การพัฒนาการเมือง
การพัฒนาการเมือง เป็นคำที่เริ่มใช้กันในวงวิชาการรัฐศาสตร์เมื่อทศวรรษ 1960 โดยพัฒนามาจากการเรียนการสอนวิชาการเมืองเปรียบเทียบ (comparative politics) การพัฒนาการเมืองใช้เป็นมาตรฐานทางความเชื่อในทางการเมืองในเรื่องที่ว่า การเมืองในประเทศต่าง ๆ ต่างก็สามารถพัฒนาเข้าสู่สภาวะทางการเมืองที่ "ดีกว่า" แบบหนึ่ง การวัดการพัฒนาการทางการเมืองบางทีก็เรียกว่า "การทำการเมืองให้มีความทันสมัย" (political modernization)[1]
การศึกษาวิชาการพัฒนาการเมืองมีมโนทัศน์หลักที่สำคัญคือสถาบันทางการเมือง และวัฒนธรรมทางการเมือง
ภูมิหลังของการศึกษาการพัฒนาการเมือง
[แก้]หลังการล่มสลายของยุคล่าอาณานิคมในราวปลายศวรรษที่ 19 เกิดการปลดปล่อยอาณานิคม (decolonized) จนเกิดรัฐ-ชาติที่มีเอกราชที่สมบูรณ์ขึ้นในโลกจำนวนมากในเอเชีย, แอฟริกา และอเมริกาใต้ ทว่าประเทศเจ้าอาณานิคมเดิมยังต้องการคงอำนาจทางการเมืองไว้อยู่ เนื่องจากในเวลานั้นสถาณะการเมืองโลกอยู่ในช่วงการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างโลกเสรี กับโลกสังคมนิยม จึงมีการนำเสนอความเชื่อพื้นฐานของแนวคิดการพัฒนาการเมืองจะเชื่อว่าหากรัฐ-ชาติที่เกิดขึ้นใหม่นั้นจะมีความมั่นคงในทางการเมืองจะต้องพัฒนาประเทศไปในแนวทางของประเทศที่พัฒนาแล้ว (developed country) ซึ่งโดยนัยก็คือประเทศใน “โลกตะวันตก” ที่เคยเป็นประเทศเจ้าอาณานิคมอาทิ อังกฤษ, ฝรั่งเศส, สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ดังนั้นวัตถุประสงค์หลักของแนวคิดการพัฒนาการเมืองนั้นสามารถเข้าใจได้ในสองด้านคือ[2]
- เพื่อเป็นจัดระดับความสัมพันธ์ในระดับของการเมืองระหว่างประเทศ
- เพื่อเป็นเครื่องเมืองในทางการเมืองเพื่อป้องกันรัฐ-ชาติที่เกิดขึ้นใหม่ไม่ให้ใช้แนวทางในการปกครองในแบบคอมมิวนิสต์
ข้อสังเกตหนึ่งคือในรัฐ-ชาติทีเกิดขึ้นใหม่นั้นมักถูกมองว่ามีความวุ่นวายในทางการเมืองมากเกินไป ในเวลาดังกล่าวรัฐ-ชาติที่เคยเป็นประเทศลูกอาณานิคมประสบปัญหาทางการเมืองต่าง ๆ อันนำไปสู่ฆาตกรรมทางการเมือง, การรัฐประหาร, และความล้มเหลวในการนำเข้าระบอบประชาธิปไตย นักรัฐศาสตร์อเมริกันตีความว่าปรากฏการณ์ความล้มเหลวของการสร้างระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยในรัฐชาติที่เกิดขึ้นใหม่นั้นเกิดจากการขาดการพัฒนาการเมือง การแก้ปัญหาดังกล่าวนักรัฐศาสตร์มุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์การเมืองของประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจ โดยมองว่าความวุ่นวายในทางการเมืองที่กล่าวมานี้ส่งผลโดยตรงต่อสมรรถภาพในการ “ก้าวหน้า” ในทางการเมือง และยังมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อสมรรถนะในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคมอีกด้วย หรือก็คือแนวคิดพัฒนาการเมืองจะมองว่าการเมืองคือตัวกำหนดสมรรถนะทางเศรษฐกิจ และสังคมซึ่งจะต่างกับรัฐ-ชาติที่มีระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ที่จะใช้เศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดการเมือง และสังคม แนวคิดการพัฒนาการเมืองจะให้ความสำคัญกับรัฐในสถานะที่เป็นสถาบันหลักในการสรรสร้างจิตสำนึกในทางการเมือง และกรอบในการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยเพื่อเป็นรากฐานให้กับการสร้างความเป็นสถาบันให้เกิดขึ้นในรัฐ-ชาติ อย่างไรก็ตามสำหรับในประเทศโลกที่สามนั้นสถาบันที่หากเข้มแข็งแล้วมักส่งผลกระทบในทางลบต่อการพัฒนาการเมืองคือสถาบันกองทัพ อย่างไรเสียวัฒนธรรมทางเมืองที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมในทางการเมือง ซึ่งรัฐ-ชาติที่เกิดใหม่หรือในภาษาของแนวคิดพัฒนาการเมืองคือประเทศด้อยพัฒนา (underdeveloped country) นั้นมักมีระดับของการมีส่วนร่วมในทางการเมืองที่ต่ำ ผลที่ตามมาก็คือจะมีการโกงกิน (corruption) ในระดับสูง[3]
การศึกษาการพัฒนาการเมืองของนักรัฐศาสตร์
