ข้ามไปเนื้อหา

สุพรหมัณยัน จันทรเศขร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Subrahmanyan Chandrasekhar)
สุพรหมัณยัน จันทรเศขร

สุพรหมัณยัน จันทรเศขร
เกิด19 ตุลาคม ค.ศ. 1910(1910-10-19)
ลาฮอร์ แคว้นปัญจาบ บริติชอินเดีย
เสียชีวิต21 สิงหาคม ค.ศ. 1995(1995-08-21) (84 ปี)
ชิคาโก รัฐอิลลินอย สหรัฐ
สัญชาติบริติชอินเดีย (1910–1947)
อินเดีย (1947–1953)
สหรัฐ (1953–1995)
ศิษย์เก่าวิทยาลัยทรินิตี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
วิทยาลัยเปรซิเดนซี มัทราส
มีชื่อเสียงจากขีดจำกัดจันทรเศขร
รางวัลรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ (1983)
เหรียญคอปลีย์ (1984)
เหรียญวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (1966)
ปัทมะ วิภูษัณ (1968)
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาฟิสิกส์ดาราศาสตร์
สถาบันที่ทำงานมหาวิทยาลัยชิคาโก
มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอกราล์ฟ เอช. ฟาวเลอร์
ลูกศิษย์ในระดับปริญญาเอกดอนัลด์ เอ็ดเวิร์ด ออสเตอร์บร็อก, โรแลนด์ วินสตัน
ลายมือชื่อ

สุพรหมัณยัน จันทรเศขร หรือ “จันทรา” (อังกฤษ: Subrahmanyan Chandrasekhar; ออกเสียง; ทมิฬ: சுப்பிரமணியன் சந்திரசேகர்) เป็นนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ นักฟิสิกส์ และนักคณิตศาสตร์ ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ค.ศ. 1983 พร้อมกับวิลเลียม อัลเฟรด ฟาวเลอร์ จากผลงานร่วมกันว่าด้วยโครงสร้างเชิงทฤษฎีและวิวัฒนาการของดาวฤกษ์[1][2] สุพรหมัณยัน จันทรเศขรเป็นหลานของจันทรเศขร เวงกฎะ รามัน (นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล ค.ศ. 1930)

จันทรเศขรผู้นี้นอกจากมีความสามารถอย่างหาตัวจับยากในด้านวิทยาศาสตร์แล้ว ยังมีความรู้อันลุ่มลึกและกว้างขวางในด้านศิลปะและวรรณคดีด้วย ในด้านวิทยาศาสตร์นั้นเขามีความสามารถอันผสมผสานระหว่างความเข้าใจพื้นฐานด้านแนวคิดทางฟิสิกส์ และความสามารถด้านคณิตศาสตร์เชิงปรากฏการณ์ด้วย

ประวัติ

[แก้]

จันทรเศขร เกิดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1910 ในเมืองลาฮอร์ ปัญจาบ บริติชอินเดีย ในครอบครัวชาวทมิฬ[3] เป็นบุตรคนที่สาม จากพี่น้อง 10 คน มารดาชื่อสีตา (นามสกุลเดิม พาลกฤษณัน) บิดาชื่อ สุพรหมัณยะ อัยยาร์[4] ในภาษาสันสกฤต ชื่อ “จันทรเศขร” (จัน-ทระ-เส-ขอน) เป็นพระนามหนึ่งของพระศิวะ หมายถึง ผู้ถือพระจันทร์ และเป็นชื่อที่นิยมใช้ในหมู่ชาวทมิฬ (อย่างไรก็ตาม มีเอกสารบางชิ้นสะกดเป็นอักษรไทยว่า “จันทรสิกขา” ซึ่งไม่ตรงกับการถ่ายอักษรจากภาษาเดิม) สำหรับชื่อเล่น Chandra นั้นอาจถ่ายเป็นอักษรไทยว่า จันทร (จัน-ทระ) แต่เพื่อความสะดวกในการออกเสียงนิยมเขียน “จันทรา” (พระจันทร์ในภาษาอินเดีย ถือเป็นเพศชาย) ที่บ้านของจันทราใช้ภาษาทมิฬเป็นภาษาหลัก บิดาเป็นนักบัญชีในหน่วยงานของรัฐ และเป็นนักไวโอลินสมัครเล่นฝีมือดี ซึ่งได้แต่งตำราหลายเล่มว่าด้วยวิชาดนตรี ส่วนมารดานั้นมีความรู้ด้านวรรณกรรม เคยแปลวรรณกรรมเรื่อง A Doll’s House ของเฮ็นริก อิปเซิน เป็นภาษาทมิฬ[5]

