พระผู้สร้าง
พระผู้สร้าง (อังกฤษ: Creator) หมายถึง พระเป็นเจ้า (ตามความเชื่อแบบเอกเทวนิยม) หรือเทวดาผู้เป็นใหญ่ (ตามความเชื่อแบบพหุเทวนิยม) ที่มีอำนาจบันดาลให้โลก (ทั้งเอกภพและจักรวาล) เกิดขึ้น
เทวนิยม
[แก้]ศาสนายูดาห์และศาสนาคริสต์
[แก้]ชาวยิวและคริสต์ศาสนิกชนเชื่อเรื่องตำนานการสร้างโลกตามหนังสือปฐมกาล บทที่ 1 ข้อที่ 1 ที่ระบุว่าพระยาห์เวห์ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกขึ้น และมีพระวจนะก่อให้เกิดสรรพสิ่งต่าง ๆ ทั้ง เวลา พืช สัตว์ มนุษย์ และอมนุษย์ เสร็จภายใน 6 วัน โดยมีลำดับดังนี้[1]
- ตรัสให้มีแสงสว่างแยกออกจากความมืด จึงเกิดวันและคืน เป็นวันที่ 1
- ตรัสให้มีแผ่นฟ้า เพื่อแยกน้ำออกเป็นเบื้องบนกับเบื้องล่าง เป็นวันที่ 2
- ตรัสให้น้ำเบื้องล่างรวมกัน เพื่อให้เกิดที่แห้งเรียกว่าแผ่นดิน ให้มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเกิดขึ้น เป็นวันที่ 3
- ตรัสให้บนฟ้ามีดวงสว่าง ได้แก่ ดวงอาทิตย์ครองกลางวัน ดวงจันทร์และดวงดาวครองกลางคืน เป็นวันที่ 4
- ตรัสให้มีสัตว์น้ำและสัตว์ปีก เป็นวันที่ 5
- ตรัสให้มีสัตว์บก แล้วทรงสร้างมนุษย์ตามพระฉายาของพระเป็นเจ้า ให้ครอบครองสัตว์ทั้งปวงที่ทรงสร้างขึ้นนั้น เป็นวันที่ 6
การทรงสร้างนี้เป็นไปอย่างเจาะจง ทุกสิ่งถูกสร้างขึ้นตามชนิดของมันเอง ไม่มีการวิวัฒนาการสายพันธุ์ไปเป็นอย่างอื่น
คริสต์ศาสนิกชนเชื่อต่างจากชาวยิวตรงที่มองว่าการสร้างโลกไม่ได้เกิดจากพระยาห์เวห์เพียงบุคคลเดียว แต่พระตรีเอกภาพอีก 2 พระบุคคล คือ พระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ก็มีส่วนร่วมในการสร้างด้วย เพราะทรงสร้างสรรพสิ่งด้วยพระวจนะ ซึ่งพระวรสารนักบุญยอห์นระบุว่าพระวจนะทรงรับเป็นมนุษย์คือพระเยซู[2]
ศาสนาฮินดู
[แก้]ศาสนิกชนฮินดูมีพัฒนาการความเชื่อเรื่องตำนานการสร้างโลกมายาวนานดังระบุไว้ในคัมภีร์ต่าง ๆ โดยแต่ละคัมภีร์จะให้ข้อมูลแตกต่างกันไป
คัมภีร์พระเวทระบุว่า พรหมันสร้างน้ำและใส่พีชะลงไป เกิดเป็นหิรัณยครรภ์ พระพรหมอุบัติขึ้นจากครรภ์นี้แล้วสร้างสรรพสิ่งต่อมาจนแล้วเสร็จเป็น 1 วันพระพรหม จากนั้นจึงบรรทมไป จนกระทั่งโลกแตกสลายไปด้วยไฟบรรลัยกัลป์ คงเหลือแต่พรหมฤๅษี เทวดาทั้งหลาย และธาตุทั้ง 5 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศ พระพรหมก็ตื่นจากบรรทมแล้วสร้างโลกขึ้นใหม่อีกครั้งแล้วบรรทมอีก จนกระทั่งเกิดไฟบรรลัยกัลป์อีกครั้ง เป็นเช่นนี้จนครบ 100 ปีพระพรหมจะเกิดมหาประลัย คือทุกสรรพสิ่งไม่เว้นแม้แต่พระพรหมจะถูกทำลายหมดสิ้นกลับไปสู่ธาตุดั้งเดิม[3]
ต่อมาได้เกิดความเชื่อเรื่องตรีมูรติขึ้นหลังพุทธศตวรรษที่ 8 โดยถือว่ามหาเทพมี 3 องค์ คือพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ และเชื่อว่าพระพรหมคือพระผู้สร้างโลก ต่อมาได้เกิดลัทธิไวษณพขึ้น ซึ่งถือเอาพระวิษณุเป็นพระเป็นเจ้าแท้จริงเพียงพระองค์เดียว เป็นผู้สร้างพระพรหม มอบหมายให้ทำหน้าที่สร้างโลก ฝ่ายผู้นับถือพระศิวะก็ได้พัฒนาลัทธิไศวะขึ้นมาเช่นกัน โดยยกย่องพระศิวะเป็นพระเจ้า และถือว่าการที่พระศิวะทำลายล้างโลกก็เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์โลกขึ้นใหม่ ดังนั้นพระศิวะจึงเป็นพระผู้สร้างด้วย[4]
อเทวนิยม
[แก้]ศาสนาพุทธ
[แก้]พุทธศาสนิกชนปฏิเสธความเชื่อเรื่องพระผู้สร้าง (อิสสรนิมมานวาท) และถือว่าเป็นความเชื่อนอกรีตพระพุทธศาสนา[5] เกวัฏฏสูตรระบุว่าสัตว์ทั้งหลายแม้แต่เทวดาบนสวรรค์ก็หลงผิดว่ามีพระเจ้า เป็นผู้ประเสริฐและยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นมหาพรหม ได้เนรมิตสร้างสิ่งต่าง ๆ และลิขิตสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปตามอำนาจ แต่เมื่อภิกษุรูปหนึ่งซักถามเรื่องความดับของมหาภูตรูป 4 กับมหาพรหม มหาพรหมนั้นก็ตอบไม่ได้ และที่สุดก็ยอมรับความจริงว่าตนเองไม่ได้รู้จริง แต่พวกเทวดาเข้าใจผิดไปเองว่าตนเป็นพระเจ้า[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ปฐมกาล บทที่ 1, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน, เรียกข้อมูลวันที่ 21 ธันวาคม 2555
- ↑ กิตติคุณยอห์น บทที่ 1, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน, เรียกข้อมูลวันที่ 21 ธันวาคม 2555
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, หน้า 111-112
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, หน้า 533-535
- ↑ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), ลัทธินอกพระพุทธศาสนา 3, พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, เรียกข้อมูลวันที่ 21 ธันวาคม 2555
- ↑ เกวัฏฏสูตร, พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค, เรียกข้อมูลวันที่ 21 ธันวาคม 2555