายตัวของมนุษย์ไปทั่วโลก
  • ปฐมกาล 19:23–29 – การทำลายเมืองโสโดมและโกโมราห์
  • ปฐมกาล 38:6–10 – การสังหารเอร์กับโอนันผู้ชั่วร้ายในสายพระเนตรของพระเป็นเจ้า
  • อพยพ 7–14 – ภัยพิบัติแห่งอียิปต์
  • อพยพ 19:10–25 – พระเป็นเจ้าทรงเตือนโมเสสถึงความศักดิ์สิทธิ์ของภูเขาซีนาย
  • อพยพ 32 – พระเป็นเจ้าประทานภัยพิบัติแก่พวกนับถือรูปโคทองคำ เป็นการลงโทษต่อการผิดพันธสัญญากับพระองค์
  • เลวีนิติ 10:1–2 – นาดับกับอาบีฮูถูกเผา
  • เลวีนิติ 26:14–39 – คำเตือนและคำสาปต่อผู้ไม่เชื่อฟังพระเป็นเจ้า
  • กันดารวิถี 11 – พระเป็นเจ้าประทานภัยพิบัติแก่ผู้ปฏิเสธอาหารที่พระองค์ประทานให้
  • กันดารวิถี 16 – กบฏของโคราห์ ดาธานและอาบีรัม ตามด้วยความตายของพวกเขาและภัยพิบัติ
  • กันดารวิถี 20:9–13 – พระเป็นเจ้าตำหนิโมเสสในเหตุการณ์น้ำแห่งเมรีบาห์
  • กันดารวิถี 21 – วงศ์วานอิสราเอลต่อว่าพระเป็นเจ้า พระองค์จึงลงโทษพวกเขาด้วยงูทองสัมฤทธิ์
  • กันดารวิถี 25 – พระเป็นเจ้าประทานภัยพิบัติแก่พวกเล่นชู้กับสตรีชาวโมอับและเปลี่ยนไปนับถือพระบาอัลแห่งเปโอร์
  • เฉลยธรรมบัญญัติ 28 – การตักเตือนและคำสาปต่อพวกไม่เชื่อในพระเป็นเจ้า
  • 1 ซามูเอล 6:19 – พระเป็นเจ้าสังหารชาวเบธเชเมช 70 คนหลังพวกเขามองเข้าไปในหีบแห่งพันธสัญญา
  • 2 ซามูเอล 6:1–7 – พระเป็นเจ้าสังหารอุสซาห์เมื่อเขาแตะต้องหีบแห่งพันธสัญญา
  • 1 พงศ์กษัตริย์ 11 – พระเป็นเจ้าตรัสกับซาโลมอนว่าพระองค์จะฉีกอาณาจักรของเขา แต่ละเว้นเผ่าหนึ่งแก่บุตรชายของซาโลมอน
  • โยบ 14:13 – พระเป็นเจ้าประทานบททดสอบแก่โยบ

พันธสัญญาใหม่

[แก้]

พันธสัญญาใหม่บรรยายถึงความพิโรธของพระเจ้าโดยเฉพาะการพิพากษาครั้งสุดท้าย ซึ่งปรากฏเป็นเชิงเปรียบเทียบในโรม 2:5 พันธสัญญาใหม่กล่าวถึงความพิโรธของพระเจ้าอย่างน้อย 20 วรรค เช่น

  • ยอห์น 3:36 – "ผู้ใดที่เชื่อในพระบุตรก็มีชีวิตนิรันดร์ แต่ผู้ใดที่ไม่ยอมรับพระบุตรก็จะไม่ได้เห็นชีวิต เพราะพระพิโรธของพระเจ้ายังอยู่กับเขา"
  • กิจการ 5:1 – อานาเนียกับภรรยาชื่อสัปฟีราตายหลังขายที่ดินของตน แต่เก็บเงินค่าที่ดินส่วนหนึ่งไว้
  • โรม 1:18 – "เพราะว่าพระเจ้าทรงสำแดงพระพิโรธของพระองค์จากสวรรค์ ต่อความหมิ่นประมาทพระองค์ และความชั่วร้ายทั้งมวลของมนุษย์ ที่เอาความชั่วร้ายนั้นบีบคั้นความจริง"
  • โรม 5:9 – "เพราะฉะนั้นเมื่อเราถูกชำระให้ชอบธรรมแล้วโดยพระโลหิตของพระองค์ ยิ่งกว่านั้นเราจะพ้นจากพระพิโรธของพระเจ้าโดยพระองค์"
  • โรม 12:19 – "ท่านผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้า อย่าแก้แค้น แต่จงมอบการนั้นไว้ แล้วแต่พระเจ้าจะทรงลงโทษ เพราะมีคำเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า "การแก้แค้นเป็นของเรา เราเองจะตอบแทน""
  • เอเฟซัส 5:6 – "อย่าให้ใครล่อลวงท่านทั้งหลายด้วยคำพูดที่เหลวไหล เพราะสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้พระพิโรธของพระเจ้าจึงมาถึงพวกที่ไม่เชื่อฟัง"
  • วิวรณ์ 6:17 – "เพราะว่าวันสำคัญแห่งพระพิโรธของพระองค์มาถึงแล้ว และใครจะสามารถยืนหยัดอยู่ได้เล่า"
  • วิวรณ์ 14:19 – "ทูตสวรรค์นั้นก็ตวัดเคียวไปบนแผ่นดินโลก และเก็บรวบรวมเถาองุ่นของแผ่นดินโลก และเทลงไปในบ่อย่ำองุ่นใหญ่แห่งความกริ้วของพระเจ้า"
  • วิวรณ์ 15:1 – "แล้วข้าพเจ้าเห็นหมายสำคัญในสวรรค์ที่ยิ่งใหญ่และอัศจรรย์อีกอย่างหนึ่ง คือมีทูตสวรรค์เจ็ดองค์ถือภัยพิบัติเจ็ดอย่าง ซึ่งเป็นภัยพิบัติสุดท้าย เพราะว่าความกริ้วของพระเจ้าจะสิ้นสุดลงด้วยภัยพิบัติเหล่านั้น"
  • วิวรณ์ 19:15 – "มีพระแสงคมกริบออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์ เพื่อพระองค์จะทรงใช้มันฟาดฟันประชาชาติต่าง ๆ และพระองค์จะทรงครอบครองเขาทั้งหลายด้วยคทาเหล็ก พระองค์จะทรงย่ำบ่อย่ำองุ่นแห่งพระพิโรธรุนแรงของพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด"

