ข้ามไปเนื้อหา

การลงคะแนนเสียงในสวิตเซอร์แลนด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การลงคะแนนเสียงในสวิตเซอร์แลนด์ (อังกฤษ: Voting in Switzerland, votation) เป็นกระบวนการที่ประชาชนชาวสวิสตัดสินใจในเรื่องการปกครองและเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ โดยหน่วยเลือกตั้งจะเปิดตอนเช้าวันเสาร์และวันอาทิตย์ แต่คนโดยมากจะลงคะแนนล่วงหน้าทางไปรษณีย์ (เยอรมัน: Abstimmungssonntag)[ต้องการอ้างอิง] การลงคะแนนจะยุติที่เที่ยงวันอาทิตย์ และโดยปกติจะรู้ผลในเย็นวันเดียวกัน

ระบอบการปกครองของสวิตเซอร์แลนด์พิเศษกว่าประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ ในปัจจุบัน เพราะมีการดำเนินงานแบบประชาธิปไตยโดยตรงขนานกับประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน จึงมีการเรียกระบอบนี้ว่า ระบอบประชาธิปไตยกึ่งโดยตรง[1] ซึ่งให้อำนาจประชาชนเพื่อค้านกฎหมายที่ผ่านรัฐสภา และเพื่อเสนอการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญได้ทุกเมื่อ ในระดับสหพันธรัฐ อาจมีการลงคะแนนเสียงด้วยเหตุดังต่อไปนี้คือ

ประมาณ 4 ครั้งต่อปี จะมีการลงคะแนนเสียงในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งการริเริ่มออกกฎหมายและการขอ/ลงประชามติ ซึ่งประชาชนจะตัดสินใจนโยบายต่าง ๆ โดยตรง รวมทั้งการเลือกตั้ง ซึ่งประชาชนจะเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ การออกเสียงลงคะแนนในระดับสหพันธรัฐ รัฐ/แคนทอน และเทศบาลจะทำพร้อม ๆ กัน โดยประชาชนส่วนมากจะลงคะแนนทางไปรษณีย์ ในระหว่างเดือนมกราคม 2538 จนถึงมิถุนายน 2548 ประชาชนชาวสวิสได้ลงคะแนน 31 ครั้งเกี่ยวกับประเด็น 103 ประเด็น เทียบกับประชาชนชาวฝรั่งเศสที่ลงประชามติเพียงแค่ 2 ครั้งในช่วงเวลาเดียวกัน[2] ประเด็นสามัญที่สุดเป็นเรื่องบริการสาธารณสุข ภาษี สวัสดิการสังคม นโยบายยาเสพติด การขนส่งมวลชน การเข้าเมือง ผู้ลี้ภัย และการศึกษา[3]

จำนวนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งรัฐสภาได้ลดลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 จนถึงจุดต่ำสุดที่ 42.2% ในปี 2537 แต่ก็กลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึง 48.5% ในปี 2554[4] ส่วนอัตราการลงประชามติอยู่ที่ 49.2% ในปี 2554[4] การริเริ่มเปลี่ยนรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐโดยประชาชนในประเด็นที่ประชาชนสนใจน้อย อาจมีอัตราการลงคะแนนเพียง 30% แต่เรื่องที่มีความขัดแย้งสูง เช่นการเสนอกำจัดกองทัพสวิสหรือการเข้าร่วมสหภาพยุโรป ก็มีอัตราการลงคะแนนที่ 60%[5][6][7]

บัตรและเอกสารการลงคะแนนอื่น ๆ ที่ส่งทางไปรษณีย์ให้กับประชาชนแต่ละคนในกรุงเบิร์น เพื่อการเลือกตั้งและการลงประชามติในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2551

วิธีดำเนินการ

[แก้]

การลงคะแนนอาจทำด้วยการยกมือ บัตรที่ส่งทางไปรษณีย์ การไปที่หน่วยเลือกตั้ง และในเร็ว ๆ นี้ การลงคะแนนทางอินเทอร์เน็ต[8]