[แก้]แนวคิดการพัฒนาการเมืองนั้นเป็นวิธีการศึกษาการเมืองที่เกิดขึ้นร่วมสมัยกับการศึกษารัฐศาสตร์ในแนวพฤติกรรมศาสตร์ (behavioralism) ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่วิชารัฐศาสตร์พยายามสร้างงานวิจัยที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาในสังคมจริงๆ ได้มองปัญหาอย่างมีจุดมุ่งหมาย ที่สามารถนำไปแก้ปัญหาได้จริง และทำให้รัฐศาสตร์กลายเป็นศาสตร์บริสุทธิ์ (pure science) มากกว่าที่เป็นอยู่ ในอีกภาษาหนึ่งก็คือเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่นักรัฐศาสตร์พยายามสร้างแนวทางในการศึกษาการเมืองที่ไม่ต้องหยิบยืมวิธีวิทยาแบบวิทยาศาสตร์, การทำสถิติมาใช้[4]
ในวงวิชาการรัฐศาสตร์แนวคิดพัฒนาการการเมืองมีการเรียนการสอนในระดับกระบวนทฤษฎี หรือในภาษาที่เป็นที่รู้จักมากกว่าคือเป็นวิธีวิเคราะห์การพัฒนาทางการเมือง (political development approaches) ดังกล่าวซึ่งเป็นอิทธิพลทางทฤษฎีของนักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน แกเบรียล อัลมอนด์ (Gabriel Abraham Almond) ที่หยิบยืมวิธีวิเคราะห์มาจากวิธีวิเคราะห์โครงสร้างและหน้าที่ (structural-functional approaches) ที่มองว่าการเมืองโดยรวมนั้น สามารถจะพัฒนาได้หากสมาชิกในสังคมมี “สำนึกพลเมือง (civic culture) ” หรือ “วัฒนธรรมพลเมือง (civic culture” ในการเข้าร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขัน (the participant political culture) แต่หากสมาชิกในสังคมการเมืองวางเฉยทางการเมือง (the parochial political culture) หรือรับรู้แต่ไม่เข้าร่วมทางการเมือง (the subject political culture) การเมืองนั้นก็จะด้อยพัฒนา[5]
นักรัฐศาสตร์คนสำคัญอีกคนหนึ่งในแนวคิดเรื่องการพัฒนาการเมืองคือ ลูเซียน พาย (Lucian W. Pye) มองว่าการพัฒนาทางการเมืองนั้นเป็นโรคระบาดทางการเมืองอย่างหนึ่ง (political syndrome) ที่มนุษย์ต้องการให้เกิดขึ้นกับระบบการเมืองการปกครองของรัฐ-ชาติตน เพราะ สังคมการเมืองที่มีการพัฒนาการเมืองมาก โครงสร้างทางการเมืองจะสลับซับซ้อน มีการแบ่งงานตามความชำนาญเฉพาะด้าน (differentiation of specialization) เป็นหน่วยเล็กๆ ที่ดำเนินการอย่างอิสระ (subsystem autonomy) แต่ยังคงประสานงานกับหน่วยใหญ่หรือรัฐอยู่เสมอ สังคมการเมืองที่มีพัฒนาการในทางการเมืองจะเคารพในความเท่าเทียม (equality) สมาชิกในสังคมการเมืองจะมีมีสิทธิในการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองในลักษณะหรือรูปแบบต่างๆ โดยเท่าเทียมกัน ภายใต้กฎระเบียบที่เป็นการทั่วไป (generally) รวมถึงการเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเรื่องของความสามารถของบุคคลไม่ใช่เป็นเรื่องของชาติตระกูล ที่สำคัญที่สุดคือ ระบบการเมืองสามารถที่จะตอบสนองข้อเรียกร้องจากเหล่าสมาชิกในสังคมการเมืองได้มากกว่า (capacity) รวมทั้งสามารถเปลี่ยนแปลงเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของระบบโครงสร้างทางสังคม โดยเอื้อต่อเป้าหมายใหม่ๆ ของระบบอีกด้วย[6]
ซามูเอล ฮันทิงตัน (Samuel Huntington) สรุปว่าการพัฒนาการเมืองคือทฤษฎีการเมือง หรือกระบวนทฤษฎีที่มองว่าความสามารถที่ระบบการเมืองทำให้คนในสังคมสนับสนุนในกิจกรรมทางการเมือง และเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม โดยการระดมทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสังคมและเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ของสังคม โดยเป้าหมายของพัฒนาการทางการเมืองคือ “การสร้างสถาบันเพื่อจัดระเบียบการมีส่วนร่วมทางการเมือง” เป็นสำคัญ [7]
นิยามของคำว่า การพัฒนาทางการเมือง
[แก้]ลิขิต ธีระเวคิณได้กล่าวว่าคำว่า การพัฒนาการเมือง (political development) เป็นศัพท์ทางรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากที่เจ้าอาณานิคมได้ถอนกำลังออกไปจากประเทศที่ตนเคยเป็นเจ้าอาณานิคมมาก่อน ทันทีที่มีการถอนออกจากอดีตอาณานิคมหลายประเทศกลับตกอยู่ในสภาพสงครามกลางเมือง มีการสู้รบกันระหว่างฝ่ายต่างๆ จนแยกออกเป็นหลายประเทศ ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคืออินเดียซึ่งแยกออกเป็นอินเดียและปากีสถาน ต่อมาก็แยกเป็นประเทศบังคลาเทศอีกประเทศหนึ่ง สิ่งซึ่งทำให้เจ้าอาณานิคมหลายประเทศไม่เข้าใจก็คือ ก่อนการถอนออกไปนั้นได้มีการร่างรัฐธรรมนูญและข้อตกลงต่างๆ ไว้เป็นอย่างดี แต่ทันทีที่ถอนกำลังออกไปกลับกลายเป็นการต่อสู้ระหว่างเผ่าพันธุ์ ระหว่างกลุ่มซึ่งมีศาสนาต่างกัน และระหว่างกลุ่มซึ่งมีความขัดแย้งทางการเมืองและอุดมการณ์ เมื่อมีการพยายามหาคำตอบจากปรากฏการณ์ดังกล่าวโดยนักรัฐศาสตร์ก็ได้คำตอบสั้นๆ ว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นสะท้อนให้เห็นถึงการขาดการพัฒนาการเมือง[8]
