ข้ามไปเนื้อหา

การริเริ่มออกกฎหมายของประชาชน (สวิตเซอร์แลนด์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การเดินขบวนหน้ารัฐสภาของสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อสนับสนุนการริเริ่มเปลี่ยนรัฐธรรมนูญสหพันธรัฐโดยประชาชนเพื่อ "ห้ามการส่งออกอุปกรณ์ทางทหาร" ในปี 2550 ซึ่งต่อมาลงประชามติเมื่อปี 2552 โดยประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย

การริเริ่มออกกฎหมายของประชาชน หรือ การริเริ่มออกกฎหมายโดยประชาชน[1] (อังกฤษ: popular initiative, เยอรมัน: Volksinitiative, ฝรั่งเศส: Initiative populaire, อิตาลี: Iniziativa popolare, รูมันช์: Iniziativa dal pievel) เป็นกลไกทางประชาธิปไตยโดยตรงที่ให้ประชาชนเสนอกฎหมายในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไม่ว่าจะในระดับสหพันธรัฐ รัฐ หรือเทศบาล[2] ในระดับสหพันธรัฐและรัฐ คำนี้หมายถึงการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญในระดับนั้น ๆ ซึ่งเป็นกลไกการปกครองโดยตรงนอกเหนือไปจากการขอ/การลงประชามติและการถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้ง

การริเริ่มเปลี่ยนรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐโดยประชาชน

[แก้]

การริเริ่มเปลี่ยนรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐโดยประชาชน (อังกฤษ: federal popular initiative, เยอรมัน: Eidgenössische Volksinitiative, ฝรั่งเศส: Initiative populaire fédérale, อิตาลี: Iniziativa popolare federale) เป็นกลไกที่ให้ประชาชนเสนอการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐสวิส โดยจะจัดให้ลงคะแนนสำหรับการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่ได้รวบรวมลายเซ็นอย่างถูกต้อง 100,000 รายภายใน 18 เดือน[3]

ประเด็นริเริ่มกฎหมายบ่อยครั้งที่สุดก็คือ การดูแลสุขภาพ ภาษี สวัสดิการสังคม นโยบายยาเสพติด การขนส่งมวลชน การเข้าเมือง การให้ที่ลี้ภัย การศึกษาเป็นต้น มีข้อจำกัดเพียงสองอย่างในการริเริ่ม คือ[4]

  • ต้องผ่านเกณฑ์ที่กำหนด (เช่น มีเพียงประเด็นเดียวในเรื่องที่ริเริ่มแต่ละอย่าง ๆ)
  • การริเริ่มต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน (jus cogen)

กระบวนการนี้ต่างจากการลงประชามติโดยบังคับที่รัฐสภาเสนอการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการเสนอเปลี่ยนรัฐธรรมนูญของประชาชน แม้รัฐบาลจะไม่ชอบใจ ก็ยังไม่สามารถกันการริเริ่มที่ได้ลายเซ็นครบจำนวนเพื่อไม่ให้ลงประชามติ แต่จะสามารถเสนอบัญญัติโต้ตอบ (counter-project)[5] การได้เสียงส่วนมากทั้งจากประชาชนและจากรัฐต่าง ๆ จำเป็นเพื่อเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ

ประวัติ

[แก้]

การริเริ่มกฎหมายโดยประชาชนได้ใช้เป็นกลไกในระดับสหพันธรัฐตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2391 ระหว่างปี 2436-2557 มีการริเริ่มเปลี่ยนรัฐธรรมนูญในระดับสหพันธรัฐโดยประชาชน 192 รายการ มี 22 รายการที่ผ่านเป็นบทบัญญัติ มี 73 ที่ถอนโดยประชาชนชอบใจข้อเสนอโต้ตอบของฝ่ายนิติบัญญัติมากกว่า

การริเริ่มแรกที่ผ่านเป็นบัญญัติในรัฐธรรมนูญแรกก็คือ "การห้ามการฆ่าโดยไม่ได้สลบเสียก่อน" ซึ่งฟังดูเหมือนเรื่องสิทธิของสัตว์ แต่ในการปฏิบัติ เป็นการห้ามการฆ่าสัตว์ตามธรรมเนียมของชาวยิว (Shechita) โดยเฉพาะ ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ห้ามในสวิตเซอร์แลนด์จนถึงทุกวันนี้

