ข้ามไปเนื้อหา

กะมัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กะมัน
ကမန်
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
 พม่า50,000[1]
ภาษา
ยะไข่
ศาสนา
อิสลาม

กะมัน (พม่า: ကမန်) คือกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศพม่า ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ชื่อ กะมัน มาจากคำเปอร์เซีย แปลว่า คันธนู[2] และเป็นหนึ่งในเจ็ดชาติพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับจากรัฐยะไข่และจากรัฐบาลพม่า[3] ชาวกะมันหลายคนถือบัตรประชาชนสัญชาติพม่า[4][5][6]

ประวัติ

[แก้]

ศาห์ สุชา (เบงกอล: শাহ সুজা) เจ้าชายแห่งโมกุลผู้ไม่ประสบความสำเร็จในการสืบราชสมบัติเป็นจักรพรรดิ ได้ลี้ราชภัยไปอาณาจักรอาระกันเมื่อ ค.ศ. 1660[7][8] พร้อมด้วยครอบครัวและผู้ติดตามจำนวนหนึ่งไปอยู่ที่เมืองมโหย่ฮ่อง เพราะหวังพระทัยว่ากษัตริย์อาระกันจะทรงอุปถัมภ์พระองค์ รวมทั้งจัดเรือพระที่นั่งให้พระองค์แสวงบุญที่เมืองมักกะฮ์[2] หลังจากนั้นก็มีคลื่นผู้อพยพชาวมุสลิมจากจักรวรรดิโมกุลเข้าสู่อาระกัน[7]

พระเจ้าจันทสุธัมมา (พม่า: စန္ဒသုဓမ္မရာဇာ) กษัตริย์อาระกันทรงถวายการต้อนรับเจ้าชายโมกุลผู้นิราศเป็นอย่างดี แต่ไม่นานหลังจากนั้น ศาห์ สุชาก็ทรงคิดคดทรยศต่อพระเจ้ากรุงอาระกัน[7] โดยเจ้าชายศาห์ สุชา พร้อมด้วยบริวาร และชาวมุสลิมในท้องถิ่นอีกจำนวน 200 คน ก่อการกระด้างกระเดื่อง เพื่อล้มล้างอำนาจกษัตริย์อาระกัน[9] ครั้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1661 ศาห์ สุชาและบริวารบางส่วนถูกทหารอาระกันลอบสังหาร[7] บรรดาพระโอรสของศาห์ สุชา ถูกปลงพระชนม์ และพระธิดาของศาห์ สุชาก็ถูกนำไปเป็นบาทบริจาริกาของพระเจ้าจันทสุธัมมา และถูกนำไปประหารในเวลาต่อมา[7] ส่วนบริวารของศาห์ สุชาที่ยังเหลืออยู่ได้รับการแต่งตั้งเป็นราชองครักษ์พิเศษประจำพระราชสำนักอาระกัน ในตำแหน่งหน่วยพลธนูพิเศษ เรียกว่า กะมัน (เปอร์เซีย: کمان, "คันธนู")[7][10]

หน่วยพลธนูกะมันนี้รวมกลุ่มกับทหารรับจ้างชาวอัฟกันจากอินเดียตอนเหนือ ตั้งตนเป็นกบฏมีอิทธิพลทางการเมืองเหนืออาณาจักรอาระกัน กระทั่ง ค.ศ. 1710 พระเจ้าจันทวิชยะที่ 1 ทรงปราบปรามกบฏ และเนรเทศชาวกะมันไปเกาะรามรี[7] ลูกหลานของแขกกะมันยังคงอาศัยอยู่บนเกาะรามรี และบางส่วนตั้งหมู่บ้านใกล้เมืองอัคยับ[7]

ใน ค.ศ. 1931 มีชาวกะมันอาศัยอยู่ในรัฐอาระกันจำนวน 2,686 คน[7]

ค.ศ. 2012 ชาวกะมันได้รับผลกระทบจากเหตุจลาจลในรัฐยะไข่พอสมควร[11][6]

เดือนตุลาคม ค.ศ. 2013 หลังเกิดเหตุการณ์การลอบสังหารเด็กหญิงชาวยะไข่พุทธจำนวนสองคน อายุห้าขวบและหกขวบ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน และวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 2013 ส่งผลให้ชาวกะมันมุสลิมตกเป็นเป้าหมายการโจมตีจากชาวยะไข่พุทธทันที ชาวกะมันเสียชีวิตไปเจ็ดคนและอีกหลายคนต้องหนีออกนอกพื้นที่[12][13]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. Newly arrived Kaman Muslims in Yangon defy govt pressure to return to Rakhine State
  2. 2.0 2.1 Harvey 1925, p. 148.
  3. Than Tun Win.
  4. The Economist 2013.
  5. Narinjara 2011.
  6. 6.0 6.1 Schearf 2011.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 7.7 7.8 Yegar 2002, p. 24.
  8. Harvey 1925, p. 146.
  9. Harvey 1925, p. 146-147.
  10. Thant Myint-U 2011.
  11. Human Rights Watch 2013.
  12. Nyein Nyein (15 ตุลาคม 2013). "Six Suspects Confess to Thandwe Murders: Home Affairs Ministry". The Irrawaddy. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 October 2013.
  13. "Thandwe Death Toll Rises to 7 With Discovery of Two More Bodies". The Irrawaddy. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 October 2013. สืบค้นเมื่อ 12 October 2013.
บรรณานุกรม