พระบรมสารีริกธาตุ
พระบรมสารีริกธาตุ | |||||||
พระบรมสารีริกธาตุ สัณฐานเมล็ดข้าวสาร | |||||||
ชื่อภาษาจีน | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
อักษรจีนตัวเต็ม | 舍利 หรือ 舍利子 | ||||||
อักษรจีนตัวย่อ | 舍利 หรือ 舍利子 | ||||||
| |||||||
ชื่อภาษาทิเบต | |||||||
อักษรทิเบต | རིང་བསྲེལ། | ||||||
| |||||||
ชื่อภาษาเวียดนาม | |||||||
ภาษาเวียดนาม | Xá lợi | ||||||
ชื่อภาษาเกาหลี | |||||||
ฮันกึล | 사리 | ||||||
ฮันจา | 舍利 | ||||||
| |||||||
ชื่อภาษาญี่ปุ่น | |||||||
คันจิ | 仏舎利 | ||||||
ฮิรางานะ | ぶっしゃり | ||||||
| |||||||
ชื่อสันสกฤต | |||||||
สันสกฤต | śarīra | ||||||
ชื่อเบงกอล | |||||||
เบงกอล | শরীর | ||||||
ชื่อพม่า | |||||||
พม่า | သရီရဓာတ်တော် |
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
พระบรมสารีริกธาตุ (สันสกฤต: शरीर; Śarīra) เรียกโดยย่อว่าพระบรมธาตุ คือ พระอัฐิของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ได้ทรงอธิษฐานไว้ก่อนปรินิพพาน ให้คงเหลือไว้หลังจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธบริษัท[1]
พระบรมธาตุมีสองลักษณะคือ พระบรมธาตุที่ไม่แตกกระจาย และที่แตกกระจาย มีขนาดเล็กสุดประมาณเมล็ดพันธุ์ผักกาด[2]
ชาวพุทธเชื่อว่าพระบรมสารีริกธาตุเป็นวัตถุแทนองค์พระบรมศาสดาที่ทรงคุณค่าสูงสุดในศาสนาพุทธ จึงนิยมกระทำการบูชาองค์พระบรมสารีริกธาตุโดยประการต่าง ๆ เช่น การสร้างเจดีย์ เพื่อประดิษฐานพระธาตุไว้สักการะ โดยเชื่อว่ามีอานิสงส์ประดุจได้กระทำการบูชาแด่พระพุทธเจ้าเมื่อยังทรงพระชนม์อยู่[3]
ทั้งนี้ คำว่า "พระบรมสารีริกธาตุ" เป็นศัพท์เฉพาะใช้เรียกเฉพาะพระธาตุของพระพุทธเจ้า หากเป็นของพระอรหันตสาวกจะเรียกว่า "พระธาตุ" เท่านั้น[4]
การเกิดพระบรมสารีริกธาตุ
[แก้]ประวัติ
[แก้]นับแต่พระโคตมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ และเผยแผ่พระธรรมวินัยแก่ชาวชมพูทวีป เป็นเวลากว่า 45 ปี ทำให้พระพุทธศาสนาตั้งหลักฐานอย่างมั่นคง ณ ชมพูทวีปกว่าพันปี และพระพุทธศาสนาได้ขยายออกไปทั่วทวีปเอเชียนับแต่นั้นมา จวบจนพระพุทธองค์มีพระชนมายุใกล้ 80 พรรษา มีพระวรกายชราภาพลงเสมือนคนทั่วไป[5] และหลังจากวันที่ทรงทำการปลงพระชนมายุสังขารได้ 3 เดือน จึงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ระหว่างใต้ต้นสาละคู่ ณ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ในปัจฉิมยามแห่งราตรีวิสาขปรุณมีเพ็ญเดือน 6 ขณะมีพระชนมายุ 80 พรรษา
สถานที่ปรินิพพาน
[แก้]สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์ อยู่ในพระราชอุทยานของเจ้ามัลละฝ่ายเหนือแห่งกุสินารา ชื่อว่า "อุปวตฺตนสาลวนํ" หรือ อุปวัตตนะสาลวัน ซึ่งในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า สาลวโนทยาน แปลว่า สวนป่าไม้สาละ ป่าแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำหิรัญญวดี เป็นป่าไม้สาละร่มรื่น ซึ่งหลังการปรินิพพานของพระพุทธองค์แล้ว กษัตริย์แห่งมัลละก็ได้ประดิษฐานพระพุทธสรีระไว้ ณ เมืองกุสินาราเป็นเวลากว่า 7 วัน ก่อนที่จะประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ อันตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองกุสินารา ในวันที่ 8 แห่งพุทธปรินิพพาน[6]