จนกระทั่งถึงปี 2514[9] แคนทอนบางแห่งจะปรับประชาชนผู้ไม่ลงคะแนนเสียงเทียบเท่ากับประมาณ 3 ดอลลาร์สหรัฐ โดยแคนทอนชัฟเฮาเซินปัจจุบันก็ยังบังคับให้ลงคะแนนเสียง จึงมีอัตราการลงคะแนนสูงกว่าที่เหลือในประเทศเล็กน้อย[10]

ไม่มีเครื่องลงคะแนนเสียงในสวิตเซอร์แลนด์ และการลงคะแนนจะนับ "ด้วยมือ" ทั้งหมด เทศบาลทุก ๆ เทศบาลจะจับสลากเลือกประชาชนให้นับบัตรเลือกตั้ง แต่การปรับเพราะไม่ทำหน้าที่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีแล้ว แต่หลังจากเจ้าหน้าที่แบ่งบัตรออกเป็นพวก (เช่น ตกลง ไม่ตกลง) จำนวนคะแนนก็จะนับด้วยมือ หรือในเมืองใหญ่ ด้วยเครื่องนับ (คล้ายกับเครื่องนับธนบัตรในธนาคาร) หรือแม้แต่วัดน้ำหนักด้วยเครื่องชั่งที่ตรงเป็นพิเศษ การนับปกติจะเสร็จภายใน 5-7 ชม. แต่ในเมืองใหญ่ ๆ เช่น ซือริชหรือเจนีวา การนับคะแนนเลือกตั้งรัฐสภาอาจใช้เวลานานกว่ามาก

บัตรลงคะแนนทางไปรษณีย์

[แก้]

ผู้ลงคะแนนไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนก่อนการเลือกตั้งในสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากคนในประเทศทุกคนรวมทั้งประชาชนและคนต่างด้าว ต้องลงทะเบียนกับเทศบาลภายในสองอาทิตย์เมื่อย้ายที่อยู่ เทศบาลรวม ๆ กันจึงรู้ที่อยู่ของประชาชนทั้งหมด ก่อนวันเลือกตั้งประมาณ 2 เดือน เทศบาลจะส่งจดหมายโดยจ่าหน้าว่า "บัตรเลือกตั้ง" ที่มีบัตรเลือกตั้งและจุลสารที่ให้ข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนแปลงกฎหมายตามที่เสนอ โดยสำหรับการลงประชามติ จะมีข้อความจากทั้ง คณะมนตรีสหพันธรัฐสวิส (Swiss Federal Council) ที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของสหพันธรัฐ (เลือกตั้งโดยฝ่ายนิติบัญญัติคือสภาสหพันธรัฐ) และผู้สนับสนุนกฎหมายที่จะเปลี่ยนแต่ละข้อ เพื่อให้สามารถโปรโหมตจุดยืนของตนได้

หลังจากที่กาลงคะแนนแล้ว ผู้ออกเสียงก็จะใส่บัตรลงในซองส่งกลับนิรนามที่มากับจดหมาย ซองนิรนามบวกกับบัตรมีลายเซ็นที่ระบุผู้ลงคะแนน ก็จะใส่ลงในซองส่งกลับอีกซองหนึ่งแล้วส่งไปให้เทศบาล ซองส่งกลับจริง ๆ ก็คือซองที่เทศบาลส่งมา ซึ่งมีแถบเปิดพิเศษที่ช่วยให้สามารถใช้ซองเดียวกันส่งกลับ ผู้ออกเสียงจำนวนมากโดยเฉพาะในหมู่บ้านหรือเมืองเล็ก ๆ จะใส่ซองส่งกลับลงในตู้รับจดหมายของเทศบาลโดยตรง ส่วนคนอื่น ๆ ก็จะส่งกลับทางไปรษณีย์โดยไม่ต้องเสียค่าแสตมป์

เมื่อเทศบาลได้รับซองจดหมาย ก็จะเช็คบัตรลายเซ็นเพื่อตรวจสิทธิ์ของผู้ออกเสียง แล้วซองนิรนามก็จะใส่รวมเข้ากับบัตรลงคะแนนจากหน่วยเลือกตั้ง