ในวงวิชาการอเมริกันนั้น นิยามของการพัฒนาการเมืองเกิดในช่วงที่พายเป็นประธานคณะกรรมการการเมืองเปรียบเทียบในการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ที่ให้การสนับสนุนการศึกษาการพัฒนาการเมืองมาตั้งแต่แรกเริ่มในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 พาย ได้พยายามศึกษาวิเคราะห์ประเด็นต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเมือง และพบว่ามีประเด็นที่สำคัญ ๆ มากมายและค่อนข้างสลับซับซ้อนกว่าที่เขาคาดไว้ พาย จึงได้สรุปการพยายามนิยามการพัฒนาการเมืองที่มีอยู่ในวงวิชาการอเมริกันไว้ 10 ประการ คือ[9]
- การพัฒนาการเมือง เป็นพื้นฐานทางการเมืองของการพัฒนาเศรษฐกิจ ในแง่นี้การเมืองที่พัฒนาแล้วจะเปรียบเสมือนปัจจัยที่สำคัญที่จะเอื้ออำนวยต่อความเจริญทางเศรษฐกิจ เช่น ช่วยให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรเพิ่มขึ้น แต่ปรากฏว่าการพัฒนาการเมืองในแง่นี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าแคบไป ทั้งความเจริญทางเศรษฐกิจนั้นอาจเกิดขึ้นได้ในระบบการเมืองที่แตกต่างกัน และจากข้อเท็จริงที่ปรากฏให้เห็นในหลายประเทศปัจจุบันว่า ความเจริญทางเศรษฐกิจ หาได้มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นในช่วงอายุของเราไม่ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองถึงขนาดที่เราอาจจัดได้ว่าเป็นการพัฒนาการเมืองแล้วก็ตาม แนวคิดนี้ชี้ให้เห็นว่า หากระบบการเมืองมีการพัฒนาสูง จะส่งเสริมให้เกิดความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ความำสเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจจึงขึ้นอยู่กับระดับของการพัฒนาการเมืองของแต่ละสังคม
- การพัฒนาการเมือง เป็นการเมืองของสังคมอุตสาหกรรม นั่นคือมีการมองกันว่าการเมืองในประเทศอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยหรือเผด็จการจะมีแบบแผนของพฤติกรรมของสมาชิกของสังคมในลักษณะที่มีเหตุผล รัฐบาลมีความยอมรับผิดชอบต่อความสงบสุขและมีความกินดีอยู่ดีของประชาชน ซึ่งเท่ากับเป็นการยอมรับว่าการเมืองเป็นเพียงเครื่องมือในการแก้ปัญหา หาได้เป็นเป้าหมายในตัวเองไม่ การเมืองของสังคมอุตสาหกรรมจึงนับได้ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีซึ่งชี้ให้เห็นหถึงความสำเร็จในการแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปด้วยดี โดยเฉพาะในปัญหาหลักคือ การแจกแจงความกินดีอยู่ดีให้กับสมาชิกอย่างเป็นธรรมกว่าในสังคมอื่น ๆ แนวคิดนี้ชี้ให้เห็นว่า สังคมที่พัฒนาจนก้าวเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมได้นั้น ระบบการเมืองจะต้องมีระดับการพัฒนาสูง ดังนั้น ลักษณะระบบการเมืองของสังคมอุตสาหกรรมคือรูปธรรมของระบบการเมืองที่พัฒนาแล้ว
- การพัฒนาการเมือง เป็นความเป็นทันสมัยทางการเมือง เนื่องจากแนวความคิดที่พยายามโยงการพัฒนาการเมืองกับการเมืองของสังคม อุตสาหกรรมได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นแนวความคิดที่ที่ลำเอียง ไม่ให้ความสำคัญกับประเพณีและปทัสถานของสังคมอื่น ๆ มาตรฐานของสังคมอุตสาหกรรมหรือสังคมตะวันตกนั้น ไม่สามารถใช้วัดได้ในทุกระบบสังคม ซึ่งจากข้อแย้งเหล่านี้ก็เนื่องมาจากความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผลจากความเจริญทางวิทยาการเหล่านี้เองจะช่วยสนับสนุนให้มนุษย์ได้มองเห็นแง่มุมต่าง ๆ ของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองได้กว้างขวางยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การเรียกร้องให้มีกฎหมายที่เป็นสากล สามารถให้ความยุติธรรมกับสมาชิกของสังคมโดยทั่วหน้ากัน มีกลุ่มต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย เช่น พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มอิทธิพล