การถวายพระเพลิง
[แก้]โดยการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ คัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทกล่าวว่า เหล่ามัลลกษัตริย์แห่งแคว้นวัชชี ได้กระทำขึ้นตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีการถวายพระเพลิงพระจักรพรรดิราช โดยเหล่ามัลลกษัตริย์ห่อพระสรีระด้วยผ้าผืนใหม่ แล้วซับด้วยสำลี รวมจำนวน 500 ชั้น และห่อด้วยผ้าอัคคีโธวัน ซึ่งเป็นผ้าชนิดพิเศษซึ่งทอขึ้นด้วยใยโลหะไม่ไหม้ไฟ และเชิญประดิษฐานบนรางเหล็ก เติมน้ำมัน ปิดด้วยรางอื่นเป็นฝา แล้วจึงเชิญพระพุทธสรีระขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธานซึ่งทำด้วยไม้หอม เตรียมการถวายพระเพลิง
จากความในมหาปรินิพพานสูตร พระไตรปิฎก กล่าวว่า เพลิงได้ลุกขึ้นเองจากภายใน ด้วยพระเตโชธาตุจากพระพุทธาธิษฐาน และเมื่อพระสรีระขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าถูกเพลิงไหม้แล้ว สายธารทิพย์ก็ไหลมาจากอากาศ ลำต้นสาละ และจากพื้นดินโดยรอบเพื่อดับพระจิตกาธาน[7] และเมื่อดับจิตกาธานแล้ว สิ่งที่คงเหลืออยู่คือพระบรมสารีริกธาตุ (กระดูก) ทั้งที่คงลักษณะเดิม (ไม่แตกกระจายไป) จำนวน 7 พระองค์ (เรียกว่า นวิปฺปกิณฺณาธาตุ) และแบบกระจัดกระจาย มีสีดอกมะลิ สีแก้วมุกดา และสีเหมือนทองคำ ซึ่งมีขนาดต่าง ๆ กัน รวมจำนวนได้ 16 ทะนาน (เรียกว่า วิปฺปกิณฺณาธาตุ)[8]
จากนั้น เหล่ามัลลกษัตริย์เมืองกุสินาราได้กระทำสัตติบัญชรในสัณฐาคาร แวดล้อมด้วยธนูปราการ ประกอบพิธีบูชาสมโภชพระบรมสารีริกธาตุตลอดเจ็ดวันหลังจากนั้น[9]
การแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ
[แก้]ต่อมาไม่นาน เจ้าผู้ครองแคว้นต่าง ๆ ก็ได้ยกกองทัพหลวงของตน รวมจำนวน 8 กองทัพ มาล้อมเมืองกุสินาราเพื่อจะแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ แต่ด้วยความที่กุสินาราเป็นเมืองเล็ก จึงต้องยอมระงับศึกโดยแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ทุกเมืองโดยไม่ต้องเกิดสงคราม โดยมีโทณพราหมณ์เป็นผู้เจรจาและประกอบพิธีแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้เป็น 8 ส่วน และพระอังคารธาตอีก 1 ส่วน คือ[10] พระเจ้าอชาตศัตรู กษัตริย์มคธเมืองราชคฤห์, กษัตริย์ลิจฉวีเมืองเวสาลี, กษัตริย์ศากยะเมืองกบิลพัสดุ์, กษัตริย์ถูลีเมืองอัลกัปปะ, กษัตริย์โกลิยะเมืองรามคาม, พราหมณ์ผู้ครองเมืองเวฏฐทีปกะ, กษัตริย์มัลละเมืองปาวา, กษัตริย์มัลละเมืองกุสินารา และกษัตริย์โมลิยะเมืองปิปผลิวัน (พระอังคารธาตุ)[11]
พระพุทธประสงค์
[แก้]ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มีพระพุทธประสงค์ให้พระพุทธสรีระของพระองค์แตกกระจายไปจำนวนมาก พระบรมสารีริกธาตุขนาดเล็กสุดแม้ประมาณเท่าเมล็ดผักกาด[12] ดังปรากฏความในคัมภีร์ปฐมสมันตาปาสาทิกาว่า
“ | โย จ ปูเชยฺย สมฺพุทฺธํ ติฏฺนฺตํ โลกนายกํ ธาตุ สาสปมตฺตมฺปิ นิพฺพุตสฺสาปิ ปูชเย ฯ สเม จิตฺตปฺปสาทมฺหิ สมํ ปุญฺ มหคฺคตํ ตสฺมา ถูปํ กริตฺวาน ปูเชหิ ชินธาตุโย ฯ
