ข้ามไปเนื้อหา

การทำหมัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การทำหมัน (อังกฤษ: sterilization, –lisation) เป็นวิธีทางการแพทย์หลายวิธีในการคุมกำเนิดโดยเจตนาเพื่อไม่ให้บุคคลนั้นสามารถทำการสืบพันธุ์ได้อีกต่อไป วิธีการทำหมันจะมีทั้งการผ่าตัดและไม่ผ่าตัด และมีอยู่ทั้งเพศชายและเพศหญิง ขั้นตอนการทำหมันนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการถาวร การทำให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม โดยทั่วไปนั้นยากหรือแทบเป็นไปไม่ได้

วิธีการทั่วไปของการทำหมันมีดังนี้

[แก้]
การตัดหลอดนำอสุจิในเพศชาย (vasectomy)
หลอดนำอสุจิทั้งสองข้าง (vasa deferentia) ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมต่อระหว่างอัณฑะกับต่อมลูกหมาก จะถูกตัดและมัดปิดไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอสุจิที่สร้างขึ้นในอัณฑะรวมตัวกับน้ำอสุจิเมื่อเกิดการหลั่ง ในทางการแพทย์เรียกวิธีการนี้ด้วยอีกชื่อหนึ่งว่า deferentectomy
การตอนในเพศชาย (castration)
เป็นการผ่าตัดเพื่อนำอัณฑะออกไปเพื่อไม่ให้สามารถสร้างตัวอสุจิได้อีก หรือตัดอวัยวะเพศทั้งหมดในวัฒนธรรมสมัยโบราณ (เช่นขันที) เทคนิคนี้มักใช้กับการทำหมันสัตว์ ซึ่งจะทำให้สัตว์ลดความก้าวร้าว ลดพฤติกรรมทางเพศได้อย่างมาก และทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังเช่นการขุนสัตว์ให้อ้วนเพื่อเร่งการผลิตเนื้อ
การผูกท่อนำไข่ในเพศหญิง (tubal ligation)
ท่อนำไข่ (Fallopian tubes) ซึ่งเป็นที่ที่ตัวอสุจิทำการปฏิสนธิกับเซลล์ไข่และนำพาเซลล์ไข่ที่ผสมแล้วไปยังมดลูก จะถูกตัดและมัดปิดไว้ วิธีการนี้จะต้องใช้ยาชาและเทคนิคของการผ่าช่องท้อง (laparotomy) กับการใช้กล้องส่องตรวจเข้าช่วยในการผ่าตัด นอกจากนั้นยังมีวิธีการที่นิยมน้อยกว่าคือกระบวนการ Essure โดยใช้วัตถุขนาดเล็กที่ทำมาเฉพาะสอดผ่านหลอดสวนเข้าทางมดลูกและอุดปิดที่ท่อนำไข่ ซึ่งช่วยให้ไม่เกิดรอยแผลเป็นเนื่องจากการผ่าตัด
การตัดมดลูกในเพศหญิง (hysterectomy)
เป็นการผ่าตัดเพื่อนำมดลูกออกไปซึ่งเป็นการป้องกันการตั้งครรภ์โดยถาวร วิธีนี้ยังใช้สำหรับการรักษาโรคบางโรคเช่น มะเร็งมดลูก (uterine cancer)