แต่ละกลุ่มต่าง ก็พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยมุ่งหวังที่จะใช้อิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายนั้นๆ ออกมาในรูปของการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มตนให้มากที่สุด และความเป็นทันสมัยทางการเมืองเหล่านี้เองจึงเป็นประเด็นที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาทางการเมืองในความหมายนี้ แนวคิดนี้เชื่อมั่นว่า การพัฒนาการเมืองจะเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองให้มีความทันสมัย (Political Modernization) กล่าวคือ จะต้องมีการแบ่งโครงสร้างทางการเมืองให้มีความแตกต่างซับซ้อน จะต้องสร้างสรรค์ให้เกิดเอกภาพในอำนาจทางการปกครอง และจะต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง เรามักเกิดความสงสัยกันบ้างว่า การพัฒนาการเมืองกับการสร้างความทันสมัยทางการเมือง (Political Modernization) นั้นเป็นสิ่งเดียวกันหรือแตกต่างกันอย่างไร ในประการนี้ บิลล์และฮาร์ดเกรฟ [10]ได้ให้ทัศนะไว้ว่า ความหมายของการพัฒนาการเมืองกับการเปลี่ยนหรือทำให้เป็นความทันสมัยทางการเมือง นั้น มีความหมายที่แตกต่างกันไม่มาก และมีการใช้แทนกันได้บ้าง แต่กระนั้น จุดเน้นของการพัฒนาจะพิจารณากันที่ความสามารถในการตอบสนองของระบบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นหรือความสัมพันธ์กับข้อเรียกร้องเป็นด้านหลัก แต่การเปลี่ยนแปลงหรือการทำให้เกิดความทันสมัยนั้น มุ่งดูที่การเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวพันกับการที่มนุษย์ควบคุมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิควิทยาที่ตกทอดกันมาในช่วงระยะเวลาราว 400 ปีผ่านมานี้เอง
- การพัฒนาการเมือง เป็นเรื่องการดำเนินงานของรัฐชาติความคิดนี้เกิดจากความเห็นที่ว่าแนวปฏิบัติทางการเมืองที่เกิดขึ้นอันถือได้ว่ามีลักษณะที่พัฒนาแล้วนั้นจะคล้องจองกับมาตรฐานของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในรัฐชาติยุคใหม่ กล่าวคือ รัฐชาติเหล่านี้สามารถที่จะปรับตัวและดำรงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของสังคมได้ในระดับหนึ่ง แถมยังสร้างลัทธิชาตินิยมอันถือได้ว่าเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการพัฒนาการเมือง ซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชาติ อีกนัยหนึ่งการพัฒนาการเมืองในแง่นี้ก็คือการสร้างชาติ (Nation-building) นั่นเอง แนวคิดนี้หมายถึง การทำให้รัฐบาลมีอำนาจครอบคลุมทั้งประเทศ ประชาชนมีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยใช้นโยบายชาตินิยมเห็นเครื่องมือสำคัญเพื่อให้เกิดความเป็นชาติอย่างแท้จริง
- การพัฒนาการเมือง หมายถึงเรื่องราวของการพัฒนาระบบบริหารและกฎหมายแนวความคิดต่อเนื่องมาจากความเห็นดีว่าการพัฒนาการเมืองเป็นเรื่องการสร้างชาติ โดยแบ่งรูปแบบของการสร้างชาติออกเป็น 2 รูปแบบคือ การสร้างสถาบัน และการพัฒนาพลเมืองซึ่งทั้ง 2 รูปแบบนี้จะคล้องจองกันในลักษณะหนึ่ง แนวความคิดนี้มุ่งที่การพัฒนาสถาบันบริหารและพัฒนาเครื่องมือของสถาบันนี้ไปพร้อมๆ กันด้วยนั่นคือการพัฒนากฎหมายเพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยและประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม แนวทางนี้ชี้ให้เห็นว่า ระบบบริหารเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนจะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับระดับของการพัฒนาการเมือง ระบบการเมืองที่มีระดับการพัฒนาสูง จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพของการบริหาร ตลอดจนชี้ให้เห็นว่า ระบบกฎหมายจะได้รับการพัฒนา เพื่อดำรงความยุติธรรมของสังคมและตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ภายใต้ระบบการเมืองที่มีการพัฒนา