การริเริ่มที่ผ่านเป็นบัญญัติในรัฐธรรมนูญเกิดในปีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 2436 2451 (ห้ามเหล้าอัปแซ็งต์) 2461 2463 (ห้ามการพนัน) 2464 2474 (ห้ามการพนัน) 2492 2525 2530 (การป้องกันพื้นที่ชุ่มน้ำ) 2533 (การพักใช้พลังงานนิวเคลียร์) 2536 (วันประจำชาติสวิส) 2537 (การปกป้องระบบนิเวศแบบแอลป์) 2545 (การเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหประชาชาติ) 2547 2548 2551 2552 (การห้ามสร้างหออะซาน) 2553 2555 2556 (การจำกัดเงินเดือนและสวัสดิการของผู้บริหารบริษัทมหาชน) 2557 (การห้ามการเข้าเมือง) และ 2557 (การห้ามคนใคร่เด็กไม่ให้ทำงานกับเด็กตลอดชีวิต)

ดังนั้น การริเริ่มเปลี่ยนรัฐธรรมนูญจึงผ่านเป็นกฎหมายน้อยมาก โดยมีช่องว่าง 20 ปีระหว่าง 2472-2492 และ 30 ปีระหว่าง 2492-2525 ที่การริเริ่มเปลี่ยนรัฐธรรมนูญทุกประการประชาชนไม่เห็นด้วย แต่ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ โดยมีการริเริ่ม 5 รายการที่ผ่านเป็นกฎหมายในคริสต์ทศวรรษ 2000 และอีก 5 รายการในระหว่างปี 2553-2557

ในบรรดา 170 รายการที่ไม่ผ่าน (โดยปี 2557) มีหลายเรื่องที่ยังเป็นประเด็นทางการเมืองที่สำคัญ ที่เด่นโดยอัตราการใช้เสียงก็คือ การห้ามคนเข้าเมืองในปี 2513 (74.7%) และ 2517 (70.3%) และการกำจัดกองทัพบกสวิส (69.2%)

การเปลี่ยนแปลงที่เสนอ

[แก้]

ในปี 2434 ช่วงที่กำลังบัญญัติกลไกนี้ในรัฐธรรมนูญสวิส การริเริ่มเปลี่ยนรัฐธรรมนูญโดยประชาชนหมายให้กลุ่มประชาชนที่ไม่ได้ตัวแทนในรัฐสภา ได้แสดงเสียง[6] แต่เริ่มตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 2000 มันก็กลายเป็นกลไกที่พรรคการเมืองที่ร่วมอยู่ในรัฐสภาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงกระบวนการทางรัฐสภา ผู้ไม่เห็นด้วยอ้างว่า มันบ่อนทำลายระบบการเมืองของสวิส ซึ่งต้องอาศัยการประนีประนอมและการปรับตัวให้เข้ากับกันและกัน เพราะการริเริ่มเป็นจุดจบของการต่อรองในประเด็นย่อย ๆ (เพราะประชาชนสามารถยอมรับหรือปฏิเสธกฎหมายที่ริเริ่มโดยทั้งหมดเท่านั้น) แต่คนอื่น ๆ ก็อ้างว่า นี่เป็นกระบวนการประชาธิปไตยแบบบริสุทธิ์[7]

ส่วนผู้คัดค้านท่านอื่น ๆ กล่าวว่า การมีการริเริ่มแบบน้ำท่วมทุ่งบั่นทอนเสถียรภาพทางกฎหมาย เพราะการริเริ่มที่เป็นการปฏิรูปอย่างรุนแรงเริ่มเกิดบ่อยครั้งขึ้นเรื่อย ๆ[8]

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. "initiative", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑ ฉบับ ๒๕๔๕, (รัฐศาสตร์) ๑. การริเริ่ม ๒. การริเริ่มออกกฎหมาย
  2. Cormon 2014, pp. 23–24
  3. Cormon, Pierre (2014). Swiss Politics for Complete Beginners. Editions Slatkine. p. 23. ISBN 978-2-8321-0607-5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-04. สืบค้นเมื่อ 2017-08-15. {{cite book}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  4. Cormon 2014, pp. 23–25
  5. Cormon 2014, pp. 23
  6. Cormon 2014, pp. 56
  7. Cormon 2014, pp. 57–58
  8. Jean-Philippe Buchs, Chantal Mathez de Senger, "Trop d'initiatives, les patrons s'alarment", Bilan, 3 April 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]