ในเบื้องต้น จันทราเรียนกับบิดามารดาที่บ้าน กระทั่งจบชั้นมัธยมต้น เมื่ออายุ 12 ปี[5] และเข้าเรียนมัธยมปลายในโรงเรียนฮินดู เมืองติรุวัลลิกเกณิ ระหว่าง ค.ศ. 1922 – 1925 ต่อมาได้เข้าศึกษาที่เปรซิเดนซี คอลเลจ (วิทยาลัยในสังกัดของมหาวิทยาลัยมัทราส) ระหว่าง ค.ศ. 1925 – 1930 โดยได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) สาขาฟิสิกส์

เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1930 จันทรเศขรได้รับทุนจากรัฐบาลให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และได้เข้าศึกษาที่ทรินิตีคอลเลจ และเป็นนักศึกษาวิจัยของศาสตราจารย์ ราล์ฟ เอช ฟาวเลอร์ และด้วยคำแนะนำของศาสตราจารย์ พอล ดิแรก ในฐานะส่วนหนึ่งของการศึกษา ทำให้จันทราได้ใช้เวลา 1 ปี ที่สถาบันฟิสิกส์เชิงทฤษฎี ในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก และทำให้เขาได้พบกับศาสตราจารย์นิลส์ โปร์ ที่นี่

ในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 1933 จันทรเศขรได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และในเดือนตุลาคม เขาได้รับเลือกให้เป็นไพรซ์ เฟลโลชิป ที่ทรีนิตีคอลเลจ ในช่วง ค.ศ. 1933 – 1937[6] ในระหว่างนี้ เขาได้คุ้นเคยกับเซอร์อาร์เธอร์ เอดดิงตัน และศาสตราจารย์ อี เอ มิลน์

เดือนกันยายน ค.ศ. 1936 จันทรเศขรกลับไปแต่งงานที่อินเดีย กับลลิตา ทุไรสวามิ ซึ่งเป็นรุ่นน้องเขา 1 ปี ทั้งสองเคยรู้จักกันเมื่อครั้งเรียนที่เปรซิเดนซี คอลเลจ ในเมืองมัทราส ในอัตชีวประวัติโนเบลนั้น จันทรเศขรเขียนไว้ว่า “ความเข้าใจอย่างอดทน การสนับสนุน และกำลังใจจากลลิตา นับเป็นหัวใจหลักในชีวิตข้าพเจ้า”

การทำงาน

[แก้]

เดือนธันวาคม ค.ศ. 1936 จันทรเศขรได้ตอบรับเข้าทำงานในมหาวิทยาลัยชิคาโก ในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์[6] และได้รับตำแหน่ง Morton D. Hull Distinguished Service Professor of Theoretical Astrophysics เมื่อ ค.ศ. 1952 และได้รับการยกย่องเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ เมื่อ ค.ศ. 1985