- การพัฒนาการเมือง เป็นเรื่องของการระดมพลและการมีส่วนร่วมทางการเมือง แนวความคิดนี้อ้างว่าการฝึกฝนและการให้ความสำคัญกับสมาชิกของสังคมในฐานะเป็นราษฎร ตลอดจนการส่งเสริมให้พวกเขาเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อรัฐชาติใหม่ และถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาการเมือง และประเด็นที่สำคัญประการหนึ่งในการศึกษาการพัฒนาการเมืองในแง่นี้คือ เรามักจะผูกพันลักษณะการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองกับสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยมากเกินไปจนมองข้ามการมีส่วนร่วมทางการเมืองในลักษณะอื่นๆ ด้วย หัวใจสำคัญของแนวคิดนี้คือ อำนาจทางการเมืองเป็นของประชาชน ดังนั้นประชาชนจะต้องแสดงบทบาทในการควบคุม กำกับ และตรวจสอบระบบการเมือง เพื่อให้แน่ใจว่าระบบการเมืองที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองดังกล่าว คือระบบการเมืองที่พัฒนา หรืออาจกล่าวได้ว่า แนวทางการพัฒนาทางการเมือง คือ การส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างกว้างขวางและทั่วถึง
- การพัฒนาการเมือง เป็นเรื่องของการพัฒนาประชาธิปไตย แนวความคิดนี้ค่อนข้างจะแคบ คือ มองว่าการพัฒนาการเมืองมีอยู่รูปแบบเดียว คือ การสร้างประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้จึงมีนักวิชาการหลายท่านวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นคำนิยามที่ลำเอียง มุ่งที่จะยัดเยียดค่านิยมทางการเมืองแบบตะวันตกให้กับประเทศด้อยพัฒนาซึ่งควรจะสนใจว่า “พัฒนา” ให้การเมืองของชาติก้าวหน้าได้อย่างไร มากกว่าที่จะสนใจว่าจะสร้างประชาธิปไตยอย่างตะวันตกได้อย่างไรในขณะที่ค่านิยมของตนเองไม่เอื้อประโยชน์ให้เลย แนวคิดนี้สรุปอย่างชัดเจนว่า การพัฒนาทางการเมืองคือ การพัฒนาระบบการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย ยิ่งระบบการเมืองเป็นประชาธิปไตยมากเท่าใด ก็ย่อมแสดงว่ามีการพัฒนามากขึ้นเท่านั้น
- การพัฒนาการเมือง เป็นเรื่องของความมีเสถียรภาพและการเปลี่ยนแปลงที่เป็นระเบียบ แนวทรรศนะนี้มีความลำเอียงในแง่ของค่านิยมแบบประชาธิปไตยน้อยลง คือมองว่าลักษณะการเมืองที่พัฒนาแล้วจะเกิดขึ้นในระบอบการเมืองใดก็ได้ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้ นอกจากนี้ยังมองว่าประชาธิปไตยนั้นไม่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และไม่อาจก่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองได้ การพัฒนาการเมืองในแง่นี้จึงเป็นลักษณะของการดำเนินชีวิตทางการเมืองที่ไม่วุ่นวายและเป็นไปอย่างมีระเบียบแบบแผนนั่นเอง แนวคิดนี้สรุปให้เห็นได้ว่า ลักษณะของระบบการเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงตามกฎเกณฑ์กติกา จะก่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง ทั้งนี้เพราะประชาชนจะเกิดความเชื่อมั่น ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ
- การพัฒนาการเมือง เป็นเรื่องของการระดมพลและอำนาจ แนวความคิดนี้พัฒนามาจากความเห็นเก่าๆ ทั้งในเรื่องของสถาบันและเสถียรภาพทางการเมืองโดยมองบว่าเหตุสำคัญที่จะก่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองและทำให้สถาบันดำเนินไปอย่างประสิทธิภาพได้ขึ้นอยู่กับความสามารถของระบบการเมืองเอง กล่าวคือ ถ้าระบบการเมืองใดสามารถที่จะระดมพลและอำนาจเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ สามารถทำให้คนปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และระเบียบแบบแผนของระบบ และระบบเองก็สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ รวมทั้งสามารถแจกแจงทรัพยากรเหล่านี้อย่างเป็นธรรมโดยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนแล้ว ระบบการเมืองนั้นถือได้ว่าพัฒนาแล้ว
- การพัฒนาการเมือง เป็นแง่หนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ดังที่เราได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า การพัฒนาการเมืองนั้น จะผูกพันอย่างแน่นแฟ้นกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม การที่ด้านใดด้านด้านหนึ่งของสังคมแปรเปลี่ยนไปจนกระทบถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านอื่นๆ ด้วย การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็ถือว่าเป็นลักษณะหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทั้งปวงของสังคม ฉะนั้นในการศึกษาการพัฒนาการเมืองจึงจำเป็นต้องศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมพร้อมกันไปด้วย