หน่วยเลือกตั้ง

[แก้]

ผู้ลงคะแนนเสียงสามารถลงคะแนนที่บู๊ธเลือกตั้ง โดยผู้ออกเสียงจะนำบัตรที่ได้ทางไปรษณีย์ไปหย่อนบัตรลงที่บู๊ธ ตั้งแต่สามารถเลือกตั้งทางไปรษณีย์ ประชาชนโดยมากก็ไม่ได้ใช้วิธีการลงคะแนนนี้ แต่ตามธรรมเนียม หน่วยเลือกตั้งจะเป็นจุดรวบรวมลายเซ็นเพื่อริเริ่มเปลี่ยนรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐโดยประชาชน

การลงคะแนนทางอินเทอร์เน็ต

[แก้]

ในปี 2558 ผู้ออกเสียงในแคนทอนเจนีวาและเนอชาแตลเท่านั้นสามารถลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยประชาชนประมาณ 90,000 คนสามารถลงคะแนนออนไลน์ได้[11]

คณะมนตรีสหพันธรัฐสวิสอนุญาตให้ประชาชนสวิสที่อยู่ต่างแดนลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมประชาชนผู้มีทะเบียนในแคนทอนเจนีวา ลูเซอร์น บาเซิล-ชตัดท์ และเนอชาแตล ซึ่งหมายความว่า ประชาชน 34,000 คนที่ลงทะเบียนในแคนทอนของตนแต่อยู่ต่างประเทศ สามารถลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ได้[12]

การลงคะแนนในเรื่องต่าง ๆ

[แก้]

การเลือกตั้ง/ลงคะแนน

[แก้]

มีการเลือกตั้งหลัก ๆ 3 อย่าง สองอย่างแรกเป็นการเลือกตั้งรัฐสภาและฝ่ายบริหาร ที่ทำให้ประชาชนสามารถเลือกผู้แทนในรัฐบาลทั้งในระดับสหพันธรัฐ รัฐ/แคนทอน และเทศบาล การเลือกตั้งรัฐสภาให้ตำแหน่งแก่พรรคต่าง ๆ ตามสัดส่วนคะแนนเสียงที่ได้ (proportional multi-party voting system) และการเลือกตั้งผู้บริหารเป็นการให้คะแนนเสียงแก่ผู้ลงรับเลือกตั้งโดยตรง โดยผู้ได้คะแนนมากที่สุดชนะ[13] การลงคะแนนอย่างที่สามเป็นการลงประชามติเกี่ยวกับนโยบายต่าง ๆ

สภาประจำชาติ (สภาล่าง)

[แก้]

การเลือกตั้งสมาชิกของ สภาประจำชาติ (National Council of Switzerland) ซึ่งเป็นสภาล่างของรัฐสภา จะเป็นไปตามกฎระเบียบของสหพันธรัฐ โดยเลือกทุก ๆ 4 ปี และครั้งสุดท้ายเกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม 2558

ตั้งแต่การริเริ่มเปลี่ยนรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐโดยประชาชนในปี 2461 การเลือกตั้งได้เป็นแบบการมีผู้แทนตามสัดส่วน (proportional representation) โดยแต่ละแคนทอนจะเป็นเขตเลือกตั้ง (เยอรมัน: Wahlkreis) โดยพรรคไม่ต้องผ่านเกณฑ์สัดส่วนคะแนนต่ำสุด (election threshold) เพื่อจะได้ตำแหน่ง ตั้งแต่ปี 2514 หญิงสามารถทั้งลงคะแนนเสียงและลงสมัครรับเลือกตั้งในสภาประจำชาติได้