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิษฐานพระธาตุให้กระจายว่า เราอยู่ได้ไม่นานก็จะปรินิพพาน ศาสนาของเรายังไม่แพร่หลายไปในที่ทั้งปวงก่อน เพราะฉะนั้น เมื่อเราแม้ปรินิพพานแล้ว มหาชนถือเอาพระธาตุแม้ขนาดเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดทำเจดีย์ในที่อยู่ของตนๆ ปรนนิบัติ จงมีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า[13] |
” |
พระพุทธประสงค์ดังกล่าวนี้ เพื่อให้ศาสนาของพระองค์แพร่หลายไป และผู้ที่เกิดมาภายหลัง ไม่ทันเห็นพระองค์เมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ จักได้กระทำการสักการบูชาเพื่อเป็นกุศลแก่ตน ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้พระบรมสารีริกธาตุแพร่หลายไปยังดินแดนต่าง ๆ นับแต่หลังพุทธปรินิพพานเป็นต้นมา
จำนวนพระบรมสารีริกธาตุ
[แก้]- ส่วนของพระบรมสารีริกธาตุที่ตั้งอยู่ในลักษณะเดิมมิให้ย่อยเล็กหรือถูกทำลายไป มีพระอุณหิส 1 องค์ พระเขี้ยวแก้ว 4 องค์ และพระรากขวัญ 2 องค์
- พระบรมสารีริกธาตุที่แตกทำลายมีจำนวนทั้งหมด 16 ทะนานซึ่งมีลักษณะและสีหลายอย่างขึ้นอยู่กับส่วนของพระวรกาย[14]
ลักษณะพระบรมสารีริกธาตุ
[แก้]วรรณะ (สี) พระบรมสารีริกธาตุตามนัยอรรถกถาพระไตรปิฎกอธิบายว่า สีแห่งพระบรมสารีริกธาตุเสมือนดอกมะลิตูม เสมือนแก้วมุกดาที่เจียรนัยแล้ว และเสมือนจุณทองคำ[15]ส่วนสัณฐานพระบรมสารีริกธาตุ มี 3 สัณฐาน[16] คือ
- ขนาดเล็ก มีสัณฐานประมาณเมล็ดพันธุ์ผักกาด
- ขนาดเขื่อง มีสัณฐานประมาณเมล็ดข้าวสารหักกึ่ง
- ขนาดใหญ่ มีสัณฐานประมาณเมล็ดถั่วเขียวผ่ากลาง
-
พระเขี้ยวแก้วจำลอง (พระบรมธาตุส่วนไม่แตกกระจาย) ในพิพิธภัณฑ์เมืองโคลอมโบ ศรีลังกา
-
พระบรมธาตุสัณฐานเมล็ดพันธ์ผักกาด เป็นพระบรมธาตุส่วนแตกกระจายที่มีขนาดเล็กที่สุด
-
พระบรมสารีริกธาตุลักษณะกระดูกมนุษย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินเดีย กรุงนิวเดลี
ความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมสารีริกธาตุ
[แก้]ในดินแดนต่าง ๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนา ต่างนับถือว่าพระบรมสารีริกธาตุเป็นวัตถุสูงค่าสูงสุด เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระพุทธสรีระขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า และด้วยความเชื่อเรื่องพระพุทธบารมีประดุจพระองค์ทรงพระชนม์อยู่ จึงมีความเชื่อว่าพระบรมสารีริกธาตุแสดงปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ได้หลากหลายรูปแบบ เช่น พระบรมสารีริกธาตุลอยน้ำ[17], พระบรมสารีริกธาตุเสด็จเคลื่อนย้ายที่ประดิษฐานเองได้, พระบรมสารีริกธาตุแสดงปาฏิหาริย์ในลักษณะต่าง ๆ เช่น เปล่งแสงหรือรัศมีโอภาส หรือเพิ่มจำนวนได้ เป็นต้น ซึ่งยังไม่สามารถอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ได้ แต่เมื่อนำเอาพระบรมสารีริกธาตุไปเทียบกับธาตุต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกแล้ว พบว่าไม่ตรงกับธาตุใดเลย[18]
ในประเทศไทยสมัยโบราณ ปรากฏหลักฐานความเชื่อปาฏิหาริย์ที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมสารีริกธาตุที่เก่าที่สุดในจารึกวัดศรีชุม ซึ่งเป็นศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 โดยพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลังกาทีปมหาสามีเป็นเจ้า ซึ่งเป็นพระโอรสของพระยากำแหงพระราม และเป็นพระนัดดาของพ่อขุนผาเมือง เป็นผู้จารึกขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 1890-พ.ศ. 1917 โดยมีส่วนหนึ่งของจารึกกล่าวถึงอิทธิปาฏิหาริย์ของพระบรมสารีริกธาตุที่วัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัยโดยละเอียดว่า