นิยามของคำว่าพัฒนาการเมืองทั้ง 10 ประการเหล่านี้ พาย ไม่ได้พูดว่านิยามใดผิด หรือถูกมากกว่านิยามอื่นๆแต่เป็นเพียงเขาต้องการเน้นถึงตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเมืองที่สำคัญๆ ตามแนวทรรศนะของนักวิชาการในสำนักต่างๆ เท่านั้น ด้วยเหตุนี้แต่ละทรรศนะจึงย่อมที่จะต้องมีอคติอยู่บ้างเป็นธรรมดา เช่น มองเพียงแต่ว่าการเมืองที่พัฒนาแล้วเป็นการเมืองแบบประธิปไตย เป็นต้น
นอกจากนี้ พาย พร้อมด้วยสมาชิกคณะกรรมการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบ (Committee on Comparative Politics) ได้สรุปแนวความคิดของสำนักงานต่าง ๆ และสร้างลักษณะร่วม หรือสาระสำคัญของความหมายของการพัฒนาการเมือง จำแนกออกได้เป็น 3 ประการ โดยเรียกรวมกันว่า "โรคติดต่อของการพัฒนา (Development Syndrome)" ประกอบด้วย
- ความชำนาญงาน (differentiation) หมายถึง การที่องค์กรหรือหน่วยงานใด ๆ มีโครงสร้างที่แตกต่างกันไป มีหน้าที่จำกัดและมีความชำนาญงานเฉพาะด้าน โคลแมน (Coleman) กล่าวไว้ว่า Differentiation หมายถึง “กระบวนการซึ่งบทบาท ส่วนต่าง ๆ ของสถาบันและสมาคมที่มีกากรแยกแยะและมีความชำนาญงานเฉพาะด้านเพิ่มมากขึ้นในสังคมที่ดำเนินการสู่ความเป็นทันสมัย” นั่นคือ สังคมใดที่มีการพัฒนาการเมืองมาก จะยิ่งมีโครงสร้างทางการเมืองที่สลับซับซ้อน ทำหน้าที่อันจำกัดตามความชำนาญเฉพาะด้าน แต่ลักษณะของการแยกแยะโครงสร้างย่อมๆ ออกเป็นหน่วยเล็กๆจำนวนมากนี้ไม่ใช่เป็นการก่อให้เกิดความแตกแยกหรือแต่ละหน่วยเล็กๆจะดำเนินการเป็นอิสระเอกเทศแต่ประการใด หน่วยเล็กๆเหล่านี้ยังคงต้องประสานงานกับหน่วยใหญ่ของโครงสร้าง เพื่อร่วมมือการดำเนินงานให้บรรลุสู่จุดประสงค์หรือเป้าหมายที่องค์กรนั้น ๆ วางไว้ เราจึงพบว่าในสังคมดั้งเดิมจะมีความชำนาญงานเฉพาะด้านและระดับของความซับซ้อนขององค์กรน้อยกว่าสังคมสมัยใหม่ที่พัฒนาแล้วมาก ผู้ปกครองของสังคมดั้งเดิมจะทำหน้าที่ทั้งนิติบัญญัติ บริหารบัญญัติ และตุลาการบัญญัติ คือเป็นทั้งผู้ออกกฎหมาย นำกฎหมายมาบังคับใช้ และตัดสินความไม่มีองค์กรที่ทำหน้าที่โดยเฉพาะ หรือถ้าเราจะนำโครงสร้างของสังคมศักดินามาเปรียบเทียบกับสังคมสมัยใหม่ นั้นจะพบว่าในสังคมศักดินาจะมีระดับจองความซับซ้อนขององค์กรย่อยน้อยมาก ในสมัยก่อนรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ของไทยนั้น เรามีองค์กรทางการเมืองซึ่งเทียบเท่ากระทรวงในปัจจุบันเพียง 4 องค์กร คือ เวียง วัง คลัง และนา เท่านั้น แต่ปัจจุบันสังคมเราได้วิวัฒนาการมีการแจกแจงหน้าที่ใหม่ๆที่เกิดขึ้นให้กับองค์กรซึ่งตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อที่จะสนองตอบต่อปัญหาและความต้องการใหม่ๆที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้เราจึงมีกระทรวงต่าง ๆ มากมาย และแต่ละกระทรวงยังแยกหน่วยงานย่อยออกไปอีกมาก จึงนับได้ว่าสังคมปัจจุบันพัฒนาการมากกว่าสังคมในอดีตมาก
- ความเท่าเทียม (equality)หมายถึง ความเสมอภาคเท่าเทียมกันแยกออกเป็น 3 ประการ คือ ประการแรก เป็นความเสมอภาคในฐานะที่เป็นราษฎรซึ่งมีสิทธิในการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองในลักษณะหรือรูปแบบต่างๆ โดยเท่าเทียมกัน ประการที่สองคือ ความเท่าเทียมกันภายใต้กฎระเบียบที่เป็นสากลอันเดียวกัน หมายความว่า ราษฎรที่ทำผิดก็จะต้องได้รับโทษไม่มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดที่เป็นอภิสิทธิ์ชนอยู่เหนือกฎหมายได้ ส่วนประการที่สามคือ ปทัสถานที่มีหลักเกณฑ์อยู่บนความสัมฤทธิผล กล่าวคือ การเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเรื่องของความสามารถของบุคคล ไม่ใช่เป็นเรื่องของชาติตระกูลสูงหรือต่ำ หรืออาจกล่าวได้ว่า ราษฏรในสังคมที่พัฒนาแล้วจะมีความเท่าเทียมกันในโอกาสบนเงื่อนไขของความสามารถนั่นเอง