จันทรเศขรเคยทำงานที่หอดูดาวเยอร์คีส (Yerkes Observatory) ในเมืองวิลเลียมส์ เบย์ รัฐวิสคอนซิน ซึ่งดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยชิคาโก เมื่อองค์การนาซาได้สร้างห้องปฏิบัติการเพื่อการวิจัยด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์และอวกาศ (Laboratory for Astrophysics and Space Research หรือ LASR) เมื่อ ค.ศ. 1966 ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ จันทรเศขรได้ครอบครองพื้นที่หนึ่งในสี่ของสำนักงานบนชั้นที่สอง และได้อาศัยอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยราวหนึ่งไมล์ หลังจากมีการสร้างกลุ่มอาคารที่พักขึ้นเมื่อปลายทศวรรษ 1960

"จันทรา เป็นหนึ่งในนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ในยุคนี้ เขาแสดงให้เห็นว่า ดาวแคระขาวไม่อาจมีมวลเกินขีดจำกัด
นั่นคือ มวลในระดับที่ก่อให้เกิดการระเบิดของซูเปอร์โนวา และให้ความสว่างสูงสุดในท้องฟ้า
จันทรายังเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ผมรู้จัก"
[7][8]ฮันส์ เบเทอ, นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล ค.ศ. 1967, และศาสตราจารย์เกียรติคุณฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จันทรเศขรทำงานที่ห้องปฏิบัติการวิจัยขีปนศาสตร์ ที่เอเบอร์ดีน พรูฟวิง กราวนด์ ในรัฐแมรีแลนด์ ขณะอยู่ที่นั่น เขาได้ทำงานเพื่อแก้ปัญหาด้านขีปนศาสตร์ เช่น รายงานสองชิ้น ในปี ค.ศ. 1943 เรื่อง On the decay of plane shock waves และ The normal reflection of a blast wave[9][10] เขามีโอกาสจะได้เข้าร่วมงานกับห้องปฏิบัติการลอส อะลามอส ที่มีชื่อเสียง แต่ความล่าช้าในการตรวจสอบประวัติทำให้ต้องล้มเลิก

ขณะที่จันทราและภรรยาอยู่ในอเมริกา บิดาที่อยู่ในอินเดียคอยหาตำแหน่งงานที่ดีไว้ให้ เพื่อหวังว่าลูกชายจะได้กลับไปบ้านเกิด แต่ในที่สุดจันทราก็ได้สิทธิเป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1953[11]

ระหว่าง ค.ศ. 1952 – 1971 จันทรเศขรรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหารของวารสาร Astrophysical Journal (ApJ)[12] โดยได้ปั้นแต่งจากวารสารท้องถิ่น ให้กลายเป็นวารสารชั้นนำด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ในระดับนานาชาติ

จันทรเศขรได้พัฒนารูปแบบการทำงานต่อเนื่องในด้านฟิสิกส์สาขาหนึ่ง ๆ โดยเฉพาะเป็นเวลานาน, ด้วยเหตุนี้ ชีวิตการทำงานของเขาจึงอาจแบ่งได้เป็น 7 ช่วง ดังนี้[10]

  1. โครงสร้างของดาว รวมทั้งทฤษฎีดาวแคระขาว ระหว่าง ค.ศ. 1929 – 1939
  2. พลวัตของดาว และการเคลื่อนที่แบบบราวน์ ระหว่าง ค.ศ. 1939 – 1943
  3. ทฤษฎีการถ่ายโอนการแผ่รังสี ทฤษฎีบรรยากาศของดาวฤกษ์ ทฤษฎีควอนตัมของไอออนลบของไฮโดรเจน และทฤษฎีบรรยากาศของดาวเคราะห์ รวมทั้งทฤษฎีการสว่างและการเกิดขั้วของท้องฟ้าที่มีแสงแดด ระหว่าง ค.ศ. 1943 – 1950
  4. เสถียรภาพอุทกพลศาสตร์ และอุทกศาสตร์เชิงแม่เหล็ก รวมทั้งทฤษฎีการพา เรย์ลี-เบอร์นาร์ด จาก ค.ศ. 1950 – 1961
  5. สมดุลและเสถียรภาพของค่าอีลิปซอยด์ของสมดุล แต่ได้ศึกษาสัมพัทธภาพทั่วไปด้วย ในช่วงทศวรรษ 1960
  6. ทฤษฎีทั่วไปแห่งสัมพัทธภาพ และฟิสิกส์ดาราศาสตร์เชิงสัมพัทธภาพ ระหว่าง ค.ศ. 1962 – 1971
  7. ทฤษฎีคณิตศาสตร์ของหลุมดำ ระหว่าง ค.ศ. 1974 – 1983

