คณะเสนาธิปัตย์แห่งมอลตา
คณะเสนาธิปัตย์บริบาล ในนักบุญยอห์นแห่งเยรูซาเลม แห่งโรดส์ และแห่งมอลตา Supremus Militaris Ordo Hospitalarius Sancti Ioannis Hierosolymitani Rhodiensis et Melitensis | |
---|---|
เมืองหลวง | Magistral Palace, โรม |
ภาษาราชการ | อิตาลี |
รัฐบาล | |
• เจ้าชายและอัคราจารย์ | John T. Dunlap |
ก่อตั้ง | |
• ก่อตั้ง | ประมาณ ค.ศ. 1099 |
• ลี้ภัยจากเกาะมอลตา | ค.ศ. 1798 |
• ตั้งกองบัญชาการใหม่ที่โรม | ค.ศ. 1834 |
สกุลเงิน | ยูโร (โดยทางการใช้เงินสกุลสคูโดของมอลตา) |
คณะเสนาธิปัตย์แห่งมอลตา หรือ รัฐอธิปไตยทหารออร์เดอร์ออฟมอลตา[1] (อังกฤษ: Sovereign Military Order of Malta: SMOM) ชื่อเต็มว่า คณะเสนาธิปัตย์บริบาลในนักบุญยอห์นแห่งเยรูซาเลม แห่งโรดส์ และแห่งมอลตา (ละติน: Supremus Militaris Ordo Hospitalarius Sancti Ioannis Hierosolymitani Rhodiensis et Melitensis) เป็นคณะนักบวชคาทอลิกฝ่ายฆราวาสซึ่งตามประเพณีแล้วมีลักษณะเป็นทหาร อัศวิน และขุนนาง ภราดาจากฝรั่งเศสนามว่าเฌราร์ผู้รับพรก่อตั้งขึ้นเป็นคณะอัศวินบริบาลราว ค.ศ. 1099 ณ กรุงเยรูซาเลม คณะนักบวชนี้จึงเป็นคณะอัศวินที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังเหลืออยู่
ความรวม
[แก้]คณะเสนาธิปัตย์แห่งมอลตา คือคณะอัศวินนักบุญยอห์นซึ่งมีถิ่นกำเนิดจากปาเลสไตน์ในช่วงสงครามครูเสดในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ที่เหลือรอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ พวกเขาเคยมีอธิปไตยเหนือเกาะมอลตาและเกาะโรดส์ และในช่วงเวลาหนึ่งก็สูญเสียอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนดังกล่าว (เนื่องจากถูกฝรั่งเศสบุกยึด) แต่ความเป็นรัฐบาลยังคงอยู่ และได้รับการยอมรับตามกฎหมายระหว่างประเทศเป็นองคภาวะอธิปไตย (sovereign entity) คณะเสนาธิปัตย์แห่งมอลตามีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศ 110 ประเทศ และมีที่นั่งในสหประชาชาติและสหภาพยุโรปในฐานะผู้สังเกตการณ์ถาวร[2]
ปัจจุบัน คณะเสนาธิปัตย์แห่งมอลตาปฏิบัติภารกิจสาธารณกุศล เช่น เวชบริบาลภายในประเทศ 120 ประเทศทั่วโลก คณะมีอัศวินประจำการราว 13,500 คน, ผู้ปฏิบัติวิชาชีพแบบได้รับเงินตอบแทน 42,000 ราย, และอาสามัครผู้ไม่ได้รับเงินตอบแทน 80,000 รายทั่วโลก
การปกครอง
[แก้]ผู้นำสูงสุดของคณะถูกเรียกว่า "เจ้าชายและอัคราจารย์" (Prince and Grand Master) ซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมคณะมนตรีแห่งรัฐจากสมาชิกซึ่งมีสมณศักดิ์เป็นพระคาร์ดินัล มีวาระดำรงตำแหน่งตลอดชีพ สาเหตุที่เรียกว่าเจ้าชายก็เนื่องจากว่าตำแหน่งนี้เคยมีสถานะเป็นเจ้าชายผู้คัดเลือกของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ผู้นำคณะคนปัจจุบันคือ Giacomo dalla Torre del Tempio di Sanguinetto ได้รับเลือกเป็นอัคราจารย์คนที่ 80 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 2018
กองบัญชาการใหญ่ของคณะตั้งอยู่ที่วังมอลตา (Palazzo Malta) กรุงโรม ประเทศอิตาลี ภายในอาคารกองบัญชาการใหญ่ได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตจากทางการอิตาลี กฎหมายอิตาลีมิอาจบังคับใช้ภายในอาคารดังกล่าว การปกครองของคณะอยู่ภายใต้ธรรมนูญกฎบัตรและประมวลกฎวินัยหมายของคณะ เขตการปกครองระดับนานาชาติแบ่งออกเป็น 6 มหาสำนัก (Grand Priory) ได้แก่ มหาสำนักโรม, มหาสำนักลอมบาร์ดีและเวนิส, มหาสำนักนาโปลีและซิซิลี, มหาสำนักโบฮีเมีย, มหาสำนักออสเตรีย และมหาสำนักอังกฤษ[3]
คณะเสนาธิปัตย์ประกอบด้วยเขต 12 เขต, สาขาประจำชาติ 48 สาขา, และคณะทูต 133 คณะ[4]
ประวัติศาสตร์
[แก้]คณะมอลตาเป็นหนึ่งในสี่นิกายของโรมันคาทอลิกที่เก่าแก่ที่สุด (อีกสามนิกายคือ Basilians, Angustinians และ Benedictines) มีลักษณะคล้ายกับองค์กรศาสนา เช่นเดียวกับคณะนักบวชอื่นอีก 4 สาขา คือ คณะอัศวินทิวทัน, คณะอัศวินเทมพลาร์, คณะนักบุญลาซารัส และคณะนักบุญทอมัส
คณะมอลตาก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1099 โดยภราดาเฌราร์ ก่อตั้งสถานบริบาลขึ้นที่กรุงเยรูซาเลมเพื่อบริบาลคณะแสวงบุญที่เดินทางมาเยรูซาเลม และขยายสาขาออกไปตามเส้นทางการแสวงบุญ ต่อมาเมื่อเกิดสงครามครูเสด สมาชิกคณะนี้ต้องติดอาวุธป้องกันตนเองและทำหน้าที่ช่วยสู้รบไปในตัวด้วย จึงเกิดตำแหน่งอัศวินขึ้นในสมัยของผู้นำที่ชื่อ Fra Raymond du Puy ในค.ศ. 1126 ในที่สุดเมื่อฝ่ายมุสลิมมีชัยชนะเหนือคริสเตียนในเยรูซาเลมและดินแดนปาเลสไตน์ ในช่วงปี ค.ศ. 1187-1291 ทำให้ฝ่ายคริสเตียนต้องถอยไปตั้งมั่นอยู่ที่ไซปรัสประมาณ 140 ปี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 139 (พิเศษ 205 ง). 1 กันยายน 2565.
- ↑ "Multilateral relations". สืบค้นเมื่อ 28 August 2020.
- ↑ "National Institutions". www.orderofmalta.int. Order of Malta. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 September 2016. สืบค้นเมื่อ 2 September 2016.
- ↑ "National Institutions". สืบค้นเมื่อ 28 August 2020.