เกาะรามรี
เกาะรามรี เกาะย่าน-บแย | |
---|---|
ทิวทัศน์ของแม่น้ำจากเกาะรามรี | |
พิกัด: 19°04′16″N 93°49′01″E / 19.07120°N 93.81702°E | |
ประเทศ | พม่า |
ภาค | รัฐยะไข่ |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 1,350 ตร.กม. (520 ตร.ไมล์) |
ความสูง | 300 เมตร (984 ฟุต) |
เขตเวลา | UTC+6:30 (เวลามาตรฐานพม่า) |
เกาะรามรี (อังกฤษ: Ramree Island) หรือ เกาะย่าน-บแย (พม่า: ရမ်းဗြဲကျွန်း) เป็นเกาะนอกชายฝั่งรัฐยะไข่ ประเทศพม่า เกาะรามรีเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดบนชายฝั่งยะไข่และใหญ่สุดในประเทศพม่า พื้นที่ของเกาะมีประมาณ 1,350 ตารางกิโลเมตร (520 ตารางไมล์) ศูนย์กลางประชากรหลักคือรามรี ในภาษาพม่าเกาะนี้เรียกว่าเกาะย่าน-บแย จังหวัดบนเกาะรามรีคือจังหวัดเจาะพยู และเจาะพยู เป็นเมืองใหญ่และเมืองหลักแห่งที่สองของรัฐยะไข่
ภูมิศาสตร์
[แก้]เกาะนี้แยกจากแผ่นดินใหญ่ด้วยช่องแคบคล้ายคลองแคบ ๆ ซึ่งกว้างเฉลี่ย 150 เมตร (490 ฟุต) มีสะพานข้ามช่องแคบเชื่อมเกาะกับชายฝั่งทวีป จุดสูงที่สุดคือ ซิคาตอง ซึ่งเป็นภูเขาสูง 300 เมตร (980 ฟุต) ตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งตะวันตกด้านใต้ของเกาะ[1] บนเกาะมีเนินพุโคลน
เกาะใกล้เคียง
[แก้]- เกาะซะกู เป็นเกาะยาว 5 กิโลเมตร (3.1 ไมล์) และกว้าง 4 กิโลเมตร (2.5 ไมล์) ตั้งอยู่ทางใต้นอกแหลมเกาะรามรี โดยแยกออกจากเกาะรามรีด้วยช่องแคบกว้าง 2.4 กิโลเมตร (1.5 ไมล์)
- เกาะมะจี้ เป็นเกาะขนาดเล็กยาว 2.2 กิโลเมตร (1.4 ไมล์) ตั้งอยู่ทางใต้ห่างจากปลายเกาะซะกู
- เกาะชีดูบา ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะรามรีราว 10 กิโลเมตร (6.2 ไมล์)
ประวัติศาสตร์
[แก้]เดิมทีเกาะแห่งนี้เป็นสถานีการค้าของอาณาจักรมเยาะอู้ โดยมีหมู่บ้านชาวประมงกระจายอยู่ทั่วเกาะ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ยุทธการที่เกาะรามรีเกิดขึ้นในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรุกคืบกองทัพภาคที่ 14 ของอังกฤษในแนวรบด้านใต้ของพม่าช่วงปี พ.ศ. 2487–88 เมื่อการสู้รบสิ้นสุดลง ทหารญี่ปุ่นถูกบังคับให้เข้าไปในหนองบึงที่อยู่รอบเกาะ และมีการกล่าวอ้างว่าจระเข้น้ำเค็มได้คร่าชีวิตทหารไปราว 400 ราย (หรือ 980 รายจากทั้งหมด มีเพียง 20 รายเท่านั้นที่รอดชีวิตตามรายงานฉบับหนึ่ง)[2] ซึ่งบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ระบุว่าเป็น "ภัยพิบัติใหญ่สุดของมนุษย์ที่ประสบเหตุจากสัตว์" อย่างไรก็ตาม ความจริงของเรื่องนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียง และข้อเท็จจริงชี้ให้เห็นว่ามีทหารญี่ปุ่นจำนวนน้อยที่เสียชีวิตเพราะจระเข้ ที่ยืนยันได้มีเพียงทหาร 10–15 นายที่ถูกจระเข้ฆ่าตายขณะข้ามแม่น้ำมูใกล้เมืองรามรี ทหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่น ๆ อีกมากมาย รวมถึงการขาดน้ำ การจมน้ำ การยิงปืนของอังกฤษ โรคบิด และอาจเสียชีวิตจากฉลามด้วย
เมืองรามรีเป็นที่พระราชสมภพของ พระเจ้ามหาธัมมตะ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรมเยาะอู้
สัตว์ป่า
[แก้]จระเข้น้ำเค็มยังคงเป็นสัตว์ที่พบเห็นได้ทั่วไปแถบเกาะรามรีจนถึงช่วงปี พ.ศ. 2503 นับจากนั้นแถบนี้ก็ไม่เป็นแหล่งอาศัยของจระเข้อีกต่อไป ซึ่งอาจเกิดจากการลักลอบล่า และในช่วงต้นทศวรรษ พ.ศ. 2523 ก็มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่ามีเพียงจระเข้ที่ยังคงอยู่อย่างกระจัดกระจายเท่านั้น
ท่อส่งน้ำมัน
[แก้]เกาะรามรียังเป็นที่ตั้งของระบบท่อส่งก๊าซ ซึ่งส่งน้ำมันและก๊าซจากชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียไปยังมณฑลยูนนาน ประเทศจีน จากท่าเรือน้ำลึกเมืองเจาะพยู บนเกาะรามรี รัฐยะไข่ น้ำมันจากตะวันออกกลางและก๊าซจากชายฝั่งมหาสมุทรของพม่าจะถูกขนส่งผ่านท่อส่งไปยังจีน ท่อส่งดังกล่าวทำให้จีนพึ่งพาการขนส่งน้ำมันและก๊าซทางทะเลผ่านช่องแคบมะละกา ที่อันตรายน้อยลง และยังช่วยลดระยะเวลาการขนส่งได้ถึงสองสัปดาห์ ค่าธรรมเนียมการขนส่งทางท่อเป็นแหล่งรายได้ของรัฐบาลพม่านอกเหนือจากการขายก๊าซ[3] โดยเริ่มก่อสร้างใน พ.ศ. 2554[4] ท่อส่งก๊าซส่วนพม่าสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556 และก๊าซเริ่มไหลไปยังจีนเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ส่วนท่อส่งน้ำมันสร้างเสร็จในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Prostar Sailing Directions 2005 India & Bay of Bengal. Enroute. National Geospatial-intelligence Agency (1 February 2007). p. 168
- ↑ Top 10 Places You Don’t Want To Visit, 5: Ramree Island, Burma
- ↑ Burmese junta profits from Chinese pipeline – Telegraph
- ↑ "Kyaukpyu to Kunming pipeline construction officially commenced", 18 August 2011, ramree.com
- ↑ sources and more details here.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ เกาะรามรี
- The Terrible Myth Behind Ramree Island – And The (Maybe) Real Truth