ข้ามไปเนื้อหา

ทิก กว๋าง ดึ๊ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Thich Quang Duc)


กว๋าง ดึ๊ก
ภาพวาดของพระภิกษุกว๋าง ดึ๊ก
ชื่ออื่นโบ่ต๊าตทิก กว๋าง ดึ๊ก (Bồ Tát Thích Quảng Đức; แปลว่า โพธิสัตว์ทิก กว๋าง ดึ๊ก)[1]
ส่วนบุคคล
เกิด
เลิม วัน ตุ๊ก

ค.ศ. 1897
โห่ยคั้ญ แคว้นอันนัม อินโดจีนของฝรั่งเศส
มรณภาพ11 มิถุนายน ค.ศ. 1963(1963-06-11) (65–66 ปี)
ไซ่ง่อน เวียดนามใต้
สาเหตุเสียชีวิตการจุดไฟเผาตัวเอง
ศาสนาศาสนาพุทธ
นิกายมหายาน (สุขาวดี)
ชื่ออื่นโบ่ต๊าตทิก กว๋าง ดึ๊ก (Bồ Tát Thích Quảng Đức; แปลว่า โพธิสัตว์ทิก กว๋าง ดึ๊ก)[1]
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่เวียดนามใต้
ช่วงที่ดำรงตำแหน่งค.ศ. 1917–1963
ตำแหน่ง
  • ประธานคณะกรรมการศาสนพิธีสังฆะพระภิกษุเวียดนาม
  • เจ้าอาวาสวัดเฟื้อกฮหว่า

ทิก กว๋าง ดึ๊ก (เวียดนาม: Thích Quảng Đức, ออกเสียง: [tʰǐk̟ kʷâːŋ ɗɨ̌k] ( ฟังเสียง); เกิด ค.ศ. 1897 — 11 มิถุนายน ค.ศ. 1963) เป็นพระภิกษุมหายานชาวเวียดนามที่จุดไฟเผาตนเอง จนมรณภาพกลางทางแยกแห่งหนึ่งในกรุงไซ่ง่อน เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2506[2] เพื่อประท้วงรัฐบาลโรมันคาทอลิกภายใต้การนำของประธานาธิบดีโง ดิ่ญ เสี่ยม ที่มีนโยบายข่มเหงชาวพุทธซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ในประเทศเวียดนามใต้ในเวลานั้น ภาพถ่ายการเผาตัวเองดังกล่าวได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางจนทำให้นโยบายของรัฐบาลเสี่ยมถูกเพ่งเล็งจากประชาคมโลก จอห์น เอฟ. เคนเนดี เคยกล่าวถึงภาพถ่ายของพระภิกษุรูปนี้ว่า "ไม่มีภาพข่าวใดในประวัติศาสตร์ที่สร้างอารมณ์ความรู้สึกไปทั่วโลกได้เหมือนภาพใบนี้"[3] มัลคอล์ม บราวน์ นักข่าวอเมริกันผู้ถ่ายภาพการจุดไฟเผาตนเองจนมรณภาพได้รับรางวัลภาพข่าวโลกแห่งปี

การกระทำของพระกว๋าง ดึ๊ก สร้างแรงกดดันนานาชาติแก่รัฐบาลเสี่ยม จนทำให้เขายินยอมประกาศการปฏิรูปและแสดงเจตจำนงผ่อนผันตามความต้องการของชาวพุทธ อย่างไรก็ตามการปฏิรูปที่รัฐบาลเสี่ยมสัญญาไว้ก็ไม่ได้ทำ จึงทำให้ประเด็นพิพาทนี้เลวร้ายลงกว่าเดิม การประท้วงก็ยังดำเนินเรื่อยไปในขณะเดียวกันกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษสาธารณรัฐเวียดนาม ซึ่งภักดีต่อโง ดิ่ญ ญู น้องชายของเสี่ยม ก็ได้บุกรุกวัดพุทธทั่วเวียดนามใต้ และพยายามยึดเอาหัวใจที่ไม่ไหม้ของพระกว๋างดึ๊กมาไว้ในการครอบครอง การบุกรุกระลอกนี้ก่อความเสียหายจนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีพระสงฆ์อีกจำนวนหนึ่งที่เผาตนเองจนมรณภาพตามรอยพระกว๋างดึ๊ก ท้ายที่สุดรัฐประหารที่มีสหรัฐหนุนหลัง [en] ก็โค่นล้มรัฐบาลของเสี่ยมลงโดยโง ดิ่ญ เสี่ยม ถูกลอบสังหาร [en] ในวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963

ชีวประวัติ

[แก้]

ชีวประวัติของพระกว๋าง ดึ๊ก ได้มาจากข้อมูลที่เผยแพร่โดยองค์การศาสนาพุทธตามสถานที่ต่าง ๆ ท่านเกิดที่หมู่บ้านโห่ยคั้ญ อำเภอหวั่นนิญ จังหวัดคั้ญฮหว่า ภาคกลางของประเทศเวียดนาม มีชื่อเมื่อเกิดว่า เลิม วัน ตุ๊ก (Lâm Văn Túc) ท่านมีพี่น้องทั้งหมดเจ็ดคน บิดาชื่อ เลิม หืว อึ๊ง มารดาชื่อ เหงียน ถิ เนือง เมื่ออายุได้เจ็ดปีท่านได้ออกเดินทางเพื่อศึกษาศาสนาพุทธภายใต้การอุปการะของพระมหาเถราจารย์[] ทิก ฮหวั่ง เทิม ผู้เป็นลุงฝั่งแม่ในฐานะบุตรคนหนึ่ง พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น เหงียน วัน เคี้ยต (Nguyễn Văn Khiết) เมื่ออายุได้ 15 ปี ท่านก็บรรพชาเป็นสามเณร จนกระทั่งเมื่ออายุครบ 20 ปี ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ มีฉายาทางธรรมว่า ทิก กว๋าง ดึ๊ก ในชื่อภาษาเวียดนาม ทิก (Thích, ) มาจากคำว่า ทิกกา (Thích Ca) หรือ ทิกส่า (Thích Già, 釋迦) อันแปลว่า "ผู้มาจาก/ผู้เกี่ยวพันกับสกุลสักกะ"[6] หลังอุปสมบทท่านก็ได้ออกธุดงค์สู่ภูเขาลูกหนึ่งใกล้กับเมืองนิญฮหว่าพร้อมกับประกาศตนขอปลีกวิเวกเป็นเวลาสามปี ในช่วงชีวิตภายหลังท่านก็ได้กลับมาเพื่อเปิดพระเจดีย์เทียนหลกที่สำนักสงฆ์บนภูเขาแห่งนี้[7][8]