“ | ...พระมหาธาตุเปนเจาจึงเสด็จปาฏิหาริยหนักหนาดังน้ำมหาสมุทรระลอกดังฝนตกหาใหญ รัสมีลางอันดังพรรษา จรวดสวายสูภาลูกาบุษ บธารารัศมีลางอันเลื่อมดังดวงดาวคำ เลื่อมดังน้ำทองไหลจรัสไปทั่วทุกแหง รัศมีลางอันขาวดังดอก..กรัตนดังดอกซอนดอกพุดเห็นแกตา ดาษทั่วจักราพาล ๐พระเกศธาตุเสด็จมีหมูหนึ่งชือดังสายฟาแมลบดังแถวน้ำแลนในกลางหาวอัศจรรย ๐สิ่งหนึ่งเห็นตะวัน...ออกเขียวดังสุงเผาหมอเผาไห ๐พระคีวาธาตุเสด็จจากเจดียทอง พุงขึ้นไปยัง เห็นดังตะวันสองอันเรืองใสงามหนักหนา แพพระอาทิตย พิศดูพระคีวาธาตุประมาณเทากลองเงินอันใหญ รอบนั้น ดวยกวาง แสงจรัสโอภาแลประหลาด ควรแลวามีฉัพพรรณรังสีเหลืองแดงดำ เขียวขาว ภาวจรัสสองในโลกธาตุทุกแหง ปาฏิหาริยแตแดดอุนเถิงสองชั้นฉาย... ๐พระเปนเจา จึงลงมาฉวัด รอบสุวรรณเจดีย รัศมีกระเลียกงามหนัก หนา......ดังกงเกวียนแกว แลวพระคีวาธาตุเจาจึงเสด็จเขาในโกศทอง ฝูงพระธาตุ ......จิงเขามาสูพระเจดียพอดังเผิ้งพาน เขามารังนั้นแล ๐กูจึงลุกขึ้นอัญชุลี ๐คอยมาถึง..นน โยธา พระศรีรัตนมหาธาตุเจากู ๐ลูกหนึ่งมีพรรณงามดังทองรัสมีเทา ลูก หมากเสด็จ มาแต กลางหาว ลงมาฉวัด รอบตนทานแล จึงเสด็จขึ้นอยูเหนือหัวแล พระรัตนธาตุจึงเสด็จมาอยูกึ่งหนาผาก พระศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลงกาทีป จึงยอสองมือรับเอาแลไหว พระเกศธาตุเสนหนึ่งเลื่อมงาม ควางมาแตบน สะพัดเหนือหัว พระศรีศรัทธาราชจุฬามุนียิน ศรัทธาน้าตาถั่ง ตกหนักหนา บูชาทั้งตัวอกเขาซองทั้งหลาย บหมีวาถี่เลย...[19] | ” |
นอกจากนี้ ในสมัยอยุธยายังปรากฏหลักฐานความเชื่อปาฏิหาริย์ที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมสารีริกธาตุในพระราชพงศาวดารหลายแห่ง[20] เช่น ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช[21][22], สมเด็จพระเอกาทศรถ[23] เป็นต้น และในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[24], พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในเหตุการณ์ที่องค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์ที่องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นต้น[25]
ดูเพิ่ม
[แก้]- สถูป (สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ)
- วันอัฏฐมีบูชา (วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ และบังเกิดพระบรมสารีริกธาตุ)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 4. (2555). วัดคุ้งตะเภาจัดพิธีสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : http://region4.prd.go.th/ewt_news.php?nid=18988 เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ มหากสฺสปตฺเถรวตฺถุวณฺณนา อรรถกถาพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก ฑีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ ปัจจุปัฏฐานสัญญกเถราปทานที่ ๙
- ↑ "พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-02. สืบค้นเมื่อ 2011-08-16.