คุณครูชื่อจันทรา

[แก้]

เมื่ออยู่ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก จันทราทำหน้าที่เป็นนักวิจัยและอาจารย์ ที่ดูแลเอาใจใส่ลูกศิษย์อย่างใกล้ชิด นับเป็นแบบอย่างที่ดีของนักศึกษา โดยได้ดูแลงานวิจัยระดับปริญญาเอกของนักศึกษากว่า 45 ราย[13] ตัวอย่างที่ทราบกันดีอย่างหนึ่ง ก็คือ การอุทิศตนในการสอนอย่างดียิ่งในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1940 ที่ต้องขับรถไปกลับกว่า 100 ไมล์ต่อสัปดาห์ เพื่อสอนนักศึกษาเพียงสองคนเท่านั้น และในเวลาไม่นานต่อมา ในปี ค.ศ. 1957 นักศึกษาทั้งชั้น (สองคนนั้น) ก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ นั่นคือ หลี่เจิ้งเต้า (T.D. Lee; 李政道) และ หยางเจิ้นหนิง (C.N. Yang; 楊振寧)[14]

นอกจากงานด้านวิทยาศาสตร์ จันทรเศขรยังเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง เมื่อ ค.ศ. 1987 ว่าด้วยปรัชญาสุนทรียศาสตร์ในวิทยาศาสตร์ เรื่อง Truth and Beauty: Aesthetics and Motivations in Science และมักจะบรรยายถึงความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์อยู่เสมอ

ระหว่าง ค.ศ. 1990 – 1995 จันทรเศขรมุ่งมั่นทำโครงการอย่างหนึ่ง เพื่ออธิบายการอ้างเหตุผลทางเรขาคณิตใน Philosophiae Naturalis Principia Mathematica ของไอแซค นิวตัน โดยใช้ภาษาและระเบียบวิธีของแคลคูลัสธรรมดา ความพยายามดังกล่าวปรากฏผลในหนังสือเรื่อง Newton's Principia for the Common Reader ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1995

วาระสุดท้าย

[แก้]

จันทรเศขรทำงานในมหาวิทยาลัยชิคาโก ตั้งแต่ ค.ศ. 1937 โดยเบื้องต้นได้ทำงานที่หอดูดาวเยอร์คีส และต่อมาได้ทำงานที่สถาบันวิจัยเฟอร์มี กระทั่งถึงแก่กรรมด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว เมื่อ ค.ศ. 1995 ขณะอายุ 84 ปี[14]

ผลงาน

[แก้]

ความสำเร็จที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของจันทรเศขร คือ ขีดจำกัดจันทรเศขร (Chandrasekhar limit) หรือ มวลจันทรเศขร (Chandrashekhar mass) โดยค่าดังกล่าว คือมวลที่มากที่สุดที่เป็นไปได้ของดาวแคระขาว คือประมาณ 1.44 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ หรือเทียบเท่า, และเป็นมวลน้อยที่สุดที่ในที่สุดดาวฤกษ์จะกลายเป็นดาวนิวตรอน หรือหลุมดำ ภายหลังจากเกิดซูเปอร์โนวา จันทรเศขรคำนวณค่าดังกล่าวเป็นครั้งแรก เมื่อ ค.ศ. 1930 ในช่วงที่เขาเดินทางครั้งแรกไปยังเคมบริดจ์เพื่อศึกษาต่อ