หลังจากเสร็จสิ้นการปลีกวิเวก พระกว๋าง ดึ๊ก ก็ได้เริ่มต้นออกเดินทางไปทั่วเวียดนามกลางเพื่อเผยแผ่หลักธรรม หลังจากผ่านไปสองปีก็ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดซักตื๊อเทียนเอิ๊น ใกล้กับเมืองญาจาง ใน ค.ศ. 1932 ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจการประจำพุทธสมาคมในเมืองนิญฮหว่า และได้เป็นผู้ตรวจการพระภิกษุประจำจังหวัดคั้ญฮหว่าซึ่งเป็นบ้านเกิดในเวลาต่อมา ในระหว่างนี้ท่านได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างวัดในเวียดนามกลางรวมทั้งสิ้น 14 แห่ง[9] ใน ค.ศ. 1934 ท่านได้ออกเดินทางไปตามชนบททั่วเวียดนามใต้เพื่อเผยแผ่คำสอนของศาสนาพุทธ พร้อมกับเดินทางไปศึกษาศาสนาพุทธแบบเถรวาทที่ประเทศกัมพูชาเป็นเวลาสองปี

เมื่อเดินทางกลับมาจากกัมพูชา ในระหว่างการพำนักที่เวียดนามใต้ท่านก็ได้ดูแลการก่อสร้างวัดใหม่อีกจำนวน 17 วัด โดยวัดแห่งสุดท้ายจาก 31 วัดใหม่ที่ท่านเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างคือ วัดกว๊านเท้เอิมในอำเภอฟู้หญ่วน จังหวัดซาดิ่ญ แถบชานกรุงไซ่ง่อน[9] ถนนสายที่วัดนี้ตั้งอยู่ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นถนนกว๋าง ดึ๊ก ในภายหลัง ใน ค.ศ. 1975 หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการก่อสร้างวัดจำนวนมาก พระกว๋าง ดึ๊ก ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการศาสนพิธีสังฆะภิกษุเวียดนาม และเจ้าอาวาสวัดเฟื้อกฮหว่า ซึ่งเป็นที่สถานที่ก่อตั้งของสมาคมพุทธศาสนศึกษาเวียดนาม (Association for Buddhist Studies of Vietnam, ABSV)[9] เมื่อสำนักงานของสมาคมฯ ย้ายที่ตั้งสำนักงานไปที่วัดซ้าเหล่ย [en] ซึ่งเป็นวัดประจำกรุงไซ่ง่อน พระกว๋าง ดึ๊ก ก็ได้ขอลาออกจากตำแหน่ง[7]

การจุดไฟเผาตนเอง

[แก้]

ภูมิหลังทางศาสนา

[แก้]
ประติมากรรมนูนต่ำแสดงเหตุการณ์การกดขี่ชาวพุทธที่อนุสรณ์พระกว๋าง ดึ๊ก ในนครโฮจิมินห์

จากผลสำรวจศาสนาของประชากรเวียดนามใต้ในขณะนั้น ประชากรส่วนใหญ่ราวร้อยละ 70 ถึง 90 นับถือศาสนาพุทธ[10][11][12][13] ในขณะที่ประธานาธิบดีโง ดิ่ญ เสี่ยม เป็นคริสต์ศาสนิกชนนิกายคาทอลิก ซึ่งในเวลานั้นเป็นประชากรกลุ่มที่เล็กกว่า เสี่ยมได้ออกนโยบายเลือกปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์ทางด้านกิจการสาธารณะและกองทัพแก่ศาสนิกชนคาทอลิกในเวียดนาม ไปจนถึงการจัดสรรที่ดิน การทำธุรกิจ และการลดหย่อนภาษี[14] เสี่ยมเคยกล่าวกับนายทหารระดับสูงนายหนึ่งโดยลืมไปว่านายทหารนายนี้มาจากครอบครัวที่นับถือศาสนาพุทธว่า "วางตัวทหารคาทอลิกของคุณไว้ในตำแหน่งสำคัญ พวกเขาไว้ใจได้"[15] นายทหารหลายนายในกองทัพสาธารณรัฐเวียดนาม เข้ารีตเป็นคาทอลิกในเมื่อความก้าวหน้าในสายงานทหารขึ้นอยู่กับศาสนา[15] นอกเหนือไปจากนั้น การจัดสรรจำนวนอาวุธปืนแก่กองกำลังป้องกันตนเองตามหมู่บ้านยังแจกจ่ายให้แก่ชาวโรมันคาทอลิกเท่านั้น และชาวพุทธบางคนถูกปฏิเสธการเลื่อนตำแหน่งเว้นแต่ว่าจะเข้ารีตเป็นโรมันคาทอลิก[16]

บาทหลวงคาทอลิกบางรูปมีการจัดตั้งกองกำลังส่วนตัว[17] กองกำลังเหล่านี้ก่อการบังคับเข้ารีต ชิงทรัพย์ ระดมยิง ไปจนถึงทำลายวัดในบางพื้นที่ กระนั้น รัฐบาลทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น[18] หมู่บ้านพุทธศาสนิกชนบางแห่งเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์กันทั้งหมู่บ้านเพื่อขอรับความช่วยเหลือ หรือเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบังคับย้ายถิ่นฐานในรัฐบาลเสี่ยม[19] ก่อนหน้านี้ฝรั่งเศสได้กำหนดสถานะ "เอกชน" ให้กับศาสนาพุทธ ทำให้ผู้ที่จะประกอบพุทธศาสนพิธีในที่สาธารณะต้องได้รับอนุญาตจากทางการก่อน โดยเสี่ยมก็ไม่ได้เพิกถอนข้อกำหนดนี้[20] ชาวคาทอลิกบางส่วนยังได้รับการยกเว้นโดยพฤตินัยจากการการเกณฑ์แรงงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง ทั้งที่รัฐบาลบังคับให้พลเมืองทุกคนปฏิบัติตาม และรัฐบาลเสี่ยมยังจัดสรรความช่วยเหลือจากสหรัฐอย่างไม่เป็นธรรมโดยเข้าข้างหมู่บ้านที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นคาทอลิก[21]