- ความสามารถ (capacity)หมายถึง ความสามารถของระบบการเมือง ในการที่จะสนองตอบต่อข้อเรียกร้องจากเหล่าสมาชิก สามารถกำจัดข้อขัดแย้ง แก้ไขความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในสังคมและยังก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ หรือนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงยังไม่ขาดสายด้วย จึงเห็นได้ว่าคำว่าความสมารถของระบบในแง่นี้หาได้มีความหมายเฉพาะในเรื่องของความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนไป แต่ยังหมายถึงความสามารถของระบบในการที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมบางอย่างเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของระบบเอง ความสามารถในการสร้างสิ่งใหม่ๆปรับปรุงแก้ไขและสามารถดำเนินการให้การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆนี้เอื้ออำนวยต่อเป้าหมายใหม่ๆ ของระบบอีกด้วย[11] รัฐบาลของประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น จะมีประสิทธิภาพในการสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนในด้านต่างๆ ได้ดี สามารถที่จะนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพโดยยึดหลักการของความเป็นเหตุเป็นผล และหลักการทางโลกในการบริหารงานด้วย
อคติของคำนิยามการพัฒนาการเมือง
[แก้]อย่างไรก็ตาม ถ้าเราพิจารณาตามหลักการ "โรคติดต่อของการพัฒนา (Development Syndrome)" ทั้งสามประการข้างต้น เราจะพบว่าคำนิยามที่ได้สรุปมานั้นมีลักษณะที่บ่งบอกมีอคติ กล่าวคือ
- มีลักษณะเอนเอียงไปทางแบบของตะวันตก หรือประเทศในค่ายเสรีประชาธิปไตย ซึ่งเราจะพบว่าลักษณะร่วมประการที่สองที่ว่าด้วยความเสมอภาค โดยเน้นที่การเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอันเป็นรูปแบบหนึ่งของการเมืองแบบประชาธิปไตย ถ้าเป็นเช่นนั้นเราอาจนำมาสรุปอย่างผิดๆได้ว่าการเมืองในประเทศเผด็จการย่อมไม่ถือว่าเป็นการเมืองที่พัฒนา
- ลักษณะการแบ่งแยกเฉพาะด้านเกิดมาก่อนแล้วในบางสังคม มีนักวิชาการหลายท่านแย้งว่าลักษณะการแบ่งแยกเฉพาะด้านในโครงสร้างทางการเมืองนั้น หาได้มีเฉพาะในระบบการเมืองสมัยใหม่ไม่แต่มันเกิดมาก่อนแล้วในบางสังคม เช่น ในจักรวรรดิโรมัน และจีนโบราณ ซึ่งเรายึดหลักนี้เป็นเกณฑ์ เราอาจสรุปไปว่าจักรวรรดิโรมันและจีนโบราณเป็นสังคมที่พัฒนาการเมืองแล้ว ซึ่งนักวิชาการหลายท่านยังสงสัยอยู่ นอกจากนี้ยังมีบางคนได้ตั้งข้อสงสัยไว้เหมือนกันว่าการแบ่งแยกโครงสร้างหรือมีระดับของความชำนาญงานเฉพาะด้านระดับใดที่เราอาจพูดได้ว่าสังคมพัฒนาแล้ว
องค์ประกอบอันเป็นสาระสำคัญของการพัฒนาทางการเมือง
[แก้]สมบัติ ธำรงธัญวงศ์[12] ได้สรุปองค์ประกอบอันเป็นสาระสำคัญของการพัฒนาทางการเมือง จากแนวคิดข้างต้นออกเป็น 5 ประการดังนี้
- ความเท่าเทียมกัน (Equality) ซึ่งมีความหมายครอบคลุมทั้งความเท่าเทียมกันทางกฎหมาย ความเท่าเทียมกันในสิทธิทางการเมือง และความเท่าเทียมกันที่ประชาชนจะได้รับจากการให้บริการของรัฐ ทั้งทางบริการด้านการศึกษา สาธารณสุข ตลอกจนสิ่งอำนวยประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ
- ความสามารถของระบบการเมือง (Capacity)หมายถึง ความสามารถที่ระบบการเมืองจะตอบสนองความต้องการของประชาชน ทั้งในทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง โดยที่ระบบการเมืองจะต้องเปิดรับการควบคุม กำกับและตรวจสอบจากประชาชน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการตัดสินใจใดใดทางการเมือง จะเสริมสร้างให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดีโดยเสมอภาคกัน
- การแบ่งโครงสร้างทางการเมืองให้มีความแตกต่างและมีความชำนาญเฉพาะ ในประการนี้ สอดคล้องกับทัศนะของอัลมอนด์และเพาเวลล์ (Almond and Powell 1966, 299-300) ที่เห็นว่า องค์ประกอบสำคัญด้านหนึ่งของการพัฒนาการเมืองก็คือ การแบ่งโครงสร้างทางการเมืองให้มีความแตกต่างและมีความชำนาญเฉพาะ (Differentiation and Specialization) เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ตรงเฉพาะทาง ส่วนการจัดแบ่งโครงสร้างทางการเมืองออกเป็นฝ่ายต่าง ๆ เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ เป็นต้นนั้น เป็นไปเพื่อให้แต่ละฝ่ายสามารถจัดหาบุคลากรมีความความชำนาญเฉพาะในการปกิบัติงานตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีเหตุมีผล (Secularization of Political Culture) โดยทั่วไปนั้น สังคมแบบดั้งเดิมที่ปกครองแบบอำนาจนิยมมักจะปลูกฝังให้ประชาชนยึดมั่นใจจารีตประเพณีอย่างขาดเหตุผล ยึดถือเรื่องโชคลาง รวมไปถึงการปลูกฝังให้ประชาชนเห็นว่า ผู้ปกครองเป็นผู้ที่มีบุญญาบารมี การพัฒนาทางการเมืองจึงเป็นไปในทางมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนให้เหตุผลในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะความเป็นเหตุเป็นผลที่ประชาชนจะต้องควบคุม กำกับและตรวจสอบการเมืองอย่างใกล้ชิด อัลมอนด์และเพาเวลล์ (Almond and Powell 1966, 299-300) กล่าวไว้ว่า ลักษณะของวัฒนธรรมทางการเมืองแบบเป็นเหตุเป็นผลนี้ มักจะพบได้ทั่วไปในสังคมอุตสาหกรรม
