ข้ามไปเนื้อหา

ประธานาธิบดีศรีลังกา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก President of Sri Lanka)
ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา
ผู้ดำรงตำแหน่งคนปัจจุบัน
อนุระ กุมาระ ทิสานายกะ
ตั้งแต่ 23 กันยายน ค.ศ. 2024
สมาชิกของคณะรัฐมตรี
สภาความมั่นคงแห่งชาติ
จวนบ้านพักประธานาธิบดี
ที่ว่าการโคลัมโบ
ผู้แต่งตั้งการเลือกตั้งโดยตรง[1]
วาระ5 ปี ไม่เกิน 2 วาระ[2]
ตราสารจัดตั้งรัฐธรรมนูญ
รองนายกรัฐมนตรี
เงินตอบแทน1,170,000 รูปีศรีลังกาต่อปี (ค.ศ. 2016)[3]
เว็บไซต์president.gov.lk
Presidential Secretariat

ประธานาธิบดีศรีลังกา (สิงหล: ජනාධිපති, ทมิฬ: ஜனாதிபதி, ชนาธิปติ) หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา เป็นประมุขแห่งรัฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้ารัฐบาลในทางนิตินัย และจอมทัพแห่งประเทศศรีลังกา[4]

รัฐธรรมนูญศรีลังกา ค.ศ. 1978 ให้ประธานาธิบดีที่ประชาชนเลือกตั้งมาโดยตรงในการเลือกตั้งทั่วไปเป็นหัวหน้ารัฐบาล และให้ประธานาธิบดีเลือกสรรรัฐมนตรีจากสมาชิกรัฐสภา[1]

สำหรับหน้าที่และอำนาจนั้น รัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมทางพิธีการของรัฐสภา สามารถเข้าประชุมรัฐสภาโดยได้รับเอกสิทธิ์กับความคุ้มกันในทางรัฐสภา สามารถเรียกประชุม งดประชุม และยุบรัฐสภา สามารถสั่งให้มีการออกเสียงประชามติ ประกาศสงคราม ประกาศสันติภาพ อภัยโทษ และลดโทษ[4] นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังให้ประธานาธิบดีรักษาและใช้ลัญจกรแผ่นดิน ซึ่งเป็นดวงตราสำหรับการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของรัฐ (เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และตุลาการระดับสูง) และการจัดสรรที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่นของรัฐ[4]

อนึ่ง รัฐธรรมนูญคุ้มกันประธานาธิบดีจากการถูกดำเนินคดีในขณะดำรงตำแหน่ง ไม่ว่าเป็นคดีเรื่องส่วนตัวหรือคดีเรื่องหน้าที่ทางการ[4]

เดิมรัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี ไม่เกิน 2 วาระ ต่อมาการแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 18 เมื่อ ค.ศ. 2010 ยกเลิกข้อจำกัดเรื่องวาระ ภายหลังมีการแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 19 เมื่อ ค.ศ. 2015 กลับไปจำกัดที่ 2 วาระดังเดิม[2] ประธานาธิบดีต้องสาบานตนเข้ารับตำแหน่งต่อหน้าประธานศาลสูงสุด[4] ถ้าประธานาธิบดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ นายกรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่แทน และจะมีการเลือกสรรรัฐมนตรีที่เหลืออยู่ในคณะรัฐมนตรีขึ้นทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว[4]

ผู้ดำรงตำแหน่งคนปัจจุบัน คือ อนุระ กุมาระ ทิสานายกะ ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 2024

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Arasaratnam, S (10 กรกฎาคม 2022). "Sri Lanka". Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica, Inc. สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2022.
  2. 2.0 2.1 "Strides in the right direction". The Economist. 30 เมษายน 2015. สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2022.
  3. Thomas, Kris (21 พฤศจิกายน 2016). "Of Ministers' Salaries And Parliamentary Perks". Roar.lk. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2017.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 "The Presidency". President of Sri Lanka. n.d. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 มีนาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2022.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]