คริสตจักรคาทอลิกเป็นเจ้าของที่ดินมากที่สุดในประเทศ และได้รับข้อยกเว้นพิเศษในการถือครองที่ดิน ที่ดินของคริสตจักรคาทอลิกยังได้รับการยกเว้นจากการปฏิรูปที่ดิน[22] มีการประดับธงวาติกันสีขาวทองเป็นประจำในงานกิจกรรมใหญ่ ๆ ทุกงานในเวียดนามใต้[23] และเสี่ยมได้อุทิศประเทศของเขาแด่พระนางมารีย์พรหมจารีใน ค.ศ. 1959[21]

ธงฉัพพรรณรังสี

ความไม่พึงพอใจในหมู่ชาวพุทธได้ปะทุขึ้นในต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1959 เมื่อรัฐประกาศห้ามประดับธงฉัพพรรณรังสีในเมืองเว้ระหว่างเทศกาลวันวิสาขบูชา วันประสูติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยไม่กี่วันก่อนหน้า ชาวคาทอลิกได้รับการสนับสนุนให้ประดับธงวาติกันเพื่อเฉลิมฉลองพระคุณเจ้าโง ดิ่ญ ถึก [en] อาร์ชบิชอปแห่งเว้ ผู้เป็นพี่ชายของเสี่ยม ชาวพุทธจำนวนมากรวมตัวประท้วงคำสั่งห้ามนี้ และท้าทายอำนาจรัฐโดยการนำธงพุทธออกมาประดับในวันวิสาขบูชา รวมถึงเดินขบวนไปยังสถานีวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาล กองกำลังของรัฐกราดยิงฝูงชนผู้ประท้วง [en] เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตรวมเก้าราย เสี่ยมปฏิเสธความรับผิดชอบโดยโยนความผิดให้กับเวียดกง ทำให้ชาวพุทธไม่พอใจยิ่งขึ้นและเรียกร้องให้มีความเสมอภาคทางศาสนา[24] เมื่อเสี่ยมยังคงปฏิเสธที่จะโอนอ่อนต่อคำร้องขอของพวกเขา ความถี่ของการประท้วงจึงเพิ่มมากขึ้นอีก

วันก่อการ

[แก้]
ภาพของพระกว๋าง ดึ๊ก จุดไฟเผาตนเอง ที่ถ่ายโดยมัลคอล์ม บราวน์ ได้รับรางวัลภาพถ่ายข่าวโลกแห่งปี 1963[25]
ภาพถ่ายอีกมุมหนึ่งโดยบราวน์
รถยนต์คันที่พระกว๋าง ดึ๊ก ใช้ในการเดินทางไปจุดไฟเผาตนเอง เก็บรักษาอยู่ที่วัดเทียนหมุ เมืองเว้

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1963 ผู้สื่อข่าวสหรัฐในเวียดนามใต้ได้รับแจ้งว่าจะมี "เรื่องสำคัญ" เกิดขึ้นในเช้าวันต่อมาบนถนนด้านนอกสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชา ณ กรุงไซ่ง่อน[26] ผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจใด ๆ กับข้อความนี้ เนื่องจากในเวลานั้นวิกฤตการณ์ชาวพุทธ ได้ดำเนินมานานกว่าหนึ่งเดือนแล้ว ในเช้าวันรุ่งขึ้น มีนักข่าวเพียงไม่กี่คนเดินทางไปยังถนนหน้าสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาตามข้อมูลที่ได้รับ ในจำนวนนี้รวมถึงเดวิด แฮลเบิร์สแตม จาก เดอะนิวยอร์กไทมส์ และมัลคอล์ม บราวน์ หัวหน้าสำนักงานไซ่ง่อนของแอสโซซิเอเต็ดเพรส (เอพี)[26] พระกว๋าง ดึ๊ก เดินทางมาถึงพร้อมกับขบวนที่เริ่มต้นจากวัดใกล้เคียง พระภิกษุและภิกษุณีประมาณ 350 รูปเดินเรียงแถวสองแถว นำหน้าด้วยรถซีดานออสติน เวสต์มินสเตอร์ ซึ่งบรรทุกป้ายที่พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษและภาษาเวียดนาม ผู้ประท้วงกล่าวประณามรัฐบาลของเสี่ยมและนโยบายของเขาต่อชาวพุทธ และเรียกร้องให้เขาปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาเรื่องความเสมอภาคทางศาสนา[26] มีพระภิกษุอีกรูปเสนอตัว แต่ท้ายที่สุดก็เป็นพระกว๋าง ดึ๊ก เนื่องจากความอาวุโสของท่าน[27]

การจุดไฟเผาตนเองเกิดขึ้นที่สี่แยกระหว่างถนนฟาน ดิ่ญ ฝุ่ง (ปัจจุบันคือถนนเหงียน ดิ่ญ เจี๋ยว) กับถนนเล วัน เสวียต (ปัจจุบันคือถนนก๊ากหมั่งท้างต๊าม) ห่างจากวังประธานาธิบดี [en] (ปัจจุบันคือวังแห่งการรวมชาติ) ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ไม่กี่ช่วงตึก พระกว๋าง ดึ๊ก ลงจากรถพร้อมพระภิกษุอีกสองรูป พระภิกษุรูปหนึ่งวางเบาะลงกับพื้นถนน ส่วนอีกรูปเปิดกระโปรงรถและหยิบเอาถังน้ำมันรถขนาดห้าแกลลอนออกมา ผู้เดินขบวนเดินเวียนไปรอบ ๆ ในขณะที่พระกว๋าง ดึ๊ก นั่งลงบนเบาะในท่านั่งขัดสมาธิแบบปัทมาสน์ พระภิกษุรูปหนึ่งราดน้ำมันรถลงบนศีรษะของพระกว๋าง ดึ๊ก ขณะที่ท่านสวดลูกประคำและภาวนาวลี นามโมว์อายีย์ด่าเฝิก (Nam mô A Di Đà Phật, "นโมอมิตาภพุทธ") ก่อนจะจุดไม้ขีดไฟแล้วโยนใส่ตนเอง เปลวเพลิงกลืนกินจีวรและเนื้อหนังมังสาของท่าน ควันสีดำพวยพุ่งออกจากร่างที่กำลังลุกไหม้[26][28]