ในครั้งแรกที่จันทราเสนอเรื่องนี้ในช่วงที่อยู่ในทรีนิตีคอลเลจ ช่วงทศวรรษ 1930 เขาถูกคัดค้านอย่างรุนแรงจากอาร์เธอร์ เอดดิงตัน[5] ซึ่งทำให้จันทราท้อแท้อย่างมาก เนื่องจากไม่มีนักฟิสิกส์ที่น่าเชื่อถือคนใดในยุโรปมาช่วยแก้ต่างให้เขา กรณีดังกล่าวสร้างความขมขื่นแก่จันทราเป็นอย่างยิ่ง และรายงานดังกล่าวของจันทราไม่ได้รับการรับรองเพื่อให้ราชสมาคมตีพิมพ์ เขาจึงส่งไปตีพิมพ์ใน Astrophysical Journal ในอเมริกา และตีพิมพ์เมื่อเดือนมีนาคม 1931 และไม่นานต่อมา ขีดจำกัดจันทรเศขร ก็เป็นที่ยอมรับในแวดวงฟิสิกส์ดาราศาสตร์

จันทราเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ขยันและมุ่งมั่น เมื่อสิ้นสุดการศึกษาแต่ละช่วง ก็ได้รวบรวมแนวคิดและทฤษฎีมาตีพิมพ์เป็นเล่ม เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา จันทรานั้นแต่งตำราเอาไว้ไม่มากนัก แต่ก็มียอดขายสูงนับแสนเล่ม โดยหนังสือแต่ละเล่มมีความหนาไม่น้อยเลย สำหรับเล่มสุดท้าย (ตีพิมพ์ก่อนถึงแก่กรรมเพียง 2 เดือน) มีความหนาถึง 600 กว่าหน้า

เกียรติคุณและอนุสรณ์

[แก้]

จันทรเศขรได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ เมื่อ ค.ศ. 1983 จากการศึกษากระบวนการทางฟิสิกส์ที่สำคัญต่อโครงสร้างและวิวัฒนาการของดาวฤกษ์[15] จันทรเศขรยอมรับเกียรติดังกล่าว แต่เสียใจที่มีการอ้างถึงเฉพาะผลงานเฉพาะช่วงแรกของชีวิต โดยมองว่าไม่เห็นความสำคัญของความสำเร็จตลอดชีวิตของเขา

นอกจากนี้เขายังได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ 20 ปริญญา และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสมาคมวิชาการ 21 แห่ง[16] รวมทั้งได้รับรางวัลอื่น ๆ อีกมากนอกเหนือจากรางวัลโนเบล เช่น เหรียญทองจากราชสมาคมดาราศาสตร์แห่งลอนดอน,[17] รางวัลรัมฟอร์ดแห่งสำนักศิลปะและวิทยาศาสตร์แห่งอเมริกา,[18] เหรียญพระราชทานจากราชสมาคมแห่งอังกฤษ, เหรียญแห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์,[19] และเหรียญเฮนรี เดรเปอร์ แห่งสำนักวิทยาศาสตร์แห่งชาติ[20] เป็นต้น

เมื่อ ค.ศ. 1999 องค์การบริหารการบินและอวกาศ (นาซ่า) ตั้งชื่อกล้องโทรทรรศน์อวกาศแห่งที่สาม จากหอดูดาวอวกาศขนาดใหญ่ 4 แห่ง จากการประกวดตั้งชื่อกว่า 6,000 ชื่อ จาก 50 รัฐ และ 61 ประเทศ โดยใช้ชื่อว่ากล้องโทรทรรศน์รังสีเอกซ์จันทรา (Chandra X-ray Observatory) ซึ่งถูกส่งและปล่อยจากกระสวยอวกาศโคลัมเบีย เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1999

จันทราได้รับรางวัล “ปัทมะ วิภูษัณ” นำหน้าชื่อ เป็น “ปัทมะ วิภูษัณ สุพรหมัณยัน จันทรเศขร” อันเป็นรางวัลการยกย่องให้เกียรติอย่างสูงเป็นอันดับสองที่มอบแก่พลเรือนอินเดีย (รองจากรางวัล “ภรต รัตนะ”) มอบให้แก่ผู้ทำคุณงามความดีแก่ประเทศชาติ เขาได้รับรางวัลนี้ในปี ค.ศ. 1968 จากสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลคนแรกคือ สัตเยนทร นาถ โพส (Satyendra Nath Bose)