อ้างอิง

[แก้]
  1. Michael Wheeler, Heaven, Hell, and the Victorians, Cambridge University Press, 1994, p.83
  2. "Web Gallery of Art, searchable fine arts image database". www.wga.hu.
  3. "A Flood of Myths and Stories - Independent Lens". PBS. February 14, 2020. สืบค้นเมื่อ December 21, 2024.
  4. "Surah Al-A'raf [7:80–84]". Surah Al-A'raf [7:80–84].
  5. ลูกา 3:7; โรม 2:5
  6. เพราะว่าเรารอดโดยความหวัง แต่ความหวังในสิ่งที่เราเห็นได้นั้นไม่ได้เป็นความหวังเลย... (โรม 8:24)
  7. Craig, William Lane. "Is Unbelief Culpable?". Reasonable Faith. สืบค้นเมื่อ 19 May 2014.
  8. "14 Times The Greek Gods Shapeshifted To Rape Mortals". TheCollector. March 29, 2021. สืบค้นเมื่อ December 21, 2024.
  9. Thera, Nyanaponika. "Buddhism and the God-idea". The Vision of the Dhamma. Kandy, Sri Lanka: Buddhist Publication Society. In Buddhist literature, the belief in a creator god (issara-nimmana-vada) is frequently mentioned and rejected, along with other causes wrongly adduced to explain the origin of the world; as, for instance, world-soul, time, nature, etc. God-belief, however, is placed in the same category as those morally destructive wrong views which deny the kammic results of action, assume a fortuitous origin of man and nature, or teach absolute determinism. These views are said to be altogether pernicious, having definite bad results due to their effect on ethical conduct.
  10. Approaching the Dhamma: Buddhist Texts and Practices in South and Southeast Asia by Anne M. Blackburn (editor), Jeffrey Samuels (editor). Pariyatti Publishing: 2003 ISBN 1-928706-19-3 p. 129
  11. Bhikku Bodhi (2007). "III.1, III.2, III.5". ใน Access To Insight (บ.ก.). The All Embracing Net of Views: Brahmajala Sutta. Kandy, Sri Lanka: Buddhist Publication Society.
  12. Thanissaro Bhikku (1997). "Acintita Sutta: Unconjecturable". AN 4.77 (ภาษาอังกฤษ). Access To Insight. Conjecture about [the origin, etc., of] the world is an unconjecturable that is not to be conjectured about, that would bring madness & vexation to anyone who conjectured about it.
  13. Thanissaro Bhikku (1998). "Cula-Malunkyovada Sutta: The Shorter Instructions to Malunkya" (ภาษาอังกฤษ). Access To Insight. It's just as if a man were wounded with an arrow thickly smeared with poison. His friends & companions, kinsmen & relatives would provide him with a surgeon, and the man would say, 'I won't have this arrow removed until I know whether the man who wounded me was a noble warrior, a priest, a merchant, or a worker.' He would say, 'I won't have this arrow removed until I know the given name & clan name of the man who wounded me... until I know whether he was tall, medium, or short... The man would die and those things would still remain unknown to him. In the same way, if anyone were to say, 'I won't live the holy life under the Blessed One as long as he does not declare to me that 'The cosmos is eternal,'... or that 'After death a Tathagata neither exists nor does not exist,' the man would die and those things would still remain undeclared by the Tathagata.
  14. John T Bullitt (2005). "The Thirty-one planes of Existence". Access To Insight. สืบค้นเมื่อ May 26, 2010. The suttas describe thirty-one distinct "planes" or "realms" of existence into which beings can be reborn during this long wandering through samsara. These range from the extraordinarily dark, grim, and painful hell realms to the most sublime, refined, and exquisitely blissful heaven realms. Existence in every realm is impermanent; in Buddhist cosmology there is no eternal heaven or hell. Beings are born into a particular realm according to both their past kamma and their kamma at the moment of death. When the kammic force that propelled them to that realm is finally exhausted, they pass away, taking rebirth once again elsewhere, according to their kamma. And so the wearisome cycle continues.
  15. "Yidams". www.himalayanart.org.