คำกล่าวสุดท้ายของท่านก่อนการจุดไฟเผาตนเองมีบันทึกไว้ในจดหมายที่ท่านทิ้งไว้ว่า

"ก่อนจะหลับตาลงและมุ่งไปสู่ญาณทัศนะของพระพุทธเจ้า อาตมาขอวิงวอนด้วยความเคารพต่อประธานาธิบดีโง ดิ่ญ เสี่ยม โปรดจงมีจิตเมตตาต่อผู้คนในชาติ และนำพาความเสมอภาคทางศาสนามาสู่พวกเขา เพื่อดำรงไว้ซึ่งความแข็งแกร่งของชาติบ้านเกิดสืบไปชั่วกาลนาน อาตมาร้องขอต่อบรรดาพระสังฆาธิการ พระสังฆาจารย์ และพระสงฆ์ ตลอดจนพุทธฆราวาสให้ร่วมมือร่วมใจกันเสียสละเพื่อปกปักรักษาพระพุทธศาสนา"[7]

เดวิด แฮลเบอร์สแตม เขียนว่า

"ข้าพเจ้าเกือบจะหันไปมองภาพนั้นอีกครั้ง แต่ครั้งเดียวก็มากพอ เปลวเพลิงลุกโหมออกจากร่างมนุษย์ ร่างกายของท่านเหี่ยวย่นและหดตัวอย่างช้า ๆ ศีรษะของท่านกลายเป็นสีดำและไหม้เกรียม กลิ่นของเนื้อหนังมนุษย์ที่กำลังลุกไหม้โชยตลบอยู่ในอากาศ ร่างมนุษย์ถูกแผดเผาได้รวดเร็วอย่างน่าประหลาดใจ ข้าพเจ้าได้ยินเสียงสะอื้นของชาวเวียดนามที่มารวมตัวกันอยู่ข้างหลัง ในเวลานั้นข้าพเจ้าตกใจเกินกว่าจะร้องออกมา สับสนเกินกว่าจะจดบันทึกหรือตั้งคำถาม งุนงงเกินกว่าจะคิดอะไรทั้งนั้น ... ตลอดเวลาที่ร่างนั้นลุกไหม้ ท่านไม่ขยับเขยื้อนเลยแม้แต่น้อย ไม่เปล่งเสียงใด ๆ ออกมา ท่าทีนิ่งสงบของท่านขัดกับเสียงคร่ำครวญของผู้คนรอบข้างอย่างสิ้นเชิง"[29]

ผู้คนที่เฝ้าดูเหตุการณ์ส่วนใหญ่ตกตะลึงจนพูดไม่ออก แต่บางคนร้องไห้คร่ำครวญและหลายคนเริ่มสวดภาวนา พระภิกษุและภิกษุณีจำนวนมากรวมถึงผู้ผ่านมาเห็นเหตุการณ์ทรุดตัวลงกราบเบื้องหน้าพระภิกษุผู้กำลังมอดไหม้ แม้แต่ตำรวจ [en]บางนายที่ได้รับคำสั่งให้ควบคุมฝูงชนก็ก้มลงกราบเบื้องหน้าท่านเช่นกัน[27]

พระภิกษุรูปหนึ่งได้ประกาศออกไมโครโฟนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาเวียดนามหลายครั้งว่า "พระภิกษุรูปหนึ่งได้จุดไฟเผาตนเองจนมรณภาพ พระภิกษุรูปหนึ่งได้กลายเป็นผู้พลีชีพเพื่อพระศาสนา" หลังจากผ่านไปราว 10 นาที ร่างของพระกว๋าง ดึ๊ก ได้มอดไหม้จนหมดและหงายหลังล้มลงกับพื้น หลังไฟสงบ คณะสงฆ์ได้นำจีวรสีเหลืองคลุมร่างที่ยังคงคุกรุ่นไปด้วยควัน จากนั้นจึงยกขึ้นเพื่อพยายามนำใส่ในโลงศพ กระนั้นส่วนแขนขาไม่สามารถดัดให้ตรงได้ แขนข้างหนึ่งยื่นออกมาจากโลงไม้ในขณะที่พวกเขาเคลื่อนย้ายร่างของท่านไปยังวัดซ้าเหล่ยในใจกลางกรุงไซ่ง่อน ด้านนอกวัด นักศึกษากางป้ายผ้าสองภาษาที่เขียนไว้ว่า "พระเผาตัวตายเพื่อข้อเรียกร้องทั้งห้าของเรา"[26]

เมื่อถึงเวลา 13:30 น. พระสงฆ์ราว 1,000 รูปได้มารวมตัวกันภายในวัดเพื่อจัดการประชุม ในขณะที่นักศึกษาจำนวนมากที่สนับสนุนศาสนาพุทธรวมตัวกันเป็นกำแพงมนุษย์ล้อมรอบวัด การประชุมสิ้นสุดลงไม่นานหลังจากนั้น พระสงฆ์ทั้งหมดทยอยออกจากพื้นที่ยกเว้น 100 รูปที่ยังคงอยู่ภายใน ต่อมาพระสงฆ์เกือบ 1,000 รูปพร้อมด้วยคฤหัสถ์เดินทางกลับไปยังจุดที่พระกว๋าง ดึ๊ก จุดไฟเผาตนเอง ตำรวจยังตรึงกำลังอยู่ในบริเวณใกล้เคียง เมื่อเวลาราว 18:00 น. พระภิกษุณีสามสิบรูปและพระภิกษุหกรูปถูกจับกุมเนื่องจากรวมตัวกันสวดภาวนาบนถนนด้านนอกวัดซ้าเหล่ย ตำรวจเข้าปิดล้อมวัดและปิดกั้นทางเข้าออกสาธารณะ การที่พวกเขาสวมใส่อุปกรณ์ปราบจลาจลทำให้ผู้สังเกตการณ์เข้าใจว่าการล้อมวัดโดยใช้อาวุธคงจะเกิดขึ้นในไม่ช้า[30]