เลขจันทรเศขร (Chandrasekhar number) เป็นปริมาณไร้มิติของอุทกพลศาสตร์เชิงแม่เหล็ก (Magnetohydrodynamics) ก็ตั้งตามชื่อของเขา นอกจากนี้ยังมีการตั้งชื่อให้กับดาวเคราะห์น้อยขนาด 34 กิโลเมตรว่า “ดาวเคราะห์น้อย 1958 จันทรา” (1958 Chandra)

ขีดจำกัดจันทรเศขร (Chandrashekhar limit)

[แก้]

ดาวแคระขาวนั้นเป็นดาวฤกษ์ (อย่างดวงอาทิตย์ของเรา) ที่มีวิวัฒนาการขั้นสูงสุด โดยอาจมีรัศมีมากกว่าเดิมนับร้อย ๆ เท่า ในขั้นนี้อะตอมบนผิวหน้าจะไม่มีความถ่วงที่สูงพอจะยึดเอาไว้ แต่ยังมีแรงดันที่เข้มแผ่ออกมาจากภายใน อะตอมบางส่วน โดยเฉพาะไฮโดรเจนจะพุ่งออกมา และมวลของดาวดวงนั้นจะค่อย ๆ ลดลง จากทฤษฎีแสดงว่าดาวที่มีมวลถึง 8 เท่าของดวงอาทิตย์จะสูญเสียมวลไปในลักษณะเช่นนี้ และลดลงต่ำกว่าขีดจำกัดจันทรเศขร

ขีดจำกัดนี้มีผลต่อดาวที่มีมวลมากกว่า 8 เท่าของดวงอาทิตย์ด้วย สสารในแกนกลางของมันจะกลายเป็นเหล็กด้วยปฏิกิริยานิวเคลียร์ ถึงจุดนี้จะไม่มีพลังงานนิวเคลียร์อีกต่อไป เช่นเดียวกับในดาวแคระขาว เมื่อแกนเหล็กมีมวลเท่ากับมวลจันทรเศขร มันจะยุบเป็นดาวนิวตรอน และส่วนที่เหลือจะถูกผลักออกไป กลายเป็นซูเปอร์โนวาชนิด II ดาวแคระขาวบางแบบจะดึงสสารเข้ามาจากภายนอก และเมื่อมวลมากเท่ากับขีดจำกัดจันทรเศขร มันจะกลายเป็นซูเปอร์โนวาเช่นกัน ในกรณีนี้เรียกว่า ซูเปอร์โนวาชนิด Ia

การค้นพบนี้นับเป็นพื้นฐานของฟิสิกส์ดาราศาสตร์สมัยใหม่ เนื่องจากแสดงให้เห็นว่าดาวฤกษ์ที่มีมวลสูงกว่าดวงอาทิตย์ของเรามาก ๆ จะต้องระเบิด หรือไม่ก็กลายเป็นหลุมดำ

รายชื่องานเขียน

[แก้]
  • An Introduction to the Study of Stellar Structure (1939), ISBN 9780486604138
  • Principles of Stellar Dynamics (1942), OCLC 315930392
  • Radiative Transfer (1950), OCLC 1261755
  • Hydrodynamic and Hydromagnetic Stability (1961), OCLC 776597075
  • Ellipsoidal Figures of Equilibrium (1969), OCLC 1141818441
  • The Mathematical Theory of Black Holes (1983), ISBN 9780198512912
  • Truth and Beauty: Aesthetics and Motivations in Science (1987), ISBN 9780226100869
  • Newton's Principia for the Common Reader (1995), ISBN 9780198517443