- ↑ สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาวาร. ม. ๑๙/๒๘๗/๙๖๓
- ↑ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. (2555). คู่มือสักการะพระบรมสารีริกธาตุ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค "มหาปรินิพพานสูตร"
- ↑ คัมภีร์ปฐมสมันตาปาสาทิกา อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค "มหาปรินิพพานสูตร"
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค "มหาปรินิพพานสูตร"
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ "ธาตุภาชนียกถา"
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ "ปัจจุปัฏฐานสัญญกเถราปทานที่ ๙"
- ↑ คัมภีร์ปฐมสมันตาปาสาทิกา อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร
- ↑ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. (2555). คู่มือสักการะพระบรมสารีริกธาตุ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
- ↑ มหากสฺสปตฺเถรวตฺถุวณฺณนา อรรถกถาพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก ฑีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร
- ↑ เว็บไซต์พระบรมสารีริกธาตุ. (2555). พระบรมสารีริกธาตุลักษณะต่างๆ. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : http://www.relicsofbuddha.com/page2-1.htm#01 เก็บถาวร 2012-07-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ เว็บไซต์พระบรมสารีริกธาตุ. (2555). พระบรมสารีริกธาตุลักษณะต่างๆ. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : http://www.relicsofbuddha.com/page2-1.htm เก็บถาวร 2012-07-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "ฟ้าวันใหม่สุดสัปดาห์ 12 06 59 เบรก2". ฟ้าวันใหม่. 11 June 2016. สืบค้นเมื่อ 12 June 2016.
- ↑ ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2556). จารึกวัดศรีชุม. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=177
- ↑ พระยาเทพาธิบดี. (2459). คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร
- ↑ ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2556). จารึกวัดศรีชุม. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=177[ลิงก์เสีย]
- ↑ พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ. (2547). พระธาตุและพระบรมสารีริกธาตุกับคนไทย. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : http://www.mcu.ac.th/site/articlecontent_desc.php?article_id=206&articlegroup_id=59 เก็บถาวร 2014-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ เว็บไซต์พระบรมสารีริกธาตุ. (2555). พระธาตุปาฏิหาริย์. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : http://www.relicsofbuddha.com/page7-1.htm เก็บถาวร 2012-12-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ เครือข่ายข้อมูลกาญจนาภิเษก. (2556). พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : http://kanchanapisek.or.th/oncc-cgi/text.cgi?no=7596 เก็บถาวร 2009-11-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ. (2547). พระธาตุและพระบรมสารีริกธาตุกับคนไทย. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : http://www.mcu.ac.th/site/articlecontent_desc.php?article_id=206&articlegroup_id=59 เก็บถาวร 2014-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
[แก้]- มูลนิธิพระบรมธาตุในพระสังฆราชูปถัมภ์. (2546). พระบรมสารีริกธาตุ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์. ISBN 974-91474-0-5
- กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. (2555). คู่มือสักการะพระบรมสารีริกธาตุ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- พระธาตุและพระบรมสารีริกธาตุกับคนไทย เก็บถาวร 2014-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย