ข้ามไปเนื้อหา

ไท้เก๊ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก T'ai chi ch'uan)
ไท่เก๊ก *
  มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยยูเนสโก
การฝึกฝนไท่เก๊กในประเทศจีน
ประเทศ จีน
ภูมิภาค **เอเชียและแปซิฟิก
สาขาความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล
เกณฑ์พิจารณาR.1, R.2, R.3, R.4, R.5
อ้างอิง00424
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2563 (คณะกรรมการสมัยที่ 15)
รายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและการสงวนรักษาที่ดี
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

วิชามวยไท้เก๊ก หรือ ไท้เก็กคุ้ง (จีนตัวย่อ: 太极拳; จีนตัวเต็ม: 太極拳; พินอิน: Tàijíquán; เพ็งอิม: tai3 gêg8 kung5) เรียกชื่อภาษาจีนแต้จิ๋วตามชาวไทยเชื้อสายจีน อ่านแบบภาษาจีนกลางว่า ไท่จี๋เฉฺวียน แต่ในประเทศไทยเรียกกันหลายสำเนียงทั้ง ไท้เก๊ก ไทเก็ก ไท่เก๊ก ไท่จี๋ ไท้จี๋ ไทชิ และ ไทกิ๊บ

วิชามวยไท้เก๊กเป็นศิลปยุทธ์ที่มีชื่อเสียงในประเทศจีน เชื่อกันว่าปรมาจารย์ผู้ให้กำเนิดมวยไท้เก๊กคือนักพรตชื่อ จาง ซันเฟิง (เตียซำฮงในภาษาแต้จิ๋ว) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12–14 แต่วิชานี้มามีชื่อเสียงเอาในสมัยราชวงศ์ชิง โดยหยาง ลู่ฉาน ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดมวยไท้เก๊กตระกูลหยาง และภายหลังได้แพร่ขยายขจรขจายไปทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย อาจารย์ต่ง อิงเจี๋ย (ตั่งเองเกี๊ยก) นำมวยไท้เก๊กมาเผยแพร่ในเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. 2498 ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 อาจารย์ต่งส่งบุตรชายของท่านคืออาจารย์ต่ง หูหลิ่ง (ตั่งโหวเนี่ย) มาเป็นครูมวยไท้เก๊กคนแรกในประเทศไทย จึงกล่าวได้ว่ามวยไท้เก๊กในไทยนั้นสืบสายมาจากมวยไท้เก๊กตระกูลหยาง

ในปัจจุบัน มวยไท้เก๊กที่แพร่หลายกันอยู่ทั่วไปมีอยู่มากมายหลายสาย หลายตระกูล ซึ่งสายมวยอันเป็นที่ยอมรับในปัจจุบันมีอยู่ 5 สายหลักคือ ไท้เก๊กตระกูลเฉิน, ตระกูลหยาง, ตระกูลอู่, ตระกูลอู๋ และตระกูลซุน ซึ่งภายหลังรัฐบาลจีนได้นำท่ามวยของทั้งห้าตระกูลมาเรียบเรียงขึ้นเพื่อใช้ในการแข่งขันลีลายุทธ์ด้วย นอกจากห้าตระกูลนี้แล้ว ภายหลังยังมีมวยไท้เก๊กตระกูลอื่น ๆ ซึ่งแตกแยกย่อยไปจากห้าตระกูลนี้ รวมถึงยังปรากฏมวยไท้เก๊กประจำถิ่นอีกหลาย ๆ สายปรากฏออกมาอีกมากมาย หากไม่ว่าจะเป็นมวยไท้เก๊กสายใดตระกูลใด แม้ท่วงท่าจะแตกต่างกัน แต่ยังอิงเคล็ดความเดียวกัน และล้วนนับถือจาง ซันเฟิง เป็นปรมาจารย์เช่นเดียวกัน

มวยไท้เก๊กมีลักษณะนุ่มนวล โอนอ่อน ผ่อนคลาย การเคลื่อนไหวลื่นไหลต่อเนื่อง การหายใจสอดประสานไปกับการเคลื่อนไหว พร้อมทั้งต้องตั้งจิตติดตามการเคลื่อนไหวของร่างกายไปตลอดทำให้เกิดสมาธิ เนื่องจากไม่มีการเกร็งกล้ามเนื้อ หรือการออกแรงกระแทก จึงมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บร่างกายได้น้อยเมื่อเทียบกับกีฬาที่ใช้แรงชนิดอื่น ๆ ทำให้เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย แม้แก่ชราอายุ 90–100 กว่าปีก็ยังฝึกฝนได้ ประโยชน์ที่ได้รับนอกจากจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ยังสามารถใช้เป็นศิลปะป้องกันตัวได้หากได้รับการฝึกฝนเพื่อใช้ต่อสู้ ในปัจจุบันไท้เก๊กมีผู้นิยมฝึกฝนกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]