นอกจากนี้ยังมีรายงานวิชาการอีกเป็นจำนวนมาก โดยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการด้านดาราศาสตร์ ทั้งในสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ ในยุโรป

อ้างอิง

[แก้]
  1. Vishveshwara, C.V. (25 เมษายน 2000). "Leaves from an unwritten diary: S. Chandrasekhar, Reminiscences and Reflections" (PDF). Current Science. 78 (8): 1025–1033. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 12 ตุลาคม 2011.
  2. Horgan, J. (1994). "Profile: Subrahmanyan Chandrasekhar – Confronting the Final Limit". Scientific American. 270 (3): 32–33. doi:10.1038/scientificamerican0394-32.
  3. "Who was S Chandrasekhar?". The Indian Express (ภาษาอังกฤษ). 19 ตุลาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2019.
  4. "Subramanyan Chandrasekhar Biographical". NobelPrize.org (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2019.
  5. 5.0 5.1 5.2 "S Chandrasekhar: Why Google honours him". www.aljazeera.com. สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2017.
  6. 6.0 6.1 Trehan, Surindar Kumar (1995). "Subrahmanyan Chandrasekhar 1910–1995" (PDF). Biographical Memoirs of Fellows of the Indian National Science Academy. 23: 101–119.
  7. "Subrahmanyan Chandrasekhar, The Man Behind The Name". Chandra X-ray Observatory. 14 เมษายน 2021.
  8. Andrew Mylwaganam (บ.ก.). "A Tribute to Subrahmanyan Chandrasekhar". tamil.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 พฤษภาคม 2010.
  9. Chandrasekhar, S. (1943). Optimum Height for the Bursting of a 105mm Shell (PDF) (Report). Army Ballistic Research Lab Aberdeen Procing Ground MD. BRL-MR-139. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (pdf)เมื่อ 2019-11-29. สืบค้นเมื่อ 2021-10-23.
  10. 10.0 10.1 O'Connor, J. J.; Robertson, E. F. "Subrahmanyan Chandrasekhar". Biographies. School of Mathematics and Statistics University of St Andrews, Scotland. สืบค้นเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012.
  11. "S Chandrashekhar, India's great astrophysicist: Why Google Doodle is celebrating the Nobel prize winner". The Financial Express (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 19 ตุลาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2017.
  12. Helmut A. Abt (1 ธันวาคม 1995). "Obituary – Chandrasekhar, Subrahmanyan". Astrophysical Journal. 454: 551. Bibcode:1995ApJ...454..551A. doi:10.1086/176507.
  13. Singh, Virendra (26 ตุลาคม 2011). "S Chandrasekhar: His Life and Science". Resonance. 16 (10): 960. doi:10.1007/s12045-011-0094-0. S2CID 119945333.
  14. 14.0 14.1 C.), Wali, K. C. (Kameshwar) (1991). Chandra : a biography of S. Chandrasekhar. Chicago: University of Chicago Press. p. 9. ISBN 978-0226870540. OCLC 21297960.
  15. Wilhelm Odelberg, บ.ก. (1983). "Subramanyan Chandrasekhar The Nobel Prize in Physics 1983, Autobiography". The Nobel Foundation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 สิงหาคม 2007.
  16. "Subrahmanyan Chandrasekhar". University of Chicago News Office. 22 สิงหาคม 1995.
  17. "Winners of the Gold Medal of the Royal Astronomical Society". Royal Astronomical Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 พฤษภาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2011.
  18. "Past Recipients of the Rumford Prize". American Academy of Arts and Sciences. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 กันยายน 2012. สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2011.
  19. "The President's National Medal of Science: Recipient Details – NSF – National Science Foundation". www.nsf.gov.
  20. "Henry Draper Medal". National Academy of Sciences. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 มกราคม 2013. สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2011.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
Wikiquote
Wikiquote
วิกิคำคมภาษาอังกฤษ มีคำคมที่กล่าวโดย หรือเกี่ยวกับ: Subrahmanyan Chandrasekhar