ตั้งแต่การปฏิรูปการทำสำมะโนประชากรและการเปลี่ยนใช้ข้อมูลประชากรของรัฐฝ่ายบริหารเพื่อกำหนดจำนวนประชากรตั้งแต่ปี 2550 จำนวนตำแหน่งในสภาประจำชาติจากแต่ละแคนทอน จะขึ้นอยู่กับจำนวนผู้อยู่อาศัยเป็นประจำ (รวมทั้งคนที่ไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียง)[14] โดยมีข้อแม้ว่าแต่ละแคนทอนจะต้องได้อย่างน้อยหนึ่งตำแหน่ง

จำนวนตำแหน่งที่ให้กับแคนทอนที่ควรได้มากกว่าหนึ่ง จะกำหนดให้แก่พรรคที่มีเศษคะแนนเหลือมากที่สุด (largest remainder method)[A] ส่วนแคนทอนที่ได้ตำแหน่งเดียวในสภาแห่งชาติ ก็จะให้ตำแหน่งแก่ผู้แทนที่ได้คะแนนสูงสุด

แต่ละแคนทอนจะมีผู้แทนตามสัดส่วนคะแนนเลือกตั้งโดยวิธีที่เรียกว่า รายการเปิด (open list, free list) ประชาชนแต่ละคนสามารถลงคะแนนเป็นจำนวนเท่าที่มีตำแหน่งให้สำหรับเขตนั้น ๆ และบางครั้งสามารถให้คะแนนจนถึงสองคะแนนแก่ผู้รับเลือกตั้งคนหนึ่ง ๆ โดยคะแนนทุกคะแนนที่ให้กับผู้รับเลือกตั้ง ก็จะให้กับพรรคของผู้รับเลือกตั้งด้วย ผู้ลงคะแนนยังสามารถลงคะแนนทั้งหมดที่ยังไม่ให้ผู้รับเลือกตั้งคนใดคนหนึ่งแก่พรรค

ในการเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะพิมพ์รายการผู้รับเลือกตั้งจากพรรคของตน โดยแต่ละพรรคอาจจะพิมพ์หลายรายการ ในแต่ละรายการ จะมีจำนวนผู้รับเลือกตั้งเพียงแค่จำนวนตำแหน่งที่แคนทอน ๆ หนึ่งสามารถส่งไปยังสภาแห่งชาติ ผู้ลงคะแนนสามารถลงคะแนนให้ผู้รับเลือกตั้งจนถึงจำนวนที่สามารถส่งไปยังสภาแห่งชาติเช่นกัน เช่น คนแคนทอนซือริคสามารถลงคะแนนให้ผู้รับเลือกตั้ง 35 คน ในขณะที่คนแคนทอนยูริจะลงคะแนนได้แค่หนึ่ง

เป็นไปได้ที่ผู้รับเลือกตั้งคนเดียวจะมีชื่ออยู่ในรายการสองครั้ง อนึ่ง พรรคสามารถพิมพ์รายการหลายรายการสำหรับแคนทอน (เช่น รายการสำหรับชาย สำหรับหญิง สำหรับเยาวชน สำหรับผู้สูงอายุ และในแคนทอนใหญ่ ๆ ก็อาจจะมีรายการเฉพาะแต่ละเมืองหรือแต่ละเขต) และก็อาจเป็นไปได้ด้วยที่พรรคหลายพรรคจะรวมลงอยู่ในรายการเดียวกัน

ผู้ลงคะแนนสามารถเลือกรายการของพรรคโดยไม่เปลี่ยนอะไร หรือสามารถสับเอาผู้รับสมัครของพรรคอื่นใส่เข้าในรายการ ดังนั้น ผู้ลงคะแนนอาจจะเลือกผู้แทนเพียงคนเดียวจากพรรค และแบ่งคะแนนให้ผู้รับเลือกตั้งจากพรรคอื่น ๆ

ตำแหน่งที่ให้แก่พรรคจะกำหนดโดยระบบ Hagenbach-Bischoff system ซึ่งพิเศษตรงที่ว่า ผู้ลงคะแนนสามารถแบ่งให้คะแนนแก่พรรคต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับผู้แทนที่ตนชอบใจ[15]

สภาแห่งรัฐ (สภาสูง)

[แก้]