การปลงศพและเหตุการณ์สืบเนื่อง

[แก้]
วัดซ้าเหล่ยในไซ่ง่อน (ปัจจุบันคือนครโฮจิมินห์)

หลังเหตุการณ์พระภิกษุเผาตนเอง สหรัฐเพิ่มแรงกดดันต่อเสี่ยมให้กลับมาเปิดการเจรจาข้อตกลงที่กำลังคลอนแคลน ก่อนหน้านี้เสี่ยมได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการฉุกเฉินเมื่อเวลา 11:30 น. ของวันที่ 11 มิถุนายน เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ชาวพุทธซึ่งเขาเชื่อว่าใกล้จะคลี่คลายแล้ว หลังมรณภาพของพระกว๋าง ดึ๊ก เสี่ยมยกเลิกการประชุมและหารือกับรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล วิลเลียม ทรูฮาร์ต [en] รักษาการเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำเวียดนามใต้ เตือนเหงียน ดิ่ญ ถ่วน [en] รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในคณะรัฐมนตรีเสี่ยม ถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการบรรลุความตกลง โดยระบุว่าสถานการณ์ "ใกล้ถึงจุดแตกหักอย่างอันตรายยิ่ง" และคาดหวังว่าเสี่ยมจะตอบสนองต่อคำประกาศเจตนาห้าประการของชาวพุทธ ดีน รัสก์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เตือนสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไซ่ง่อน [en] ว่าทำเนียบขาวจะประกาศต่อสาธารณชนว่าสหรัฐจะไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลเสี่ยมอีกต่อไปหากเงื่อนไขนี้ไม่เกิดขึ้น[31] ในที่สุด แถลงการณ์ร่วมและการโอนอ่อนให้แก่ชาวพุทธก็ได้รับการลงนามในวันที่ 16 มิถุนายน[32]

วันที่ 15 มิถุนายน ได้รับการกำหนดให้เป็นวันปลงศพ ในวันนั้นผู้คนราว 4,000 คนมารวมตัวกันด้านนอกของวัดซ้าเหล่ย แต่สุดท้ายพิธีปลงศพกลับถูกเลื่อนออกไป ในวันที่ 19 มิถุนายน ร่างของพระกว๋าง ดึ๊ก ได้รับการเคลื่อนย้ายออกจากวัดซ้าเหล่ยไปยังสุสานแห่งหนึ่งที่อยู่ห่างจากกรุงไซ่ง่อนไปทางทิศใต้ 16 กิโลเมตร (9.9 ไมล์) เพื่อประกอบพิธีเผาศพอีกครั้งและพิธีปลงศพ หลังการลงนามในแถลงการณ์ร่วม การเข้าร่วมพิธีถูกสงวนไว้เฉพาะพระสงฆ์ราว 500 รูป ตามข้อตกลงระหว่างผู้นำศาสนาพุทธกับตำรวจ[32]

หัวใจที่ไม่ไหม้และสัญลักษณ์

[แก้]
พระสรีรธาตุหัวใจที่ไม่ไหม้ของพระกว๋าง ดึ๊ก[]

ร่างของพระกว๋าง ดึ๊ก ได้รับการเผาอีกครั้งในระหว่างพิธีศพ กระนั้นปรากฏว่าหัวใจของท่านยังคงสภาพและไม่ได้มอดไหม้ไปด้วย[27] หัวใจของท่านจึงถือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์และถูกนำไปประดิษฐานบนจอกแก้วในวัดซ้าเหล่ย [en][34] พระสรีรธาตุหัวใจที่ไม่ไหม้ของพระกว๋าง ดึ๊ก[][27] ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความเมตตาปรานี ในเวลาต่อมาพุทธศาสนิกชนในเวียดนามจึงเคารพยกย่องพระกว๋าง ดึ๊ก เป็นพระโพธิสัตว์ (Bồ Tát) และมักเรียกขานท่านเป็นภาษาเวียดนามว่า โบ่ต๊าตทิก กว๋าง ดึ๊ก[7][35] ในวันที่ 21 สิงหาคม กองกำลังพิเศษของกองทัพสาธารณรัฐเวียดนามซึ่งนำโดยโง ดิ่ญ ญู เข้าโจมตีโฉบฉวยวัดซ้าเหล่ยและวัดพุทธอื่นทั่วประเทศ ตำรวจลับมีจุดมุ่งหมายที่จะเข้ายึดอัฐิของพระกว๋าง ดึ๊ก แต่ภิกษุสองรูปสามารถนำผอบของท่านหลบหนีออกไปได้ทันโดยการกระโดดข้ามรั้วด้านหลัง และนำไปเก็บรักษาไว้โดยปลอดภัยที่องค์การบริหารวิเทศกิจสหรัฐซึ่งตั้งอยู่ติดกัน[36]

มีคำถามว่าการเลือกเผาตนเองด้านหน้าของสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชานั้นเป็นเรื่องบังเอิญหรือมีนัย ทรูฮาร์ตและชาลส์ ฟลาวเวอร์รี เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ เชื่อว่าได้เลือกสถานที่ดังกล่าวเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับรัฐบาลกัมพูชาของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ เวียดนามใต้และกัมพูชามีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดเรื่อยมา ในสุนทรพจน์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม สมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรงกล่าวโทษเสี่ยมว่ากดขี่ชาวพุทธทั้งเวียดนามและเขมร (กลุ่มหลังเป็นชาติพันธุ์กลุ่มน้อย) ไทมส์ออฟเวียดนาม ซึ่งมีมุมมองสนับสนุนเสี่ยม ตีพิมพ์บทความในวันที่ 9 มิถุนายน โดยอ้างว่าพระสงฆ์ชาวกัมพูชาได้ยุแยงให้เกิดวิกฤตการณ์ชาวพุทธ และยืนกรานว่านี่เป็นแผนการของกัมพูชาที่จะขยายนโยบายการต่างประเทศที่มีจุดยืนเป็นกลางมาสู่เวียดนามใต้ ฟลาวเวอร์รีตั้งข้อสังเกตว่าเสี่ยม "พร้อมและกระหายที่จะได้เห็นการหนุนหลังอันแยบยลของกัมพูชาในกิจกรรมชาวพุทธทั้งหมดที่จัดขึ้น"[37]

