การกราดโจมตี
ในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ การกราดโจมตี (indiscriminate attack) หมายถึงการโจมตีทางทหาร ซึ่งเพิกเฉยหรือประสบความล้มเหลวในการแบ่งแยกระหว่างเป้าหมายทางทหารโดยชอบ (legitimate military target) และบุคคลที่ได้รับความคุ้มครอง (protected persons) ถือเป็นการโจมตีที่ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อสิ่งทางทหารของข้าศึกและต่อสิ่งที่ได้รับความคุ้มครอง อันเป็นการละเมิดหลักการแบ่งแยกพลรบกับพลเรือน การกระทำเช่นว่านี้ถือเป็นการก่ออาชญากรรมสงครามตั้งแต่ปี 1977 ตามข้อ 51 ของพิธีสาร 1 อนุสัญญาเจนีวา
ตัวอย่างของการกระทำที่ถือเป็นการกราดโจมตี เช่น การกระหน่ำยิงปืนโดยไม่แน่ใจว่าเป้าหมายใช่ข้าศึกหรือไม่, การปฏิบัติการโจมตีทางอากาศภายใต้ทัศนวิสัยจำกัด, การโจมตีด้วยอาวุธแม่นยำต่ำต่อเป้าหมายทางทหารที่ถูกแวดล้อมชิดติดสิ่งปลูกสร้างของพลเรือน[1] เป็นต้น รวมถึงกรณีที่ผู้บังคับบัญชาเลือกที่จะไม่สนใจต่อลักษณะของเป้าหมาย และกรณีที่ผู้บังคับบัญชาเลือกใช้อาวุธ/ยุทธวิธีที่เป็นถือการกราดโจมตีโดยธรรมชาติของมัน (เช่นระเบิดลูกปราย, ทุ่นระเบิดต่อต้านบุคคล, อาวุธนิวเคลียร์) อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการที่โจมตีโดยเจตนาหรือโจมตีโดยตรงต่อพลเรือนจะมิถือว่าเป็นการกราดโจมตี เนื่องจากกำหนดพลเรือนเป็นเป้าหมายตั้งแต่ต้น