การเลือกตั้งสมาชิกของ สภาแห่งรัฐสวิส (Swiss Council of States) ซึ่งเป็นสภาสูงของรัฐสภา จะเป็นไปตามกฎระเบียบของแต่ละแคนทอนซึ่งไม่เหมือนกัน โดยสมาชิกจะเป็นตัวแทนของแคนทอน/รัฐ แต่การเลือกตั้งก็ยังเกิดขึ้นวันเดียวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาประจำชาติ และใช้วิธีการเลือกตั้งแบบคนที่มีคะแนนเสียงเหนือกว่า (อังกฤษ: plurality voting system, เยอรมัน: Majorzwahl) โดยมาก แต่รัฐซูคและรัฐอัพเพินท์เซลล์อินเนอร์โรเดิน จะเลือกตั้งก่อนรัฐอื่น ๆ และรัฐฌูว์ราก็เลือกตั้งสมาชิก 2 ท่านด้วยการเลือกตั้งผู้แทนตามสัดส่วน (เยอรมัน: Proporzwahl)

การเลือกตั้งระดับแคนทอน

[แก้]

ผู้ลงคะแนนยังสามารถเลือกตั้งตำแหน่งต่าง ๆ ของรัฐบาลในแต่ละแคนทอน บัตรเลือกตั้งมีแค่ช่องเดียวสำหรับแต่ละตำแหน่ง ที่ผู้ลงคะแนนสามารถเขียนชื่อประชาชนที่ถึงนิติภาวะแล้วผู้อาศัยอยู่ในแคนทอนนั้น ๆ ไม่มีการเลือกพรรค มีแต่เลือกบุคคล โดยผู้ได้คะแนนมากสุดเป็นผู้ชนะ (เยอรมัน: Majorzwahl) แต่ก็เป็นระบบลงคะแนนสองรอบ คือในรอบแรก ผู้ที่ได้คะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด (absolute majority) จะชนะ (เช่น ได้คะแนน 40-45% โดยมากกว่าคนอื่น ๆ 5-15%) ถ้ายังมีตำแหน่งที่ยังไม่มีใครได้ ก็จะมีการลงคะแนนรอบสองที่การได้คะแนนเสียงข้างมากปรกติก็พอแล้ว

แคนทอนทั้งหมดมีสภานิติบัญญัติเดียวที่โดยมากจะเลือกโดยการมีผู้แทนตามสัดส่วน และโดยมากมีเขตการเลือกตั้งขนาดต่าง ๆ และมีสูตรต่าง ๆ ในการคำนวณจำนวนตำแหน่งที่แต่ละพรรคจะได้ ส่วนรัฐเกราบึนเดิน อัพเพินท์เซลล์อินเนอร์โรเดิน และอัพเพินท์เซลล์เอาส์เซอร์โรเดิน เลือกตั้งสมาชิกสภาโดยเสียงข้างมาก

การขอ/การลงประชามติต่อกฎหมาย

[แก้]

ประชาชนสามารถร้องให้มีการลงประชามติต่อทั้งบทกฎหมายและบัญญัติในรัฐธรรมมนูญ การขอประชามติต่อกฎหมาย (Legislative referendum) ใช้สำหรับกฎหมายที่ผ่านโดยผู้แทนฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น โดยประชาชนไม่สามารถร่างกฎหมายเองผ่านกระบวนการนี้[16] แม้จะสามารถแก้รัฐธรรมนูญผ่านกระบวนการการริเริ่มเปลี่ยนรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐโดยประชาชนดังจะกล่าวต่อไป[17]

ในประเด็นกฎหมายที่เสนอแต่ละเรื่อง จะมีช่องในบัตรเลือกตั้งที่ผู้ลงคะแนนสามารถกาว่า "ตกลง" หรือ "ไม่ตกลง" หรือถ้ามีข้อเสนอที่ขัดแย้งกันเอง ก็จะมีคำถามเพื่อกันการได้คะแนนเท่ากัน เช่น "ถ้าประชาชนยอมรับข้อเสนอทั้งสอง คุณชอบใจข้อเสนอใดมากกว่ากัน" (subsidiary question เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1987) เพื่อคัดค้านกฎหมายที่ผ่านรัฐสภา ประชาชนจะต้องรวบรวมลายเซ็น 50,000 รายภายใน 100 วันหลังจากที่ประกาศกฎหมายอย่างเป็นทางการ ถ้าได้ลายเซ็นครบ ก็จะมีการลงประชามติทั่วประเทศ และถ้าประชาชนโดยมากไม่ยอมรับ กฎหมายก็จะยกเลิกไป[1]

อิทธิพลต่อการปกครอง

[แก้]

การคัดค้านกฎหมายได้ของประชาชนมีอิทธิพลต่อระบอบการปกครองทั้งระบบ[18] เพราะสนับสนุนให้พรรคต่าง ๆ สร้างรัฐบาลผสม เพื่อลดความเสี่ยงที่พรรคสำคัญจะขัดขวางการดำเนินงานของรัฐบาลโดยเริ่มกระบวนการขอประชามติ ซึ่งเพิ่มความชอบธรรมของการตัดสินใจทางการเมือง บังคับให้เจ้าหน้าที่ฟังเสียงจากประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่ประชาชนจะคัดค้านกฎหมายด้วยการขอประชามติ ก่อนจะเสนอกฎหมายในรัฐสภา รัฐบาลสหพันธรัฐปกติจะปรึกษากับประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อประกันว่าไม่มีกลุ่มสำคัญ ๆ ที่คัดค้านกฎหมายนั้นโดยตรง และที่มีกะใจในการเริ่มกระบวนการขอประชามติ[18]

การลงประชามติเพื่อเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ

[แก้]

การเปลี่ยนรัฐธรรมนูญจะบังคับให้มีการลงประชามติ และต้องได้เสียงข้างมากจากทั้งประชาชนและจากแคนทอนต่าง ๆ การเสนอเปลี่ยนรัฐธรรมนูญอาจมาจากรัฐสภา หรือเมื่อประชาชน 100,000 เซ็น การริเริ่มเปลี่ยนรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐโดยประชาชน (federal popular initiative)[19]

การได้เสียงข้างมากไม่ใช่ต้องมาจากประชาชนเท่านั้น แต่ต้องได้จากแคนทอนด้วย แคนทอนแต่ละแคนทอนมีเสียงหนึ่งคะแนน แม้ก็มีแคนทอนที่มีเสียงครึ่งคะแนนด้วย (เพราะเป็นแคนทอนที่แบ่งออกจากกันเมื่อหลายศตวรรษก่อน)[3] การลงคะแนนของแคนทอนจะขึ้นอยู่กับการลงคะแนนของประชาชนในแคนทอนนั้น ถ้าประชาชนข้างมากสนับสนุนข้อเสนอ แคนทอนทั้งแคนทอนก็จะลงคะแนนตามนั้น

การได้สิทธิลงคะแนนของแคนทอนหมายความว่า แคนทอนเล็ก ๆ ก็จะมีอิทธิพลเท่ากับแคนทอนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น แคนทอนบาเซิล-ลันท์ชัฟท์มีประชากร 256,000 คนแต่มีคะแนนครึ่งเดียว โดยคะแนนอีกครึ่งอยู่กับแคนทอนบาเซิล-ชตัดท์ เทียบกับแคนทอนอูรีที่มีหนึ่งคะแนน แต่มีประชากรเพียงแค่ 35,000 คน

มีการลงประชามติ 550 ครั้งตั้งแต่เริ่มใช้รัฐธรรมมนูญปี ค.ศ. 1848 ไม่ว่าจะในเรื่องบทกฎหมายหรือบทรัฐธรรมนูญ[20]

ระดับเทศบาล

[แก้]