ปฏิกิริยาจากเสี่ยม

[แก้]
โง ดิ่ญ เสี่ยม ในปี ค.ศ. 1963

เสี่ยมออกแถลงการณ์ทางวิทยุเมื่อเวลา 19:00 น. ในวันเดียวกับที่พระกว๋าง ดึ๊ก มรณภาพ โดยยืนยันว่ารู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่งกับเหตุการณ์นี้ เขาเรียกร้องให้เกิด "ความสงบและความรักชาติ" และประกาศว่าการเจรจากับชาวพุทธจะกลับมาเดินหน้าต่อหลังจากที่หยุดชะงักไป เสี่ยมอ้างว่าการเจรจาดำเนินมาได้ด้วยดี และในห้วงเวลาของความตึงเครียดทางศาสนานี้ เขาเน้นย้ำบทบาทของปรัชญาบุคคลลักษณนิยม[] แบบโรมันคาทอลิกในการบริหารประเทศของตนเอง เขากล่าวอ้างว่ากลุ่มหัวรุนแรงได้บิดเบือนข้อเท็จจริงต่าง ๆ และยืนยันว่าชาวพุทธสามารถ "ไว้วางใจในรัฐธรรมนูญ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือตัวข้าพเจ้านั่นเอง"[30]

กองทัพสาธารณรัฐเวียดนามตอบสนองต่อคำเรียกร้องของเสี่ยม โดยจัดฉากแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับเสี่ยมเพื่อผลักไสนายทหารที่เห็นต่างออกไป นายทหารระดับสูงสามสิบนายที่นำโดยพลเอก เล วัน ติ ประกาศความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติภารกิจทั้งหมดที่กองทัพได้รับมอบหมายเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญและสาธารณรัฐ คำประกาศนี้เป็นเพียงเปลือกนอกซึ่งปกปิดแผนการโค่นล้มรัฐบาลเสี่ยมเอาไว้[38] ผู้ลงนามบางคนจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการโค่นล้มและสังหารเสี่ยมในเดือนพฤศจิกายน พลเอก เซือง วัน มิญ และพลเอก เจิ่น วัน โดน ที่ปรึกษาทางทหารของประธานาธิบดีและผู้บัญชาการทหารบกซึ่งต่อมาจะเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารอยู่ต่างประเทศในขณะนั้น[38]

มาดามญู (ชาวพุทธที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ และภรรยาของโง ดิ่ญ ญู น้องชายและประธานที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองของเสี่ยม) ซึ่งในเวลานั้นเป็นที่ยอมรับว่าเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งของเวียดนามใต้ (เนื่องจากเสี่ยมเป็นโสด) กล่าวว่าเธอจะ "ปรบมือให้ หากเห็นโชว์พระย่างที่ไหนอีก"[39] ต่อมาในเดือนเดียวกันนั้น รัฐบาลได้กล่าวหาว่าพระกว๋าง ดึ๊ก ถูกมอมยาก่อนจะถูกบังคับให้กระทำอัตวินิบาตกรรม[40] รัฐบาลยังกล่าวโทษนักข่าวบราวน์ด้วยว่าเป็นผู้ว่าจ้างพระกว๋าง ดึ๊ก ให้เผาตนเองจนถึงแก่มรณภาพ[41]

ผลต่อสื่อและการเมือง

[แก้]
มัลคอล์ม บราวน์ กับภาพถ่ายพระกว๋าง ดึ๊ก

ภาพถ่ายของมัลคอล์ม บราวน์ แพร่กระจายอย่างรวดเร็วผ่านสำนักข่าวต่าง ๆ และปรากฏบนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทั่วโลก เหตุการณ์การเผาตนเองนี้ต่อมาได้รับการยอมรับว่าเป็นจุดเปลี่ยนของวิกฤตการณ์ชาวพุทธ และจุดสำคัญที่นำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลเสี่ยม[42]

เซท เจเคิบส์ นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน กล่าวว่าพระกว๋าง ดึ๊ก ได้ "สลายการทดลองของอเมริกากับเสี่ยมให้เป็นเถ้าถ่านไปตามกัน" และกล่าวว่า "ไม่ว่าจะอ้อนวอนเพียงใดก็ไม่สามารถกู้คืนชื่อเสียงของเสี่ยมกลับคืนมาได้" เมื่อภาพถ่ายของบราวน์ได้ฝังแน่นลงไปในจิตใจของสาธารณชนทั่วโลก[43] เอลเลน แฮมเมอร์ บรรยายเหตุการณ์นี้ว่าได้ "ปลุกภาพลักษณ์อันมืดมนของการเบียดเบียนและความน่าสะพรึงกลัวที่สอดคล้องกับความเป็นจริงแบบเอเชียล้วน ๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือความเข้าใจของชาวตะวันตก"[44] จอห์น เม็กคลิน เจ้าหน้าที่ประจำสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ตั้งข้อสังเกตว่าภาพถ่ายนี้ "สร้างผลกระทบอันรุนแรงแต่มีคุณค่าอย่างไม่อาจประเมินได้ต่อขบวนการของชาวพุทธ โดยกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของสภาวการณ์ในเวียดนาม"[42] วิลเลียม โคลบี หัวหน้าส่วนงานตะวันออกไกลของซีไอเอในเวลานั้น แสดงความเห็นว่าเสี่ยม "รับมือกับวิกฤตการณ์ชาวพุทธได้ไม่ดีนักและยังปล่อยให้บานปลาย แต่ผมไม่คิดว่าพวกเขาจะทำอะไรได้อีกหลังจากพระภิกษุรูปนั้นจุดไฟเผาตัวเอง"[42]

ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ซึ่งรัฐบาลของเขาเป็นผู้สนับสนุนหลักของรัฐบาลเสี่ยม ทราบข่าวมรณภาพของพระกว๋าง ดึ๊ก จากหนังสือพิมพ์ฉบับเช้าที่เขารับมาระหว่างคุยโทรศัพท์กับรอเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี [en] น้องชายซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดสหรัฐ รายงานระบุว่าเคนเนดีขัดจังหวะการสนทนาเรื่องการแบ่งแยกในรัฐแอละแบมาโดยอุทานออกมาว่า "พระเจ้า!" (Jesus Christ!) ต่อมาเขายังกล่าวอีกว่า "ไม่มีภาพข่าวใดในประวัติศาสตร์ที่สร้างอารมณ์ความรู้สึกไปทั่วโลกได้เหมือนภาพใบนี้"[43] วุฒิสมาชิกแฟรงก์ เชิร์ช (พรรคเดโมแครต รัฐไอดาโฮ) ซึ่งเป็นกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐ กล่าวอ้างว่า "เราไม่ได้เห็นฉากน่าสยดสยองขนาดนี้มานานนับตั้งแต่สมัยที่คริสต์ชนมรณสักขีเดินจูงมือกันเข้าสู่สังเวียนโรมัน"[44]

ในยุโรป ภาพถ่ายนี้ถูกนำไปวางขายตามท้องถนนในรูปแบบไปรษณียบัตรในคริสต์ทศวรรษ 1960 ส่วนประเทศจีนได้เผยแพร่ภาพถ่ายนี้ออกไปนับล้านชุดทั่วเอเชียและแอฟริกาในฐานะหลักฐานของสิ่งที่ตนเรียกว่าเป็นจักรวรรดินิยมของสหรัฐ[41] ภาพถ่ายใบหนึ่งของบราวน์ยังคงติดตั้งอยู่ในรถยนต์คันที่พระกว๋าง ดึ๊ก ใช้โดยสารไปเผาตนเอง รถยนต์ที่ว่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวในเมืองเว้[41] สำหรับบราวน์และเอพี ภาพถ่ายนี้ถือเป็นความสำเร็จทางการตลาด เรย์ เฮิร์นดัน ผู้สื่อข่าวของยูพีไอ ลืมนำกล้องติดตัวไปด้วยในวันนั้นและถูกต้นสังกัดเรียกไปตำหนิอย่างรุนแรง ยูพีไอประเมินว่าผู้อ่านราว 5,000 คนในนครซิดนีย์ซึ่งในขณะนั้นมีประชากร 1.5–2 ล้านคน ได้หันไปติดตามข่าวสารจากเอพีแทน[45]

ไทมส์ออฟเวียดนาม สื่อกระบอกเสียงภาษาอังกฤษของเสี่ยม เพิ่มความรุนแรงในการโจมตีทั้งนักข่าวและชาวพุทธ มีการพาดหัวข่าวอย่าง "กรรมการวัดซ้าเหล่ยขู่อีกรอบ" และ "พระวางแผนฆาตกรรม"[46] บทความชิ้นหนึ่งตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระภิกษุกับสื่อว่า "เหตุใดถึงได้มีเด็กสาวจำนวนมากเดินเข้าเดินออกวัดซ้าเหล่ยในตอนเช้า [ของวันนั้น]" จากนั้นก็กล่าวอ้างว่าเด็กสาวเหล่านั้นถูกพาเข้าไปเพื่อให้บริการทางเพศแก่ผู้สื่อข่าวของสหรัฐ[46]

แบบอย่างที่มีมาก่อนและอิทธิพล

[แก้]
สถูปพระโพธิสัตว์กว๋าง ดึ๊ก ตรงสี่แยกที่ท่านเผาตนเอง

การเผาตนเองจนถึงแก่มรณภาพของพระเวียดนามไม่ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีบันทึกกล่าวถึงการเผาตนเองของพระเวียดนามมานานนับศตวรรษ โดยทั่วไปทำไปเพื่อถวายเกียรติแด่พระโคตมพุทธเจ้า กรณีที่มีการบันทึกไว้ล่าสุดเกิดขึ้นที่เวียดนามเหนือใน ค.ศ. 1950 เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสพยายามจะกำจัดการปฏิบัตินี้หลังเข้ายึดครองเวียดนามได้ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ไม่สำเร็จทั้งหมด มีรายงานว่าทางการเคยขัดขวางไม่ให้พระภิกษุรูปหนึ่งเผาตนเองในเมืองเว้ได้ในคริสต์ทศวรรษ 1920 กระนั้นพระภิกษุรูปนั้นก็หันไปอดอาหารจนมรณภาพแทน ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1920 ถึง 1930 หนังสือพิมพ์ในกรุงไซ่ง่อนรายงานเหตุการณ์พระภิกษุเผาตัวเองหลายครั้งราวกับเป็นเรื่องปรกติ การปฏิบัตินี้ยังเคยเกิดขึ้นในเมืองฮาร์บิน ประเทศจีน ใน ค.ศ. 1948 โดยพระภิกษุรูปหนึ่งนั่งในท่าขัดสมาธิแบบปัทมาสน์บนกองขี้เลื่อยผสมน้ำมันถั่วเหลืองก่อนจะจุดไฟเผาตนเองเพื่อประท้วงรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเหมา เจ๋อตง ซึ่งมีนโยบายปราบปรามศาสนา หัวใจของพระภิกษุรูปนี้ยังคงสภาพสมบูรณ์เช่นเดียวกับหัวใจของพระกว๋าง ดึ๊ก[47]

หลังจากพระกว๋าง ดึ๊ก ยังเกิดเหตุการณ์พระภิกษุเผาตนเองอีกห้ารูปจนกระทั่งปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. 1963 ท่ามกลางการประท้วงของชาวพุทธที่ทวีความรุนแรงขึ้น[48] ในวันที่ 1 พฤศจิกายน กองทัพสาธารณรัฐเวียดนามก่อรัฐประหาร [en] โค่นล้มรัฐบาลเสี่ยม เสี่ยมและญูถูกสังหารในวันต่อมา [en][49] นับจากนั้นยังคงมีพระภิกษุเผาตนเองเพื่อเรียกร้องในประเด็นอื่น ๆ เรื่อยมา[50]