- ความเป็นอิสระของระบบย่อย (Subsystem Autonomy) คือ ผลผลิตของการกระจายอำนาจทางการเมือง เพื่อให้ระบบย่อยมีอำนาจในการพิจารณาปัญหา สาเหตุความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชน รวมไปถึงการกำหนดแนวทางในการที่จะแก้ไขปัญหา หรือเสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองความต้องการของประชาชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Damien Kingsbury. Political Development. New York : Routledge, 2007, p. 10.
- ↑ พิสิษฐิกุล แก้วงาม. มโนทัศน์ที่สำคัญในวิชาการพัฒนาการเมือง. มหาสารคาม : หลักสูตรสาขาวิชารัฐศาสตร์ วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม, 2553.
- ↑ Damien Kingsbury. Political Development. New York : Routledge, 2007, p. 12.
- ↑ David Easton. The Political System : An Inquiry into the State of Political Science (2nd edition) New York: Alfred A. Knopf, 1971, pp. 372-373. อ้างใน เชิญ ชวิณณ์ ศรีสุวรรณ, “แนวพินิจทางรัฐศาสตร์ : ภาวะวิทยา ญาณวิทยา และ วิธีวิทยา,” (๒๕๕๑), น. 23. Cited by http://www.buriram.ru.ac.th/00phpweb/down_load/fill/0907111104235YRYX.doc[ลิงก์เสีย]
- ↑ Gabriel A. Almond and G. Bingham Powell, Jr. Comparative Politics :System, Process and Policy. (2nd edition) ( Boston : Little, Brown and Company,1978). and Gabriel A. Almond and G. Bingham Powell, Jr (eds), Comparative Politics Today: A world View. Boston : Little, Brown and Company,1980. อ้างใน อโณทัย วัฒนาพร, “นักรัฐศาสตร์กับสังคมการเมืองไทย : ภารกิจอันไม่จบสิ้น,” (เอกสารประกอบการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติครั้งที่ 7 (พ.ศ. 2549).
- ↑ Lucien W. Pye. Aspects of Political Development: An Analytic Study. Boston : Little Brown and Company, 1966, 33 – 48. อ้างใน ลิขิต ธีเวคิน. ทฤษฎีพัฒนาการเมือง. (กรุงเทพฯ : ศูนย์วิจัยคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527).
- ↑ Samuel Huntington. Political Order in Changing Societies. (Second edition) Connecticut: Yale University Press, 1969, p. 31.
- ↑ "ลิขิต ธีรเวคิน, "การพัฒนาการเมือง (Political Development)," หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ( วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2552 )". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2011-02-27.
- ↑ สมบัติ ธำรงค์ธัญวงศ์. ทัศนคติทางการเมืองของเด็กและเยาวชนในกรุงเทพมหานคร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โครงการเอกสารและตำรา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (2539), น. 33-34.
- ↑ Bill, James A., and Hardgrave, Robert L. Comparative Politics : The Quest for Theory. Columbus Ohio: Charles E. Merrill Publishing Company (1973), p. 67.
- ↑ Lucien W. Pye. Aspects of Political Development: An Analytic Study. Boston : Little Brown and Company, 1966, 33 – 48. อ้างใน ลิขิต ธีเวคิน. ทฤษฎีพัฒนาการเมือง. (กรุงเทพฯ : ศูนย์วิจัยคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527).
- ↑ สมบัติ ธำรงค์ธัญวงศ์. ทัศนคติทางการเมืองของเด็กและเยาวชนในกรุงเทพมหานคร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โครงการเอกสารและตำรา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (2539), น. 35 - 36.