ทุก ๆ หมู่บ้าน นิคม หรือเมือง จะมีสภาประชุมอภิปราย ในบางหมู่บ้าน จะเป็นการประชุมหมู่บ้าน ที่ประชาชนผู้ใหญ่ทั้งหมดสามารถยกมือออกเสียง ในการประชุมเยี่ยงนี้ ประชาชนสามารถเสนอประเด็นไม่ว่าจะโดยปากหรือเขียนเพื่อลงคะแนนเสียงในการประชุมครั้งต่อไป ในเขตที่ใหญ่ขึ้น (คือนิคม เมือง) ก็จะมีการประชุมโดยผู้แทนจากพรรคตามสัดส่วนที่ได้รับเลือก

ประชาชนจะเป็นผู้เลือกเทศบาลเสมอ โดยใช้เสียงข้างมากแม้จะมีข้อยกเว้นบ้าง สภาเทศบาลจะมีสมาชิกประมาณ 5-9 คน คร่าว ๆ แล้วก็คือ เขตยิ่งเล็กเท่าไร จำนวนสมาชิกก็จะน้อยลงเท่านั้น และในสภาโดยมาก ประชาชนก็จะเลือกตั้งผู้นำสภาโดยเสียงข้างมากด้วย

สภาเทศบาลจะลงคะแนนในเรื่องกฎหมายเทศบาล (เยอรมัน: Gemeindereglement) จัดการเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งการใช้ที่สาธารณะ เรื่องงบประมาณที่เกินอำนาจฝ่ายบริหาร และการแปลงสัญชาติ

คุณสมบัติของผู้ลงคะแนนเสียง

[แก้]

ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีคนอยู่ศัยประมาณ 7.5 ล้านคน เป็นประชากรชาวสวิส 5.6 ล้านคนที่มีสิทธิลงคะแนนเสียง แม้แคนทอนและเทศบาลบางหน่วยจะให้คนต่างด้าวสิทธิการออกเสียงถ้าได้อาศัยอยู่ในประเทศเป็นเวลาหลายปี

ประชาชนชาวสวิสที่มีอายุ 18 ปีหรือมากกว่านั้นมีสิทธิออกเสียงในระดับสหพันธรัฐเริ่มตั้งแต่หญิงมีสิทธิออกเสียงในปี 2514 ประชาชนผู้ใหญ่ทั้งหมดมีสิทธิออกเสียงในระดับแคนทอนตั้งแต่ปี 2533 เมื่อศาลระดับสหพันธรัฐตัดสินบังคับแคนทอนอัพเพินท์เซลล์อินเนอร์โรเดิน ซึ่งเป็นแคนทอนสุดท้ายที่ไม่ให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป

อนึ่ง ประชาชนชาวสวิสที่อาศัยอยู่นอกประเทศและอายุมากกว่า 18 สามารถลงคะแนนในระดับสหพันธรัฐ และในบางแคนทอน ในระดับแคนทอนด้วย ผู้ออกเสียงเหล่านี้จะต้องลงทะเบียนกับสถานทูตสวิสในพื้นที่หรือที่ใกล้ที่สุด แล้วสามารถเลือกลงทะเบียนกับเทศบาลที่เคยลงทะเบียน หรือกับเทศบาลบ้านเกิด

การลงคะแนนให้สัญชาติ

[แก้]

โดยทั่วไป เทศบาลไม่ว่าจะเป็นสภา ฝ่ายบริหาร หรือคณะกรรมการ จะเป็นผู้ตัดสินเรื่องการแปลงสัญชาติ แม้จะมีบางเทศบาล ที่ประชาชนจะลงคะแนน แต่ในปี 2546 ศาลสูงสุดระดับสหพันธรัฐได้ตัดสินว่า การแปลงสัญชาติเป็นอำนาจการปกครอง และดังนั้นไม่ควรทำโดยไร้เหตุผล จึงไม่สามารถปฏิเสธผ่านการลงคะแนนโดยนิรนามของประชาชนโดยไม่แสดงเหตุผล