ชาวอเมริกันในไซ่ง่อนมักมองเหตุการณ์การเผาตนเองว่าเป็นเรื่องเหนือจริง และมักเล่นมุกเกี่ยวกับ bonze fires ('ไฟพระ') และ hot cross bonzes ('พระกางเขนร้อน') ซึ่งเป็นการเล่นคำว่า bonfire ('กองไฟ') และ hot cross buns ('ขนมปังผสมเครื่องเทศทำลวดลายกากบาท') ตามลำดับ[51] ในกรณีตัวอย่างกรณีหนึ่งเมื่อ ค.ศ. 1963 ลูกชายอายุน้อยของนายทหารประจำสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ณ กรุงไซ่ง่อน ราดน้ำมันเครื่องใส่ตนเองแล้วจุดไฟ เขาถูกไฟไหม้อย่างรุนแรงก่อนจะมีผู้มาช่วยดับไฟ ต่อมาเขาเล่าว่า "ผมอยากรู้ว่ามันเป็นยังไง"[51] ในสหรัฐ การเผาตนเองของพระกว๋าง ดึ๊ก นำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบเพื่อประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนามจนถึงขั้นเสียชีวิต เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1965 แอลิส เฮิตส์ นักเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพวัย 82 ปี จุดไฟเผาตนเองประท้วงด้านหน้าห้างสรรพสินค้าเฟเดอรัลในนครดีทรอยต์[52]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. มาจากคำว่า ฮหว่าเถื่อง (hòa thượng) เป็นสมณศักดิ์ ในที่นี้เลือกใช้คำแปลตามคณะสงฆ์อนัมนิกายแห่งประเทศไทย ซึ่งแปลไว้ว่า "พระมหาเถราจารย์"[4] สำหรับคำแปลอื่นเป็นภาษาไทยมีในพงศาวดารญวน แปลไว้ว่า พระสังฆราชอุปัฌายะอาจารย์ โดยแปลจากรูป đại sư hòa thượng[5]
  2. 2.0 2.1 ในเอกสารไทย บ้างเรียก "หัวใจเพชร"[33]
  3. เป็นปรัชญาที่ระบุว่าบุคคลมีไว้เพื่อเคารพและรัก

อ้างอิง

[แก้]
  1. Buswell & Lopez 2013, pp. 134, 906.
  2. "Monk Suicide by Fire in Anti-Diem Protest," New York Times, 11 June 1963, 6.; David Halberstam, "Diem Asks Peace in Religion Crisis," New York Times 12 June 1963. 3.; Marilyn B. Young, The Vietnam Wars: 1945–1990, New York: Harper Collins Publishers, 1990. 95–96.
  3. Zi Jun Toong, "Overthrown by the Press: The US Media's Role in the Fall of Diem," Australasian Journal of American Studies 27 (July 2008), 56–72.
  4. "ผลการค้นหาคำว่า "Hòa thượng" ในหน้าเฟซบุ๊กของคณะสงฆ์อนัมนิกายแห่งประเทศไทย". สืบค้นเมื่อ 2024-03-08.
  5. Chiem, NT (2563). "การจัดทำอภิธานศัพท์พงศาวดารญวน ฉบับนายหยองกองทหารปืนใหญ่แปล และเทียนวรรณเป็นผู้เรียบเรียง" (PDF). คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. สืบค้นเมื่อ 2024-03-08. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  6. Dung 2006.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 Thích Nguyên Tạng 2005.
  8. Huỳnh Minh 2006, pp. 266–267.
  9. 9.0 9.1 9.2 Huỳnh Minh 2006, p. 268.
  10. Gettleman 1966, pp. 275–276, 366
  11. Unattributed 1963a
  12. Tucker 2000, pp. 49, 291, 293
  13. Ellsberg 1963, pp. 729–733
  14. Tucker 2000, p. 291
  15. 15.0 15.1 Gettleman 1966, pp. 280–282
  16. Harrison 1963b, p. 9
  17. Warner 1963, p. 210
  18. Fall 1963, p. 199
  19. Buttinger 1967, p. 993.
  20. Karnow 1997, p. 294
  21. 21.0 21.1 Jacobs 2006, p. 91
  22. Buttinger 1967, p. 933.
  23. Harrison 1963a, pp. 5–6
  24. Jacobs 2006, pp. 140–50
  25. Browne 1963
  26. 26.0 26.1 26.2 26.3 26.4 Jacobs 2006, p. 147
  27. 27.0 27.1 27.2 27.3 Karnow 1997, p. 297
  28. Jones 2003, p. 268
  29. Halberstam 1965, p. 211
  30. 30.0 30.1 Jones 2003, p. 270
  31. Jones 2003, p. 272.
  32. 32.0 32.1 Hammer 1987, p. 149.
  33. น้อมเนียน, อาชว์ภูริชญ์ (2021-04-19). "ถอดรหัส 599 พุทธทาสหัวใจเพชรแห่งเมืองเว้ ภิกษุเวียดนามเผาตัวเอง ประท้วงรัฐบาล". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 2024-08-24.
  34. Jacobs 2006, p. 148
  35. Huỳnh Minh 2006, p. 266
  36. Jones 2003, pp. 307–308
  37. Jones 2003, p. 271.
  38. 38.0 38.1 Hammer 1987, p. 147
  39. Langguth 2002, p. 216
  40. Jones 2003, p. 284
  41. 41.0 41.1 41.2 Prochnau 1995, p. 309.
  42. 42.0 42.1 42.2 Jones 2003, p. 269
  43. 43.0 43.1 Jacobs 2006, p. 149
  44. 44.0 44.1 Hammer 1987, p. 145
  45. Prochnau 1995, p. 316
  46. 46.0 46.1 Prochnau 1995, p. 320
  47. Hammer 1987, p. 146
  48. Jacobs 2006, pp. 152, 168, 171.
  49. Jacobs 2006, pp. 173–180
  50. Hammer 1987, p. 318
  51. 51.0 51.1 Prochnau 1995, p. 310.
  52. Zinn 2003, p. 486.

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]