ยังมีการอภิปรายเรื่องการเปลี่ยนกฎนี้อยู่ ข้อเสนอหนึ่งก็คือการแปลงสัญชาติโดยอัตโนมัติถ้าคนต่างด้าวได้ผ่านเกณฑ์ตามกฎแล้ว และประชาชนสามารถเสนอไม่ให้แปลงสัญชาติถ้าให้เหตุผลพร้อมกับการเสนอ แล้วก็จะลงคะแนนต่อข้อเสนอนั้น ถ้าคนต่างด้าวไม่ยอมรับผลของการลงคะแนนเสียง ก็จะสามารถร้องให้ศาลตรวจสอบความเป็นกลางของเหตุผลที่ให้ ต่อมา นักการเมืองบางท่านจึงได้เริ่มกระบวนการริเริ่มเปลี่ยนรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐโดยประชาชน เพื่อให้การลงคะแนนเสียงตัดสินการแปลงสัญชาติมีผลบังคับทางกฎหมาย[21] แต่เมื่อลงประชามติในปี 2551 ผู้ลงคะแนนเสียงโดยมากก็ไม่เห็นด้วย

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. largest remainder method (วิธีการให้ตำแหน่งแก่พรรคที่มีเศษคะแนนเหลือมากที่สุด) ให้หารคะแนนทั้งหมดที่พรรคได้ ด้วยคะแนนที่ต้องได้เพื่อจะได้ตำแหน่งหนึ่งตำแหน่ง ผลก็คือจำนวนเต็มและเศษที่เหลือ พรรคแต่ละพรรคเบื้องต้นจะได้ตำแหน่งตามจำนวนเต็ม โดยจะเหลือตำแหน่งที่ยังไม่ให้พรรคใด ๆ จากนั้นก็จะจัดลำดับพรรคตามเศษที่เหลือ พรรคที่มีเศษเหลือสูงสุดจะได้ตำแหน่งหนึ่ง ๆ ไปตามลำดับจนกระทั่งไม่มีเหลือ

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Cormon (2015), p. 22.
  2. Vincent Golay and Mix et Remix, Swiss political institutions, Éditions loisirs et pédagogie, 2008. ISBN 978-2-606-01295-3.
  3. 3.0 3.1 Cormon (2015), p. 24.
  4. 4.0 4.1 "Abstimmungen - Indikatoren". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-14.
  5. "Votation results for Swiss army abolition, 64.4% No". Admin.ch.
  6. "Votation for UE adhesion process in 1997 : 74.1% No". Admin.ch.
  7. "Votation for UE adhesion process in 2001 : 76.8% No". Admin.ch.
  8. "Elektronisches Abstimmen und Wählen für die Schweiz".
  9. "Abolition du vote obligatoire entre 1948 et 1971 dans les cantons de ZH, de SG, d'AG, de TG et de VD" (PDF). Admin.ch.
  10. Leybold-Johnson, Isobel. "Democratic? The canton where voting is compulsory". swissinfo.ch. สืบค้นเมื่อ 2016-05-09.
  11. "Electronic voting in Switzerland". 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-11.
  12. "Electronic voting from abroad". 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-11.
  13. Cormon (2015), p. 28-29.
  14. Bundesgesetz Uber die politischen Rechte ([https://www.admin.ch/opc/de/classified-compilation/19760323/index.html SR 161.111), Art. 161 "Verteilung der Sitze auf die Kantone", in effect since 1 January 2008.
  15. http://www.swissinfo.ch/eng/politics/2015-elections_luck-with-lists-and-misfortune-with-proportional-representation/41512932
  16. Swiss Federal Chancellery. "Right to request a referendum". Swiss Portal. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-30. สืบค้นเมื่อ 2013-03-07.
  17. Swiss Federal Chancellery. "Right to a popular initiative". Swiss Portal. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-30. สืบค้นเมื่อ 2013-03-07. Popular initiatives do not originate in Parliament or in the government but come directly from the citizens.
  18. 18.0 18.1 Cormon (2015), pp. 25–26.
  19. Cormon (2015), p. 23.
  20. "Swissvotes: Abstimmungsverzeichnis". Swissvotes.ch. สืบค้นเมื่อ 2010-12-12.
  21. "Initiative populaire fédérale 'pour des naturalisations démocratiques'". Admin.ch. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-06. สืบค้นเมื่อ 2010-12-12.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]